เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 22302 เมื่อสยามรับเสด็จกษัตริย์ฮาวายในสมัยรัชกาลที่๕
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 25 ก.ย. 13, 09:22

ก่อนถึงกาลล่มสลายของราชวงศ์ฮาวาย ในปี1881(๒๔๒๔) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ทรงเคยถวายการต้อนรับกษัตริย์ David Kalakaua ซึ่งทรงใช้คำว่ากิงกาลกวัว กษัตริย์องค์สุดท้ายของฮาวายก่อนที่จะเสด็จสวรรคตและพระขนิษฐาขึ้นครองราชย์สมบัติ กิงกาลกวัวเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ทรงตั้งพระทัยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วโลก นอกจากอเมริกาแล้ว ทรงมุ่งเยือนหลายประเทศทั้งในเอเซียและยุโรป เพื่อแสวงหาพันธมิตรที่จะประกันเอกราชของประเทศเล็กๆของพระองค์ ที่เสมือนแกะน้อยท่ามกลางสุนัขป่า

กิงกาลกวัวทรงใช้วัตถุประสงค์ในการพยายามเชื้อเชิญหาผู้ลงทุนนานาชาติ ที่จะนำแรงงานของตนเองจากหลายๆประเทศไปทำไร่อ้อยที่นั่น ไม่ให้ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกัน นำหน้าพระราชประสงค์แฝง สำหรับกษัตริย์ในเอเชียแล้ว จะทรงเผยความคิดในการเสนอพระองค์เป็นผู้วิ่งล็อบบี้ให้มีการจัดตั้งสันนิบาตเอเซียนขึ้นเพื่อคานอำนาจฝรั่ง โดยทรงทูลเชิญพระจักรพรรด์เมจิให้ญี่ปุ่นรับเป็นผู้นำ แต่ทรงได้รับการปฏิเสธโดยเหตุผลว่า เป็นไปไม่ได้เลย เพราะจีนจะไม่มีวันเข้าร่วมหากเห็นว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำ อย่างไรก็ดีกิงกาลกวัวก็ยังมิทรงยอมแพ้ การมาเยือนสยามก็เพิ่อจะมาหยั่งกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯในเรื่องดังกล่าวด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 09:27

กิงกาลกวัวเสด็จโดยเรือกลไฟเช่าเหมา ชื่อ Killarney มีคนไอริชเป็นกัปตันและลูกเรือเป็นคนจีนทั้งหมด หลังจากฮ่องกง ได้วิ่งข้ามทะเลจีนใต้เข้ามาในอ่าวไทย และทอดสมออยู่นอกสันดอนของแม่น้ำเจ้าพระยา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 09:39

โดยที่ฮาวายไม่ได้มีการสถาปนาทางการทูตกับสยาม รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงไม่ได้เตรียมถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการ ในเรื่องนี้นั้นเอกสารฝ่ายไทยกล่าวว่า
    
ตามที่ท่านกรมท่าได้ส่งจดหมายเรื่องกิงกาลกวัวมานั้น ทรงทราบแล้ว เรือเวสาตรีที่จะใช้ลงไปรับกิงนั้น รับสั่งถามพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์แล้วได้ความว่า เรือนั้นได้ลงไปราชการเมื่อวานซืน ยังยับเยินอยู่มาก กำลังซ่อมแซม ถ้าจะต้องมีเรือออกไปรับเสด็จกิงต้องเรือนฤเบนทร์บุตรี ซึ่งได้จัดไว้เมื่อคราวรับดุกออฟเยนัวครั้งก่อนเห็นจะเหมาะ แต่ท่านกรมท่าต้องเตรียมจัดโต๊ะเก้าอี้เสบียงอาหารให้พร้อม คนที่จะไปรับเสด็จกิง ถ้าเป็นเจ้านายควรเอาเจ้าปฤษฎางค์ไป ถ้าเป็นขุนนางให้พระยาพิพัฒกับขุนนางระดับพระหลวงในกรมท่าไปรับเสด็จ ส่วนทหารให้เอาจมื่นสุรฤทธิพฤฒิไกรไปเป็นผู้กำกับตลอด เมื่อรับเสด็จกิงขึ้นมาแล้วให้เชิญเสด็จมาพักที่วังกรมขุนเจริญ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์) ทีเดียว ไม่ต้องไปพักที่บ้านราชทูต  ส่วนสลุตให้ยิงในวันแรกเสด็จฯมาถึงเหมือนอย่างเยเนราลแกรนต์

แต่การยิงสลุตนั้น พระองค์ไม่โปรดให้ยิงที่ท่าขึ้น โปรดให้ยิงที่ป้อมหรือที่หน้าโรงทหารเพราะต้องผ่านอยู่แล้ว  ครั้นจะมายิงสลุตที่ท่าขึ้นวังกรมขุนเจริญทรงเกรงว่าจะค่ำไป  จึงได้ยิงสลุตรับที่ปากน้ำเมื่อเวลาเรือไทยไปรับเสด็จ  เมื่อถึงที่บางกอกไม่ต้องยิงอีก


วังของกรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ์ อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร มีวงเล็บว่า(วังใต้) แสดงว่ามีวังเหนืออยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วยหรือเปล่า ฝากคุณหนุ่มสยามช่วยคลายความกระจ่างด้วยครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 09:51

มาแยกซอยค่ะ
คุณวิกิอธิบายว่า
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์  เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์
ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ตรงกับวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2370  ได้ทรงกรมตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 คือโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์    ต่อมาในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ทรงกำกับมหาดเล็ก ช่างกระดาษ ช่างเขียนผู้หญิง และคลังพิมานอากาศ แล้วทรงเลื่อนเป็นกรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์
สิ้นพระชนม์เมื่อปีมะโรง ตรงกับวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2435 ในรัชกาลที่ 5 ด้วยพระชันษา 67 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2438

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ทรงเป็นต้นราชสกุล ชมพูนุท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ หม่อมเจ้าโสตถิผล และหม่อมเจ้าชนม์เจริญ ผู้ขอเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2459 เป็นสกุลอันดับที่ 3685 ตามประกาศวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2460

หมายเหตุ  วังของกรมขุนเจริญผลฯ น่าจะโอ่อ่าทันสมัยเอาการ   พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5   ถึงทรงเห็นว่าเป็นที่รับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินต่างชาติ ให้ทรงพักแรมได้  ห้องหับคงมีหลายห้อง   เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีข้าราชบริพารตามเสด็จมาอีกหลายคน อาจจะมีฝ่ายในด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 09:59

เมื่อเรือพระที่นั่งมาทอดสมอที่นอกสันดอน ข้าราชการกรมท่าที่ปากน้ำได้นำเรือลากจูงเข้าไปเทียบ คงจะเป็นเพราะการติดต่อประสานงานล่วงหน้าไม่ค่อยจะเรียบร้อย พระองค์จึงทรงขอติดเรือจะเข้าไปในเมืองด้วยเพื่อเสด็จต่อไปยังกรุงเทพฯ ครั้นเมื่อถึงด่านศุลกากรริมแม่น้ำ เรือ นฤเบนทร์บุตรีชักธงชาติสยามได้มาถึงพอดีแล้วโฉบเข้ามาใกล้ ให้กะลาสีตะโกนถามว่ากษัตริย์ซันดาวิศอยู่บนเรือหรือไม่ เมื่อทราบว่ากิงกาลกวัวประทับอยู่บนเรือลากจูงลำนั้นก็ได้เข้าเทียบข้าง แล้วผู้แทนพระองค์ทั้งห้าในเครื่องแบบขาวงามสง่า ก็ได้ลงไปเชิญเสด็จขึ้นเรือพระที่นั่ง ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยาม

หัวหน้าคณะผู้แทนพระองค์คือพระองค์เจ้าปฤศฎางค์ ระหว่างนั้นเพิ่งจะทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม ถือเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัวในช่วงนั้นทีเดียว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 10:36

จึงไม่แปลกที่กิงกาลกวัวจะทรงทึ่งพระทัย เมื่อได้ฟังการกราบบังคมทูลถวายการต้อนรับเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงผู้ดีอังกฤษแท้ๆ  และทรงได้รับทราบว่ากงสุลสยามในฮ่องกงได้มีหนังสือแจ้งมายังรัฐบาลแล้วว่า กษัตริย์ฮาวายได้รับการรับรองที่นั่นในฐานะพระราชอาคันตุกะของราชสำนักอังกฤษ ดังนั้นรัฐบาลจะถวายการรับรองพระองค์ให้ดีที่สุดตามพระราชประเพณีของสยาม

คณะของพระองค์ได้ขึ้นไปยังเรือพระที่นั่ง และถูกจัดให้นั่งบนดาดฟ้าใต้ประทุนผ้าใบเพื่อปกป้องความร้อนจากแดดที่รุนแรง หลังจากนั้นการเลี้ยงอาหารกลางวันแบบยุโรปก็ได้เริ่มขึ้นในเวลาอันไม่ช้า

ระหว่างเดินทางด้วยเครื่องจักรไอน้ำขึ้นไปยังเมืองหลวง บรรดาแขกเมืองได้แสดงความตื่นเต้นยินดีที่ได้เห็นต้นมะพร้าวที่ขึ้นอยู่ริมตลิ่ง เพราะทำให้คิดถึงฮาวายบ้านเกิด เมื่อเรือพระที่นั่งแล่นผ่านป้อมแห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำก็มีการยิงสลุตคำนับ
ครั้นมาถึงที่หมายแล้ว เรือไชยพระที่นั่งก็เข้าเทียบแทบจะในจังหวะเดียวกับที่เรือใหญ่ทิ้งสมอ พร้อมที่จะนำขบวนเสด็จไปขึ้นยังท่าเทียบริมฝั่งที่อยู่ใกล้ๆนั้น


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 11:08


วังของกรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ์ อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร มีวงเล็บว่า(วังใต้) แสดงว่ามีวังเหนืออยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วยหรือเปล่า ฝากคุณหนุ่มสยามช่วยคลายความกระจ่างด้วยครับ


การบ้านในการไขปัญหาเรื่องที่ตั้งวังเหนือ วังใต้บริเวณถนนเฟื้องนคร อันดับแรกจะหมุดจุดไว้ที่แผนที่พระนครก่อน เพื่อจะได้เข้าใจว่า ที่ตั้งวังอยุ่ถนนเฟื่องนครตรงนี้


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 11:15

วังถนนเฟื่องนคร(วังเหนือ) ของกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาลและวังถนนเฟื่องนคร(วังใต้) ของกรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ์

จะเห็นว่าวังใต้นั้นมีขนาดอาคารสิ่งก่อสร้างใหญ่กว่ามาก หันหน้าวังออกถนนเฟืองนคร หลังวังเป็นคลองคูเมืองเดิม


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 ก.ย. 13, 11:42 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 11:27

หากดูจากภาพร่วมสมัยสมัยรัชกาลที่ ๔ จะเห็นว่า วังควรอยู่บริเวณตำแหน่งที่ชี้ครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 11:37

ขอบคุณมาก หวังว่าเอกสารฝ่ายไทยกับพระราชบันทึกของกษัตริย์ฮาวายคงจะไม่ผิดกันนะครับ ลองอ่านต่อดู

เรือพายพระที่นั่งนี้ก็เป็นแบบขนบธรรมเนียมราชประเพณีไทยแท้ มีขนาดยี่สิบฝีพาย หลังคาทำด้วยผ้าไหม ตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยการปักลายดิ้นทอง เรือได้เข้าเทียบขนานไปกับท่าพอดีกับตำแหน่งที่ลาดพรมไว้ตั้งแต่ริมน้ำจนถึงถนนที่ใกล้กัน และเมื่อคณะเดินออกมาก็พบทหารเป็นจำนวนมาก ยืนระวังตรงอยู่ข้างแถวของขบวนรถม้าพระที่นั่ง พลขับแต่งกายด้วยเครื่องแบบสีแดงและสีทองมีแถบสีเหลือง หมวกทรงแข็งหุ้มด้วยผ้าไหม

รถม้าพร้อมกับกองทหารม้านำขบวน  ได้นำพระราชอาคันตุกะไปยังวังที่ประทับ ซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารชุดแบบพิเศษ ซึ่งมีเพดานสูงและเครื่องเรือนราคาแพง เจ้านายฝ่ายหน้าหลายพระองค์ได้ทรงรอต้อนรับอยู่ และตรัสกับแขกเมืองด้วยภาษาอังกฤษ แล้วทรงสั่งการให้พนักงานซึ่งคอยทีอยู่ราวกับกองทัพเล็กๆ นำทุกสิ่งที่แขกปรารถนามาสนองให้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 11:56

อาจจะเป็นด้วยความคิดถึงบ้าน สมาชิกของพระราชวงศ์บางองค์ได้แสดงความปรารถนาที่จะดื่มน้ำมะพร้าวอ่อน ที่เมื่อเข้ามาในวังได้ทรงเห็นต้นมะพร้าวปลูกเรียงรายอยู่บริเวณสนาม คนรับใช้ก็รีบวิ่งออกไปแล้วกลับมาหลังจากนั้นในไม่กี่นาที พร้อมกับน้ำมะพร้าวอ่อนสดๆจากต้น มาสนองแขกผู้มีเกียรติของพวกเขา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 13:09

วันถัดไป ขบวนรถม้าพระที่นั่งก็ได้กลับมาอีกเพื่อนำเสด็จพระราชอาคันตุกะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อถึงแล้ว กิงกาลกวัวได้เสด็จพระราชดำเนินนำคณะของพรองค์ไปบนพรมแดง เข้าสู่ภายในพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรอต้อนรับอยู่

พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสเป็นภาษาอังกฤษกับคนโน้นคนนี้ไปตลอดทางพระราชดำเนินผ่านห้องต่างๆไปยังท้องพระโรงที่อยู่ลึกเข้าไปในพระที่นั่ง ทุกห้องได้รับการตกแต่งภายในอย่างวิจิตรตามแบบยุโรปด้วยพรม โต๊ะและเก้าอี้ บนผนังห้องแขวนพระบรมสาทิศลักษณ์จำนวนมากของพระมหากษัตริย์ในอดีต
ทรงมีพระราชดำรัสอย่างยาวเกี่ยวกับภาษา การศึกษา แรงงาน ศาสนา และการต่างประเทศ ทั้งสองพระองค์ทรงได้เดินทางมาแล้วอย่างกว้างขวาง และทรงแลกเปลี่ยนทัศนะละอันพันละน้อยที่ทรงได้พบเห็นระหว่างที่ได้เยือนดินแดนในต่างประเทศ

กิงกาลกวัวทรงยกย่องวัดที่สวยงาม เจดีย์และพระปรางค์ที่ทรงเห็นในกรุงเทพ และแสดงความเสียพระทัยในเวลาเดียวกันที่คนของพระองค์ช่างไม่มีทักษะในการก่อสร้างอะไรเช่นนั้นบ้างเลย


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 13:51


พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสเป็นภาษาอังกฤษกับคนโน้นคนนี้ไปตลอดทางพระราชดำเนินผ่านห้องต่างๆไปยังท้องพระโรงที่อยู่ลึกเข้าไปในพระที่นั่ง ทุกห้องได้รับการตกแต่งภายในอย่างวิจิตรตามแบบยุโรปด้วยพรม โต๊ะและเก้าอี้ บนผนังห้องแขวนพระบรมสาทิศลักษณ์จำนวนมากของพระมหากษัตริย์ในอดีต



ขอเบรคอย่างแรงเรื่องสถานที่ท้องพระโรงเข้าเฝ้า  ยิงฟันยิ้ม

การมาถึงของกิงกาลกวัว นั้นล่องเรือมาขึ้นที่ศาลต่างประเทศ ท่าเตียนมีแตรวงรับ ๑๐๐ คน เมื่อปีมะเส็ง ศก ๑๒๔๓ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๒๔) และได้เข้าเฝ้า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันพฤหัส ขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๖ มีมะเส็งศก จศ. ๑๒๔๓ เจ้าพระยาภาณุวงศ์นำเสด็จเข้าประตูพรหม พระบาทสมเด็จ

พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงนำกิงกาลกวัวขึ้นบนพระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร เข้าไปที่ห้องน้ำเงิน เข้าเฝ้าอยู่ในที่นั่น ... และทรงไปส่งที่พระทวารชั้นล่าง แล้วเสด็จ

ขึ้นประทับที่พระที่นั่งเขียว และรับสั่งเรื่องกิงกาลกวัวและอื่น ๆ จนเกือบย่ำค่ำเสด็จขึ้น

ที่มา พระราชกิจรายวันฯ

ทั้งนี้การก่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทยังไม่แล้วเสร็จครับ จึงได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 14:21

เอี๊ยดๆๆๆๆๆๆๆๆๆด ด  ด    ด โครม

คร๊าบบบ เท่าที่ผมหาได้เป็นรูปพระที่นั่งจักรี คืออยากให้ชมกันพอเห็นบรรยากาศ ก็รูปภายในห้องที่เห็นพระบรมสาทิศลักษณ์ของอดีตพระมหากษัตริย์ถ่ายจากพระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬารนั้น จะไปหาได้ที่ไหน

รูปประกอบก็รูปประกอบน่ะครับ อย่าเอาจริงเอาจังนัก เอาสาระตรงตัวอักษรก็แล้วกัน ผมก็ไม่ได้หลุดไปเขียนว่าเป็นพระที่นั่งจักรีซะหน่อย

มิฉะนั้นจะมีผู้ประท้วงอีกว่า รูปมะพร้าวก็ไม่ใช่ รูปรถม้าก็ไม่ใช่คันนี้
เอ่อ อันไหนจริงจัง ผมได้ลงบรรยายไว้ในรูปด้วยแล้วเน้อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 25 ก.ย. 13, 14:32

ในขณะเดียวกัน อีกฉากหนึ่งนั้น เอกสารฝ่ายไทยบันทึกไว้ความว่า
 
ที่ท่านกรมท่าได้ส่งหนังสือว่ามร.คอซันจะขอตามลงไปรับเสด็จกิงกาลกวัวด้วย ได้ทรงทราบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับรองกันหรือเป็นธุรการงานในเวลาเข้ามา ไม่ทรงขัดขวาง ให้ลงไปรับได้ แต่ทรงเข้าใจว่า มร.คอซันคงจะไปกราบบังคมทูลให้กิงนั้นตั้งให้ตนเป็นกงสุลในกรุงเทพฯ  ซึ่งทรงมีความเห็นว่า การที่มร.คอซันตั้งใจจะเป็นกงสุลนั้น หาใช่เรื่องประโยชน์ในการค้าขายกับไทย แต่คงตั้งใจจะรับเอาพวกคนจีน คนแขก เป็นสัปเยกต์ฮาวาย กับตั้งศาลขึ้นในเมืองไทยขึ้น กลายเป็นผู้มีบุญในไทยอีกคนหนึ่ง ทรงพระดำริว่า จะเอาอย่างนั้นไม่ได้ด้วยกงสุลนั้นมีอำนาจมากเหลือเกิน พระองค์จึงได้มีพระราชหัตถเลขามาให้ท่านกรมท่าคิดหาทางพูดโต้ตอบให้สมควรแก่มร.คอซัน

เรื่องนี้แสดงว่า ในขณะที่วัตถุประสงค์ในการมาเยือนสยามของกิงกาลกวัวเป็นอย่างหนึ่ง แต่ฝรั่งชื่อนายคอสั้นผู้เป็นเจ้ากี้เจ้าการวิ่งติดต่อประสานงานกลับคิดอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ฝ่ายไทยเลยพลอยระแวงไปด้วยว่าประเทศแบบฮาวายนี้ จะมาไม้ไหนกับสยาม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 20 คำสั่ง