เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 10309 ขนมเข่ง – ของไหว้เจ้าอันขาดมิได้
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 23 ส.ค. 13, 19:46

ทุกๆปีวันตรุษวันสารทบ้านข้าพเจ้าจะวุ่นวายเป็นอาทิตย์ๆล่วงหน้าก่อนวันจริง เพราะว่าต้องเตรียมของไหว้ เดชะบุญสมัยนี้สะดวกกว่าสมัยก่อนมากที่ทุกอย่างต้องทำเอง ดังนั้นจึงไม่เหนื่อยเท่าไร เพราะสมัยรุ่นแม่ รุ่นป้า รุ่นยายของข้าพเจ้านั้น เป็ดไก่ล้วนเลี้ยงเองในบ้าน จะนำมาไหว้เจ้าทีก็เชือดที เชือดเสร็จก็นำมาลวกน้ำร้อน ถอนขน ล้างทำความสะอาด ก่อนจะนำไปต้ม

แต่ที่วุ่นวายกว่าการเชือดไก่ คงเป็นการทำขนมไหว้เจ้าอันได้แก่ขนมเข่งและขนมเทียน แม่กับป้าเล่าว่า ขนมเข่งขนมเทียนจะทำก็ต้องนั่งโม่แป้งเอง แม่ข้าพเจ้าเป็นมือโม่แป้งได้เล่าประสบการณ์ว่าตั้งโม่เมล็ดข้าวจนละเอียด คนหนึ่งโม่ คนหนึ่งหยอดข้าว และหยอดน้ำ พอได้แป้งแล้วก็ต้องนำแป้งมาใส่ห่อผ้า แล้วเอาหินโม่ทับไว้หนึ่งคืนจนกว่าแป้งจะแห้ง

พอรุ่งขึ้นแป้งได้ที่ก็ต้องตัดใบตองมาห่อ แม่บอกว่าแม่เป็นพนักงานช่วยห่อ เพราะไม่มีใครวางใจให้ทำขนม กลัวทิ้งทั้งหมด ส่วนป้าของข้าพเจ้าเป็นพนักงานช่วยทำไส้ขนม (ไส้เค็มเท่านั้น เพราะบ้านข้าพเจ้าไม่กินหวาน) ส่วนคุณยายทำจะตัวแป้ง ไส้ และห่อ ไม่ขอเรียกสิ่งที่ยายทำว่าช่วย เพราะยายคือกำลังหลักในการทำ แม่เล่าว่า ก๋งก็มาช่วยกับเขาด้วย

แม่กับป้าข้าพเจ้าบอกว่า ทำขนมเข่งขนมเทียนทีไร นึกย้อนไปให้ขนลุก เพราะว่าเหนื่อยมาก ด้วยที่บ้านไม่ได้ทำไหว้เจ้า บ้านเราคุณยายทำขนมอร่อยมาก ดังนั้นจึงทำขายด้วย คนจีนทั้งตลาดมาสั่งทำคิดดูว่ามันมากมายขนาดไหน ดีอยู่ตรงที่พอได้เงินมาแล้วค่อยชื่นใจกับเขาหน่อย

ด้วยเหตุนี้กระมังแม่กับป้าของข้าพเจ้าจึงไม่ชอบกินขนมเข่งและขนมเทียน คล้ายๆข้างบ้านข้าพเจ้าที่ชัยภูมิ ซึ่งคุณแม่ทำไส้กรอกอีสานเลื่องชื่อ ลูกหลานบ้านนั้นเป็นไปได้ก็ไม่ค่อยชอบกินไส้กรอกอีสาน บอกว่านึกแล้วให้เบื่อสุดขาดใจ

ภาพขนมเข่งและขนมเทียน



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 19:58

ขนมเข่งและขนมเทียนเป็นของไหว้เจ้าคู่กับคนจีนในไทยมาช้านาน แต่มีเพียงขนมเข่งเท่านั้นที่เป็นขนมซึ่งถ่ายทอดมาจากเมืองจีนแท้ๆ ส่วนขนมเทียนนั้นเป็นการพัฒนาจากขนมของไทยดั้งเดิม กล่าวคือ  ขนมเทียน หรือ ขนมนมสาว ทางภาคเหนือเรียกว่า ขนมจ็อก ซึ่งเป็นขนมที่นิยมใช้ในงานบุญ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ แต่เดิมมีไส้มะพร้าวและไส้ถั่วเขียว แต่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงไส้ขนมจ็อกออกไปหลากหลายมาก ชาวจีนโพ้นทะเลในไทยใช้ขนมเทียนในการไหว้บรรพบุรุษช่วงวันตรุษและวันสารท ไส้เป็นถั่วเขียวกวนบด ถ้าแบบเค็มจะใส่พริกไทยและเกลือ แบบหวานใส่มะพร้าวและน้ำตาลลงไปเพิ่ม ถ้าตัวแป้งทำด้วยแป้งถั่วเรียกขนมเทียนแก้ว

ขนมเข่งในจีนนั้นมีทั้งส่วนคล้ายและแตกต่างกับขนมเข่งของจีนในไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยแผ่นดินจีนกว้างใหญ่ไพศาล ขนมเข่งในแต่ละที่ย่อมแตกต่างกัน ขนมเข่งที่ชาวจีนโพ้นทะเลทำก็ได้รับอิทธิพลมาจากขนมเข่งที่บ้านเกิดของตนทำ

ภาพขนมเข่งในไทยและในมาเลเซียตามลำดับ



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 19:59

ขนมเข่งในภาษาจีนเรียกว่า “เหนียนเกา” (年糕:nian gao) แปลตรงๆคือขนมเค้กปี เป็นของว่างชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ไหว้ในเทศกาลต่างๆ รวมไปถึงกินกันเป็นปรกติธรรมเวลาไม่มีเทศกาลใดๆ ชื่อขนมชนิดนี้ในภาษาจีนพ้องเสียงกับคำว่า “เหนียนเกา” (年高:nian gao) อันมาจากคำว่า “เหนียนเหนียนเกา”  (年年搞:nian nian gao) แปลว่า “แต่ละปีดีขึ้นกว่าปีก่อน” ทั้งอายุ สุขภาพ เงินทอง มีบุตร ฯลฯ มีแล้วให้มีอีก ประเพณีการรับประทาน และใช้ขนมเข่งไหว้เจ้านี้มาแต่โบราณแล้ว สันนิษฐานว่ามีแต่ครั้งราชวงศ์โจว นับไปนับมาก็ประมาณ ๓๐๐๐ ปี ในอดีตนิยมใช้ไหว้เทพยดาและบรรพบุรุษในคืนก่อนปีใหม่ตามประเพณีจีน แต่ภายหลังกลายเป็นของไหว้ทั่วไปในเทศกาลตรุษจีน ไม่จำเป็นต้องจำกัดวัน 

ขนมเข่งในประเทศจีนนิยมใช้แป้งข้าวเหนียวในการทำ อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล ดังนั้นแต่ละที่การทำขนมเข่งจึงไม่เหมือนกัน ต่อไปนี้คือตัวอย่างของขนมเข่งในแต่ละที่

ขนมเข่งรูปปลาคาร์ฟ


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:01

ขนมเข่งทางเหนือ การทำนิยมใช้วิธีนึ่งหรือทำไปทอด รสชาติจะหวานเป็นหลัก ตัวอย่างดั่งขนมเข่งของปักกิ่ง  นิยมใช้แป้งข้าวเหนียว และแป้งข้าวเหลือง ซึ่งเป็นข้าวสีเหลืองพบทางภาคเหนือของจีนมาผสมกัน แล้วนำพุทราจีนแห้งยัดเป็นไส้ ไม่ก็ขย่ำผสมมันทั้งแป้งทั้งพุทราแห้ง แล้วนำไปนึ่ง เรียกว่า “หงจ่าวเหนียนเกา” (红枣年糕:hong zao nian gao) หรือนำผสมกับน้ำตาล แล้วเมล็ดธัญพืชต่างๆแล้วนำไปนึ่งก็มีเรียกว่า “ไป่กั๋วเหนียนเกา” (百果年糕:bai guo nian gao)

ภาพ “หงจ่าวเหนียนเกา” (红枣年糕:hong zao nian gao)

และภาพ“ไป่กั๋วเหนียนเกา” (百果年糕:bai guo nian gao)



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:02

ภาพ การทำ “หงจ่าวเหนียนเกา” (红枣年糕:hong zao nian gao)




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:06

ขนมเข่งแถบเจียงหนาน (江南:jiang nan) เขตเจียงหนานหมายถึงบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง อาทิ แถบ นานกิง ซูโจว หางโจว และเซี่ยงไฮ้เป็นต้อง ทั้งนี้จะถือว่าขนมเข่งของแถบซูโจวเป็นแบบพื้นฐานของพื้นที่แถบนี้ สีของขนมจะเป็นสีขาว รสชาติจืด ใช้แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวผสมกัน ส่วนใส่มากใส่น้อยแล้วแต่ผู้ทำว่าชอบแข็งมาก หรือนุ่มมาก ถ้าอยากให้แข็งหน่อยก็ใส่แป้งข้าวเจ้าเยอะหน่อย แต่ถ้าอยากให้นุ่มเหนียวแป้งข้าวเหนียวเยอะกว่า ผู้เขียนใส่อย่างละครึ่ง สามารถทำให้สุกโดยใช้วิธีนึ่ง ทอด หรือกระทั่งหั่นเป็นแผ่นๆแล้วเอามาผัดหรือต้มน้ำแกงกิน ข้อนี้ไม่ได้ล้อเล่น เพราะเมืองที่ข้าพเจ้าอยู่เขาทำจริงๆ ขนาดเอามากินกับสุกี้ยังมีเลย แถบหนิงปอมีการทำแกงขนมเข่งใส่ผักกาดดอกกับเนื้อหมู ไม่ก็ขนมเข่งผัดผัก หรือนำมาผัดกับซี่โครงหมูก็มี

ภาพขนมเข่งแบบเจียงหนาน และการนำขนมเข่งมาปรุงอาหารต่างๆ




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:07

ขนมเข่งแบบฝูโจว (福州:fu zhou) เมืองฝูโจวอยู่ในเขตมณฑลฟูเจี้ยน (福建:fu jian) หรือฮกเกี้ยน ถือเป็นเมืองสำคัญของมณฑล ขนมเข่งของฟูโจวเป็นขนมเข่งที่พบได้ทั่วไป ในต่างแดน  ลักษณะขนมเข่งแบบฝูโจวจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับขนมอีกหลายประเภทในเมืองฝูโจว แต่ชาวฝูโจวจะนับว่าเป็นขนมเข่งเฉพาะขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวเจ้า ผสมน้ำตาลทรายแดงเท่านั้น อย่างไรก็ตามตัวขนมเข่งอาจใส่ถั่วลิสง พุทราแห้ง และถั่วผสมลงไปได้เป็นไส้ โดยจะปั้นเป็นก้อนแป้ง ใส่ไส้ แล้ววางแปะไปบนใบตอง ซึ่งคนแถบฝูโจวจะเรียกเฉพาะเลยว่าใบ “เหนียนเกา” ทั้งนี้อาจจะใส่ลงในพิมพ์ไม้ก็ได้สวยดีเหมือนกัน ทางแถบหมิ่นหนานจะมีการทำขนมเข่งเรียกว่า “เหนียนเกา” (粘糕:zhan gao) แต่เขียนต่างไป โดยมีสีเป็นสีเหลืองอำพันงดงาม นิยมนำมาทอด


ขนมเข่งแบบฝูโจว และวิธีทำ




บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:11

ขนมเข่งแบบหมินหนานแบบทอด


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:14

ขนมเข่งของไต้หวัน (台湾:tai wan) ลักษณะจะโดดเด่นด้วยในพื้นที่เดียวมีทั้งขนมเข่งแบบจีนตอนใต้และจีนตอนเหนือในเมืองเดียวกัน ด้วยความที่มีผู้อพยพจำนวนมากจากทั่วทุกสารทิศของจีนเข้ามาอยู่ในไต้หวัน ดังนั้นจึงปรากฎทั้งแบบทางเหนือ และทางใต้ โดยทางใต้พบมากที่สุดคือแบบฝูโจว

ภาพขนมเข่งแบบต่างๆในไต้หวัน



บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:16

ขนมเข่งแบบกวางตุ้ง (广东:guang dong) ขนมเข่งแบบกวางตุ้งและแบบฮ่องกง จะมีสีออกแดงส้ม รสชาติหวาน ทำจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลปึกชนิดที่ทำจากน้ำตาลน้ำอ้อย และน้ำมันหมู หรือน้ำมันพืช  แล้วนำไปใส่ในถาดกลมมีใบไผ่รองอยู่แล้วหนึ่ง หรือจะนำทำให้สุกโดยการปั้นเป็นก้อนแล้วหั่นเป็นชิ้นๆก่อนจะนำไปทอดในกระทะ ออกจะมันเยิ้มนิดๆ ทั้งนี้อาจจะนำไปชุบไข่ทอดก็ได้ ให้ออกมาเป็นสีเหลือง ความพิเศษโดดเด่นอยู่ที่ขนมเข่งฮ่องกงมีอยู่ชนิดหนึ่งที่ใช้น้ำมะพร้าวและน้ำตาลทรายขาวแท้นน้ำตาลปึกผสมกับแป้งข้าวเหนียว เรียกว่า “ขนมเข่งน้ำมะพร้าว” (เย่จือเหนียนเกา) (椰汁年糕:ye zhi nian gao)

ขนมเข่งแบบกวางตุ้ง อย่างนึ่งและทอด

ภาพขนมเข่งน้ำมะพร้าว



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 20:22

ทุกท่านเคยรับประทานขนมเข่งแบบใด ลองมาเล่าสู่ประสบการณ์ละกัน

บรรยากาศวันสารทจีนในไทย


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง