เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 91079 หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 13 ต.ค. 13, 18:51

ดิฉันได้ยินชื่อหม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมชเป็นครั้งแรกในหนังสือเรื่อง " โครงกระดูกในตู้" ของพลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช    ท่านผู้เขียนเรียกท่านว่า "ท่านป้า"  เพราะท่านเป็นเจ้าพี่ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ ท่านพ่อของม.ร.ว.คึกฤทธิ์

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บอกว่า

" ท่านป้าฉวีวาดเป็นโครงกระดูกในตู้โดยแท้  เพราะเรื่องราวของท่านถูกปิดบังซุบซิบกันมานาน  ไม่ให้ลูกหลานได้รู้   ที่ผู้เขียนเรื่องนี้บังเอิญรู้โดยละเอียด ก็เพราะสมัยหนึ่งที่ท่านป้าฉวีวาดชรามากแล้ว   ท่านเกิดโปรดปรานหลานคนนี้ขึ้นมา และเอาไป "เลี้ยง" ไว้กับท่าน     การเลี้ยงหลานของท่านออกจะแปลก   เพราะท่านบรรทมกลางวันเป็นส่วนมาก   แต่ปลุกหลานขึ้นมาคุยตอนกลางคืน  เล่าเรื่องอะไรต่ออะไรให้ฟัง     ท่านเสวยข้าวเย็นหรือข้าวเช้าก็ไม่แน่นัก  ตอนราวๆตีสองของวัน    และเสวยอะไรแปลกๆ เช่น เปลือกส้มเขียวหวานจิ้มกับน้ำพริก  เป็นต้น    ท่านปลุกหลานที่ท่าน "เลี้ยง" ให้ลุกขึ้นกินข้าวด้วยในยามวิกาลเช่นนั้นทุกคืนไป"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 19:02

      ม.จ.ฉวีวาด ปราโมช เป็น "ท่านป้า" แท้ๆของม.ร.ว. คึกฤทธิ์     ท่านเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ประสูติจากหม่อมมารดาชื่อหม่อมราชวงศ์ดวงใจ  เป็นหลานปู่ในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
     พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ กับ หม่อมราชวงศ์หญิงดวงใจ มีพระโอรส-ธิดา 7 องค์ เรียงลำดับตามนี้้
     หม่อมเจ้าหญิงเมาฬี
     หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด
     หม่อมเจ้าชายจำรูญ
     หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า
    หม่อมเจ้าหญิงโอษฐอ่อน
     หม่อมเจ้าหญิงรำมะแข
     หม่อมเจ้าชายคำรบ  ท่านพ่อของม.ร.ว. คึกฤทธิ์

   ตามพระประวัติที่เล่าไว้ใน "โครงกระดูกในตู้"     เดิมหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดหมั้นกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 4   แต่เนื่องจากกรมหลวงพิชิตปรีชากร มีหม่อมอยู่ในวังแล้วอีกคนหนึ่งชื่อ หม่อมสุ่น  เป็นเหตุให้หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดไม่พอพระทัย  ก็ทรงยกเลิกการหมั้นไป
     ต่อมาหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด เสกสมรสกับเจ้านายวังหน้า   ทรงพระนามว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร   พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว   แต่ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ก็เล่าว่า ชีวิตคู่ของท่านหญิงกับพระสวามีก็ดูไม่ค่อยราบรื่นนัก   ตัวปัญหามาจากฝ่ายท่านหญิงเอง ไม่ใช่พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์
บันทึกการเข้า
aradabkk
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 19:28

มาลงชื่อติดตามค่ะท่านอาจารย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 20:07

พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณ์ฯ จะว่าไปแล้ว แม้ว่าเป็นเจ้านายวังหน้าซึ่งถือว่า "เล็ก" กว่าวังหลวง    แต่ก็มีพระยศสูงกว่าเจ้านายวังหลวงอย่างม.จ.ฉวีวาด  เพราะท่านเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  อยู่ในระดับพระองค์เจ้า  ส่วนม.จ.ฉวีวาดเป็นแค่หม่อมเจ้า      พูดถึงคุณสมบัติและฝีพระหัตถ์เรื่องการช่างก็ไม่น้อยหน้าใคร    ทรงชำนาญด้านจิตรกรรม เป็นช่างเขียนแบบโบราณ   ถึงขั้นร่วมเป็นนายช่างด้านปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการฉลองพระนครครบ 100 ปี   ต่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าถึงคุณสมบัติส่วนพระองค์ของกรมหมื่นวรวัฒน์ฯว่า

" ท่านทรงเป็นคนสงบเสงี่ยมเรียบร้อย   รักพระชายาด้วยน้ำพระทัยจริง    มิได้เคยขัดพระทัยท่านป้าฉวีวาดแต่อย่างไรเลย     เวลาจะรับสั่งกับท่านป้าก็รับสั่งด้วยถ้อยคำอ่อนหวานเรียบร้อย     เรียกพระองค์ท่านเองว่า "พี่"  และเรียกท่านป้าฉวีวาดว่า "เจ้าน้อง" ทุกครั้ง    มิได้เคยรับสั่งขึ้นเสียงกับท่านป้าฉวีวาดเลย     ตรงกันข้ามกับท่านป้าฉวีวาด   ซึ่งมักจะรับสั่งก้าวร้าวเอากับพระสามี   ซึ่งท่านเรียก "องค์เหลิม" เฉยๆ    และไม่ถูกพระทัยขึ้นมาก็เอ็ดอึงเอาง่ายๆ"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 20:24

   ในเมื่ออุปนิสัยม.จ.ฉวีวาดเป็นผู้หญิงมีฤทธิ์มีเดช  เอาแต่ใจขนาดนี้   คนอ่านก็ไม่น่าแปลกใจเมื่อม.ร.ว.คึกฤทธิ์เล่าต่อไปว่า  ทั้งๆเป็นเจ้านายวังหลวง ท่านก็ไปตีสนิทอยู่กับฝ่ายวังหน้า   จนได้เสกสมรสกับเจ้านายวังหน้า  เท่านั้นยังไม่พอ   ม.จ.ฉวีวาดยังเล่าให้ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฟังว่าท่านไปสนิทกับคุณนายปรางภรรยากงสุลน็อกซ์ และลูกสาว     จนถึงขั้นล่วงรู้ว่านายน็อกซ์คิดจะแบ่งแยกสยามออกเป็น 2 ส่วนคือสยามเหนือกับสยามใต้     สยามเหนือตั้งแต่กรุงเทพถึงเชียงใหม่  เป็นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า  ส่วนสยามใต้ลงไปถึงกลันตันและไทรบุรี เป็นของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ     ม.จ.ฉวีวาดฟังแล้วก็มิได้รู้สึกว่านายน็อกซ์แกกำลังแบ่งราชอาณาจักรออกเป็นสองส่วน ให้แตกแยกกัน   แต่กลับรู้สึกว่าถ้าเป็นยังงั้นจริง ก็ดี ท่านก็คงมีบุญวาสนาอยู่ในสยามใต้

   วันหนึ่งก็เกิดเหตุน่าตกอกตกใจขึ้นกลางเมือง  คือตึกดินอันเป็นที่เก็บดินปืนในวังหลวงก็เกิดระเบิด  กลายเป็นเพลิงไหม้ลุกลามในพระบรมมหาราชวัง    กลายเป็นเรื่องตื่นตระหนกว่าเป็นการแตกหักระหว่างวังหลวงกับวังหน้า     ใหญ่โตแทบจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง
   ขอเชิญย้อนกลับไปอ่านกระทู้ “นิราศกรมหมื่นสถิตย์” ว่าด้วยวิกฤตวังหน้า ค่ะ
   http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4297.0


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 20:34

เหตุการณ์วิกฤตวังหน้านั้น  ดิฉันขอแบ่งเป็น 2 ส่วน  ส่วนหนึ่งคือความตื่นตระหนกของเจ้านายวังหน้า ที่ต้องทรงลี้ภัยจากวังอย่างฉุกละหุก  ไปพึ่งสถานทูตอังกฤษไว้ก่อนจนกระทั่งเรื่องสงบลงจึงได้เสด็จกลับ    กับส่วนที่สองคือเหตุการณ์เกี่ยวกับม.จ.หญิงฉวีวาดที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บันทึกไว้ใน "โครงกระดูกในตู้"

เหตุการณ์แรกนั้นอ่านได้ในกระทู้ที่นำมาลิ้งค์ไว้ในค.ห.ข้างบน    ส่วนเหตุการณ์หลัง ขอลอกจากโครงกระดูกในตู้ ในมาให้อ่านอีกที

"เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว  รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านป้าฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาหนึ่งลำ ขนทรัพย์สมบัติลงเรือ   แล้วนำละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรง พร้อมทั้งเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์รวมเป็นคนหลายสิบคน     ท่านลงเรือที่แม่น้ำใกล้ๆวังหน้าตอนใกล้ค่ำ แล่นเรือไปทั้งคืน     พอเช้ามืดก็ออกปากน้ำ     ท่านเหลียวไปดูทางท้ายเรือ  เห็นเรือกลไฟจักรข้างของหลวงแล่นตามมาลำหนึ่ง   แสดงว่าทางกรุงเทพฯ รู้แล้วว่าท่านจะหนี  จึงส่งเรือหลวงออกมาตามจับตัว     เรือหลวงคงจะออกตอนดึกจึงมาทันที่ปากน้ำ 
ท่านเล่าว่าท่านยกมือนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า  หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว  ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง      ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จ   เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี   ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ   เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 20:35

ดิฉันเคยออกความเห็นไว้ในกระทู้เดิมว่า
"ดูตามรูปการณ์   หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดน่าจะเตรียมแผนในการออกทะเลมาล่วงหน้าแล้ว    ถ้าท่านไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน  มีเวลากะทันหันไม่ถึง ๒๔ ช.ม. จะหาเรือสำเภาขนาดใหญ่  ออกทะเลได้ ที่ยังทอดสมอว่างอยู่เฉยๆ มาจากไหน     เรือสำเภาไม่ใช่แท็กซี่ว่าง จะได้เรียกได้ง่ายจากข้างถนน   
แล้วยังต้องเรียกชุมนุมนางละครกับนักดนตรีหลายสิบคนจากบ้านช่อง ให้ทิ้งพ่อแม่ลูกเมียลงเรือไปทันทีทันเวลา  ไม่มีใครขัดขืนเลยสักคน  พรึ่บเดียวลงเรือไปหมด    เสบียงกรังก็มีพร้อมในเรือ 
มันน่าจะบอกถึงการเตรียมล่วงหน้ามาเป็นเดือนแล้ว   อีกอย่างอาจจะมีการสื่อสารกันกับพระเจ้าแผ่นดินเขมรล่วงหน้าแล้ว    ถึงไปอย่างมั่นใจว่าทางโน้นต้อนรับแน่   และรู้ด้วยว่าจะต้องเอาอะไรหรือใครไปบ้างจึงจะเป็นที่ต้อนรับ  อาจจะเป็นออเดอร์จากทางโน้นเสียด้วยซ้ำไป

ในเมื่อเป็นกันคนละอย่างแบบนี้ ก็น่าจะเห็นได้ว่า ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกัน     ส่วนท่านหญิงฉวีวาดคิดการใหญ่ด้วยตัวเองหรือรู้เห็นเฉยๆ  หรือว่าเป็นแผนประจวบเหมาะ   ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 20:41

มันน่าแปลกใจตรงที่ว่า นิราศของกรมหมื่นสถิตย์ฯ แสดงว่าเหตุการณ์ในคืนนั้น ทั้งกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญและกรมหมื่นสถิตย์ฯพระอนุชา ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย     ทรงลี้ภัยกันฉุกละหุกขนาดลูกเมียก็ไม่ได้เอาไปด้วย   เพราะคงจะหอบหิ้วกันไปทั้งหมดไม่ไหว  ต้องเข้าสถานกงสุลกันแบบหนีวิกฤตเฉพาะหน้า   
ส่วนท่านหญิงฉวีวาดซึ่งไม่ปรากฏว่ารู้เห็นอะไรมากน้อยแค่ไหน   กลับมีเรื่องบรรยายราวกับว่าทรงเตรียมแผนใหญ่ไว้ล่วงหน้านานนับเดือน   มีความชำนาญเส้นทาง มีทุนทรัพย์  มีผู้คนในอำนาจพอจะหอบเอาไปหมดทั้งโขยง  อย่างไม่กลัวเกรงพระราชอำนาจว่าตัวเองไม่มีสิทธิ์จะทำเช่นนั้น  เป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับเจ้านายที่จะออกนอกเขตพระราชอาณาจักร โดยไม่มีพระบรมราชานุญาต

มันก็เป็นปริศนาที่ค้างคามาจากกระทู้ก่อน  จนถึงกระทู้นี้
ขอหยุดแค่นี้ก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
ตูมตั้งบังใบ
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 22:51

คิดไปคิดมาเหมือนจะเข้าคำไทย "พระยาละแวก" เสียแล้วกระมัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 22:55

^
หมายถึงอะไรคะ   
รู้ว่าพระยาละแวกเป็นใคร  แต่ยังงงๆ ไม่เข้าใจว่าคุณตูมฯ ใช้ในนัยยะเปรียบเทียบถึงอะไร
บันทึกการเข้า
ตูมตั้งบังใบ
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 06:20

"อาจจะเป็นออเดอร์จากทางโน้นเสียด้วยซ้ำไป"

จากข้อความที่อาจารย์กรุณานำมาลงไว้ครับ ถ้าไม่มีการเตรียมการกันมาเป้นอย่างดี (อาจจะทั้งฝ่ายเขา รวมถึงฝ่ายเราด้วย) ก็คงไม่สามารถพาคนหลาย
สิบชีวิตหนีราชภัยไปได้รวดเร็วและทันท่วงทีเช่นนั้นครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 07:20

ดิฉันเคยออกความเห็นไว้ในกระทู้เดิมว่า
"ดูตามรูปการณ์   หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดน่าจะเตรียมแผนในการออกทะเลมาล่วงหน้าแล้ว    ถ้าท่านไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน  มีเวลากะทันหันไม่ถึง ๒๔ ช.ม. จะหาเรือสำเภาขนาดใหญ่  ออกทะเลได้ ที่ยังทอดสมอว่างอยู่เฉยๆ มาจากไหน     เรือสำเภาไม่ใช่แท็กซี่ว่าง จะได้เรียกได้ง่ายจากข้างถนน   
แล้วยังต้องเรียกชุมนุมนางละครกับนักดนตรีหลายสิบคนจากบ้านช่อง ให้ทิ้งพ่อแม่ลูกเมียลงเรือไปทันทีทันเวลา  ไม่มีใครขัดขืนเลยสักคน  พรึ่บเดียวลงเรือไปหมด    เสบียงกรังก็มีพร้อมในเรือ 
มันน่าจะบอกถึงการเตรียมล่วงหน้ามาเป็นเดือนแล้ว   อีกอย่างอาจจะมีการสื่อสารกันกับพระเจ้าแผ่นดินเขมรล่วงหน้าแล้ว    ถึงไปอย่างมั่นใจว่าทางโน้นต้อนรับแน่   และรู้ด้วยว่าจะต้องเอาอะไรหรือใครไปบ้างจึงจะเป็นที่ต้อนรับ  อาจจะเป็นออเดอร์จากทางโน้นเสียด้วยซ้ำไป

ในเมื่อเป็นกันคนละอย่างแบบนี้ ก็น่าจะเห็นได้ว่า ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกัน     ส่วนท่านหญิงฉวีวาดคิดการใหญ่ด้วยตัวเองหรือรู้เห็นเฉยๆ  หรือว่าเป็นแผนประจวบเหมาะ   ก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม"


เป็นเหตุประจวบเหมาะพอดีครับ ถ้าวิเคราะห์แล้วเห็นจะดังอาจารย์กล่าว คือ เตรียมการไว้ก่อน แต่มีเหตุเกิดขึ้นกับวังหน้า-วังหลวงพอดี เลยใช้เหตุนี้หนีออกจากสยาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 08:27

มีผู้พยายามจะโยงเรื่องหม่อมเจ้าฉวีวาดหนีไปเมืองเขมรเข้ากับเหตุระเบิดที่โรงผลิตแกสของวังหลวง เพื่อกล่าวโทษวังหน้า เพราะบังเอิญว่าพระสามี(ที่เลิกกันไปแล้ว)ของหม่อมเจ้าฉวีวาดเป็นพระองค์เจ้าวังหน้า ทำให้คืนนั้นวังหลวงเตรียมทหารราวกับจะประกาศสงครามกลางเมืองกับวังหน้า ทั้งที่กรมพระราชวังบวรท่านนอนป่วยอยู่มิได้ทรงทราบอะไรด้วยเลย เมื่อฉุกละหุกเข้าก็ต้องพาพระมารดากับน้องหนีบ้าง ท่านก็ไม่ได้ไปเขมรแต่ไปกงสุลอังกฤษเพื่อขอลี้ภัยการเมือง ตามกฎหมายสากล ท่านเลือกที่นั่นเพราะตัวกงสุลใหญ่ คือนายน๊อกซ์ เคยเป็นครูฝึกทหารวังหน้าสมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ถือเป็นเพื่อนกับท่าน

เท่านี้เลยเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาจนพูดกันไม่จบถึงปัจจุบัน เพ่งโทษลงที่ท่าน โดยเฉพาะโครงกระดูกในตู้ ยังเอาความผิดของหม่อมเจ้าฉวีวาด มาป้ายวังหน้าเสียจนเละเทะ

เมื่อไรประวัติศาสตร์ช่วงนี้จะได้รับการชำระเสียที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 10:09

"อาจจะเป็นออเดอร์จากทางโน้นเสียด้วยซ้ำไป"

จากข้อความที่อาจารย์กรุณานำมาลงไว้ครับ ถ้าไม่มีการเตรียมการกันมาเป้นอย่างดี (อาจจะทั้งฝ่ายเขา รวมถึงฝ่ายเราด้วย) ก็คงไม่สามารถพาคนหลาย
สิบชีวิตหนีราชภัยไปได้รวดเร็วและทันท่วงทีเช่นนั้นครับ

ดิฉันไม่คิดเช่นนั้นค่ะ   ดิฉันไม่คิดว่าเขมรรู้เรื่องวิกฤตวังหน้าด้วยซ้ำไป

ก่อนอื่นเรามาดูที่มาที่ไปกันก่อนว่า "โครงกระดูกในตู้" เป็นเรื่องที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนขึ้นจากความทรงจำตามคำบอกเล่าของญาติผู้ใหญ่ในราชสกุลและสกุลที่เกี่ยวข้อง    ไม่ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์ อันจะทำให้ท่านต้องค้นคว้าสอบทวนหลักฐานหลายๆอย่าง เพื่อให้ได้คำตอบที่มีหลักฐานแน่นที่สุด     
เรื่องนี้เป็นหนังสือเล่มเล็กๆจัดทำเพื่อแจกในงานแซยิดอายุครบ 60 ปี   หมายถึงว่าแจกเฉพาะลูกหลานและอาจจะเพื่อนสนิทมิตรสหาย    ดังนั้น เหตุการณ์ที่เล่าในหนังสือเล่มนี้ ก็คือบันทึก "คำบอกเล่า" ที่ท่านได้ฟังมา
พวกเราคนรุ่นหลังต่างหากที่ไปยึดหนังสือเล่มนี้เหมือนตำรา  นำมาอ้างอิงในฐานะ "ข้อเท็จจริง"  ทางประวัติศาสตร์    ดังนั้น  จึงเป็นได้ว่าเนื้อหาบางตอนใน "โครงกระดูกในตู้" ไม่ตรงกับหลักฐานที่พบในที่อื่น    เป็นเรื่องที่เราจะต้องสอบเทียบจากหลายๆแห่ง  เพื่อจะเปรียบเทียบกันแล้วมองเห็นคำตอบได้ชัดเจนขึ้น   ไม่ใช่ว่ายึด "โครงกระดูกในตู้"  เป็นตำราตายตัว 
เชื่อว่าท่านผู้เล่าเรื่องก็มิได้ตั้งใจจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นเช่นนั้น

กรณีวังหน้าและม.จ.ฉวีวาดก็เช่นกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 10:32

นี่เป็นตัวอย่างบทความที่เห็นได้ทั่วไปในเน็ท ซึ่งล้วนแต่อ้างอิงข้อเขียนของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

กรณีไฟไหม้ในพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์วังหน้านั้น  แม้จะไม่มีหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าต่างชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษได้เข้ามายุ่งเกี่ยวอยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย  แต่ก็มีข้อคิดจากหลักฐานทางบุคคลที่ไม่ควรจะละเลยไปเสีย เช่น  ข้อเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช เป็นต้น  

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ได้เขียนลงในคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวันในหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันเอาไว้เมื่อวันที่  ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒  โดยกล่าวถึงหม่อมเจ้าฉวีวาดผู้มีศักดิ์เป็นป้าของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ปราโมช ว่า  หม่อมเจ้าฉวีวาด ได้สมรสกับ พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ผู้เป็นอนุชาของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  จึงได้ไปฝักใฝ่อยู่ทางวังหน้า  และโดยเหตุที่หม่อมเจ้าฉวีวาดเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูงและขาดสติสัมปชัญญะ  จึงคิดที่จะยกย่องกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญให้ขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน  โดยคิดกำจัดหรือลดพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงไป  ในการนี้หม่อมเจ้าฉวีวาดได้คบคิดกับกงสุลใหญ่ของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง  ซึ่งฝักใฝ่อยู่ข้างวังหน้าและมีนโยบายจะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น  หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ จากกงสุลผู้นั้น  คิดแผนการร้ายขึ้นร่วมกับบุคคลอื่นๆอีกหลายคน  ลอบจุดไฟเผาพระราชวังบริเวณใกล้กับตึกที่เก็บดินดำ  ประสงค์จะให้ดินดำนั้นระเบิดขึ้น  เมื่อกระทำการไม่สำเร็จ  หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงหลบลี้หนีราชภัยไปอยู่เมืองเขมร  เป็นเหตุให้พระองค์เจ้าคำรบ พระบิดาของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์  ต้องตกระกำลำบาก  เพราะมารดาซึ่งชราภาพแล้วถูกริบราชบาตร  หากไม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงชุบเลี้ยงไว้ ก็คงไม่อาจจะเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ยืนยันว่า  เรื่องราวทั้งหมดนี้มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏอยู่ที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี (หม่อมราชวงศ์ ปุ้ม  มาลากุล )   ที่ได้รับมาจากกรมหมื่น ปราบปรปักษ์ผู้เป็นพระบิดาอีกต่อหนึ่ง  

นอกจากนี้  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ยังได้เขียนถึง หม่อมเจ้าฉวีวาด  ผู้หนีราชภัยในวิกฤตการณ์วังหน้าครั้งนั้น   ดังปรากฏในหนังสือชื่อ  "โครงกระดูกในตู้"   มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า  
นายน็อกซ์  (โทมัส  น็อกซ์)  กงสุลใหญ่ของอังกฤษในรัชกาลที่ ๕  ก็คิดจะเอาอำนาจอังกฤษมาแบ่งเมืองไทยออกเป็นสอง  คือ สยามเหนือกับสยามใต้  ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงครอบครองตั้งแต่กรุงเทพฯ ขึ้นไปถึงเชียงใหม่  และให้พระบัณฑูร (กรมพระราชวังบวรฯ) ทรงครอบครองหัวเมืองภาคใต้ทั้งหมด  ….ฯลฯ.


บทความในตอนท้ายเล่าว่าท่านป้าของท่านกลายเป็นครูใหญ่ถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ไทยให้ราชสำนักเขมรไปโน่น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 20 คำสั่ง