เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 15
  พิมพ์  
อ่าน: 46776 เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 10 ก.พ. 19, 19:06

ชาวบ้านวังปาโท่เป็นผู้คนที่มีต้นตะกูล/ถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ อ.แม่สอด (หรือ อุตรดิตถ์ ? จำได้ไม่แม่นเสียแล้ว) มีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน ผมไม่ได้ซักถามโดยละเอียดถึงที่มาที่ไปว่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่เมื่อใด ก็เข้าใจเอาเองว่าคงจะเข้ามาตั้งบ้านเรือนในยุคที่มีการให้สัมปทานการทำไม้ในพื้นที่ป่าด้านเหนือของพื้นที่ราบห้วยเขย่ง  ในภายหลัง(ณ ขณะนั้น) ก็มีคนอีสานจาก จ.ชัยภูมิ ย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ด้วย 2-3 คน ทำมาหากินกับการจับปลาในบริเวณที่เป็นวังน้ำของแควน้อย(น้ำลึก) 

ได้พบคนแต่งกายแบบพม่า ใช้งอบทรงหมวกกุยเล้ยใบเล็กของจีน เชื้อสายไทย-ลาวที่พูดภาษาไทยแบบใช้สรรพนามเรียกต้นเองว่า ข้อย
เข้ามารับจ้างทำงานอยู่ในพื้นที่ มีบ้านเรือนอยู่ในเขตประเทศพม่า พวกนี้รู้ประวัติตนเองว่าเป็นคนไทย/ลาวที่ถูกต้อน(หรืออพยพ)ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่างๆในเขตพม่าเป็นจำนวนหลายหมู่บ้าน ก็คงเป็นข้อมูลที่จับต้องได้ของเรื่องราวในสมัยอยุธยาต้น (?) ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนที่จะมีการเสียดินแดน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 10 ก.พ. 19, 20:17

เราคงจะจัดให้ชาวบ้านวังปาโท่เป็นผู้คนพวกรักความสงบ ใช้ชีวิตเรียบง่ายและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  หมู่บ้านร่มรื่นไปด้วยร่มไม้ แต่ละบ้านมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบพวง (กุหลาบป่าสายพันธุหนึ่ง ใบและกลีบดอกเอามากินแนมกับลาบหรือน้ำพริกได้) ต้นโกสนสายพันธุ์เก่าใบเล็กเป็นเกลียวและพันธุ์ใบใหญ่ (ใบแฮ่ม_เอามากินสดแนมกับลาบได้ เอามาเป็นผักผัดกับเนื้อสัตว์ก็ได้)

ที่ผมชื่นชมพวกเขาก็คือ การพยายามอนุรักษ์สถานที่ๆมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ดังเช่นเรื่องแอ่ง(หลุม)วงกลมที่ได้เล่ามา    (ในแอ่งวงกลมนี้ได้พบใหวางแบบตั้งหลายใบ มีกรวดแม่น้ำก้อนขนาดประมาณกำปั้นมือ 2 ก้อนวางทับอยู่บนปากให  พบเศษถ้วยชามลวดลายและสีสรรแบบศิลาดล พบอุปกรณ์เครื่องประกอบของเชี่ยนหมาก (เช่นเบ้าใส่ปูนสำหรับทาใบพลู) พบดาบ พบโกลนม้า เหล่านี้เป็นต้น)   ชาวบ้านจะไม่บอกเล่าให้คนแปลกหน้าฟัง ไม่บอกสถานที่ และไม่พาไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 12 ก.พ. 19, 20:37

จากบ้านวังปาโท่ไประยะหนึ่งก็จะเข้าเขตชุมขนตัวเมือง อ.สังขละบุรี    ในครั้ง พ.ศ.2520+นั้น สังขละบุรีมีสภาพเป็นชุมชนขนาดเล็กมาก มีชุมชนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มคนเชื้อชาติกะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้จริง (มิใช่บ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่) ในแต่ละบ้านมีรูปของพระสุวรรณคีรีแขวนอยู่ เมื่อสอบถามก็ได้ความว่า เป็นกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพระสุวรรณคีรี สืบต่อตกทอดต่อๆกันมาจนในปัจจุบัน พระสุวรรณคีรีผู้นี้เป็นชาวกะเหรี่ยงที่ ร.5 ท่านได้ทรงตั้งให้เป็นหัวหน้าชุมชนส่วนหน้าของไทยในพื้นที่ชายแดนต่อกับพม่า   กลุ่มคนอีกลุ่มคือพวกคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกที่ทำงานทางราชการ  และอีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นพวกชาวบ้านที่เป็นคนไทย กลุ่มนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุ่งมาลัย ห่างจากตัวอำเภอไปสองสามกิโลเมตร มีอาชีพทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์(โดยเฉพาะว้ว)   

ในปัจจุบัน เมื่อน้ำในอ่างน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ได้ท่วมพื้นที่ตั้งของตัวอำเภอดั้งเดิม ได้มีการย้ายที่ตั้งตัวอำเภอใหม่ และมีการย้ายวัดของหลวงพ่ออุตตมะ ผู้คนของ อ.สังขละบุรี ก็ได้เปลียนไปเป็นพวกเชื้อสายมอญเป็นจำนวนมากขึ้น   ผมห่างเหินกับพื้นที่นี้มานานจนไม่เหลือความรู้เลยว่าพวกชาวกะเหรี่ยงลูกหลานของพระสุวรรณคีรีเหล่านั้นได้โยกย้ายกระจายไปอยู่ที่ใดกันบ้าง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 13 ก.พ. 19, 20:16

เรื่องหนึ่งที่ได้เห็นในตัว อ.สังขละบุรี คือ ตอนเย็นๆจะมีแม่ค้าหาบผักสดมาขายตามบ้าน ส่วนของสดพวกเนื้อสัตว์นั้น ก็จะว่ากันเป็นวันๆไป อาจจะมีหรือไม่มีก็ไม่มีใครรู้ได้ แล้วก็ยังไม่รู้อีกด้วยว่าจะขายที่จุดใหนและเวลาใหน  เมื่อเดินทางเข้าไปทำงานในพื้นที่จึงต้องมีความพร้อมเสมอ  บ้านที่ขายของก็จะมีแต่พวกเครื่องกระป๋องเล็กๆน้อยๆ นอกนั้นก็จะเป็นของใช้เสียเกือบทั้งหมด ครับ อดเอาง่ายๆเลย

ภาพเช่นนี้ผมเห็นอีกแห่งหนึ่งที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก  ซึ่งที่นี่ดูจะหนักกว่าที่สังขละบุรีเสียอีก คือยู่ในลักษณะใกล้จะไม่มีอะไรเลย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 13 ก.พ. 19, 20:35

เส้นทางถนนต่อจากสังขละบุรี จะผ่าเข้าเขตพม่าซึ่งเป็นพื้นที่ๆมีขอบเขตคล้ายคล้ายปากนกแก้ว เป็นที่ตั้งของทหารมอญ และแหล่งทำการของพวกมอญอิสระ (หากความจำยังถูกต้อง เรียกว่า รัฐมะลิวัลย์) ก่อนที่จะกลับเข้าเขตไทยแ้ล้วไต่เส้นพรมแดนไปยังพระเจดีย์สามองค์  ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 27 กม. ใช้เวลาเดินทางในหน้าแล้งประมาณ 3+/- ชั่วโมง ส่วนในฤดูฝนนั้นมิอาจคาดเดาเวลาได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 14 ก.พ. 19, 19:10

แแต่ก่อนนั้น เจดีย์สามองค์เป็นจุดส่งต่อสินค้าที่เป็นที่ต้องการอย่างมากๆของผู้คนในพม่า มีโกดังสองชั้นที่สร้างด้วยไม้ (ขนาดประมาณ 3 คูหา) อยู่ 1 หลัง  มีรถสิบล้อหรือรถบรรทุกสองเพลาบรรทุกสิ่งของเต็มกระบะวิ่งส่งของไปสต๊อกไว้ เมื่อเข้าสู่ปลายฝนก็จะเริ่มเห็นมีวิ่งกัน เพื่อทะยอยขนของที่ขนมาทางเรือในช่วงฤดูฝน มาสต๊อกไว้กลางทางที่ อ.ทองผาภูมิ    เมื่อแล้งจัดก็อาจจะพบการขนของไปจากตัว จ.กาญจนบุรี หรือจาก อ.บ้านโป่ง

สินค้าหลักๆก็คือ หัวจักรเย็บผ้า ชิ้นส่วนรถจักรยานทั้งแบบเอาไปประกอบเองหรือประกอบเรียนร้อยแล้ว โสร่งสำหรับใส่นุ่งห่ม ผงชูรส นมข้นหวานกระป๋อง ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ขนาดใหญ่ (เช่น เพลาท้าย) และอะไหล่ต่างๆ  ของใช้จำเป็นและเครื่องสวยงามของสตรี เป็นต้น   

สินค้าเหล่านี้จะทะยอยขนเข้าเขตพม่าผ่านหน้าเจดีย์สามองค์ ขนด้วยคาราวานเกวียนเทียมวัว       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 14 ก.พ. 19, 19:34

ก็คงจะพอจินตนาการได้นะครับ ถึงความขาดแคลนในพม่าในสมัยที่มีความขัดแย้งกันทางอำนาจและการปกครอง

  หัวจักรเย็บผ้านั้น จัดเป็นทรัพย์สินที่มีค่าของครัวเรือนต่างๆ ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ 
  รถจักรยาน เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก ช่วยให้เพิ่มมีมากขึ้น
  โสร่ง เป็นปัจจัยสี่รูปแบบหนึ่งของเขาที่จำเป็นต้องมีใช้
  ผงชูรสนั้น นอกจากจะใช้ทำอาหารแล้ว ยังใช้ในยุทธบริภัณฑ์ทางการแพทย์
  นมข้นหวาน อันนี้เป็นเรื่องของความเพิ่มความสุขให้กับชีวิต  พม่าชาวบ้านป่าจะเอาน้ำมันใส่กระทะ เทนมข้นหวานลงไป คนให้เข้ากันบนเตาไฟร้อน กินเป็นของหวาน
  ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ที่เห็นรถรุ่นสงครามโลกยังวิ่งอยู่ได้ก็นี่แหละ
  ข้าวของเครื่องใช้ของสตรี จะมีอะไรบ้างก็ที่ทราบๆกันอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 16 ก.พ. 19, 18:37

อ่านย้อนกลับไป ได้พบว่ากล่าวถึงชื่อ พระสุวรรณคีรี   ชื่อคุณพระนี้ตกไปคำหนึ่ง ชื่อที่ถูกต้องคือ พระศรีสุวรรณคีรี  รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้ที่   
http://rehmonnya.org/blog/wearcadi/Wat%20Sanehpong.html
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 16 ก.พ. 19, 20:27

ผมมีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า พื้นที่ด้านตะวันตกของถนนพหลโยธิน (กรุงเทพฯ-เชียงราย) จะเป็นพื้นที่ๆมีเรื่องเล่าและวัตถุทางรูปธรรมและนามธรรมที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไทยเราค่อนข้างมาก (interconnected) ซึ่งในองค์รวมดูจะอยู่ในรูปของ defensive  ต่างกับอีกฟากหนึ่งซึ่งเรื่องราวดูจะอยู่ในรูปของ offensive   

ผมสนใจประวัติศาสตร์ในเชิงที่เป็นความรอบรู้อีกมุมหนึ่ง คือนำข้อสังเกตที่ได้จากชื่อสถานที่ ประเพณีวัฒนธรรม ค่านิยมบางอย่าง อาหารและการปรุง ... ที่ดูไม่ค่อยจะเหมือนกับใครอื่นในถิ่นนั้นๆ นำไปสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นชาวบ้านแท้ๆ โดยเฉพาะพวกพ่อแก่แม่เฒ่าที่นำของมาขายในตลาดเช้าชุมชน บางทีก็ทำให้เราได้รู้ถึงอะไรๆที่เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเสริมเพิ่มพูนได้อีกมากมายเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 18 ก.พ. 19, 19:19

สังขละบุรีเป็นพื้นที่ๆ แม่น้ำบีคลี่ ซองการเลีย และรันตี ไหลมาบรรจบรวมกันเป็นแม่น้ำแควน้อย   แม่น้ำบีคลี่นั้นจะไหลขึ้นเหนือในหุบร่องเขาทางตะวันออกของเทือกเขาตะนาวศรี(ทางตะวันตก) เป็นสายน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำลึกและมากตลอดปี  ผมเคยเดินเลาะไปตามตลิ่งเข้าไปทำงานในห้วยนี้ (ค่อนข้างลึก)  พบว่าเป็นพื้นที่ๆเงียบสงบ ชุ่มชื้น ร่มเย็นไปด้วยไม้ใหญ่ จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่เกือบจะไม่แปดเปื้อนกับการกระทำใดๆจากฝีมือมนุษย์เลย 

แม่น้ำซองกาเลียไหลจากเหนือลงใต้ ส่วนแม่น้ำรันตีนั้นไหลจากตะออกไปทางตะวันตก ทั้งสองแม่น้ำนี้มีน้ำไหลตลอดปีเช่นกันแต่มีขนาดเล็กและตื้น(ประมาณเอว แม่น้ำบีคลี่นั้นลึกท่วมหัว)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 19 ก.พ. 19, 20:05

ยังมีอีกชื่อหนึ่งในพื้นที่ของ อ.สังขละบุรี ที่มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ คือ ท่าดินแดง ผู้ที่เรียนมาทางประวัติศาสตร์น่าจะต้องรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะเป็นสงครามเล็กๆหลังจากสงครามเก้าทัพ แต่ก็ดูจะเป็นสงครามที่ส่งผลให้พม่ายุติการส่งกองทัพมารุกไทยตลอดมา แล้วก็ดูจะเป็นผลให้เกิดเขตแดนไทยกับพม่าที่ชัดเจนและถาวรขึ้นที่บริเวณเจดีย์สามองค์

บริเวณที่เรียกว่าท่าดินแดงนั้น เมื่อครั้งที่ผมยังทำงานอยู่ (ประมาณ 20 ปีมาแล้ว) เป็นป่าที่เป็นดงไผ่ (ชัฎป่าไผ่) เดินเข้าไปทำงานไม่ใหว

ที่เรียกชื่อว่าท่าดินแดงในบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น ในองค์รวมแล้วน่าจะหมายถึงพื้นที่ค่อนข้างราบที่อยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางใต้ที่ตั้งตัว อ.สังขละบุรี  เป็นพื้นที่บ้านเกริงกราเวีย บ้านวังปาโท่ เจดีย์บุอ่อง และพื้นที่ด้านเหนือของบ้านห้วยเขย่ง

ชื่อท่าดินแดงน่าจะมาจากสีของชั้นดินที่ออกสี maroon สีแดง และเหลือง ที่พบอยู่ในพื้นที่บ้านเกริงกราเวีย (ตามเส้นทางรถจาก อ.ทองผาภูมิ ก่อนจะเข้าพื้นที่ตัวหมู่บ้าน)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 19 ก.พ. 19, 20:22

ที่บ้านเกริงกราเวีย มีแอ่งน้ำที่เกิดจากหลุมยุบ (sink hole) แล้วก็มีแร่ตะกั่วชนิดหนึ่งที่พบอยู่ใต้พื้นดิน (ที่ความลึกประมาณ 3 ม.)  จะพบว่ามีการขุดหลุมเป็นหลุมแฝด เอาแร่ซึ่งลักษณะแต่ละก้อนแบน ขนาดประมาณกล่องไม้ขีด ขึ้นมาหลอมในภาชนะเหล็กด้วยความร้อนจากไม้ไผ่ ก็จะได้ตะกั่วเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทำลูกปืน  ซึ่งในสมัยสงครามเก้าทัพนั้น่าจะมีการใช้ปืนดินดำกันบ้างเป็นบางส่วน

หากขึ้นเขาชันทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน ก็จะเข้าพื้นที่ๆมีการทำเหมืองแร่ตะกั่ว (บ่อน้อย และสองท่อ)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 20 ก.พ. 19, 19:04

กล่าวถึงปืนดินดำ หากเป็นแบบชาวบ้านทำเองในสมัยหลังๆปืนนั้นก็จะเรียกว่าปืนแก็ป  ดินดำที่เป็นดินปืนของชาวบ้านนั้น เขาจะใช้ถ่านที่ได้จากการเผาไม้แจง(ต้นแจง)  ต้นแจงนี้ ผมไม่เคยเห็นต้นขนาดใหญ่ เคยเห็นแต่ต้นขนาดเล็กในพื้นที่ราบของห้วยเขย่งและบนเส้นทางขึ้นเหมืองปิล็อก 

คิดเลยไปได้ใหมว่า ถ้าพบต้นแจงเล็กๆในพื้นที่แต่ไม่พบต้นใหญ่เลย ก็พอจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยที่จะบ่งชี้ว่าในสมัยสงครามนั้น มีการใช้ปืนและมันได้ถูกตัดไปใช้ทำดินดำเป็นจำนวนมาก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 20 ก.พ. 19, 19:33

เดินไปทางทิศตะวันออกของบ้านเกริงกราเวีย ก็จะขึ้นไหล่เขาสูงชันเข้าสู่ที่ราบแคบๆบนเขา อาจจะเป็นจุดที่ในปัจจุบันเรียกว่าเนินสวรรค์และบ่อน้อย หรืออาจจะเป็นจุดที่เป็นแอ่งมีเขาล้อมรอบที่เรียกว่าหนันยะ ซึ่งเดินต่อไปทางตะวันออกก็จะผ่านช่องเขา (ที่เรียกว่าช่องแคบหนันยะ) แล้วลงสู่แม่น้ำแควใหญ่เข้าสู่เขต อ.ศรีสวัสดิ์ (เดิม) ที่ถูกน้ำของเขื่อนเจ้าเณรท่วมไปแล้ว  อำเภอนี้ก็เลยต้องเป็นที่ตั้งของด่านทางการทหารและความมั่นคง เพราะเมื่อผ่านพื้นที่นี้ไปแล้วก็สามารถจะลงแพไปตามลำน้ำแควใหญ่ไปถึงที่ราบทุ่งลาดหญ้าโดยสะดวก หรือแยกย้ายกันเดินลัดเลาะไปตามช่องเขาลงสู่พื้นที่ราบในพื้นที่ทางตะวันตกของ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 22 ก.พ. 19, 19:00

ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับงานศพ   ท่านที่ออกต่างจังหวัดน่าจะเคยได้ยินเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการจัดงานศพของชาวบ้าน เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายของคนที่อยู่ในตัวเมือง แล้วเราก็มักจะตำหนิเขาว่า จะต้องไปทำอะไรให้มันเสียเงินเสียทองไปมากมายขนาดนั้น ถึงขนาดงานหนึ่งๆจะต้องล้มหมูล้มวัวกันเป็นตัวๆ เลี้ยงกันกินกันทั้งวันทั้งคืนต่อเนื่องกันหลายวัน  เรียกว่าเกือบจะหมดเนื้อหมดตัวกันเลยทีเดียว   ผมได้สัมผัสกับงานประเภทนี้ในหลายพื้นที่ชนบท รวมทั้งที่ชาวเผ่าเขาทำกันด้วย ก็เลยพอมีความเข้าใจ ซึ่งก็พอจะอธิบายขยายความได้ดังนี้

เมื่อมีผู้เสียชีวิต เขาจะตั้งศพที่บ้าน ไม่เอาไปไว้ที่วัดดังที่เราทำกัน เหตุผลที่สำคัญแต่ดั้งเดิมก็คือไม่มีวัด หรือไม่มีศาลาวัด หรือไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่วัด ...   การไว้ที่บ้านทำให้เขาสามารถต้อนรับขับสู้ญาติโยมที่มาจากต่างถิ่นได้สะดวกกว่า เช่น พอที่จะจัดเป็นพักพิงพักผ่อนได้บ้าง เพราะว่าในพื้นที่ชุมชนชนบทเหล่านั้นไม่มีโรงแรมหรือที่พักแรมอื่นใด   

 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 20 คำสั่ง