เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 25191 ไอ้เสดฟัน ไอ้กันขวิด ไอ้กิดเฉือน เหตุต่อจาก ร.ศ. ๑๑๒
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 20 ส.ค. 13, 11:50

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในร.ศ.๑๑๒ เมื่อฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาข่มขู่ ยื่นคำขาดให้สยามยอมรับผิดในการที่ไปทำร้ายคนฝรั่งเศสบาดเจ็บล้มตาย และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจำยอมต้องจ่ายค่าปฏิกรรมนี้ถึง๓,๐๐๐,๐๐๐ฟรังก์ เป็นเหรียญเงินแท้ของแมกซิกันในถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯได้ทรงเก็บสะสมไว้ใต้พระแท่นบรรทม โดยมีพระราชดำรัสว่า “ให้ลูกหลานเอาไว้ใช้ไถ่บ้านไถ่เมือง”

เหรียญเงินดังกล่าวนี้หนักเหรียญละ๒๗กรัม รวม๘๐๑,๒๘๒เหรียญ น้ำหนักรวมทั้งหมด๒๓ตัน(๒๓,๐๐๐กิโลกรัม) เทียบเท่ากับเงิน๒,๔๐๐,๐๐๐ฟรังก์ ยังขาดอีกถึง๖๐๐,๐๐๐ฟรังก์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯต้องรวบรวมจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ร่วมสมทบจนครบ นำใส่กระสอบขนด้วยรถม้าขบวนยาวเหยียดไปส่งยังที่เรือปืนลูแตงเทียบท่าอยู่ ทหารฝรั่งเศสใช้เวลาเป็นวันในการขนกระสอบเงินลงไปเก็บยังใต้ท้องจนเรือแปล้น้ำ เมื่อถึงไซ่ง่อนกระสอบหลายใบแตก ฝรั่งเศสต้องถ่ายใส่ถังแล้วนำขึ้นชั่งทีละถังตามภาพ(เครดิต-ไกรฤกษ์ นานา) เห็นว่าถูกต้องแล้วจึงส่งต่อไปยังประเทศแม่ต่อไป

ผลงานที่ฝรั่งเศสฟันสยามไปครั้งนั้น สร้างความโลภให้ฝรั่งชาติอื่นอิจฉาตาลุกวาวไปตามๆกัน ต่างหาโอกาสที่จะเชือดเฉือนเอาจากสยามบ้าง ภายใต้ศัพท์หรูทางการทูตว่า Gunboat Policy


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 11:58

คนไทยคงจะน้อยคนนักที่ทราบว่า ต่อจากร.ศ.๑๑๒ สหรัฐอเมริกาคือชาติทีสอง ที่ใช้นโยบายดังกล่าวกับสยามในร.ศ.๑๑๕ เมื่อรัฐบาลสหรัฐตกลงใจที่จะส่งเรือปืนลำหนึ่งที่รักษาการอยู่ในทะเลจีนใต้ให้เข้ามากรุงเทพ เพื่อข่มขู่รัฐบาลสยามให้ปฏิบัติตามความต้องการของกงสุลใหญ่อเมริกันที่นี่
เอกสารข้อมูลทางฝ่ายไทยหาได้ยากเสียจริงๆ แต่ของฝรั่งพอหาได้โดยใช้อินทรเนตร

ข่าวพาดหัวจากหนังสือพิมพ์อเมริกัน EVENING TELEGRAM ตีพิมพ์ในนิวยอร์ค วันเสาร์ที่ ๑๖ มกราคม ๑๘๙๗  

GUNBOAT MACHIAS EN ROUTE
 
Started from Canton for the Siamese Capital This Morning.
TO PROTECT AMERICAN INTERESTS


เรือปืนมาชิอัสออกเดินทางไปแล้ว
เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกัน


วอชิงตัน: เรือปืนมาชิอัสออกจากกวางตุ้งมุ่งไปสู่กรุงเทพแล้วเช้านี้ ตามคำสั่งทางโทรเลขของรัฐมนตรีต่างประเทศ “เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนอเมริกัน” ด้วยระยะทางประมาณ๒๐๐๐ไมล์ มาชิอัสประมาณว่าจะถึงจุดหมายภายในหนึ่งสัปดาห์
ทางการมิได้เปิดเผยรายละเอียดในรายงานที่ได้รับจากจากกรุงเทพอันเป็นเหตุให้ต้องส่งเรือรบไปที่นั่น แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุคงจะมาจากการที่นายเอดเวร์ด เคลเลตต์ รองกงสุลใหญ่ของสหรัฐอเมริกาถูกทหารของสยามทำร้ายแน่นอน

หนังสือพิมพ์ที่เราได้รับจากสยามเมื่อสามสัปดาห์ที่แล้วลงข่าวว่า นายเคลเลตต์ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์เมื่อสองปีก่อน โดนทหารมัดตัวและทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ แต่เราไม่สามารถยืนยันข่าวที่หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานในตอนท้ายว่านายเคลเลตต์มีสิทธิ์ที่จะทำมาค้าขาย หรืออาจเป็นไปได้ว่าธุรกิจส่วนตัวบางอย่างของเขาคือตัวการที่ทำให้ถูกจับกุมโดยเจ้าพนักงานท้องถิ่น

เวลานี้คดีความที่ฟ้องร้องกันในเรื่องที่ดินป่าสักของคนอเมริกันชื่อชี๊ค ผู้ซึ่งได้รับสัมปทานมูลค่ามหาศาลจากรัฐบาลสยามก็ยังคงดำเนินไปอยู่ เมื่อชี๊คยังมีชีวิตอยู่นั้น กิจการของเขามีกำไรงดงาม แต่หลังมรณกรรม มีความต้องการที่จะยุติสัมปทาน รัฐบาลสยามจึงได้เข้าแทรกแซงเพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้มีการขายช้างงานจำนวนมากที่ใช้สำหรับชักลากซุงออกจากป่า
กล่าวกันว่า นายเคลเลตต์คือผู้บริหารกิจการป่าไม้ที่กำลังมีปัญหานั่นเอง หรือไม่เขาก็เป็นตัวแทนของผู้รับมรดก การกระทำของเขาในนามของคนเหล่านั้นอาจสร้างความขัดแย้งกับทางราชการสยามก็ได้

เรือรบอเมริกันมิได้ปรากฏให้เห็นในสยามมาประมาณเจ็ดปีแล้ว และแม้ว่าท่านอัครราชทูตแบร์แรตต์จะได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีในประเทศนั้น แต่คนไทยก็รู้สึกว่าจะไม่ค่อยยำเกรงธงชาติอเมริกันสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับสหราชอาณาจักรหรือฝรั่งเศส


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 12:28

หนังสือพิมพ์The World ซึ่งออกในนิวยอร์คเช่นกัน ตีพิมพ์เรื่องนี้ต่อมาโดยโปรยหัวว่า ทหารสยามรุมทำร้ายรองกงสุลสหรัฐบาดเจ็บสาหัส ส่วนเนื้อในข่าวกล่าวว่า เรื่องนี้ได้สร้างความตึงเครียดขึ้นระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยอ้างจดหมายลงวันที่๒๒พฤศจิกายน ส่งจากเชียงใหม่ความว่า เรื่องเกิดเมื่อสามวันก่อน เมื่อนายเคลเลตต์รองกงสุลใหญ่ซึ่งมาพำนักเป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาที่ดินของหมอแมเรียน ชีค (Dr.Marion Alphonso Cheek) ได้สั่งการให้เสมียนของสถานกงสุลชื่อนายสายไปยังที่ทำการไปรณีย์เมื่อเวลาประมาณหนึ่งทุ่มของวันที่๑๙ พฤศจิกายน ซึ่งนอกจากจดหมายจำนวนหนึ่งแล้ว นายสายได้ถือไม้เท้าธรรมดาๆโดยมีคนใช้อีกคนหนึ่งถือตะเกียงไปด้วยกัน
ครั้นเดินผ่านค่ายทหารนายสายได้ถูกทหารเรียกตัวเข้าไปในค่ายพร้อมกล่าวหาถืออาวุธไม้ตะพด เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการกระทำดังกล่าว นายสายได้ปฏิเสธว่าตนถือไม้เท้าเล็กๆหาใช่อาวุธไม่ และกล่าวว่าตนเป็นคนในบังคับของกงสุลอเมริกัน แต่ทหารไม่รับฟัง ขณะนั้น นายซูเชอร์ซึ่งทำงานให้บริษัทเบอร์ลี่(ยุคเกอร์)ผ่านมาหน้าค่ายและได้เห็นการโต้เถียงดังกล่าว รองกงสุลอเมริกันซึ่งกำลังจะรับประทานอาหารค่ำเมื่อคนใช้ที่ถือตะเกียงนำความมารายงาน นายเคลเล็ตต์ นายแฮร์รีส นายซูเชอร์จึงรีบไปที่ค่ายทหารอย่างด่วน นายเคลเล็ตต์ขอทราบเหตุผลของการจับกุมดังกล่าว และเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัวนายสายทันที ทั้งให้คืนไม้เท้าของกลางด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธด้วยกิริยาหยาบคาย เมื่อคณะทั้งหมดออกมาจากที่นั้นโดยมีนายสายพยายามติดตามมาด้วย จึงถูกล้อมกรอบอยู่หน้าอาคาร โดยไม่พูดไม่จาทหารบางคนได้ใช้พานท้ายปืนตีนายเคลเล็ตต์ทันที ที่เหลือก็ติดดาบปลายปืน  หลายคนขึ้นกระสุนปืนพร้อมจะยิง นายเคลเล็ตต์ถอยหลังไปพิงกำแพงพยายามป้องกันตัวเองแต่ไม่สู้จะได้ผล และเกรงจะเกิดการนองเลือดขึ้น จึงถอยหนีมาพร้อมกับคนอื่นๆ ส่วนนายแฮร์รีสและนายซูเชอร์สองคนนี้ไม่ได้เป็นเป้าหมายของการข่มขู่ทำร้ายก็เอาตนเข้ากำบังนายเคลเล็ตต์  นายสายถูกลากตัวกลับไปขังคุกท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของพวกทหารที่สามารถรุมยำฝรั่งระดับกงสุลได้ 

ต่อมาในคืนนั้นผู้บังคับการทหารสยามทราบเรื่องจึงสั่งการให้ปล่อยตัวนายสาย และส่งนายทหารไปเยี่ยมถามอาการบาดเจ็บ ซึ่งนายเคลเล็ตต์ได้ฝากคำตอบไปบอกว่าจะไม่เจรจาความใดๆในเรื่องที่ตนถูกดูหมิ่นและทำร้ายร่างกายครั้งนี้ จนกว่าจะได้รับคำสั่งอย่างชัดเจนจากท่านอัครราชทูต จอห์น บาร์เรตต์ในกรุงเทพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 12:39

เรื่องที่ผมนำมาเล่านี้มีความสลับซับซ้อนนะครับ ขอบอก จึงขอความกรุณาท่านผู้ชำนาญในการสอดส่องอินทรเนตรอย่าหาข้อความอะไรมาปาดผมโดยไม่ดูตามาตาเรือ เพราะจะทำให้ผมหกคะเมนตีลังกาได้ แต่ไม่ว่ากันถ้าผมกล่าวสิ่งใดออกไปแล้วท่านจะทักว่าผิด และผมจะยินดีเป็นที่ยิ่งหากท่านมีข้อมูลมาเสริมเรื่องที่ผมดำเนินไปแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 14:02

Lewison Evening Journal ฉบับ ๑๙ กุมภาพันธุ์ ๑๘๙๗ ลงข่าวเรื่องนี้ว่า

บุรุษซึ่งต้องส่งเรือรบไปคุ้มกัน

ไม่ใช่คนอเมริกันทุกคนจะดังมาจากนอกประเทศได้อย่างเช่นเอ็ดเวร์ด เคลเลตต์ ชาวสปริงฟิลด์ นายเคลเลตต์ถูกทำร้ายโดยทหารในประเทศสยามและต้องการได้รับอะไรชดเชย รัฐบาลสหรัฐก็สนองตอบด้วยการส่งเรือรบไปยังกรุงเทพแล้ว

นายเคลเลตต์ปรากฏว่ามีตำแหน่งเป็นรองกงสุลประจำประเทศสยาม ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์ไม่มีเงินเดือน แต่นายเคลเลตต์เป็นคนมั่งมีโดยเฉพาะเขามีธุรกิจใหญ่อยู่ในเชียงใหม่ เมืองที่ห่างไปจากกรุงเทพร่วม๕๐๐ไมล์ ที่ซึ่งเขาเกิดปัญหากับทหารในท้องถิ่นด้วยการกระทำอันหยาบคาย บางทีหากว่าเขาไม่มีตำแหน่งเป็นทางการดังกล่าว เรื่องที่เกิดขึ้นอาจถือเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นี่อัครราชทูตจอห์น บาร์เรตต์มีความเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐถูกดูหมิ่น สมควรจะต้องกู้เกียรติคืนมา จึงได้ทำหนังสือมายังรัฐบาลให้ส่งเรือปืนมาชิอัสไปกรุงเทพเพื่อให้บทเรียนเล็กๆกับชาวสยาม

นายเคลเลตต์อายุสามสิบปีเศษ เกิดในแคนซัสแต่ครอบครัวย้ายไปสปริงฟิลด์เมื่ออายุได้แปดปี จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์คเมื่ออายุยี่สิบสอง แล้วกลับไปทำอาชีพทนายความแบบไม่ค่อยจะจริงจังนักที่บ้านเกิด ด้วยเหตุว่าบิดาเป็นคนร่ำรวยมาก
เมื่อนายบอยด์ นักการทูตจากสปริงฟิลด์ผู้ล่วงลับได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นอัครราชทูตประจำกรุงสยาม นายเคลเลตต์เห็นโอกาสที่จะได้ติดตามมายังดินแดนอันไกลโพ้น โดยได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งรองกงสุลกิตติมศักดิ์ เมื่อมาถึงก็พบช่องทางในการทำธุรกิจจึงได้ตั้งรกรากในสยามแต่บัดนั้นเป็นต้นมา บิดาของเขาถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้วและทิ้งที่ดินผืนมหึมาไว้เป็นมรดก ที่ซึ่งมารดาของเขายังคงอาศัยอยู่ เธอได้รับรายงานว่าลูกชายของเธอไม่ได้บาดเจ็บสาหัส และเธอก็มิได้สนใจด้วยซ้ำว่าปัญหาทางการทูตของทั้งสองประเทศกำลังก่อตัวลุกลามไปใหญ่โตแล้วแค่ไหนอย่างไร

รูปของนายเคลเลตต์หาได้รูปเดียว จากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 14:49

ไม่มีเอกสารไทยที่กล่าวถึงการเข้ามาแสดงอำนาจของเรือปืนมาชิอัสโดยละเอียดพิศดารเหมือนคราวฝรั่งเศส หรือผมไม่มีความสามารถที่จะหาเจอก็ได้ นอกจากข้อความไม่กี่บรรทัดในบทความอย่างยาวในเรื่องประวัติความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ว่า

นอกจากนั้นสัมพันธ์ไมตรีระหว่างไทยและอเมริกันยังขึ้นอยู่กับกงสุลอเมริกันเองด้วย ผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดน่าจะได้แก่ ฮัลเดอร์มาน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ.๒๔๒๓-๒๔๒๘ เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากกงสุลเป็นอัครราชทูต หลังสมัยฮัลเดอร์มานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอเมริกันยังมีปัญหาอยู่ เช่นในกรณีของชีค และกรณีเคลเลตต์ เป็นต้น ได้มีการเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาใช้นโยบายเรือปืนกับไทยบ้าง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือรบลำหนึ่งมาที่กรุงเทพ ผู้บังคับการเรือร่วมด้วยอัครราชทูตอเมริกันเข้ามาเจรจากับรัฐบาลไทย ฝ่ายไทยยอมให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสินชี้ขาด คณะตุลาการผสมตัดสินว่าฝ่ายไทยเป็นผู้ผิด รัฐบาลไทยยอมรับคำตัดสินด้วยดี เหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นว่า แม้ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนอเมริกันในเมืองไทย เช่น มิสชันนารีจะดำเนินไปด้วยดีก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ในระดับสูงไม่สู้จะราบรื่นนัก

