เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 20129 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 19 ส.ค. 13, 09:28

     ต่อมาอีก 2 ปี   โปรดเกล้าฯให้รวมกรมเลขานุการเข้ากับออฟฟิศหลวง  โดยใช้ชื่อเดิมว่าออฟฟิศหลวง  อีก 3 ปีต่อมาก็รวมงานในออฟฟิศหลวงเข้ากับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ    พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงย้ายไปรับราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ  ส่วนพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติทรงเลื่อนขึ้นเป็นหัวหน้าราชเลขานุการในออฟฟิศหลวง
     มีตำแหน่งสำคัญขนาดนี้เมื่อพระชันษาได้ 20 ปี เท่านั้นเอง  ยังไม่ได้ผนวชด้วยซ้ำไป
  
     พ.ศ. 2424 เมื่อพระชันษาได้ 21 ปีก็อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วไปประทับที่วัดราชประดิษฐฯ จนครบ 1 พรรษา   เมื่อลาผนวชออกมา  ทรงกลับมารับราชการต่อในออฟฟิศหลวง     อีก 4 ปีต่อมาเมื่อพระชันษาได้ 25 ปี  พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นปลัดบาญชีกลางในกระทรวงมหาสมบัติ ควบคู่กันไปอีกตำแหน่งหนึ่ง

บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 19 ส.ค. 13, 09:39

เข้่าเรียนสายค่ะ  ร้องไห้ อย่าตีหนูเลย หนูจะทำเวรให้ทั้งสัปดาห์เลยค่ะ จะหาดอกไม้มาปักแจกันคุณครูด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 19 ส.ค. 13, 09:41

     ความรอบคอบถี่ถ้วน และตรงไปตรงมา ของพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นอย่างไร  เห็นได้จากเอกสารกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว    ลงวันที่ ๑ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ ข้างล่างนี้

     “ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย
     เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ยืมเอาเงินเฟื้องที่ตามเสด็จพระราชดำเนินไปเกาะสีชัง ๕ ชั่งไปไว้สำหรับแจกอุบาสก อุบาสิกาและไว้ใช้การที่จะมีขึ้นที่วัดบวรนิเวศ     เงินรายนี้ ครั้นข้าพระพุทธเจ้าจะจำหน่ายในรายเงินตามเสด็จเกาะสีชังก็ผิดทางกันอยู่    ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานหนังสือสำคัญจ่ายเงินเสียต่างหาก
     ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”


      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า

      “ไม่ควรจะใช้เงินหลวงเลย เป็นการทำทาน   ฉันก็เคยใช้เงินฉันเอง ไม่มีเงิน  ก็ให้ขายผ้าไตรเขาแจกก็แล้วกัน”



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 19 ส.ค. 13, 09:44

เข้่าเรียนสายค่ะ  ร้องไห้ อย่าตีหนูเลย หนูจะทำเวรให้ทั้งสัปดาห์เลยค่ะ จะหาดอกไม้มาปักแจกันคุณครูด้วย

มานั่งแถวหน้าเลยค่ะ   เดี๋ยวจะหาขนมมาเลี้ยง 
พวกแถวหลังหลับกันหมดแล้ว   อดกินไปตามระเบียบ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 19 ส.ค. 13, 13:26

ลายพระหัตถ์ของกรมพระสมมตฯ งามจริง ๆ เคยเห็นในไดอารี่ ที่ทรงไว้ลายมืองามมาก ๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 19 ส.ค. 13, 13:47

    มีตัวอย่างลายพระหัตถ์ให้ดูอีกไหมคะ คุณหนุ่มสยาม?

   ตำแหน่งหัวหน้าราชเลขานุการที่ทรงได้รับมาตั้งแต่พ.ศ. 2423 เมื่อพระชันษาได้ 20 ปี  สมัยนั้นเรียกว่า "ไปรเวตสิเกรตารี" (Private Secretary) ฟังเหมือนเลขานุการส่วนตัว ทำงานเล็กๆน้อยๆให้นาย     แต่ความจริงไม่ใช่  ตำแหน่งนี้พอเทียบได้กับราชเลขาธิการ  และมีหน้าที่กำกับดูแลกรมพระอาลักษณ์   พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติต้องทำงานควบสองตำแหน่ง คือบวกตำแหน่งปลัดบาญชีกลางด้วย
 
   การทำงานสองตำแหน่งพร้อมกันเป็นงานหนักเกินกว่าจะทรงงานได้ทั่วถึง   จึงกราบบังคมทูลขอรับเพียงตำแหน่งเดียว     พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้รักษาตำแหน่งไปรเวตสิเกรตารีไว้     พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติก็รับราชการในหน้าที่นี้ต่อมา รับใช้ใกล้ชิดเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย     
   ทำอยู่หลายปีจนถึงพ.ศ. 2429  พระชันษาได้  26 ปี   จึงโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม   พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์    รับราชการมาแล้วถึง 11 ปี

    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 19 ส.ค. 13, 21:52

   กรมขุนสมมติฯ คงจะทรงมีลายพระหัตถ์งามมาแต่แรก     หน้าที่การงานของท่านก็ส่งเสริมให้ต้องใช้ลายมืองามอย่างสม่ำเสมออีกด้วย    เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีพิมพ์ดีด ไปรเวตสิเกรตารีต้องเขียนตามพระราชดำรัสล้วนๆ      บรรดาจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 จำนวนนับสิบเล่ม  ล้วนแต่มาจากลายพระหัตถ์ของกรมขุนสมมติฯ ทั้งสิ้น    ถ้ามีผู้อื่นจดบ้าง ก็เฉพาะเวลาที่ กรมขุนสมมติฯ ทรงประชวร หรือบังเอิญมิได้เข้าเฝ้าฯ แต่ก็นานๆ ครั้ง
     กรมขุนสมมติฯ ทรงมี ‘ไดอรี’(diary) ส่วนพระองค์          ใน ‘ไดอรี’ หรือบันทึกรายวันของท่าน ตอนหนึ่งทรงบ่นเรื่องงาน    ทำให้ดูออกว่าว่าหน้าที่การงานของท่านนั้น เหน็ดเหนื่อยเคร่งเครียดขนาดไหน

     ในบันทึกวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2426 (ขณะพระชันษาได้ 23 ปี) ทรงบ่นไว้ว่า
      “...ราชการมากเป็นที่สุด ไม่มีเวลาหยุด อะไรต่ออะไรค้างไปหมด เพราะกำลังแลเวลาไม่มีพอ ไม่มีใครแบ่งเขาบ้าง พอเข้าไปถึงบ่ายโมงก็ราว 50 มินิต ไปตรวจออฟฟิศล่างแล้วพอ 2 โมงขึ้นไปออฟฟิศบนประเดี๋ยวหนึ่งเข้าไปข้างในออกมา 4 โมง เขียนหนังสือต่อไปจนราวสัก 5 โมงครึ่ง กินข้าวแล้วเขียนต่อไปจน 2 ทุ่ม เข้าไปข้างในจน 5 ทุ่มเสศ กลับออกมาสั่งการเบตเลตเล็กน้อย กลับมา 5 ทุ่มครึ่ง ลำบากเหลือที่จะพรรณา มือปวดไปหมดด้วยเรื่องเขียนหนังสือ เบื่อจะตายยังต้องกลับมาเขียนไดอรีอีก ไม่เขียนก็เสียดายด้วยเขียนมาเกือบตลอดปีแล้ว ไม่มีบกพร่องเลย จะทิ้งไว้ก็จะสะสมก็ต้องทนเขียนไป เหมือนตากแดดร้อนๆ แล้วมาผิงไฟ ได้แก่เรา เหนื่อยจากเขียนหนังสือแล้วยังกลับมาเขียนหนังสืออีก ก็ต้องทนเขียนไปปวดข้อมือเต็มที...”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 10:04

ตัวอย่างไดอรี ที่ทรงบันทึกไว้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 10:07

อีกหน้าหนึ่งของ "ไดอรี"


บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 20 ส.ค. 13, 14:09

มาลงชื่อตามอ่านค่ะ ลายพระหัตถ์เสด็จในกรมงามมากจริงๆ
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 10:43

เห็นด้วยค่ะ

ตำแหน่ง "ไปรเวตสิเกรตารี" เป็นตำแหน่งติดพระองค์  ควบคู่ไปกับตำแหน่งอื่นๆ เช่นเป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่    เป็นผู้บังคับบัญชากรมมุรธาธร   เป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ      ในพ.ศ. 2438 พระเจ้าอยู่หัวทรงยกกรมราชเลขานุการเป็นกรมพิเศษ  ให้ "ไปรเวทสิเครตารี" เป็นตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี   มีตราประจำตำแหน่งเป็นตราพระนารายณ์ทรงยืน    มีหน้าที่เข้าร่วมประชุมเสนาบดีด้วย   
"ไปรเวตสิเกรตารี"หมายถึงงานหนักและความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน  ต้องเขียนภาษาได้ดีเพื่อใช้ในการสื่อสาร และติดต่อประสานงานกับกระทรวงกรมต่างๆไม่มีข้อผิดพลาด    ความสำคัญอีกอย่างคือเป็นงานที่ต้องรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท     เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ไม่มีเรื่องตำหนิได้     กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ก็ทรงทำได้เรียบร้อยทุกประการ     เห็นได้จากเมื่อเสด็จยุโรปครั้งแรกในพ.ศ. 2440  หนึ่งในพระเจ้าน้องยาเธอเพียง 3 พระองค์ที่โปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จเป็นทางการ มีกรมหมื่นสมมตฯรวมอยู่ด้วย     อีก 2 พระองค์คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ   และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
หน้าที่หนักอีกอย่างของกรมหมื่นสมมตฯ คือต้องทรงดูแลการเล่าเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอที่เจริญพระชันษาขึ้นหลายต่อหลายพระองค์พร้อมๆกัน  ก็ทรงทำได้เรียบร้อยดีเช่นกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 10:49

กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงพระปรีชาด้านภาษาไทยและบาลีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  ได้ศึกษาบาลีจนเชี่ยวชาญ    ด้านภาษาไทยก็ทรงแต่งบทกวีได้ ว่าด้วยเรื่อง "เวร"    ดังบทข้างล่างนี้

เวรก่อต่อติดด้วย               เวรตาม  ตอบแฮ
เวรยิ่งลุกยาวลาม              ยืดล้น
เวรระงับดับความ               อาฆาต ขาดนา
เวรพ้นหมดภัยพ้น              จากผู้จองผลาญ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 11:05

      ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงบันทึกครั้งที่พระราชทานเลี้ยงปีใหม่ในเรือมหาจักรี ดังนี้

             “...แล้วเลี้ยง ๔๐ คน กรมหลวงประจักษ์สปีชอย่างตาโหร ว่าเปนกลอนเรื่อยทีเดียว พ่อดื่มให้เจ้าแผ่นดินอังกฤษ เจ้าพระยาสุรวงศ์ให้พรแทนขุนนางเมื่อแรกมา โจทย์กันว่าจะให้ดุ๊กสปีชภาษาฝรั่ง ดุ๊กไปเกี่ยงให้มิสเตอร์เวสเตนกาด สปีชภาษาไทย มิสเตอร์เวสเตนกาด เชื่อว่าตัวพูดภาษาไทยไม่ได้ ไปวานให้พระรัตนโกษาแต่งท่องเสียจนจำได้ ข้างดุ๊กเชื่อว่าตัวรู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ตระเตรียมอะไร พอเวสเตนกาดลุกขึ้นยืนพูดหน้าซีดไม่เป็นรศ พอเขาจบแล้วถึงทีแกจะลุกๆ ไม่ขึ้น เกี่ยงให้กรมสมมตสปีชภาษามคธก่อน กรมสมมตว่าเก่ง ปรูดปราดได้...”

        อีกงานหนึ่ง เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ(เจ้าคุณพระประยูรวงศ์)สิ้นพระชนม์ เมื่อพ.ศ. 2449   โปรดให้มีงานพระศพที่บางปะอิน    พระเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแปลอรรถกถาเอกนิบาตชาดก   เพื่อพิมพ์พระราชทาน   ในการนี้สมเด็จฯทรงขอให้กรมหมื่นสมมตทรงร่วมแปลด้วย
      เมื่อทรงตรวจส่วนที่กรมหมื่นสมมตแปลแล้ว    มีลายพระหัตถ์ยกย่องว่าทรงเชี่ยวชาญบาลีมากกว่าเปรียญ 5 ประโยค  ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพัดเปรียญพื้นแดงประดับเลื่อมขนาดเล็ก ใช้ปักที่โต๊ะเครื่องลายครามได้  และทรงตั้งให้เป็นเปรียญ 5 ประโยคเป็นพระเกียรติยศ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 17:22

  กรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นผู้ที่คิดคำว่า "กุ" ขึ้นมา ใช้มาจนทุกวันนี้ เช่น กุข่าว กุเรื่องราว     ที่มาของคำนี้คือนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ
  คุณเพ็ญชมพู เล่าไว้ใน blog ว่า
   
   กุ

   คำว่า "กุ" เป็นคำร่วมสมัยกับคำว่า "เล่นพิเรนทร์" พจนานุกรม ให้ความหมายว่า "สร้างให้เป็นเรื่องเป็นข่าวขึ้นโดยไม่มีมูล" "กุ" มีที่มาจากพฤติกรรมของคนเช่นเดียวกับ "พิเรนทร์"

นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ เป็นปัญญาชนคนธรรมดารุ่นแรก ๆ ในสยามประเทศ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่ออายุได้สี่ขวบ พระองค์เจ้ากินรี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรสเป็นองค์อุปัชฌาย์ ก็ได้ฉายานามว่า เกศโร ซึ่งได้ใช้มาเป็นชื่อหน้าในภายหลัง คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ตามความนิยมที่จะมีชื่อหน้าอย่างตะวันตก

เนื่องจากได้มีโอกาสใกล้ชิดเจ้านายและเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่มาก จึงมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนมาก ได้อ่านหนังสือตำราภาษาไทยจำนวนมาก และได้แอบคัดลอกหนังสือเหล่านั้น ออกมาพิมพ์เผยแพร่ให้กับบุคคลภายนอก โดยพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและถ้อยคำของหนังสือใหม่ จึงทำให้ถูกไต่สวนบ่อยครั้ง ในข้อหาแต่งเติมพงศาวดาร ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของเขา ก็เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสอ่านหนังสือ และมีความรู้ ดังที่เขาได้มีโอกาส

คำว่า "กุ" ที่ย่อมาจากชื่อกุหลาบ หมายถึงโกหกขึ้นมา ก็มาจากพฤติกรรมนี้เอง กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เรียกหนังสือของนายกุหลาบ ว่า "หนังสือกุ" เพราะจะว่าจริงแท้ก็ไม่ใช่ เท็จทั้งหมดก็ไม่ใช่

เมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในร.ศ. ๑๑๒ เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงประชาชนจำนวนมากโกรธแค้นฝรั่งเศสที่รังแกสยาม รวมทั้งนายกุหลาบด้วย แต่ว่าความเคืองแค้นของนายกุหลาบไม่ได้หยุดอยู่แค่ฝรั่งเศส แต่ลามมาถึงพระบรมราโชบายของพระเจ้าอยู่หัว ที่จำต้องสละแขนขาเพื่อรักษาชีวิตของสยามไว้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 21 ส.ค. 13, 17:23

นายกุหลาบก็แต่งเติมพงศาวดารสุโขทัย เล่าเรื่อยมาถึงตอนจะเสียกรุงศรีอยุธยา ว่าตอนปลายอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" พระจุลปิ่นเกษ ไม่มีความสามารถที่จะรักษาอยุธยาไว้ได้ ถึงเสียบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้าไปแปลเป็นพระปิ่นเกศ และพระจุลปิ่นเกศ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิ์ในการแต่งหนังสือ จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นพระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมา สั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบจึงสารภาพว่าเป็นเรื่องที่ตนคิดขึ้นมาเอง

รัชกาลที่ ๕ มิได้ทรงลงโทษรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแต่ทรงมีพระราชประสงค์จะดัดนิสัยให้นายกุหลาบเลิกอวดดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงรักษาคนบ้า ๗ วัน แล้วปล่อยไป
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 20 คำสั่ง