เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 46757 เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 03 ต.ค. 13, 20:58

ขอบคุณคุณนวรัตน์ที่ได้เอื้อเฟื้อรูปภาพประกอบเรื่องครับ

รูป #27 จะเห็นว่า ในหลายๆกรณีการเดินทางด้วยเกวียนดูจะดีกว่าการนั่งรถ นั่งรถเมื่อติดหล่มก็ต้องช่วยกันเข็น นั่งเกวียนไม่ติดหล่มง่ายๆ แต่ก็ไม่แน่นัก บางทีก็ต้องลงไปเข็นช่วยวัวเหมือนกัน 
การเข็นรถ/เข็นเกวียนนี้ ภาษาเหนือเรียกว่า ยู้ (รถ)  ซึ่งผมเห็นว่าคำนี้มีความหมายที่ครอบคลุมมาก คือ จะกระทำด้วยวิธีการฉุดกระชากลากเข็นอย่างไรก็ได้ ขอให้มันเคลื่อนที่พ้นจุดที่ติดอยู่นั้นไปได้

ขยายความเรื่องเกวียน ครับ  เกวียนนี้ ภาษาเหนือเรียกว่า ล้อ แล้วก็มีคำต่อท้ายอีกหน่อยเพื่อขยายชนิดของสัตว์ที่ใช้เทียมลาก--ล้องัว (วัว)  ล้อควาย-- เกวียนของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอิสานมีความต่างกันค่อนข้างมาก  แต่การขับขี่นั้นยากเหมือนๆกัน คือ มันมีอยู่ 3 จิตใจ (วัว หรือ ควาย 2 ตัว กับคนบังคับอีก 1 คน) ที่จะต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน เกวียนจึงจะเคลื่อนที่ไปถึงจุดหมายปลายทางได้   
ความต่างของเกวียนเรื่องแรก คือ เกวียนทางเหนือจะใช้วงล้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.50 ม. (พบในพื้นที่จนถึงเขตต่อกับพิษณุโลกและอีสานเหนือด้านตะวันตก) ในขณะที่วงล้อของภาคอิสานจะมีขนาดใหญ่กว่าของภาคเหนือเล็กน้อย (เริ่มพบตั้งแต่เขต อ.หล่มสัก เพชรบูรณ์ ไปตลอดภาคอิสาน) ส่วนของภาคกลางจะใช้วงล้อขนาดใหญ่ที่สุดคิดว่าประมาณ 1.80 ม. (พบในพื้นที่ราบภาคกลางที่ทำนากันทั้งหลาย)     เหตุผลที่ใช้วงล้อต่างกันเช่นนั้น ก็เนื่องจากสภาพของพื้นดิน
   ในภาคเหนือนั้น เป็นพื้นที่ลอนคลื่น (undulating terrain) และป่าเขา พื้นดินมีกรวดหินดินทรายผสมกันอยู่  ใช้วงล้อขนาดเล็กจะดีกว่าขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่กินกำลังวัวควาย เบาแรงในการลากขึ้นเนินชัน และง่ายต่อการหมุนข้ามก้อนกรวดก้อนหิน
   ภาคกลาง เป็นพื้นที่ราบตะกอนลำน้ำ (alluvium) พื้นดินเป็นดินทรายละเอียด เฉอะแฉะเป็นโคลนเป็นหล่ม  จึงใช้ล้อเกวียนขนาดใหญ่ซึ่งจะเหมาะกับพื้นที่ๆเป็นหล่มโคลน 
   ภาคอิสาน มีพื้นที่รองรับด้วยหินทราย ค่อนข้างราบ พื้นดินเป็นทราย มีหล่มอยู่บ้าง  จึงเลือกใช้วงล้อขนาดที่ใหญ่กว่าของทางภาคเหนือเล็กน้อย แต่ไม่จำเป็นต้องเท่ากับของภาคกลาง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 03 ต.ค. 13, 21:31

ความต่างเรื่องที่สอง คือ เกวียนของภาคเหนือจะมีกะบะวางอยู่บนคานเหนือเพลาล้อ ของภาคกลางจะไม่มีกะบะแต่จะเป็นไม้โครงรูปตัว V วางอยู่บนคาน  ส่วนของอิสานนั้นมีทั้งสองแบบและแบบของภาคกลางด้วย   เกวียนของอิสานที่ใช้เดินทางมักจะมีหลังคาที่ทำจากไม้ไผ่สานอยู่ด้วย ของภาคกลางก็มีการใช้หลังคาเหมือนกันแต่ไม่ค่อยเห็นมีการใช้กัน
ที่ต่างกันเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากลักษณะการใช้งาน  ภาคเหนือใช้ขนของและใช้เป็นพาหนะเป็นหลัก ในขณะที่ภาคกลางจะใช้ขนรวงข้าวที่เกี่ยวแล้วเป็นหลัก ส่วนของอิสานนั้น ใช้ทั้งการเดินทาง ขนฟางสำหรับวัวเป็นฝูงที่ต้อนไป เลี้ยงไป จนโตได้ที่พอดี ณ จุดขายที่ตลาดนัดวัว และใช้ในการเดินทางไกล (ระหว่างเมือง) เป็นขบวน 

เกวียนนั้นมีการใช้ทั้งวัวและควายในการลาก ซึ่งก็มีความต่างกันอีก ภาคเหนือเกือบทั้งหมดจะใช้วัวลากเกวียน มีการใช้ควายบ้างเหมือนกัน แต่น้อยมากและจะพบเฉพาะในเมืองที่เป็นแอ่งกะทะ (คือ มีที่ราบทำนากว้างขวาง)  ในอิสานก็ใช้วัวเป็นหลัก จะมีก็ภาคกลางเท่านั้นที่นิยมใช้ควาย   สาเหตุที่เหนือและอิสานนิยมใช้วัวก็เพราะมันทนแดดและทนแล้งได้ดี หากใช้ควายลาก เขาว่ายังไม่ถึงใหนก็ตับแตกตายแล้ว ควายไม่ทนร้อน ต้องการน้ำและต้องการแช่น้ำ   มากไปกว่านั้น ในแต่ละถิ่นบ้างก็นิยมใช้วัว/ควายตัวเมีย บ้างก็นิยมใช้ตัวผู้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 03 ต.ค. 13, 21:55

ก็เลยเกิดเรื่องสนุกขึ้นมา เท่าที่เคยพบและเคยอยู่ในเหตุการณ์

เรื่องแรก  วัว/ควายที่จะใช้เทียมเกวียนนั้น จะต้องฝึกเป็นคู่ เจ้าของจะเลือกคู่ที่มีขนาดความสูงใหญ่พอๆกัน แล้วมัก็เลือกคู่ของมันเองด้วย เป้นคู่ซี้กันตลอดไป เมื่อใดที่เปลี่ยนตัวคู่ซี้เป็นได้เรื่องเลย มีทั้งอู้และแกล้ง โดยเฉพาะตอนเลี้ยวและตอนต้องฮึดออกกำลังกระชุ่นให้เกวียนข้ามหลุม ท่อนไม้ หรือก้อนหิน   ก็อย่างที่บอกแหละครับ ขับเกวียนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สามจิตสามใจที่ต้องประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน

เรื่องที่สอง  ในแถบที่ใช้วัวตัวผู้  ก็มีเรื่องของเขตอาณาของใครของมัน  มีเรื่องทั้งลากเกวียนวิ่งกระเจิงไปสู้กับเขา หรือถูกเจ้าของถิ่นวิ่งเข้ามาชนขวิดกันคาเกวียนเลยก็มี เจ้าของเกวียนจะต้องรีบกระโดดลงแล้วปลดให้หลุด ให้ไปสู้กันแบบอิสระ ทั้งนี้เจ้าของเองนั่นแหละที่จะต้องเข้าไปแบกแอกแทนตัวที่ปล่อยออกไป เกวียนทุกเล่มจึงต้องมีไม้ง่ามสำหับค้ำคานลาก แล้วก็ต้องแขวนห้อยต่องแต่งอยู่ใกล้กับแอก

เรื่องที่สาม   พวกที่ใช้ควายลาก แล้วก็เกิดต้องลากไกลกว่าแหล่งน้ำมากๆ และตอนแดดจัด ได้เรื่องอีกแบบหนึ่ง คือพอควายเจอแหล่งน้ำข้างทางเท่านั้นแหละครับ มันก็จะวิ่งลากเกวียนลงไปในคูน้ำเลย

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 03 ต.ค. 13, 22:00

เอ  จะอธิบายเด็กๆอย่างไรดีว่า วัว กับ ควายต่างกันอย่างไร

แล้วก็คำถามว่า มูลวัว กับ มูลควาย ต่างกันอย่างไรครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 03 ต.ค. 13, 22:44

เอ  จะอธิบายเด็กๆอย่างไรดีว่า วัว กับ ควายต่างกันอย่างไร
แล้วก็คำถามว่า มูลวัว กับ มูลควาย ต่างกันอย่างไรครับ

ถามเด็กชายพี ไหมคะ?
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 13:46

สมัยเด็กๆ ผมเคยได้ยิน ผู้ใหญ่ เรียกเกวียนว่า "กะแทะ" ด้วย แต่จำไม่ได้แล้วครับ ว่ามีรูปร่างอย่างไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 14:28

น่าจะเป็น "ระแทะ" มั้งคะ คุณ Naris
ระแทะรูปร่างเป็นอย่างนี้ค่ะ   แต่บางแห่งก็บอกว่า ระแทะ ก็คือเกวียน นั่นเอง

ภาพนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับในระแทะเมื่อคราวเสด็จตรวจตราราชการเมืองอุบลราชธานี พ.ศ. 2449 (คำอธิบายภาพเก่าจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 18:33

เกวียนมีอยู่ ๒ ชนิดคือ เกวียนวัว และเกวียนควาย

"กระแทะ" หรือ "ระแทะ" หรือ "รันแทะ"  มาจากภาษาเขมรเขียนว่า "​រទេះ - รเทะ" อ่านว่า "รอเตะฮฺ" เป็นเกวียนวัวชนิดหนึ่งมีทั้งแบบที่มีหลังคาแบบข้างบนและแบบที่ไม่มีหลังคา

ข้อมูลจาก สารานุกรมสำหรับเยาวชน ฯ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 20:28

ความจริงแล้ว เกวียนของทางภาคเหนือจะดูเทอะทะหนาแน่น ไม้เป็นไม้ คานเป็นคาน       ของภาคอิสานจะดูกระทัดรัด ป้อมสั้น งดงามและอ่อนช้อยแบบอรชรอ้อนแอ้น    ส่วนของภาคกลางนั้นจะดูเหมือนมีแต่โครงไม้ โปร่ง และสูงโย่งเย่ง

หลายท่านอาจจะเคยเห็นเกวียนลักษณะของภาคเหนือมีการใช้อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลางด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ในเขตทิวเขาทางตะวันตกตั้งแต่กำแพงเพชรจนถึงปลายเขตกาญจนบุรีต่อราชบุรี  ข้อเท็จจริงที่ผมทราบจากการที่ผมได้คลุกคลีกับชาวบ้านมาพอควร คือ มีหลายหมู่บ้านชาวบ้าน เป็นกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนมาอยู่เป็นหมู่ใหม่ 
 
ซึ่งที่น่าสนใจมากๆก็คือ มีหลายหมู่บ้านเลยทีเดียวที่เป็นกลุ่มคนมาจากแถว จ.ตาก โดยเฉพาะ อ.แม่สอด และก็ย้ายมาอยู่กันหลายชั่วอายุคนแล้ว  แล้วก็ในถิ่นที่เขาอยู่กันเหล่านี้มีมากที่อยู่ในพื้นที่เส้นทางเดินทัพของศึกไทย-พม่า
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 21:20

ต่อเรื่องวัวกับควายอีกเล็กๆน้อยๆครับ

เมื่อยังเป็นเด็ก (คงประมาณ 6-7 ขวบ) นั้น พ่อและแม่อนุญาตให้ไปกับคนในบ้าน ไปเลี้ยงวัวในทุ่งนาหลังโรงพยาบาลหลายครั้ง ก็เลยได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตของเด็กเลี้ยงวัว เมื่อทำงานก็ได้เข้าใจมากขึ้นถึงวิถีของชาวบ้านที่ต้องไปเลี้ยงวัว    ผมไม่เคยเลี้ยงควาย แต่ผมกลับชอบควาย โดยเฉพาะควายที่อ้วนพี ตัวมันจะกลมแน่น หนังเป็นมัน ผมเลยชอบสะสมควาย โดยเฉพาะควายทรงพันธุ์ไทยนะครับ  เรามีคนทำควายโลหะหล่อ มีทำจากปูน มีทำจากเรซิน มีทำเป็นแบบตัวการ์ตูน  แต่เชื่อใหมครับว่า ในไทยไม่มีใครทำควายไม้แกะสลักแบบลอยตัวสักเจ้าเดียว  ผมเคยให้พวกสล่า (ช่าง) ที่ว่าเก่งๆทางแกะสลักทางภาคเหนือให้ช่วยแกะควายไม้ ปรากฎว่า ไม่สำเร็จสักราย มันออกมาเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ สัดส่วนไม่ถูกต้องเลย     ผมได้ควายไม้ของโอกินาวามา มันก็เป็นควายที่มีขายาว  เลยสรุปเอาเองว่า อาจจะเป็นเพราะสัดส่วนของควายนั้นมันไม่เป็นสมดุลย์แก่กัน เลยเป็นความยากในการแกะสลัก ต่างกับการปั้นซึ่งสามารถจะแก้ไขให้สมสัดส่วนได้
 
เคยสังเกตบ้างใหมครับว่า เราไม่ค่อยจะเห็นคนขี่วัว เรามักจะเห็นแต่คนขี่ควาย  ผมก็ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงนะครับ ผมเดาเอาว่าวัวมันดุกว่าควาย วัวมันไม่ค่อยยอมให้ใครขึ้นหลังมัน แล้วมันก็เตะเอาเวลาเข้าประชิดตัวมันด้วย (เรามักจะขึ้นขี่หลังวัวควายทางด้านบั้นท้ายโดยการดึงหางมันปีนขึ้นไป) ต่างกับควายที่จะใช้วิธีขวิด

แล้วก็ สังเกตใหมครับว่า คนที่ไปทำหน้าที่เลี้ยงวัว-ควาย จะถูกเราเรียกกันว่า เด็กเลี้ยงวัว หรือเด็กเลี้ยงควาย ก็แปลกดี
   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 21:43

เด็กเลี้ยงวัวทุกคนจะต้องมีย่ามสะพาย  ในย่ามก็จะมีกระสุนทำด้วยดินปั้นกลมๆและกรวดก้อนค่อนข้างกลมสำหรับใช้กับหนังสติ๊ก  หนังสติ๊กนี้ ทางเหนือเรียกว่า ก๋ง  ซึ่งไม้ง่ามก๋ง (ง่ามหนังสติ๊ก) จะนิยมทำมาจากไม้มะขาม หรือไม้ต้นฝรั่ง เพราะเหนียวดี  คนที่ใช้หนังสติ๊กแต่ละคนมักจะมีหลังสติ๊กอยู่หลายอัน ก็เพราะว่ามันไม่เคยมีอันใดที่ถูกใจเราเลย   หนังสติ๊กมีไว้ใช้ยิงต้อนฝูงวัวและจะไม่ใช้ก้อนกรวดเป็นกระสุน  กระสุนกรวดมักจะมีไว้เพื่อใช้ยิงนกหรือสัตว์ตัวเล็ก

แต่สำหรับพวกที่มีอาชีพต้อนวัวจากบังดลาเทศ พม่า เข้ามาขายในไทยผ่านทางด่านต่างๆนั้น เขาจะใช้กิ่งไม้ไผ่ที่ติดปลายด้วยตะปูแหลมๆยาวประมาณครึ่งนิ้ว คอยทิ่มที่แก้มก้นวัว เพื่อไล่ให้มันเดิน  ผมเห็นด้วยความสงสาร ก้นวัวบางตัวนี้ช้ำไปหมดเลย บางตัวเดินกะเพรกด้วยความเจ็บปวด
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 22:32

วกกลับไปที่รูปของคุณนวรัตน์ รูป#27 นิดหน่อย

เห็นรูปรถบรรทุกที่กำลังติดหล่มอยู่     รถในภาพ  "เป็นรถบรรทุกแบบคอกหมู เป็นรถเบ็นซ์หัวแตงโม ไม่ติดกว้าน (winch)" 

ข้อมูลดังในเครื่องหมายคำพูดนี้ เป็นตัวอย่างของข้อมูลที่ผมต้องการทราบสำหรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าไปทำงานในท้องที่นั้นๆ  เพียงเมื่อผมซักชาวบ้านได้เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกผมว่า สภาพทางเข้าออกไม่เลวร้ายจนเกินไป พื้นที่ที่รถบรรทุกวิ่งรับจ้างไปมานี้ น่าจะเป็นพื้นที่ๆค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เพราะรถบรรทุกแบบคอกหมูนั้นเป็นรถบรรทุกแบบอเนกประสงค์ทั้งคนและสิ่งของ การใช้รถเบ็นซ์หัวแตงโมนั้น แสดงว่าเป็นพื้นที่ขึ้นเขาลงห้วยอยู่พอสมควร เพราะรถรุ่นนี้ส่วนมากเป็นรถที่ใช้ลากซุงในพื้นที่ป่าเขา มีกำลังเครื่องยนต์ 90 แรงม้า  ไม่ติดกว้านก็แสดงว่า สภาพของถนนก็คงเป็นเพียงเละเทะแต่ไม่เป็นหลุมบ่อขนาดลึก

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 22:51

มีเรื่องเกวียนจะเล่าอีกเล็กน้อย

เรื่องนี้ได้พบเห็นเมื่อ 2511 แถว อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย    มีชาวบ้านเข้าไปแอบตัดไม้ในป่า แล้วขนเสาไม้กลับบ้าน เขาใช้เกวียนที่มีแต่โครงเท่านั้น เขาเอาเสาไม้สองต้นผูกห้อยไว้ใต้เพลาล้อและคานบริเวณใกล้ๆกับแอก  บังเอิญเราเดินไปทำงานจะเอ๋กันเข้า ก็คุยซักถามกัน พอเขารู้ว่าเราไม่ใช่ป่าไม้ก็เลยคุยดีกับเรา เราก็เลยรู้วิธีการอันฉลาดของชาวบ้านที่ใช้วิธีผูกไม้ห้อยไว้ใต้คานล้อ กล่าวคือ หากเจอเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้า เขาก็เพียงใช้มีดตัดเชือกที่ผูกท่อนไม่ให้มันหล่นลงพื้นดินโดยไม่หยุดเกวียน ป่าไม้ก็จับไม่ได้เพราะไม่มีของกลางอยู่กับคนและเกวียน

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 04 ต.ค. 13, 23:03

ครับ เขียนเรื่องเกวียนมาเท่านี้  ก็คงพอจะทำให้เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและของชาวบ้านในบางแง่มุม

อืม์ จำได้ว่า ก่อนที่จะมาฮิตคำว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom) ก็มีความพยายามจะใช้คำว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ในความหมายเดียวกัน  ตอนนี้คำนี้หายเข้ากลีบเมฆไปเลย


ผมคงใช้คำเรียกส่วนประกอบของเกวียนไม่ถูกต้องตามศัพท์ทางช่างนะครับ ขออภัยด้วยครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 05 ต.ค. 13, 21:21

อืม์ จำได้ว่า ก่อนที่จะมาฮิตคำว่า ภูมิปัญญาท้องถิ่น (local wisdom) ก็มีความพยายามจะใช้คำว่า เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology) ในความหมายเดียวกัน  ตอนนี้คำนี้หายเข้ากลีบเมฆไปเลย

ก็ควรจะหายเจ้ากลีบเมฆละค่ะ    เพราะคำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม  มันกว้างขวางเลื่อนลอยเสียจนจับไม่ติด   ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรกันแน่    และน่าจะเป็นคนละความหมายกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 20 คำสั่ง