ส่วนเอกสารที่เป็นทางการของอเมริกันก็เหนียมที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ แม้แต่ในปูมเรือของมาชิอัสเองก็มิได้กล่าวถึงภารกิจในสยามเลยแม้แต่นิดเดียว
อย่างไรก็ดี ผมมีหลักฐานว่าเรือปืนมาชิอัสมาจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือนกุมภาพันธุ์แน่ๆ แต่จะอยู่ที่ปากน้ำ หรือปากลัด หรือบริเวณใดของแม่น้ำเจ้าพระยาผมไม่ทราบ ฝากคุณหนุ่มสยามช่วยค้นด้วยนะครับว่า ในพ.ศ.๒๔๓๙ สถานทูตของสหรัฐอเมริกาตั้งอยู่แห่งหนตำบลใด แต่คงไม่ติดแม่น้ำเจ้าพระยากระมังจึงไม่มีรูปให้ดูเลย
หลักฐานเดียวที่ว่านี้เป็นคำสั่งโยกย้ายนายทหารที่ใจความไม่เกี่ยวกับกระทู้นี้ และมีบรรทัดเดียวที่หลุดออกมาในเรื่องของตำแหน่งที่อยู่ของเรือก็คือ

September, 1894, to February, 1897, U. S. S. "Machias," Asiatic Station.
Detached from " Machias " at Bankok Siam, by telegraph, February, 1897


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 15:09

เหตุการณ์ในครั้งนั้น อัครราชทูต จอห์น บาร์เรตต์ ได้ยื่นหนังสือขึ้นร้องต่อกรมหลวงเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีต่างประเทศ ขอให้พิจารณาสอบสวนคดีนี้โดยตั้งคณะอนุญาโตตุลาการผสม ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายสหรัฐและฝ่ายสยามขึ้นพิจารณาคดี โดยทางฝ่ายสยามเห็นด้วย และได้แต่งตั้งนายปิแอร์ โอร์ต ผู้ช่วยที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยี่ยมที่เข้ามารับราชการในสยามขณะนั้น ให้เดินทางไปทำหน้าที่พิจารณาคดีร่วมกับนายจอห์น บาร์เรตต์ อัครราชทูตสหรัฐเอง ณ เมืองเชียงใหม่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 16:39

นายปิแอร์ โอร์ต และนายจอห์น บาร์เรตต์ ออกเดินทางจากกรุงเทพเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๐ โดยทางเรือขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านเมืองชัยนาท แยกปากน้ำโพขึ้นมาตามลำน้ำปิง ผ่านกำแพงเพชร เมืองตาก ต่อด้วยเรือหางแมงป่อง ทวนแก่งต่างๆขึ้นไปจนถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๘สิงหาคมปีเดียวกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 16:50

พักเหนื่อยแล้วทั้งสองได้ร่วมกันพิจารณาคดีโดยเบิกโจทก์และจำเลย พร้อมกับพยานทั้งสองฝ่ายมาให้การ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคมจนกระทั่งถึงวันที่ ๒๐ กันยายน การพิจารณาคดีก็เสร็จสิ้นลง โดยลงเห็นว่า แม้ทหารสยามจะเป็นฝ่ายผิด แต่ก็มีเหตุอันสมควรให้อภัย จากความตื่นเต้นบุ่มบ่ามของรองกงสุลสหรัฐเอง ที่ทำให้เหตุการณ์เกิดความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นทำร้ายกันและมีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย

จึงพร้อมใจตัดสินให้ทหารที่ใช้กำลังประทุษร้ายรองกงสุลสหรัฐเหล่านั้นมีความผิดลดหลั่นกันไป แล้วได้ลงนามในคำพิพากษาลงโทษทหารเหล่านั้นดังนี้

๑ นายร้อยเอกหลวงภูนาถ ผู้บังคับบัญชากองทหารหน่วยนี้ มีความผิดฐานไม่กำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดี ให้ลงโทษด้วยการโยกย้ายไปกรุงเทพทันทีเมื่อมีคำพิพากษานี้ และให้รายงานตัวกับนายทหารของสหรัฐอเมริกากับนายทหารของสยามระดับยศเดียวกัน โดยไม่อนุญาตให้กลับมาเชียงใหม่ภายในเวลา๕ปี และให้ลดยศลงเป็นนายร้อยโทโดยจะไม่ได้รับการเลื่อนยศเป็นเวลา๒ปี กับให้พักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา๑ปี
๒ นายร้อยตรีช้อย ผู้บังคับหมวด มีความผิดฐานอยู่ในเหตุการณ์แต่มิได้ห้ามปรามผู้ใต้บังคับบัญชามิให้ทำร้ายผู้ช่วยกงสุลอเมริกันจนได้รับบาดเจ็บ ให้ลงโทษด้วยการโยกย้ายไปกรุงเทพทันทีเมื่อมีคำพิพากษานี้ และให้รายงานตัวกับนายทหารของสหรัฐอเมริกากับนายทหารของสยามระดับยศเดียวกัน โดยไม่อนุญาตให้กลับมาเชียงใหม่ภายในเวลา๕ปี และจะไม่ได้รับการเลื่อนยศเป็นเวลา๑๘เดือน กับให้พักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา๖เดือน
๓ พลทหารคราม พลทหารเนียม พลทหารพูน ให้ลงโทษด้วยการโยกย้ายไปกรุงเทพทันทีเมื่อมีคำพิพากษานี้ และให้รายงานตัวกับนายทหารของสหรัฐอเมริกากับนายทหารของสยามระดับยศเดียวกัน โดยไม่อนุญาตให้กลับมาเชียงใหม่ภายในเวลา๕ปี และให้พักงานโดยไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา๓เดือน

และให้

ก รัฐบาลสยามทำหนังสือแสดงความเสียใจอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา ผ่านสถานทูตในกรุงเทพ ต่อเหตุการณ์ทำร้ายเจ้าหน้าที่ของกงสุลที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของทหารสยาม ซึ่งรัฐบาลสยามจะได้มีคำสั่งให้พระทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ข้าหลวงใหญ่กำกับราชการมณฑลลาวเฉียง ให้กำหนดมาตรการในการป้องกันเรื่องดังกล่าวมิให้เกิดขึ้นอีก
ข ให้ตีพิมพ์คำพิพากษานี้ในพระราชกิจจานุเบกษาภายในกำหนดเวลาอันเหมาะสม โดยฉบับหนึ่งให้ปิดประกาศไว้ที่ประตูหน้าของสถานีตำรวจแห่งนครเชียงใหม่เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสัปดาห์ ทั้งนี้ภายในกำหนดเวลาไม่เกิน๗๕วัน นับจากมีคำพิพากษานี้

ลงนามพร้อมกันเป็น๒ฉบับ ณ วันที่ ๒๐ กันยายน ๑๘๙๗
จอห์น แบร์แลตต์
อัครราชทูตและกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา
อนุญาโตตุลาการ
และ
ปิแอร์ โอร์ต
ผู้ช่วยที่ปรึกษากฏหมายรัฐบาลสยาม
อนุญาโตตุลาการ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 16:56

ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงงง
เรื่องแค่เนี๊ยะ ถึงกับเรียกเรือปืนเข้ามากรุงเทพเชียวหรือ

แล้วไง ไอ้เสดฟัน ไอ้กันขวิด ไอ้กิดเฉือน ตรงไหน
.
.
.
ใจเย็นๆนะคร้าบ ใจเย็นๆ ผมบอกแล้วว่าเรื่องนี้มันสลับซับซ้อน ตัวละครเอกๆยังไม่ได้แสดงบทเลย

(จบองก์๑ พึงรอ ต่อองก์๒ ภาคค่ำ)
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 03:22

มาลงชื่อกันท่านอาจารย์เหงาครับ  เจ๋ง
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 08:51

คร้าบ ขอบคุณคร้าบ
ถ้าไม่มีใครลงชื่อ คาบหน้าท่านอาจารย์ใหญ่คงพิจารณาไล่ออก ไม่ให้เลกเซ่อร์แล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 09:08

ความจริงแล้ว นี่มิใช่ครั้งแรกที่นายจอห์น แบร์แลตต์ เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐใช้นโยบายGunboat Policyกับสยาม โดยปีก่อนหน้านั้นอัครราชทูตอเมริกันผู้นี้ได้ร้องขอให้เรือรบของสหรัฐลำหนึ่ง ซึ่งกำลังเทียบท่าอยู่ที่สิงคโปรให้แวะมาอวดธงในกรงเทพหน่อย เพื่อกระตุ้นให้สยามสนใจคดีที่หมอชีค อดีตมิชชันนารีอเมริกันในเชียงใหม่ยื่นฟ้องรัฐบาลสยามว่าทำลายธุรกิจของตนต่อศาลกงสุลของอเมริกัน ซึ่งฝ่ายสยามยังคงเพิกเฉยในการต่อสู้คดีนี้อยู่จนหมอชีคถึงแก่กรรมไปแล้ว ฝ่ายทายาทกลัวเรื่องจะเงียบหายจึงได้วิ่งเต้นติดตามเรื่องมา แต่ครั้งนั้นรัฐบาลอเมริกันเห็นว่าเกินเหตุไปหน่อย จึงมิได้เออออด้วย

แต่คราวนี้ฟังว่า พอทูตส่งรองกงสุลใหญ่ไปหาทางจบคดีแต่กลับถูกฝ่ายสยามทำร้าย รัฐบาลสหรัฐจึงยอมส่งเรือปืนลำหนึ่งไปสนับสนุนทูตตามคำขอ
ก็ได้ผลอยู่ละครับ เมื่อเข้าเฝ้ากรมหมื่นเทววงศ์ฯ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้ใช้ระบบอนุญาโตตุลาการในการชำระคดี โดยแยกและไม่เกี่ยวข้องกันระหว่างคดีอาญาที่รองกงสุลถูกทำร้าย กับคคีแพ่งของหมอชีค

หมอชีคคือใคร ความจริงเอกสารในเน็ทก็มีกล่าวถึงมะกันหนุ่มผู้นี้ไว้เยอะ เวปไทยส่วนใหญ่ก็ไปในแนวสรรเสริญ เพราะมีบทบาทในการเผยแพร่ศาสนาในระหว่างที่เป็นมิชชันนารีอยู่ในเชียงใหม่ แต่คนที่ผ่าตัดเอากึ๋นของหมอชีคมาให้ดูกันอย่างหมดไส้หมดพุง เป็นหมอเหมือนกัน ชื่อ นพ.วิบูล วิจิตรวาทการ ซึ่งได้เขียนเรื่อง “หมอชีค นักบุญมิชชันนารีอเมริกัน” ไว้อย่างละเอียดลออ

ผมขออนุญาตป้ายมาใช้เพื่อปูเรื่องไปสู่ตอนจบครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 09:22

กวาดสายตามองหานักเรียนหลังห้อง... เจ๋ง  หายไปไหนกันหมด  โกรธ

มาปั่นเรตติ้ง ขยายความคำว่า Gunboat policy ที่ท่านอาจารย์หน้าห้องเกริ่นเอาไว้ตอนต้นกระทู้ค่ะ

คำนี้ เรียกอีกอย่างว่า Gunboat diplomacy เรียกอย่างไม่เป็นทางการ(อีกที) ว่า "big stick diplomacy"  เป็นคำที่บัญญัติขึ้นในนโยบายต่างประเทศของพี่กัน ที่ใช้กับน้องๆประเทศอื่นที่ตัวกะจ้อยร่อยกว่าพี่    

นโยบาย มีความหมายคล้ายๆกับพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6  เคยทรงไว้ ว่า "กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้  ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียวเกลอ"   เพียงแต่อเมริกาไม่ใช้หมัด   ใช้ไม้หน้าสามผ่านทางเรือติดอาวุธ  ส่งไปเพื่อจะขู่ฮื่อแฮ่หากว่าในประเทศเล็กๆนั้นเกิดทำอะไรไม่ถูกความประสงค์ของอเมริกา   เช่นเจ้าของประเทศมีข้อพิพาทกับคนอเมริกันในประเทศ อย่างในไทย   หรือว่าประเทศนั้นมีโลกส่วนตัวสูงไม่ชอบเปิดประตูออกมาต้อนรับแขกฝรั่ง  ทั้งๆฝรั่งอุตส่าห์ไปเคาะประตูขอเข้าไปเยี่ยม  อย่างญี่ปุ่นเคยเจอ       นโยบายเรือปืนก็ถูกงัดเอาออกมาใช้ เบ่งกล้ามให้ดู แทนคำถามว่า
"จะยอมดีๆหรือจะให้ใช้กำลัง  ห๊า! ว่าไง "
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 09:53

อ. NAVARAT.C ถามมาว่า สถานกลสุลอเมริกัน ช่วง พ.ศ. ๒๔๓๙ ตั้งอยู่ที่ไหน

ก็จะส่งคำตอบให้ว่า ตั้งอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ใต้กงสุลอังกฤษ เหนือสถานทูตฝรั่งเศส รั้วเรือนติดกับวัดม่วงแค คร้าบบบ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.094 วินาที กับ 19 คำสั่ง