เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 36016 สิบสี่ตุลาครานั้น กับความทรงจำของแต่ละท่านในเรือนไทย
chupong
พาลี
****
ตอบ: 316


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 11 ต.ค. 13, 18:06

กระผมขอมอบดอกไม้ขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพู ด้วยเพลงนี้ครับ “ดอกไม้จะบาน”
จากบทกวี ปลายปากกาอันแสนคมของ ท่านอาจารย์จิระนันท์ พิตรปรีชา ผ่านการขับร้องหลายวาระ แหละ นี่คืออีกวาระหนึ่ง ที่เรียกความประทับใจให้ผู้ชมผู้ฟังโดยถ้วนหน้ากัน
จากรายการ The Voice kids ครับผม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12547



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 11 ต.ค. 13, 19:23

ดอกไม้จะบาน



ดอกไม้                ดอกไม้จะบาน
บริสุทธิ์กล้าหาญ     จะบานในใจ
 
สีขาว                 หนุ่มสาวจะใฝ่
แน่วแน่แก้ไข        จุดไฟศรัทธา
 
เรียนรู้                 ต่อสู้มายา
ก้าวไปข้างหน้า      เข้าหามวลชน
 
ชีวิต                  อุทิศยอมตน
ฝ่าความสับสน       เพื่อผลประชา
 
ดอกไม้               บานให้คุณค่า
จงบานช้าช้า         แต่ว่ายั่งยืน
 
ที่นี่                    และที่อื่นอื่น
ดอกไม้สดชื่น        ยื่นให้มวลชน  

จิระนันท์  พิตรปรีชา
พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือปฐมนิเทศนิสิตใหม่จุฬาฯ "ผลิ" พ.ศ. ๒๕๑๖



บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 11 ต.ค. 13, 21:31

เรียนคุณชูพงค์

ผมคงจะเล่าให้ทราบเฉพาะที่ผมได้เห็นจริงๆ ส่วนคำบอกเล่าจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เล่าให้ฟังไว้ อาจจะมาบอกต่อบ้างนิดหน่อยครับ

อ่านบันทึกของท่านจอมพลถนอม หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา จากหนังสือในการพระราชทานเพลิงศพฯ ตอนที่ท่านไปอยู่ที่อเมริกา ถ้าท่านไม่โกหก บันทึกของท่านได้บ่งบอกบางสิ่งบางอย่างว่าท่านก็กำลังถูกผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนเลื่อยขาเก้าอี้อยู่ และบุคคลคนนั้นก็ได้เป็นใหญ่ในกองทัพอยู่ช่วงหนึ่ง


 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 ต.ค. 13, 22:19 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 20:28

อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับ 14 ตุลา โดยตรง แต่ได้เขียนถ้อยความรู้สึกบางอย่างไว้ในเวปหนึ่งดังนี้

เพิ่งดูรายการ สัจจะวิถี 14 ตุลา ทางสถานี TPBS
เออ..ก็เลยเกิดฮึด ขีดๆเขียนๆเรื่องราวบางอย่างบ้าง
ของเขาระลึกด้านสาระหนักๆ
เราระลึกด้านที่สาระน้อยๆหน่อย คงไม่ว่ากัน

ใกล้ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี
เดือนที่มีความหมายในการเคลื่อนไหวเชิงประวัติศาสตร์
ในฐานะคนตุลา รุ่นหลังมากมาก (ตอนนั้นยังเป็นเด็กมัธยมเอง)
ด้วยมีโอกาสรับฟัง รับรู้และอยู่ในเหตุการณ์
(เพราะไปเยี่ยมๆมองๆวิถีราชดำเนินคืนก่อนเกิดเหตุ และรอดออกมาได้ถึงวันนี้)
ก็เลยตั้งปณิธานว่า ทุกเดือนตุลา จะพยายามค้นคว้ามุมมองใหม่ๆของเสี้ยวประวัติศาสตร์ที่อาจถูกมองข้ามไป
แล้วถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังฟัง
เหมือนที่ตัวเองมีโอกาสรับฟังทัศนะเรื่องราวจากคนรุ่นก่อน

มาปีนี้ ลองไล่เรียงเปิดเพลงเพื่อชีวิตซึ่งเป็นบันทึกทางวัฒนธรรมของสังคมยุคนั้น
นอกเหนือจากเพลงร้องปลุกใจที่รู้จักกันแพร่หลาย
ก็มาสะดุดกับเพลงเรียบๆง่ายๆแต่ยังติดตรึงโสตประสาทไม่รู้ลืม
นั่นก็คือเพลง "นางนวล"

การก่อเกิดของนางนวล ตัวนี้ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เสียเลยทีเดียว
แต่เกิดภายหลังอีก 3 ปี เป็นบทเพลงที่ขับร้อง และอัดใส่เทปตลับ ดำเนินการใต้ดิน
โดยกลุ่มศิลปินที่ไม่สามารถปรากฏชื่อหรือแสดงตัวได้เลย
อันเนื่องจากภาวะการณ์ที่บีบคั้นและการหมายชื่อจากทางการ
ต่อเมื่อกาลเวลาได้พาคลื่นลมแห่งความขัดแย้งผ่านพ้นหลายสิบปี
จึงเปิดเผยเรื่องราวต้นกำเนิดและที่มาอย่างชัดเจน

ผู้แต่งเพลงนี้ เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีความรู้ภาษาจีนค่อนข้างดี
มีความประทับใจในภาพยนตร์จีนไต้หวันเรื่องหนึ่งคือ "ไห่โอว" ซึ่งแปลว่านางนวล
เนื้อเรื่องกล่าวถึงคุณครูสาวนางหนึ่งผู้สูงส่งด้วยจิตวิญญาณแห่งการเสียสละ
ใช้ชีวิตสอนหนังสือให้แก่เด็กๆในเขตทุรกันดาร สุดท้ายก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง
กายที่จากไป เหมือนปีกนกนางนวล แต่ทิ้งอุดมการณ์และความดีงามไว้ให้จดจำ

ดูเหมือนจะมีผู้รู้ได้แปลเนื้อเพลงในภาพยนตร์เป็นภาษาไทยดังนี้

เพลงปี 1973
《海鷗》
นางนวล
作词:孙仪 作曲:刘家昌 唱 : 翁倩玉
คำร้อง : ซุนอี๋ / ทำนอง : หลิวเจียชาง / ขับร้อง : วงเชี่ยนอวี้

海鸥飞在蓝蓝海上 
นางนวลบินอยู่้หนือท้องทะเลสีฟ้าคราม
不怕狂风巨浪
ไม่กลัวสายลมบ้าคลั่ง ลูกคลื่นโตใหญ่
挥着翅膀看着前方 
โปกปีกโบยบินมุ่งไปข้างหน้า
不会迷失方向
ไม่หลงทิศทาง
飞得越高看得越远 
บินได้ยิ่งสูงยิ่งมองได้ไกล
它在找寻理想
มันกำลังแสวงหาอุดมคติ
我愿像海鸥一样 那么 勇敢坚强
ฉันปรารถนาจะเป็นเช่นนกนางนวล กล้าหาญ อดทน

เรืองรอง รุ่งรัศมี : แปล


และเมื่อเธอ(ผู้แปลและแปลงเพลง)นางนวลออกมาเป็นภาษาไทย ก็สามารถเก็บความหมายอันลึกซึ้งได้อย่างเพราะพริ้งดังนี้


เพลง นางนวล

ขอบทะเล เงินยวง โผบิน นางนวล
หากลัว คลื่นลม กระหน่ำ
ปีกกระพือ บินไป เห็นทาง กว้างไกล
หาเคย จำผิด ทิศทาง
โบกบิน เทียมฟ้า ได้มอง ลับตา
เจ้านั้น ใฝ่หา วิถีทาง
ฉันตั้งใจ จะเอา เยี่ยงอย่าง
ท้าทาย ยืนหยัด อย่างทรนง


เพลงนางนวล กลายเป็นเพลงเอกในเทปตลับของ วงดนตรี "พลังเพลง "
ซึ่งมีเพลงอื่นๆที่รู้จักกันอีกมากมาย
แนวทางของวงดนตรีค่อนข้างจะออกเชิงปรัชญาและอุดมคติ
ไม่ได้กล่าวถึงการต่อสู้ การโค่นล้ม การแก้แค้นดังเช่นวงดนตรีเพื่อชีวิตวงอื่นๆ
หากจะสอดใส่ความอ่อนโยน คุณธรรม ความหวัง
ความปรารถนาดีด้วยคำเพลงสั้นๆ เรียบง่าย
จนถูกแซวว่าเป็น นักปฏิวัติโรแมนติค

ถึงทุกวันนี้ ขณะที่เพลงเพื่อชีวิตหลายๆเพลงถูกนำมาขับขานกันใหม่
บางสถาบันการศึกษาถึงกับนำมาเรียบเรียง เสียงประสานขับกล่อมในหอประชุมของตัวเอง
โดยถือเป็นชิ้นงานศึกษาวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางสังคม
(เช่น เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะถูกนำอยู่ในคอร์สการศึกษาอิสระ)

หากเพลง นางนวล ตัวนี้ กลับโฉบหายลับ แทบจะไม่มีใครเห็นหรือรู้ต้นลาง

วันนี้ นางนวล ตัวเดิมที่จากไปเมื่อ 36 ปีกลับมาแล้ว
แม้เสียงจะแตกพร่าเพราะบินล้าข้ามปีกแห่งเวลาหนึ่งชั่วอายุคน
แต่เมื่อได้ยิน ก็ยังคงความสดใส แสนงาม เช่นเดิม :roll:

ลองฟังเปรียบเทียบต้นฉบับของนางนวลไห่โอว และนางนวลไทยๆ

fy78R-lqw8A

ดูแล้วเหมือนได้กลิ่นอาย The Sound of Music หน่อยๆ

ครานี้ฟัง นางนวลต้นฉบับ

YmNAxhUE0BY


ในกาลต่อมา นางนวล เพลงเดิมถูกนำมาเรียบเรียงร้องเป็นเพลงประสานเสียง
โดยคณะนักร้องวงเจ้าพระยาคอรัส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บรรจุเป็นหนึ่งในเทปเพลงชุดสายธารธรรม
ฟังดูก็ได้รู้สึกเพราะไปอีกแบบ

ปัจจุบันเทปชุดนี้กลายเป็นหนึ่งในมาสเตอร์ที่หายากแล้ว

5DDe6mYWX4o
บันทึกการเข้า
kulapha
มัจฉานุ
**
ตอบ: 96


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 21:32

ทีนี้ ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บ้าง

ลองหาอ่านหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเล่มนี้่



จะทำให้เข้าใจภาพเหตุการณ์ขณะนั้นได้บ้าง ไม่ทราบยังพอมีขายอยู่หรือไม่

หรือจะอ่านบางส่วนในเวปนี้ก็ได้ค่ะ

http://www.gotoknow.org/posts/335371

บันทึกการเข้า
Neepata
อสุรผัด
*
ตอบ: 24


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 22:00

ลุงไก่ - รับทราบค่ะ สงสัยหนูจะสับสนเพราะดูหลายรูป ถ้ามีโอกาสจะกลับเข้าไปหาข้อมูลอีกครั้งค่ะ
Chupong - ที่จริงตั้งแต่เด็กมาก็เห็นข่าวมาตลอดค่ะ เหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่พอดีว่าปัจจุบันมันเหมือนจะย้อนรอยสมัยก่อนแต่ความรุนแรงมากขึ้น บ้านเมืองอื่นดูข่าวแล้วก็ไม่รู้สึกเท่าบ้านเมืองตัวเอง และเป็นช่วงที่หนูโตแล้วเลยรู้สึกได้มากกว่าเดิมค่ะ อดเป็นห่วงไม่ได้ หนูตามอ่านกระทู้ แวะมาเล่าเพิ่มเติมกันนะคะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 316


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 08:46

เรียนคุณ kulapha ที่เคารพยิ่งครับ

   ผมเคยได้ยินรุ่นพี่พูดถึงวงดนตรี “พลังเพลง” อยู่บ่อยๆครับ ตนเองเคยฟังเพลงของวงดนตรีนี้อยู่บ้างเล็กน้อย แต่ “นางนวล” ยังไม่เคยฟังครับ ขอขอบพระคุณคุณ kulapha อย่างสูงยิ่งครับ ที่นำอีกหนึ่งบทเพลงอันทรงคุณค่ามาให้ได้รับฟังครับผม

เรียนคุณ Neepata ครับ
   คนไทยทุกคนต่างเป็นห่วงประเทศของเราด้วยกันทั้งนั้นครับ ผมคิดว่า พวกเรา ในฐานะพลเมือง สามารถลดความรุนแรงได้ก็ด้วย “สติ” ครับ
ไม่ว่าใครจะพูด จะเขียน หรือจะสื่อสารเชิงปลุกระดมอย่างไรให้เราฟัง หรือดู หรืออ่าน ฯลฯ ก่อนอารมณ์เราจะเดือด หยุดหายใจเข้าลึกๆแล้วผ่อนออก จากนั้น ค่อยๆไตร่ตรอง ค้นหาความจริงไปทีละขั้น ทีละตอน เราก็จะไม่ “เต้นตาม” วาจาเหล่านั้นในทันทีครับผม
   
บันทึกการเข้า
spyrogira
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 11:21

สมัยนั้นยังเด็กครับ ..
ย้ายจาก กทม ตามผู้ปกครองมาอยู่เมืองอุดร อยู่ในโรงพัก หรือสถานีตำรวจสมัยนั้น
ข้างๆ บ้านมีห้องขังขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 เฟส .. มีกรงขังรวม และห้องแยก .. แม่บอกว่า
เป็นที่คุมขัง "คอมมูนิสต์" .. ที่ผมเคยไปดูตอนเค้าแจกอาหาร นั่นก็คนคือกัน เป็นคนแบบเราๆ ท่านๆ
ที่คิดไม่ตรงกับบรรดาผู้มีอำนาจปกครอง .. ก่อนปี 16 .. ห้องขังเหล่านั้นก็ร้างลง  ... กลายเป็นที่พัก
ของตำรวจ ที่ย้ายมาและยังไม่มีบ้านพัก ...

... เหตุการณ์ 14 ตค วันวิปโยค ตามหน้าข่าว นสพ .. อาจจะดูว่าไม่มีผลกระทบกับคน ตจว มากนัก
ทราบเหตุการณ์ต่างๆ ก็จาก สื่อที่ส่งออกมาด้านเดียว ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ .. อีกอย่าง
อาจจะยังเล็กไป ได้แต่เอาใจช่วยคนร่วมสมัย มองพี่ๆ นักศึกษาเป็นฮีโร่ .. เพราะ ปชช มือปล่าว
หาญกล้าสู้กับ จนท ที่ติดอาวุธ .. เป็นความประทับใจสืบมา ..

ครั้น เหตุการณ์ 6 ตค 19 ... มันกลายเป็นเรื่องอีกเรื่องนึงเลย ได้แต่สลดใจกับข่าวที่หลั่งไหลมา
ข่าวการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ข่าวการหลบหนีเข้าป่าจับอาวุธสู้ .. หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ..
ผลกระทบมาถึงช่วงเข้าเรียนเทคโนฯ .. ไม่มีชมรมนักศึกษา ไม่มีกิจกรรมการเมือง แต่รุ่นผม
ก็ยังมีการก่อหวอดไล่ ผอ.วิทยาลัย สุดท้ายก็กลายเป็นกบฎ ...

.. คอยเฝ้าอ่านข่าวการยึดอำนาจ รัฐประหาร ที่สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ตลกสุดคือ เมษาฮาวาย ..
แต่อย่างน้อย .. 14 ตค 16 ก็ยังเฝ้าเตือนใจให้สำนึกว่า การปกครองโดยประชาชน ยังให้ประโยชน์
แก่คนหมู่มาก มากกว่าการปกครองโดยกลุ่มคณะที่ใช้อาวุธมากนัก ...

 ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33424

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 12:41

กลอนบทนี้เขียนเนื่องใน 14 ตุลา 56  ถัดจาก 14 ตุลา 16 มา 40  ปี  แต่มีการเท้าความถึงเหตุการณ์ครั้งโน้น   ก็เลยขอนำมาลงให้คุณชูพงศ์อ่านค่ะ

" ความตายที่แตกต่าง "

ตายอย่างสิบสี่ตุลาฯ มีค่านัก
สง่างามจำหลักแห่งศักดิ์ศรี
ตายเพื่อชาติเพื่อประชาฟ้าเสรี
ตายเช่นนี้มีคุณค่าน่าเทิดทูน

ยอมสละเลือดเนื้อเพื่อต่อต้าน
เผด็จการมารแผ่นดินจึงสิ้นสูญ
สร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์
รัฐธรรมนูญพูนพลังค้ำสังคม

สี่สิบปีที่ผ่านเหตุการณ์นั้น
ผ่านความฝันผ่านความหวังที่สั่งสม
ผ่านทั้งความขมขื่นความชื่นชม
ผ่านเจตนารมณ์อุดมการณ์

สิบสี่ตุลาฯ ทำหน้าที่ไว้ดีมาก
แต่หลังจากนั้นมาเวลาผ่าน
เหมือนประชาธิปไตยไม่ทำงาน
สิทธิ์เสรีที่เบ่งบานก็บอบบาง

ชัยชนะก้าวแรกจึงแหลกยับ
อดีตกับปัจจุบันนั้นแตกต่าง
การต่อสู้ของมวลชนบนเส้นทาง
ล้วนแคลงคลางเคลือบคลุมกลุ่มควันดำ

พลังแห่งการชิงชัยไม่บริสุทธิ์
พากันฉุดประชาธิปไตยให้ตกต่ำ
มีการตายแต่ไม่มีวีรกรรม
ตายเพื่อค้ำทรราชทาสนายทุน!

จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน
14 ตุลา 56
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 316


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 09:26

ขอบพระคุณคุณ spyrogira อย่างอนันต์ครับ สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดอุดรธานี บ้านคุณพ่อคุณแม่ผมอยู่ที่นั่นครับ พี่น้องก็อยู่นั่นด้วยเช่นกัน เห็นที ถ้ามีโอกาสขึ้นไปเที่ยวอุดรฯ งวดต่อไป ผมคงต้องไปแสวงหาเกร็ดประวัติศาสตร์เพิ่มเติมหละครับ

   เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพสูงยิ่งครับ
   “มีการตายแต่ไม่มีวีรกรรม” วรรคนี้ของท่านอาจารย์จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน โดนใจผมอย่างแรงครับ
ผมเชื่อว่า ป่านนี้ ดวงวิญญาณวีรชน ๑๔ ตุลา อาจกำลังร้องไห้ที่บ้านเมืองเรายังแตกแยก ขัดแย้งกัน
สี่สิบปีจากวันนั้นจวบวันนี้ เรายังล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา
ได้แต่หวังว่าวันหน้า ประชาธิปไตยไทยจะกระเตื้องขึ้นครับผม
บันทึกการเข้า
scarlet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 155

โกหกเมียตายไปตกนรก แต่พูดความจริงตายทันที เลือกเอา


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 27 ต.ค. 13, 14:51

ดู footage ที่ไทยพีบีเอสทำ ในฐานะคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์บางตอนเพราะบ้านอยู่แถวนั้น รับรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นอัตโนมัติถึงแม้ไม่ประชาธิปไตยจ๋า อะไรๆก็ของประชาชน เพราะผู้บริหารประเทศก็เป็นประชาชนเหมือนกัน ดูๆไปมีความรู้สึกว่า คนสร้างเหมือนคนตาบอดคลำช้าง ไม่รู้ประเด็นปัญหาจริงๆ แต่ว่าไป ประเด็นก็แยะแหละ พูดไปก็คงยาวมาก เพราะเป็นเรื่องสะสม
บางเรื่องก็คิดว่า misleading ตัวอย่างคือ ประเด็นหนึ่งที่เป็นชนวนคือ สินค้าญี่ปุ่น เหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้นำนศศ.โจมตีว่าไทยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น มีแต่สินค้าญี่ปุ่นรอบตัว เรียกร้องให้คนไทยปลดแอก เหตุการณ์ผ่านมา 40 ปี ประเทศไทยปลดแอกได้หรือ? กลับเพิ่มมากขึ้น อย่าว่าทวีคูณเลย นับจำนวนเท่าไม่ถ้วนเลยแหละ เพราะนี่คือโลกาภิวัตน์ ไม่ได้มีแต่เรื่องเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ยังต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีเพื่ออยู่กับโลกได้ ถ้าประเทศไทยไม่ได้พัฒนาวัตถุอย่างที่ผู้นำนักศึกษาในวันนั้นโจมตี วันนี้ก็คงไม่มีเรือนไทยให้มาคุยกัน
ผมถึงบอกว่า ประเด็นนี้  misleading
แต่อะไรจะเกิด มันก็ต้องเกิด และเกิดไปแล้ว

ปมอื่นๆ เยอะแยะ คุณณรงค์ ขึ้้นค่ารถเมล์ ผสมกับข่าวของสื่อมวลชน บางเรื่องผมว่าขี้หมูขี้หมา
ทุกวันนี้ อย่าว่าแต่ญี่ปุ่นเลย ทั้งจีน เกาหลี ฝรั่ง (อาวุธทหาร) เมกะโปรเจ็คทั้งนั้น ไม่ใช่สินค้าในบ้านที่หยิบมาโจมตีรัฐบาลในวันนั้น เป็นแสนล้าน ไม่เห็นมีใครมาปลุกระดมให้ใช้ประชาชนล้มรัฐบาลอีก

พูดไปก็ยาวนะครับ เท่านี้ก่อน 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33424

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 27 ต.ค. 13, 15:56

สี่สิบปีมาแล้วค่ะ   เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน
บันทึกการเข้า
ทองแถม
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 27 ต.ค. 13, 20:12

 
เล่าความหลังไปเปล่า ๆ ไม่ค่อยมีประโยชน์
ควรจัดสินใจปัจจุบัน
เพื่ออนาคตของไทยทุกคนด้วย
           .......................

                                       14 ตุลามันจบไปแล้ว
                                         เรามาเริ่มกันใหม่เถิด   
              เมื่อ พ.ศ ๒๕๑๖  เดือนตุลาคม  เกิดเหตุการณ์ที่พลิกประเทศไทย  นั่นคือเหตุการณ์ “๑๔ ตุลา”   
   ในครั้งนั้นนักศึกษาประชาชนทั่วประเทศได้รวมกำลังกันล้มรัฐบาลเผด็จการลงได้      เป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยพร้อมกันเป็นครั้งแรก
                คราวนั้นแม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะเกิดอยู่ในกรุงเทพ  แต่ตามต่างจังหวัดก็ได้มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย   อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
             ผลพวงจากเหตุการณ์ “๑๔ ตุลา” ประการหนึ่งคือ  ทำให้กลุ่มกดดัน (Pressure Groups) ทางการเมืองมีจำนวนเพิ่มขึ้น    พลังในแง่ความเป็นกลุ่มกดดันทางการเมืองของกองทัพลดทอนไปบ้าง    เกิดพรรคการเมืองใหม่ ๆ   เกิดนักการเมืองรุ่นใหม่   และที่สำคัญคือ  “กลุ่มทุน” เข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านทางพรรคการเมืองและนักการเมือง   รวมทั้งเริ่มมี “นายทุน”ผันตัวเองเข้ามาเป็นนักการเมือง     จากนั้น “ทุน” และ “นายทุน” ก็เพิ่มอำนาจการควบคุมการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ   
              “การปฏิรูปการเมือง” หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕   แม้จะเกิดจากความปรารถนาดีของปัญญาชนก็ตาม  แต่ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้    อำนาจการเมืองตกอยู่กับทุนและนายทุนอย่างเบ็ดเสร็จ   แม้จะยังมีเปลือกภายนอกของการเลือกตั้งจากประชาชนหุ้มอยู่ก็ตาม 
   พ.ศ ๒๕๕๖  เดือนตุลาคม  ในวาระรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ “สี่สิบปีสิบสี่ตุลา”     หัวข้อ “ประชาธิปไตย” ก็คงจะถูกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างสำหรับสร้างกระแสการต่อสู้ทางการเมืองกันอีก
                แต่จะลากดึงการต่อสู้ทางการเมืองขณะนี้ไปโยงใยกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต เช่น “14 ตุลา” กันอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ
   อดีตก็คืออดีต  ปัจจุบันก็คือปัจจุบัน
                การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ “๑๔ ตุลา”  มีเงื่อนไขปัจจัยอย่างหนึ่ง
   ความขัดแย้งแตกแยกทางการเมืองที่ยังต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้    ก็แตกต่างจากในอดีต   ปัญหาการเมืองที่เป็นปัญหาด้านหลัก    ก็มิใช่เรื่องความเป็นเผด็จการกับความเป็นประชาธิปไตย  หากแต่เป็นปัญหาความแตกแยกระหว่าง “กลุ่มทุน”   
                 ปัญหาความแตกแยกกันระหว่างกลุ่มทุน   แล้วต่างฝ่ายต่างใช้กลยุทธ์สงครามตัวแทน  ปลุกปั่นประชาชนให้เข้าเป็นขุมกำลังของฝ่ายตน   จนทำให้ประชาชนไทยเกิดความแตกแยกกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน     นี่เป็นปัญหาใหม่  ที่แตกต่างจากยุค “14 ตุลา” อย่างสิ้นเชิง
             การรำลึกให้ความสำคัญกับวีรกรรมของประชาชนครั้งประวัติศาสตร์ “14 ตุลา”  ควรจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อดับปัญหาความแตกแยกในหมู่ประชาชนที่กำลังสร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองและพลเมืองไทยทั้งหมด
               ความสามัคคีในหมู่มวลชนคราวเหตุการณ์ “14 ตุลา” ปี ๒๕๑๖ นั้น  เกิดขึ้นได้รวดเร็ว  เนื่องจากมวลชนมองเห็น “ศัตรู” หรือต้นตอของปัญหาและความเดือดร้อนในสังคมได้ชัดเจน   จึงเกิดความเชื่อที่ต้องตรงกัน
               แต่ขณะนี้    ต้นตอของปัญหาหรือเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ    ขอใช้คำว่า “ศัตรู” ของประโยชน์สุขแห่งประชาชนนั้น   มันสลับซับซ้อน  มวลชนยากที่จะแยกมิตรแยกศัตรูให้แจ่มชัดได้ ประชาชนยังอยู่ในห้วงความสับสน   ปรากฏการณ์ก็คือความแตกแยกทางความคิดของมวลชน  การแบ่งพวกแบ่งสี ฯ 
   สังคมแยกผิดแยกถูกไม่ได้    สาเหตุหนึ่งอาจจะเนื่องจากหลงผิดไปกับประชาธิปไตย  ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการใช้สิทธิ์ตามกิเลสตัณหาได้อย่างเสรี    ไม่ใช่การมีเสรีที่จะโกหกหลอกหลวงคน  พูดกลับผิดเป็นถูก   
   สังคมปล่อยให้โฆษณาการเมือง  ปล่อยให้ต่อสู้กันทางสื่อ  จนประชาชนไม่รู้แล้วว่าอะไรถูกอะไรผิด    อย่างนี้มันมิใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดีงาม    แต่เป็นการปล่อยให้ประชาธิปไตยตามกิเลสตัณหา   อันมีแต่จะก่อความเดือดร้อนต่อสังคมโดยองค์รวม   สิ่งเหล่านี้ย่อมมิใช่ประชาธิปไตยแบบที่อุดมการณ์ “14 ตุลา” ต้องการ               
             ปัญหาสำคัญขณะนี้คือสังคมมองไม่เห็น  หรือมองความขัดแย้งหลักในสังคมผิดพลาด
             ปัจจุบันนี้การเมืองไทยและสื่อสารมวลชนติดอยู่ในวังวนความขัดแย้งคู่เดียวคือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพลังการเมืองฝ่ายทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มพลังการเมืองที่ต่อต้านทักษิณ ชินวัตร   รูปธรรมก็เช่น ปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญ , การออกกฎหมายนิรโทษกรรม  , ปัญหาการเรียกร้องราคายางพาราที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชก็ถูกมองเป็นม็อบการเมือง ฯลฯ
            ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมือสองฟากดังกล่าวข้างต้น   ผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในด้านกว้างและด้านลึกมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน   ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน  ทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรงเกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน  แต่ก็น่าคิดทบทวนว่า  มันเป็นความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำ  กลุ่มใดชนะก็ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองขอองประเทศไทย   
            ชนชั้นล่างถูกลากดึงเป็นกองกำลังไพร่พลในสงครามเท่านั้นเอง    เมื่อสิ้นสงครามชนชั้นล่างก็จะยังคงเป็นกลุ่มคนเสียเปรียบด้อยโอกาส  ถูก “อภิทุน” สูบเลือดสูบเนื้อต่อไป
             หลายปีมานี้ภายใต้การครอบงำของความขัดแย้งหลักดังกล่าวข้างต้น   ความขัดแย้งคู่อื่นในสังคมก็เกิดขึ้นมากมายในขอบเขตทั่วประเทศ  และเริ่มสะสมทางปริมาณและขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   ซึ้งถ้าสังคมไทยปล่อยปละละเลย   ชาวบ้านผู้เสียเปรียบเกิดความเดือดร้อนมากขึ้น ๆ  ถึงวันนั้น “ความรุนแรง” แท้จริงที่ร้ายแรงกว่าความรุนแรงที่กลุ่มพลังการเมืองภายในชนชั้นนำทำขึ้นในทศวรรษนี้เสียอีก
ความขัดแย้งคู่สำคัญนี้คือ  ผลประโยชน์ของพลเมืองชั้นล่างกับผลประโยชน์ของ “ทุน”
         ยกตัวอย่างเรื่องเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยแต่ถูกมองข้าม  เช่นเรื่อง “น้ำเสีย” จากโรงงาน โรงงานแอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลอง  น้ำเน่าสัตว์น้ำตายหมดสิ้น  มีข่าวเป็นระยะ ๆ   ,  บ่อบำบัดน้ำเสียพัง  น้ำเสียหลุดออกมาทำลายนาข้าว ทำลายหนองบึง  มีข่าวบ่อย 
น้ำเสียจากโรงงานมันสำปะหลังก่อปัญหาบ่อย  เมื่อดูขอบเขตทั่วประเทศ  พบว่ามีเกิดขึ้นเกือบทุกเดือน   โรงงานชดเชยเงินให้ชาวนาจำนวนหนึ่ง  เรื่องก็จบ ๆ กันไป   โรงงานบางแห่งเป็น “ทุน” ท้องถิ่น ก็เลยหยวน ๆ กันไป  เหตุการณ์มันเกิดขึ้นบ่อยขึ้น  และโรงงานที่เป็นต้นเหตุก็มักจะชื่อซ้ำ ๆ กัน   ถ้าปล่อยปละละเลยให้มันเกิดขึ้นบ่อย ๆ ต่อไป   ความขัดแย้งก็จะสะสมมากขึ้น ๆ
         ยกตัวอย่างปัญหาระดับใหญ่ขึ้น  เช่น  ปัญหาสัมปทานทรัพยากรใต้ดิน  ความขัดแย้งทำให้มีผู้คนเข้ามาเป็นกลุ่มพลัง  ทั้งในภาคส่วนชุมชนคนในพื้นที่  เช่น การต่อต้านการให้สัมปทานเหมืองแร่โปแตสของพี่น้องจังหวัดอุดรธานี  ,  การเรียกร้องให้เหมืองแร่ทองคำแก้ไขการสร้างมลพิษ ของพี่น้องอำเภอวังสะพุง ฯ   และในภาคส่วนของชนชั้นกลางในเมือง  เช่น  การเรียกร้องให้ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน , ยึด ปตท. กลับเป็นของแผ่นดิน , การต่อต้านเขื่อนแม่วงก์ ฯ 
         แค่มีข่าวว่า  บริษัท ทุ่งคำ ผู้ทำเหมืองแร่ทองคำ ที่ จ.เลย  ให้ทนายยื่นฟ้อง 14 แกนนำกลุ่มรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง เรียกค่าเสียหายถึง 50 ล้านบาท  ก็เป็นสัญญาณแล้วว่า   อนาคตอันใกล้นี้ชาวบ้านที่หาญมาต่อสู้กับ “อภิทุน” ซึ่งก็เป็นพวกเดียวกับกลุ่มพลังการเมืองที่กำลังต่อสู้กันนั่นเอง   จะถกกดถูกปราบ  กดด้วยกฏหมายไม่สำเร็จ  ก็จะถูกปราบด้วยตำรวจทหาร
กรณีอำนาจรัฐ เช่น ตรวจ ทหาร ศาล คุก ฯลฯ ใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านที่ประท้วงเรียกร้องราคายางพาราที่ชะอวด    ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดแจ้ง 
ผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน , การอนุรักษ์สภาพแวดล้อม กับผลประโยชน์ทางธุรกิจและการคอร์รัปชัน(รับใช้อภิทุน)   เป็นคู่ขัดแย้งใหญ่โตที่ยังถูกมองข้าม
             :-Xเสียงเรียกร้องให้ก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทุนของชนชั้นนำนั้นถูกต้องแล้ว    เพราะแท้จริงกลุ่มทุนของชนชั้นนำทุกกลุ่ม  พูดให้ชัดก็คือพรรคการเมืองต่าง ๆ นั่นเอง  คือคู่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประชาชนไทย.
บันทึกการเข้า
ทองแถม
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 27 ต.ค. 13, 20:26

                                 ยิ้ม เลือดตุลาฯ สามรุ่น
   ๐ คนสามรุ่น  ครุ่นคิด  อะไรหรือ                    สิ่งใด  เล่าคือ   แก่นสมัย
   พ่อน้องพี่  ฤามี  ความเข้าใจ                             เพราะฉาก  แห่งวัย  ฉาบเกาะเรา
   ด้วยนามคน  “ตุลา”  สง่านักหรือ                   ประวัติศาสตร์  นั้นคือ  อะไรเล่า
   เป็นเศษ  หัวเราะ  หรือเพียงเงา                        ฉาบฉวย  ฉายเอา  อุดมการณ์ 
   ราดรด  หัวตอ  ก็พอแล้ว                                 พ่อแก้ว  แม่แก้ว  ทุกถิ่นสถาน
   เทิดกราบ  อุดมคติ  นิรันดร์กาล                      ใครเล่าสาน   ชูชื่อ  “ตุลา”ไว้
   แล้วบ้านเมือง  เคืองไข้  อะไรบ้าง                   เลือดตุลา  คงจาง  คุกคามไข้
   โลหิต  พิษเสีย   ไปเท่าไร                                คงไม่  มีใคร  ใส่ใจแล้ว ๐   
บันทึกการเข้า
พวงแก้ว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 13 พ.ย. 13, 11:21

ค่อยๆย่องมานั่งฟัง อยู่หลังห้องบ่อยๆ แต่กระทู้นี้เรียกความทรงจำที่เกือบจะจำไม่ได้แล้วกลับมา บางตอนอาจพร่ามัวไปหน่อยต้องขออภัย  แต่ก็อยากเล่าสู่กันฟัง ปี 2514 ดิฉันเป็นน.ศ.ปี 1 ในมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือ ทั้งที่เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด

ในพ.ศ.นั้น การสื่อสารระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัดก็ไม่ได้สะดวกนัก โทรศัพท์ทางไกลก็ไม่สะดวก เราใช้โทรศัพท์ของราชการเพื่อเรื่องส่วนตัวไม่ได้ น.ศ.ติดต่อทางบ้านได้โดยทางจดหมายเท่านั้น แต่ถึงจะโทรทางไกลก็ต้องเข้าเมืองมาที่ไปรษณีย์ ต้องต่อคิวเพื่อพูดเท่าที่จำเป็นเพราะมีคนรอคิวต่อจากเราอีก และประหยัดค่าใช้จ่าย  แต่ถ้าจำเป็นผู้ปกครองโทรหาเราที่หอได้ อาจารย์ประจำหอจะอนุญาตให้เราพูดกับทางบ้าน

เมื่อเป็นเช่นนั้น ข่าวสารบ้านเมืองเราก็รู้ได้จากหนังสือพิมพ์ ในห้องหนังสือของหอพัก และข่าวทางทีวีซึ่งก็ไม่มากพอที่จะรับฟังอย่างรอบด้าน เหตุการณ์ที่เกิดในม.ธ. กว่าข่าวสารจะไปถึงต่างจังหวัดก็ข้ามคืนแล้ว  เมื่อเหตุการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นมหาวิทยาลัยก็ประกาศปิด เพื่อให้น.ศ.เดินทางกลับบ้านซึ่งเป็นที่ๆปลอดภัยที่สุด  น.ศ.หลายร้อยคนเดินทางกลับกรุงเทพฯแต่ถูกกักรถที่แถวนครสวรรค์ ไม่สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯได้ ทั้งที่เด็กพวกนี้ก็เพียงแต่จะกลับบ้านเท่านั้น  สถานการณ์ก็ตึงตัวขึ้นเป็นลำดับ

ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะประกาศหยุดการเรียนการสอนนั้น เข้าใจว่ามีอาจารย์บางท่านได้รับผลกระทบทางการเมืองและ เดินทางไปที่อื่นเพื่อความปลอดภัย  การสอนก็ไม่ปกติ บรรยากาศโดยรวมเหมือนทุกคนไม่มีความมั่นใจในสถานการณ์ ก็ประกาศงดสอน น.ศ.ที่ไม่กลับบ้านก็เก็บตัวอยู่ในหอพัก ไม่ออกมาข้างนอกโดยไม่จำเป็น มีตำรวจเข้าไปตรวจในสถานที่ต่างๆ

ที่จำได้คือหนังสืออ่านประกอบการสอนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หนังสือคลาสสิคที่เราน่าจะได้อ่านถูกเก็บไปหมด
เราต้องอ่านแต่แนวกรรมาชีพ สะท้อนสังคมชนชั้นกรรมากร ชาวนา ความกดขี่ บีบคั้นต่างๆนาๆ  ทีนี้พออ่านมากๆเข้ามันก็เลี่ยนพอๆกับอ่านเรื่องโรแมนติคอย่างเดียวนั้นแหละค่ะ   อะไรที่มันมากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น เพราะในโลกนี้ไม่ได้มีอะไรเพียงด้านเดียว  แต่ก็เข้าใจนะ อะไรที่ถูกกด ถูกเก็บมานาน พอระเบิดทีก็สนั่นหวั่นไหว ...เราก็อ่านนะคะ ไม่ได้ปฏิเสธ เพราะแผงหนังสือทุกหนแห่งก็เต็มไปด้วยหนังสือแบบนี้ แนวอื่นถูกเก็บหมด เราก็ถือโอกาสเรียนรู้โลกอีกซีกที่เราไม่เคยรู้มาก่อน  แต่เราต้องไม่ยอมถูกล้างสมอง  เราต้องรู้คิด และรู้ทัน ในทั้งสองโลก

(...ทราบจากคนที่รักหนังสือและสะสมหนังสือวรรณกรรมของไทย ต้องเดือดร้อนนำหนังสือไปฝากผู้มีบารมีที่ตำรวจจะเอื้อม  มือมาไม่ถึง เพราะกลัวว่าจะถูกทำลายหมด ขุนช้างขุนแผน ลิลิตพระลอต้องหลบไปเก็บตัวเงียบอยู่ในป่าเขา หรือในถ้ำชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยไม่งั้นอาจถูกเผาทั้งเป็น)






บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง