เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
อ่าน: 34460 ตามรอยการค้นพบ พระบรมสารีริกธาตุ ณ สถูป Piprahwa
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 19 ก.ย. 13, 20:25

อ้างถึง
13 กำลังดีครับ

สำหรับข้อความยาวๆที่ประสงค์จะให้อ่านเอาความ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 19 ก.ย. 13, 20:41

ดิฉันเข้าไปขยายค.ห.ของคุณเพ็ญชมพู จากฟ้อนท์ 11 เป็น 13 แล้วนะคะ   ไม่ทราบว่าหน้าจอของคุณ NAVARAT.C ฟ้อนท์ใหญ่พออ่านออกหรือยัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 09:19

เมื่อพิจารณาตามพระราชนิพนธ์  ก็แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงได้ทอดพระเนตรพระเขี้ยวแก้วแน่ ดังความในพระราชนิพนธ์ข้างต้นที่ผมอัญเชิญเฉพาะตอนที่เกี่ยวข้องมาให้อ่าน ส่วนฉบับเต็มท่านกลับไปคลิ๊กอ่านเองได้ ผมขอที่จะเว้นไว้

การเปิดพระธาตุให้คนดู

พระทันตธาตุนี้รักษาอยู่ในที่ซึ่งเรียกว่า ดาลาดามาลิกาวะ ณ เมืองแกนดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าอยู่ในท่ามกลางเกาะ วิหารที่เก็บนั้นไม่ใหญ่โตอันใด ตั้งอยู่ในกำแพงพระราชวัง ……

….เมื่อจะกล่าวถึงวิธีซึ่งเปิดพระทันตธาตุให้คนดูหรือนมัสการ ก็จะต้องข้ามเรื่องที่จะพรรณนาถึงเหตุการณ์เหล่านั้นเสีย กล่าวต่อไปว่า พระทันตธาตุนั้นร้อยอยู่ในห่วงลวดซึ่งปักอยู่ในกลางดอกอุบลทำด้วยทองคำ มีพระเจดีย์ครอบเป็นชั้น ๆ จนถึงชั้นในที่สุดเป็นกล่องประดับเพชรพลอยงามดี องค์นอกที่สุดมีสังวาลหลายอย่าง สังเกตได้แต่ว่าเป็นอย่างพม่านั้นสายหนึ่งสวมอยู่ สัณฐานพระทันตธาตุก็ไม่ผิดอันใดกับที่จำลองนัก แต่จะเป็นด้วยเก่า หรือด้วยจะเป็นสีดอกพิกุลแห้ง จึงได้มีสีคล้ำมัวเหมือนงาที่ทำเครื่องมืออันใช้เก่า ๆ แต่ไม่เป็นสีเดียวเสมอกัน ที่ซึ่งเก็บนั้นเป็นห้องไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูด้านเดียว มีประแจสามดอก ผู้ซึ่งรักษาซึ่งเรียกว่า ระเตมะหัตตะเมยะ ซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้ายาวยี่สิบเจ็ดวา เก็บดอกหนึ่ง พระเก็บสองดอก ในนั้นมีสิ่งอื่น ๆ ที่มีราคาหลายอย่าง แต่ยากที่จะเห็นได้ถนัด เพราะมืด ต้องจุดไฟ แลไม่จุดหลายดวงนัก ดูเหมือนเจ้าพนักงานผู้รักษาจะพอใจให้เป็นเช่นนั้นด้วย


เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ก็ย่อมจะตีความได้ว่า ทรงได้เห็นว่าพระทันตธาตุ ร้อยอยู่ในห่วงลวดซึ่งปักอยู่ในกลางดอกอุบลทำด้วยทองคำ สัณฐานพระทันตธาตุไม่ผิดกับองค์ที่จำลองนัก แต่จะเป็นด้วยเก่า หรือด้วยจะเป็นสีดอกพิกุลแห้ง จึงได้มีสีคล้ำมัวเหมือนงาที่ทำเครื่องมืออันใช้เก่าๆไม่เป็นสีเดียวเสมอกัน เพราะในห้องค่อนข้างจะมืด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 09:28

การที่จะบูชาด้วยประทีปย่อมไม่เป็นที่ต้องใจของผู้รักษา ข้าพเจ้าได้เห็นหนังสือเขียนด้วยลานทองสองผูก ผูกหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ส่งไปแต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงสยาม หนึ่งร้อยห้าสิบปีเศษมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้พลิกดู ร้อยลานกลับต้นเป็นปลาย เขียนด้วยอักษรขอม ขึ้นต้นเป็นวิธีอุปสมบท แล้วกฐิน ผูกแลถอนสีมา ข้างปลายมีบานแพนก เขียนแปลร้อยได้คำที่จารึกนั้นมา ศักราชลงว่า๑๐๐๐๕ ถ้าจะเข้าใจโดยคำว่า พันห้า ก็เป็นก่อนเวลาแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ แลทั้งสังเกตดูถ้อยคำในนั้นประกอบด้วยรูปตัวอักษรเห็นเป็นหนังสือขอมที่เขมรเขียน หาใช่ไปจากกรุงสยามไม่ อีกผูกหนึ่งนั้นไม่ได้ดู ด้วยผู้รักษาหวงแหนเหลือเกินราวกับว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะวิ่งราวไปจากที่นั้น ยังมีพระแก้วอีกองค์หนึ่งซึ่งหน้าตักประมาณสักสี่นิ้ว สังเกตดู ไม่ใช่ฝีมือลังกา สีคล้ายมรกต ส่องโปร่ง มีที่ชำรุดบ้าง จะสังเกตว่าเป็นเนื้อศิลาหรืออันใดก็ยาก ด้วยสว่างไม่พอ แลเขาไม่สู้จะให้ดูนานนัก คนก็เข้าเต็มแน่น ถ้าผู้ใดขืนอยู่ช้าก็อาจจะเป็นลมได้ ด้วยต้องการลมสำหรับหายใจ ข้าพเจ้าได้คัดคำบานแพนกในคัมภีร์นั้นมาลงไว้ในที่นี้ด้วย เห็นว่า การที่คัดนั้นมิใช่ง่าย ต้องทำทุกรกิริยาเป็นอันมาก

ทรงมีพระราชปรารภว่า ผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าวหวงแหนสิ่งของที่นั่นมากแม้แต่กับพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์พุทธมามกะพระองค์เดียวในโลก นอกจากแสงไม่พอแล้ว วันนั้นก็ให้คนเข้ามาเต็มไปหมดจนแทบไม่มีอากาศจะหายใจ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 09:33

การที่จะเปิดพระทันตธาตุให้คนดูเป็นการเปิดเผยนั้น นาน ๆ มีครั้งหนึ่ง ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินลังกายังมีอยู่ เปิดครั้งหลังที่สุดแผ่นดินพระเจ้ากีรติศรี ในราวพุทธศักราช ๒๓๑๘ จุลศักราช ๑๑๓๗ เป็นปีที่พระอุบาลีเถระกับราชทูตกรุงสยามตามคำเชื้อเชิญของพระเจ้ากีรติศรีให้ไปสืบศาสนวงศ์ในเมืองลังกา เพราะเวลานั้น พระสงฆ์ในเมืองลังกาสาบสูญสิ้นไป พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงได้ทรงจัดพระสงฆ์สิบรูป กับทูตานุทูต ให้เชิญพระพุทธรูป พระธรรม แลพระราชสาส์นออกไป ซึ่งจดหมายระยะทางของราชทูต แลวิธีซึ่งเชิญพระทันตธาตุออกให้ราษฎรดูอย่างไร ยังมีอยู่ในห้องอาลักษณ์ แลได้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ แต่จะเป็นฉบับใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ ต่อมาอีก มีครั้งหนึ่งเมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๑ จุลศักราช ๑๑๙๐ แลเมื่อไม่กี่ปีนี้อีกครั้งหนึ่ง การที่เปิดให้คนดูเช่นนี้ เพื่อประสงค์จะได้เงินปฏิสังขรณ์ที่วิหารพระทันตธาตุ ชนชาวสิงหลทั้งปวงย่อมพากันแตกตื่นไปนมัสการแลเข้าเรี่ยไรทั่วทั้งสกลลังกาทวีป
ในระหว่างซึ่งมิได้มีการเปิดให้คนนมัสการมากเช่นนั้น ย่อมเปิดให้ผู้มีบรรดาศักดิ์ต่างประเทศสำคัญ ๆ ดูบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่โดยปรกติที่เปิดให้ชาวลังกาบูชานั้น เป็นแต่ไปนมัสการภายนอก หาได้เห็นองค์พระทันตธาตุไม่


ทรงหมายความว่า น้อยครั้งมากที่เขาจะเปิดให้คนทั่วไปได้เห็นองค์จริง นอกจากบุคคลสำคัญชาวต่างชาติ อย่างภาพที่ผมหาเจอจากเวป เป็นภาพลายเส้นขณะที่ปรินซ์ออฟเวลส์แห่งสหราชอาณาจักรกำลังทอดพระเนตรพระเขี้ยวแก้วตามที่พระสงฆ์ที่นั่นเปิดถวาย

ตรงนี้ผมเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯคงได้ทอดพระเนตรในลักษณะเช่นเดียวกัน แต่ท่ามกลางแสงที่ไม่พอ ทำให้ไม่ชัดไม่อาจขจัดข้อสงสัยที่ค้างคาพระทัยมานาน และทรงตั้งความปรารถนาที่จะต้องรอนแรมมาพิสูจน์ทราบด้วยพระองค์เองได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 09:36

เมื่อจะกล่าวตามคนต่างประเทศเขากล่าว ที่เขาได้พิจารณาวาดเขียนจำลองถ้วนถี่ เขาว่า ทำด้วยงาช้างซึ่งเสียสี เป็นของพระเจ้าวิกรมพาหุคิดทำขึ้น ไม่เป็นสัณฐานพันธุ์มนุษย์ เพราะสิ่งที่จริงแท้นั้น โปรตุเกสได้ทำลายเสียที่เมืองคัวดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า เห็นว่า ถึงพระทันตธาตุซึ่งว่าโปรตุเกสทำลายเสียนั้นจะเชื่อว่าแท้ก็ไม่ได้ ด้วยพาไปซ่อนเร้นหมกฝังเสียเป็นหลายครั้งมาแล้ว

ตรงนี้ทรงสรุปที่คนอื่นแสดงความเห็นเมื่อพิจารณาจากภาพวาด แต่ส่วนพระองค์เองนั้น ทรงมีความเห็นแตกต่างกันออกไป แต่มิได้ทรงพระอักษรไว้เป็นหลักฐานต่อสาธารณชนโดยทั่วไป

แต่จะอย่างไรนั้น ขอให้ติดตามอ่านต่อไป
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 09:46

เทศกาลแห่พระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี โคลัมโบ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 10:10

ผมหมดปัญญา ยังหาเอกสารต้นฉบับของไทยไม่เจอ จึงเข้าไปหาในเวปด้วยภาษาอังกฤษ พบหนังสือ Locations of Buddhism: Colonialism and Modernity in Sri Lanka โดย Anne M. Blackburn ดังแสดงใต้คคห.นี้ ผมถอดเอาความมาเฉพาะที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

วันรุ่งขึ้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปที่พระราชวังเก่าอันเป็นที่ประดิษฐานของพระทันตธาตุ ณ ที่นั้นทรงถามคำถามผู้ซึ่งรักษา(เรียกว่า ระเตมะหัตตะเมยะ ซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้ายาวยี่สิบเจ็ดวา)คงจะไม่ทันคาดคิดว่า ถ้าพระองค์จะอัญเชิญขึ้นมาบนพระหัตถ์จะได้ไหม เขาได้ทูลปฏิเสธเพราะคิดว่าเหนืออำนาจของตนจะอนุญาตได้ ผลก็คือ พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินกลับทันทีพร้อมกับเครื่องบูชาที่เตรียมมาพระราชทาน แม้กระทั่งทรงคืนสิ่งของที่พระสงฆ์ลังกาถวายแด่พระองค์ด้วย เรื่องนี้ทางการอาณานิคมอังกฤษได้สั่งสอบสวนด่วน และมีรายงานว่าเป็นความบกพร่องของล่ามผู้รับผิดชอบที่ได้สร้างความเข้าใจผิด ทำให้เกิดเรื่องฉกรรจ์กระทบต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม

ในพระราชหัตถเลขาถึงพระนางเจ้า พระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวโทษว่าพระสงฆ์ที่นั่นไร้มารยาทและมิได้ถวายพระเกียรติเท่าที่ควร และยังทรงแสดงความกังขาว่าจะไม่ใช่พระทันตธาตุแท้ พระราชหัตถเลขาอีกฉบับได้ทรงมีไปยังเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ(โรลัง ยัคมินส์) ซึ่งปรากฏอยู่ในอนุทินของที่ปรึกษาชาวเบลเยียมของกระทรวงยุติธรรมคนหนึ่ง ซึ่งบันทึกว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมั่นใจในข้อสงสัยของพระองค์ว่าจะเป็นฟันของจระเข้

ฝรั่งไม่ได้บันทึกถึงสภาพการณ์ที่ทางวัดปล่อยให้คนเข้ามาแน่น อึดอัด และแสงสว่างไม่พอเพียง และผู้มีอำนาจปล่อยให้ทรงต้องเจรจากับบุคคลระดับความรับผิดชอบแค่ยามรักษาการณ์ แต่ในบทความที่ผมเคยอ่าน ทรงบ่นกับสมเด็จพระนางเจ้ามากกว่าที่ผมนำมาวิเคราะห์นี้มาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 10:56

อีกสำนวนหนึ่งนั้นมีผู้เขียนว่า
 
King Chulalongkorn visited Ceylon on the 19th April, 1897, while he was sailing for England. He had brought many valuable offerings for the Tooth Relic, and when he visited Kandy the relic was exhibited to him. The king wanted to be blessed by the relic by taking it in his own hands, which the guardians of the Temple refused to allow. The king became exasperated and sent back all offerings to the Queen's Hotel, Kandy, where he had taken lodgings. Again he visited Ceylon on the 20th November of the same year, on
his return home, but this time he spent the night in the steamer itself.


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จเยือนซีลอนในวันที่๑๙เมษายน๑๘๙๗ ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปอังกฤษ ทรงนำของพระราชทานอันมีค่าหลายอย่างมาถวายบูชาพระทันตธาตุ เมื่อมาถึงแคนดีนั้น เมื่อพระทันตธาตุได้ถูกนำมาถวายให้ทอดพระเนตร พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญขึ้นมาบนพระหัตถ์เพื่อความเป็นศิริมงคล แต่ผู้รักษาของวัดไม่ยินยอม พระองค์ทรงกริ้วและให้นำของที่เตรียมมากลับไปควีนส์โฮเตลในแคนดีซึ่งทรงพำนักอยู่ อีกครั้งหนึ่งที่เสด็จผ่านซีลอนในขาเสด็จกลับเมื่อวันที่๒๐ เดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน คราวนี้ทรงประทับค้างคืนวันนั้นบนเรือพระที่นั่ง

เช่นเดียวกับตรงนี้แหละ ที่มีผู้สันนิฐานว่ายังคงทรงเคืองคนที่นั่นไม่หาย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 15:25

สรุปว่าได้ทอดพระเนตรเห็นพระเขี้ยวแก้ว ท่ามกลางแสงสลัวและผู้คนแออัดยัดเยียด (แสดงว่าไม่มีการจัดเวลาพิเศษให้พระองค์ท่านเสด็จเฉพาะส่วนพระองค์) เมื่อมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญมาวางบนพระหัตถ์ คนเฝ้าสถานที่ก็ไม่ยอม ทั้งๆตอนนั้นก็น่าจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายลังกาตามเสด็จด้วยหลายคน จึงกริ้ว

พระเขี้ยวแก้วเท่าที่ทอดพระเนตรเห็นคงมีรูปพรรณสัณฐานที่ก่อความแคลงพระทัยให้มาก จึงมีพระราชประสงค์จะนำมาวางบนพระหัตถ์เพื่อดูให้ถนัด พระราชปรารภต่อเจ้าพระยาอภัยราชาคงจะตรงกับความสงสัยในพระทัยว่าสิ่งนี้ไม่ใช่รูปจำลอง  แต่เป็นอะไรอีกอย่างเช่นฟันจระเข้ แต่จะพูดให้เอิกเกริกไปก็ไม่ดีจึงทรงระบายกับฝรั่ง คนไทยไม่มีโอกาสรู้เรื่องนี้ ถ้าไม่รั่วออกมาเพราะลูกน้องของท่านเจ้าคุณได้เห็น แล้วบันทึกไว้เป็นส่วนตัว ลูกหลานเอามาเล่าต่ออีกทีภายหลังจนมีคนนำไปเขียนหนังสือ

ก็น่าเห็นใจว่าชาวสยามรวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ คงช็อคกันแน่ๆถ้าได้ยินพระราชปรารภ แต่ดิฉันก็สงสัยว่าหนึ่งในฝ่ายไทยที่พระองค์อาจเล่าพระราชทานคือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ แต่เมื่อฟังแล้ว สมเด็จก็คงเก็บเงียบไม่เขียนไม่บันทึก คงไม่ได้เล่าประทานท่านหญิงพูนฟังด้วย เพราะเป็นถ้อยคำฉกาจฉกรรจ์นัก

ดิฉันเห็นว่าส่วนที่กริ้วน่าจะมีสาเหตุมากกว่าหนึ่ง  คือกริ้วผู้เฝ้าสถานที่ที่ไม่ให้ความสำคัญกับพระองค์  สอง ทรงผิดหวังกับพระบรมสารีริกธาตุที่เห็นว่าไม่ชวนน่าเลื่อมใสเอาเสียเลย ถ้าหากว่าพระธาตุงดงามมากตามที่บรรยายไว้ในพระไตรปิฎก แม้เห็นระยะไกลและไม่พอพระทัยที่ไม่มีโอกาสเห็นใกล้ๆ ก็น่าจะบรรยายความงามในระยะไกลที่ทรงเห็น ด้วยความโสมนัสในส่วนนี้

ข้อนี้ทำให้นึกว่า พระธาตุทั้งหลายที่เขาแจกจ่ายกันตามวัด และตามบ้านจะเป็นแบบเดียวกัน มีบางคนบอกด้วยว่าพระธาตุเสด็จมาเอง  เพิ่มจำนวนได้ด้วย

แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่ ปาฎิหาริย์ที่พระปฐมเจดีย์ จะอธิบายด้วยเหตุผลอื่นได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 18:49

ในพระราชหัตถเลขาถึงพระนางเจ้า พระเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวโทษว่าพระสงฆ์ที่นั่นไร้มารยาทและมิได้ถวายพระเกียรติเท่าที่ควร และยังทรงแสดงความกังขาว่าจะไม่ใช่พระทันตธาตุแท้ พระราชหัตถเลขาอีกฉบับได้ทรงมีไปยังเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ(โรลัง ยัคมินส์) ซึ่งปรากฏอยู่ในอนุทินของที่ปรึกษาชาวเบลเยียมของกระทรวงยุติธรรมคนหนึ่ง ซึ่งบันทึกว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมั่นใจในข้อสงสัยของพระองค์ว่าจะเป็นฟันของจระเข้

ฝรั่งไม่ได้บันทึกถึงสภาพการณ์ที่ทางวัดปล่อยให้คนเข้ามาแน่น อึดอัด และแสงสว่างไม่พอเพียง และผู้มีอำนาจปล่อยให้ทรงต้องเจรจากับบุคคลระดับความรับผิดชอบแค่ยามรักษาการณ์ แต่ในบทความที่ผมเคยอ่าน ทรงบ่นกับสมเด็จพระนางเจ้ามากกว่าที่ผมนำมาวิเคราะห์นี้มาก


พระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  คัดเฉพาะส่วนเหตุการณ์วุ่นวายครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปที่วัดพระทันตธาตุ

วันที่ ๒๑ เมษายน ร.ศ.๑๑๖  

....... ตาพระอีกองค์หนึ่งเอาคัมภีร์กรากเข้ามาให้ คราวนี้ฉันเลยไม่มีตัว ไม่รู้ใครเอาอะไรมาให้และส่งอะไรไปให้ใคร มันหนุบ ๆ หนับ ๆ ไปไม่มีอะไรจะเหมือนแย่งลูกมะนาวใต้ต้นกัลปพฤกษ์ บางคนฉันเข้าใจว่าแกไม่ได้ตั้งใจ ตีนไม่ถึงพื้นมันลอยเข้ามาก็มา ตาที่อ่านก็ค้ำกันเรื่อยไปทั้งสองคน ท่านพวกที่อยู่นอกสังเวียนก็สวดกันเรื่อยไป เหมือนวิวาทกันมากกว่าอื่น ฉันเดินพลางขอบใจพลาง ใครก็ไม่รู้เป็นล่ามตะโกนแปล และไม่เห็นหน้าเห็นตา ถ้าแม่เล็กไปก็เป็นลมอยู่ที่นั่นเอง มันชั่งชั่วชาติประดาเสีย ขึ้นกระไดแคบ ๆ ไปอีกชั้นหนึ่งจึงถึงชั้นบนที่ห้องพระทันตธาตุ ในนั้นจุดไฟดวงเล็กไว้สัก ๓ ดวง หรือ ๔ ดวง หน้าต่างก็ไม่มี ตั้งใจจะให้มืดทีเดียว พวกฝรั่งทั้งผู้ชายผู้หญิงดันเข้าไปก็หลายคน พระก็หลาย ตาท้องโตคนหนึ่งกินที่เท่า ๓ คน แกเข้าไปถึง ๘ คนคนเราเข้าไปได้สองสามคน นอกนั้นเบียดขลักกันอยู่ข้างนอก   ฉันจุดเทียนรุ่งสองเล่มจะหาอะไรปักก็ไม่มี จะติดกับโต๊ะก็ดูเหมือนแกไม่ตั้งใจ กลัวจะสว่างไป เขารื้อพระเจดีย์เอามาใส่ไว้ในครอบแก้ว แล้วพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้นจะย่อมกว่าพระเจดีย์ที่วับวรนิเวศน์ไม่มากนัก กาไหล่ทองมีสังวาลพม่าบ้าง อะไรอีกบ้างดูไม่ทันและไม่ใคร่เห็นถนัด คล้องอยู่เป็นพวงใหญ่ ดูเหมือนมีพลอยดี ๆ มาก องค์รอง ๆ ลงมาดูก็ไม่ใคร่ถนัด พวกท้องโตบ้างพระบ้างเดินยุ่ม ๆ ย่าม ๆ เหมือนจะกลัวเราแกะเพชรและพลอย หรือขโมยใส่กระเป๋า เขาหยิบมาให้ดูองค์ในประดับเพชรและทับทิม มีลุ้งประดับประดาเพชรพลอยอีกชั้นหนึ่ง กับเอาพระแก้วสีเป็นมรกตจริง ๆ น่าตักสัก ๔ นิ้วส่งมาให้ดู ไม่ทันเห้นว่าจริงหรือปลอมมันรับเอาไปเสียแล้ว คัมภีร์ลานทองสองผูกที่กรมดำรง (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ว่าเป็นของพระบรมโกศนั้น ได้ดูผูกหนึ่งที่เป้นหนังสือขอม เป็นวิธีอุปสมบทกฐินเดาะ ผูกสีมา ซึ่งไม่ประหลาดอันใด แต่พลิกดูให้ตลอดก็ไม่ได้ มันแน่นกันเหมือนปลาเซดินในหีบ เหงื่อไหลแต่กลางขม่อมจนส้นตีน ให้กรมสมมติคัดบานพแนก จะขอเอาไปคัดนอกห้อง มันก็ไม่ยอมว่าไม่มีธรรมเนียม ฉันก็พื้น ว่ากะของเท่านี้ข้อจะขโมยทีเดียวหรือ

ในขณะนั้นฉันพิจารณาดูพระเขี้ยวแก้ว รูปร่างก็อ้ายดุ้น ๆ นั้นแล แต่ที่ตากุดาลังกาเห็นจะเล็กกว่า และงามไปกว่าหน่อย แล้วไม่สกปรกเหมือนด้วย จะว่าเป็นงาเก่า ๆ ด้ามแปรงปิดทองพระก็งามไปกว่า สีแดงเปื้อน ๆ จะทำให้เป็นฟันคนแก่สกปรก หรือจะให้เป็นเก่าก็ไม่ทราบ ทำนองก็จะให้เป็นสีดอกพิกุลแห้ง แต่ไม่เสมอกัน บางแห่งหนาบางแห่งบาง   ฉันว่ายอมให้ฉันจับได้หรือไม่ บอกว่าไม่มีธรรมเนียมไม่เคยยอมให้ใครจับเลย ฉันว่าประหลาดแล้วในโลกนี้ ออกมาอย่างไรเล่าใน พระเจดีย์เข้าไปอยู่ในครอบแก้ว ก็ตอบว่าจับได้แต่พระที่เป็นเกาวนาเป็นผู้ปกครอง

ฉันว่าพระเป็นแต่เกาวนา ข้าเป็นเจ้าแผ่นดิน ถือพระพุทธศาสนา ในเมืองข้าเช่นพระแก้วมรกตไม่มีใครจับ ข้าเป็นผู้จับได้ ข้าดีกว่าผู้รักษาอีก  เขาว่าผู้รักษาจับ ก็จับด้วยผ้าไม่ได้จับด้วยมือเปล่า ฉันวาเจ้าจะพูดอะไรมากไป พี่น้องข้าบ่าวข้าที่มีเดี๋ยวนี้ ชี้หลวงสุนทรและมหามทลิย เป็นคริสเตียนก็เคยจับ ข้าอยากลองดู เจ้าไม่ให้จับข้าก็ไม่จับกับของพันนี้

พระพุทธเจ้าไม่ได้ซ่อนพระองค์ไม่ให้ผู้ใดเข้าถึง พระธรรมของท่านเปิดเผยแก่คนที่หวังจะประพฤติตาม ไม่มีสิ่งใดปิดบังซ่อนเร้น เรามาบัดนี้เพื่อจะบูชาสิ่งนี้ ก็เฉพาะต่อองค์พระพุทธเจ้า เราหาได้มุ่งจะบูชาสิ่งที่ต่างพระองค์ไม่ เมื่อเจ้าห้ามข้าด้วยความดูถูกดังนี้ ข้าก็ไม่บูชาพระพุทธเจ้าในที่นี้ ข้าจะบูชาที่อื่นได้ถมไป   ฉันสั่งให้ขนเครื่องบูชากลับ และให้คืนของที่พระให้มาทั้งหมด และสั่งให้คนที่ไปด้วยให้เข้าไปดูเสียทุกคน ฉันออกมาหายใจที่เฉลียง พอคนดูทั่วกัน แล้วก็ลงมาขึ้นรถกลับ อ้ายพวกนั้นตะลึงกันไป ไม่มีใครติดตามว่ากล่าวอันใด...........................

อันที่จริงฉันก็ได้คิดเสียก่อนที่จะกริ้วแล้ว ขออย่าให้แม่เล็กตกใจว่าฉันแผลงฤทธิ์ เห็นว่าไม่กริ้วไม่ได้ คนเป็นกองเสียพระเกียรติยศ และในการที่จะให้เงินให้น้อยก็ไม่ได้ ให้มากก็งุ่มง่ามถึงจะไม่เชื่อก็ต้องเป็นเชื่อ อายพวกฝรั่งมันหัวเราะเยาะเจ้าแผ่นดินมอญ (พระองค์หมายถึง พระเจ้าบุเรงนอง) ถูกลังกามันเมกเสียยับ ยังเป็นที่หัวเราะกันอยู่ทุกวันนี้ ฉันจะแปลเรื่องย่อ ๆ ส่งมาให้ อยากให้ตีพิมพ์ในวชิรญาณ หรือจะลงธรรมจักษุอยากให้พระได้อ่านด้วย กลัวจะไม่ใคร่มีใครอ่านหนังสือนั้นสองฉบับ ............

 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 18:55

อีกฉบับหนึ่ง

พระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

เรือพระทั่งมหาจักรี ในมัชฌันตรวิถี ทะเลอาหรับ วันที่ ๒๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๖

กราบทูลกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

ด้วยการที่หม่อมฉันออกมาครั้งนี้ ที่แห่งใด ๆ ก็นับว่าเป็นเรียบร้อย เว้นไว้แต่ที่มาลิกาวะ วัดพระทัตธาตุ หม่อมฉันไปชวนวิวาทกันขึ้นกับผู้รักษา อันที่จริงไม่ได้เป็นไปโดยลุอำนาจแก่โทษา ได้คิดก่อนแล้วจึงได้วิวาท เหตุการณ์ที่ขอจับต้องพระทันตธาตุนั้น ไม่เป็นการประหลาดอันใด มีผู้เคยจับต้องเป็นอันมากคนที่มาด้วยกับหม่อมฉัน เช่นเจ้าหมื่นเสมอใจ หลวงสุนทรโกษา และมหามุทลิย ซึ่งเป็นคนนับถือศาสนาพระเยซู หากแต่เพียงมาด้วยเจ้านายของเราก็ได้จับ   ความจริงไม่มีผู้ใดทั้งฝรั่งแลลังกาที่ได้คิดสักคนหนึ่ง ว่าจะเกิดขัดขวางดังนั้น เจ้าเมืองเองได้บอกแก่หม่อมฉันว่า เพราะคิดเห็นเสียว่าหม่อมฉันเป็นคนถือพุทธศาสนา คงจะเข้าออกกันได้สนิทสนมกับพวกนั้น เพื่อจะเปิดช่องให้พวกข้าราชการได้เข้าไปมาก จึงมิได้เข้าไปในห้องนั้นด้วย หาไม่การอันนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

พิเคราะห์ดูตามอาการกิริยาแลคำที่ออกตัวภายหลัง ก็เป็นอันจะโก่งราคาให้สูง คือจะบอกให้เห็นว่าอนุญาตให้จับโดยความนับถืออย่างยิ่ง ไม่ได้อนุญาตแก่ผู้อื่นเลยแต่การอันนั้นไม่เป็นความจริง แลประกอบด้วยกิริยาอันหยาบคายของหัวหน้าผู้รักษา ให้ปรากฏว่าคำตอบนั้นไม่สู้เป็นการเคารพแลล่อลวง ซึ่งเป็นสันดานแห่งชาวลังกาอันจะได้เห็นในหนังสือที่หม่อมฉันเรียงมาสำหรับลงวชิรญาณวิเศษและธรรมจักษุนั้นแล้ว ว่าตามความจริง เจดีย์ฐานอันนี้ ไม่เป็นเครื่องที่ก่อเกิดความยินดีเลื่อมใส เพราะเห็นเป็นการล่อลวงติดอยู่ในนั้น ถ้าหากเราจะเข้าเรี่ยรายเล็กน้อยก็จะไม่สมควรแก่ที่เขาเป็นที่นับถือกัน ถ้าจะออกมากก็ให้นึกละอายใจ ว่าจะเป็นผู้หลงใหลไปตามแลดูก็จะไม่เป็นประโยชน์อันใด และไม่เป็นเกียรติยศอันใด ทั้งฝ่ายศาสนาและฝ่ายพระราชอาณาจักร จึงไม่รับเชื้อเชิญ ที่จะไปดูอีกในภายหลัง ..........
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 19:00

ในพ.ศ. ๒๔๓๔ สมเด้จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จไปเยือนลังกาทวีป ทรงพระนิพนธ์เรื่อง ไปลังกาทวีป ทรงมีพระมติว่า

ที่ข้าพเจ้าได้ไปแลเห็น แลนมัสการพระเขี้ยวแก้วฉะนี้ ถ้าจะไม่พรรณนาถึงพระเขี้ยวแก้วไว้สักหน่อยก็จะขาดความไป  พระทาฒะธาตุนี้สีสันนั้นสีเหลือง ๆ มีคราบจับ เห็นได้ว่าเป็นของโบราณแท้  แต่เมื่อพิเคราะห์ดูรูปสัณฐานเห็นว่าถ้าพระทาฒะธาตุนี้เป็นพระเขี้ยวในสรีรกายของพระพุทธองค์แล้ว พระพุทธเจ้าคงสูงใหญ่ราว ๔ ศอกของสามัญชน... อีกประการหนึ่งพระเขี้ยวของพระพุทธองค์ผิดกับเขี้ยวของสามัญมนุษย์ เพราะรูปไม่เหมือนกับเขี้ยวของคนตามธรรมดาเลย  ความจริงจะเป็นฉันใด ข้อความเหล่านี้ก็มีหนังสือแก้ไข แล้วแต่จะเลือกลงเนื้อเชื่อใจ เมื่อว่าที่แท้แล้วพระพุทธศาสนามิได้อยู่ที่วัตถุและเจดียฐานอันใด อาศัยใจเป็นใหญ่ ถ้าใจชั่วแล้ว พระเขี้ยวแก้วสักแปดหมื่นสี่พันก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ข้อมูลทั้งหมดจาก เว็บพิณประภา

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 19:20

เรื่องความสามารถในการหาข้อมูลในเน็ท ในยุทธจักรนี้เห็นไม่มีใครจะเกินคุณเพ็ญชมพูไปได้ ต้องขอบคุณยิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ได้รับการเติมเต็มในทุกมุมมอง อ่านแล้วก็นึกสรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ในพระอารมณ์ขันที่ทรงเขียนเล่าเหตุการณ์ที่แย่ๆอย่างนั้นให้ออกในแนวตลกได้

ที่โดนใจผมมากที่สุดอยู่ที่ทรงเขียนว่า อันที่จริงฉันก็ได้คิดเสียก่อนที่จะกริ้วแล้ว ขออย่าให้แม่เล็กตกใจว่าฉันแผลงฤทธิ์ ตรงนี้แสดงว่าทรงมีพระสติรักษาพระองค์ตลอดเวลา สมเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มากพระบารมีโดยแท้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 20 ก.ย. 13, 19:53

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง