เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 34316 ตามรอยการค้นพบ พระบรมสารีริกธาตุ ณ สถูป Piprahwa
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 12:38

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จไปยุโรปครั้งแรกนั้น เรือพระที่นั่งได้เทียบท่าที่โคลัมโบ เมืองซีลอนของอังกฤษ ทรงมีพระราชประสงค์จะได้ทอดพระเนตรพระเขี้ยวแก้วที่ร่ำลือกันในตำนานมาก ข้าหลวงอังกฤษที่นั่นก็รับปากจะติดต่อทางวัดให้จัดถวายอำนวยความสะดวก จึงทรงมีพระราชอุสาหะพระราชดำเนินไปถึงเมืองแคนดี้ซึ่งห่างไกลจากโคลัมโบมากพอควร แต่ไปถึงแล้วเจ้าอาวาสที่นั่นกลับเล่นตัว จัดให้ทอดพระเนตรแต่ภายนอก ไม่เปิดพระสถูปให้ดูองค์พระทาฐุธาตุภายใน ใครจะอ้อนวอนอย่างไรก็หายอมไม่ จึงทรงพระพิโรธเสด็จกลับโดยไม่ได้พระราชทานสิ่งของที่เตรียมไปถวายเป็นพุทธบูชา
 
คนอ่านความตามพระราชบันทึกก็อารมณ์ค้างตาม เลยไม่ได้รู้กันว่าพระเขี้ยวแก้วมีลักษณะเป็นแท่งอัญมณี หรือเป็นพระทันตธาตุจริงๆตามแบบของมนุษย์ทั่วไป
อย่างไรก็ดี คนอ่านกระทู้นี้ก็ไม่ต้องอารมณ์ค้าง เพราะผมหาภาพทางพระอินทรเนตรมาฝากแล้ว

เมื่อจะกล่าวถึงวิธีซึ่งเปิดพระทันตธาตุให้คนดูหรือนมัสการ ก็จะต้องข้ามเรื่องที่จะพรรณนาถึงเหตุการณ์เหล่านั้นเสีย กล่าวต่อไปว่า พระทันตธาตุนั้นร้อยอยู่ในห่วงลวดซึ่งปักอยู่ในกลางดอกอุบลทำด้วยทองคำ มีพระเจดีย์ครอบเป็นชั้น ๆ จนถึงชั้นในที่สุดเป็นกล่องประดับเพชรพลอยงามดี องค์นอกที่สุดมีสังวาลหลายอย่าง สังเกตได้แต่ว่าเป็นอย่างพม่านั้นสายหนึ่งสวมอยู่ สัณฐานพระทันตธาตุก็ไม่ผิดอันใดกับที่จำลองนัก แต่จะเป็นด้วยเก่า หรือด้วยจะเป็นสีดอกพิกุลแห้ง จึงได้มีสีคล้ำมัวเหมือนงาที่ทำเครื่องมืออันใช้เก่า ๆ แต่ไม่เป็นสีเดียวเสมอกัน ที่ซึ่งเก็บนั้นเป็นห้องไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูด้านเดียว มีประแจสามดอก ผู้ซึ่งรักษาซึ่งเรียกว่า ระเตมะหัตตะเมยะ ซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้ายาวยี่สิบเจ็ดวา เก็บดอกหนึ่ง พระเก็บสองดอก ในนั้นมีสิ่งอื่น ๆ ที่มีราคาหลายอย่าง แต่ยากที่จะเห็นได้ถนัด เพราะมืด ต้องจุดไฟ แลไม่จุดหลายดวงนัก ดูเหมือนเจ้าพนักงานผู้รักษาจะพอใจให้เป็นเช่นนั้นด้วย การที่จะบูชาด้วยประทีบย่อมไม่เป็นที่ต้องใจของผู้รักษา ข้าพเจ้าได้เห็นหนังสือเขียนด้วยลานทองสองผูก ผูกหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ส่งไปแต่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงสยาม หนึ่งร้อยห้าสิบปีเศษมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าได้พลิกดู ร้อยลานกลับต้นเป็นปลาย เขียนด้วยอักษรขอม ขึ้นต้นเป็นวิธีอุปสมบท แล้วกฐิน ผูกแลถอนสีมา ข้างปลายมีบานแพนกเขียน แปลร้อยได้คำที่จารึกนั้นมา ศักราชลงว่า ๑๐๐๐๕ ถ้าจะเข้าใจโดยคำว่า พันห้า ก็เป็นก่อนเวลาแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ แลทั้งสังเกตดูถ้อยคำในนั้นประกอบด้วยรูปตัวอักษรเห็นเป็นหนังสือขอมที่เขมรเขียน หาใช่ไปจากกรุงสยามไม่ อีกผูกหนึ่งนั้นไม่ได้ดู ด้วยผู้รักษาหวงแหนเหลือเกินราวกับว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะวิ่งราวไปจากที่นั้น ยังมีพระแก้วอีกองค์หนึ่งซึ่งหน้าตักประมาณสักสี่นิ้ว สังเกตดู ไม่ใช่ฝีมือลังกา สีคล้ายมรกต ส่องโปร่ง มีที่ชำรุดบ้าง จะสังเกตว่าเป็นเนื้อศิลาหรืออันใดก็ยาก ด้วยสว่างไม่พอ แลเขาไม่สู้จะให้ดูนานนัก คนก็เข้าเต็มแน่น ถ้าผู้ใดขืนอยู่ช้าก็อาจจะเป็นลมได้ ด้วยต้องการลมสำหรับหายใจ ข้าพเจ้าได้คัดคำบานแพนกในคัมภีร์นั้นมาลงไว้ในที่นี้ด้วย เห็นว่า การที่คัดนั้นมิใช่ง่าย ต้องทำทุกรกิริยาเป็นอันมาก

