เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 34456 ตามรอยการค้นพบ พระบรมสารีริกธาตุ ณ สถูป Piprahwa
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 ก.ย. 13, 22:44

ใช่แล้วครับ
ผมไม่ทราบว่า brahmi จะอ่านว่า พราหมี

นึกว่าเป็นอักษรของพวกพราหม์ ซึ่งหมายถึงสันสกฤต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 16 ก.ย. 13, 22:59

สันสกฤต เหมือนบาลีอยู่อย่างหนึ่งคือเขียนด้วยอักษรได้หลายชนิด  ทั้งพราหมี เทวนาครี  โรมัน และไทย ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 16 ก.ย. 13, 23:13

ถ้าอย่างนั้นคงเขียนได้อีกหลายภาษานะครับ เช่น มอญ พม่า ลาว เขมร หรือ คาตาคานะ ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 16 ก.ย. 13, 23:21

ถามจริงหรือเปล่าคะ?
ภาษาอื่นไม่รู้  แต่อักษรเขมรน่าจะเขียนสันสกฤตได้     คำว่า ฤทธิ์ อย่างในชื่อเจ้านโรดม  รณฤทธิ์  มาจากภาษาสันสกฤตค่ะ
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 04:06

http://jayanti2600.wordpress.com/2012/08/24/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2/
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 06:10

อ้างถึง
ถ้าอย่างนั้นคงเขียนได้อีกหลายภาษานะครับ เช่น มอญ พม่า ลาว เขมร หรือ คาตาคานะ ฯลฯ

มอญ พม่า ลาว

อักษรธรรมล้านนา หรือ ตัวเมือง (คำเมือง) พัฒนามาจากอักษรมอญโบราณ เช่นเดียวกับอักษรพม่า อักษรชนิดนี้ใช้ในอาณาจักรล้านนาเมื่อราว พ.ศ. 1802 จนกระทั่งถูกพม่ายึดครองใน พ.ศ. 2101 ปัจจุบันใช้ในงานทางศาสนา พบได้ทั่วไปในวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย (ส่วนที่เป็นเขตอาณาจักรล้านนาเดิมและเขตที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมล้านนาบางแห่ง) นอกจากนี้ยังแพร่หลายถึงไปถึงเขตรัฐไทยใหญ่แถบเมืองเชียงตุง ซึ่งอักษรที่ใช้ในแถบนั้นจะเรียกชื่อว่า "อักษรไตเขิน" มีลักษณะที่เรียบง่ายกว่าตัวเมืองที่ใช้ในแถบล้านนา

อนึ่ง อักษรธรรมล้านนายังได้แพร่หลายเข้าไปยังอาณาจักรล้านช้างเดิมผ่านความสัมพันธ์ทางการทูตและทางศาสนาระหว่างล้านนากับล้านช้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ร่วมสมัยกับพระเจ้าโพธิสารราชและพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง เป็นต้นเค้าของการวิวัฒนาการของแบบอักษรที่เรียกว่าอักษรธรรมลาว (หรือที่เรียกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยว่า "อักษรธรรมอีสาน") ในเวลาต่อมา


คาตาคานะ

The monk Kūkai introduced the Siddhaṃ script, which being a Brahmic script used the Sanskrit ordering of letters, to Japan in 806 on his return from China. Buddhist monks who invented Katakana chose to use the word order of Sanskrit and Siddham, since important Buddhist writings were written with those alphabets.
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 07:03

ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจยังอยู่ที่ประเด็นเดิมที่สร้างความปวดหัวให้รัฐบาลอังกฤษ ที่ว่า พระอัฐิธาตุซึ่งอ้างว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้านั้น เป็นของแท้หรือไม่แท้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชหรือไม่ หรือปลอมขึ้นในสมัยหลังนี่เองโดยนายเปปเป นักโบราณคดีอังกฤษผู้อ้างการค้นพบ ประเด็นนี้ก็ถกกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ปัจจุบันพวกที่เชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุมีรูปพรรณสันฐานดั่งเพชรพลอยก็ยังประดักประเดิดที่จะเชื่อคำวืนิจฉัยของนักโบราณคคีอยู่

ความเห็นของสมเด็จกรมพระยาดำรงตามเวปที่โยงให้โดยคุณhobo มีความอันน่าตรึกตรองยิ่งว่า พระพุทธองค์เองจึงมิได้ให้ความสำคัญในเรื่องพระธาตุเจดีย์อันจะบรรจุพระพุทธอัฐิ แต่ทรงแนะนำให้พุทธศาสนิกชน ยามที่รำลึกถึงพระองค์ก็ให้ไปสักการะสังเวชนียสถานทั้ง๔ ดังนั้นชาวพุทธในอินเดียตั้งแต่โบราณกาลจึงไม่ใส่ใจในพระธาตุเจดีย์มากนัก

ชรอยพระพุทธองค์จะทรงหยั่งรู้ว่า พระอัฐิธาตุนั้นสามารถปลอมแปลงขึ้นได้ในรูปลักษณ์ต่างๆ เพื่อสร้างหรือทำลายศรัทธาของชาวพุทธ

ย้อนรอยความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ กับกระบวนการพิสูจน์ความจริงในยุครัชกาลที่ 5
โดย : เพ็ญนภา หงษ์ทอง

เช้าตรู่วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ผ้าแดงผืนใหญ่ถูกแห่ขึ้นห่มองค์ภูเขาทอง เป็นสัญลักษณ์ว่าอีก ๓ วันข้างหน้า งานสักการะพระบรมสารีริกธาตุประจำปีจะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ บรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง สัญลักษณ์เด่นตระการของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ที่อยู่คู่กับราชธานีแห่งนี้มานับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕

สำหรับชาวพุทธส่วนใหญ่ งานสมโภชน์ที่จัดขึ้นในช่วงกลางเดือน ๑๒ ของทุกปีเช่นนี้ หมายถึงช่วงเวลาสำคัญที่จะได้เข้าร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในการสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในองค์เจดีย์ภูเขาทอง เปรียบประดุจการได้ทำการถวายสักการะพระพุทธองค์ต่อหน้าพระพักตร์อย่างใกล้ชิด

แต่อีกหลายคนวาระอันสำคัญนี้หมายถึงความสงสัยในความจริงแท้ของพระบรมสารีริกธาตุย้อนกลับมาให้คิดถึงอีกครั้ง จะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่ชาวพุทธกระทำการมหาสักการะด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นนั้น คือสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระสรีระของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง ซึ่งความสงสัยนี้เคยถูกทำให้จางหายไปจากใจคนในอดีต ด้วยกระบวนการการพิสูจน์ความจริงว่าด้วยพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการขึ้น เพื่อตอบคำถามของทั้งชาวไทยและชาวโลกในยุคสมัยของพระองค์

ความสงสัยในความแท้หรือเทียมของพระบรมสารีริกธาตุนี้ ดังขึ้นนับแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๗ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๑) เมื่อ ยอจ์ช เครฟวิล ราชทูต และกงสุลแห่งประเทศอังกฤษ มีจดหมายในนามรัฐบาลอินเดีย ทูลมายังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของสยาม ณ ขณะนั้น ความตอนหนึ่งว่า

“...ท่อนอัฐิและอังคารที่พบปะขึ้นนี้ ปรากฏว่าเป็นของพระสมณโคดมพุทธศากยมุณี...สิ่งของอื่นๆ ทั้งหลายที่พบขึ้นด้วยกันนั้น ก็เป็นสิ่งที่ชอบใจของผู้ศึกษาชาวยุโรป...ส่วนพระพุทธสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นอัฐิและอังคารนั้น เป็นของนับถือศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนิกชน เหตุฉะนั้นรัฐบาลอินเดียจึงมีความประสงค์จะทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม อันเป็นบรมกษัตริย์ ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาอยู่พระองค์เดียวทุกวันนี้ เพื่อจะได้ทรงจำแนกแก่ผู้ที่ควรได้รับรักษาไว้” (จากสำเนาคำแปลจดหมาย, เอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๑๒/๑๑ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
“พระพุทธสารีริกธาตุ” ที่ ยอจ์ช เครฟวิล อ้างถึงในจดหมายคือ “พระอัฐิและอังคาร” ที่ วิลเลียม แคลกตันซ์ เปปเป ชาวอังกฤษ ขุดพบในต้น ร.ศ. ๑๑๖ ใต้พื้นดินในบริเวณที่เรียกว่า ปิปราห์วะ โกต (Piparahawa Kot) แควันบัสติ ซึ่งในอดีตถือว่าอยู่ในเขตกรุงกบิลพัสดุ์ และมีการพิสูจน์จากรัฐบาลอินเดียและอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของอินเดีย แล้วว่าเป็น “อัฐิของสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า”

จดหมายฉบับนี้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในราชสำนักแห่งสยามอย่างยิ่งว่า ควรจะมีทีท่าอย่างไรในการตอบกลับรัฐบาลอินเดีย

“การที่จะพึงกล่าวมีอยู่แต่สองอย่าง คือจะรับเชื่อถือหรือไม่รับโดยไม่เชื่อถือเท่านี้...ถ้ารับ จำต้องระวังการที่นักปราชญ์ในประเทศอื่นจะกล่าวคำโต้แย้งว่า พระธาตุรายนี้มิใช่พระบรมสารีริกธาตุโดยแท้ ถ้าหากว่าเขาหาเหตุผลประจักษ์แก่ตาชาวโลกได้ว่ามิใช่พระบรมสารีริกธาตุโดยแท้ ความเสื่อมเสียในข้อที่หลงเชื่อสิ่งที่ไม่เป็นจริงก็จะบังเกิดขึ้น ถ้าหากว่าไม่รับ ก็จำเป็นจะต้องทรงชี้แจงเหตุผลให้ประจักษ์แก่ตาชาวโลกว่าไม่ควรเชื่ออัฐิรายนี้ว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุโดยเหตุใด ถ้าไม่ชี้แจงได้เช่นนั้นพวกนับถือศาสนาในเมืองอื่น คือ เมืองลังกา และเมืองพม่า พากันลงเนื้อเชื่อถือได้ไปไว้ในเมืองนั้นๆ ความเสื่อมเสียพระเกียรติยศก็จะมี เป็นการยากมีอยู่ทั้งสองฝ่ายฉะนี้” ส่วนหนึ่งของจดหมายที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการมหาดไทย เขียนกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเดิมพันในการเชื่อหรือไม่เชื่อในความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุครั้งนี้ยิ่งใหญ่และสำคัญต่อราชสำนักสยามนัก

การพิสูจน์ทราบความจริงแท้แห่งองค์พระบรมสารีริกธาตุ เริ่มขึ้นนับแต่วันที่จดหมายจากยอช เครฟวิล เดินทางถึงราชสำนักสยาม ไปจนถึงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗ ที่ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ มีจดหมายตอบกลับไปยังยอจ์ช เครฟวิล ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นผู้ออกไปรับพระบรมสารีริกธาตุนั้น โดยจะเริ่มออกเดินทางในเดือนธันวาคมทันที ชัดเจนว่าสยามประเทศมีข้อยุติแล้วว่า มีความเชื่อถือในพระบรมสารีริกธาตุนั้นว่าเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่มีทางปฏิเสธว่าไม่ใช่

เอกสารหลักฐานทางประวัติสาสตร์ ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการวินิจฉัยของราชสำนักสยามนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการพิจารณาจากหลักฐานเอกสารที่รัฐบาลอินเดียทำสำเนาส่งมา ซึ่งทางอินเดียและอังกฤษเองก็มีกระบวนการพิสูจน์ที่ละเอียดยิ่ง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระชินวรวงศ์ ภิกษุ (อดีตพระองค์เจ้าปฤษฎางค์) ซึ่งจาริกแสวงบุญอยู่แถบประเทศศรีลังกาและอินเดียในขณะนั้น เดินทางไปตรวจสอบหลักฐานถึงถิ่นที่ค้นพบ โดยเฉพาะจารึกโบราณ อันเป็นหลักฐานสำคัญที่ระบุว่า พระอัฐิธาตุที่พบเป็นของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลักฐานทุกอย่างที่ได้รับจากรัฐบาลอินเดีย และจากพระชินวรวงษ์ ถูกนำสู่ที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งหลายท่านเชี่ยวชาญทั้งทางพุทธประวัติ ภาษาอังกฤษ ภาษาบาลี รวมไปถึงความสามารถในการวิเคราะห์อักษรพราหมี ซึ่งเป็นอักษรโบราณสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช นำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เพื่อถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น และตรวจสอบหลักฐานร่วมกันอย่างละเอียด

ย้อนกลับสู่ปิปราห์วะ โกต ยุคต้น ร.ศ. ๑๑๖ เมื่อมิสเตอร์เปปเป ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ เขาได้พบสิ่งของมากมาย และได้บันทึกการค้นพบนั้นลงพิมพ์ในวารสารรายเดือนของ “รอยัลเอเซียติก โซไซอตี้” ลงวันที่ ๑๕ กรกฏาคม ค.ศ.๑๘๙๘ (ร.ศ. ๑๑๗, พ.ศ. ๒๔๔๑) ซึ่งมีคำแปลบันทึกอยู่ในเอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๒/๑๑ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ สรุปได้ว่า มีหีบศิลาทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ๑ ใบ ในหีบศิลาพบภาชนะ ๕ ชิ้น ประกอบด้วย ผอบศิลา ๒, ตลับศิลา ๒, หม้อศิลา ๑, และชามแก้วมีฝาเป็นรูปปลาที่มือถือ ๑ ในภาชนะเหล่านั้นมี “อัฐิหลายท่อน” พลอยจารนัยหลายอย่าง แผ่นทองคำทำเป็นรูปดาวและสี่เหลี่ยม กับที่ตีพิมพ์รูปราชสีห์ ซึ่งมีการพิสูจน์ภายหลังว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่าสากยสิงหะ ที่สำคัญคือตามรอบของฝาผอบใบที่ ๑ มีคำจารึกเป็นอักษรพราหมี อันเป็นภาษาที่มีใช้ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.๒๔๐- พ.ศ.๓๑๐) อยู่ด้วย

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลอังกฤษ เทียบเคียงสิ่งของที่เปปเปพบ กับสิ่งของที่มีการพบกันก่อนหน้านั้น ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความเกี่ยวพันกับวิถีของชาวพุทธสมัยพระเจ้าอโศก อีกทั้งมีการแปลอักษรพราหมีที่จารึกรอบฝาผอบใบที่ ๑ เป็นภาษาบาลี และภาษาอังกฤษ ราชสำนักสยามสร้างความมั่นใจให้ตนเองด้วยการให้พระชินวรวงษ์ คัดลอกจารึกอักษรพราหมี ส่งกลับมายังดินแดนสยาม เพื่อให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทำการศึกษาเทียบเคียงกับอักษรพราหมีที่ปรากฏในจารึกอโศก ที่ขุดค้นพบก่อนหน้านั้นโดยตรง ซึ่งกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สรุปความได้ว่า

“นี้ ที่บรรจุพระสรีระของพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้า ของศากยพี่น้องผู้ชายผู้มีเกียรติงาม พร้อมทั้งพี่น้องผู้หญิง พร้อมทั้งลูกเมีย”

ในขณะที่ฝ่ายอินเดีย เมื่อแปลมาเป็นภาษาอังกฤษ และถอดความเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่งได้ความว่า “อัฐซึ่งฝังเก็บไว้นี้ เป็นอัฐิของสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นส่วนของผู้มีเกียรติคุณ อันเป็นภาดาและภคินี กับทั้งบุตรและบุตรสะใภ้ แห่งวงศ์สกยราช”

เมื่อนำข้อความของจารึกโบราณนั้นมาพิจารณาเทียบเคียงกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ กรุงกุสินารา และเหล่ามัลลกษัตริย์ร่วมกันถวายพระเพลิงแล้ว โทณพราหมณ์ได้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารรีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน เพื่อให้บรรดากษัตริย์ที่เดินทางมาจากที่ต่างๆ เพื่อเข้าร่วมงานพระบรมศพ ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เมืองของตน ให้ชาวเมืองได้สักการะบูชา

พระบรมสารีริกธาตุ ๑ ใน ๘ ส่วนนั้น ถูกแบ่งให้กับกษัตริย์สกยราช(ศากยราช) พระญาติวงศ์ของพระพุทธองค์เพื่อให้อัญเชิญไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ประกอบหลักฐานอื่นๆ ที่ทางอินเดียส่งมาให้ ความสงสัยของราชสำนักสยามในความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าฯ ถวาย ก็เป็นอันสิ้นสุดลง

๑๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๗ (การนับรัตนโกสินทร์ศกใช้เดือนเมษายนเป็นเดือนแรก และเดือนมีนาคมเป็นเดือนสุดท้ายของปี เมื่อเทียบกับปัจจุบันจึงเป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒) พระยาสุขุมนัยวินิต เดินทางถึงโกรักบุรี และเข้ารับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากข้าหลวงใหญ่เมืองโกรักบุรี เชิญบรรจุในพระเจดีย์กะไหล่ทองคำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานมาจากกรุงสยาม และเดินทางกลับถึงรัฐสยามในวันที่ ๒ มีนาคม ขึ้นฝั่งที่เมืองตรัง จากตรัง พระบรมสารีริกธาตุได้รับการอัญเชิญต่อไปยังพระวิหารบนเกาะพระสุมทรเจดีย์ ในวันที่ ๑๖ มีนาคม ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุในพระเจดีย์กะไหล่ทองคำจะได้รับการประดิษฐานบนบุษบก เพื่อรอฤกษ์เคลื่อนไปประดิษฐานที่บรมบรรพตต่อไป

๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๘ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๔๒) พระสงฆ์ ๘ รูป พร้อมเจ้าพนักงานกรมภูษามาลา กรมราชบัณฑิต กรมสังฆการี เดินทางไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่วิหารเกาะพระสุมทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ ประดับประดาด้วยดอกไม้ ธงทิว จากสถานีรถไฟตำบลวัวลำพอง (หัวลำโพง) ขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ของพระบรมวงศานุวงศ์ นำโดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนนครราชสีมา พระสงฆ์ และเหล่าทายก ทายิกา ได้ร่วมกันอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาตามถนนเจริญกรุง ถนนวรจักร และ ถนนบำรุงเมือง มุ่งหน้าสู่พระบรมบรรพต เพื่อบรรจุลงประดิษฐาน ณ ใจกลางพระเจดีย์ ให้พุทธศาสนิกชนได้กระทำการถวายสักการะอย่างใกล้ชิดจนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ ๑๑๓

แม้กระบวนการและขั้นตอนในการพิสูจน์ความจริงแท้แห่งพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการขึ้นนี้ จะยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับอีกหลายคำถามได้ เช่น อัฐิในภาชนะทั้ง ๕ ใบ ที่เปปเปขุดพบเป็นของพระพุทธองค์ทั้งหมด หรือเฉพาะอัฐิที่อยู่ในผอบใบที่มีอักษรโบราณจารึกอยู่ หากเป็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด แล้วเหตุใดจึงบรรจุแยกผอบกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามรัชกาลที่ ๕ ทรงถามขึ้นในที่ประชุมเสนบดีในครั้งนั้น และยังไม่มีหลักฐานแสดงเหตุผลได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคืออัฐิที่ค้นพบที่อินเดีย และประดิษฐาน ณ บรมบรรพต แห่งวัดสระเกศฯ ในปัจจุบันนี้ได้รับการยืนยันด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์แลัวว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระสรีระแห่งพระพุทธองค์อย่างไม่ต้องสังสัย ข้อสรุปนี้ น่าจะทำให้ความคลางแคลงใจของพุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่จางหายไปและเข้าร่วมงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนนี้ ได้ด้วยศรัทธาอันตั้งมั่นยิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล
- จดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาตุ เอกสาร ร.๕ แฟ้ม ศ.๑๑ หมายเลข ๒/๑๑, ๓/๑๑, ๑๒/๑๑ และ ๑๓/๑๑ แผนกเอกสารสำคัญ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ
- ประวัติวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และจดหมายเหตุเรื่องพระสารีริกธาติเมืองกบิลพัสดุ์ คณะรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระอริยวงศาคตฐาน (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช, ๒๐ พศจิกายน ๒๕๐๘
- บามิยัน ดินแดนประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร), ธันวาคม ๒๕๕๕
กราบขอบพระคุณ พระพรหมสิทธิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และ พระมหาพิศุทธิ์ วิสุทฺโธ วัดสระเกศฯ สำหรับคำแนะนำและการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและภาพประกอบ
ภาพทั้งหมด : เอื้อเฟื้อโดยวัดสระเกศ ซึ่งสำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 08:59

พระผอบและจารึกภาษาสันสกฤตครับ


ผอบองค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุมีอักษรโบราณกำกับอยู่ นาย T.W. Rhys Davids แปลได้ความว่า ‘นี้คือพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งศากกะยะวงศ์อันประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นประธาน อันห้อมล้อมบำรุงโดยราชตระกูล: This shrine for Relics of the Buddha, the August one, is that of the Sakayas, the brethren of the Distinguished one, is association with their sister and with their children and their wives.’

จาก ลิ้งก์ข้างบนของคุณโฮโบ  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 10:03

จารึกที่ปรากฏบนพระผอบอ่านเป็นภาษาสันสกฤต ออกเสียงว่า

Sukiti bhatinam sa-puta-dalanam iyam salila-nidhane Budhasa bhagavate sakiydnam.
ซึ่งนักโบราณคดีแปลไว้โดยสำนวนต่างๆกัน แต่ในทำนองเดียวกันว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุทั้งสิ้น
นอกจากที่คุณเพ็ญยกมา

นี้คือพระบรมสารีริกธาตุที่แท้จริงของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งศากกะยะวงศ์อันประเสริฐ ผู้เป็นใหญ่ ผู้เป็นประธาน อันห้อมล้อมบำรุงโดยราชตระกูล

ยังมีอื่นๆอีก ดังเช่น

“This relic deposit of the Lord Buddha is the share of this renowned Sakya brethren, his own sister’s children and his own son.”

ภาษาอังกฤษข้างบน บางสำนวนเป็นพหูพจน์ ถอดความประมาณนี้
ที่บรรจุพระบรมสารีริธาตุนี้ร่วมกัน(สร้าง)โดยพี่น้อง(ชาย)ศากยวงศ์ พี่น้องหญิงและบรรดาบุตร(ของเขาและเธอเหล่านั้น)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 10:04

เรื่องนี้ตามไปอ่านแล้วชักสนุก สงสัยกระทู้นี้จะยาว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 10:31

แปลไม่ค่อยจะตรงกันเลย
ยกเก้าอี้มาฟังกระทู้ยาวค่ะ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 10:34

เข้ามากราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุครับ

ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองศิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีนั้น รัฐบาลอินเดียได้ร่วมการเฉลิมฉลองในวาระอันเป็นมหามงคลนี้

ทางรัฐบาลไทยได้ติดต่อกับรัญบาลอินเดีย อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนี้ออกจากประเทศอินเดียชั่วคราว เพื่อให้ประชาชนได้สักการะที่พุทธมณฑล

ระหว่างวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐


การสำรวจทางโบราณคดีของอินเดีย ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ๑๖ องค์ แบ่งเป็บจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงนิวเดลี ๑๔ องค์

และจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่เมืองกัลกัตตา ๒ องค์


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 10:38

ตัวผอบ ทำจากหินสบู่ มีจารึกด้วยอักษรพราหมณ์ ภาษามคช ว่า "พระสถูปนี้คือที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างถวายโดยพระภาตา พระภคิณี พระโอรส และพระชายาแห่งสุกิติสากยวงศ์"


บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 10:41

is association with their sister and with their children and their wives

ตรงนี้น่าจะเป็น in association ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็น่าจะมีทั้งของพระพุทธเจ้า + เหล่าเจ้านายแห่งศากยวงศ์ รวมกันด้วยครับ
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 17 ก.ย. 13, 10:43

ได้อ่านเทียบภาษามคธที่คุณหนุ่มเอามาลงแล้ว แสดงว่าตาเดวิดแปลคาดเคลื่อน สุกติติ หายไปทั้งคำเลยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง