เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 29881 นิพพานวังหน้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 02 ส.ค. 13, 13:42

  " นิพพานวังหน้า" หรือสะกดแบบเดิมว่า "นิพานวังน่า" เป็นงานนิพนธ์ที่คาบเกี่ยวอยู่  2 สาขา คือโดยลักษณะการแต่ง จัดเป็นวรรณคดี   ประเภทกลอนเพลงยาว  มีคำประพันธ์ทั้งกลอน โคลง กาพย์และร่าย    แต่โดยเนื้อหา เป็นประวัติศาสตร์  บันทึกอาการประชวร เรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1    คนอ่านก็จะได้รู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในตอนปลายรัชกาล แถมพกไปด้วย

   ผู้แต่งเรื่องนี้ไม่ได้ระบุชื่อตัวเอง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่าเป็น พระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร  พระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชื่อนักองค์อี    ซึ่งเป็นพระธิดาสมเด็จพระอุไทยราชา  กษัตริย์กัมพูชา

   ขอเปิดกระทู้ไว้แค่นี้ตามเคยค่ะ     ขอเช็คชื่อนักเรียนก่อน
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 ส.ค. 13, 13:57

๑. หนุ่มสยาม มาคร้าบบบบบบบบบบบบ
บันทึกการเข้า
mrpzone
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ส.ค. 13, 21:37

๒. มิสเตอร์พี มารายงานตัวค้าบ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ส.ค. 13, 21:48

มาแล้วเหมียนกันคร้าบบบบบบ แห่ะๆ ต้องให้คุณครูไปตาม  อายจัง  อายจัง  อายจัง
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 ส.ค. 13, 21:49

    Jalito  มาครับ  อยู่มุมขวาแนวหน้าครับ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 10:01

มาครับ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 13:44

รอคุณครู............


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 14:12

พอฝนตก เน็ต TOT ก็ดับ   เพราะฉะนั้น โพสต์ยาวนักไม่ได้ค่ะ    จะเปลี่ยนมาเป็นเจ้าใหม่ก็พบว่าในเขตนี้  สัญญาณของคู่แข่งยังมาไม่ถึง  เลยต้องใช้เจ้าเดิมไปก่อน

วัดดวงส่งข้อความก่อนว่าจะหลุดไหม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 14:35

    "นิพพานวังหน้า"  เริ่มต้นแต่งเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทสิ้นพระชนม์แล้ว      มีบทพร่ำรำพันอาลัย ก่อนจะย้อนกลับไปเล่าถึงอาการประชวรว่ามีมาตั้งแต่ฤดูหนาว    ถึงขั้นพระฉวีผิวพรรณเผือดหมอง แต่ก็ยังแข็งแรงพอจะประทับนั่งบัลลังก์ได้  ท่ามกลางพวกเจ้านายสตรีและนางในหมอบเฝ้าอยู่
    ในประวัติศาสตร์ เล่าว่าประชวรเป็นนิ่ว  เมื่อครั้งทรงยกทัพขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีก่อน พ.ศ. ๒๓๔๕ พระอาการมาก เวลามีพิษร้อนถึงต้องเสด็จลงแช่อยู่ในน้ำ   แต่ก็ทรงทำศึกอยู่จนเสร็จศึก  พระโรคค่อยคลายลง จึงเสด็จยกกองทัพกลับลงมาถึงกรุงเทพ   จากนั้นก็ประชวรเรื่อยมา จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๓๔๖ พระชนมายุ ๖๐ พรรษา
    แต่อาการที่พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรทรงบรรยายไว้   ประชวรโรคอื่นด้วยไม่ใช่โรคนิ่วอย่างเดียว      ถ้าจะถามว่าเป็นอะไรก็ขอตอบว่าเป็นวัณโรค   เห็นได้จากพระฉวีที่เผือดหมองผิดปกติ    พระอาการกำเริบหนักถึงขั้นเสวยอะไรไม่ลง
   หลังจากเสด็จไปปิดทองพระพุทธรูป   กรมพระราชวังบวรฯรับสั่งให้นำ น้ำ"รสอมฤตวิเชียรชล"  ในเรื่องไม่ได้บอกว่าเป็นน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มชนิดไหน    เมื่อได้น้ำมาก็ทรงเสี่ยงทายว่าจะหายประชวรหรือไม่   ถ้าหายขอให้เสวยน้ำได้คล่องพระศอ    แต่ถ้าพระชนม์ไม่ยืนยาวก็ขอให้เสวยไม่ลง    ปรากฏว่า เสวยน้ำเข้าไปแล้ว  ทรงอาเจียนออกมา  ทรงเสียพระทัยถึงกับตรัสว่า "คงจะไม่พ้นเคราะห์ "
   จากนั้น ก็ทรงเรียกพระธิดาทั้งหมดมาสั่งเสีย  ให้ฝากองค์กับสมเด็จพระปิตุลาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตลอดจนเจ้านายฝ่ายในของวังหลวงด้วย   ท่านก็ทรงรู้สึกอย่างพ่อทั่วๆไปที่รักลูกนั่นเอง คือเมื่อรู้ว่าตัวเองอายุไม่ยืน ก็เป็นห่วงลูกสาว   อยากให้มีผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งต่อไปเมื่อไม่มีพ่อแล้ว
บันทึกการเข้า
ศุศศิ
อสุรผัด
*
ตอบ: 32


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 15:55

มาลงชื่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 16:52

ตอนที่ทรงเรียกน้ำมาเสวย  ในกลอนเพลงยาวบรรยายว่า

เห็นพระทัยจะเป็นห่วงหน่วงถนอม      จะไกลกล่อมขวัญให้ระหวยหน
จึงเรียกรสอมฤตวิเชียรชล              เสี่ยงกุศลซึ่งสร้างพระโพธิญาณ
แม้นชนม์จะอยู่ช่วยบำรุงทวีป              ขอให้รีบรับน้ำรสาหาร
ถ้าชีวิตนั้นจะปลิดไม่เนาว์นาน      อย่าให้พานสอดคล่องนิยมยืน
(สะกดแบบปัจจุบัน)

คิดอยู่นานว่าเป็นน้ำอะไร   ถ้าหากว่าแปลตามตัว วิเชียรชล หมายถึงน้ำที่มีลักษณะใสเหมือนแก้ว     ก็อาจจะเป็นน้ำเปล่าก็ได้ แต่คำว่า อมฤต ความหมายดั้งเดิมคือสุรา   ถ้าเป็นอย่างหลังอาจหมายถึงเหล้ากลั่นที่ใสแจ๋วแบบสุราขาว   แต่ในนามานุกรมวรรณคดีไทย  เรียกกว้างๆว่า "พระสุธารส" หมายถึงเครื่องดื่ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 17:11

    ในเพลงยาวเรื่องนี้ ระบุไว้ชัดถึง 3 แห่ง ว่ากรมพระราชวังบวรฯ ไม่มีพระประสงค์จะมีพระชนม์ต่อไป   
    เรื่องแรกคือเมื่อสั่งเสียพระธิดาแล้ว    ก็ทรงปฏิเสธไม่เสวยพระโอสถอีก   เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งหน่วงเหนี่ยวให้ทรงทรมานเพราะพระโรคยืดเยื้อเนิ่นนานต่อไป
     เรื่องที่สองคือเมื่อเสด็จไปวัดมหาธาตุ   ทรงนมัสการพระพุทธรูป และพระมณฑปที่ทรงปฏิสังขรณ์  ทรงบูชาอยู่ครู่หนึ่ง ขณะนั้นพออาการพระโรคกำเริบ   เกิดทุกขเวทนาแรงกล้า   ก็ทรงชักพระแสงออกจะแทงพระองค์  แต่พระโอรส(หมายถึงพระองค์เจ้าลำดวน พระโอรสองค์ใหญ่)ที่ตามเสด็จไปด้วย เข้าแย่งพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ แล้วทูลปลอบประโลมจนคืนพระสติ  จึงอัญเชิญเสด็จกลับวังหน้า
    เรื่องที่สาม   เมื่อเสด็จกลับวังหน้า ทรงทอดพระเนตรพระวิมานมณเทียรด้วยความอาลัย  จากนั้นเสด็จออกท้องพระโรง  ประชุมขุนนางวังหน้าทั้งปวง  เพื่อตรัสบอกว่าจะเสด็จสู่สวรรคาลัย  ขอให้ทุกคนรับราชการต่อไปกับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชด้วยความซื่อตรง   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 20:11

    เมื่อประชวรหนัก   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จมาเยี่ยมพระราชอนุชา   พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรทรงบรรยายว่าทั้งสองพระองค์ต่างก็รำพันอาลัยรักกันหนักหนา   ตามธรรมเนียมไทย  เมื่อคนใกล้จะตาย  ผู้อยู่ใกล้ๆก็จะเตือนให้นึกถึงพระอรหันต์ หรือนิพพาน เพื่อให้อาสันนกรรมนำไปพ้นจากวัฏสังสาร    ทั้งสองพระองค์ก็เช่นกันพระเชษฐาก็ทรงปลอบพระทัยให้ยึดนิพพานเป็นที่พึ่งในช่วงสุดท้าย   เพื่อจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด     พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรทรงบรรยายว่าเมื่อฟังแล้วกรมพระราชวังบวรฯก็ค่อยสบายพระทัยขึ้น  แต่ก็ยังเหลือความห่วงใยอยู่ จึงทรงฝากฝังพระโอรสธิดา  และที่สำคัญคือ
    อนึ่งหน่อวรนาถผู้สืบสนอง                        โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
อย่าบำราศให้นิราศแรมวัง                        ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯก็ทรงรับปาก   นี่ก็ธรรมเนียมไทยเช่นกัน  ถือกันว่าคำขอสุดท้ายของผู้ตาย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ผู้ถูกขอจะต้องรับปาก 

จึงตรัสปลอบพระบัณฑูรอาดูรด้วย               ว่าจะช่วยเอาธุระแสนสงสาร
เป็นห่วงเป็นไยพ่อให้ทรมาน                     จะอุ้มหลานจูงลูกไม่ลืมคำ
อันเยาวยอดสืบสายโลหิตพ่อ                    พี่ตั้งต่อสุจริตอุปถัมภ์ 
ครั้นทรงสดับแน่นึกสำเนาคำ                     ก็คลายร่ำทุกข์ถ้อยบันเทาทน


  แต่ก็น่าเสียดายที่เหตุการณ์ภายหลังมิได้เป็นไปตามพระประสงค์     พงศาวดารบันทึกไว้ว่า หลังกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทสิ้นพระชนม์แล้ว   พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตพระโอรส ก็กระด้างกระเดื่อง  วางแผนรัฐประหาร  จึงถูกปราบปรามในฐานะกบฏวังหน้า และถูกสำเร็จโทษพร้อมกับพระยากลาโหมราชเสนา(ทองอิน)  กับพรรคพวกอีกหลายคน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 20:31

    เรื่องที่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงทูลขอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่าเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ขอให้พระโอรสธิดาได้อยู่ในวังหน้าต่อไป   อย่าต้องย้ายออกไปอยู่ข้างนอก    เป็นเรื่องตีความได้ 2 อย่าง  คือ
    1  เป็นคำขอกรณีพิเศษให้บรรดาเจ้านายวังหน้าได้อาศัยอยู่ในวังหน้าต่อไป  ไม่ต้องย้ายออก เพราะตามกฎหมาย   เมื่อเจ้านายองค์ใดสิ้นพระชนม์ลงไป     ตามกฎหมายในสมัยนั้น  ทั้งวังและทรัพย์สินจะต้องคืนกลับไปเป็นของหลวงครึ่งหนึ่ง     ถ้านึกถึงความเป็นจริงว่าเจ้านายวังหน้ามีจำนวนมาก  ถ้าต้องย้ายออกทั้งหมดไปหาวังใหม่ก็คงเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากไม่ใช่เล่น    อีกอย่าง ตัวปราสาทราชมนเทียรก็เป็นสิ่งที่กรมพระราชวังบวรฯทรงสร้างขึ้นมาเองตั้งแต่ต้นรัชกาล     ท่านก็คงจะรู้สึกอย่างเจ้าของบ้านที่พึงรักและหวงบ้านที่ตัวเองสร้างมากับมือ  ไม่อยากให้คนอื่นมาอยู่ แล้วลูกๆท่านกลับต้องออกไปหาที่อยู่ใหม่
    2  เป็นคำขอที่แสดงว่า ขอให้พระโอรสได้สืบตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าต่อไป     เพราะเป็นเจ้าของวังหน้า ก็ต้องเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในตัวอยู่แล้ว

      พงศาวดารเล่าว่า พระโอรสองค์ใหญ่และองค์รอง คือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตมีความกำเริบ รอจะได้เป็นวังหน้า  เมื่อไม่ได้เป็นสักทีจึงเกิดความโกรธแค้น  ไปร่วมคิดกับพระยากลาโหมทองอิน ผู้ที่กรมพระราชวังบวรฯทรงเมตตาเหมือนบุตรบุญธรรม จึงตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวัง  ถ้าพลาดพลั้งล้มตายลงก็ฝังเสียข้างในกำแพงวังเป็นหลายคน  
   ความลับรั่วไหลว่าพวกเจ้านายวังหน้าทำอะไรไม่ชอบมาพากล  พระเจ้าอยู่หัวจึงให้แต่งข้าหลวงปลอมไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกของพระองค์เจ้าทั้งสอง  ก็ได้ความสมจริง จึงโปรดฯ ให้จับมาชำระ  ได้ความรับเป็นสัตย์ว่า คบคิดกันจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันเสด็จพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ จริง
            
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 20:50

  ถ้าใครสงสัยว่ากบฏวังหน้ามีจริงไหม   หรือว่าเป็นการเขียนใส่สีใส่ไข่ขึ้นในภายหลังโดยผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์     ตามคำอ้างที่เรามักจะได้ยินกันในหลายๆเรื่อง จนกลายเป็นสูตรสำเร็จในการคัดค้านพงศาวดารไทยอยู่แล้ว  ก็ขอตอบว่า "นิพพานวังหน้า" ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกสารขั้นปฐมภูมิในสมัยปลายรัชกาลที่ 1  ได้กล่าวถึงกบฏวังหน้าเอาไว้ว่ามีจริง    ไม่ใช่การปั้นเรื่องขึ้นมา
   พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรทรงบันทึกถึงเหตุการณ์เมื่อพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตถูกจับได้ว่าเตรียมก่อการกบฏ   ว่าวันนั้น มีเทศน์ตามพระราชประเพณีขณะยังตั้งพระศพกรมพระราชวังบวรฯอยู่     พระองค์เจ้าหญิงทรงเป็นผู้เคาะพระโกศตามธรรมเนียมให้พระราชบิดาทรงสดับพระเทศนา   เสียงพระโกศก็ลั่นขึ้นมา    พอดีกับมีผู้มาทูลว่าพระเชษฐา 2 พระองค์ก่อการกบฏขึ้น    ปรากฏว่าเจ้านายวังหน้าที่ทรงสดับพระธรรมเทศนาอยู่ในงานสวด   ต่างก็ตกพระทัย  แต่ไม่มีใครเข้าข้างพระองค์เจ้าทั้งสองเลย    
    โดยเฉพาะพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร ทรงติเตียนพระเชษฐาว่าทำอะไรลงไปไม่คิดถึงพระคุณของพระบิดา และไม่เชื่อฟังที่ทรงขอฝากพระโอรสธิดาไว้ในพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว  แต่ก็ทรงยกย่องพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตว่า เป็นนักรบที่มีฝีมือ  เคยรบชนะศึกพม่าที่เชียงใหม่มาได้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.101 วินาที กับ 19 คำสั่ง