จาก เรื่องพระเขี้ยวแก้ว พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสลังกาทวีป พ.ศ. ๒๔๔๐



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 16:32

ผมเพิ่งเข้ามาเห็นครับ เห็นแล้วก็จังงังไป ที่เขียนไปนั้นก็เขียนจากความจำแท้ๆ ต้องขอเวลานอกก่อนว่าผมไปเอาความดังกล่าวมาจากหนังสือเล่มไหน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 16:39

เบิกพระอินทรเนตรปุ๊บก็เจอปั๊บ
เอาไปก่อนตรงนี้นะครับคุณเพ็ญ

เคยอ่านพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 คราวเสด็จฯ ไปนมัสการพระทันตธาตุ (ฟันของพระพุทธเจ้า) ที่วัดศรีดาลาดามัลลิกาวะ หรือวัดพระทันตธาตุ เมืองแคนดี้ ซีลอน (ศรีลังกาในปัจจุบัน) เมื่อปี 2449 ไว้อย่างน่าสนใจ
ขอประมวลมาเล่าอย่างย่อเป็นภาษาธรรมดาบางส่วนดังนี้ครับ

ครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ จากกรุงโคลัมโบไปยังวัดพระทันตธาตุเมืองแคนดี้ เพื่อถวายสักการะพระธาตุดังกล่าว
โดยทรงเตรียมข้าวของจำนวนไม่น้อยไปถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อเสด็จฯ ไปถึงผู้ดูแลวัดรับเสด็จแล้วนำเสด็จไปยังห้องที่ประดิษฐานพระทันตธาตุ พระทันตธาตุนั้นประดิษฐานอยู่ในผอบเล็กภายในครอบเจดีย์ทอง 7 ชั้น แต่ไม่เปิดให้ผู้ใดได้เห็น (คนทั่วไปจะได้นมัสการจากด้านนอก วีไอพีเท่านั้นที่จะได้เข้าไปนมัสการในห้องนี้ แต่ก็จะไม่ได้เห็นพระทันตธาตุอยู่ดีครับ)....
  
.....รัชกาลที่ 5 ท่านทรงสงสัยว่าพระทันตธาตุยังอยู่จริงหรือ พอเสด็จฯ ถึงในห้องประดิษฐาน ท่านทรงรับสั่งถามผู้ดูแลว่าขอดูได้หรือไม่ ผู้ดูแลตอบว่าเปิดให้ดูไม่ได้ เพราะไม่มีธรรมเนียม ท่านถึงกับทรงรับสั่งทำนองว่าท่านเป็นพุทธมามกะ ที่เมืองสยาม ท่านเป็นผู้เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ถ้าไม่ให้ดู ท่านก็กลับล่ะ แล้วท่านก็ทรงนำเครื่องบูชาต่างๆ กลับด้วย (ผมเข้าใจเอาเองว่าในเวลานั้น ท่านคงไม่ทรงเชื่อว่ามีพระทันตธาตุอยู่จริง เพราะถูกทำลายไปแล้ว)

ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำลังกาทราบข่าวก็เต้นสิครับ ระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเมืองพุทธถูกปฏิเสธแบบนี้ ถึงกับต้องจัดหาของมาถวายเพื่อขอโทษท่าน ผู้สำเร็จราชการฯ ได้ขอเข้าเฝ้าฯ พร้อมอัญเชิญพระพุทธรูป "วัลลิปุราม" (Vallipuram) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณสำคัญที่พบในตอนเหนือของลังกามาน้อมเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ 5 โปรดให้รับไว้ แล้วเชิญมาประดิษฐานที่ระเบียงวิหาร วัดเบญจมบพิตร จนถึงปัจจุบัน
 
ต่อมาเมื่อปี 2536 รัฐบาลศรีลังกาขอพระพุทธรูปองค์นี้กลับคืนโดยอ้างว่าเป็นสมบัติของศรีลังกา เรื่องนี้คุยกันอยู่หลายปี เพราะพระพุทธรูปสำคัญเป็นสมบัติของแผ่นดินไทยโดยชอบนับแต่ผู้สำเร็จราชการอังกฤษน้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 โน่นแล้ว ในที่สุดก็ได้ทางออกที่เหมาะสมคือ รัฐบาลไทยโดยกรมศิลปากรได้หล่อเป็นพระพุทธรูปจำลองมอบให้แก่ศรีลังกา โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีส่งมอบพระพุทธรูปจำลองให้ฝ่ายศรีลังกาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539


 
http://www.thaiemb.org.in/th/narrative/detail.php?ID=1893
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 16:56

ความที่ผมเขียนน่าจะมาจากเล่มนี้

ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์.(2540). “เมื่อ ร. 5 ทอดพระเนตรพระทันตธาตุ” ใน จารึกสยาม.  หน้า 11-24

ผมมีหนังสือของท่านชาลีอยู่สักโหลหนึ่งในกรุ ถ้าหาเจอเมื่อไหร่ค่อยว่ากันอีกทีก็แล้วกันนะครับคุณเพ็ญ เอาเป็นว่าสมองของผมยังไม่สูญเสียให้แก่อัลไซเมอร์จนถึงขั้นต้องขอลาออกจากเรือนไทยก็ดีแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:09

จำได้ว่าเมื่อพ.ศ. 2545  มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)จากจีนมาประดิษฐานชั่วคราวที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม  เพื่อร่วมฉลองในมหามงคลวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 75 พรรษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว     ผู้คนหลั่งไหลกันไปสักการะ   รถติดกันยาวเหยียดจากพุทธมณฑลถึงตลิ่งชัน  
ดิฉันก็ไปเหมือนกัน  โชคดีมีไกด์กิตติมศักดิ์พาไปตอนกลางคืน  รถไม่ติดเท่าตอนกลางวัน  แต่ก็มีคนไปสักการะกันเต็มห้องไปหมด

อินทรเนตรช่วยส่องให้ว่า  พระเขี้ยวแก้วนี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดหลิงกวง ที่ปักกิ่ง  นายเดา ชูเรน รองประธานและเลขาธิการใหญ่ พุทธสมาคมแห่งประเทศจีน เล่าว่า

    “พระเขี้ยวแก้วที่อยู่ในเมืองจีน ประชา ชนชาวจีนมักเรียกว่า “พระทันตธาตุฟาเหียน” เพราะ หลวงจีนฟาเหียน ได้อัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) องค์นี้มาสู่จีน มีผู้กล่าวว่า พระทันตธาตุองค์นี้ได้ประดิษฐานครั้งแรกไว้ ที่อาณาจักรโบราณแห่งหนึ่ง ชื่อว่า อูไดยานา ปัจจุบันอยู่ในเขตของประเทศปากีสถาน
    หลังจากอาณาจักรนี้แล้วก็เคลื่อนย้าย มาอยู่ในแคว้น โคตัน (ทุกวันนี้คือ จังหวัด ไฮเตียน มณฑลซินเกียง) ต่อมาคริสต์ศตวรรษ ที่ ๕ หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในสมัย ราชวงศ์จี๋ (Qi) ซึ่งอยู่ภาคใต้ของประเทศ จีน ได้เดินทางไปเอาพระทันตธาตุจาก เมืองโคตัน มาไว้ที่ เมืองนานกิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์จี๋ (ท่านได้ออกเดินทางจาริกไปยัง ประเทศอินเดียและลังกา พ.ศ. ๙๔๒ - ๙๕๗)
    หลังจากนั้น ประเทศจีนก็รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสมัย ราชวงศ์ซุ่ย (Sui) พระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วก็เลยย้ายมาประดิษฐาน ณ เมืองหลวงใหม่ คือเมืองฉางอัน (ซีอาน) ต่อจากนั้นมา จีนก็ตกอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวาย มีการรบกันภายในประเทศ ระหว่าง กันเองเป็นเวลาถึง ๕ ราชวงศ์

    ดังนั้น พระเขี้ยวแก้วได้ถูกย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง กลับไปกลับมาหลายเมือง จนกระทั่งสุดท้ายได้มาประดิษฐานอยู่ที่ เมืองเยนกิง (คือเมืองปักกิ่ง ในปัจจุบัน) บนภูเขา ซีซัน ในสมัย ราชวงศ์เหลียว ซึ่งอยู่ภาคเหนือของประเทศจีน

    จากจดหมายเหตุในสมัย จักรพรรดิเดาซอง ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์หนึ่งในราชวงศ์เหลียว เล่มที่ ๒๒ บันทึกไว้เกี่ยวกับการประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วไว้ที่ พระเจดีย์เจาเซียน ในเดือนปีที่ ๘ ของปีที่ ๗ ของเหียนย่ง ค.ศ. ๑๐๗๑ (พ.ศ. ๑๖๑๔) ซึ่งได้บันทึกไว้ในประวัติของพระเขี้ยวแก้วที่แน่นอน ก่อนที่จะมาประดิษฐาน ณ เมืองปักกิ่ง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:14

     ในปี ค.ศ. ๑๙๐๐ (พ.ศ. ๒๔๔๓) พระเจดีย์เจาเซียนได้รับความเสียหายด้วยปืนใหญ่ โดยกองกำลังของฝ่ายพันธมิตรชาติตะวันตก ของผู้นิยมลัทธิจักรวรรดินิยม ๘ ประเทศ หลังจากนั้น มีพระภิกษุที่อยู่ภายในวัดได้มาทำ ความสะอาดบริเวณรอบพระเจดีย์ แล้วได้พบพระเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ในหีบศิลาอย่างถาวร อยู่ภายในห้องใต้ดินขององค์พระเจดีย์

    บนตลับไม้กฤษณานั้นมีการระบุไว้ว่า ถูกนำมายัง ณ สถานที่นี้ในปี ค.ศ. ๙๖๓ (ปี พ.ศ. ๑๕๐๖) โดยพระภิกษุชื่อ ซ่านฮุยในยุคราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับการขนานนามว่า “อาจารย์ผู้เก็บความลับ” ตลับไม้กฤษณานี้ได้ รักษามาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งด้านข้างและด้านใน กล่องนั้นเป็นลายมือของหลวงจีนซ่านฮุย ซึ่งในตลับไม้นี้มี พระเขี้ยวแก้ว อยู่ด้านบน

      ในที่สุด พระเขี้ยวแก้ว ซึ่งได้ซ่อนเร้น มาเป็นเวลานานถึง ๘๓๐ ปี ก็ได้ปรากฏขึ้น อีกในโลกมนุษย์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ทางพุทธ สมาคมแห่งประเทศจีน จึงได้อัญเชิญมาให้ประชาชนสักการบูชาที่ วัดกวงจี่ เป็นการชั่วคราว ณ อาคารสรีระ เมืองปักกิ่ง


      พาคนดูออกจากอินเดียไปจีนเสียแล้ว   ขอคืนเส้นทางให้เจ้าของกระทู้ตามเดิมค่ะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:24

ถามท่านผู้รู้ภาษาจีน วัดกวงจี่กับวัดหลิงกวง เป็นวัดเดียวกันหรือเปล่าครับ

ในภาพบรรยายนี้ว่า พระบรมสารีริกธาตุ (พระทาฐธาตุ) ประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง


บันทึกการเข้า
aradabkk
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:29

สวัสดีค่ะ จขกท.ไม่ได้หายไปไหนค่ะ กำลังอ่านความรู้ต่างๆที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายนำมาให้ชม จะไปถึงไหนๆก็ตามค่ะ ยินดีกอบโกยความรู้ เล่าต่อเถอะค่ะอาจารย์ กำลังสนุก รวมทั้งกระทู้ เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด และ กระทู้ท่านหญิงกำมะลอ ตามอ่านตลอดค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:36

ถามท่านผู้รู้ภาษาจีน วัดกวงจี่กับวัดหลิงกวง เป็นวัดเดียวกันหรือเปล่าครับ

ในภาพบรรยายนี้ว่า พระบรมสารีริกธาตุ (พระทาฐธาตุ) ประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง


  เป็นคนละวัดกันค่ะ     มากกว่านี้ต้องรอคุณม้า หรือคุณ han_bing
  ตามประวัติ บอกว่าใน พ.ศ. 2443 วัดหลิงกวงถูกทำลายเสียหายเมื่อกองทัพชาติตะวันตกบุกรุกกรุงปักกิ่ง ท่ามกลางซากปรักหักพัง  พบพระเขี้ยวแก้วบรรจุในกล่องศิลามีจารึกวัน เดือน ปีที่สร้างเจดีย์อยู่ภายในกล่องไม้กฤษณาอีกชั้นหนึ่ง  ทางวัดได้เก็บรักษาไว้จนถึงพ.ศ. 2498 จึงนำไปไว้ ณ วัดกวงจี่ชั่วคราว เมื่อทางการได้สถาปนาพระเจดีย์องค์ใหม่ที่วัดหลิงกวงแล้วเสร็จ จึงมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระเขี้ยวแก้วในพระมหาเจดีย์  เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2507
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:38

สวัสดีค่ะ จขกท.ไม่ได้หายไปไหนค่ะ กำลังอ่านความรู้ต่างๆที่ท่านอาจารย์ทั้งหลายนำมาให้ชม จะไปถึงไหนๆก็ตามค่ะ ยินดีกอบโกยความรู้ เล่าต่อเถอะค่ะอาจารย์ กำลังสนุก รวมทั้งกระทู้ เรื่องเล่าชาวกรุงเทพรุ่นทวด และ กระทู้ท่านหญิงกำมะลอ ตามอ่านตลอดค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:47

  ถ้าจะสักการะพระบรมสารีริกธาตุ   แต่ไม่สามารถจะไปถึงศรีลังกาหรือจีน    ไปใกล้ๆแค่นครปฐมก็ได้ค่ะ    ตรงไปที่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเคยแสดงปาฏิหาริย์เป็นที่ประจักษ์มา 3 รัชกาลแล้ว

   ปาฏิหาริย์องค์พระปฐมเจดีย์ถูกจารึกครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ พระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า
    “เมื่อปีมะโรง อัฐศก วันเสาร์ เดือน ๑ ขึ้น ๒ ค่ำ (๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๙) เห็นที่องค์พระปรางค์เป็นดวงช่วงออกมาทางซุ้มคูหาทิศเหนืออีกคราว ๑  ครั้นมาถึงวันพฤหัส เดือน ๑ ขึ้น ๗ ค่ำ เห็นรัศมีส่องไปทั้งองค์ปรางค์เหมือนแสงดอกไม้เทียน จับอยู่ที่องค์พระได้เห็นด้วยกันมาก ในเดือน ๑ ปีมะโรง อัฐศก เห็นอัศจรรย์ ๒ ครั้ง
     การที่ปาฏิหาริย์มีนั้นทุกปี ๆ ละ ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้งบ้าง ถ้าสมโภชเวียนเทียนเมื่อใดก็เป็นทุกคราว และที่พระปฐมเจดีย์มีเหตุอัศจรรย์หลายอย่าง คือองค์พระปรางค์  ลางทีเดือนมืดก็บังเกิดเป็นรัศมีเหมือนบุคคลเอาผ้าขาวเข้าไปหุ้มไว้ แล้วก็หายไปทีละน้อย ๆ แล้วก็สว่างขึ้นทีละน้อย ๆ จนเต็มกำลัง และเห็นขึ้นไปจนตลอดยอดนภศูล ลางทีก็สว่างซีกหนึ่ง ลางทีสว่างข้างล่าง มืดข้างบน แล้วสว่างข้างบน มืดข้างล่าง เมื่อจะสว่างนั้นก็เป็นรัศมีเรืองขึ้นทีละน้อย ๆ สว่างเต็มกำลังตลอดจนยอดนภศูล แล้วรัศมีก็โรยอ่อนลงมาทีละน้อย ๆ จนมืดไปทั้งองค์พระปรางค์ แล้วก็ค่อย ๆ มีรัศมีเรือง ๆ ขึ้นมาอีกดังกล่าวมาแล้ว เป็นอยู่ ๒ ทุ่มบ้าง ๓ ทุ่มบ้าง แล้วจึงหายไปทีเดียว ลางทีก็เห็นเป็นดวงดาวติดอยู่ปลายยอดนภศูล รัศมีแดงเหลืองสีต่าง ๆ ค่อย ๆ เลื่อนลงมาทีละน้อย หายไปในช่องคูหา ลางทีดูที่องค์พระปรางค์มืดเป็นปกติ แต่ขอบริมนั้นมีรัศมีขาวสว่างขึ้นไปตลอดยอด...”


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:49

        ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จไปพระราชทานผ้าพระกฐินแล้วประทับอยู่ ๒ คืน ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์อีก พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ประชุมอยู่ในที่นั้นก็เห็นกันพร้อมหน้า พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า
           “...พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงปิติโสมนัส รับสั่งว่าเหมือนผีหลอก ไม่รู้ที่จะว่าอย่างไรได้ เห็นจะเป็นไฟธาตุดินอยู่ในอิฐปูนถูกน้ำฝนเข้าก็เกิดเป็นรัศมีขึ้น ที่รับสั่งตรัสดังนี้ เพื่อจะมิให้คนที่ถือศาสนาพากันติเตียนได้ แต่ทองทศทองทิษมีอยู่ในฉลองพระองค์เท่าใด ก็ถอดพระราชทานให้เป็นส่วนพระราชกุศลจนสิ้น”

           พวกคนยุโรปที่ไปเที่ยวนครปฐมและพบเหตุอัศจรรย์นี้ ถึงกับนั่งลงกราบไหว้แบบคนไทย ทั้งยังมีโต๊ะหะยีแขกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ เมื่อคนไทยถามว่าเป็นแขกมานับถือแบบนี้ไม่เป็นบาปหรือ แขกก็บอกว่าเขากราบไหว้แท่นบรรทมของพระเจ้า ที่คนโบราณสร้างพระเจดีย์ครอบไว้ จะเป็นบาปได้อย่างไร
           มีบางคนกล่าวว่าที่องค์พระปฐมเจดีย์มีรัศมีเรืองขึ้นนั้น เป็นเพราะสารที่ตำราฝรั่งเรียกว่า ฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นสารมีรัศมีเรืองแสง ไม่ใช่อภินิหารของพระสารีริกธาตุแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา พระยาอนุชิตชาญชัย พระวิสูตรโยธามาตย์ เอาฟอสฟอรัส เครื่องมือต่าง ๆ ไปทำการทดลอง พอทั้ง ๓ รับงานทดสอบปาฏิหาริย์องค์พระปฐมเจดีย์ ยังไม่ทันจะได้ลงมือ เจ้าหญิงและหม่อมห้ามในกรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา พร้อมด้วยบุตรภรรยาของพระยาอนุชิตชาญชัย และบ่าวไพร่ได้พากันไปเที่ยวหลังองค์พระ ก็ถูกฝูงผึ้งจำนวนหนึ่งเข้าโจมตี ต้องวิ่งหนีกันกระเจิดกระเจิง บ้างก็เข้าไปในดงหนาม บ้างก็วิ่งไปชนต้นไม้จนหัวแตก บ้างก็ถึงกับผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ต้องมีคนเอาผ้านุ่งไปให้จึงกลับมาได้ ทั้ง ๆ ที่บูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์มา ๑๐ ปี ไม่เคยมีใครถูกผึ้งต่อยเลย

          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงพบปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์ถึง ๒ ครั้ง แต่พระองค์ไม่ได้รับสั่งให้ใครฟัง เก็บความแปลกพระทัยไว้เงียบ ๆ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ขณะยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารได้ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๒ และมีพระราชหัตถเลขามากราบทูลสมเด็จพระราชบิดาว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:51

     “ด้วยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ นี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๑ เวลาดึก ๒ ยามกับ ๕๕ นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งอยู่ที่เรือนสนามจันทร์ มีข้าราชการและมหาดเล็กอยู่ด้วยเป็นอันมาก ได้เห็นองค์พระปฐมมีรัศมีสว่างพราวออกมาทั้งองค์ ดูประหนึ่งว่าองค์พระปฐมเจดีย์ด้านตะวันตกคือด้านที่เล็งตรงกับสนามจันทร์นั้น ทาด้วยฟอสฟอรัสพราวเรืองตั้งแต่คอระฆังลงมาหน่อยหนึ่งตลอดขึ้นไปจนยอดมงกุฎ และซ้ำยังมีรัศมีพวยพุ่งสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๓ - ๔ วา ปรากฏแก่ตาอยู่อย่างนี้ ๑๗ นาที แล้วรัศมีตอนใต้แต่ปล้องไฉนตลอดยอดก็ดับลงไปทันที เหลือสว่างอยู่แต่ตอนช่องมะหวดลงมาอีกสักไม่ถึงกึ่งนาทีก็ดับหายไปหมด มืดแม้จะมองแต่รูปองค์พระก็ไม่ถนัด ข้าพระพุทธเจ้าได้นับผู้ที่เห็นในขณะนั้น ตลอดจนทหารที่อยู่ยาม ๔ คน เป็นจำนวน ๖๙ คน
           ข้าพระพุทธเจ้าลองคิดดูตามไซแอนซ์ ว่าบางทีจะเป็นด้วยตอนฝนตกหนักละอองฝนจะติดค้างอยู่ที่กระเบื้องที่ประดับองค์พระปฐมบ้าง ครั้นตอนดึกจวนพระจันทร์ตกแสงจันทร์ส่องทอตรงได้ระดับฐานฉากกับองค์พระปฐม จึงเกิดแสงแพรวพราว ฉะนั้นพอจันทร์เหลื่อมเข้าเมฆ แสงลับไป รัศมีที่องค์พระปฐมก็หายไปด้วย ครั้นรุ่งขึ้นได้ทราบเกล้าฯ ว่าจีนที่รับเหมาทำศาลารัฐบาลซึ่งอยู่ด้านตะวันออกองค์พระ และชาวตลาดอีกหลายคนซึ่งอยู่เหนือองค์พระก็เห็นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เข้าใจได้ว่ารัศมีได้พราวออกทั่วองค์พระเป็นอันพ้นวิสัยที่แสงจันทร์จะถึงได้ หรือว่าจะมีธาตุฟอสฟอรัสอยู่ในองค์พระธาตุนั้น จะส่องแสงแพรวพราวในเวลากลางคืนได้ก็ต่อเมื่อได้ต้องแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันมากพอ ในเวลากลางวันก็ชอุ่ม ตอนเย็นก็ฝนตก ไม่ใช่ธาตุฟอสฟอรัสแน่ จึงเป็นอันจนด้วยเกล้าฯ ที่อ้างแสงรัศมีนั้นเป็นด้วยเหตุไรนอกจากว่ามหัศจรรย์ยิ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 18 ก.ย. 13, 20:52

      รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ ข้าพระพุทธเจ้าได้นิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป มีพระนิกรมุนีเป็นประธาน สวดมนต์เย็นในพระวิหารองค์พระแล้วได้เดินเทียนสมโภชองค์พระ ๓ รอบ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๖ เวลาเช้า พวกข้าราชการ พ่อค้า ราษฎรชาวพระปฐมเจดีย์ มีความปีติยินดีช่วยกันจัดของไปถวายและเลี้ยงพระหมดทั้งวัดพระปฐมเจดีย์เป็นจำนวน ๖๘ รูป เวลาค่ำได้มีละครเรื่องสุวรรณหงษ์ ตอนกุมพลถวายม้าฉลองหนึ่งคืนเป็นเสร็จการ”
          พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสว่า
         “เรื่องพระปฐมเจดีย์กระทำปาฏิหาริย์ตามลักษณะที่เล่ามานี้ ช่างไม่มีอะไรผิดกับที่เคยเห็น ๒ คราวแต่สักนิดเดียว เวลาที่ได้เห็นนั้นคนมากยิ่งกว่าที่นับมา เห็นปรากฏด้วยกันทั้งหมด จึงได้มีเรื่องตรวจตราซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พ่อเข้าใจในลักษณะที่เล่าว่าเป็นอย่างไร แลเชื่อว่าได้เป็นเช่นนั้นจริงเพราะเคยเห็น แต่จะเป็นด้วยอันใด เหลือที่จะยืนยันฤารับรองให้คนอื่นเห็นด้วยจริงได้ จึงไม่ได้เล่าให้ใครฟังในชั้นหลัง ๆ นี้ เพราะห่างจากเวลาที่ได้เห็นนั้นมาก เข้าใจว่าการที่เป็นเช่นนั้นได้จะได้เป็นอยู่เนือง ๆ แต่หากคนนั้นตกค่ำลงก็เข้านอนเสียไม่สังเกต แปลกอยู่หน่อยแต่ที่เวลาเป็นมักจะเป็นเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนยี่ เวลาเดินบกมาถึงที่นั้นฤาเสด็จออกไปหลายครั้งไม่เคยมีเลย ขออนุโมทนาด้วยในส่วนกุศลที่ได้ทำ”
           ต่อมาใน ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เมื่อได้ครองราชย์แล้ว ก็ได้ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์อีกในคืนเดือนมืด พร้อมข้าราชบริพาร ตำรวจ และเสือป่า เข้าเฝ้าอยู่ที่สนามจันทร์ประมาณ ๒๐๐ คน ซึ่งได้เห็นกันทุกคนรวมทั้งราษฎรที่อยู่รอบองค์พระ
         หลังจากนั้นได้ทรงสร้างพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนยขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรพระปฐมเจดีย์โดยเฉพาะ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๔๗๐ หลังจากสวรรคตแล้วกระทรวงวังได้ให้ย้ายพระที่นั่งองค์นี้มาปลูกรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

      http://www.all-magazine.com/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/allMagazine%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%99/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/3003/--.aspx
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 19 ก.ย. 13, 06:00

เข้ามาแจ้งว่าผมยังหาต้นเรื่องของผมไม่เจอเลยครับ แต่ได้เจอความที่คุณออกหลวงมงคล เขียนไว้ในพันทิป “ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับรัชกาลท่ ๕ ที่คุณไม่เคยรู้...”  เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปครั้งที่๒

จากจุดหมายแรกที่เรือพระที่นั่งซักเซนจะทำการจอดนั่นคือท่าเรือเมืองลังกา หรือศรีลังกาในปัจจุบัน

แจ้งให้ทราบครับว่า การเสด็จประพาสเมืองศรีลังกานั้น พระองค์ได้เคยเสด็จแล้วหนหนึ่ง ในครั้งนั้นทรงเสด็จประพาสทอดพระเนตรพระเขี้ยวแก้ว ณ เมืองลังกา และมีเหตุการณ์ทำให้ไม่สบายพระทัย เรียกว่าพระองค์ทรงกริ้วก็ไม่ผิดนัก จากหลักฐานที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ ความว่าชาวเมืองลังกาไม่ให้เกียรติพระองค์ในฐานะกษัติรย์ (เรื่องในอดีตนะครับ ถือเป็นเพียงประวัติศาสตร์ อ่านเป็นความรู้ อย่าโมโหนะครับ เพราะผมโมโหแทนไปก่อนหน้านี้แล้ว)

การเสด็จศรีลังกาครั้งนี้ นักวิชาการหรือผู้ที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยด้วยต่างก็คิดว่า หากพระองค์เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีอย่างการเสด็จครั้งที่ 1 พระองค์คงไม่เลือกแวะประเทศนี้ เพียงแต่เป็นหมายของเรือพระที่นั่งซักเซน ทำให้ไม่สามารถเลือกได้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 20 คำสั่ง