เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 91146 หม่อมเจ้าฉวีวาด ปราโมช
tita
พาลี
****
ตอบ: 253


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 14:11

^   ยิงฟันยิ้ม

ถ้ามองตามความเห็นของคุณ Navarat.C  ตาม คห. ๘๔  การออกไปเป็นพระองค์อัครนารีของ หม่อมเจ้าหญิงปุกก็ดูเป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกับชันษาของหม่อมเจ้าหญิงปุก  

ส่วนเรื่องทีหม่อมเจ้าหญิงปุกเป็นพระพี่เลี้ยงเสด็จในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  ข้อมูลเท่าที่ทราบตอนนี้ก็จากโครงกระดูกในตู้ที่ท่านผู้เขียนเล่าว่าเสด็จในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์  เคยรับสั่งกับท่านผู้เขียนว่า..ได้เคยเลี้ยงดูพระองค์ท่านมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์  และประทับที่เมืองเขมรตลอดมาจนชรามาก..  ดิฉันไม่แน่ใจว่าข้อมูลเรื่องนี้มีปรากฏในข้อเขียนหรือพระประวัติของเสด็จในกรมฯ อย่างไร  เท่าที่อ่านจากพระประวัติโดยสรุปทั่วไป  ปรากฏเพียงว่าพระบิดาทิวงคต  เมื่อเสด็จในกรมฯ พระชนมายุได้ ๗ ชันษา หน้าที่เลี้ยงดูอบรมพระองค์จึงตกเป็นของหม่อมมารดาโดยลำพังตลอดมา  โดยมีพระญาติวงศ์ใกล้ชิดช่วยเหลือ  แต่ไม่ได้ระบุรายนามโดยละเอียด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 14:17

^ขอบคุณที่นำมาบอกต่อครับ^
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 17:43

ข้อความโดย: tita
อ้างถึง
แต่เมื่อท่านเล่าเรื่องให้หลานเล็กฟัง  ก็ได้แต่คาดเดาว่าท่านคงต้องประสมประเสเรื่องราวต่างๆ ที่พอหยิบยกมาได้  อาจจะเพื่อทดแทนความเป็นจริงของชีวิตท่านเอง  หรือเพื่อสร้างความสนุกสนานให้หลานเล็กของท่าน  ที่ท่านก็คงไม่ทราบอนาคตว่าหลานของท่านจะหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นเรื่องราวรับรู้กันกว้างขวาง
 
ผมเห็นด้วยกับข้างต้นครับ แต่ผมผิดหวังกับหลานของท่านที่หยิบยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นเรื่องราวรับรู้กันกว้างขวาง จนทำให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์แทบจะทั้งหมดในประเทศนี้เชื่อว่าเรื่องเท็จ(ที่ผู้เขียนเองก็รู้ว่าเท็จ)นั้นเป็นเรื่องจริง และสร้างความเสียหายให้กับบุคคลอื่นที่ท่านลากเข้ามาเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่เรื่องเท็จของท่าน

ดิฉันเชื่อว่าม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านเลือกที่จะบันทึกเรื่องราวตามที่ท่านป้าทรงเล่าให้ฟัง       จริงอยู่ ท่านอาจระแคะระคายมาบ้างว่ามีเวอร์ชั่นอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเอ่ยถึง  เพราะท่านก็เล่าไว้ใน "โครงกระดูกในตู้" ว่าเรื่องของท่านป้าฉวีวาด เป็นเรื่อง" ...ถูกปิดบังซุบซิบกันมานาน ไม่ให้ลูกหลานได้รู้"
ในเมื่อรู้ว่ามีการซุบซิบ ลูกหลานก็คงแว่วๆบ้างละน่ะ    เพราะถ้าไม่รู้เลยคือไม่รู้แม้แต่ว่ามีเรื่องซุบซิบกัน

แต่ในเมื่อเจ้าของเรื่องคือท่านหญิงฉวีวาด เป็นคนเล่าเรื่องเอง  ได้ยินมากับหูหลานชาย   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ต้องให้เกียรติท่านป้าของท่านโดยถ่ายทอดเรื่องจากคำบอกเล่าจากพระโอษฐ์    ถ้าเป็นตัวเราเอง  เราจะไม่ทำอย่างท่านหรือคะ  คือเล่าชีวิตของญาติผู้ใหญ่ตามที่เจ้าตัวเล่าเอง   หรือเราจะทำอีกอย่าง คือเจ้าของเรื่องเล่ายังไงก็ตาม   ไม่เชื่อ     แต่ไปเชื่อที่คนอื่นเล่า

เหตุผลอีกอย่างก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิืเขียนโครงกระดูกในตู้เป็นหนังสือแจกลูกหลานเมื่ออายุท่านครบ 60 ปี   ไม่ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์    ท่านก็คงไม่ซีเรียสกระไรนักกับหนังสือเล่มนี้   ได้ยินมาอย่างไรก็ถ่ายทอดไปตามนั้น

แต่ดิฉันก็เห็นด้วยกับท่านนวรัตน     ถ้าม.ร.ว.คึกฤทธิ์มิได้เป็นเพียงใครคนหนึ่งที่เขียนหนังสือแจกลูกหลานอ่าน     จะเขียนผิดถูกอย่างไรก็รู้กันในวงแคบแค่ลูกๆหลานๆ   ไม่มีผลต่อสังคมในวงกว้าง      แต่ท่านเป็นปรมาจารย์ทางหนังสือ  เรื่องต่างๆที่ออกมาจากปลายปากกาไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อย หรือเรื่องใหญ่เรื่องยาว ล้วนแต่เป็นที่สนใจ ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาด้วยความเชื่อถือ ยาวนานจนแม้เจ้าตัวล่วงลับไปแล้วก็ยังปรากฏอยู่
ดังนั้นเรื่องบางเรื่องที่คลาดเคลื่อนไป อาจจะมิได้ด้วยเจตนาของเจ้าของเรื่อง    ก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังจะต้องมาพิจารณากัน วิเคราะห์และหาเหตุผล  โดยมิได้ทำด้วยอคติ  หรือมีความประสงค์จะลบหลู่ดูถูก   แต่เพื่อทำความจริงให้ปรากฏเท่าที่จะทำได้ เท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 17:55

ที่น่าสงสัยคือ ในเมื่อคุณชายหม่อมฯ ท่านมีโอกาสซักไซ้ ไต่ถามป้าฉวีวาดแล้ว ก็น่าจะพรรณาความเป็นอยู่หรือการออกไปจากพระราชอาณาจักรสยามไว้บ้าง
การออกไปจากพระราชอาณาจักรสยาม   ม.จ.ฉวีวาดเล่าให้หลานชายฟัง มีการไล่ล่าตามกันระหว่างเรือท่านและเรือหลวง น่าตื่นเต้นราวกับหนังไพเรทส์ ออฟ เดอะคาริบเบียน

"เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว  รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งท่านป้าฉวีวาดก็ว่าจ้างเรือสำเภาหนึ่งลำ ขนทรัพย์สมบัติลงเรือ   แล้วนำละครของเจ้าจอมมารดาอำภาซึ่งตกมาถึงท่านนั้นลงเรือทั้งโรง พร้อมทั้งเครื่องละครและดนตรีปี่พาทย์รวมเป็นคนหลายสิบคน     ท่านลงเรือที่แม่น้ำใกล้ๆวังหน้าตอนใกล้ค่ำ แล่นเรือไปทั้งคืน     พอเช้ามืดก็ออกปากน้ำ     ท่านเหลียวไปดูทางท้ายเรือ  เห็นเรือกลไฟจักรข้างของหลวงแล่นตามมาลำหนึ่ง   แสดงว่าทางกรุงเทพฯ รู้แล้วว่าท่านจะหนี  จึงส่งเรือหลวงออกมาตามจับตัว     เรือหลวงคงจะออกตอนดึกจึงมาทันที่ปากน้ำ 
ท่านเล่าว่าท่านยกมือนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า  หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว    ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง      ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จ   เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี   ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ   เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร"


ถ้าหากว่าท่านหญิงฉวีวาดเสด็จไปในขบวนเรือของหม่อมเจ้าหญิงปุกตามที่คุณ tita สันนิษฐานไว้   เหตุการณ์นี้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้  เรือหลวงจะไล่ล่าเรือขบวนเสด็จของเจ้านายหญิงของสยามที่ออกไปเป็นเจ้านายฝ่ายในของเขมรด้วยเหตุอันใดกัน    มีแต่จะตามไปส่งเสด็จน่ะไม่ว่า
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 18:28

อ้างถึง
ท่านเล่าว่าท่านยกมือนมัสการพระสมุทรเจดีย์แล้วอธิษฐานว่า  หากบุญญาบารมีท่านยังมีอยู่แล้ว    ขอให้เรือสำเภาใช้ใบของท่านออกทะเลหลวงไปให้ได้ตลอดรอดฝั่ง      ท่านบอกว่าพอท่านอธิษฐานเสร็จ   เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดี   ต้องทอดสมออยู่กลางน้ำ   เรือของท่านก็ใช้ใบไปจนถึงเมืองเขมร

นี่ผมก็คิดว่าฝอยครับ

แค่ประเด็นเดียว ถ้าเรือที่ตามมาเกิดจักรหักลง คนบนเรือสำเภาไม่มีทางรู้หรอกครับว่าอยู่ๆเรือหลวงลำนั้นหยุดด้วยเหตุอันใด มองไกลๆไม่มีทางเห็น ส่วนที่หักถ้าไม่อยู่ในห้องเครื่องท้องเรือก็ต้องอยู่ใต้น้ำ ดูจากภายนอกไม่รู้หรอก

เอ้อเฮอ มีแบบว่า พออธิษฐานเสร็จ เรือหลวงที่แล่นตามไปนั้นก็จักรหักลงพอดีซะด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 18:57

อ้างถึง
แต่ในเมื่อเจ้าของเรื่องคือท่านหญิงฉวีวาด เป็นคนเล่าเรื่องเอง  ได้ยินมากับหูหลานชาย   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ต้องให้เกียรติท่านป้าของท่านโดยถ่ายทอดเรื่องจากคำบอกเล่าจากพระโอษฐ์    ถ้าเป็นตัวเราเอง  เราจะไม่ทำอย่างท่านหรือคะ  คือเล่าชีวิตของญาติผู้ใหญ่ตามที่เจ้าตัวเล่าเอง   หรือเราจะทำอีกอย่าง คือเจ้าของเรื่องเล่ายังไงก็ตาม   ไม่เชื่อ     แต่ไปเชื่อที่คนอื่นเล่า

เหตุผลอีกอย่างก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิืเขียนโครงกระดูกในตู้เป็นหนังสือแจกลูกหลานเมื่ออายุท่านครบ 60 ปี   ไม่ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์    ท่านก็คงไม่ซีเรียสกระไรนักกับหนังสือเล่มนี้   ได้ยินมาอย่างไรก็ถ่ายทอดไปตามนั้น
ถ้าใบเสร็จสามแผ่นที่โผล่มาตอนต้นๆของกระทู้นี้ไม่ปรากฏ คนอ่านโครงกระดูกในตู้ก็คงเชื่อว่าท่านป้าของผู้เขียนเปรี้ยวน่าดู ปฏิบัติการใต้ตินให้วังหน้า เมื่อไม่สำเร็จก็หนีไปได้อย่างฉิวเฉียดเพราะบุญญาบารมี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังบรรดาลให้จักรเรือหลวงที่ติดตามมาหัก ทำให้ท่านรอดไปได้ถึงเขมร ได้ดิบได้ดีมีพระราชโอรสกับพระเจ้าแผ่นดิน แล้วฝากฝีมือปลุกชีพละครประจำชาติเขมรขึ้นมาใหม่ เมื่อสยามผลัดแผ่นดินแล้วจึงได้กลับมาเมืองไทย เพื่อใช้ชีวิตสุดท้ายในเพศนักบวช

ช่างมีชีวิตที่เต็มไปด้วยรสชาติดีแท้ ก่อนที่จะจบอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 19:09

อ้างถึง
แต่ดิฉันก็เห็นด้วยกับท่านนวรัตน     ถ้าม.ร.ว.คึกฤทธิ์มิได้เป็นเพียงใครคนหนึ่งที่เขียนหนังสือแจกลูกหลานอ่าน     จะเขียนผิดถูกอย่างไรก็รู้กันในวงแคบแค่ลูกๆหลานๆ   ไม่มีผลต่อสังคมในวงกว้าง      แต่ท่านเป็นปรมาจารย์ทางหนังสือ  เรื่องต่างๆที่ออกมาจากปลายปากกาไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อย หรือเรื่องใหญ่เรื่องยาว ล้วนแต่เป็นที่สนใจ ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาด้วยความเชื่อถือ ยาวนานจนแม้เจ้าตัวล่วงลับไปแล้วก็ยังปรากฏอยู่
ดังนั้นเรื่องบางเรื่องที่คลาดเคลื่อนไป อาจจะมิได้ด้วยเจตนาของเจ้าของเรื่อง    ก็เป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังจะต้องมาพิจารณากัน วิเคราะห์และหาเหตุผล  โดยมิได้ทำด้วยอคติ  หรือมีความประสงค์จะลบหลู่ดูถูก   แต่เพื่อทำความจริงให้ปรากฏเท่าที่จะทำได้ เท่านั้น
ผมเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาแสดงความเห็นในกระทู้นี้ ก็ตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 19:38

อ้างถึง
เหตุผลอีกอย่างก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิืเขียนโครงกระดูกในตู้เป็นหนังสือแจกลูกหลานเมื่ออายุท่านครบ 60 ปี   ไม่ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์    ท่านก็คงไม่ซีเรียสกระไรนักกับหนังสือเล่มนี้   ได้ยินมาอย่างไรก็ถ่ายทอดไปตามนั้น
ผมเอามาจากในเวปอีกทีหนึ่ง มีผู้เขียนไว้ว่า
  
อาจารย์คึกฤทธิ์ เคยกล่าวขณะเขียนหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๖๐ ปี เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๔ ไว้ว่า
     “..คนชอบอ้างโขนไทยเอามาจากขอม เอาละครมาจากแขก คุณธนิต(นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเขียนไว้ใน คึกฤทธิ์ ๖๐) ก็ยังเขียนละครไทยละครเขมรปนไปปนมา อยากจะช่วยบอกว่าละครเขมรที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ เขมรเอาอย่างไทยชัดๆ หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น ท่านแอบเอาละครไปเขมรตอนมีเรื่องวังหน้า
..”  

มีคนติงว่าเป็นเรื่องไม่ดีเท่าไร ท่านให้สติคิดว่า

     “..เมื่อจะเขียนให้คนรุ่นหลังรู้จักบรรพบุรุษ ก็ต้องให้รู้จักเรื่องราวที่ถูกต้องเป็นจริง ทั้งดีไม่ดี ถ้ามัวปกปิดความผิดพลาด ยกแต่เรื่องดีๆ เท่ากับรู้ไม่หมด รู้ไม่จริง ลูกหลานคนอ่านก็ได้ไปแค่ครึ่งเดียว..”

ด้วยความเคารพ ผมก็มีทัศนคติเดียวกับท่านเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 19:46

หลบหลังห้องฟังอภิปรายตาแป๋วมายาวนาน คุณครูไม่เรียกถามซักที ตอนนี้เลยได้โอกาสเปิดตัวแสดงความคิดเห็นร่วมกับท่านอาจารย์ทั้งหลายมั่ง

เรื่องแรกเรื่องของท่านชายคึกฤทธิ์ก่อน
ช่วงหลังๆ ผมได้อ่านที่คนรุ่นหลังวิจารณ์งานเขียนต่างๆ ของท่านม.ร.ว.คึกฤทธิ์หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการนำโครงเรื่องนิยายต่างประเทศมาเขียนใหม่ ปรุงรสชาติใหม่เป็นแบบไทยๆ เช่นเรื่องหลายชีวิต กาเหว่าที่บางเพลง โดยท่านไม่ได้ให้เครดิตเรื่องต้นฉบับ ทำให้ผมคิดไม่ได้ว่า ในสมัยที่ท่านม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนหนังสือนั้น กระแสเรื่องลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่เรื่องการอ้างอิงแหล่งที่มา หรือความถูกต้องในงานเขียนต่างๆ ยังไม่ถือว่าสำคัญมากเหมือนปัจจุบัน แต่ความสำคัญอยู่ที่อรรถรสในการอ่าน สำนวน การเพิ่มความตื่นเต้นเข้าไปในเรื่องราวมากกว่า  ยิ่งงานเขียนของท่านไม่ได้มีลักษณะเป็นงานวิชาการจ๋า  ทำให้งานเขียนของท่านอาจจะมีลักษณะบางอย่างที่ขัดต่อจริตคนรุ่นใหม่ได้  ดังนั้นการเพิ่มความน่าสนุกตื่นเต้นไปในเรื่องโครงกระดูกในตู้ อาจเป็นได้ทั้งจากที่ท่านรับฟังมาจากท่านป้าท่านเอง หรือคุณชายเพิ่มเข้าไปในภายหลังเพื่อให้อ่านสนุกขึ้นก็ได้


อ่านๆ ดูแล้ว ผมค่อนข้างจะเห็นว่า มจ ฉวีวาดท่านไปเขมรของท่านเอง และน่าจะไปตกระกำลำบากพอดู ไม่ได้ไปเป็นชนชั้นสูงที่นั่น  ส่วนจะไปเพราะอะไรน่าจะเพราะความประพฤติส่วนตัวของท่านเองมากกว่า ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับวิกฤติวังหน้าตรงไหน ส่วนหม่อมเจ้าปุกท่านน่าจะไปคนละคราวกับ มจ ฉวีวาด และไม่ได้ตกระกำลำบากแต่มีสถานะที่สูงที่เขมร และเนื่องจากท่านเป็นเจ้าไทยเช่นกัน ท่านอาจจะกลับเป็นฝ่ายเอื้อหนุนช่วยเหลือท่านฉวีวาดแทนมากกว่า  เพียงแต่เมื่อท่านฉวีวาดกลับมาเมืองไทยมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้หลานชายฟัง  ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นเจ้า แถมเคยเฮี้ยวไม่เบาด้วย ท่านจะเล่าให้คนอื่นเป็นนางเอกก็กระไรอยู่  ชีวิตบางส่วนระหว่างหม่อมเจ้าทั้งสองเลยกลายเป็นสลับกันให้หลานชายฟัง ท่านวาดกลายเป็นท่านปุก ส่วนดีๆ ของท่านปุกกลายเป็นท่านวาดแทน อะไรทำนองนั้น  รวมถึงเหตุที่ท่านต้องไปเขมรด้วย  บอกว่าไปเพราะเสเพลกับไปเพราะไปเกี่ยวข้องกับวิกฤติทางการเมือง แบบหลังฟังดูน่าเลื่อมใสสำหรับหลานชายน้อยๆ กว่ามาก   และแม้แต่ตัวท่านเองก็อาจจะอยากจะเชื่อแบบนั้นด้วย และอาจจะเล่าเรื่องที่ท่านอยากให้เป็น มากกว่าเรื่องจริงที่เคยเป็นมา


ส่วนท่านชายคึกฤทธิ์ท่านก็เล่าตามที่ท่านฟังมา และอาจจะเพิ่มเติมอะไรเข้าไปให้หวือหวามากขึ้นตามประสานักเล่าของท่านเข้าไปอีก  ดังนั้นโครงกระดูกในตู้เลยออกจะเป็นนิยายที่มีเค้าโครงมาจากบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ มากกว่าการบอกเล่าข้อเท็จจริง อ่านสนุกแต่ใช้เป็นเอกสารอ้างอิงยาก คล้ายๆ นิทานชาวไร่ที่ท่ารนาวาเอกสวัสดิ์เก็บมาจากความทรงจำของหลายๆ ท่าน ความคลาดเคลื่อนของข้อเท็จจริงก็น่าจะสูงอยู่  อย่างผมเองตอนนี้อายุเท่าไหร่ยังจำไม่ได้เลย จำได้แค่เผินๆ ว่าเพิ่งจะครบบวชมาเมื่อไม่กี่วันนี่เอง
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 20:14


อาจารย์คึกฤทธิ์ เคยกล่าวขณะเขียนหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๖๐ ปี เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๔ ไว้ว่า
     “..คนชอบอ้างโขนไทยเอามาจากขอม เอาละครมาจากแขก คุณธนิต(นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเขียนไว้ใน คึกฤทธิ์ ๖๐) ก็ยังเขียนละครไทยละครเขมรปนไปปนมา อยากจะช่วยบอกว่าละครเขมรที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ เขมรเอาอย่างไทยชัดๆ หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น ท่านแอบเอาละครไปเขมรตอนมีเรื่องวังหน้า
..”  

มีคนติงว่าเป็นเรื่องไม่ดีเท่าไร ท่านให้สติคิดว่า

     “..เมื่อจะเขียนให้คนรุ่นหลังรู้จักบรรพบุรุษ ก็ต้องให้รู้จักเรื่องราวที่ถูกต้องเป็นจริง ทั้งดีไม่ดี ถ้ามัวปกปิดความผิดพลาด ยกแต่เรื่องดีๆ เท่ากับรู้ไม่หมด รู้ไม่จริง ลูกหลานคนอ่านก็ได้ไปแค่ครึ่งเดียว..”

ด้วยความเคารพ ผมก็มีทัศนคติเดียวกับท่านเหมือนกัน

เอาบทความนั้นมาลงเต็มๆค่ะ สำหรับคนที่อยากอ่านทั้งหมด จากบล็อคโอเคเนชั่น
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=710744

หม่อมป้าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์   
โดย พจน์-พันธุ์ดุ

     อ่านเรื่อง “เหตุการณ์ หม่อมป้าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์หนีไปเขมร เมื่อ 134 ปี กับคนไทยหนีไปวันนี้”  (๗ พค.๕๔) ...ออกจะงงเหมือนกับคนอื่นๆ อีกหลายคน ที่ยังไม่ชัดเจนการโยงเรื่อง ๒ เรื่องเข้าด้วยกัน เกรงว่าผู้อ่านอีกหลายๆ คนอาจไขว้เขวได้ ก็ขอร่วมแจมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำให้เข้าใจดีขึ้น (มิได้มีเจตนาโต้แย้งใดๆ)

     ขึ้นต้น : โปรยหัวว่า.. เมื่อคนไทยหนีไปเขมร / เมื่อไม่นานมานี้ ครบรอบ ๑๐๐ ปี มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์ของประเทศอีกท่านหนึ่ง เขียนตอบปัญหาประจำวันไว้เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ตอบเรื่อง มจ.ฉวีวาด ผู้มีศักดิ์เป็นป้าท่านไว้น่าสนใจ ถ้าอ่านโครงกระดูกในตู้ ประกอบด้วย จะทำให้เราเข้าใจเรื่องราว คล้ายกับคนไทยไปเขมรเมื่อ ๒-๓ ปี ที่ผ่านมา ทำชั่วแล้วหนีไปเขมร

     .. หม่อมป้าของท่านมักใหญ่ใฝ่สูง ขาดสติสัมปชัญญะ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์วังหน้า คิดยกย่องกรมพระราชวังบวรฯ ให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยคิดกำจัดหรือลดอำนาจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และไปคบคิดกับกงศุลใหญ่ ประเทศหนึ่งเวลานั้น

     ลงท้าย : วิกฤตการณ์วังหน้า.. ตึกดินในวังหลวงเกิดระเบิด กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปประทับอยู่ในสถานกงศุลที่บางรัก.. คงเป็นจริงตามที่ยกมานั้น.. แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขมร

     ตามความเป็นจริง ท่านหญิงฉวีวาดมิได้เป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตการณ์วังหน้า.. อาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่าท่านป้าโกรธกับคนวังหลวงเรื่องส่วนตัว แล้วนำคนวังหน้ามาใช้ประชดให้ได้อาย ส่วนท่านแม่ถูกจองจำริบราชบาตรแทนนั้นก็ด้วยความผิดฐานเป็นเชื้อพระวงศ์ออกไปนอกเขตพระราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต ..เรื่องของเรื่องมีดังนี้

     ท่านหญิงฉวีวาด (หม่อมเจ้าหญิงองค์ที่ ๒ ประสูติแต่กรมขุนวรจักรธรานุภาพ และ ม.ร.ว.ดวงใจ ปราโมช) รับของหมั้นจากพระองค์เจ้าคัคณางคยุคล(ต่อมาสถาปนาเป็นกรมหลวงพิชิตปรีชากร) ภายหลังทราบว่าพระองค์คัคณางค์มีหม่อมอยู่คนหนึ่งแล้วชื่อสุ่น ไม่ยอมเลิกรากันตามที่ขอจึงไม่ยอมเสกสมรสด้วยและพาลขัดใจกับชาววังหลวงถ้วนหน้า ซ้ำยังประชดประชันด้วยการเสกสมสกับเจ้านายวังหน้าแทน คือพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ (ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ สถาปนาเป็นกรมหมื่นวรวัฒนสุภากร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนวังหลวงขายหน้าเล่นๆ ที่เจ้านายฝ่ายในของวังหลวงไปอยู่กินกับเจ้านายวังหน้าซึ่งไม่เคยมีธรรมเนียมปรากฎมาก่อน

     เรื่องส่วนตัวของท่านหญิงฉวีวาดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวังหน้ามีอยู่เท่านี้ ท่านไม่ได้ไปสมรู้ร่วมคิดล้มล้างพระราชอำนาจล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ แต่อย่างใด  แต่ได้กระทำเรื่องที่ไม่สมควรทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทจริง กรณีที่ท่านลงเรือสำเภาหนีไปเขมร เพราะเป็นสะใภ้วังหน้าร้อนตัวเกรงไปก่อนว่าพระราชอาชญาจากวิกฤตการณ์วังหน้าอาจจะตกต้องถึงตัว

     ส่วนที่นำละครของเจ้าจอมมารดาอำภาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่ตกทอดมาถึงนั้นทั้งโรงติดเรือสำเภาไปด้วย เพราะต้องการใช้เป็นใบเบิกทางให้อยู่ในเขมรได้อย่างไม่ลำบาก เนื่องจากคุ้นเคยกับสมเด็จพระนโรดมตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในสยามก่อนเสด็จกลับไปครองราชย์ที่เขมร รู้ว่าชอบโขนละครอยู่มาก ถึงขนาดเป็นประเทศราชยังมีละครในไม่ได้ ก็เอาลิเกไทยไปทรงส่งเสริมเป็นลิเกนโรดมในเขมรนิยมเล่นกันแพร่หลาย

     อาจารย์คึกฤทธิ์ เคยกล่าวขณะเขียนหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๖๐ ปี เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๔ ไว้ว่า

     “..คนชอบอ้างโขนไทยเอามาจากขอม เอาละครมาจากแขก คุณธนิต (นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เขียนไว้ใน คึกฤทธิ์ ๖๐) ก็ยังเขียนละครไทยละครเขมรปนไปปนมา อยากจะช่วยบอกว่าละครเขมรที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ เขมรเอาอย่างไทย ชัดๆ หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น ท่านแอบเอาละครไปเขมรตอนมีเรื่องวังหน้า..”

มีคนติงว่าเป็นเรื่องไม่ดีเท่าไร ท่านให้สติคิดว่า

     “..เมื่อจะเขียนให้คนรุ่นหลังรู้จักบรรพบุรุษ ก็ต้องให้รู้จักเรื่องราวที่ถูกต้องเป็นจริง ทั้งดีไม่ดี ถ้ามัวปกปิดความผิดพลาด ยกแต่เรื่องดีๆ เท่ากับรู้ไม่หมด รู้ไม่จริง ลูกหลานคนอ่านก็ได้ไปแค่ครึ่งเดียว..”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 20:28

อ้างถึง
เหตุผลอีกอย่างก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิืเขียนโครงกระดูกในตู้เป็นหนังสือแจกลูกหลานเมื่ออายุท่านครบ 60 ปี   ไม่ได้เขียนตำราประวัติศาสตร์    ท่านก็คงไม่ซีเรียสกระไรนักกับหนังสือเล่มนี้   ได้ยินมาอย่างไรก็ถ่ายทอดไปตามนั้น
ผมเอามาจากในเวปอีกทีหนึ่ง มีผู้เขียนไว้ว่า
  
อาจารย์คึกฤทธิ์ เคยกล่าวขณะเขียนหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” เพื่อแจกในงานฉลองอายุครบ ๖๐ ปี เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๕๑๔ ไว้ว่า
     “..คนชอบอ้างโขนไทยเอามาจากขอม เอาละครมาจากแขก คุณธนิต(นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเขียนไว้ใน คึกฤทธิ์ ๖๐) ก็ยังเขียนละครไทยละครเขมรปนไปปนมา อยากจะช่วยบอกว่าละครเขมรที่เห็นกันเดี๋ยวนี้ เขมรเอาอย่างไทยชัดๆ หัดจากละครท่านป้าฉวีวาดทั้งสิ้น ท่านแอบเอาละครไปเขมรตอนมีเรื่องวังหน้า
..”  

ถ้างั้นม.ร.ว.คึกฤทธิ์ท่านก็ซีเรียสกับคำบอกเล่าของท่านป้า มากกว่าที่ดิฉันคิด   คือเชื่อจริงๆว่า ม.จ.ฉวีวาดคือผู้นำละครไทยไปเผยแพร่ในเขมร เป็นแบบอย่างตกทอดมาถึงปัจจุบัน
ทิ้งคำถามไว้ให้ผู้สนใจศึกษาละครศึกษาต่อไปว่า
๑  ละครเขมรไม่ได้เอาอย่างไทย
หรือ
๒  ละครเขมรได้อิทธิพลจากไทย แต่ไม่ได้จากม.จ.ฉวีวาด   ส่วนจะได้จากไหนนั้นไปค้นคว้ากันต่อเอง
หรือ
๓  ม.จ.ฉวีวาดเอาละครไทยลงเรือไปจริงๆ  จนไปเผยแพร่ในเขมร
เราก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าม.จ.ฉวีวาดพานางละครลงเรือไปจริงหรือเปล่า    เพียงแต่สงสัยว่าถ้าเหตุการณ์ที่ ๑ และ ๒ ไม่จริง ก็อาจเป็นตัวโดมิโน่ให้เหตุการณ์ที่ ๓ ล้มระเนนระนาดไม่จริงตามไปด้วย

ชักอยากให้คุณ benzene เข้ามาร่วมวงเสียแล้วค่ะ  ได้เล่าเรื่องละครไทย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 20:50

พ่อsimeseเค้าได้สำแดงไว้บ้างแล้วในกระทู้นี้น่ะครับ

อ้างถึง
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 14:00
________________________________________
เรื่องละครไทยไปเขมร นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายครั้ง ไม่ใช่ว่าหม่อมฉวีวาดพาไปแล้วไปจะ บูม คิดว่าคงไม่ใช่แน่

เพราะในคราวก่อนหน้านั้นในสมัยไทยไปตีญวนในสงครามอันนัม ร.๓ เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ได้นำละครติดสอยไปรำที่เขมรด้วย และมีการสอนให้กับราชสำนักเขมร
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 14:15
________________________________________
ละคอนหลวงกัมพูชา (จากนิราศนครวัด)

ตั้งแรกสมเด็จกรมพระหริรักษ์ ได้ครูไทยมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา หัดเล่นแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ แต่เล่นเป็นอย่างละคอนเจ้าต่างกรม

ต่อมาสมัยพระนโรดม ก็หาครูละคอนมาจากกรุงเทพ ได้ละครตัวดีของคุณเจ้าจอมมารดาเอม ละคอนพระองค์เจ้าดวงประภา ละคอนพระองค์เจ้าสิงหนาท

และละคอนโรงอื่น ๆ มาเป็นครูอีกหลายคน เล่นแบบละคอนหลวง

และนอกจากนี้ นายโรงปริงตัวอิเหนาของเจ้าคุณจอมมารดาเอม ในกรมพระราชวังบวรฯ ออกมาอยู่กัมพูชา ได้เป็นหม่อมสมเด็จพระนโรดม เปลี่ยนชื่อว่า "หม่อมเหลียง
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 14:26
________________________________________
อีกองค์หนึ่งคือ พระธิดาในพระศรีสวัสดิ์ ชื่อ พระองค์ผิว

พระองค์ผิว (พระศรีศวรศักดิ์) เกิดที่กรุงเทพฯ มีมารดาเป็นไทย ได้เป็นหม่อมหม่อมเจ้าขุนช้าง ในกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ และมีลูกด้วยกันถึง ๔ คน

ซึ่งตายเสียแต่เยาว์ไป ๒ คน

ต่อมาพระศรีสวัสดิ์ได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์กัมพูชาแล้ว ก็โปรดให้ไปรับพระองค์ผิว พร้อมบุตร ๒ คนกลับมายังกัมพูชา ซึ่งสมเด็จพระปิ่นดารา เป็นพระเจ้าลูกเธอ

ซึ่ง "กล่าวละคอนหลวง" ทั้งหมด แต่พูดไทยไม่ได้ ต้องใช้ล่าม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 20:55

เราเคยคุยเรื่องนี้กันมาทีหนึ่งแล้ว ฉายซ้ำก็ได้ครับ

ละครในราชสำนักสยามไปสู่ราชสำนักเขมร

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4316.0
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 21:06

^
ในแหล่งอ้างอิง   ไม่มีการกล่าวถึงละครของหม่อมเจ้าฉวีวาดในราชสำนักเขมรเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 22:56

หลบหลังห้องฟังอภิปรายตาแป๋วมายาวนาน คุณครูไม่เรียกถามซักที ตอนนี้เลยได้โอกาสเปิดตัวแสดงความคิดเห็นร่วมกับท่านอาจารย์ทั้งหลายมั่ง

เรื่องแรกเรื่องของท่านชายคึกฤทธิ์ก่อน
ช่วงหลังๆ ผมได้อ่านที่คนรุ่นหลังวิจารณ์งานเขียนต่างๆ ของท่านม.ร.ว.คึกฤทธิ์หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการนำโครงเรื่องนิยายต่างประเทศมาเขียนใหม่ ปรุงรสชาติใหม่เป็นแบบไทยๆ เช่นเรื่องหลายชีวิต กาเหว่าที่บางเพลง โดยท่านไม่ได้ให้เครดิตเรื่องต้นฉบับ ทำให้ผมคิดไม่ได้ว่า ในสมัยที่ท่านม.ร.ว.คึกฤทธิ์เขียนหนังสือนั้น กระแสเรื่องลิขสิทธิ์ หรือแม้แต่เรื่องการอ้างอิงแหล่งที่มา หรือความถูกต้องในงานเขียนต่างๆ ยังไม่ถือว่าสำคัญมากเหมือนปัจจุบัน แต่ความสำคัญอยู่ที่อรรถรสในการอ่าน สำนวน การเพิ่มความตื่นเต้นเข้าไปในเรื่องราวมากกว่า  ยิ่งงานเขียนของท่านไม่ได้มีลักษณะเป็นงานวิชาการจ๋า  ทำให้งานเขียนของท่านอาจจะมีลักษณะบางอย่างที่ขัดต่อจริตคนรุ่นใหม่ได้  ดังนั้นการเพิ่มความน่าสนุกตื่นเต้นไปในเรื่องโครงกระดูกในตู้ อาจเป็นได้ทั้งจากที่ท่านรับฟังมาจากท่านป้าท่านเอง หรือคุณชายเพิ่มเข้าไปในภายหลังเพื่อให้อ่านสนุกขึ้นก็ได้

พักเหนื่อยเรื่องติดตามท่านหญิงฉวีวาดไปเขมรก่อน   ขอตัดซอยแยกออกไปเรื่องนี้ค่ะ
พ่อแม่ดิฉันเป็นนักอ่านทั้งคู่   ที่บ้านตอนเด็กๆจึงมีตู้หนังสือมีหนังสือรุ่นเก่าๆอยู่เต็ม  รวมทั้งเรื่องแปลด้วย    จำได้ว่าไม่มีเรื่องไหนเลยที่แปลโดยมีลิขสิทธิ์   ไม่ว่าสำนักพิมพ์หรือนักเขียนต่างไม่รู้จักเรื่องนี้ แม้ว่าไทยเป็นภาคีสัญญาเบิร์นส์(หรือชื่ออะไรทำนองนี้) มาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ตาม    ใครใคร่แปล แปล  ใครใคร่ดัดแปลงก็ดัดแปลง   ไม่มีใครว่ากัน

อีกข้อหนึ่งที่นักอ่านนักวิชาการรุ่นปัจจุบันคงไม่รู้กัน คือคนอ่านเมื่อ 50 ปีหรือถอยหลังไปก่อนหน้านี้ ไม่นิยมเรื่องแปลจากฝรั่ง    ตรงข้ามกับสมัยนี้ที่นิยมอ่านเรื่องแปลจากฝรั่ง จากจีน จากญี่ปุ่น ฯลฯ กันมาก     สมัยโน้น คนอ่านส่วนใหญ่ถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องแปล  ก็วางลง  หันไปหยิบเรื่องแต่งโดยคนไทยขึ้นมาแทน   ดังนั้นแวดวงการแปลจึงมีน้อยมากเมื่อเทียบกับเรื่องไทย 
กระแสความไม่นิยมเช่นนี้ทำให้นักเขียนจำนวนมากต้อง"แปลง" เรื่องต่างชาติเพื่อปรุงรสให้ถูกปากผู้บริโภค     ไม่มีใครคิดว่าเป็นการขโมยเรื่องหรือละเมิดลิขสิทธิ์หรืออะไรทำนองนั้น    มีแต่คนอ่านบอกว่า..เออ  ดี ค่อยอ่านได้สนุกหน่อย    ถ้าเป็นเรื่องฝรั่งแท้ๆ   คนอ่านชาวบ้านร้านถิ่นทั่วไป ไม่"อิน" 
เมื่อสินค้า "แปลง" ถูกใจผู้บริโภค  การแปลงเรื่องจึงเป็นของธรรมดาของวงการหนังสือ     ดิฉันเองก็เคยอ่านนิยายหลายเรื่องที่พอโตขึ้นเราก็รู้ว่าดัดแปลงมาจากนิยายต่างประเทศ     แต่ท่านผู้เขียนเก่งมาก แต่งจนเนียนสนิทเป็นไทยแท้ได้อย่างน่าชมเชย ไม่มีกลิ่นอายนมเนยเหลืออยู่เลย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง