เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15
  พิมพ์  
อ่าน: 46775 เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 22 ก.พ. 19, 19:38

ชาวบ้านโดยทั่วไปจะประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นงานที่องค์ประกอบทางกิจกรรมต่างๆขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งกำหนดเวลาตายตัวไม่ได้  ทำให้เวลาของการออกเดินทางและเวลามาถึงงานศพก็ไม่สามารถกำหนดได้เช่นกัน ยังให้มาถึงงานได้ทุกเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อเขาเดินทางมาจากถิ่นไกล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด มาถึงงาน เจ้าบ้านก็ต้องต้อนรับ หุงหาอาหารให้กิน ชุดหนึ่งมากินกัน นั่งเป็นสำรับยังไม่ทันจบ ชุดใหม่ก็มาอีกอาจรวมสำรับก็ได้ หรือไม่ก็ต้องตั้งสำรับใหม่  อาหารที่ดีที่สุดและประหยัดที่สุดในกรณีเช่นนี้ก็คือ พวกต้ม ย่าง และลาบ ซึ่งเป็นเมนูเนื้อสัตว์ เมนูผักก็จะมีก็มีน้ำพริกแนมด้วยผักสด ส่วนข้าวนั้นจะเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็ได้ 

ด้วยภาพดังกล่าวนี้ แล้วจะเลือกใช้เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อปลา อย่างใดจะประหยัดกว่ากัน  แถมจะไปซื้อในตลาดสดหรือจะชำแหละ ใหนจะถูกกว่ากัน  ก็คงจะหนีไม่พ้นที่จะเลือกล้มวัวหากแขกไม่มากนัก หรือล้มวัวหากมีแขกเยอะ   แถมล้มเองก็ยังได้เครื่องในอีกด้วย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 23 ก.พ. 19, 19:34

เมื่อมีคนตาย ชาวบ้านในหมู่บ้านก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็มีทั้งการช่วยด้วยแรงกาย ช่วยด้วยการให้สิ่งของ หรือการช่วยด้วยเงิน   

ด้านการช่วยด้วยแรงกายนั้น ส่วนมากจะเป็นเรื่องของฝ่ายแม่บ้าน ก็มีตั้งแต่เรื่องของการทำครัว ช่วยกันเตรียมเครื่องใช้ในการประกอบพิธีต่างๆ... ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องของงานที่ทำกันในเวลากลางวัน   ที่ดูจะไม่ค่อยเป็นที่รู้กันก็คือ ในด้านของฝ่ายชาย เขามีการจัดเวร จัดเป็นหมวดเวรเฝ้าศพสำหรับแต่ละคืนก่อนจถถึงวันฌาปนกิจ ซึ่งโดยทั่วๆไปก็จะประมาณ 3-4 คืน  ในพื้นที่ภาคกลางของเรา งานเช่นนี้มักจะถูกเรียกชื่อให้ดูดีว่า ไปนอนเป็นเพื่อนศพ   แท้จริงแล้ว จุดประสงค์จริงๆก็คือไปนอนเป็นเพื่อนเจ้าบ้านที่อยู่ร่วมเตียงร่วมชายคากับผู้ตาย ช่วยเจ้าบ้านดูแลรับแขกที่มาจากแดนไกลซึ่งเดินทางมาถึงในเวลาดึกดื่น  และช่วยเป็นหูเป็นตา เป็นยามดูและทรัพย์สินของเจ้าบ้าน เนื่องจากบ้านจะต้องเปิดประตูบ้านตลอดวันทั้งคืน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 24 ก.พ. 19, 18:33

พวกที่ช่วยด้วยของ ส่วนมากก็จะเป็นพวกพืชผักต่างๆ ในทางภาคเหนือก็จะมีขนุนอ่อน ฟักหรือแฟง ผักกาดดอก(ผักกาดจอ)   ขนุนอ่อนนั้นจะเอามาต้มทำเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือเอามาทำเป็นแกงขนุน หรือทำเป็นยำขนุน    ฟักหรือแฟงนั้นจะเอามาต้มกับกระดูกหมูและเนื้อส่วนที่ต้องเคี่ยว ทำเป็นต้มจืดหม้อใหญ่ๆ  ผักกาดดอกนั้นก็เอามาต้มจิ้มน้ำพริกหรือทำเป็นต้มจอผักกาด   เหล่านี้เป็นเมนูที่จะทำทิ้งไว้บนเตา รวมทั้งหม้อต้มบรรดาเครื่องในหมูหรือเครื่องในวัวที่จะต้มก้บข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ต้มให้ออกรสเค็มด้วยเกลือเม็ด     สำหรับส่วนที่เป็นเนื้อนั้นจะพยายามเก็บเป็นเนื้อสด เพื่อจะได้นำไปย่าง ทำลาบ หรืออื่นใดตามแต่ที่แขกจะนึกอยาก

แท้จริงแล้วเมนูอาหารในรูปแบบนี้มีการใช้กันโดยทั่วไปในทุกภาค 

เมื่อทำการฆ่าและชำแหละสัตว์นั้น ในภาคเหนือและอิสานดูจะมีความเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่ง คือ เก็บเลือด  ขี้เพี้ยและถุงน้ำดีของวัว  สำหรับเลือดนั้นก็จะเอาไปคั้นกับใบตะไคร้เพื่อไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อนและช่วยลดตาว เพื่อใช้ผสมลงในลาบดิบ ซกเล็ก หรือหลู้    ในภาคเหนือนั้นเขาจะแยกเลือดหมูส่วนหนึ่ง ปล่อยให้จับตัวเป็นก้อน และแยกส่วนที่เป็นซี่โครงอ่อนของหมูเก็บไว้ เอาไว้ทำขนมจีนน้ำเงี้ยวเลี้ยงผู้ที่มางานเผาเมื่อการเผาเสร็จสมบูรณ์แล้ว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 24 ก.พ. 19, 18:50

ขี้เพี้ย คืออาหารที่มีการย่อยแล้วบางส่วน (ผสมกับน้ำดีแล้ว) พบอยู่ในลำใส้เล็กตอนต้นๆใกล้กับกระเพาะอาหาร  ขี้เพี้ยที่ดีจะต้องออกสีเขียวอ่อนๆ มีเนื้อละเอียดพอสมควร และจะมีรสที่ดีมากเมื่อสัตว์นั้นๆได้กินพวกใบไม้หรือผลไม้ที่ออกรสเปรี้ยว ขี้เพี้ยนั้นส่วนมากจะเอามาใส่ในแกง(ต้มเครื่องใน หรือต้มเนื้อ) 

น้ำดีนั้น ชาวบ้านนิยมจะใส่ในลาบดิบให้ออกรสขม แต่ก็มีที่นิยมใส่ในต้มเนื้อที่เรียกกันว่าต้มขม แล้วก็มีที่นิยมทำน้ำปลาพริกป่น ใส่ข้าวคั่ว แล้วเหยาะด้วยน้ำดี ใช้สำหรับจิ้มเนื้อย่างน้ำตก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 24 ก.พ. 19, 19:11

ในปัจจุบันนี้ พอจะได้เห็นมีพัฒนาการบางอย่างเกิดขึ้น คือ แต่ก่อนนั้น ผู้หญิงที่ไปงานในวันเผาศพจะแต่งกายด้วยเสื้อสีขาวนุ่งโสร่งสีดำ ในปัจจุบันนี้เริ่มเห็นมีการแต่งสีดำทั้งชุดมากขึ้น   สำหรับฝ่ายชายนั้น แต่ก่อนมักจะเห็นคนที่ฉ่ำไปด้วยเหล้าในระหว่างการชะแหละหมูหรือวัว  และมีตั้งวงก๊งเหล้าหรือเล่นการพนันตอนกลางคืนช่วงนอนเป็นเพื่อนศพ  เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว นอนเฝ้าศพก็กลายเป็นนั่งคุยกันเรื่องการทำมาหากิน จากกินเหล้าก็กลายเป็นนั่งแทะเมล็ดทานตะวันกับน้ำหรือน้ำหวาน ท้องกางกันถ้วนหน้า   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 25 ก.พ. 19, 18:42

ในความเห็นของคนในเมืองคนในเมือง ค่าใช้จ่ายดังที่เล่ามาอาจจะดูว่าก็ไม่ได้มากนัก แต่สำหรับชาวบ้านนั้นจัดว่ามาก มักจะไปถึงระดับที่ต้องขายทรัพย์สินบางอย่างเลยทีเดียว หรือไม่ก็กลายไปเป็นลูกหนี้นอกระบบ 

แล้วเงินช่วยเหลืองานจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง  ในสมัยก่อนเมื่อครั้งค่าแรงงานต่อวันประมาณ 20 บาท ก็จะช่วยงานโดยใช้ธนบัตรใบเล็กที่สุด 5 บาท ก็ดูดีที่จะปรากฎให้เห็นอยู่ในตู้กระจกที่วางรับเงินช่วยอยู่หน้าศพ สมัยนั้นเมื่อครั้งใช้เงินไม่เกิน 2 บาทก็สามารถจะอิ่มแบบแน่นท้องได้แล้ว    ในปัจจุบันค่าแรงประมาณ 300 บาทต่อวัน แต่ค่าครองชีพในแต่ละวันสูงมาก ธนบัตรใบเล็กที่สุด 20 บาทที่หย่อนใส่ตู้ลงไปก็ยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายต่างๆ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 25 ก.พ. 19, 19:53

ในสมัยก่อน ที่คุณตั้งไปบุกป่าฝ่าดงอยู่     ครอบครัวหนึ่งใช้เงินประมาณเดือนละเท่าไรคะ
หมายความว่าเขาต้องหาเงินได้เดือนละเท่าไร จึงจะพอใช้ในบ้านที่มีคนอยู่ประมาณ 5-6 คน
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 25 ก.พ. 19, 20:31

สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าไช้ ต้องดื่มเหล้าเพื่อย้อมใจกันด้วยไหมครับ โลงศพตั้งอยู่ภายในเขตบ้าน ส่วนวงเหล้าก็อยู่แถวๆ นั้นแหละ ฟอร์มารีนก็ไม่มีฉีด ถ้าเป็นหน้าฝนก็เผาศพกลางแจ้งลำบากอีก จะฝังก็ไม่มีที่และไม่นิยมกันแล้ว บางทีอาจต้องเก็บไว้หน้าหนาวหรือหน้าร้อนโน่น คนแถวบ้านเคยเล่าให้ฟังประมาณนี้ครับ แต่พอมาถึงเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติผมก็เผ่นทันที  ลังเล
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 25 ก.พ. 19, 20:43

ผมไม่มีข้อมูลที่แท้จริงครับ  เอาเป็นว่าเมื่อสมัยเรียนอยู่ที่ ชม.นั้น นักศึกษาจะได้รับค่าใช้จ่ายจากทางบ้านประมาณเดือนละ 500-800 บาท คิดเป็นปีรวมที่หมดในกระบวนการเรียนก็คงอยู่ประมาณ 12,000 กระมัง   ชาวบ้านโดยทั่วไปมีรายรับเป็นรายปีจากการขายผลผลิตทางการเกษตร เทียบดูก็น่าจะอยู่ในหลักพันบาทต้นๆต่อปี พวกที่อยู่ใกล้เมืองหรือใกล้แหล่งน้ำก็จะมีรายได้มากกว่าชาวบ้านทั่วๆไป และอาจจะมีมากได้ถึงระดับรวยเลยทีเดียว หากเป็นการทำสวนมะพร้าว สวนสับปะรด สวนลำไย สวนมะม่วงอกร่อง ....    

ชาวบ้านป่าจริงๆที่เคยสัมผัสด้วยนั้น น่าจะมีรายได้น้อยกว่า 1000 บาทต่อปี   การปลูกข้าว ก็เอาไว้กินเอง  การปลูกข้าวโพด ก็เอาไว้เลี้ยงไก่  มีการปลูกละหุ่ง บ้านหนึ่งก็ไม่เกิน 20 ต้น อันนี้ขายเม็ดได้   มีการปลูต้นนุ่น ก็ไม่เกิน 20 ต้นเช่นกัน อันนี้ก็ขายได้   มีการปลูกงา ก็เอาไปขายเช่นกัน  รายได้อื่นๆก็คือการเก็บของป่าไปขาย เช่น ไม้เกี๊ยะ (เอาไว้จุดไฟ) พวกเถาสมุนไพรต่างๆ (ม้ากระทืบโรง ฮ่อตะพายควาย กำแพงเจ็ดชั้น ...)  สัตว์ป่าบางชนิด (ตะพาบน้ำ ปลาคัง เก้ง กวาง อ้น ...)  อีกรายได้หนึ่งที่ได้มากหน่อยก็คือรับจ้างเป็นคนนำทางและทำงานกับพวกทำไม้    
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 26 ก.พ. 19, 18:57

จึงคงจะไม่แปลกนักที่ชาวบ้านในสมัยนั้นจะแบกปืนแก็บเข้าป่าเพื่อหาอาหารมาตุนไว้สำหรับครอบครัว การล่าสัตว์ส่วนมากจะเน้นไปที่ไก่ป่า เก้ง และอีเห็น นอกจากนั้นก็จะเป็นพวกสัตว์กินรากไม้ เม่น และอ้น สัตว์ขนาดใหญ่กว่านั้นเช่น หมูป่า ก็เมื่อมีความตั้งใจจริงๆ เพราะเป็นการล่าที่จัดว่ามีความอันตรายค่อนข้างมาก  กวาง ก็ดูจะไม่เป็นที่นิยมล่าของชาวบ้านป่า สัตว์ขนาดใหญ่จริงๆเช่นกระทิง วัวแดง ช้าง และเสือ ก็ไม่เป็นที่นิยมล่ากัน ก็อาจจะเป็นเพราะว่าปืนมีขนาดเล็กเกินไป การล่าสัตว์ใหญ่พวกนี้ส่วนมากจะเป็นพวกพรานชาวกรุง มีชาวบ้านเป็นผู้นำทาง แล้วก็จะได้บรรดาเนื้อที่พรานชาวเมืองเหล่านั้นเขาไม่เอาออกจากป่ากลับบ้าน 

ก็มีที่ชาวบ้านที่มีอาชีพหาชิ้นส่วนของสัตว์ใหญ่ไปขายอยู่แต่มีน้อยคนมาก เช่น การล่าเอาหัวกระทิงทั้งเขาขายให้แก่ผู้นิยมเอาไปติดโชว์ในบ้าน การล่าเลียงผาเพื่อเอาไปขายให้กับพวกที่ทำน้ำมันเลียงผา  เขากวางก็เช่นเดียวกับกระทิง เขี้ยวหมู หากเป็นเขี้ยวตันก็จะได้ราคาสูงเอาไปทำเครื่องลางของขลัง งาช้าง เหล่านี้เป็นต้น    สำหรับเสือนั้น พวกพรานชาวบ้านเขาจะยิงกระทิงหรือกวางทิ้งไว้เป็นเหยื่อล่อเสือ เสือนั้นขายได้ทั้งตัวยกเว้นเนื้อ มีราคาค่อนข้างสูงมาก ในสมัยนั้น หัว+กะโหลก+กระดูก+หนัง มีราคาประมาณหมื่นบาทหรือกว่านั้น เนื้อเสือและส่วนที่เป็นมันใต้หนัง เอามาเคี่ยวแล้วแยกเอามันออกไปทำเป็นน้ำมันเสือ ขายให้กับพวกที่เลี้ยงไก่ชนและพวกที่ใช้ตะเกียงน้ำมันเสือในการสูบฝิ่น    การล่าสัตว์ใหญ่เพื่อการขายดังที่เล่ามานี้ มิได้ทำกันอย่างเป็นอาจินต์ตลอดทั้งปี ปีหนึ่งอาจจะทำเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งเท่านั้น เป็นลักษณะของการหารายได้ประจำปีอีกแบบหนึ่ง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 26 ก.พ. 19, 19:33

ในมุมคิดหนึ่ง การหลับตาข้างหนึ่งหรือจะทำตาพร่ามัวบ้าง ไม่ไปจับแบบเอาเป็นเอาตายกับเรื่องของปืนแก็บ มันก็อาจจะยังคงพอจะมีภาพของความสมดุลย์ดังที่เล่ามาอยู่พอสมควร เมื่อปืนแก็บเป็นปืนเถื่อน ชาวบ้านเขาก็ดิ้นรนไปหาซื้อปืนที่ถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นปืนลูกซองลำกล้องเดี่ยว รายที่มีอาชีพเป็นพรานป่าเขาก็ซื้อปืนลูกเดี่ยวที่เรียกกันว่าปืนไรเฟิ้ล

ปืนลูกซองมีลูกกระสุนหลายแบบ เช่น SG (ลูกเก้า) OOBuck(ลูกโดด) ประสิทธิภาพของปืนดีกว่าปืนแก็บมาก ใช้ยิงสัตว์ปีกต่างๆและสัตว์หนังบางต่างๆได้ดี ส่วนปืนไรเฟิ้ลนั้นเป็นปืนลูกเดี่ยวสำหรับใช้ยิงสัตว์ใหญ่พวกวัวแดง กระทิง ช้าง หมูป่า หมี แถมลูกปืนก็ยังมักจะใช้ร่วมกันกับทางราชการทหารได้อีกด้วย โดยเฉพาะ ขนาด 30.06 Springfield ที่ใช้กับปืน ปลยบ.88

การปิดช่องแล้วทำให้เกิดมีการใช้ประโยชน์จากปืนที่ทันสมัย ได้ทำให้เกิดการล่าที่มีประสิทธิผลมากขึ้น จากกว่าจะจัดการได้หนึ่งก็สามารถเพิ่มจำนวนได้มากตามที่ต้องการ     

ผมได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้อยู่พอสมควร เข้าไปทำงานอยู่หลายปีในพื้นที่ๆเกือบจะไม่เห็นส่วนงานใดเข้าไป เป็นพื้นที่สีชมพูหรือสีแดงที่น่ากลัว ก็เลยได้เห็นได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวชนบทและชาวบ้านป่าแบบดั้งเดิมที่ยังไม่มีการปรุงแต่งใดๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 27 ก.พ. 19, 18:42

ได้กล่าวถึงรายได้-รายจ่ายของชาวบ้านแล้ว ก็อยากจะขอขยายความซักสองสามเรื่องที่มีผลกระทบต่อดำรงชีพของเขา  ซึ่งเป็นเรื่องที่มีลักษณะกึ่งบังคับในทางสังคมว่าต้องทำ ดังเช่นเรื่องของงานศพที่ได้กล่าวมา 

เรื่องงานศพเป็นเรื่องในส่วนของครอบครัวก็จริง แต่หากเป็นครอบครัวที่เป็นดนดีมีคนนับถือมาก หรือมีฐานะเป็นญาติผู้ใหญ่ของชาวบ้านหลายครอบครัวในหมู่บ้านนั้นๆและในอีกหลายหมู่บ้านที่กระจายไปอยู่ทำมาหากิน ผู้ที่มาคารวะศพก็จะยิ่งมีมาก ก็คงพอจะนึกออกนะครับว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเพียงใด    เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในหมู่บ้านหนึ่งๆจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวดองเป็นญาติกันทางใดทางหนึ่ง แล้วก็เป็นปกติอีกเช่นกันที่ขนาดของแต่ละหมู่บ้านที่มีความเจริญแล้วตามควร มักจะมีขนาดประมาณ 100+/- หลังคาเรือน หรือมีประมาณ 500 คนในหนึ่งหมู่บ้าน
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 27 ก.พ. 19, 19:07

เรื่องที่เกิดตามมาของแต่ละหมู่บ้านก็คือ จะมีความศรัทธาที่จะให้มีพระและมีวัดเป็นของแต่ละหมู่บ้าน  ทีนี้ก็ตามมาด้วยการสร้างถาวรวัตถุจากผฝ่ายโยมบ้าง จากฝ่ายพระบ้าง จากเพียงเพื่อให้มีตามสมควรก็กลายเป็นแบบเปรียบเทียบได้ไม่น้อยหน้ากับที่อื่นๆ  เกิดระบบช่วยกันคนละไม้ละมือ ทำกันตามวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ  In Cash บ้าง In kind บ้าง เกิดเป็นภาษีสังคมในอีกแบบหนึ่ง ยังดีที่เป็นไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 28 ก.พ. 19, 18:40

ก็มีรายจ่ายอีกลักษณะหนึ่งที่ชาวบ้านซึ่งยิ่งอยู่ห่างไกลมากขึ้นเพียงใดก็ยิ่งจะต้องจ่ายมากขึ้นเท่านั้น  ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องของระบบการค้าตามปกติ   ในสมัยก่อนนั้น ค่าขนส่งและค่า packaging จะเป็นเรื่องหลักที่ทำให้สินค้านั้นๆมีราคาสูงกว่าตลาดในเมือง   เช่น เมื่อครั้งทำงานอยู่ในย่าน อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี นั้น  เมื่อย่างเข้าฤดูฝน ถนนช่วง วค.กาญจนบุรี ถึงตัว อ.ไทรโยค รถจะใช้เส้นทางเกือบไม่ได้เลย ยกเว้นรถขับเคลื่อนสี่ล้อและรถป่าบางชนิดที่ไม่กลัวต่อการเดินทางผ่านเขาสามชั้น กระนั้นก็ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 12 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง หรือข้ามวันข้ามคืนไปเลย การขนส่งต่างๆจะหันไปใช้ทางเรือ น้ำมันรถก็ไปทางเรือ ก็ใช้วิธีการบรรจุปี๊บขนาด 20 ลิตร น้ำมันรถที่ทองผาภูมิจึงมีราคาสูง แพงมาก  ผมใช้รถแลนด์โรเวอร์ ถังน้ำมันบรรจุประมาณ 70 ลิตร กินน้ำมันประมาณ 5 กิโลเมตรต่อลิตร เติมน้ำมันครั้งหนึ่งๆใช้ระหว่าง 2-3 ปี๊บ เติมได้ครั้งสองครั้งก็ต้องกลับเข้าเมือง สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว

ในสมัยก่อนนั้น ระบบการตลาดเป็นระบบการขายส่งแบบที่มีส่วนลดที่ราคาของสิ่งของ ผนวกด้วยการยังมีน้ำใจต่อกันกับคนในอาชีพเดียวกันซึ่งจะยังผลไปในเรื่องของ market sharing   ในปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเปลี่ยนไปเป็นการขายส่งแบบให้ไปเอากำไรจากสินค้าที่แถมให้ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องซื้อในจำนวนหนึ่งเสียก่อน   ยังผลให้ร้านค้ารายย่อยต้องซื้อของมาในราคาเต็มของตลาด แล้วบวกราคาเป็นราคาขายให้กับชาวบ้าน  ยิ่งอยู่ไกลห่างจากปืนเที่ยงมากเท่าใดก็ยิ่งจะต้องซื้อของแพงกว่าคนในเมืองมากเท่านั้น     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 28 ก.พ. 19, 19:06

ในปัจจุบัน รายได้ของชาวบ้านดีขึ้นก็จริง แต่ด้วยระบบตลาดดังที่เล่ามา มันก็เป็นตัวถ่วงอำนาจการจับจ่ายของชาวบ้านในพื้นที่ของตนเอง  เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินอันพึงหมุนเวียนอยู่ในระบบรากหญ้าของท้องถิ่นหายไป  ชาวบ้านนิยมเข้าเมืองไปซื้อของในราคาที่ถูกกว่าตามห้างร้านต่างๆมากกว่าจะซื้อจากร้านค้าในพื้นที่ของตน   พ่อค้าแม่ขายและร้านค้าในหมู่บ้านต่างๆจึงเกือบจะไม่ค่อยได้พบเห็นกันมากนัก   เมื่อ micro entrepreneur ยังล้มลุกคลุกคลาน เกิดได้ยากแต่ตายง่าย การก้าวไปสู่ธุรกิจระดับ SME ด้วยตนเองของแต่ละชุมชนที่อยู่ห่างไกลก็ยิ่งยากตามไปด้วย เป็นเรื่องของรัฐที่จะต้องช่วยสนับสนุนและประคองตั้งแต่การตั้งไข่เอาเลยทีเดียว     
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง