เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 46756 เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 09 ม.ค. 19, 19:12

ถนนพหลโยธินในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้  ใช้วัสดุก่อสร้าง(ดิน หิน)เท่าที่จะหาได้ที่พบอยู่ใกล้ๆแนวเส้นทางถนน   ดังนั้น ถนนในแต่ละช่วงจึงมีความต่างกัน (ต่างกับในสมัยนี้ที่ล้วนแต่พยายามจะใช้วัสดุที่เหมือนๆกัน เพราะมีรถขนส่งได้สะดวก)  ถนนช่วงที่มีเขาหินปูนอยู่ใกล้ๆ ก็จะใช้หินปูนบดอัดและราดทับด้วยยางมะตอย ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่ถนนในตัวจังหวัดออกไปจนถึง อ.แม่สาย จะเป็นถนนที่ค่อนข้างเรียบดี (ใช้หินปูนจากทิวเขานางนอน) มีการราดยางมะตอย เช่นเดียวกันกับถนนช่วงตั้งแต่ประมาณเขตต่อ อ.พะเยา กับ อ.งาว ไปจนถึงจนเกือบจะเข้าตัวเมือง จ.ลำปาง ที่ค่อนข้างเป็นถนนดี แต่ก็วิ่งได้ช้าเพราะมีความคดเคี้ยวและมีความลาดชัน ถนนช่วงนี้ตัดผ่านเทือกเขาหินปูนที่คั่นอยู่ระหว่างแอ่งงาวกับแอ่งลำปาง มีจุดสูงสุดเป็นสันข้ามระหว่างแอ่งอยู่ที่จุดที่เรียกว่าประตูผา

ถนนช่วงที่แย่ที่สุดจะอยู่ช่วงตั้งแต่ประมาณ อ.แม่ลาว ผ่านตัว จ.พะเยา ไปจนถึงประมาณ ม.พะเยา  เป็นช่วงที่ใช้หินกรวดแม่น้ำก้อนขนาดประมานกำปั้น นำมาบดอัดเป็นผิวถนน ไม่มีการลาดยางใดๆ ก็ลองนึกภาพเอานะครับ ทั้งตะปุ่มตะป่ำ เป็นหลุมเป็นบ่อ และมีฝุ่นคละคลุ้งไปหมด   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 09 ม.ค. 19, 19:56

เรื่องราวบนถนนในช่วงทางที่กล่าวถึงนี้  แต่ก่อนนั้นก็มีที่น่าจะกล่าวถึงอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน อาทิ

ตัวแย้ จะไม่พบเหนือจากแอ่งลำปางขึ้นไป    อ.แม่ใจ เป็นบริเวณสุดท้ายที่สามารถจะปลูกมะพร้าวได้  ชาวนาในเขต อ.งาว จะใช้งอบทรงคล้ายเวียดนาม  การเป่าปี่แนใหญ่นำขบวนแห่ศพเข้าสุสาน ...
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 10 ม.ค. 19, 19:11

เรื่องการเป่าปี่แนใหญ่(แนหลวง)นี้ ยังเป็นภาพที่อยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา  มีคนเป่า 1 คนเดินนำหน้า มีญาติเดินตามประมาณ 20 คน ตามด้วยเกวียนบรรทุกโรงศพที่ประดับด้วยโครงไม้ทรงบ้านวางทับอยู่ ค่อยๆเดินไปช้าๆ ความเร็วเท่าๆกับความเร็วของวัวที่เดินเทียมเกวียน เพลงที่ใช้ในการเป่าปี่นั้น ผมมาค้นเอาในภายหลัง(ตามที่พอจำท่วงทำนองได้นิดๆหน่อยๆ)คิดว่าน่าจะเป็นเพลงปราสาทไหว  เพลงเพราะนะครับ ฟังเย็นๆในช่วงเวลาบ่ายๆ อากาศเย็นๆ มีวิวเป็นทุ่งนากว้าง   เมื่อนั่งรถผ่านขบวนนำศพเข้าสุสานนี้ ผมก็จะถอดหมวกเอามาแนบหน้าอกเพื่อแสดงความเคารพให้เกียรติต่อผู้ตาย ตามแบบที่พ่อผมทำซึ่งผมก็ยังทำตลอดมาจนทุกวันนี้

