เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 25274 ไอ้เสดฟัน ไอ้กันขวิด ไอ้กิดเฉือน เหตุต่อจาก ร.ศ. ๑๑๒
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 24 ส.ค. 13, 07:05

ขอบคุณทั้งสองท่านที่เข้ามาให้ข้อมูลในกระทู้นะครับ

ขออธิบายศัพท์ เพิ่มเติม

 “หนังสือยินยอมให้ขายจำนองทรัพย์สิน” ที่ผมแปลจาก Bill of sale mortgage ซึ่งปรากฏในสัญญาระหว่างรัฐบาลสยามกับหมอชีค และในคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการนั้น ผมควรต้องเปลี่ยนคำแปลเป็น “หนังสือขายจำนอง”

การค้ำประกันเงินกู้โดยวิธีนี้ ปัจจุบันไม่มีใครทำแล้ว คงมีแต่การ “จำนอง”เท่านั้น ฝรั่งเองก็เลิกใช้ ในอินเทอเน็ตหาคำอธิบายได้เพียงว่า

What is MORTGAGE BILL OF SALE?
Signed document by a borrower-mortgagor giving a lender-mortgagee the right to claim and sell the collateral-mortgaged property a default on the loan agreement occurs. It is not an absolute sale, only a conditional bill of sale. The mortgagor continues to hold the property and has the right to redeem it on complete debt repayment


ตีความแล้ว คือการขายจำนอง ลักษณะเดียวกับขายฝาก และจำนำ

ขายฝาก (sale with right of redemption) คือ การเอาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ของที่ดิน และ/หรือ ทรัพย์สินของลูกหนี้ ไปโอนให้เจ้าหนี้เลย แต่ลูกหนี้ยังทำประโยชน์ในที่ดินและ/หรือทรัพย์สินต่อไปได้ในระหว่างอายุสัญญา แต่หากลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ที่ดินและ/หรือทรัพย์สินดังกล่าวเป็นอันตกแก่เจ้าหนี้โดยสมบูรณ์ เจ้าหนี้มีสิทธิ์เข้ายึดครองที่ดินและ/หรือทรัพย์สินนั้นได้ทันที

จำนอง (mortgage) คือ การเอาหนังสือกรรมสิทธิ์ที่ดินของลูกหนี้ ไปจดทะเบียนยังกรมที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ของตนให้แก่เจ้าหนี้ แต่ลูกหนี้ยังทำประโยชน์ในที่ดินต่อไปได้ในระหว่างอายุสัญญา แต่หากลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามกำหนด เจ้าหนี้มีสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาล บังคับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแก่เจ้าหนี้ได้ แล้วจึงสามารถเข้ายึดครองนั้น

จำนำ (pledge) คือ การเอาทรัพย์สินและหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของลูกหนี้ ไปให้เจ้าหนี้ยึดไว้เป็นหลักประกันเลย แต่สามารถไถ่ถอนคืนได้ตามกำหนดในสัญญา หากลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นอันตกแก่เจ้าหนี้โดยสมบูรณ์
 
ขายจำนอง(sale mortgage) ตามคำแปลจากภาษาอังกฤษข้างต้น คือการที่ลูกหนี้ยอมให้เจ้ามีสิทธิ์ขาดในหลักทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกัน หากลูกหนี้มีการกระทำที่ผิดสัญญาขึ้น ไม่ใช่การขายขาด เพราะลูกหนี้มีสิทธิ์ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินได้และสมามารถไถ่ถอนหลักทรัพย์คืนด้วยการชำระหนี้หมดสิ้น

สรุปง่ายๆ จำนองนั้น เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อศาลมีคำสั่ง ส่วน ขายฝาก ขายจำนอง และจำนำ นั้น เจ้าหนี้เข้ายึดทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ทันทีเมื่อลูกหนี้กระทำผิดสัญญา หากลูกหนี้ไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย ดังเช่นคดีของหมอชีคนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 24 ส.ค. 13, 09:02

การต่อสู้ในส่วนเนื้อหาของคดีนั้น ฝ่ายกฎหมายของสหรัฐตั้งประเด็นไว้ดังนี้

๑ ความเกี่ยวพันระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถือว่า หมอชีคเป็นหุ้นส่วนกับสยาม หรือเป็นเพียงผู้กู้เงินเท่านั้น
คือหากว่าเป็นหุ้นส่วน กำไรก็ต้องกำไรด้วยกัน ขาดทุนก็ต้องขาดทุนด้วยกัน จะเรียกร้องเงินที่นำมาลงทุนคืนไม่ได้

๒ ตามกฎหมายนั้น หมอชีคได้กระทำผิดสัญญาไปแล้วหรือไม่ เมื่อสยามเข้ายึดไม้ซุงและนำไปขาย ณ วันที่ออกประกาศ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฏาคม ๑๘๙๓
คืออ้างว่า หมอชีคกำลังนำซุงดังกล่าวไปขาย เพื่อชำระดอกเบี้ยค้างจ่ายที่ถือว่ายังไม่ได้มีการกระทำผิดสัญญา

๓ รัฐบาลสยามได้ใช้การแก้ปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้จะมีความเห็นว่าหมอชีคผิดสัญญาและต้องรับผิดต่อการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ได้เงินมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระ
อันเนื่องมาจากประเด็นที่สามนี้ หมอชีคร้องเรียนรัฐบาลสหรัฐว่ากฎหมายของประเทศสยามไม่ได้ให้ความยุติธรรมต่อเขาเพียงพอในการยึดซุงไปขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าที่ควร ทำให้เขาต้องเสียหายเป็นเงินถึง ๑,๐๗๑,๕๕๔ บาท ซึ่ง หลังจากหักหนี้ทั้งต้นทั้งดอกแล้ว หมอชีคเรียกร้องเงินชดเชย ๒๒๗,๔๐๘ บาท ขอให้ศาลใช้อำนาจอันล้นพ้นที่จะบังคับให้รัฐบาลสยามยอมจ่ายเงินให้เขาด้วย

แต่พระเดชพระคุณหันเหน็นของคุณประกอบ เมื่อฟันธงว่า รัฐบาลสยามเป็นฝ่ายผิด ที่ไม่ได้แสดงหลักฐานว่าหมอชีค ต้องจ่ายดอกเบี้ยประจำปีให้ภายใน ๓๑ มีนาคมแล้ว ก็คำนวณด้วยตนเองด้วยสูตรอันไม่จำเป็นต้องเปิดเผยว่า ความเสียหายของหมอชีคทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต จากละเมิดของสยามในคดีนี้ หักกลบลบหนี้แล้ว ให้รัฐบาลสยามจ่ายหมอชีค ๗๐๖,๗๒๑บาท (เจ็ดแสนหกพันเจ็ดร้อยยี่สิบเอ็ด) มากกว่าที่หมอชีคร้องขอเกิน ๓ เท่า

ผมไม่เคยได้ยินว่ามีศาลที่ไหน ต้ดสินให้โจทก์ได้จากจำเลยมากกว่าคำฟ้อง
ขอนำหน้านายหันเหม็นมาให้ดมดูอีกที


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 24 ส.ค. 13, 09:57

คำตัดสินดังกล่าวไม่ว่าฝ่ายสยามเท่านั้นที่ช๊อก ฝ่ายอเมริกันเองยังฉงนสนเท่ห์ ทูตรายงานไปกระทรวงว่าจำนวนเงินที่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้ฝ่ายอเมริกันได้นั้น แตกต่างกับความคาดหมายมโหฬารอย่างคาดไม่ถึง

ข้อทิ้งท้ายในบทความของนายแพทย์วิบูล วิจิตรวาทการที่ว่าไม่ทราบนายเห็นเหม็นรับเงินส่วนแบ่งไปเท่าไหร่ ผมก็ไม่มีใบเสร็จเหมือนกัน แต่ไปเจอบทความนี้ในเน็ท ขี้เกียจแปลทั้งหมดเพราะซ้ำซาก เอาเฉพาะท่อนนี้ก็แล้วกัน

Clarence Blachly reported the following: "Dr. Cheek conducted a large teak lumber industry in Northern Siam. Thirty nine elephants were used to handle the timber. It was floated down the river to Bankok. When Dr. Cheek died the Siamese Government confiscated the industry. Damages were sought by the family under international law and eventually $250,000 was awarded Mrs. Cheek….”
คลาเรนส์ แบล์ชลีเขียนรายงานดังนี้ “นายแพทย์ชีคได้ดำเนินอุตสาหกรรมไม้สักขนาดใหญ่ในภาคเหนือของสยาม ใช้ช้างถึงสามสิบเก้าเชือกในการชักลากไม้เพื่อล่องแม่น้ำมากรุงเทพ เมื่อนายแพทย์ชีคถึงกรรมนั้น รัฐบาลได้เข้ายึดกิจการ ครอบครัวได้เรียกร้องค่าเสียหายภายใต้กฎหมายสากลระหว่างประเทศ ซึ่งสุดท้ายได้ตัดสินให้นางชีคได้รับเงิน ๒๕๐,๐๐๐เหรียญ

๒๕๐,๐๐๐เหรียญก็เท่ากับ๕๐๐,๐๐๐บาท คดีนี้ รัฐบาลสยามยอมจ่ายโดยทันทีไม่มีข้อโต้แย้ง ๗๐๖,๗๒๑ บาท เงินส่วนที่ขาดสองแสนกว่าบาทคงจะเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของสหรัฐซึ่งเป็นงบลับไม่เปิดเผย เราจึงไม่ทราบว่านอกจากค่าทนายซึ่งเป็นคนอังกฤษหากินอยู่ในจีนที่น่าจะซี้กับนายเห็นเหม็น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอื่นๆแล้ว ยังมีค่าจิ้มก้องส่งไปเมืองจีนรวมอยู่ในวงเงินนี้อีกหรือไม่ เท่าไร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 24 ส.ค. 13, 10:08

ภรรยาของหมอชีค คือลูกสาวของหมอบรัดเลย์ผู้มีคุณานุคุณต่อสยาม ได้หนีพฤติกามของหมอชีคไปเลี้ยงลูก๕คนอยู่ในอเมริกาคือผู้ที่ได้รับมรดก ในภาพนี้จะเห็นหน้าของเธอจากสาแหรกตระกูล เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอีกภาพหนึ่งที่หาได้จากเวปไทย เราคงพอจะเห็นเค้าหน้าของหมอชีค สามีที่ยืนเคียงข้างเธอได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 24 ส.ค. 13, 17:26

เรามักจะรู้กันเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างเหตุการณ์ร.ศ. 112 หรือการถูกเฉือนดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง   ที่ไทยรอดจากการล่าอาณานิคมมาอย่างหวุดหวิด    แต่กระทู้นี้ก็ทำให้รู้ว่า ฝรั่งรังแกสยามทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้    มีทางโกย(และโกง)ได้เท่าไหร่ก็โกยมากเท่านั้น   ไม่ต้องคำนึงว่าถูกหรือผิด     ยึดหลักมือใครยาวสาวได้สาวเอา

เรื่องคดีของหมอชี้ค  ไม่ต้องมาเถียงกันว่า สยามมีช่องโหว่เองในด้านหลักฐาน  เลยช่วยไม่ได้ที่จะแพ้    หรือว่าถ้าใครเป็นตุลาการก็ต้องตัดสินอย่างนายหันเหม็นอยู่ดี     เพราะยังไงหลักฐานความไม่ชอบมาพากลสุดๆ ก็คือการตัดสินค่าเสียหายที่เกินกว่าโจทก์ตั้งไว้ถึง 3 เท่า    ไม่มีศาลไหนเขาทำกัน     มีแต่ว่าจะให้ได้อย่างมากที่สุดก็ตามที่ขอ     แต่นายอนุญาโตคนนี้เรียกจากรัฐบาลสยามราวกับว่าตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียกับหมอชี้คด้วย      ถ้าแกเป็นทนายความแทนที่จะเป็นตุลาการ  เราก็คงคิดว่าโก่งราคาให้หมอชี้คได้เยอะเท่าใด ตัวเองก็จะพลอยได้เปอร์เซ็นต์มากขึ้นไปเท่านั้น

ส้มก็เลยไปหล่นทับคุณนายชี้คทั้งเข่ง     ก็คงพอจะคุ้มกับที่เธอต้องหอบลูกหนีสามีกลับไปอยู่บ้านเมืองตัวเอง   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 24 ส.ค. 13, 17:38

       ตามไปอ่านประวัติของนายนิโคลัส จอห์น ฮันเนนคนนี้ก็พบว่าแกก็ได้ดิบได้ดีอยู่ทางแถวตะวันออก     หลังจากตัดสินคดีให้รัฐบาลสยามต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้หมอชี้คผู้ผิดสัญญา ไม่นานนัก    ในค.ศ. 1891  แกก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาของศาลฎีกาอังกฤษประจำประเทศจีนและญี่ปุ่น     เท่านั้นยังไม่พอ  ยังควบตำแหน่งกงสุลเยนเนอรัลของอังกฤษในเซี่ยงไฮ้อีกด้วย     ก็หมายความว่า เป็นทั้งนักการทูต ทำงานเพื่อประโยชน์ของสหราชอาณาจักร   และตุลาการที่จะชี้ถูกชี้ผิดในคดีต่างๆที่เกิดขึ้นในจีนและญี่ปุ่น  ไม่ว่าจะระหว่างอังกฤษกับคนอังกฤษ  หรืออังกฤษกับชาติอื่นๆ

      ในเมื่อนั่งคร่อมสองเก้าอี้แบบนี้พร้อมกัน เราก็คงเดาได้ไม่ยากว่าถ้าอังกฤษเกิดมีคดีพิพาทไม่ว่ากับคนชาติไหน     หัวหน้าผู้พิพากษาจะตัดสินให้จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส  อินเดีย  ฯลฯ เป็นฝ่ายชนะอังกฤษละหรือ?     จึงมีเสียงประท้วงอึงคะนึงจากบรรดาผู้คนชาติอื่นๆที่ไปทำมาหากินอยู่ในจีนและญี่ปุ่น  ว่ามันไม่แฟร์ที่แกนั่งควบเก้าอี้คู่แบบนี้   
      ในที่สุดฮันเนนก็ต้องสละเก้าอี้กงสุลไป  แต่ยังนั่งเก้าอี้หัวหน้าผู้พิพากษาอยู่      ถ้ามองจากวิธีตัดสินของแก ที่...อะไรๆก็ยังไม่สามารถพิสูจน์จนเป็นที่พอใจของข้าพเจ้า...และข้าพเจ้าเองก็พอใจอะไรก็ได้ตามแบบของข้าพเจ้า   ก็น่าเชื่อว่าตำแหน่งนี้คงจะน่าปรารถนาสำหรับแกมากกว่าตำแหน่งทูตอย่างตำแหน่งกงสุล  ซึ่งชี้ต้นตายปลายเป็นให้ใครไม่ได้ 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 25 ส.ค. 13, 10:35

ผมเพียงต้องการให้หมดประเด็นสงสัยในคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันเนื่องมาจากการกระทำของสยามภายใต้สัญญาที่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์  รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ กระทำกับนายแพทย์ มารีออน ชีค ซึ่งยังคงค้างอยู่อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่อง“คำสั่งนครเชียงใหม่”ว่าคืออะไร ดังอ้างในคำตัดสินนี้

เนื่องด้วย ในวันที่๑๕ มิถุนายน ๑๘๙๓ รัฐบาลสยามได้ออกคำสั่ง หรืออนุญาตให้ออกคำสั่ง ดังปรากฏในเอกสารและคำให้การว่า “คำสั่งนครเชียงใหม่” ซึ่งตามความเห็นของข้าพเจ้าว่าไม่มีความเป็นธรรม ซึ่งคำสั่งดังกล่าวสามารถคำนวณได้ว่าจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อนายแพทย์ชีคเพียงใด และได้เกิดขึ้นไปแล้วจริงๆเท่าไหร่ และ

เนื่องด้วย ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า กิจการของนายแพทย์ชีคผู้วายชนม์ น่าจะดำรงสถานภาพอยู่นานเท่านานอย่างที่ควรจะเป็น หากรัฐบาลสยามมิได้เข้าไปยึดทรัพย์สินและเข้าครอบครองกิจการของนายแพทย์ชีคในเดือนสิงหาคม ๑๘๙๒ และไม่ได้ออกออกคำสั่ง หรืออนุญาตให้ออกคำสั่งนครเชียงใหม่
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 25 ส.ค. 13, 10:41

ผมจึงได้แปล “ประกาศเมืองเชียงใหม่” ที่ออกโดยจมื่นราชบุตร (อเมริกันเขียนว่า Chow Mun Rajabut ซึ่งผมเดาว่าเป็น “เจ้ามั่นราชบุตร” ครั้นไปเปิดปูมเจ้าเชียงใหม่แล้วไม่มีจึงมึนๆอยู่ ต่อเมื่อได้เห็นชื่อตำแหน่งจมื่นมหาดเล็ก (Chow Mun Mahatlek) เจ้าพนักงานเชียงใหม่ปรากฏในลายพระหัตถ์กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ที่คุณวีหมีคัดลอกมาให้อ่านในกระทู้นี้จึงปิ๊งขึ้นมาได้) ประกาศเมืองเชียงใหม่นี้ พระยาทรงสุรเดช(อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียง เป็นผู้สั่งให้กระทำขึ้น
 
