เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 80327 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 06:21

ในระหว่างที่คนไทยยังยุ่งๆอยู่ในช่วงผลัดรัชกาล นายพลริชลิวในฐานะประธานบริษัทบริษัทธุรกิจทั้งหลายคงไม่ได้มีแผนที่จะเสนอโครงการอะไรให้สยาม นอกจากจะไปเยี่ยมเยียนสังสรรค์กับบรรดามิตรสหายเก่าและเฝ้าเจ้านายที่สนิทสนม หนึ่งในพระองค์นั้นคือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งหลังจากกลับเดนมาร์ก ทั้งสองยังมีจดหมายเล่าเรื่องและซักถามสารทุกข์สุขดิบระหว่างกันอยู่เสมอ เจ้านายที่ทรงถือนายพลริชลิวเป็นเพื่อนอีกพระองค์หนึ่งก็คือสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

นายพลริชลิวมิได้อยู่ในกรุงเทพนาน งานในฐานะนักธุรกิจใหญ่เร่งรัดให้ท่านกลับไปเดนมาร์กโดยเร็วหลังเสร็จงานพระบรมศพแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 08:46

เมื่อกลับถึงบ้าน มีเทียบมาเชิญนายพลริชลิวไปเป็นกรรมการของSkovshoved Electricity and Tramway-Aktieselskab ท่านก็ได้เป็นให้เขาในระหว่างปี๑๙๑๑ ถึง๑๙๒๖
 
แต่ผมว่า คนอย่างนายพลริชลิว มากรุงเทพทั้งทีแล้วจะไม่หาข่าววงในลึกๆแล้วก็คงจะผิดวิสัย ไฉนมันช่างบังเอิญสอดคล้องกัน ปีนั้นกลุ่มทุนของเดนมาร์กที่ลงเป็นหุ้นใหญ่ของการไฟฟ้าสยาม หรือคนไทยเรียกโรงไฟฟ้าวัดเลียบนั้น ก็กระซิบหาผู้ซื้อต่อไปทั่วยุโรป ใช้เวลาข้ามปี จึงจบได้กับกลุ่มทุนของบริษัทเบลเยียม ชื่อ Jadot & Co ในปี๑๙๑๒ ด้วยตัวเลขที่ไม่เปิดเผย แต่นักวิเคราะห์บอกมีกำไรท่วมหัว

หลังจากจ่ายเงินกันเรียบร้อยก็มีข่าวว่า พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ซึ่งทรงเล็งเห็นอยู่ว่า หากธุรกิจผูกขาดของต่างชาติเข้ามาดำเนินในกิจการสำคัญๆของประเทศมากไป จะเป็นอันตรายมากกว่าประโยชน์ ดังนั้น โดยพระบรมราโชบาย เริ่มที่การคานอำนาจการต่อรองโดยโปรดเกล้าให้เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นจากการกู้เงินกระทรวงการคลัง ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ย๔% สำหรับค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่สอง เพื่อเดินสายจำหน่ายให้บ้านเรือนราษฎรนอกเขตสัมปทานเดิมของฝรั่ง บริเวณตอนเหนือของคลองบางกอกน้อยและคลองบางลำพู โครงการนี้ได้นายเอฟ บี ชอว์ วิศวกรไฟฟ้าชาวอังกฤษจากกรมโยธาธิการมาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และใช้วิธีเรียกประกวดราคารับเหมาก่อสร้าง ได้บริษัทจากประเทศเยอรมันชื่อAllgameine Elektricitats Gesellsehaft หรือ AEG ที่ยังดำรงชื่อเสียงดีเด่นอยู่ในปัจจุบัน ก่อสร้างแล้วเสร็จและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ชาวกรุงเทพอย่างเป็นทางการในต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๗(๑๙๑๔)

กำไรจากกิจการไฟฟ้าวัดเลียบของบริษัทไฟฟ้าสยามก็วูบลง เพราะราคาจำหน่ายจะไปสูงกว่าราคาที่รัฐวิสาหกิจคิดกับประชาชนมากคงไม่ได้ กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะไปโวยกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเก่าก็ไม่ได้อีก ก็คุณทำการบ้านของคุณมาไม่ดีเอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 11:53

ถึงตอนนี้ นายพลริชลิวคงมีเงินสดเหลือเกินจะเก็บไว้ในบ้าน ถ้าเป็นคนไทยอาจยัดใส่ปี๊ปบัดกรีแล้วขุดดินฝังซ่อนไว้ แต่ฝรั่งจะฝากแบงก์กินดอก แล้วท่านประธานธนาคารกสิกรเดนมาร์กจะไปเปิดบัญชีที่อื่นก็คงกระไรอยู่ เอาไว้ที่ตนเองทำงานอยู่นั่นน่ะแหละใกล้หูใกล้ตาดี

แล้วกฎพระไตรลักษณ์ในพระพุทธศาสนาก็พิสูจน์ความเป็นจริงอันอมตะอีกครั้งหนึ่ง ใครที่นึกว่าสถาบันธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวียมั่นคงถาวร ก็จะได้เห็นความเป็นอนิจจัง วันดีคืนดี ขอโทษครับ วันร้ายคืนร้าย ธนาคารดังกล่าวก็ล้มครืนลงล้มละลายไปต่อหน้าต่อตา เงินของผู้ที่ฝากธนาคารทั้งรายใหญ่รายย่อยก็กลายเป็นสูญ

สถานการณ์ร้ายครั้งนั้น รู้จักกันในนามว่า Gullasch crisis  กูลาชเป็นซุปมะเขือเทศผสมสตูว์เนื้อแบบฮังกาเรี่ยน ต้นแบบเขียนว่า Goulash ฝรั่งทุกชาตินิยมนำมาทำบริโภคกันแพร่หลายทั่วทั้งยุโรป เดนมาร์กรับมาก็สะกดไปอีกอย่าง ผมสงสัยว่า Tomyamkoong crisis หรือ Hamburger crisis ที่เอาชื่ออาหารไปเป็นชื่อวิกฤตการณ์ทางการเงินแบบลูกโซ่ คงจะมีที่มาที่ไปจาก Gullasch crisis ของเดนมาร์กนี่แหละ เป็นปฐม   ครั้งนั้นสถาบันการเงินในเดนมาร์กล้มระเนระนาด แล้วพลอยลุกลามไปถึงธนาคารอื่นๆของยุโรปด้วย

โหรบอกว่าคนเราร้ายเจ็ดที ดีเจ็ดหน หรือกลับกันเช่นนายพลริชลิว รุ่งโรจน์เจ็ดที อัปรีย์เจ็ดหน ระหว่างรออ่านวิบากกรรมมาเยือนพระเอกของเรา เชิญท่านเสพย์กูลาชสบายๆสไตน์ท่านอาจารย์เทาชมพูไปพลางๆก่อน หากไม่อร่อย อยากได้น้ำปลาพริกสักถ้วยก็บอกกล่าวท่านเอาเองนะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 12:21

อ่านเพลินๆ มาสำลักเอาตอนท้าย  ถูกหวยไม่รู้ตัว
ถ้าเสิฟน้ำปลาพริกประกอบ(โดยไม่มีเทพ)   ก็ต้องเป็นสะบาย..สะบาย..สไตล์นวรัตนดอทซี ค่ะ

ชะตากรรมของท่านเจ้าคุณริชลิว เห็นจะตรงกับสำนวนจีนที่ว่า "คนคำนวณหรือจะสู้ฟ้าลิขิต"
โปรดติดตามต่อไปด้วยใจระทึกว่า ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะคน อย่างขงเบ้งว่าไว้หรือไม่   


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 12:43

สถานการณ์ร้ายครั้งนั้น รู้จักกันในนามว่า Gullasch crisis  กูลาชเป็นซุปมะเขือเทศผสมสตูว์เนื้อแบบฮังกาเรี่ยน ต้นแบบเขียนว่า Goulash ฝรั่งทุกชาตินิยมนำมาทำบริโภคกันแพร่หลายทั่วทั้งยุโรป เดนมาร์กรับมาก็สะกดไปอีกอย่าง


หน้าตาเหมือน Kare Raisu - ข้าวแกงกะหรี่ญี่ปุ่น อย่างไงอย่างงั้น   ยิ้มเท่ห์


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 17:49

ท่าน Navarat C. กล่าวถึงธนาคารกสิกรเดนมาร์คที่นายพลริชลิวเป็นประธาน  เกิดต้องล้มครืนลง  เทียบเวลาแล้วใกล้เคียงกับที่แบงก์สยามกัมมาจลเกิดวิกฤตเพราะถูกนายฉลองไนยนารถ (ยู่เส็ง  ศิวะโกเศศ) ฉ้อฉลใน พ.ศ. ๒๔๕๖  ซึ่งทำให้ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ลดทุนจดทะเบียนของแบงก์สยามกัมมาจลจาก ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ลงเหลือ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนอกจากทำให้พระคลังข้างที่ในฐานะหุ้นใหญ่ของแบงก์สยามกัมมาจลต้องขาดทุนไปกว่า ๑.๖ ล้านบาทแล้ว  ยังคงจะทำให้ห้างกิมเซ่งหลีของสกุลโสโณดรที่เป็นหุ้นใหญ่พลอยซวดเซไปด้วย  กรณีนี้จะส่งผลถึงกระเทิอนแบงก์กสิกรเดนมาร์คที่นายพลริชลิวเป็นประธานอยู่ด้วยหรือไม่ 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 18:00

เอ..ไม่เกี่ยวกันละมังครับคุณวีหมี

เรื่องของเขา ผมกำลังเรียบเรียงอยู่ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 19:35

ธนาคารกสิกรเดนมาร์กก่อตั้งในปี๑๘๗๑ โดยกลุ่มทุนชาวเดนมาร์กและชาวเยอรมัน โดยมี Isaac Gluckstadt เป็นผู้นำที่เก่งกาจ ครั้นถึงปี๑๙๑๐ ธนาคารนี้ก็ก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสแกนดิเนเวีย และเป็นปีที่เขาถึงแก่กรรม Emil Gluckstadt บุตรชายได้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน

ต้องเข้าใจนะครับ ตำแหน่งประธานกรรมการของนายพลริชลิว เป็นตำแหน่งที่นั่งเก้าอี้หัวโต๊ะการประชุม คอยฟังว่ากรรมการผู้จัดการรายงานว่าได้ทำอะไรไปหรือจะทำอะไร แล้วกรรมการอื่นๆมีความเห็นว่าอย่างไร ถ้าส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ผ่าน ถ้ามีความเห็นขัดแย้งกัน ประธานจึงจะตื่นจากหลับในขึ้นมาประนีประนอม หรือฟันธงเลือกข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเข้าข้างกรรมการผู้จัดการ เพราะมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่
จะว่าไป ส่วนใหญ่ประธานกรรมการจะรู้เรื่องเท่าที่กรรมการผู้จัดการต้องการจะให้รู้ รายละเอียดในการทำงานเขาไม่มานั่งรายงานในที่ประชุมให้เสียเวลา อย่างเช่นนายอีมิลอาจรายงานว่า ขณะนี้กิจการอุตสาหกรรมทำอาหารกระป๋องมีแนวโน้มจะเติบโตสูง ธนาคารจะเน้นเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้โรงงานอาหารกระป๋องกู้มากๆหน่อย เพื่อจะได้เงินปันผลมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว กรรมการก็จะพยักหน้ากันหงึกๆหงักๆ ประธานเห็นดังนั้นก็จะพยักหน้าตามไปด้วยอย่างช้าๆ

ช่วงกูลลาสช์บาน(สะกดตามเดนมาร์กนะครับ)เกิดระหว่างปี๑๙๑๔-๑๙๑๙ ก่อนจะเหี่ยวแห้งร่วงโรยไปตามๆกัน โดยโรงงานอาหารกระป๋องในเดนมาร์กที่ผลิตกูลลาสช์ได้รับใบสั่งซื้อมากมายจากกองทัพประเทศต่างๆเพื่อเตรียมตัวทำสงคราม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดนมาร์กประกาศตนเป็นกลาง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเดนมาร์กได้ชื่อว่ามีประชากรวัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 20:10

เริ่มต้นในปี๑๙๑๔ มีโรงงานอาหารกระป๋องที่ผลิตกูลลาสช์กระป๋องขายอยู่แค่๒๑แห่ง แต่ในช่วงสงครามระเบิดขึ้นแล้ว โรงงานประเภทเดียวกันนี้เพิ่มจำนวนขึ้นนับได้ถึง๑๔๘แห่ง และการส่งออกเนื้อโคเพิ่มขึ้นถึง ๕๐ เท่า เมื่อเทียบกับปีที่สงครามยุติ ไม่ต้องสงสัย บริษัทเหล่านี้ตรงสเป๊กของกลุ่มลูกค้าธนาคารกสิกรเดนมาร์กเป๊ะ เพราะเป็นอุตสาหกรรมเกษตร ธนาคารหมุนเงินจากกลุ่มธนาคารอื่นๆทั้งในและนอกประเทศมาทุ่มให้นายทุนทำโรงงานอาหารกระป๋องอย่างไม่อั้น

ตอนนั้นคนมีเงินก็จะลงทุนซื้อหุ้นโรงงานกูลลาสช์กระป๋อง แม้จะเอาเนื้อเลวๆมาปน ทั้งเอ็นและผังผืดก็ไม่มีใครบ่นว่า มีแต่จะเอาอีกๆ เพราะทหารในแนวหน้ามีเรื่องอื่นจะร้องทุกข์มากกว่าถ้านายจะเปิดโอกาสให้โวยได้ มีกูลลาสช์กินก็เลิศแล้ว อร่อยกว่าเอาท๊อปบูตมาต้มเปื่อยแบ่งกันกินเป็นไหนๆ ดังนั้นโรงงานกูลลาสช์กระป๋องจึงสร้างเศรษฐีสงครามขึ้นมากมายจากราคาหุ้นที่ทะยานสูงขึ้น เพราะเงินปันผลทั้งเฉพาะกาลและประจำปี มีศัพท์เฉพาะเรียกคนที่รวยหุ้นเหล่านี้ว่า 'gullaschbaroner' หรือเถ้าเก๋เนื้อตุ๋น เดินชนไหล่กันเกลื่อนถนนในโคเปนฮาเกนในช่วงสงครามโลกครั้งที่๑

เฮ้อออ..ผมนึกถึงภาพนักเลงเล่นหุ้นในกรุงเทพก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นมาทันที ตอนนั้นไม่มีใครบอกว่าเข้าไปช้อนซื้อหุ้นอะไรแล้วขาดทุน มีแต่คุยทับกันว่าฟันกำไรไปแล้วเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ รถป้ายแดงถูกถอยออกมากันเกลื่อนถนน พอฟองสบู่แตก มีคนหัวใสเปิดตลาดนัดคนเคยรวยขึ้นในซอยทองหล่อ มีของเล่นเศรษฐีทุกระดับมาวางขายแบกะดินแม้กระทั่งเครื่องบินที่เป็นของจริง ไม่ใช่ของเล่น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 21:02

พอสงครามเริ่มเข้มข้นขึ้น เรือดำน้ำเยอรมันก็อาละวาดไม่เว้นแม้กับเรือสินค้าของชาติเป็นกลางที่วิ่งไปส่งกำลังบำรุงศัตรู เดนมาร์กก็หมดหนทางค้าขายกับชาติอื่นยกเว้นเยอรมันเท่านั้น ครั้นสงครามโลกครั้งแรกยุติลงในปี๑๙๑๙ โรงงานอาหารกระป๋องก็สิ้นอนาคต นอกจากความต้องการสินค้าหมดไปแล้ว หนี้ของเยอรมันก็ไร้หนทางที่จะไปตามทวงเงินมาจากใครได้ ปี๑๙๒๐จึงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากธุรกิจล้มเหมือนตัวโดมิโน เหล่า gullaschbaroner พากันล้มละลายประหนึ่งหิงห้อยที่บินเข้ากองไฟ ธนาคารกสิกรเดนมาร์กเองได้สร้างภาพว่ามั่นคงดีอยู่ และพยายามหาเม็ดเงินมาตู๊ต่อลมหายใจ จนกระทั่งในปี๑๙๒๒ จึงประกาศปิดธนาคารในวินาทีสุดท้ายที่หมดหนทาง

การล้มตึงของธนาคารใหญ่ที่สุดของประเทศส่งผลวิกฤตต่อระบบธนาคารทั้งมวลของเดนมาร์ก มีผลกระทบทางกฏหมายอย่างมากมายต่อมาที่เปิดแผลลึกให้นายธนาคารทั้งหลายอย่างยากที่จะเยียวยา รัฐได้เข้าอุ้มและกำหนดมาตรการต่างๆมาควบคุมการทำงานของธนาคารเพื่อประกันความมั่นคงและปลอดภัยต่อสินทรัพย์ของประชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ในสามชั่วอายุคนต่อมา โลกจึงกลับมายอมรับความเป็นเลิศของธนาคารของเดนมาร์กอีกครั้ง
 
ในปี๑๙๗๑ ธนาคารได้เปลียนชื่อจาก The Landmandsbank เป็น The Danske Bank (The Danish Bank) และในปี ๒๐๐๐ เหลือเพียงคำว่า Danske Bank


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 21:40

อีมิลล์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกสิกรเดนมาร์กถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริตฉ้อโกง เนื่องจากมีหลักฐานว่าเขาได้ให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทที่ตนเองและพรรคพวกถือหุ้นอยู่โดยใช้โนมินี เพื่อนำเงินไปลงทุนเก็งกำไร ศาลไม่ให้ประกันตัว เขาจึงต้องติดคุกและตายเสียก่อนที่จะมีคำพิพากษาว่าเขาได้กระทำความผิดจริง และทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดถูกตีราคายึดเป็นของรัฐเพื่อชดเชยค่าเสียหาย

๑๙๒๒ ศาลฏีกาของเดนมาร์กยังได้ตัดสินลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีทั้งจำคุกและปรับบรรดากรรมการ และพนักงานลูกจ้างของธนาคารรวม๑๒คน หนึ่งในนั้น ท่านประธานริชลิว รอดจากติดคุก แต่โดนปรับจำนวนเงินมหาศาลในความผิดที่ละเมิดกฏข้อบังคับของธนาคารเอง เพราะอนุมัติให้เปิดบัญชีกู้เงิน ซึ่งมีการพิสูจน์ได้ทีหลังว่าเป็นบัญชีลับของคนในธนาคารเอง

แม้คนที่รู้นิสัยของท่านดีอย่างนีลล์ แอนเดอเซนจะไม่เชื่อว่านายพลริชลิวจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดดังกล่าว แต่คนทั่วไปก็พร้อมจะเชื่อ คำพิพากษาของศาลจึงเสมือนฆ่าท่านทั้งเป็น ในทางธุรกิจแล้วนายพลริชลิวสิ้นการยอมรับนับถือ ทำให้ต้องออกจากงานในตำแหน่งหน้าที่ที่เคยเชิดหน้าชูตา

ตามธรรมเนียมของข้าราชการหรือนักธุรกิจที่โดนข้อหาทำนองนี้ ถ้ามีเงินอยู่ก็ต้องลงเล่นการเมืองเพราะหวังว่าจะช่วยได้ นายพลริชลิวก็เคยหันเข็มสู่ทางเดินนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 26 ก.ค. 13, 08:23

นายพลริชลิวในฐานะสมาชิกสภาสูงที่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์เดนมาร์กเข้าไปนั่งในรัฐสภา ได้เคยมีบทบาทเข้าตาสาธารณชนในการเป็นแกนนำคัดค้านรัฐบาลที่นำเรื่องการขายอาณานิคมในเวสต์อินดีสให้สหรัฐอเมริกา ระหว่างปี๑๙๑๖ มาผ่านสภา แต่หลังการอภิปรายอย่างดุดันยาวนานของฝ่ายค้าน สมาชิกส่วนใหญ่ก็ยังเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะรัฐบาลทนแรงบีบของมหาอำนาจใหม่ที่นำเศรษฐกิจมาเป็นเครื่องต่อรองไม่ได้

หลังจากนั้นนายพลริชลิวก็เพลาๆบทบาทในรัฐสภาลง หันไปเอาดีในทางธุรกิจ
พอธนาคารที่ท่านนั่งเป็นประธานล้มครืนลงและท่านโดนรัฐแจ้งข้อหา ในระหว่างการสู้คดี นายพลริชลิวพยายามมีบทบาททางการเมืองในรัฐสภาอีกครั้ง ส่วนใหญ่ประเด็นที่เล่นได้ก็เกี่ยวกับกฏหมายบริษัทเรือ ในเรื่องปริมาณสินค้าคงคลังของบริษัท ที่รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการภาษีมาควบคุมมิให้เกิดการกักตุนระหว่างสงครามและภาวะข้าวยากหมากแพง

และในฐานะข้าราชสำนัก นายพลริชลิวมีโอกาสแสดงบทบาทอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าคริสเตียนที่๑๐ กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอยู่เบื้องหลังฝ่ายค้านในสภา บีบคั้นรัฐบาลของนาย Carl Theodor Zahle นายกรัฐมนตรี ให้ถือโอกาสที่สนธิสัญญาแวร์ซายส์ระบุให้เยอรมันผู้แพ้ คืนดินแดนในคาบสมุทรจัตแลนด์ที่ได้จากเดนมาร์กหลังสงครามกับปรัสเซียเมื่อทศวรรษที่แล้ว ฝ่ายกษัตริย์เห็นว่าให้เอาคืนทั้งหมดแต่รัฐบาลแย้งว่าควรจะเอาคืนเฉพาะดินแดนที่คนส่วนใหญ่เป็นเดนมาร์กเท่านั้น ส่วนที่ชาวบ้านเป็นคนเยอรมันถ้าไปเอาคืนมาอีกก็อาจเป็นชนวนสงครามได้เหมือนคราวที่เกิดขึ้นครั้งกระโน้น ในที่สุดรัฐบาลตกลงจัดให้คนในพื้นที่ลงประชามติในดินแดนที่มีความเห็นแตกแยกดังกล่าว ให้ประชาชนเลือกอนาคตของตนเองว่าต้องการรวมอยู่กับเดนมาร์กหรือเยอรมัน ผลเป็นไปตามที่รัฐบาลคาด แคว้นที่ติดเดนมาร์กคนเดนมาร์กก็ชนะขาดลอย ส่วนแคว้นที่ติดเยอรมันคนเยอรมันก็ชนะขาดลอยเช่นกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 26 ก.ค. 13, 08:30

แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่เลิก เห็นว่าเดนมาร์กไม่ควรจะคำนึงถึงผลของการลงประชามติ เยอรมันกำลังอ่อนแอก็น่าที่เดนมาร์กจะฉวยโอกาส นายพลริชลิวอยู่ในคณะที่ไปกราบบังคมทูลสนับสนุนพระเจ้าคริสเตียนที่๑๐ ให้ทรงมีพระราชโองการปลดคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญที่ให้พระราชอำนาจไว้ พระองค์เข้าพระทัยผิดพลาดว่า ประชาชนเดนมาร์กส่วนใหญ่ของประเทศที่เงียบเสียงอยู่จะเห็นด้วยกับพระองค์ จึงทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เรียกว่า Easter Crisis ขึ้นในปี๑๙๒๐
 
พอพระราชโองการถูกประกาศออกมา นายกรัฐมนตรีก็ตั้งป้อมสู้ทันที ไม่ยอมที่จะปฏิบัติตาม แถมยังตอบโต้กันระหว่างผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายด้วยถ้อยคำรุนแรง เมื่อนายกรัฐมนตรียอมลาออกในไม่กี่วันหลังจากนั้นและมีพระราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นรักษาการ สิ่งที่คิดว่าไม่เกิดก็เกิดขึ้น ประชาชนที่ไม่เคยแสดงความเห็นพากันออกมาชุมนุมประท้วงกันทั่วประเทศ ความขัดแย้งทวีความรุนแรงถึงขนาดขู่ว่าจะล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ของเดนมาร์กเลยทีเดียว ถึงตรงนี้พวกปกป้องสถาบันก็ออกมาประจันหน้าบ้าง สงครามกลางเมืองใกล้ระเบิดเต็มที

เมื่อถึงระดับนี้พระเจ้าคริสเตียนที่๑๐จึงทรงยอมถอย โดยทรงมีพระราชโองการให้นายกรัฐมนตรีรักษาการที่พระองค์ทรงแต่งตั้งขึ้นพ้นจากตำแหน่ง และให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีขึ้นมาเอง เรื่องลงเอยด้วยการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ด้วยความอะลุ่มอล่วยของทั้งสองฝ่าย โดยพระเจ้าคริสเตียนที่๑๐สัญญาว่าพระองค์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และต่อจากนั้นไปพระองค์ก็ทรงรักษาคำพูด มิได้ทรงแทรกแซงทางการเมืองอีกเลย
เดนมาร์กยังคงมิได้แก้รัฐธรรมนูญในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจ แต่พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กก็ดำรงพระองค์ในฐานะองค์พระประมุขของชาติ เป็นที่เคารพรักของราษฎรเป็นที่ยิ่ง ไม่มีพระองค์ใดที่ใช้พระราชอำนาจก้าวก่ายในทางการเมืองอีกเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 26 ก.ค. 13, 08:37

ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนชะตากรรมได้ ในที่สุดนายพลริชลิวก็โดนศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีอาญา

แม้จะเป็นแค่โทษปรับ แต่ตามกติกามารยาท ท่านต้องลาออกหมดทั้งตำแหน่งการค้า การเมืองและตำแหน่งกิตติมศักด์ สุดท้ายที่ท่านรับเป็นและไม่นานก็ต้องลาออกก็คือ นายกกรรมการของสมาคมเดนมาร์ก (Danish Society) อันทรงศักดิ์ศรี


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 26 ก.ค. 13, 10:19

โบราณว่าที่สุดมนุษย์นี้           ชั่วแล้วดีเบ็ดเสร็จถึงเจ็ดหน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้ ย่อมหมุนไปตามโลก  และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ  ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก
และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ฯ
จาก โลกวิปัตติสูตร
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 21 คำสั่ง