ปี่แนนี้ ผมชอบมากจนต้องหามาเป็นของสะสม แล้วก็ได้มาจริงๆ ก็จากใน อ.งาว นั้นเอง ได้มา 3 ขนาด คือ ปี่แนหลวง ปี่แนขนาดกลาง และปี่แนน้อย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 10 ม.ค. 19, 19:35

อีกเรื่องหนึ่งที่ยังคงติดตาอยู่ คือ รถบดถนนที่ใช้จักรไอน้ำ มีถังใส่ไม้ฟืนท่อนสั้นๆอยู่ด้านหลังคนขับ  ในสมัยนั้นหน่วยงานทำถนนและซ่อมทางของกรมทางหลวงยังไม่มีรถเล็กใช้งาน พนักงานก็จึงต้องนอนอยู่กับเครื่องจักรกล คอยเฝ้าใส่ฟืนเพื่อให้น้ำในหม้อต้มของรถบดอุ่นอยู่ตลอด เมื่อจะทำงานตอนเช้าก็จะได้ไม่เสียเวลาในการต้มน้ำให้เกิดไอน้ำสำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรกล  คนเหล่านี้จะทำเพิงผ้าใบนอนอยู่ด้วยกันสองสามคน อาหารก็หากินกันเอาตามมีตามเกิด มีปืนแก็บคู่ใจไว้ป้องกันตัวและใช้หาอาหารพวกสัตว์เล็ก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 10 ม.ค. 19, 20:21

อันที่จริงแล้ว เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสร้างทางที่ขับจักรกลหนัก(โดยเฉพาะที่เป็นรถไถตีนตะขาบนั้น)  ก็ยังใช้ชีวิตในลักษณะที่ได้เล่ามา เพิงที่พักนอนของพวกเขาเหล่านั้น ส่วนมากจะผันแปรต่อไปเป็นจุดชมวิวบ้าง เป็นจุดแวะพักผ่อนข้างทางบ้าง ดังที่เราได้เห็นอยู่ทั่วๆไป (ในต่างประเทศก็เกิดขึ้นมาคล้ายๆกันกับของเรา) จุดเหล่านี้โดยพื้นๆแล้วจะอยู่ใกล้กับที่ๆมีน้ำซึมน้ำซับ ซึ่งน้ำที่ไหลซึมออกมานั้น ในบางพื้นที่ก็เรียกว่าน้ำดิบ  ก็คงจะเคยได้ยินชื่อหมู่บ้านหรือสถานที่ๆเรียกกันว่า บ้านน้ำดิบ กันบ้างนะครับ   

ชื่อน้ำดิบนี้ อย่างย้อยก็พอจะบอกว่ามีน้ำใต้ผิวดิน (water table) ในระดับที่ไม่ลึกนัก ดินน่าจะชุ่มชื้นพอได้ ป่าก็มักจะมีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลาง ใบมีสีค่อนข้างเข้ม ขึ้นอยู่ค่อนข้างจะหนาแน่นกว่าปกติ  ก็คงพอจะเดาออกนะครับว่าน่าจะมีสัตว์พวกใหนอยู่กันมากกว่าปกติ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 11 ม.ค. 19, 17:56

ผมเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ.2498 และเริ่มอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯค่อนข้างจะถาวรเมื่อ พ.ศ.2508 ดังนั้นภาพที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปก็จะขอจำกัดอยู่ในช่วงเวลาประมาณนี้ และในพื้นที่ในอิทธิพลของเส้นทางคมนาคมของถนนหนลโยธิน

พาหนะที่พบมากบนถนนพหลโยธินช่วงลำปาง-เชียงราย ก็คือรถบรรทุกขนาด 6 ล้อที่ต่อแบบคอกหมู ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการโดยสารหรือการบรรทุก   สิ่งของที่บรรทุกสำหรับขาล่องส่วนมากก็จะเป็นข้าวสาร ส่วนสินค้าขาขึ้นก็จะเป็นพวกของอุปโภค/บริโภค อาทิ น้ำมันก๊าดบรรจุอยู่ในปี๊บ อาหารและเครื่องปรุงบางอย่างที่ใช้ปี๊บในการบรรจุ (น้ำตาลปื็บ ขนมปังปี๊บ...) ของทะเลตากแห้งทั้งหลาย ....   ซึ่งรถบรรทุกเหล่านี้ก็มักจะมีผู้โดยสารนั่งทับอยู่บนสิ่งของที่บรรทุกมาด้วย  ทั้งนี้ แม้รถจะมีความเร็วช้าแต่น้ำหนักของที่บรรทุกอยู่บนรถจะช่วยลดการกระแทกทำให้รู้สึกนั่งได้นิ่มนวลมากขึ้นอย่างมากๆเลยทีเดียว ที่พอจะรู้อยู่บ้างก็คือนั่งฟรี เป็นการเอื้อเฟื้อช่วยกันตามสมควรแก่เหตุ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 11 ม.ค. 19, 18:08

รถคอกหมูนี้ ผมไม่มีความรู้ว่าใครเป็นผู้ออกแบบและต่อมาตั้งแต่เมื่อใด  เป็นลักษณะรถที่พบเห็นได้ในทุกภาคของประเทศไทย แม้กระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ยังพอจะเห็นได้ประปรายอยู่ เช่น ในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน  ในภาคใต้ก็อาจะเห็นจอดเป็นของเก่าเก็บอยู่ เช่น ในภูเก็ต ชุมพร หลังสวน ระนอง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 11 ม.ค. 19, 18:25

สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อ ที่ใช้การบรรทุกของในกระบะจริงๆนั้น จะเป็นรถของ รสพ. ซึ่งเป็นระบบ logistic ที่รัฐสนับสนุนการดำเนินการ  รสพ.ได้ช่วยทำให้พื้นที่ในชนบทของไทยได้มีวัสดุ/คุรุภัณฑ์หนักสำหรับใช้การพัฒนาท้องถิ่น จนกระทั่งได้มีรถ 10 ล้อเข้ามา ทำให้ภาคเอกชนได้เริ่มมีความแข็งแรงในการให้การบริการ

บรรดาพนักงานขับรถของ รสพ.จะใส่หมวก baret สีแดง ขับรถหนักส่งของระหว่างเมืองต่างๆ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 11 ม.ค. 19, 18:46

(สะกด beret ผิดไปเป็น baret ครับ ขออภัย)

ถนนสมัยก่อนนั้นมิได้มีการลาดยางหมดทั้งเส้นดังเช่นในปัจจุบัน จึงเป็นถนนที่มีฝุ่นเยอะมาก   

เมื่อครั้งผมยังเป็นเด็กอยู่นั้น ก็จะเห็นเด็กนักเรียนชาวบ้านใส่หมวกกะโล่สีขาวเดินอยู่ข้างถนน ไปโรงเรียนหรือกลับบ้าน ก็ไม่ได้คิดอะไรหรือเห็นภาพอะไร จนกระทั่งจบมาทำงานเข้าป่าดงซึ่งต้องเดินทางผ่านหมู่บ้านต่างๆในชนบท ทำให้ได้พบเห็นภาพที่ทำให้ต้องคิดและต้องทำเช่นเดียวกับการให้ความเคารพต่อขบวนเคลื่อนศพดังที่ได้เล่ามา

ภาพที่พบบ่อยๆ คือภาพของเด็กนักเรียนสามสี่คน เดินเรียงกันอยู่ข้างถนนลูกรัง บางครั้งก็มีคุณครูผู้หญิงแต่งชุดสีกากี (ชุดลูกเสือ) เดินตามปิดท้ายแถวเด็กๆ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 11 ม.ค. 19, 19:22

เมื่อผมเริ่มทำงานนั้น เป็นช่วงของการพัฒนาประเทศที่เริ่มมีความเข้มข้น  เราใช้รถแลนด์โรเวอร์ในการเดินทางเข้าไปทำงาน ซึ่งการเดินทางไปตามบนถนนลูกรังเพื่อจะเข้าพื้นที่ป่าเขานั้น เราจะต้องใช้ความเร็วพอประมาณในระดับหนึ่งเพื่อมิให้สัมภาระและคนต้องถูกกระแทกมากนัก แต่ความเร็วเช่นนี้มันทำให้เกิดฝุ่นตามมาค่อนข้างมาก ขนาดนั่งอยู่ในรถยังหัวแดงเลย  เด็กและครูต่างก็ถูก(สั่ง)สอนให้มีวินัย เมื่อรถเราวิ่งผ่าน ทั้งครูและนักเรียนก็จะต้องหยุดยืนนิ่ง หันหน้ามองก้มหัวทำความเคารพ    ผมมองด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีเอามากๆเลย รถเราสร้างฝุ่นตลบอบอวลไปหมด ครูและนักเรียนก็ไม่ได้ใส่หมวกอะไรเลย  เสื้อผ้าของเด็กที่ใส่อยู่ออกเป็นสีของฝุ่นและดูกะรุ่งกะริ่ง เดินเท้าเปล่า

ตั้งแต่นั้นมา ทุกครั้งที่เห็นแถวเด็ก รถของผมจะต้องลดความเร็วลงให้มากในทันที ผมจะถอดหมวกเอามาแนบอก แสดงการรับการทำความเคารพของเด็กๆและคุณครูเหล่านั้น  เรียนมาก็พอรู้อยู่ว่าการหายใจเอาผงฝุ่นเข้าไปมากๆมันอาจจะทำให้เกิดโรค Silicosis

ในสมัยก่อนนั้น ที่ชาวบ้านบ่นกันว่า อยู่ๆก็ไม่มีแรง ทำอะไรนิดๆหน่อยๆก็เหนื่อย ผมเห็นว่าสำหรับบางคนอาจจะเกิดมาจากโรค Silicosis ก็ได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 12 ม.ค. 19, 18:37

วันนี้เป็นวันเด็กแห่งชาติ วันเด็กนี้จะกำเนิดมาแต่เมื่อใดก็ไม่รู้ ผมมารู้จักวันเด็กก็เมื่อเริ่มเข้าวัยเด็กโตแล้ว คือเมื่อเริ่มมีกางเกงขายาวใส่ได้บ้าง เริ่มรู้สึกว่าเป็นวันของเราจริงๆก็เมื่อเริ่มได้รับอนุญาตให้ออกไปกับเพื่อนได้เป็นครั้งคราว ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่รถรางกำลังจะเลิกให้บริการ รถเมล์ขาว เมล์เขียว และรถสีน้ำตาลกำลังเข้ามาเป็นที่นิยมมากขึ้น   

วันเด็กในวัยนั้นได้มีโอกาสเรียนรู้และเปิดหูเปิดตาสู่โลกกว้างอย่างแท้จริง ได้เห็นความต่างในเรื่องต่างๆ ได้เรียนรู้เรื่องของความรู้สึกผิดชอบชั่วดี   เรื่องที่ประทับใจมากๆดูจะเป็นการนั่งรถไฟไปอยุธยา ได้เดินดูทุกอย่าง ได้รู้ว่าพระกรุเป็นอย่างไรและเขาขุดหากันมาได้อย่างไร ที่ใหน ฯลฯ   มีโอกาสได้ชมพระบรมมหาราชวัง ได้เดินดูภาพที่เขียนอยูรอบวัดพระแก้ว ได้รู้จักชื่อขรัวอินโข่ง ....
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 12 ม.ค. 19, 19:13

ไม่รู้ว่าเด็กในชนบทจะมีโอกาสได้สัมผัสกับวันเด็กที่เป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด  แต่ก็ดูน่าจะมีวันเด็กได้เกือบจะทุกวัน

ในหมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนมากหน่อยก็จะมีเด็กมาก เด็กๆจะรวมกลุ่มเล่นกันอย่างสนุกสนาน การเล่นที่นิยมกันก็จะมี การตีล้อ ไม้หึ่ง ตี่จับ ม้าก้านกล้วย การละเล่นดังกล่าวนี้ผมเห็นมีอยู่ตลอดมาจนกระทั่งแถวประมาณ พ.ศ.2515 จึงได้หายไปเกือบหมด ที่ดูจะอยู่ยงคงกระพันที่สุดก็เห็นจะเป็น ตีล้อ กับ ม้าก้านกล้วย   สำหรับเด็กในภาคอื่นๆก็มีการละเล่นอื่นๆที่ต่างออกไป ซึ่งจะเป็นการเล่นที่ค่อนข้างจะนุ่มนวล เช่น มอญซ่อนผ้า งุกินหาง ฯลฯ

ในหมู่บ้านที่มีจำนวนครัวเรือนน้อยมาก หรือมีเด็กเป็นจำนวนน้อย  กิจกรรมที่สนุกสนานก็มักจะไปเกี่ยวกับเรื่องของการหาอาหาร ซึ่งผมเป็นเด็กในแนวนี้     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 18:09

อุปกรณ์ประจำตัวเพื่อสร้างความสุขก็คือ หนังสติ๊ก (ก๋ง ในภาษาเหนือ)  ลูก(กระสุน)สำหรับใช้ยิงหนังสติ๊กก็เก็บเอาตามข้างถนน เพราะถนนในชนบทสมัยก่อนนั้นใช้กรวดแม่น้ำบดอัดเอา  ก็ยิงอะไรๆไปตามที่นึกอยาก เช่น แข่งความแม่นกัน ยิงนก กิ้งก่า ยิงกระป๋องใส่กาแฟที่ทิ้งแล้ว แม้กระทั่งยิงอากาศ(เพื่อทดลองและปรับอุปกรณ์) ฯลฯ    สำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ไกลเมืองจริงๆ โดยเฉพาะที่ต้องเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ก็มักจะใช้เวลาว่างปั้นดินเป็นก้อนกลมๆ ตามลมหรือแดดให้แห้ง ทำเป็นลูกกระสุนตุนอยู่ในย่ามที่สะพายติดตัวไปมา ก็จะได้ลูกกระสุนตามขนาดที่เหมาะสมกับหนังสติ๊กและความพอใจของตน     

หนังสติ๊กนี้มันก็มีอะไรๆที่สามารถเอามาคุยหรือถกกันได้ไม่น้อยเหมือนกัน ตั้งแต่เรื่องของง่าม ยางที่ผูกรัด วิธีผูกยาง หนังรอง ลูกกระสุน ฯลฯ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 18:56

สำหรับง่ามหนังสติ๊กนั้น สำหรับเด็กในชนบทก็จะคุยกันในเรื่องของสัดส่วน ก็จะมีในเรื่องของขนาดของด้ามจับ ความกว้างและความสวยของง่าม (ลักษณะตัว Y) ความสั้นยาวของง่าม และฝีมือการเหลาง่ามให้สวย   

มีข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่งที่เป็นความต้องการเหมือนๆกัน ก็คือง่ามหนังสติ๊กที่ทำด้วยไม้ต้นมะขาม  ไม้มะขามนี้หายากนะครับ แม้ในสมัยนี้จะมีการปลูกมะขามเป็นสวนๆกันอยู่ในหลายพื้นที่หลายจังหวัดก็ตาม  ในสมัยก่อนนั้นยิ่งหาต้นมะขามได้ยากขึ้นไปอีก การจะปีนขึ้นไปตัดกิ่งตัดง่ามก็มิใช่เรื่องง่าย กว่าจะได้มาครั้งหนึ่งๆก็จะเป็นจากการโค่นต้นมะขามทั้งต้น(จะเพื่อเหตุใดก็ตาม)  ต้นมะขามที่ถูกโค่นจะถูกตัดขวางต้นให้เป็นแว่นๆเพื่อเอามาทำเขียงใช้ในครัว  (เขียงที่ใช้สับเป็ดสับไก่ตามร้านอาหารดังๆทั้งหลายในปัจจุบันนี้ก็ยังนิยม(ต้อง)ใช้เขียงที่ทำจากไม้มะขาม) กิ่งก้านสาขาที่เหมาะกับการเอามาทำง่ามหนังสติ๊กก็จึงได้มาจากการโค่นต้นมะขามเป็นหลัก

ไม้มะขามนี้มีคุณสมบัติในเรื่องของความเหนียว มีเนื้อแน่นแต่ไม่แข็งกระด้าง ก็ด้วยเหตุนี้กระมังจึงเป็นที่นิยมเอามาทำเขียงกัน   ก่อนที่จะใช้ก็จะต้องนำไปแช่น้ำเกลือให้ฉ่ำเสียก่อน เขียงจึงจะไม่แตก  ชาวบ้านในท้องถิ่นห่างไกลก็นิยมใช้เขียงไม้มะขามเหมือนกัน แต่เรามักจะเห็นเขียงของเขาเป็นลักษณะของส่วนของแว่นไม้ทรงกลม ก็ดูจะมาจากสาเหตุว่าเขียงแตกเพราะไม่ได้แช่น้ำเกลือ (เกลือมีข้อจำกัดในการนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆที่มิใช่ในการทำอาหาร)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 19:24

เขียงไม้มะขาม


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง