เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3644 "สักวาคุณค่าวรรณคดี" จากคอลัมน์ มองภาษา โดย “สุดสงวน”
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:04

        เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ สโมสรสยามวรรณศิลป์ได้รับเชิญจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ให้ไปร่วมเป็นวิทยากร สาธิตการแสดงสักวา ในหัวข้อ คุณค่าวรรณคดี  ในงานประชุมประจำปีของสมาคมฯ
   ผู้บอกสักวาคราวนี้ มากันชุดเล็กเพียง ๔ คนคือคุณประยอม ซองทองศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๔๘  ผศ.อำพล สุวรรณธาดา ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ๒๕๕๕  อดีตผอ.ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ม.ร.ว. อรฉัตร ซองทอง ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นปี ๒๕๕๓ และคุณสายพร แจ่มขำ ข้าราชการบำนาญ นักลอน นักเขียนอิสระ โดยมีวงดนตรีไทยจากกองการสังคีตกรุงเทพมหานคร ในความควบคุมของคุณไชยชนะ เต๊ะอ้วน มาร่วมบรรเลง  และมีนักร้องเสียงเสนาะมาช่วยให้บทกลอนมีชีวิตชีวา คือคุณประสิทธิ์ วงษ์นิล ขับร้องบทฝ่ายชายและคุณทัศนีย์วรณ คำศิริ ขับร้องบทฝ่ายหญิง

      เมื่อพิธีกรแนะนำผู้บอกสักวาแล้วคุณประยอม ได้เรียนผู้เข้าประชุมว่าสักวาวันนี้เหมือนเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน เพราะผู้เข้าประชุมต่างมีความรู้เรื่องวรรณคดีแล้ว  นักสักวาจะมาฟื้นหรือทบทวนเท่านั้น   แต่สักวาทำได้เพียงส่วนน้อยนิด  เพราะคุณค่าวรรณคดีนั้นมีมากมาย ไม่สามารถบรรจุลงในสักวา ๘ วรรคได้ แต่จะพยายามทำตามขนบการแสดงสักวา  เพื่อท่านที่เป็นครูภาษาไทยจะได้แนวทาง  คือมีไหว้ครู เกริ่นชวน เกริ่นตอบ แจกตัว และลงท้ายด้วยบทลา   แล้วก็ว่าบทไหว้ครูดังนี้
    สักวาน้อมบังคมบรมเดช                   พระปรเมศประเทศไทยเดชไพศาล 
    ไหว้บิดามารดาครูอาจารย์                     พระไตรรัตน์ชัชวาลดลดาลใจ 
    ระลึกคุณห้องสมุดจุดความรู้                   กราบหนังสือซึ่งคือครูผู้ยิ่งใหญ่ 
    สอนคนเข้มให้เต็มคนชนทุกวัย                กราบสัญลักษณ์อักษรไทยภูมิใจเอย
                                   ( เพลง เชื้อ ๒ ชั้น)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:06

          บทเกริ่นชวน (อำพล) –
          สักวาตาประสานสองสมร                            ทั้งสายพรอรฉัตรเหมือนนัดหมาย
          เคยร่วมวงสักวามามากมาย                          ขอเชิญสายสวาทมาว่าอีกครั้ง   
          ไม่ต้องใช้ปฏิภาณเพื่อปฏิพากย์ (ปฏิพากย์ =การโต้ตอบ)    ใช้ฝีปากเชิงกวีที่เข้มขลัง
          เพื่อชื่นใจรื่นหูแก่ผู้ฟัง                               ด้วยความหวังรับคำขอจะรอเอย
                                      (เพลงเวสสุกรรม)
   บทเกริ่นตอบ(สายพร) –
        สักวาไม่ได้เข้าห้องสมุด                              ตั้งแต่หยุดเป็นครูอยู่แต่บ้าน 
        วันนี้ได้รับเชิญมาร่วมงาน                             กับอาจารย์ห้องสมุดสมาคม 
        สองตาปู่ชวนเล่นสักวา                               สองยายย่าก็วิเคราะห์ความเหมาะสม (ฮา) 
        ไม่-ไม่-ไม่-ปฏิเสธเจตนารมณ์ (ฮาดัง)              เชิญท่านชมแบบบูรณาการเอย(ฮาดัง เพลงทองย่อน)
 
   แล้ว ม.ร.ว.อรฉัตรก็กล่าวก่อนแจกตัวว่า ตามปรกติเราจะเล่นสักวาเป็นเรื่องตามวรรณคดีที่ผู้ฟังรู้เรื่องอยู่แล้ว แต่คราวนี้จะว่าเรื่องที่มีสาระมากมาย ซึ่งเราคงพูดได้สั้นๆโดยอาจารย์อำพลได้สรุปเป็นหัวข้อให้จำง่ายๆว่า  วรรณคดีประกอบด้วยร้อยแก้วและร้อยกรอง วรรณคดีให้ความรู้ในการแต่ง  ในการดำเนินชีวิต   ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์  และให้ความบันเทิง  ส่วนความบันเทิงจากวรรณคดีก็สรุปได้ ๔ รสคือ เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง สัลลาปังคพิสัย  แล้วก็จะกล่าวว่าวรรณคดีให้สาระประโยชน์ในการกระตุ้นให้แต่ง - แฝงคติธรรม - นำมาแปลงเป็นละครและภาพยนตร์   แล้วตอนท้ายจะสรุปว่าวรรณคดีให้คุณค่าทางภาษาวรรณศิลป์ - ส่งเสริมจินตนาการ - สืบสานสติปัญญาและพัฒนาเชิงสร้างสรรค์   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:19

         แล้วก็เริ่ม บทแจกตัว ดังนี้ -
     
         สักรวามาแจกตัวตามระเบียบ                          ในทำเนียบสักรวาภาษาศรี 
         อรฉัตรจัดหัวข้อ “เสาวรจนี”                           เรื่อง”นารีปราโมทย์”อ้อนสายพรไป 
         คุณอำพลคนมีประโยชน์”พิโรธวาทัง”                คุณประยอม”สัลลาปังคพิสัย” 
         ศัพท์อย่างนี้ดีแท้แปลว่ากระไร                        เชิญค้นในห้องสมุดดุจครูเอย(ฮา-เพลง สะสม)

   คุณสายพรเริ่มด้วยความรู้เบื้องต้นทางวรรณคดีว่า
     
        –สักวาร้อยแก้วกับร้อยกรอง                            นับเป็นสองประเภทวรรณกรรมใหญ่   
        ร้อยแก้วเป็นความเรียงอัตนัย                           ร้อยกรองใช้ฉันทลักษณ์ลำดับความ 
        พระสังข์เงียบ-ขุนแผนเหงา-อิเหนาหงอย(ฮา)        ต่างรอคอยคนรู้จักมาทักถาม 
        รามเกียรติ์ดำรงการสงคราม                             ราชาธิราชก็ทาบทามสามก๊กเอย(ฮา-เพลงขึ้นพลับพลา) 

   แล้วม.ร.ว.อรฉัตร ก็กล่าวถึงวรรณคดีประเภทร้อยกรองว่า
        –สักรวาความรู้เรื่องฉันทลักษณ์                        กวีจักบรรจงใส่ในโคลงฉันท์
        ทั้งกาพย์กลอนลิลิตร่ายคล้ายคลึงกัน                  ทั้งเสียงสั้นเสียงยาวงามพราวแพรว 
        สัมผัสในสัมผัสนอกบอกให้รู้                            มือชั้นครูศักดิ์ศรีกวีแก้ว 
        บังคับไว้ให้เห็นเป็นแบบแนว                           แบ่งวรรคตอนเจื้อยแจ้วจำเรียงเอย (เพลงลีลากระทุ่ม)

   คุณอำพลบอกว่า วรรณคดีให้ความรู้ในการดำเนินชีวิต
      - สักวาวรรณคดีคือชีวิต                                   คอยกล่อมจิตสอนใจหลายสถาน 
        ให้ความหวังสั่งสมอุดมการณ์                           ช่วยสืบสานศิลปวัฒนธรรม 
        คำกวีที่แต่งแฝงเอาไว้                                   อย่างน้อยให้มีสติไม่ใฝ่ต่ำ 
        “กรรมชั่วดีมีก็ต้องสนองกรรม”                          จะโน้มนำชีวิตถูกทิศเอย (เพลงพราหมณ์ดีดน้ำเต้า)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:24

     คุณประยอมกล่าวว่าวรรณคดีให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์-
     สักวาวรรณคดีมีความรู้                                        เป็นดั่งครูประวัติศาสตร์บอกกาลก่อน  
     ตะเลงพ่าย-ไทยรบราพม่ามอญ                              สามก๊กสอนรู้พงศาวดารจีน  
     สอนให้รู้ตำแหน่งแห่งรากเหง้า                               ไม่มัวเมาอวิชชาพาผิดศีล  
    ให้รู้คิดวินิจฉัยผิดป่ายปีน                                      ไม่ใช้ตีนแทนสมองไตร่ตรองเอย
     (แล้วบ่นว่าเผลอลง”กลอนอีน”มีคำจำกัด ถูกบังคับอยู่ ๔ คำ แต่นักกลอนยุคใหม่อาจอาศียภาษาอังกฤษเช่น ยีน คลีนฯลฯ มาช่วย(ฮา-เพลงกล่อมพญา)
   
     ต่อไป ม.ร.ว.อรฉัตรกล่าวถึงรสแรก ในวรรณคดีให้ความบันเทิง ๔ รส ว่า-
     สักรวาหวานใดในโลกนี้                                       ไม่หวานเท่า”เสาวรจนี”กวีหวาน  
     อันโศกใดในหล้าสุธาธาร                                     ไม่โศกซ่านเท่ากวีที่โศกครวญ  
     อันหอมใดไม่หอมล้ำเท่าคำหอม                              อันทุกข์ใดไม่ตรมตรอมเท่าคำหวน  
     อันสุขใดไม่สุขเท่าเร้ารัญจวน                                  กวีล้วนสรรสนองร้อยกรองเอย
                                            (เพลงตะลุ่มโปง)
   คุณสายพรกล่าวถึงความบันเทิงในรส “นารีปราโมทย์”ว่า –
        สักวานารีย่อมปราโมทย์                                    นางพิมเธอจึงโปรดไปไร่ฝ้าย (ฮา)  
        บุษบาเสี่ยงเทียนแกมเสี่ยงทาย                            ละเวงพ่ายเพลงปี่ตามลีลา
        รจนาปองเจ้าเงาะก็ปราโมทย์                               ขายข้าวโลดได้ตันละหมื่นห้า (ฮาดัง)  
        อีกนารี “เอาอยู่”ค่ะนอกสภา                                กำลังปราโมทย์ทัวร์ทั่วโลกเอย (ฮาดัง-เพลงสาลิกาแก้ว)  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:38

          คุณอำพลกล่าวถึงรสที่สามของวรรณคดีว่า –
          สักวาถ้าพิโรธคือโกรธจัด                              หรืองอนง้อพ้อตัดก็ยังได้  (แล้วทำเสียงขึงขัง)
          “เอออุหม่นะมึงชิช่างกระไร                            ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉนก็มาเป็น”
          (ยกตัวอย่างแล้วมีการทดสอบว่ามาจากเรื่องอะไร เมื่อมีคนฟังตอบว่า “สามัคคีเภทคำฉันท์”แล้วคุณประยอมบอกต่ออีกว่า นี่คือบทพิโรธที่ใช้ อีทิสังฉันท์ ๒๐ที่เขียนยาก  แต่กวีเอกอย่าง ชิต บุรทัต ท่านเขียนด้วย คำไทยๆได้ดีเยี่ยม)
         “นิจจาเจ้าวันทองน้องพี่อา                              พี่จำหน้าเนื้อน้อง” เคยท่องเล่น
         (แล้วก็ถามว่ามาจากไหน พอมีคำตอบว่า”ชุนช้างขุนแผน” แล้วก็เลยช่วยกันกับคุณประยอมท่องต่อไปอีกยาว) 
         เป็น”พิโรธวาทัง”ทั้งประเด็น                            ฟังแล้วเห็นภาพพจน์ปรากฏเอย
                         (ปรบมือดัง บทนี้ร้องเพลงโยนดาบ ซึ่งเข้าบรรยกาศกลอนมาก)
   ส่วนคุณประยอมกล่าวถึงแง่ ”สัลลาปังคพิสัย” (เศร้าโศก คร่ำครวญ)ว่า-
         สักวา “สัลลาปังคพิสัย”                                 รังสรรค์ให้วรรณคดีหลากสีสัน 
         ยิ่งในโศกนาฏกรรมที่สำคัญ                              บทเศร้านั้นยิ่งกระชับประทับใจ 
         เช่นพระลอหรือโรเมโอจูเลียต                            เหนือโกรธเกลียดเศร้าหมองหรือร้องไห้ 
         หรือพระเอกเจ้าน้ำตาอย่างพระอภัย                      เป่าปี่เศร้าคราวใดได้เรื่องเอย (ฮา -เพลงการเวก)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:40

          อาจารย์อำพลขอแจมตรงนี้ว่า พระอภัยมณีไม่ได้เป่าปี่เกี้ยวด้วยบทเศร้าแล้วได้เมียนะ แต่มันพาให้เป็นไปเอง เช่นนางผีเสื้อสมุทรก็มาอุ้มไป  นางสุวรรณมาลีก็สึกชีเพราะอุบายนางวาลี ส่วนนางละเวงก็เพราะลูกสาวอะไรทำนองนั้น ว่าพลางทางท่องกลอนตอนพระอภัยมณีเป่าปี่ออดอ้อน
         “ต้อยตะริดติ๊ดตี่เจ้าพี่เอ๋ย                            อย่าละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน”
         มีคนต่อว่า
         “ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย                             จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย”
         จึงนึกได้ว่า
        ”ไม่ใช่ นั่นตอนเป่าปี่กล่อมสามพราหมณ์มากกว่า” เลยเรียกเสียงฮา
        (หมายเหตุ ผู้บันทึก-กลอนต่อไปนั้นมีว่า
        “แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุมาลัย                            แม้เด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย 
        ฉุยฉายชื่นรื่นรวยระทวยทอด                         จะกล่อมกอดกว่าจะหลับกับเขนย
        หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย                     ใครจะเชยโฉมน้องประคองนวล”) 

   มาถึงหัวข้อที่ว่า วรรณคดีให้สาระอะไรบ้าง  อย่างแรกคุณสายพรบอกว่า “กระตุ้นให้แต่ง”
        สักวาอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า                       นักเขียนว่าอย่างนั้นกันทุกรุ่น
        วรรณคดีเป็นต้นแบบและต้นทุน                      ซึ่งกระตุ้นให้แต่งตามแรงตน 
        สารคดีคุยเฟื่องกับเรื่องสั้น                           นิยายอันอ่อนเลศแจงเหตุผล 
        ประวัติสาสตร์รุกคืบการสืบค้น                        ต่างเป็นต้นแบบให้มือใหม่เอย (เพลงล่องน่านใหญ่)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:43

          คุณอำพลบอกว่าวรรณคดีให้สาระแง่”แฝงคติธรรม”-
          สักวา “เสาแปดศอกตอกเป็นหลัก                            ไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว” –
          “น้ำหนึ่งหยดสร้างมหาชลาลัย                                ทรายเม็ดน้อยก่อให้เป็นปฐพี”
        –“โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา                                 ปองติฉินนินทาห่อนเว้น”หนี 
          ล้วนหลักธรรมจากวรรณคดี                                    ซึ่งพบมีแทรกซุกทุกเรื่องเอย (เพลงพญาสี่เสา)
     ม.ร.ว.อรฉัตรกล่าวถึงสาระที่ได้ในทำนองนำมาแปลงเป็นละครว่า-
          สักรวาสาระประโยชน์ยิ่ง                                       วรรณคดีเสริมสิ่งสร้างสรรค์ให้   
          โขนของชาตินาฏศิลป์ละครไทย                              ละครในละครนอกนาฏดนตรี 
          ละครพูดละครร้องพร้องพริ้งเพราะ                            แสนเสนาะความหมายหลายวิถี   
          ทั้งโคลงฉันท์กาพย์กลอนวอนวาที                            กล่อมชีวีเกื้อสังคมรื่นรมย์เอย (เพลงสีนวลนอก)

   คุณประยอมแถมจากคุณหญิงว่าตัดตอนมาทำภาพยนตร์-
         สักวามนุษย์นั้นพันธุ์ช่างคิด                                     รู้ประดิษฐ์ดัดแปลงเสริมแต่งศิลป์ 
         วรรณคดีที่ฟูเฟื่องเรืองระบิล                                     ศิลปินนำมาแปลงแต่งครรลอง 
         คุณเนาวรัตน์เคยเล่นเป็นพระอภัยมณี                           ท่าเป่าปี่เหมือนเป่าขลุ่ยได้แคล่วคล่อง 
         คุณสมบัติก็เคยเล่นเป็นไกรทอง                                 มีเมียเข้มากกว่าสองคล่องแคล่วเอย(เพลงพันธุ์ฝรั่ง)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:45

          ช่วงสุดท้ายให้สรุปว่าวรรณคดีให้คุณค่าอะไรบ้าง  คุณสายพรกล่าวว่าให้”ภาษาทางวรรณศิลป์”
         -สักวาข้อคิดที่ติดปาก                                    มักมาจากภาษาวรรณศิลป์ 
         เป็นวรรคทองที่รับฟังอย่างคุ้นชิน                         ผู้ได้ยินย่อมเข้าใจความหมายมี 
         ใช้ยกย่อง-ยั่วเย้า-หรือเยาะหยัน                         หรือแดกดันเตือนสติตามวิถี 
         เว้นแต่ผู้อ่อนภาษาการพาที                              แค่อ่านบทถูกก็ดียิ่งแล้วเอย(ฮา-เพลงวรเชษฐ์)
    คุณอำพลสรุปว่าได้คุณค่าด้าน”สืบสานสติปัญญา”
         - สักวาเสริมสมองเข้าห้องสมุด                           คือแหล่งสุดแสนวิเศษหลายเหตุผล 
         อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าอย่ากังวล                       ไม่มีคนโง่จากอ่านมากเกิน 
         เฉพาะมุมวรรณคดีมากมีค่า                               ช่วยสร้างสรรค์สติปัญญาน่าสรรเสริญ 
         ให้ความรู้ให้ความคิดจิตเพลิดเพลิน                      ขอชวนเชิญอ่านทุกอย่างยามว่างเอย (เพลงนกจาก)

   มีโน้ตส่งถึงนักสักวาว่า เหลือเวลา ๕ นาที  คุณประยอมซึ่งต้องสรุปว่าวรรณคดีให้คุณค่า”พัฒนาเชิงสร้างสรรค์” ลืมหัวข้อนี้  เลยขอให้ ม.ร.ว.อรฉัตรสรุปคุณค่า”เสริมส่งจินตนาการ”และบทลาไปด้วยกันเลย คุณหญิงจึงส่งบทให้อาจารย์จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน (อาจารย์โรงเรียนสาธิต มศว.ประสานมิตร นักกลอนหนุ่มมือรางวัลหลายเวที ซึ่งมาสังเกตการณ์  เลยถูกนักกลอนรุ่นพี่ขอให้เป็นผู้เดินสารมาแต่ต้น) นำส่งบทให้นักร้อง ซึ่งคุณประสิทธิ์ วงษ์นิลและคุณทัศนีย์วรรณ  คำศิริ แบ่งกันร้องคนละช่วง  ในทำนองเพลง เต่ากินผักบุ้ง ดังนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 31 ส.ค. 13, 15:53

                สักรวาวรรณคดีมีคุณค่า                           สร้างศรัทธาจินตนาการประมาณหมาย 
             สร้างความคิดลิขิตคำจำเรียงราย                    สร้างชีวิตหญิงชายชาวกวี   
                    (สร้อย) ดอกเอ๋ยเจ้าดอกสารภี   ห้องสมุดเรายังมี    วรรณคดีของไทยเอย 
                     อย่าลืมค้นลืมคว้า  เข้าไปหาอ่านบ่อยบ่อย  เพียงอ่านนิดอ่านหน่อย  อร่อยใจจริงเอย
              บทสุดท้ายถึงคราอำลาแล้ว                         ลาเพื่อนแก้วฝากอาลัยไว้ที่นี่ 
              ลานักอ่านนักร้องนักดนตรี                            ลาวันนี้จะกลับมาวันหน้าเอย    
                    (สร้อย)  ดอกเอ๋ยเจ้าดอกมะลิลา (บอกว่า นี่ก็จวนจะถึงวันแม่แล้ว เลยขอออกดอกมะลิ) บริสุทธิ์ดุจมารดา    ผู้สร้างชีวามาให้เอย 
              วรรณคดีมีคุณค่า      ฝากรักษาเอาใจใส่         อย่าทอดทิ้งความเป็นไทย    รักษาไว้นิรันดร์เอย @


                                  จากคอลัมน์ มองภาษา – สกุลไทย ฉบับที่ 3073 วันที่ 20 สิงหาคม 2556

   
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง