เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 29850 นิพพานวังหน้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 18:06

อ้างถึง
ผมจำได้ว่าเคยอ่านที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ไว้ ท่านบอกว่าวังหน้าโดนของ มีเส้นผมเป็นต้น แต่ผมจำไม่ได้ว่าเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทครับ ต้องรอผู้รู้ท่านอื่นมาเฉลย


สมัยสมเด็จพระปิ่นเกล้าครับ เรื่องนี้ในเรือนไทยเคยเสนอกันมาแล้ว

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4184.165

จากคคห.๑๗๖ เป็นต้นไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 18:38

อ้างถึง
" นิพพานวังหน้า" หรือสะกดแบบเดิมว่า "นิพานวังน่า" เป็นงานนิพนธ์ที่คาบเกี่ยวอยู่  2 สาขา คือโดยลักษณะการแต่ง จัดเป็นวรรณคดี   ประเภทกลอนเพลงยาว  มีคำประพันธ์ทั้งกลอน โคลง กาพย์และร่าย    แต่โดยเนื้อหา เป็นประวัติศาสตร์  บันทึกอาการประชวร เรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1    คนอ่านก็จะได้รู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในตอนปลายรัชกาล แถมพกไปด้วย

   ผู้แต่งเรื่องนี้ไม่ได้ระบุชื่อตัวเอง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่าเป็น พระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร  พระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชื่อนักองค์อี    ซึ่งเป็นพระธิดาสมเด็จพระอุไทยราชา  กษัตริย์กัมพูชา

ขอถามหน่อยเถิดครับ

ชื่อเรื่องนิพพานวังน่า นี่ ผู้แต่งเป็นผู้ตั้งไว้ หรือว่าคนชั้นหลังไปตั้งให้

เท่าที่สังเกตุ บทนิพนธิ์โบราณประเภทนี้ ผู้แต่งมักจะบันทึกไว้ไม่ได้ประสงค์จะให้ใครอ่าน หรือถ้าให้อ่านก็เฉพาะในวงในจริงๆ และมักจะไม่ได้ตั้งชื่อเรือง ลูกหลานมาตั้งกันเองตามสมัยนิยมเท่านั้น

นิพพานวังน่าอาจจะเป็นแบบไดอารี่ของฝรั่ง คือผู้เขียนเขียนให้ตนเองอ่าน อยากจะบันทึกความรู้สึกนึกคิดอะไรก็เขียนไป ไม่ได้ระมัดระวังว่าวันหนึ่งสิ่งที่เขียนไว้จะถูกเผยออกมาให้ขายหน้าตนเอง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 18:50

ผมจำได้ว่าเคยอ่านที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ไว้ ท่านบอกว่าวังหน้าโดนของ มีเส้นผมเป็นต้น แต่ผมจำไม่ได้ว่าเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้า หรือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทครับ ต้องรอผู้รู้ท่านอื่นมาเฉลย
น่าจะเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ค่ะ
มีเล่าไว้ในกระทู้เก่า
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4184.180

ในพระราชพงศาวดารบันทึกเรื่องราวไว้ว่า
        "ครั้นต่อมาถึงเดือน ๑ ปีฉลู (พ.ศ.๒๔๐๘) ทรงพระประชวรมากไป กลีบมารดาทำเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยวให้เจ้าพนักงานตั้งถวาย พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเสวยได้ ๒ ฉลองพระหัตถ์ ทรงเห็นเป็นขนอยู่ในชามพระเครื่องแกงก๋วยเตี๋ยว"
        พงศาวดารไม่ได้บันทึกว่าเมื่อทรงเห็น "เป็นขน" แล้ว สืบสาวราวเรื่องขึ้นมา  หรือปล่อยไว้เฉยๆ  แต่คิดว่าน่าจะมีการทำอะไรสักอย่าง คงไม่ปล่อยไว้อย่างนั้น   พงศาวดารมาบันทึกอีกที ก็เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปประมาณ ๑ เดือน
        "ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จฯขึ้นไปเยี่ยมประชวร พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จึงกราบบังคมทูลว่า ทรงประชวร ครั้งนี้ มีความสงสัยในกลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจึงทรงประชวรมากไป ขอรับพระราชทานข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวัง เป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ พระยามณเฑียรบาล พระยาอนุชิตชาญไชย พระยาบริรักษราชา พระยาอัษฎาเรืองเดช พระพรหมธิบาลพระพรหมสุรินทร์ เป็นตระลาการชำระ"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 19:02

อ้างถึง
ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่า พระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯที่เป็นสีคล้ำ  แสดงถึงการผิดปกติทำนองไหน  ถูกวางยาพิษ หรือว่าทรงได้รับการดูแลรักษาไม่ดี     พระเจ้าอยู่หัวจึง "เคียดแค้น" มาถึงเจ้านายและพระสนมของวังหน้า

เชื่อกันว่าอัฐิของผู้ที่เคยเสพยาพิษ หรือโดนคุณไสย จะมีสีคล้ำดำ
 
แต่เรื่องนี้ก็น่าสงสัย สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าท่านทรงเห็นพระอัฐิกรมพระราชวังบวรตอนไหน ท่านเสด็จขึ้นเก็บพระอัฐิลงพระโกศเองหรือจึงได้ทอดพระเนตรเห็น หากมิใช่ช่วงนั้นแล้วคงจะไม่โอกาสจะได้ทอดพระเนตรอีก เพราะตามพระราชประเพณีไม่ทำกัน

พระโกศพระอัฐิของกรมพระราชวังบวรปัจจุบันเก็บไว้ที่หอพระนาค วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บนพระวิมานบนสุดด้านริมซ้ายของรูป

ส่วนพระสรีรังคาร อัญเชิญไปลอยน้ำที่หน้าวัดปทุมคงคา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 20:03

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเห็นพระอัฐิเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธีเก็บพระอัฐิ ค่ะ    เมื่อลอยพระอังคารเสร็จก็เชิญพระโกศกลับพระราชวัง

พระโองการสั่งให้นำอังคารเสร็จ                    แห่เสด็จลงท่ากระสินธุ์ไหล
แล้วโปรดให้เชิญพระโกศแก้วครรไล               สถิตย์ในกรมพระราชวังคืน

  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 20:39

ขอถามหน่อยเถิดครับ

ชื่อเรื่องนิพพานวังน่า นี่ ผู้แต่งเป็นผู้ตั้งไว้ หรือว่าคนชั้นหลังไปตั้งให้

เท่าที่สังเกตุ บทนิพนธิ์โบราณประเภทนี้ ผู้แต่งมักจะบันทึกไว้ไม่ได้ประสงค์จะให้ใครอ่าน หรือถ้าให้อ่านก็เฉพาะในวงในจริงๆ และมักจะไม่ได้ตั้งชื่อเรือง ลูกหลานมาตั้งกันเองตามสมัยนิยมเท่านั้น

นิพพานวังน่าอาจจะเป็นแบบไดอารี่ของฝรั่ง คือผู้เขียนเขียนให้ตนเองอ่าน อยากจะบันทึกความรู้สึกนึกคิดอะไรก็เขียนไป ไม่ได้ระมัดระวังว่าวันหนึ่งสิ่งที่เขียนไว้จะถูกเผยออกมาให้ขายหน้าตนเอง

ผู้แต่งเป็นผู้ตั้งชื่อว่า "นิพานวังน่า"  ตั้งแต่ในตอนต้นของเรื่อง  เริ่มด้วยโคลงกระทู้แบบนี้ค่ะ
(รักษาตัวสะกดแบบเดิม)

๏      นิ      ราศบาทเบื้องโอ้                  โมฬี
      พาน      จะโศกทั้งศรี                  อยุทธเยศ
      วัง      เย็นสงัดตี                       อกร่ำ ก่ำเอย
      น่า      มุขพิมานเมศร์                  เมื้อมิ่งแรมหมอง ฯ
๏      แต่      พระจอมมงกุฎโลกย์                  แรมวัง
      แผ่น      พิภพเพียงพัง                  ม้วยไหม้
      ดิน      โดยอดูรหวัง                  หวั่นเทวศ
      ต้น      แต่ตีทรวงให้                  ห่อนเว้นวันเสบย ฯ
                     

  เป็นโคลงนำเรื่องที่ผู้นิพนธ์แต่งเอง  เห็นจากระบุเรียกตัวเองว่า "ลูก" อยู่ในโคลงบทรองๆมาอีกสองสามครั้ง
            ๏ พระคุณเฮยแต่นี้เงียบ      วังเย็น
            เคยเผยสีหเหน              ลูกไห้
            ยามศุขกลับไปเปน      ทุกข์เทวศ
           คิดฤๅวายวางไข้              จิตรโอ้อาดูร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 21:00

ตามประวัติ กล่าวว่าต้นฉบับดั้งเดิมตกอยู่ในหอวชิรญาณ  มี 2 ฉบับด้วยกัน คือฉบับสมุดไทยดำเส้นรง ซึ่งเป็นสมบัติเดิมของหอพระสมุด 1  ฉบับ    และฉบับสมุดไทยดำเส้นดินสอฝุ่น ซึ่งหอพระสมุดซื้อมาเมื่อพ.ศ. 2450  อีก 1 ฉบับ  เนื้อความในฉบับเส้นรงบางตอนไม่ปรากฏในฉบับดินสอฝุ่น  
หลักฐานตรงนี้ แสดงว่าฉบับสมุดไทยดำเส้นดินสอฝุ่นที่หอพระสมุดซื้อมาเป็นฉบับครบถ้วนสมบูรณ์   ไปตกอยู่กับเอกชนภายนอกวัง  หอพระสมุดจึงซื้อมาได้    ส่วนฉบับเส้นรงน่าจะตกค้างอยู่ในวังหน้ามาตั้งแต่พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4  ข้าวของที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ เช่นหนังสือส่วนพระองค์คงถูกเก็บรักษาไว้ไม่มีใครแตะต้อง  จึงเหลือรอดมาจนถูกรวมเข้ากับสมุดไทยอื่นๆ ไปเก็บรักษาอยู่ที่หอพระสมุด

ดิฉันเห็นด้วยกับท่านนวรัตนว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเขียนขึ้นเพื่อเผยแพร่สู่ผู้คนในวงกว้าง  แม้แต่วงกว้างในวังหน้าด้วยกันก็ไม่น่าจะใช่   เพราะบางตอนในเรื่องเป็นเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัว   น่าเสียดายที่ดิฉันไม่ทราบว่า "เนื้อความในฉบับเส้นรงบางตอนไม่ปรากฏในฉบับดินสอฝุ่น" น่ะหมายถึงตอนไหน    
ถ้าเป็นตอนท่านรำพันอำลาอาลัยแฟน  ก็พอจะเข้าใจว่า ฉบับเส้นดินสอฝุ่นที่ตกไปอยู่นอกวังอย่างครบถ้วนนั้นน่าจะทรงมอบให้นางในคนโปรดของท่าน ทำนอง "สารนี้นุชแนบไว้ ในหมอน" กระมัง     เธอก็เก็บรักษาไว้อย่างดีไม่มีตกหล่น  จนถึงแก่กรรม ลูกหลานซึ่งอ่านไม่เข้าใจคุณค่าของสมุดไทยที่ว่าก็เลยนำออกขาย ทำให้ย้อนคืนกลับมาเป็นของหลวงอีก

อ้างถึง
นิพพานวังน่าอาจจะเป็นแบบไดอารี่ของฝรั่ง คือผู้เขียนเขียนให้ตนเองอ่าน อยากจะบันทึกความรู้สึกนึกคิดอะไรก็เขียนไป ไม่ได้ระมัดระวังว่าวันหนึ่งสิ่งที่เขียนไว้จะถูกเผยออกมาให้ขายหน้าตนเอง

ถูกเป๋งเลย
ที่จริงสมาชิกเจ้าประจำเรือนไทยก็เขียนอะไรกันเก่งๆทั้งนั้น   ถ้าจะเขียนไดอารี่เมื่อไหร่  อย่าลืมเตือนตัวเองว่าถ้าเขียนแล้วบอกใครไม่ได้ อย่าเขียนซะดีกว่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 21:31

ขอแยกซอยออกไปหน่อยนะคะ

ความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง (Lesbianism)  ไทยโบราณเรียกว่า "เล่นเพื่อน"   ทำให้คำว่า "เพื่อน" กลายเป็นคำต้องห้ามของสาวชาววังซึ่งมีผู้หญิงรวมกันอยู่จำนวนมาก     ต่อให้ใครจะสนิทกับใครอย่างเพื่อนฝูงธรรมดา ไม่มีนัยยะมากกว่านั้น ก็ห้ามเรียกว่าเป็นเพื่อนกันเด็ดขาด ต้องเลี่ยงไปใช้คำอื่น   เช่นเป็นคนคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กๆ

ในเมื่อระบบพระราชฐานฝ่ายในของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา จำกัดพลเมืองเอาไว้แต่เพศหญิง  มีชายอยู่คนเดียวคือพระเจ้าแผ่นดิน   ความสนิทชิดใกล้ในเพศหญิงด้วยกันโดยไม่มีโอกาสคบหาผู้ชาย  ทำให้การเล่นเพื่อนระบาดกันแพร่หลาย      มีความขัดแย้งระหว่างประเพณีกับปฏิบัติ  คือโดยประเพณีซึ่งออกมาในรูปของคำห้ามปรามตลอดจนกฎระเบียบต่างๆ  การเล่นเพื่อนเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องลี้ลับน่าอับอาย ต้องถูกประณามหรือลงโทษอย่างรุนแรง  เช่นการสักหน้าและห้ามเข้าวัง      แต่ทางปฏิบัติ  ก็รู้ๆกันอยู่ว่ามีกันมากมาย  ห้ามไม่หวัดไม่ไหว

หลักฐานเรื่องรักร่วมเพศของสาวชาววัง เขียนไว้ชัดเจนในเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งโดยสาวชาววังชื่อ คุณสุวรรณ  ในรัชกาลที่ 3 เธอได้ถวายตัวเข้าเป็นนางข้าหลวงในตำหนักของ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 07 ส.ค. 13, 21:38

คู่สาวเลสเบี้ยนตัวเอกในเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์  และอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกันคือ คุณโม่ง  เป็นเรื่องแต่งขึ้นเพื่อล้อเลียนพฤติกรรมของ "หม่อมสุด" และ "หม่อมขำ" เป็นหม่อมห้ามของ กรมพระราชวังบวรฯ มหาศักดิพลเสพในรัชกาลที่ 3
หม่อมทั้งสองมีสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษกว่าเพื่อนฝูงธรรมดา   เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้ว หม่อมสุดเข้าไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง ประจำอยู่ที่ตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ     ต่อมาไม่นาน หม่อมขำเพื่อนสาวก็ตามหม่อมสุดเข้าไปรับราชการอยู่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเช่นเดียวกัน

หม่อมสุดเป็นผู้ที่รู้หนังสือดี กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงมักจะโปรดให้อ่านบทกลอนถวายเมื่อบรรทม   ต่อมาทรงเรียกว่าคุณโม่งแทนหม่อมสุดนี้ มีที่มาจากคืนหนึ่งเมื่ออ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวาย หม่อมสุด สำคัญว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพบรรทมหลับแล้ว ก็ดับเทียนแล้วเอาผ้าคลุมโปง ชุลมุนกับหม่อมขำซึ่งนอนอยู่ปลายพระบาท คุณสุวรรณเขียนเพลงยาวบรรยายฉากนี้ไว้ว่า

ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ          หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง                                    ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย
เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท                       ก็คิดคาดเอาว่าคนหาเห็นไม่
จึงกระทำเอาแต่อำเภอใจ                                 ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง
กระซุบกระซิบซุ่มกายอยู่ปลายพระบาท                  อุตลุตอุดจาดทำอาจโถง
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง                      จึงตรัสเรียกคุณโม่งแต่นั้นมา


น่าสังเกตว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมิได้ทรงลงโทษหรือแม้แต่ตำหนิ  แต่กลับเห็นเป็นเรื่องตลก   จึงทรงล้อเลียนเรียกว่า "คุณโม่ง"   คงจะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆของสาวชาววัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 08 ส.ค. 13, 09:07

เชื่อกันว่าอัฐิของผู้ที่เคยเสพยาพิษ หรือโดนคุณไสย จะมีสีคล้ำดำ

กลับไปอ่านนิพพานวังหน้าอีกครั้ง    พบว่าหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีไปแล้ว  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯก็มิได้ทรงนิ่งนอนพระทัย    ยังคงสงสัยเรื่องพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯเป็นสีดำคล้ำ   คนที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยคือบรรดาเจ้าจอมหม่อมห้ามทั้งหลาย  จึงโปรดเรียกตัวมาสอบสวนหมดทุกคน      วิธีสอบสวนก็คือให้สาบานต่อหน้าพระพุทธชินราช
ในยุคที่ยังไม่มีนิติเวช  คุณหญิงหมอพรทิพย์ก็ยังอยู่ในชาติก่อน      เห็นจะไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าให้สาบานต่อหน้าพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์  เพราะคนไทยสมัยนั้นยังกลัวคำสาบานอยู่มาก

สงสัยในสุรางค์บำเรอประคอง                      พระทัยหมองทุกยุพาเป็นราคิน
จะใคร่ทราบซึ่งคนในกลเม็ด                        พระอิศเรศให้หาลงมาสิ้น
ต่างเทวษเนตรนองสุชลริน                         สุดถวิลหวั่นทรวงไม่สร่างเสบย
ให้สาบานต่อพระพุทธชิโนเนตร                    บ้างน้อมเกศแล้วก็ร่ำคำเฉลย
ขอบารมินปิ่นโลกที่ล่วงเลย                        พระคุณเคยปกเกล้าบันเทาทน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 08 ส.ค. 13, 09:37

ขอประทานโทษ พระพุทธชิโนเนตร อาจหมายถึงพระพุทธรูปแบบไม่เจาะจงก็คงได้กระมังครับ เพราะพระพุทธชินราชอยู่ที่พิษณุโลกนั่น องค์จำลองในกรุงเทพก็ยังไม่มี

ถ้าจะว่ากันถึงระดับไปจ้ดสาบานในพระวิหาร จะเป็นวัดพระแก้วคงไม่ใช่ที่ ถึงตอนนั้นวัดสุทัศน์ก็ยังสร้างไม่เสร็จ การจัดให้จำเลยสาบานคงจะเป็นแบบที่ศาลปัจจุบันถือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ คือให้โจทก์ จำเลย และพยานทุกปากสาบานหน้าพระพุทธรูปก่อนให้การต่อศาล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 08 ส.ค. 13, 09:44

  เรื่องที่ทรงสงสัยนางในวังหน้าทั้งหลาย คงไม่ได้สงสัยว่ามีคนไหนบังอาจวางยาพิษกรมพระราชวังบวรฯ    แต่ที่สงสัยเห็นจะเป็นเรื่องการทำคุณไสยมากกว่า    คุณไสยประเภทดาษดื่นที่สุดในวังคือทำเสน่ห์  
   เหตุผลก็เห็นง่ายๆคือในวังทั้งหลายมีผู้ชายเป็นใหญ่อยู่คนเดียว  แวดล้อมด้วยผู้หญิงนับร้อย ต่างคนต่างอยากเป็นที่เสน่หาโปรดปรานมากกว่าคนอื่น      เพราะฉะนั้นการทำเสน่ห์จึงเป็นทางออกที่เห็นง่ายที่สุด   หมอที่รับจ้างทำเสน่ห์ก็พอหาได้ไม่ยาก  
   เรื่องทำเสน่ห์  ทำแล้วได้ผลมากน้อยแค่ไหนไม่มีใครทำสถิติไว้   แต่มีความเชื่อต่อมาว่าการทำเสน่ห์คุณไสยมีผลร้ายแรงต่อผู้ถูกกระทำ  อย่างหนึ่งอย่างที่ท่านนวรัตนบอกไว้คือ   เชื่อกันว่าอัฐิเป็นสีดำคล้ำแสดงว่าถูกยาพิษหรือคุณไสย      แต่จริงๆสีดำคล้ำนั้นเกิดจากโรคหรืออะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน
   ก็เป็นอย่างที่คิดคือทุกนางก็ร้องห่มร้องไห้ สาบานว่าไม่ได้ทำอะไรแบบนั้น    จะว่าไปของพรรค์นี้ก็พิสูจน์ยากเสียด้วยซีคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 08 ส.ค. 13, 09:57

ขอประทานโทษ พระพุทธชิโนเนตร อาจหมายถึงพระพุทธรูปแบบไม่เจาะจงก็คงได้กระมังครับ เพราะพระพุทธชินราชอยู่ที่พิษณุโลกนั่น องค์จำลองในกรุงเทพก็ยังไม่มี

ถ้าจะว่ากันถึงระดับไปจ้ดสาบานในพระวิหาร จะเป็นวัดพระแก้วคงไม่ใช่ที่ ถึงตอนนั้นวัดสุทัศน์ก็ยังสร้างไม่เสร็จ การจัดให้จำเลยสาบานคงจะเป็นแบบที่ศาลปัจจุบันถือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ คือให้โจทก์ จำเลย และพยานทุกปากสาบานหน้าพระพุทธรูปก่อนให้การต่อศาล

อาจเป็นได้  ขอบคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ  ดิฉันยังตีความไม่ได้ว่าพระพุทธชิโนเนตร หมายถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ  เช่นองค์ที่อัญเชิญมาสำหรับการสาบาน  หรือว่าไม่เจาะจง  เป็นองค์ไหนก็ได้อย่างท่านนวรัตนว่าไว้

ผลการสอบสวน  พระองค์หญิงกัมพุชฉัตรไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงพบเงื่อนงำตื้นลึกหนาบางในเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน   ท่านสรุปผลไว้ว่า

ที่ไม่มีราคินมลทินระคน                   จอมสกลโลมเลี้ยงสำราญวัง
   ไหนราคีฝ่าธุลีละอองหมาง                คิดระคางมิได้เอื้อนสวาทหวัง
   จัดให้ออกนอกเขตทุเรศยัง                สั่งให้โปรดประทานประยูรวงศ์


    คือนางในคนไหนดูแล้วว่าบริสุทธิ์  ไม่ทำคุณไสย  ก็ทรงชุบเลี้ยงต่อไปในวัง  ในที่นี้น่าจะหมายถึงวังหลวง   เช่นอาจจะรับไปเป็นเจ้าจอมต่อไป   ส่วนคนไหนไม่มีพระราชประสงค์จะเลี้ยงต่อไป เพราะ(สงสัย)ว่าทำเสน่ห์  ก็โปรดออกไปให้พ้นวัง พระราชทานไปให้พระบรมวงศานุวงศ์เลี้ยงดูต่อไป 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 08 ส.ค. 13, 10:28

กลอนเพลงยาวเรื่องนี้มีอารมณ์ส่วนตัวของผู้นิพนธ์แทรกอยู่เป็นระยะ  อารมณ์หลักคืออาลัยรำพันถึงพระบิดา  ทรงเขียนอย่างบรรจงแบบตั้งใจเขียนเฉลิมพระเกียรติ     แต่บางตอนก็เหมือนรำพึงแทรกเข้าไปเอง   อย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือพระองค์หญิงกัมพุชฉัตรทรงเศร้าโศกเมื่อมองเห็นอนาคตของวังหน้าหลังสิ้นพระบิดาแล้ว    ทรงเสียดายที่วังหน้าไม่มีเจ้าฟ้า เพื่อจะทรงสืบพระเกียรติยศต่อจากพระบิดาให้สมศักดิ์ศรีของวัง   มีแต่พระองค์เจ้าอันประสูติแต่พระสนม   ยิ่งสองพระองค์ใหญ่ คือพระองค์เจ้าลำดวนและอินทปัตมาต้องพระราชอาญาในฐานะกบฏ  พระองค์เจ้าเล็กๆที่เหลือก็ยิ่งดูไร้ความหวังที่จะบำรุงวังหน้าให้เหมือนสมัยกรมพระราชวังบวรฯยังดำรงพระชนม์อยู่

ถ้าเรามองชะตากรรมของเจ้านายวังหน้าในรัชกาลที่ 1   ก็คงเห็นว่าไม่ต่างจากพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรทรงเห็นล่วงหน้า      นอกจากเจ้าฟ้าพิกุลทองแล้วก็มีเพียงพระองค์เจ้าชายอีก 2 องค์เท่านั้นที่ได้ทรงกรม   เจ้าฟ้าพิกุลทองเองก็พระชนม์สั้น สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2  พระชนม์แค่ 34  ปี    พระองค์เจ้าอสุนีที่ได้ทรงกรมเป็นกรมหมื่นเสนีเทพ  ยังหาพระประวัติไม่พบว่าทรงรับราชการมีตำแหน่งการงานในด้านไหน     เช่นเดียวกับพระองค์เจ้าสังกะทัต กรมขุนนรานุชิต ก็ยังหาพระประวัติทางราชการไม่พบเช่นกัน

นิพพานวังหน้า จบลงด้วยบทเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 08 ส.ค. 13, 10:35

เกร็ดแถม

บวรราชสกุลในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท มี 4 ราชสกุลด้วยกัน ที่สืบต่อมาถึงรัชกาลที่ 6   จนโปรดเกล้าฯพระราชทานนามสกุลไว้   
เรียงตามลำดับอักษร  คือ
1  นีรสิงห์ ณ อยุธยา      สืบสายจากพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเณร     
2  ปัทมสิงห์    ณ อยุธยา  สืบสายจากพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบัว    
3  สังขทัต    ณ อยุธยา  สืบสายจากพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสังกะทัต กรมขุนนรานุชิต    
4  อสุนี    ณ อยุธยา  สืบสายจากพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอสุนี กรมหมื่นเสนีเทพ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 20 คำสั่ง