เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 46765 เสี้ยวหนึ่งกับป่าดงและชาวถิ่น
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 02 ก.พ. 19, 19:39

 อายจัง พิมพ์ผิดอย่างแรงครับ ต้องเป็น 2480 โน่น

ก็รู้ตัวอยู่นะครับว่า ความสูงวัยนั้นมันมีเรื่องของความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายมากในเรื่องของการสื่อสารทั้งด้านการเขียน การพูด และการฟัง กระทั่งทางตา  แม้ว่าจะได้พยายามคิดก่อนทำ สอบทานเมื่อทำเสร็จแล้ว มันก็ยังหลุดได้อยู่ดี   

จากการสังเกตตัวเองของผม พบว่า ในวัยก่อน 65 นั้น ตัวเองยังรู้สึกว่าทุกอย่างก็ยังเหมือนๆเดิมดังที่ผ่านๆมา(ร่างกาย สมอง และความคิด) มารู้สึกและรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มแสดงออกอย่างชัดเจนก็เมื่อหลังจาก 65 ปีไปแล้ว คือคล้ายกำลังเดินลงดอยในพื้นที่ราบลอนคลื่น  พอเข้าวัยเลข 7 คราวนี้รู้สึกเลยว่ากำลังเดินลงมาตามลาดเชิงเขาที่ค่อนข้างจะสูงชัน   ยิ่งอยู่ในวัย 70+ มากขึ้นเท่าใด การสะดุดหกล้มเจ็บตัวก็คงจะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว                       

เคยคิดว่าน่าจะมีกระทู้คุยกันในเรื่องของคนในวัย สว. (ส.ว. ??)  เพราะคิดว่ามีเรื่องที่จะคุยกันได้อย่างหลากหลาย และน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 02 ก.พ. 19, 19:59

อายจัง พิมพ์ผิดอย่างแรงครับ ต้องเป็น 2480 โน่น


เคยคิดว่าน่าจะมีกระทู้คุยกันในเรื่องของคนในวัย สว. (ส.ว. ??)  เพราะคิดว่ามีเรื่องที่จะคุยกันได้อย่างหลากหลาย และน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคน

ได้เลยค่ะ 
เชิญคุณตั้ง ตั้งกระทู้ ใน "ทันกระแส"  นะคะ
มีประเด็นหนึ่งที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง    ทำนองเดียวกับ "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก"  คือบ้านเมืองเราเมื่อ 50+ ปี ก่อน มีอะไรที่ยุคนี้ไม่มีอีกแล้วบ้าง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 03 ก.พ. 19, 18:21

ขอเวลาสักนิดครับ  หรือว่าท่านใดจะตั้งกระทู้ก็เรียนเชิญได้เลยนะครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 03 ก.พ. 19, 18:28

ถ้างั้น ดิฉันตั้งกระทู้ให้เลยนะคะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6978.new#new
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 03 ก.พ. 19, 18:48

ในสมัยก่อนนั้น เมื่อกล่าวถึง ปิล็อก มันก็จะต้องมีอีกหลายชื่อที่เข้าเกี่ยวพันกัน คือ ท่าขนุน ห้วยเขย่ง น้ำดิบ อีปู่ อีต่อง ผาแป   เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาของโครงการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ(พ.ศ.2520+) ก็มีอีกสองชื่อเข้ามา คือ เขาแหลม และวัดวังวิเวการามหรือวัดหลวงพ่ออุตมะ (วัดจมน้ำ/วัดใต้น้ำ_ในปัจจุบัน)    สำหรับ ตะนาวศรีนั้นเข้ามาทีหลัง แล้วก็ตามด้วยเขาช้างเผือก  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 03 ก.พ. 19, 19:14

ท่าขนุน ก็คือตัว อ.ทองผาภูมิ  ซึ่งคนไทยก่อนยุคทีวีจะเฟื่องฟูจะคุ้นหูกับชื่อ อ.ทองผาภูมิ เป็นอย่างดี ชื่อนี้จะปรากฎอยู่ในข่าวสภาพอากาศที่ออกอากาศทางวิทยุในช่วงเวลาเช้าของแต่ละวันทุกวัน โดยเฉพาะในรายงานข่าวอากาศเรื่องอุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุด ซึ่งชื่อ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จะได้ยินเสมอๆคู่อยู่กับ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ในเรื่องของอุณหภูมิต่ำสุด 

ความเกี่ยวพันของชื่อต่างๆก็มีดังนี้ ท่าขนุน เป็นท่าเรือ เป็นศูนย์การติดต่อประสานงาน และเป็นแหล่งพักพิงของผู้คนก่อนการเดินทางเข้า-ออกหมู่เหมืองปิล็อก เป็นแหล่งสะสมและส่งอาหาร สิ่งของเครื่องอุปโภค/บริโภค รวมทั้งเครื่องมือ/อุปกรณ์ต่างๆสำหรับผู้คนและการทำเหมืองที่หมู่เหมืองปิล็อก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 03 ก.พ. 19, 20:06

ห้วยเขย่ง เป็นชื่อของพื้นที่ราบที่อยู่ด้านหลังเขาทองผาภูมิ ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางขึ้นเขาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงหมู่เหมืองปิล็อก ในพื้นที่ห้วยเขย่งนี้มีการทำไร่ทำสวนของชาวบ้านทั่วๆไป   โดยความรู้สึกแล้ว เมื่อเดินทางขาเข้าหมู่เหมือง ก็คล้ายกับว่ากำลังเข้าไปสู่พื้นที่ๆจะไม่ผู้คนอีกเลยจนกระทั่งถึงหมู่เหมือง แม้จะเป็นระยะทางไม่กี่สิบกิโลเมตรแต่ก็อาจใช้เวลาหลายวัน หลายๆวันแบบที่อาจจะนานมากพอที่ถั่วเขียวจะงอกออกมาเป็นถั่วงอก

น้ำดิบ เป็นจุดประมาณครึ่งทางระหว่างตีนเขาถึงยอดเขาอีต่อง  น้ำดิบเป็นจุดที่มีน้ำไหลออกมาจากผนังข้างทางถนน (เป็น seepage อย่างหนึ่งที่เกิดจากระดับของน้ำใต้ผิวดิน_water table_โผล่พ้นผิวดิน ในกรณีนี้เกิดจากการตัดถนนเพื่อทำทาง)  น้ำดิบเป็นช่วงของถนนที่เละ รถคิดหล่มได้ง่ายๆ เลยกลายเป็นที่พักกลางทางกลายๆ ได้มีการสร้างเพิงพักแล้วกลายมาเป็นศาลาไม้จริงในภายหลังต่อมา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 04 ก.พ. 19, 18:50

อีปู่และอีต่องนั้นเป็นชื่อของชุมชน   อีต่องจะอยู่บนสันเขาที่เป็นเขตแดนไทยกับพม่า อีปู่จะอยู่ถึงก่อนอีต่อง   

ชื่อผาแปนั้นก็คือบริเวณที่พบแหล่แร่และมีการทำเหมืองแร่  ถ้าความจำของผมยังไม่บกพร่องก็คิดว่ามี ผาแป 1 ถึง ผาแป 7 หลังจากนั้นชื่อแหล่งแร่หรือเหมืองจะเรียกเป็นชื่อของสถานที่ เท่าที่รู้ก็ดูจะมีเพียงชื่อ ตะนาวศรี(หรือกลุ่มเหมืองตะนาวศรี) อยู่ทางทิศใต้ของกลุ่มเหมืองผาแป และ ช้างเผือก(หรือกลุ่มเหมืองช้างเผือก)ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของกลุ่มเหมืองผาแป

เส้นทางหฤโหดจริงๆนั้นมิใช่ช่วงของการเดินทางจากห้วยเขย่งถึงอีต่อง ที่โหดจริงๆคือเส้นทางแยกเข้าสู่ผาแป 3 และหมู่เหมืองตะนาวศรี ในช่วงที่เป็นถนนลงสู่หุบเขาซึ่งมีความชันมาก  มากขนาดรถไหลข้ามขอนไม้ที่หนุนล้อรถเพื่อไม่ให้รถไหลได้ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 04 ก.พ. 19, 19:14

เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่เหมืองช่วงที่ตัดอยู่บนสันเขาแบ่งเขตแดนนี้ให้ทัศนียภาพที่สวยงามมาก บางช่วงล้อรถด้านหนึ่งอยู่ในเขตแดนไทย ส่วนอีกด้านหนึ่งอยู่ในเขตพม่า  ให้ความรู้สึกแปลกๆในเชิงของการปลดปล่อยและความมีอิสระเสรี 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 04 ก.พ. 19, 19:32

อีต่องเป็นชุมชนที่มีตลาด มีสินค้าบางอย่างที่คนพม่าแบกขึ้นเขาเข้ามาขาย สินค้าของไทยก็จะมีพวกโสร่ง เครื่องกระป๋อง ของแห้ง ถั่วเขียว น้ำตาล และเวชภัณฑ์เป็นหลัก  แล้วก็มีเหล้าขาวและเหล้าแม่โขง

ในเขตพม่าที่อีต่องก็มีชุมชนเล็กๆเช่นกัน ซึ่งที่น่าสนใจก็ตรงที่ ผู้คนในชุมชนของเขานั้นมีพวกที่มีการศึกษาในระดับที่ดีอยู่ค่อนข้างมาก ก็มีทั้งแพทย์ สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ หลายคนจบจากต่างประเทศ (โดยเฉพาะจากออสเตรเลีย) สนทนากันด้วยภาษาอังกฤษแบบใช้ technical term กันได้อย่างสบายๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 05 ก.พ. 19, 20:36

ที่ตลาดอีต่องในสมัยนั้น เมื่อถึงฤดูก็จะมีปู มีกุ้ง และไข่เต่าวางขายกันในตลาด พวกพ่อค้าชาวพม่าเขาจะแบกขึ้นเขามาขายกัน สำหรับของแห้งที่มีวางขายกันเป็นสินค้าประจำก็คือ ปลาเค็มที่ทำมาจากปลาสละตากแห้ง เอามาตัดเป็นชิ้นๆพอคำ ทอด แล้วกินแนมกับแกงเผ็ดๆ อร่อยดีครับ เป็นของคู่กันเช่นเดียวกับแกงเขียวหวานเนื้อ(หรือไก่ก็ได้  ยิงฟันยิ้ม) ที่กินคู่กับปลาตะเพียนตากแห้งทอดให้กรอบ   นอกจากปลาเค็มแล้วก็มีกุ้งแห้งตัวโตๆ ตัวโตขนาดแท่งดินสอก็มี แต่คงจะเคี้ยวไม่ออก คงเป็นได้เพียงของฝาก หรือนำมาป่นใส่ในอาหารต่างๆ (ข้าวคลุกกะปิ ข้าวยำ ยำถั่วพู..) แล้วก็มีปลาหัวยุ่ง เอามาทอดกิน

เมื่อครั้งที่ว่านนางพญาหงสาวดีกำลังเป็นที่นิยมนำมาปลูกเล่นกันของคนไทย มีราคาค่อนข้างแพงในตลาดขายต้นไม้ในกรุงเทพฯ ชาวพม่าเขาเก็บจากพื้นที่ฉ่ำน้ำตามเส้นทางขึ้นบ้านอีต่อง แบกขึ้นมาขายแบบถูกๆ  ว่านนี้มีชื่อพม่าว่า เมดอจี๊  ซึ่งแปลว่านางผู้ยิ่งใหญ่  เป็นว่านที่เลี้ยงง่ายตายยาก เมื่อออกดอกแล้วจะมีกลิ่นฉุน ที่แปลกก็ดูเหมือนว่าพวกงูจะนิยมเข้ามาอยู่เมื่อว่านนี้ออกดอก
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 06 ก.พ. 19, 19:31

ในปัจจุบันนี้การไป อีปู่ อีต่อง และผาแป 3 (เหมืองสมศักดิ์) ได้มีการปรับเส้นทางให้ลดความลาดชันลงไปจนเดินทางได้ไม่ยากนัก   ที่ยังคงน่าจะไปยากอยู่มากๆก็คือ จากอีต่องลงใต้ไปเหมืองตะนาวศรี และจากอีต่องขึ้นเหนือไปปิเต่ง   

เหมืองตะนาวศรีอยู่ในร่องหุบเขาแคบๆ  แต่ก่อนนั้นคนกับสัตว์ป่าอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตรไม่กลัวกัน ภาพที่ยังอยู่ในความทรงจำก็คือ ตกเย็นจะมีกวางป่าเดินเข้ามาโชว์ตัวในพื้นที่เหมือง ได้กล้วยกินบ้างหากมี บางทีก็มีหมีขอเข้ามาแสดงตัวที่ชายป่า เก้งหม้อ(ก้นดำ)ก็มี เห็นอยู่ตามเส้นทางรถเป็นปรกติ

สำหรับปิเต่งนั้น อยู่ห่างจากอีต่องประมาณ 10 +/- กม.เป็นพื้นที่ๆมีพวกกะเหรี่ยง(พวกที่ใช้คำถาม ไปใหนมา ว่า ลีคือแล่) มาตั้งชุมชนเล็กๆอยู่ (จะไม่ขอขยายความต่อ เพราะไปเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองของทั้งเราและพม่า)   ท่านที่ชอบแส้นทาง off road แบบ extreme เส้นทางนี้ก็ไม่เลวนะครับ มีความท้าทายอยู่ไม่น้อยทั้งในด้านของเครื่องจักรกล ร่างกาย จิตใจ และความสามารถในการเอาตัวรอด           
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 07 ก.พ. 19, 19:42

จากทองผาภูมิไปทางทิศตะวันตกก็จะไปสู่หมู่เหมืองปิล็อก แต่หากขึ้นเหนือก็จะเป็นถนนขนานไปกับแม่น้ำแควน้อย (ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ใต้น้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม) เป็นเส้นทางสู่ อ.สังขละบุรี ต่อไปยังเจดีย์สามองค์ แล้วเลยเข้าเขตพม่าไปตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า

ตามเส้นทางใต้น้ำเส้นนี้มีอะไรๆที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว จากตัว อ.ทองผาภูมิ ก็จะผ่านสถานที่ๆเรียกว่า เจดีย์บุอ่อง (หรือโบอ่อง) ทางด้านตะวันตก   ผ่านบริเวณที่เป็นหลุม(หลายหลุม)ที่ดูจะเกิดจากลูกระเบิดที่ทิ้งจากเครื่องบินเพื่อยุติการสร้างทางรถไฟสายมรณะเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง   ผ่านหมู่บ้านวังปาโท่ มีหลุมฝังศพนักรบสมัยสงครามไทย-พม่า  ผ่านวัดใต้น้ำ(วัดหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังวิเวการาม)  แล้วก็ถึงจุดที่เรียกว่า สามสบ ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน (แม่น้ำบีคลี่ ซองกาเลีย และรันตี) พื้นที่ตั้งของ อ.สังขละบุรี แต่เดิม ซึ่งยังเห็นตอม่อและคานคอนกรีดสำหรับพาดรางรถไฟสายมรณะ   เลยขึ้นเหนือไปก็จะผ่าทะลุผ่านเขตพม่าสู่ที่ตั้งของพระเจดีย์สามองค์  หากใช้ถนนไปทางทิศตะวันตกของตัวอำเภอก็จะเข้าพื้นที่เกษตรกรรม มีบ้านเรียนตั้งอยู่ไม่มากนัก ชื่อว่า ทุ่งมาลัย ซึ่งได้กลายเป็นที่ตั้งใหม่ในปัจจุบันของ อ.สังขละบุรี 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 08 ก.พ. 19, 19:15

เจดีย์บุอ่อง(หรือโบอ่อง)ตั้งอยู่ในที่ราบราบด้านเหนือของที่ราบห้วยเขย่ง เป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนโขดหินกลางสระน้ำที่มีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่  มีสะพานไม้เดินเข้าไปหาตัวเจดีย์ทางทิศเหนือ อนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถจะเดินข้ามไปได้  ผมไม่ทราบประวัติความเป็นมา ดูจากลักษณะที่คล้ายกับภูมิสถาปัตย์แบบพระราชวังมัณฑะเลย์ของพม่าแล้วก็น่าจะเป็นฝ่ายพม่าที่เป็นผู้สร้าง พื้นที่นี้น่าจะเป็นที่ตั้งค่ายสะสมกำลังพลและเสบียงของพม่าในยุคสงครามเก้าทัพ

เหนือขึ้นไปตามเส้นทางจนถึงบ้านวังปาโท่ ผ่านหลุมระเบิดสมัยสครามโลกครั้งที่สองหลายหลุม ซึ่งผมเดาเอาว่าอาจจะเป็นการทิ้งระเบิดที่พลาดเป้าหมาย เพราะเส้นทางรถไฟสายมรณะจะอยู่อีกฝั่งหนึ่ง(ฝั่งตะวันออก)ของลำน้ำแควน้อยนี้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นการทิ้งเพื่อทำลายค่ายของทหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบฝั่งตรงข้ามกับทางรถไฟ

บ้านวังปาโท่นี้ ในแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 ของกรมแผนที่ทหารรุ่นเก่า เขียนชื่อว่าบ้านตำรองผาโท้ (เป็นภาษากะเหรี่ยงที่แปลว่าตลิ่งสูง) ชาวบ้านที่อยู่อาศัยเรียกว่า บ้านวังปาโท่ และก็มีผู้คนที่เรียกและเขียนป้ายว่า วังปลาโท้ ก็มี  วังผาโท่ ก็มีเช่นกัน   ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชื่อของสถานที่ต่างๆที่เกือบทั้งหมดที่มักจะจะบ่งชี้ถึงสภาพทางกายภาพหรือเรื่องราว ณ จุดนั้นๆ ถูกผันแปรออกไปเป็นชื่ออื่นๆที่ไม่สื่อความหมายถึงอะไรใดๆเลย 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 08 ก.พ. 19, 19:49

บ้านวังปาโท่นี้ตั้งอยู่บริเวณหัวคุ้งน้ำฝั่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ ตลิ่งของลำน้ำจึงมีสภาพเป็นหน้าผาตั้งชัน เป็นด้านของลำน้ำที่มีความลึก จึงมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาชนิดต่างๆ โดยเฉพาะปลาตัวใหญ่ๆ เช่น ปลาแข้ (แค้ แค่ จะสะกดเช่นใดถูกไม่รู้ครับ) ปลาคังตัวโตขนาดโคนขา ปลายี่สกตัวยาวประมาณ 1 เมตร  ปลาแมลงภู่ (ปลาแมงภู่หรือปลาขะโด ?)ตัวขนาดน่องของเรา รวมทั้งปลาตะโกกตัวขนาดท่อนแขน เป็นต้น

ก็ไม่น่าจะแปลกใจนักที่จะพบว่าบ้านวังปาโท่นี้เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการตั้งหน่วยทหารขนาดย่อม อาจจะเป็นที่ตั้งของพวกลาดตระเวณ หรือพวกด่านหน้าเฝ้าระวังในยุคที่ยังมีการรบระหว่างไทยกับพม่า   ซึ่งก็มีสิ่งที่พอจะสนับสนุนอยู่ คือพบว่ามีพื้นที่ๆมีหลุมเป็นวงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5+ เมตร ยกขอบสูงประมาณครึ่งเมตร ในหลุมนั้นก็พบสิ่งของที่ใช้ในทางการทหารหลายอย่างเลยทีเดียว 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.04 วินาที กับ 19 คำสั่ง