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๑๘๙๓

เนื่องจากเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ทำหนังสือแจ้งว่า หมอมารีออนชีคได้กระทำสัญญากู้เงินเป็นจำนวนมากจากกระทรวงพระคลัง เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำป่าไม้ โดยนำป่าไม้ ท่อนไม้ในป่าและในลำน้ำ ช้าง และอุปกรณ์ในการทำป่าไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันต่อกระทรวงพระคลัง ตามเงื่อนไขต่างๆที่ระบุอยู่ในสัญญานั้น

ต่อมาหมอมารีออนชีคได้ผิดสัญญาด้วยประการต่างๆ ดังนั้นจมื่นมหาดเล็กผู้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ โดยได้รับมอบอำนาจเต็มให้กระทำการแทนเสนาบดีกระทรวงพระคลัง จึงขอประกาศให้บรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งหลาย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหมอมารีออนชีค ในป่าไม้ ท่อนไม้ในป่าและในลำน้ำ ช้าง และอุปกรณ์ในการทำป่าไม้ดังกล่าว ให้มารายงานตัวต่อจมื่นมหาดเล็กภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่ประกาศนี้ และเพื่อนำเอกสารที่ถูกต้องมาสำแดงตามกำหนด ซึ่งจะได้รับการพิจารณาผ่อนผัน ลดหย่อน หรือยกหนี้ให้ตามควร หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้ว หากสืบทราบได้ในภายหลังว่า ผู้ใดหลบซ่อน ปกปิด โยกย้าย หรือสำแดงเท็จ หรือไม่สำแดงบัญชีต่อเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด ซึ่งป่าไม้ ท่อนไม้ในป่าและในลำน้ำ ช้าง และอุปกรณ์ในการทำป่าไม้ หรือหนี้สินต่อทางราชการ จะถูกดำเนินคดีในศาล และผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษปรับ


ประทับตรา เจ้าราชบุตร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 25 ส.ค. 13, 10:54

ประกาศดังกล่าวออกภายหลังที่รัฐบาลยึดไม้ซุงในแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือนสิงหาคม หลังจากเห็นว่าหมอชีคผิดสัญญาโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่หลังวันที่๓๑ มีนาคม แต่จำเป็นต้องออกประกาศนี้ภายหลังประมาณปีหนึ่งต่อมา เพราะบรรดาลูกหนี้เจ้าหนี ตลอดจนบริวารของหมอชีคได้เริ่มเบียดบังทรัพย์สินที่หมอชีคเคยครอบครองอยู่ซึ่งรัฐบาลสยามยังมิได้ทำการยึดให้เด็ดขาด ทั้งนี้การกระทำทั้งหมดของรัฐบาลสยามอาศัยอำนาจที่หมอชีคยอมรับด้วยการลงนามในหนังสือขายจำนองทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่กรมหมื่นนราธิปฯ ซึ่งการขายจำนองนั้น เมื่อลูกหนี้ผิดสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ทันทีโดยไม่ต้องไปศาลดังที่ผมกล่าวแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่มีกฎหมายใดจำกัดสิทธิเสรีภาพของลูกหนี้มิให้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลหากเห็นว่าตนมิได้กระทำผิดตามเงื่อนไขของสัญญา ซึ่งหมอชีคได้ร่ายยาวในฟ้องยื่นต่อศาลกงสุลอเมริกันว่าตนไม่ผิดอย่างโน้นอย่างนี้ อ้างถึงวิธีการทำไม้ ฤดูกาลน้ำน้อยน้ำมากที่มีผลต่อการนำท่อนซุงออกจากป่ามาขายยังกรุงเทพ โน่นนี่นั่น  ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของนายทุนในเชียงใหม่นั้น เจ้าหนี้จะยอมให้ดอกเบี้ยค้างชำระทบต้นไปชำระในปีที่ธรรมชาติเอื้ออำนวย สามารถนำไม้ออกจากป่ามาขายได้เมื่อไหร่ ก็จะชำระทั้งต้นทั้งดอกเมื่อนั้น ซึ่งตามความจริง รัฐบาลสยามอาจจะยอมรับก็ได้เพราะรับไปครั้งหนึ่ง หากไม่ไปสืบทราบมาว่าหมอชีคกำลังไปตกลงลากเอาบริษัทอังกฤษเข้ามาเอี่ยวในธุรกิจด้วย ซึ่งอาจจะสร้างความยุ่งยากมาให้ให้ได้ จึงจำเป็นต้องตัดตอนกับหมอชีค
 
อนุญาโตตุลาการไม่เอาข้อพิพาทนี้มาพิจารณาให้มีถกเถียงกันไปได้อีกยาว แต่ใช้วิชามารเลือกวินิจฉัยตรงกำหนดว่าครบรอบปีที่จะจ่ายดอกเบี้ยกันน่ะ เมื่อไหร่ ที่ให้การว่า ๓๑ มีนาคม น่ะ มีเอกสารสำแดงไหม ส่งให้อนุญาโตก่อนการนั่งพิจารณาคดีหรือเปล่า เมื่อไม่มี หมอชีคก็ไม่ได้ผิดสัญญา การเข้าไปยึดครองทรัพย์สินของหมอชีค และออกประกาศเพื่อเข้าไปจัดการในทรัพย์สินนั้น รัฐบาลสยามเป็นฝ่ายผิด…...แล
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 25 ส.ค. 13, 19:59

ประกาศฉบับลงวันที่  ๑๕  กรกฎาคม ๑๙๔๓ ที่ท่านนวรัตนกรุณาแปลมาให้อ่านนั้น  ออกจะแปลกตรงที่เป็นประดาศของรัฐบาลสยาม  แต่ประทับตราตำแหน่ง "เจ้าราชบุตร"  ซึ่งเวลานั้น ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าราชบุตรคือ เจ้าน้อยสุริยะ  ที่จ่อมาได้เป็นเจ้าราชวงศ์  เจ้าอุปราช และเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ตามลำดับ  หรือนี่เป็นประกาศที่เจ้าราชบุตรซึ่งในเวลานั้นมีตำแหน่งเป็น "เสนาคลัง" เมืงนครเชียงใหม่  รับคำสั่งข้าหลวงสยามมาออกประกาศให้ชาวเมืองเชียงใหม่ได้ทราบ  เพราะในเวลานั้นเมืองเชียงใหม่ยังมีฐานะเป็นประเทศราชเต็มรูปอยู่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 25 ส.ค. 13, 22:39

น่าจะเป็นประการหลังครับ เจ้าราชบุตรซึ่งในเวลานั้นมีตำแหน่งเป็น "เสนาคลัง" เมืองนครเชียงใหม่  รับคำสั่งข้าหลวงสยามมาออกประกาศ

ไม่ทราบว่าเอกสารในเรื่องเก่าๆของเชียงใหม่ ไม่ได้รายงานอะไรในเรื่องการทำป่าไม้ของหมอชีคบ้างเลยหรือ ฝากคุณวีหมีช่วยค้นหาอะไรมาเล่าให้อ่านบ้างนะครับ ขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 26 ส.ค. 13, 16:56


อนุญาโตตุลาการไม่เอาข้อพิพาทนี้มาพิจารณาให้มีถกเถียงกันไปได้อีกยาว แต่ใช้วิชามารเลือกวินิจฉัยตรงกำหนดว่าครบรอบปีที่จะจ่ายดอกเบี้ยกันน่ะ เมื่อไหร่ ที่ให้การว่า ๓๑ มีนาคม น่ะ มีเอกสารสำแดงไหม ส่งให้อนุญาโตก่อนการนั่งพิจารณาคดีหรือเปล่า เมื่อไม่มี หมอชีคก็ไม่ได้ผิดสัญญา การเข้าไปยึดครองทรัพย์สินของหมอชีค และออกประกาศเพื่อเข้าไปจัดการในทรัพย์สินนั้น รัฐบาลสยามเป็นฝ่ายผิด…...แล 

อนุญาโตตุลาการน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่าฝ่ายไหนควรจะชนะ    ตั้งแต่ได้อ่านสำนวน    ดังนั้นอะไรที่เป็นหลักฐานมีน้ำหนักทางฝ่ายรัฐบาลสยาม ก็ปัดตกกระดานไป     หยิบขึ้นมาเฉพาะส่วนที่จะช่วยให้หมอชี้คเป็นฝ่ายได้มากกว่าเป็นฝ่ายเสีย      ถ้าหากว่าจะหากันแบบนี้ก็คงหาหลักฐานที่เป็นประโยชน์ให้ได้ไม่ยาก      ส่วนหลักฐานอื่นถ้ามีก็ไล่จี้ให้ตกกระดานไปหมดเรื่องหมดราว
ตุลาการชาวอังกฤษคนนี้น่าจะตัดสินคดีให้ฝรั่งได้ผลดีจากเป็นความกับคนเอเชียมาก่อน    และคงทำงานได้ผลดีด้วย  นายจึงเห็นดีให้ควบสองตำแหน่งทั้งกงสุลและศาลเสร็จสรรพ     ใครอยากมีคดีความกับฝรั่งจะได้เลิกคิด    เพราะดูออกล่วงหน้าว่าแพ้ชัวร์ๆ 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 26 ส.ค. 13, 17:15

การพิจารณาคดีหมอชีคนี้ดำเนินมาาเมื่อหมอชีคเสียชีวิตแล้วครับ  แล้วคนที่เป็นต้นเรื่องฟ้องร้งคดีนี้คือเจ้าหนี้กองมรดกหมอชีค  ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือ นายหลุย ที. เลียวโนเวนส์ หุ้นส่วนรายใหญ่ของหมอชีค 

นายหลุยคนนี้มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ล้านนาว่า  เดี๋ยวก็ช่วยราชการสยาม  เดี๋ยวก็เที่ยวยุยงเจ้าประเทศราชล้านนาให้เป็นความกับรัฐบาลสยาม  ดูแกจะชอบค้าความเสียจริงๆ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 26 ส.ค. 13, 18:11

ในเอกสารทั้งหมดที่ผมเจอจากเน็ท ไม่มีสำนวนใดกล่าวถึงนายหลุยส์ดังว่าเลยครับ หมอชีคฟ้องเองต่อกงสุลอเมริกัน แต่ยังไม่ทันการพิจารณาแกก็ไปตายเสียด้วยนิวมอเนียอย่างกระทันหันที่เกาะสีชัง หลังจากนั้นอีกหลายปีกงสุลได้ดำเนินการต่อโดยได้รับการร้องขอจากทายาทของผู้ฟ้อง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 26 ส.ค. 13, 20:25

ประวัติของนายหลุยส์ก็ไม่เบาเหมือนกัน
สมัยรัชกาลที่ 4    นางแอนนาผู้เป็นแม่มาถวายพระอักษรเจ้านายเล็กๆอยู่ในพระบรมมหาราชวัง   นายหลุยส์ซึ่งยังเด็ก ก็ติดหน้าตามหลังมาเล่นกับเจ้านายด้วย  เมื่อแม่สอนหนังสือตัวเองก็ได้เรียนด้วย   เป็นเหตุให้คุ้นเคยกับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  พอโตขึ้นอีกหน่อย แม่ก็ส่งตัวออกจากสยามไปเรียนหนังสือต่อที่อังกฤษ     เมื่อนางแอนนาอำลาชีวิตครูในราชสำนัก เดินทางไปพำนักอยู่ในอเมริกา  หลุยส์ซึ่งโตเป็นหนุ่มแล้วก็ออกจากอังกฤษไปอยู่กับแม่    แต่ไปก่อหนี้ก่อสินรุงรังจนกระทั่งต้องหลบหนีเจ้าหนี้ออกจากอเมริกา    แม่ลูกจึงไม่ได้เจอกันอีกถึง 19 ปี

หลุยส์กลับมาที่สยามอีกครั้งเมื่ออายุ 27   สมัครเข้าเป็นทหาร ได้รับพระราชทานยศเป็นร้อยเอก แต่ก็อยู่ในกองทัพไม่นาน  ก็ลาออกไปค้าซุงไม้สักทางเหนือ      เรื่องราวต่อมาก็เป็นอย่างรู้ๆกันคือสร้างความร่ำรวยขึ้นมาจากสัมปทานป่าไม้   มีบริษัทของตัวเอง

หลุยส์อยู่มานานจนกระทั่งอำลาสยาม  กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนในวัย 57  คาโรลีนภรรยาคนแรกตายไปแล้วในตอนนั้น  เขาสมรสใหม่แต่ไม่มีลูกกับภรรยาใหม่ จนถึงแก่กรรมใน 6 ปีต่อมาจากไข้หวัดใหญ่


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง