เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 92908 ภาษาไทยในยุค AEC
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 01 ส.ค. 18, 16:16

คำ นะค่ะ เคยถูกลากยาวกันใน facebook มาแล้วค่ะ
เริ่มต้นด้วยเจ้าของค.ห. นี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 01 ส.ค. 18, 16:20

ความเห็นสนับสนุนค.ห.ข้างบนนี้
v
v
v

Khemmanat Seehawallop
27 กรกฎาคม เวลา 23:36 น. ·
การรวมศูนย์อำนาจทางภาษา (linguistic centralization) และลัทธิต่อต้านการใช้นะค่ะ (antiนะค่ะism)

DISCLAIMER: โพสนี้เป็นการบ่นโดยอ้างอิงแนวคิดทางภาษาศาสตร์ อาจอ่านเข้าใจยากนิสนึง
#นี่ผมเป็นคนจริงจังไปใช่ไหม

ล่าสุดเห็นเพจรณรงค์ด้านการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพจนึง ออกมาแซะคนใช้ "นะคะ" ผิดเป็น "นะค่ะ" อีกแล้ว ซึ่งคนที่ใช้ผิดนั้นก็ได้อธิบายว่า "ทานข้าวไหมค่ะ จะสุภาพกว่า ทานข้าวมั้ยคะ เหมือนถามว่า มึงสิแดกบ่" [1]

สมมติฐาน: คนที่ใช้ผิดคนนั้นเป็นคนอีสาน

คือใครเป็นคนอีสาน/พูดอีสาน จะรู้สึกว่าการพูดว่า "กินข้าวบ่ค่ะ/ขรับ" มันฟังดูสุภาพกว่า "กินข้าวบ่คะ/ครับ" จริงๆ เพราะลงท้ายด้วย "คะ" เสียงสูงมันฟังดูหาเรื่องมากๆ

Fact คือ ภาษาไทยถิ่นอื่นๆ ไม่มีการสะกดคำที่เป็นแบบแผน เพราะไม่มีองค์กรอย่างราชบัณฑิตฯ มาควบคุม การสะกดคำทุกอย่างอ้างอิงภาษาไทยกลางหมด โดยเฉพาะการผันวรรณยุกต์ ดังนั้นสิ่งที่เขียนเลยไม่ตรงกับสิ่งที่อ่านออกเสียงจริงๆ เพราะต้องสะกดคำให้ถูกตามภาษามาตรฐาน การสะกดแบบอื่น ซึ่งถ่ายทอดเสียงได้ตรงมากกว่าแท้ๆ จึงถูกมองว่าผิดในทันที

เช่น คนอีสานพูดว่า
"กิ่นเข่าบอค่ะ" = กินข้าวไหมคะ
"ไป่แหล้วเด้อค่ะ" = ไปแล้วนะคะ

แต่ไม่มีใครสะกดกันแบบนั้น
จริงๆ แล้วคนอีสานก็ยังสะกดว่า "กินข้าวบ่คะ" อยู่ดี เพราะไม่งั้นคนอื่นจะอ่านไม่รู้เรื่อง (ทั้งคนกรุงเทพและคนอีสานด้วยกันเอง)
หรืออย่างคำว่า "เหี่ย" ซึ่งเทียบได้กับภาษากรุงเทพว่า "เรี่ย" แปลว่าหล่น (เรี่ยราด) ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเจอคนอีสานสะกดว่าเรี่ย ก็มันออกเสียงว่า "เหี่ย" นี่

ดังนั้นมันเลยเกิดช่องว่างอันถ่างโพด ระหว่างความอ่านออก (intelligibility) กับความตรงเสียง (phoneticity)
ซึ่งมันคือความขัดแย้งระหว่าง การสะกดที่ถูกต้องตามภาษากรุงเทพ vs การสะกดที่ถูกต้องตามการออกเสียงของท้องถิ่น

อีกตัวอย่างนึงที่เห็นได้ชัดในภาษาต่างประเทศ คือคำว่า "โกปี่เตี่ยม" (咖啡店) ซึ่งแปลว่าร้านกาแฟในภาษาจีนฮกเกี้ยน และเป็นคำที่ใช้เรียกร้านกาแฟในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทย ทั้งๆที่ภาษาฮกเกี้ยนมีตัวสะกดของคำคำนี้เป็นของตัวเอง (㗝呸店) [2] แต่ไม่มีใครเขาสะกดแบบนี้กันแล้ว เพราะคนอื่นอ่านไม่รู้เรื่อง ทุกวันนี้คำภาษาถิ่นสะกดแบบจีนกลางกันเกือบหมดแล้ว เหลือแค่ฮ่องกงที่ยังรักษาตัวสะกดแบบกวางตุ้งไว้ได้อยู่

หรือจริงๆ แล้ว ปัญหามันอยู่ที่ภาษาท้องถิ่นไม่มีตัวอักษรเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้พูดภาษาถิ่นเลือกไม่ได้ที่จะต้องใช้อักษรไทย ในการเขียนภาษาถิ่นของตนเอง ซึ่งทำให้ต้องยึดโยงกับการผันวรรณยุกต์แบบกรุงเทพ และไม่สามารถสะท้อนถึงความ distinct ของภาษาถิ่นได้
ถึงต่อให้จะสะกดในแบบที่ท้องถิ่นคิดว่าถูกแล้ว ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ เพราะภาษาถิ่นไม่มีสถานะ official พอที่จะมาเป็นภาษาเขียนทางการแบบภาษากรุงเทพได้เลย

ยกตัวอย่างเพลงเต่างอย ของจินตหรา พูนลาภ [3]
มีท่อนนึงที่ร้องว่า "ปล่อยน้องระทม ขื่นขมน้ำตาย้อย" ซึ่งจริงๆ คำว่าย้อย ควรสะกดว่า "ญ้อย" ด้วยซ้ำ เพราะมันเป็น ย แบบขึ้นจมูก (เป็นยังไงลองฟังดูได้)
แต่ในเมื่อภาษากรุงเทพบัญญัติไปแล้วว่า ย้อย คือการสะกดที่ถูกต้อง คนนิยมใช้กันจนแพร่หลายแล้ว คำว่า "ญ้อย" จึงกลายเป็นการสะกดแบบเอเลี่ยนไปโดยปริยาย

ทั้งหมดนี้มีส่วนให้คนจำนวนมากยังสะกด "นะค่ะ" หนึ่งในนั้นคือคนอีสาน
ไม่รู้ว่าภาษาถิ่นอื่นเป็นอย่างไร เพราะภาษาอีสานเป็นภาษาถิ่นเดียวที่เรารู้ แต่เราสามารถ justify การใช้นะค่ะโดยคนอีสานได้ ตามเหตุผลข้างต้น

สุดท้ายนี้อยากฝากใครก็ตามที่พูดภาษากรุงเทพ (โดยเฉพาะผู้นิยมลัทธิต่อต้านการใช้นะค่ะ) ว่า

1. อักษรไทยไม่ได้มีไว้เพื่อเขียนภาษาไทยมาตรฐานเพียงอย่างเดียว

ยกตัวอย่างอักษรละติน หรือ a-z (Latin Script) ซึ่งเป็นอักษรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ใช้เขียนภาษาต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะภาษาในยุโรป [4] แต่ทุกภาษาก็ล้วนมีระบบของตัวเองในการสะกดคำและการออกเสียง เช่น ตัว r ในภาษาอังกฤษเป็นเสียงห่อลิ้น ภาษาฝรั่งเศสเป็นเสียงขากเสลด ภาษาสเปนเป็นเสียงรัวลิ้น หรือที่แปลกๆหน่อยก็ภาษาจีนกลางที่ใช้ r แทนเสียงอะไรก็ไม่รู้ (มันคล้ายเสียง z ในภาษาอังกฤษที่ต้องห่อลิ้น)
อักษรละตินมันก้าวข้ามความเป็นเจ้าของ ก้าวข้ามการผูกขาดโดยกลุ่มผู้ใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งไปแล้ว

ทีนี้มันขึ้นก็อยู่กับความใจกว้างของผู้ใช้ภาษากรุงเทพแล้วล่ะว่า จะยอมให้ภาษาถิ่นอื่นๆ ใช้อักษรไทยในระบบของตัวเองหรือเปล่า

2. ถึงภาษากรุงเทพจะเป็นภาษาราชการ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะพูดภาษานี้ในชีวิตประจำวัน

ยกตัวอย่างป้าร้านโจ๊กแถวออฟฟิศ จะถามเราทุกวันว่า "ไซไคบอค่ะ" (ใส่ไข่ไหมคะ) คือถึงแม้ว่านี่จะลูกครึ่งอีสาน แต่หน้าจีนพอที่จะไปวัดพระแก้วแล้วโดนถามว่าคนไทยมั้ย ไม่ใช่ว่าป้าแกรู้ว่าเราพูดอีสานได้ เพราะไม่เคยพูดอีสานกับป้า แต่เพราะป้าพูดภาษากรุงเทพไม่ได้ ฟังได้อย่างเดียว และไม่มีเหตุผลที่ป้าจะพูดอีสานกับเจ๊กชนชั้นพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพ เพราะหากป้าแกพูดกรุงเทพได้ก็คงพูดไปแล้ว

การที่เขาพูดไม่ได้ ทำให้เขาไม่รู้ว่าจะสะกด "นะคะ" ให้ถูกได้อย่างไร ก็ภาษาบ้านเขาใช้ "ค่ะ" มาตลอด

และคนอีสานไม่ได้พูด "นะคะ" แต่พูดว่า "เด้อค่ะ"

อ้างอิง:
[1]https://www.facebook.com/…/a.154972285201…/2078345595816976/
[2]https://www.facebook.com/…/a.809874489118…/1115088018597606/
[3]http://music.sanook.com/…/s…/Be_yumzpmco4DVOmGyqJZQ==/lyric/
[4]https://en.wikipedia.org/wiki/Spread_of_the_Latin_script

https://www.facebook.com/k.seehawallop/posts/2519823864698111
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 01 ส.ค. 18, 16:30

ใครไม่งงกับค.ห. 2 ค.ห. ข้างบนนี้ช่วยถอดรหัสให้ทีนะคะ
เราพูดกันถึงการสะกดคำ นะคะ ที่ใส่ไม้เอกเข้าไปบนคำว่า คะ กลายเป็นค่ะ  ทั้งๆเวลาพูด  ออกเสียง นะคะ 
พูดง่ายๆคือสะกดผิด
นะคะ มันก็ภาษาไทย  ทำไมประเด็นกลายเป็นภาษาถิ่นไปได้
นะคะ กับ เด้อค่ะ คนละคำกันนี่นา   
ไม่มีใครบังคับให้ออกเสียงเป็น เด้อคะ สักหน่อย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 01 ส.ค. 18, 19:02

เรื่องการออกเสียงก็ยังมีปัญหา แม้แต่ครูสอนภาษาไทยบางท่านยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกเสียงคำว่า "ค่ะ"

"ส่วนคำว่า "ค่ะ" (ออกเสียง ขะ) ใช้กับประโยคที่ต้องการเสียงต่ำ อย่างประโยคบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ รักค่ะ เกลียดค่ะ เชิญค่ะ จบค่ะ

จาก คะ ค่ะ นะคะ เขียนอย่างไรถึงถูกต้องกันแน่ โดย คุณครูลิลลี่



"ค่ะ" กับ "ขะ" ออกเสียงต่างกัน

ค่ะ เสียงวรรณยุกต์โท ส่วน ขะ เสียงวรรณยุกต์เอก ถ้าต้องการเทียบจริง ๆ ค่ะ = ข้ะ ลองดูในตารางข้างล่างนี้เด้อ
  ยิ้มเท่ห์




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 01 ส.ค. 18, 20:08

อ้างถึง
"ส่วนคำว่า "ค่ะ" (ออกเสียง ขะ) ใช้กับประโยคที่ต้องการเสียงต่ำ อย่างประโยคบอกเล่า ตอบรับ ตอบคำถาม เช่น สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ รักค่ะ เกลียดค่ะ เชิญค่ะ จบค่ะ

ครูลิลลี่น่าจะตกวรรณยุกต์ไปตัวหนึ่ง   
ค่ะ ต้องออกเสียงว่า ข้ะ  ไม่ใช่  ขะ 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 01 ส.ค. 18, 20:21

คุณเทาชมพูลองฟังคุณครูลิลลี่ออกเสียงคำว่า "ค่ะ" ในคลิปข้างบน

คุณครูเชื่อจริงๆ ว่า "ค่ะ" ออกเสียงว่า "ขะ"  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 02 ส.ค. 18, 11:56

ในความเห็นที่สอง ที่ยกเอาเรื่อง วิธีการพูด เรื่องสำเนียงเสียงเหน่อหรือไม่เหน่อ เอามาแสดงนั้น ก็เพื่อที่จะนำเสนอว่า ภูมิภาคของเขา "ออกเสียง" อย่างนี้ (ยกตัวอย่างจาก เพลงของคุณจินตหรา พูลลาภ) เมื่อเขาออกเสียงอย่างนี้ เขาก็ควรมีสิทธิที่จะสำกดคำตามเสียงที่เขาออก การบังคับให้สะกดคำตามการออกเสียงของคนภาคกลาง คือการรวบอำนาจทางภาษาครับ

ถ้าคิดเง้ ต้องให้เจอภาสาเท่นักเล่นเกมออนไรพูดกัน หนุกเน่ๆ ไม่เมฟจิงฟังไม่รู้เรื่องหลอก 5555    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 02 ส.ค. 18, 16:02

จิงขะ  ชิมิ  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 02 ส.ค. 18, 21:30

ในมุมหนึ่ง

เมื่อเราเขียนและสะกดคำต่างๆเพื่อถ่ายทอดสรรพสิ่งที่เป็นภาษาและสำเนียงถิ่นให้ออกมาในรูปของภาษาที่เราคิดว่ามันมีความถูกต้องในทางสำเนียง การสื่อความหมาย และการพลวัตทางภาษา มันก็จะทำให้เรื่องราวต่างๆสามารถสื่อสารออกมาได้ในเชิงของคุณภาพ ความสุนทรีย์ และความมีชีวิตชีวาของเรื่องราวเหล่านั้น    ต่างไปจากการเขียนและการสะกดคำที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนด หลักเกณฑ์ และการใช้ภาษาตามหลักทางวิชาการหรือทางภาษาศาตร์ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วเราจะต้องตีความและใส่ความอารมภ์ความรู้สึกของเราเข้าไปให้กับข้อเขียนหรือคำสะกดที่เขียนอย่างถูกต้องตามหลักภาษาเหล่านั้นแล้วจึงจะได้อรรถรส

อ่านและเขียนในภาษาพูดย่อมให้อรรถรสมากกว่าการอ่านและเขียนในภาษาเขียน ยกเว้นในเรื่องทางวิชาการ โดยเฉพาะในเรื่องทาง empirical และ theoretical

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็จะต้องมีการผสมผสานที่เหมาะสมจึงจะเกิดความมีคุณค่า
บันทึกการเข้า
azante
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 02 ส.ค. 18, 22:21

อักษรนำ อักษรตาม สมัยนี้ก็แปลกๆไปครับ

ตรีผลา อ่านว่าอย่างไรครับ

ตรี - ผะ -หลา

หรือ

ตรี -ผะ -ลา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 03 ส.ค. 18, 08:30

ท่านรอยอินอธิบายว่า

ตรีผลา [-ผะลา] น. พิกัดตัวยาประเภทหนึ่งในตำรายาไทย จำกัดจำนวนตัวยาอันเป็นผลไม้ ๓ อย่าง คือ สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม. (ส. ตฺริผลา).

อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัยอธิบายเพิ่มเติมว่าคำนี้ไม่ใช่เรื่องของ อักษรนำ อักษรตาม

คำว่า “ตรีผลา” นี้มีผู้อ่านว่า ตฺรี-ผะ-หฺลา หรือบางทีก็อ่านว่า ตฺรี-ผฺลา คืออ่านเช่นนั้นเพราะเข้าใจว่า ผ- เป็นอักษรนำ (หรือเป็นอักษรควบ- เพ็ญชมพู) เหมือนคำว่า ผลาญ อ่านว่า ผฺลาน (เสียงสูง) ไม่ใช่ ผะ-ลาน แต่เนื่องจากคำว่า “-ผลา” ในที่นี้ รากเดิมมาจาก “ผล” อ่านว่า ผะ-ละ “ผ” กับ “ล” แยกพยางค์กันชัดเจน จึงต้องอ่านว่า ผะ-ลา ไม่ใช่ ผะ-หฺลา หรือ ผฺลา

โปรดดูเทียบกับคำเหล่านี้ :

– ผลานิสงส์ (ผล + อานิสงส์) อ่านว่า ผะ-ลา-นิ-สง ไม่ใช่ ผะ-หลา-นิ-สง หรือ ผฺลา-นิ-สง
– ผลาผล (ผล + อผล) อ่านว่า ผะ-ลา-ผน ไม่ใช่ ผะ-หลา-ผน หรือ ผฺลา-ผน
– ผลาหาร (ผล + อาหาร) อ่านว่า ผะ-ลา-หาน ไม่ใช่ ผะ-หลา-หาน หรือ ผฺลา-หาน

ดังนั้น “ตรีผลา” จึงต้องอ่าน ตฺรี-ผะ-ลา ไม่ใช่ ตฺรี-ผะ-หฺลา หรือ ตฺรี-ผฺลา

http://dhamma.serichon.us/ทองย้อย/ตรีผลา-ศัพท์วิชาการในตํ/
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 03 ส.ค. 18, 11:09

ดังนั้นมันเลยเกิดช่องว่างอันถ่างโพด ระหว่างความอ่านออก (intelligibility) กับความตรงเสียง (phoneticity)
ซึ่งมันคือความขัดแย้งระหว่าง การสะกดที่ถูกต้องตามภาษากรุงเทพ vs การสะกดที่ถูกต้องตามการออกเสียงของท้องถิ่น

เรื่องภาษาบางทีก็ยอกย้อนไม่ตรงไปตรงมา การสะกดที่ถูกต้องตามมาตรฐานของรอยอินก็ไม่ใช่สะกดตามการออกเสียงภาษากรุงเทพเสมอไป ในทางตรงกันข้ามอาจเป็นการสะกดตามการออกเสียงภาษาของบางถิ่นเสียด้วยซ้ำ

คำว่า                             ออกเสียงว่า

น้ำ                                น้าม
ไม้                                ม้าย
ไหว้                              ว่าย
ได้                                ด้าย
ใต้                                ต้าย
เก้า                               ก้าว
เช้า                               ช้าว
เปล่า                              ปล่าว

การออกเสียงเช่นนี้เป็นสำเนียงกรุงเทพ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 19 ส.ค. 18, 17:13

ดึงกระทู้นี้ขึ้นมา
ตั้งข้อสังเกตว่า ภาษาในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ สะกดผิดกันบ่อยมาก แม้ในคำง่ายๆ
แสดงว่าไม่มีผู้ทำหน้าที่พิสูจน์อักษรตามแบบเมื่อก่อนอีกแล้ว หรืออย่างไร?


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 19 ส.ค. 18, 18:26

คนเขียนข่าวเกร็งกับกฎเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษของท่านรอยอินซึ่งไม่ให้ใช้วรรณยุกต์ จนเขียนชื่อเฉพาะของนางเอกสาวเป็น "เจนี" และคู่รักเป็น "มิกกี" โดยไม่คำนึงว่าชื่อทั้งสองเป็นชื่อเฉพาะ ควรเขียนตามที่ออกเสียงจริงคือ "เจนี่" และ "มิกกี้"

ในขณะเดียวกันก็ละเลยกับการเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องเช่นคำว่า เพชร, มงกุฎ และเปล่งปลั่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 24 ส.ค. 18, 20:37

สื่อหนุ่มสาวยุคนี้ ไม่รู้จักคำว่า "โอละพ่อ" เสียแล้ว

โอละพ่อ   =   กลับตรงกันข้าม อย่างกลับหน้ามือเป็นหลังมือ.


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 20 คำสั่ง