Wolffia Angusta รู้แต่ว่าเป็นพืชพันธุ์จิ๋วชนิดหนึ่งของโลกค่ะ ใครจะขยายความให้ ก็จะขอบคุณมาก
ไข่แหน หรือ ไข่น้ำ หรือ ไข่ขำ หรือ ผำ (Water Meal หรือ Swamp Algae; Wolffia angusta หรือ Wolffia arrhiza หรือ Wolffia globosa) ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นเบอร์หนึ่ง "ไข่น้ำ" เพราะเป็นพืชบ้านเราและมีประโยชน์มาก รอคุณพีช่วยขยายความ
มาช่วยคุณพีทำการบ้านค่ะ รูปนี้คือไข่เจียวผำ เครดิตพันทิป
ได้รับโจทย์การบ้านเรื่องไข่น้ำจากท่านอาจารย์ใหญ่ และจาก อ.เพ็ญชมพู ก็เข้าไปอ่านตามลายแทงที่กรุณาให้ไว้เป็นเบาะแส ดูเมนูไข่น้ำแล้วน่าจะอร่อย เช่น
คั่วไข่ผำ,
ไข่เจียวผำ เค้าว่ากรุบๆ จืดๆ มันๆ ไม่ขม น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสได้ชิมเลยครับ
ไข่ผำหรือไข่น้ำ
เป็นพืชน้ำ ลักษณะเป็นสีเขียวขนาดเล็กคล้ายไข่ปลา กระจายคลุมเหนือผิวน้ำเป็นแพ มีขึ้นอยู่ตามแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง เช่น บึง และหนองน้ำธรรมชาติทั่วไป โดยปกติจะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน เวลาเก็บไข่น้ำ ต้องใช้สวิงช้อนขึ้นมา แล้วล้างให้สะอาดก่อนจะนำไปปรุงทำอาหาร ไข่ผำเป็นพืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณสะดุดตากับประโยค "ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ" ก็เลยลองหาดูว่า อากู๋จะช่วยหาข้อมูลโบราณได้ไกลแค่ไหน น่าจะพอมีประวัติศาสตร์หรือตำนานคำบอกเล่าอะไรบันทึกเอาไว้บ้าง ดูเหมือนว่าเมืองโคราชจะมีข้อมูลอะไรบางอย่างที่ผูกพันกับคำว่าไข่น้ำเป็นพิเศษ
และพบการเผยแพร่้ข้อมูลการเพาะเลี้ยงจาก
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.นครราชสีมา (พืชสวน) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน่าจะมีองค์ความรู้หรือความสนใจในแวดวงวิชาการและคนท้องถิ่นอยู่มากพอสมควรครับ
จากการคุ้ยแคะหาข้อมูลเท่าที่พอจะหาได้ในตอนนี้ พบว่า มีการนำชื่อ "ไข่น้ำ" มาใช้เรียกชื่อหมู่บ้านหนึ่งใน จ.นครราชสีมา ประมาณ 120 ปี มาแล้ว คือ
หมู่บ้านหนองไข่น้ำ (ข้อมูลจาก:
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม) มีประวัติว่า เมื่อประมาณปี 2432 ได้มีชาวบ้านย้ายมาปลูกบ้านใกล้หนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งมีไข่น้ำเต็มไปหมด จึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า "หนองไข่น้ำ" ต่อมามีผู้คนย้ายตามเข้ามาเรื่อยๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านหนองไข่น้ำในที่สุด ส่วนที่ จ.เพชรบูรณ์ ก็มีประวัติการตั้งชื่อหมู่บ้านที่คล้ายคลึงกันครับ แต่เป็นช่วงเวลาประมาณ 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง นั่นก็คือ
หมู่บ้านหนองไข่น้ำ ซึ่งคนที่มาอยู่เป็นคนแรกก็มาจากโคราช (ข้อมูลจาก:
ความเป็นมาเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าอายุ 83 ปี) และยังมีอีกหลายแห่งที่มีการใช้ชื่อ "ไข่น้ำ" อาทิเช่น
ตำบลหนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี,
ตำบลหนองไข่น้ำ อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เป็นต้น
ในปัจจุบันแต่ละถิ่นก็จะเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น คนเหนือเรียก "ผำ" (เพชรบูรณ์่), ภาคกลางเรียก "ไข่น้ำ" (สระบุรี) ส่วนคนอีสานเรียก "ไข่ผำ" (นครราชสีมา) ยังไม่พบว่าคนใต้เค้าเีรียกว่าเช่นไรครับ

(ขายที่ตลาดใส่ถุงก๊อปแก๊ปมาเลย ภาพจาก
พันทิป)
ไข่น้ำจัดเป็นผักพื้นบ้านที่คนชนบทภาคเหนือและอีสานนิยมใช้เป็นอาหารมาเนิ่นนาน และมีโปรตีนสูงมากถึง 40% (ของน้ำหนักแห้ง) แต่มีสารพิษต้านฤทธิ์สารอาหาร ก่อนนำมารับประทานต้องปรุงให้สุกก่อน และยังมีข้อควรระวังในเรื่องสารเคมีที่เป็นอันตรายจากน้ำเสียสะสม อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้นจึงต้องล้างให้สะอาด (แช่ในด่างทับทิม) หรือถ้ามั่นใจในแหล่งที่มา ก็ให้ล้างในน้ำสะอาดตักใส่กระชอนหรือผ้าขาวหลายๆ รอบจนกว่าน้ำจะใส

(ล้างซ้ำจนน้ำใส ภาพจาก
พันทิป)
จากข้อมูลข้างต้นแสดงว่า ที่เมืองไทยรู้จักไข่น้ำกันมาเนิ่นนานนับร้อยปี อาจจะรับประทานเป็นเมนูอาหารขึ้นชื่อประจำท้องถิ่นก่อนได้ชื่อวิทยาศาสตร์เป็น
Wolffia globosa ซะอีก และในปัจจุบันก็ยังเพาะเลี้ยงใช้เป็นอาหารอยู่ อีกทั้งยังมีพ่อค้าหัวใสนำไปอัดเม็ดใส่แคปซูลจำหน่ายเป็นอาหารเสริมราคาแพงด้วย
สรรพคุณและประโยชน์ของไข่น้ำมีหลายประการ เป็นต้นว่า มีโปรตีนสูง มีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนสูงมาก ใช้บำบัดน้ำเสีย เป็นอาหารของคน/สัตว์น้ำ/สัตว์ปีก มีรายงานการวิจัยถึงฤทธิ์ เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รักษาอาการท้องผูก ฤทธิ์ต้านการติดเชื้อ ช่วยปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่างในคนที่มีสภาวะเครียด หรือร่างกายมีความเป็นกรดจากอาหาร และช่วยรักษาภาวะซีดในคนที่เป็นโรคโลหิตจาง ฯลฯ
รบกวน อ.เพ็ญชมพู ช่วยสอนวิธีค้นหาปีที่ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์
Wolffia globosa ให้หน่อยครับ จะได้เดาได้อย่างมั่นใจมากขึ้นครับ
