เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 46845 เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 05 ต.ค. 13, 21:29

กลับไปยังภาพที่ว่าล้าหลังประมาณ 40 ปี เป็นอย่างไร

ในช่วงทศวรรษแรกของ พ.ศ.2500 นั้น เครื่องจักรทำถนนสายหลักในต่างจังหวัดที่ห่างไกลต่างจากสมัยนี้มาก  หลักๆก็มีเพียงรถบดถนนที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำ คนงานกลุ่มหนึ่ง ปุ้งกี๋ จอบ ถังยางมะตอย แล้วก็รถบรรทุกกะบะ 6 ล้อ  ส่วนรถแทรกเตอร์ (Bulldozer) นั้นนานๆจะเห็นสักคันหนึ่ง    ถนนลาดยางจึงมีเฉพาะสายหลักที่เชื่อมจังหวัดต่างๆ (มักจะต้องเป็นจังหวัดใหญ่ด้วย) ถนนสายรองนั้นไม่ต้องพูดถึง มีแต่ถนนลูกรัง
วัสดุที่นำมาสร้างทางก็หาเอาจากแหล่งใกล้ๆ หินปูนที่จะไปขนเอามาทำถนนนั้น จะจัดว่ามีจำกัดก็ได้ แต่มีใช่จำกัดเพราะไม่มีแหล่ง เป็นความจำกัดเพราะเมื่อระเบิดออกมาแล้วจะต้องใช้แรงคนงานใช้ฆ้อนย่อยให้เล็กลงได้ขนาดด้วยมือ เนื่องจากไม่มีเครื่องโม่หินที่แหล่งหิน พื้นถนนที่บดอัดจึงมีผสมกันทั้งหินปูนและกรวดที่หาได้ตามท้องห้วยต่างๆ
คนงานจะโกยหินใส่ปุ้งกี๋แล้วเอาไปโรยดาดหน้าบนถนนดินที่บดอัดแล้ว จากนั้นก็เอารถบดถนนบดทับให้แน่น ตักยางมะตอยจากถังเหล็กที่สุมไฟให้รอนจนยางมะตอยละลาย ตักใส่ถังบัว (เหมือนถังบัวรดน้ำต้นไม้) เอาไปราดบนหินที่บดอัดแล้ว สุดท้ายก็เอากรวดขนาดเล็กจากห้วยใกล้ๆมาโรยปิดหน้ายางมะตอย เป็นอันเสร็จงาน

ดังนั้น มีการทำถนนที่ใหน ก็หมายถึงมีการจ้างงานเกิดขึ้นที่นั่น ชาวบ้านก็จึงจะพอมีเงินจับจ่ายใช้สอย ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับรากหญ้า ซึ่งแม้จะเป็นเฟืองเล็กๆ มันก็จะเชื่อมโยงกัน ขยายตัวเป็นวงใหญ่ แล้วก็จะมีกำลังไปหมุนเศรษฐกิจในระบบที่ใหญ่ขึ้นในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ     โดยนัยตามที่เล่ามานี้ มันก็คือภาระพื้นฐานของรัฐ ที่แต่ละรัฐบาลจะต้องพยายามกระจายงบประมาณลงไปทำในเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆที่เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นและในองค์รวมที่เป็นระดับประเทศ

ผมยังเห็นภาพนี้ในพม่าเมื่อครั้งพม่าเริ่มเข้าเวทีอาเซียน ในถนนช่วงระหว่างตองอูกับมัณฑะเลย์ เพียงแต่รถบดนั้นมิใช่เครื่องจักรไอน้ำเท่านั้นเอง ก็เลยเข้าใจในคำเปรียบเทียบว่า มันมีความเป็นจริงให้สามารถเปรียบเทียบได้ มิใช่จะเป็นการกล่าวลอยๆในลักษณะของวาทกรรมเท่านั้น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 05 ต.ค. 13, 21:55

วิถีชิวิตของชาวบ้านตามถนนสายหลักที่พาดผ่านกับพวกที่อยู่ตามถนนสายรองๆ ในสมัยก่อนนั้น ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก  ก็คงจะเป็นเพราะเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆยังมีการกระจายตัวที่จำกัดวง   ความไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยินของชาวบ้านจึงพอๆกัน  ข่าวสารต่างๆก็จำกัด ข่าวสารทางราชการก็รับรู้ได้จาการฟังวิทยุ จากกำนัลผู้ใหญ่บ้านที่ไปประชุมมา หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็ยังไม่มี     แม้ในยุคนี้ ผมเดินทางไปต่างจังหวัดก็ยังสัมผัสกับสภาพดังกล่าวนี้ได้  หากท่านผู้อ่านสังเกตดูก็จะพบว่า แม้เพียงท่านเดินทางออกไปชานเขต กทม. (เช่น ย่านถนนรามอินทรา ย่านบางบัวทอง) ท่านก็เริ่มจะได้รับข้อมูลเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นกระท่อนกระแท่นแล้ว และอาจเริ่มสับสนกับข้อเท็จจริงต่างๆ  แล้วชาวบ้านจะไปเหลืออะไรครับ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 05 ต.ค. 13, 22:28

ก็ควรจะหายเจ้ากลีบเมฆละค่ะ    เพราะคำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม  มันกว้างขวางเลื่อนลอยเสียจนจับไม่ติด   ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรกันแน่    และน่าจะเป็นคนละความหมายกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย

ถูกต้องเลยครับ 
ผมเองไม่ทราบว่า ใครที่ใหนเป็นผู้เริ่มใช้คำว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทราบแต่ว่าองค์กรหนึ่งในระบบ UN ครั้งหนึ่งเคยใช้คำนี้ และก็พยายามเผยแพร่แนวคิดการพัฒนาตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับความรู้ทางวิชาการและศาสตร์สมัยใหม่ มีโครงการ (project) ช่วยเหลืออยู่หลายตัวอย่างในอัฟริกาที่ใช้ในการโฆษณาปรัชญานี้ แต่การโฆษณาชวนเชื่อนี้ไม่สำเร็จครับ ไม่มีรัฐฝ่ายผู้รับ (Recipient countries) สนใจมากพอ แล้วก็ไม่มีรัฐฝ่ายผู้ให้ (Donner Countries) สนใจจะให้การสนับสนุนแผนงาน (programme ไม่สะกด program) นี้มากพอ 

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 22:05

เขียนเรื่องย้อนหลังไปไกลเกิน เลยหลงทางครับ อิๆ    (ไปง่วนอยู่กับการนัดของแพทย์หลายคนครับ)

ย้อนกลับมาอ่านที่เขียนไป ก็พบคำที่เขียนผิด   ต้องขอแก้คำว่า Donner Countries เป็น Doner Countries  ส่วนคำว่า programme นั้น เป็นการเขียนตามแบบที่ UN เขาใช้กัน

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 22:43

มาต่อเรื่องราวกันครับ

ถนนสายหลักของประเทศไทยเรานั้น หากถามคนรุ่นก่อนๆโน้น เขามักจะตอบว่า ก็มี ถนนพหลโยธิน (จาก กทม.ไปสุดที่ด่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โน่น) ถนนเพชรเกษม (จาก กทม.ไปสุดที่ด่าน อ.สะเดา จ.สงขลา) ถนนสุขุมวิท (จาก กทม.ไปสุดที่ บ.หาดเล็ก จ.ตราด) ถนนสุวรรณศร (แยกจากถนนพหลโยธินที่ อ.หินกอง จ.สระบุรี ไปสุดที่ด่าน บ.คลองลึก จ.สระแก้ว) ถนนแสงชูโต (แยกจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุร๊ ไปสุดที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี)
 
ทั้งหมดนี้ก็คือ ถนนสายยาวสำหรับการเดินทางไปภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ทุกเส้นทางสร้างไปจนชนชายแดนของไทย ยกเว้นถนนแสงชูโตที่ไปไม่ถึงชายแดนจริงๆ ต้องต่อรถไฟจากตัวเมืองกาญนบุรีจึงจะไปถึงชายแดนที่ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี  ที่จริงแล้วถนนจากตัว จ.กาญจนบุรีไปยังด่านเจดีย์สามองค์นั้น ก็เป็นถนนที่่สร้างอยู่บนแนวทางรถไฟสายมรณะ ซึ่งจะว่าไป ก็แทบจะเป็นการสร้างทับอยู่บนพูนดินที่เป็นฐานรากของรางรถไฟทั้งหมด ช่วงที่เป็นการตัดถนนใหม่จริงๆ ไม่เกี่ยวกับทางรถไฟเลยก็คือ ช่วงจาก วค.กาญจนบุรี ขึ้นผ่านพื้นที่สูงที่เรียกว่าเขาสามชั้น ไปจบกับทางรถไฟตรงอีกประมาณ 4 กม.จะถึงสถานี้น้ำตก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 23:14

สำหรับถนนสายหลักของภาคอิสานนั้น ก็คือ ถนนมิตรภาพที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว  แต่ก่อนจะเป็นชื่อถนนมิตรภาพนั้น ถนนช่วง จ.สระบุรี ถึง จ.นครราสีมา แต่เดิมเป็นถนนชื่อถนนสุดบรรทัด และช่วง จ.นครราชสีมา ถึง จหนองคาย เป็นถนนชื่อถนนเจนจบทิศ     ส่วนถนนหลักของอิสานตอนล่างนั้นเรียกกันว่า สายโชคชัย-เดชอุดม คือ แยกจาก อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ไปสุดที่ตัว จ.อุบลราชธานี
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 13 ต.ค. 13, 23:39

เขียนถึงถนนเหล่านี้ก็เพื่อจะบอกว่า ตามเส้นทางของถนนสายหลักเหล่านี้ (รวมทั้งตามเส้นทางสายรองและเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างชุมชนต่างๆ) มันอุดมไปด้วยเรื่องราว ข้อมูล ข้อสนเทศ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ฯลฯ ต่างๆมากมาย ที่ทำให้เราได้รู้จักตัวตนของตนเองและแก่นของความเป็นไทยในมิติต่างๆ    ในครั้งระโน้น เราเรียนประวัติศาสตร์ สังคม/วัฒนธรรม แบบต้องจินตนาการเอาเพื่อให้เห็นภาพเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจและจำใด้ (เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการสื่อสารและการคมนาคม)  ในปัจจุบัน เราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์กัน ในขณะการสื่อสารและการคมนาคมกลับดีเยี่ยม สามารถที่จะเดินทางไปเรียนรู้ ไปดู ไปเห็น ที่ใหนๆก็ได้  แต่ก็อีกนั่นแหละ เรากลับนิยมไปเที่ยวต่างประเทศกัน แล้วก็รู้จักดีกว่าไทยเสียอีก

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 22:58

เมื่อช่วงอายุ 10 (+/-) ปี ก็ได้มีโอกาสตามพ่อไป อ.เทิง พ่อจะไปดูสถานที่ๆจะสร้างโรงพยาบาลประจำอำเภอ  ซึ่งเป็นครั้งแรกของผมที่เดินทางไปในพื้นที่ชนบทจริงๆ ตื่นเต้นมากครับ จำได้ว่าเป็นฤดูหนาว ออกจากเมืองเชียงรายกันแต่เช้า พ่อต้องซ้ือข้าวเหนียว หมูชุบแป้งทอด และใส้อั่ว เอาติดรถไปด้วย เผื่อรถเสียหรือติดหล่มในระหว่างการเดินทาง ที่จริงแล้วระยะทางไม่ไกลมากนัก สามารถเดินทางถึงได้ภายในเวลาประมาณเที่ยงวัน

เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ถนนจึงมีแต่ฝุ่น ฝุ่นคงจะหนาประมาณสักศอกหนึ่งได้ครับ ตลอดทางเลย   เมื่อพ้นเขตทุ่งนาก็เข้าเขตที่เป็นป่า มีแต่ต้นไม้ใหญ่ๆสองข้างทาง สะพานข้ามห้วยต่างๆยังใช้ไม้ซุงวางพาด เป็นซุงรวม 6 ต้น วางพาดแยกกันเป็นข้างละ 3 ต้น แล้วใช้ปลิงตียึดท่อนซุงไม่ให้แยกจากกัน (ปลิง ก็คือเส้นเหล็กพับเป็นทรงใส้เครื่องเย็บกระดาษที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน)   รถที่ใช้ทางเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะเป็นรถ 6 ล้อ ทั้งรถโดยสารที่เราเรียกว่ารถคอกหมูและรถลากซุงต่างๆ  รถเล็ก 4 ล้อที่ใช้กันก็ต้องเป็นรถจี๊บขับเคลื่อ 4 ล้อ เท่านั้น   
รถจี๊บนี้ สมัยก่อนนั้นเขาแบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ จี๊บเล็ก จี๊บกลาง และจี็บใหญ่  และทั้งหมดก็คือรถเก่าที่ใช้ในทางทหารมาแล้วทั้งสิ้น    รถจี๊บเล็ก ก็คือรถจี๊บขนาดที่เราเห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน (ในทางทหารเรียกว่ารถขนาด 1/4 ตัน)  รถจี๊บกลางนั้น ลำตัวจะกว้าง ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ รถจี๊บกลางนี้เป็นรถยอดนิยมสำหรับพวกฉายหนังกลางแปลง และพวกขายยา เขาเอามาต่อมาดัดแปลงใส่หลังคาจนดูดี  ส่วนรถจี๊บใหญ่นั้น จะเป็นทรงสูงโย่ง หน้าหม้อสั้น รถจี๊บใหญ่นี้จะถูกดัดแปลงเป็นรถขนไม้ซุงที่ตัดเป็นท่อนสั้น (ยาวประมาณ 4-5 เมตร)    รถสมัยสงครามโลกเหล่านี้ จะมีก็เฉพาะรถจี๊บเล็กเท่านั้นเองกระมังที่ยังคงเหลือพอเห็นวิ่งกันอยู่  สำหรับรถจี๊บกลางและจี๊บใหญ่นั้น ผมว่าหายไปจากถนนโดยสิ้นเชิงเมื่อสักประมาณปี 2520  ก็หลังจากสงครามเวียดนามได้จบลงแล้ว และเมื่อเริ่มการนำมีซากรถทหารสมัยเวียดนามเข้ามาใช้แทน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 14 ต.ค. 13, 23:42

กลับมาขยายเรื่องอาหารที่ซื้อติดรถไว้สักหน่อยครับ

ในช่วงฤดูหนาว ข้าวสารต่างๆจะเป็นข้าวใหม่ เพิ่งเก็บเกี่ยวกันมาไม่นาน  ทางเหนือเขาจะเอาข้าวเหนียวใหม่นี้มานึ่งให้สุก (คนเหนือแต่ก่อนเรียกข้าวเหนียวว่า ข้าวนึ่ง) แล้วเอาคลุกกับงาดำที่ตำพอแหลกกับเกลือเล็กน้อย กลิ่นฉุย หอมน่ากินมากๆ แล้วไม่ค่อยติดมือด้วย (เพราะมีน้ำมันจากงา) ผมยังชอบจนถึงในปัจจุบันนี้ ยังมีขายนะครับ ตามตลาดเช้าทั้งหลาย  ชื่อเรียกข้าวเหนียวคลุกงานี้อาจจะต่างกันไปบ้างนะครับ ภาษาเหนือตามปรกติเรียกว่า ข้าวหนุกงา  สมัยก่อนเรียกว่าข้าวเหนียวงาก็รู้กัน สมัยนี้ดูเหมือนจะต้องเรียกว่าข้าวหนุกงาเท่านั้นจึงจะเข้าใจ ที่แย่ก็คือ ในปัจจุบันนี้ มีแม่ค้าหัวใส ทำส่วนที่จะใช้คลุกแยกขายเลย ผู้ใดอยากจะหนุกเมื่อใดก็ทำได้เอง
 
ในปัจจุบันนี้ความสุนทรีย์ของข้าวเหนียวงาหรือข้าวหนุกงานี้ หายไปหมดแล้วครับ  ทั้งความหอม ความมัน และความอร่อยกลมกลืน  ส่วนหนึ่งเพราะ แม่ค้ามักจะใช้ข้าวเก่า งาก็งาเก่า แห้งสนิทเลยอีกด้วย       ทั้งนี้ หากท่านใดอยากจะลองทำแล้วทำอย่างที่ให้กินแล้วเกิดความอร่อยนะครับ   ควรจะต้องเข้าใจดังนี้  ข้าวหนุกงาเป็นของกินครึ่งทางระหว่างอาหารเช้า กับ ขนม   ต้องกินเมื่ออุ่นมากๆหน่อย หากเย็นแล้วจะหมดความอร่อยไปมากเลยทีเดียว  ข้าวเหนียวที่ใช้จะต้องเป็นข้าวเหนียวใหม่ ไม่ใช้ข้าวเก่า (ข้าวเก่าทำให้หมดความอร่อยไปเลย) หากจะนึ่งข้าวเองก็จะต้องแช่ข้าวค้างคืน  และเมื่อนึ่งสุกแล้ว ให้เทออกมาใส่ถาด เอาน้ำพรมเล็กน้อยแล้วใช้ไม้พายคลุกเคล้าข้าวให้คละเคล้ากันทั้งหมด จากนั้นจึงจะทำการหนุกงา
หากมีข้อจำกัดในเรื่องครัว ก็ยังพอจะแก้ลำทำให้อร่อยได้เหมือนกัน เอาข้าวเหนียวนึ่งแล้วที่เราซื้อมาตอนเย็นแล้วเอามาใส้ตู้เย็นไว้ ดูที่มันออกท่าทางว่าจะนิ่มก็แล้วกัน พอเช้าก็เอามือยีข้าวเหนียวนั้น พยายามแยกให้มันร่วนหน่อยโดยเอาน้ำพรมช่วย แล้วเอาใส่ถ้วย ใสไมโครเวฟ (เวลาสั้นๆ) เอาออกมาใช้ซ่อมช่วยพลิกคลุกเคล้า เอาใส่เวฟใหม่ ก็เพื่อทำให้ข้าวนิ่มทั่วกัน  เอางาที่ซื้อมาสำหรับหนุกนั้น มาคั่วไฟอ่อนให้ร้อน พองาเริ่มนื่มและมีน้ำมันออกมาจึงเอาไปคลุกกับข้าวเหนียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 10:15

ฟังเชฟบ้านป่าทำข้าวเหนียวใหม่คลุกงาแล้วน้ำลายไหล  น่ากินมากค่ะ   ทำเอาอยากรู้ว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร  ก็เลยไปถามเชฟกู๊กดู   ได้คำตอบมาตามภาพข้างล่างนี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 21:57

เอาข้าวจี่มาแลกกัน


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 22:35

แต่เดิมนั้น เขาจะใช้งาดำ ไม่ได้ใช้งาขาวดังในภาพครับ

เลยขอเล่าต่อไปเลยว่า ที่ผมแปลกใจ ก็คือการนำข้าวเหนียวใหม่มาทำข้าวคลุกงานี้ กะเหรี่ยงบ้านป่าก็ทำเหมือนกัน ทำในฤดูหนาวเหมือนกัน โดยเฉพาะในงานบุญช่วงปีใหม่ ต่างกับการทำของเราอยู่หน่อยนึงตรงที่ เขาตั้งใจทำเป็นของหวาน โดยเอาข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วมาตำจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน (เรียกว่า ทองโยะ) แล้วจึงคลุกงา   แต่หลายคนชอบที่จะเอามาจิ้มกับนมข้นหวาน     ในญี่ปุ่นก็ทำเหมือนกัน ใช้ครกแบบครกกระเดื่อง เพียงแต่ใช้แรงคน (มากคนหน่อย) ช่วยกันใช้สากไม้หรือฆ้อนไม้ทุบจนเมล็ดข้าวกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นงานเทศกาลประจำปีของเขา

ทำให้คิดไปว่า ข้าวเหนียวนี่คงเป็นจะข้าวดั้งเดิมประจำถิ่นของภูมิภาคนี้ จนมีการนำพันธุ์ข้าวเจ้าจากอินเดียเข้ามาปลูกกัน   ทำให้ หากเป็นข้าวสารเม็ดยาวก็จะเรียกชื่อหลวมๆในปัจจุบันนี้ว่า Indica rice   หากเป็นเพันธุ์ที่เม็ดป้อมสั้น ก็จะเรียกชื่อหลวมๆว่า Japonica rice (เพราะปลูกและนิยมกินโดยคนญี่ปุ่น)   ข้าวเม็ดป้อมสั้นนี้ในบ้านเราก็มีปลูกกันโดยชาวเขาทั้งหลาย เรียกกันว่า ข้าวไร่ เป็นพันธุ์ข้าวที่ต้องการน้ำน้อย ปลูกได้ตามลาดเอียงของภูเขาทั้งหลาย  

เมื่อครั้งทำงานเข้าป่าเข้าดงอยู่นั้น ผมนิยมที่จะเอาข้าวสารที่ซื้อจากเมือง ไปแลกกับข้าวไร่  ผมว่าข้าวไร่อร่อยดี แล้วก็พบว่าข้าวไร่ที่ปลูกในแถบเชิงเขาของป่าห้วยขาแข้ง โดนเฉพาะแถบย่าน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี จะหอมอร่อยมาก  ที่จริงแล้ว ในปัจจุบันนี้หากมีโอกาสก็ยังหาซื้ออยู่ครับ
 
กลายเป็นเล่าเรื่องข้าวไปเสียแล้ว เอาไว้ค่อยเล่าเพิ่มเติมนะครับ  

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 22:57

เอามารวมแบ่งกันกินดีกว่าครับ อร่อยทั้งคู่   

ข้าวจี่นี้ ดูจะไม่เป็นที่นิยมของคนในภาคเหนือ  ที่ผมเห็นนิยมกินกันก็อยู่ในญี่ปุ่นและเวียดนาม    ของเราจะต้องเอามาห่อด้วยใบตองกล้วยเสียก่อนแล้วจึงจะปิ้ง   สมัยก่อนนั้น หากเป็นบ้านชนบทจริงๆ ก็จะเป็นข้าวเหนียวไม่ได้มูลด้วยกะทิ มีทั้งแบบใส่ใส้กล้วยและใส่ถั่วดำ (สามสี่เม็ด)  หากเป็นในเมืองก็จะเป็นข้าวเหนียวมูลกะทิใส้กล้วย จำได้ว่าไม่เคยเห็นใส้อื่นๆเลย  ก็น่าจะแสดงว่าข้าวเหนียวปิ้งใส้อื่นๆ (เผือก มัน ถั่วเขียวบด) นี้เป็นของคนในภาคกลาง     

ที่ว่าเป็นข้าวเหนียวไม่มูลกะทินั้น ก็มีสาเหตุอยู่หรอกครับ จำได้จากการเห็นและคำบอกเล่าว่า มะพร้าวนั้นปลูกได้ผลดีเฉพาะใน อ.แม่ใจ  จะปลูกไม่ขึ้นหรือไม่ได้ผลเลยในพื้นที่เหนืออำเภอแม่ใจขึ้นไป (เชียงราย - แม่ใจ ระยะทางประมาณ 25 กม.)  ปัจจุบันนี้ก็จะยังเห็นว่าแทบจะไม่เห็นต้นมะพร้าวเลยเมื่อเลยพื้นที่ อ.แม่ใจ ขึ้นไป
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 15 ต.ค. 13, 23:22

พูดถึงข้าวเหนียวปิ้งว่าใช้ใบตองกล้วย   ก็เลยขอขยายความต่อ

ยังมีวัสดุที่ใช้ห่ออาหารการกินอีกอย่างหนึ่ง คือ ใบตองตึง  เป็นใบไม้ของต้นตึง รูปทรงใบคล้ายๆกับใบของต้นสัก    ชาวบ้านเขาจะแยกใช้ใบไม้ทั้งสองชนิดนี้ คือ ใบตองกล้วยจะใช้กับพวกขนมเป็นหลัก รวมทั้งใช้ห่อของที่จะต้องปิ้งย่าง ซึ่งจะทำให้อาหารหอมน่ากิน  จะเอาวางรองหรือปิดทับขณะปิ้งก็ได้ทั้งนั้น   
   (ลองดูนะครับ เมื่อซื้อใส้อั่วมาทานนั้น ทำให้อร่อยมากขึ้นได้ 2 วิธีการ คือ อุ่นใส้อั่วโดยเอาใส้อั่วทั้งท่อนวางบนใบตองกล้วยในกะทะที่ร้อนๆ หรือ หั่นเป็นคำๆแล้วเอาลงทอดในน้ำมันร้อนๆคะเนว่าพอแห้งก็ใช้ได้ ทั้งสองวิธีนี้จะช่วยรีดความมันออกไปได้พอควร)

ใบตองตึงนั้น จะใช้ห่ออาหารแห้งทุกชนิด ใช้ทั้งชนิดใบเกือบแห้ง (สำหรับห่อเครื่องปรุงอาหารทั้งหลาย) และใบสด (สำหรับอาหารที่ทำสำเร็จพร้อมกิน)   หากเป็นข้าวเหนียว แม่ค้าก็จะเลือกใช้ใบที่อ่อนหน่อย ผมว่ามันผสมผสานกันได้ดีเมื่อใช้ใบตองตึงห่อข้าวเหนียวร้อนๆ เปิดออกมาหอมฉุยเลย  ใบตองตึงยังมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ มันช่วยกักเก็บและให้ความชื้น ดังนั้น ข้าวเหนี่ยวจึงไม่แห้งแข็งจนถึงช่วงเวลาเย็น แม้ว่าจะซื้อตั้งแต่เช้าตรู่ก็ตาม
บันทึกการเข้า
warisa
อสุรผัด
*
ตอบ: 30


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 16 ต.ค. 13, 09:11

....เป็นคนลำปาง...เข้ามาช่วยตอบค่ะ..ที่ลำปางเรียกว่า ข้าวหนึกงาค่ะ...งาที่นำมาคลุกเรียกว่า งาขี้ม่อน..ส่วนมากเป็นอาหารว่างในฤดูหนาวยามเช้าของคนชนบททางเหนือ..เพราะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวจะได้ข้าวหอมใหม่ประกอบกับงาที่ปลูกก็เป็นฤดูเก็บเกี่ยวพอดี..จะเป็นข้าวใหม่คลุกกับงาที่หอมใหม่ทั้งคู่จึงดับเบิ้ลความอร่อยเลย..บางท้องที่จะทานกับน้ำอ้อย(น้ำตาลก้อนที่เคี่ยวใหม่ๆจากน้ำอ้อยเช่นกัน)...
.....นอกจากข้าวหนึกงาแล้ว...ทางเหนือชนบทยังนิยมเอาข้าวใหม่มาใส่ในกระบอกข้าวหลาม...โดยแช่ไว้ตอนกลางคืนแล้วนำมาเผาไฟในตอนเช้า...เป็นกิจกรรมที่เด็กและผู้ใหญ่ทำร่วมกันอย่างมีความสุข...คิดถึงบรรยากาศเก่าๆจัง.....
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง