เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 80390 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 23 ก.ค. 13, 20:55

ท่านได้เครื่องราชย์จุลจอมเกล้าชั้นไหนคะ คุณหนุ่มสยาม
เครื่องราชย์ด้านล่าง เป็นของช้างเผือกหรือมงกุฎไทย?


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 23 ก.ค. 13, 21:07

ในBurmeister & Wain มีวิศวกรเก่งอยู่คนหนึ่งชื่อ Ivar Knudsen ที่เสนอให้บริษัทซื้อสิทธิบัตรการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่ Rudolf Diesel คนเยอรมันผู้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเป็นคนแรกของโลก ทำให้ได้สิทธิในการผลิตเครื่องยนต์ดังกล่าวแต่ผู้เดียวในเดนมาร์ก คนูเซนได้ต่อยอดเครื่องยนต์ดีเซลต้นแบบเล็กๆโดยนำมาทำเป็นเครื่องจักรกลขนาดยักษ์เพื่อขับเคลื่อนเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่แทนเครื่องจักรไอน้ำ ระหว่างขั้นตอนวิจัยพัฒนาทำไปทำมาบริษัทแทบจะหมดเงินหมุนเวียน นายพลริชลิวมองเห็นแววสำเร็จก็ประกาศสนับสนุนคนูเซน อัดเม็ดเงินจากธนาคารกสิกรเดนมาร์กลงไปไม่อั้น จนเครื่องยนต์ยักษ์ดังกล่าวสามารถผลิตขึ้นมาได้สำเร็จ

ในปี๑๙๑๑ เรือเดินสมุทรลำแรกของโลกที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลB/Wสี่จังหวะ๒๕๐๐แรงม้า ก็ถูกปล่อยลงน้ำ ชื่อว่า SS Selandia โดยมี EAC เป็นเจ้าของ เป็นทั้งเรือสินค้าและโดยสาร ปี๑๙๑๒ เรือลำนี้ก็พร้อมออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์ จากโคเปนฮาเกนมากรุงเทพ

แม้จะไม่ใช่เรือลำแรกในโลกที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล เพราะก่อนหน้านั้นชาวดัชต์ผู้ทำได้ก่อนแต่เป็นเรือขนาดเล็ก แต่SS Selandia คือที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล ที่ใช้เดินทางข้ามมหาสมุทรไปยังอีกซีกหนึ่งของโลก

แม้ Ivar Knudsen จะได้รับชื่อเสียงไปเต็มๆ แต่เบื้องหลังความสำเร็จ มีท่านประธานริชลิวยืนหนุนหลังให้อยู่


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 08:18

ตราจุลจอมเกล้า คือ ทุติยจุลจอมเกล้า
ส่วนดาราดวงล่าง คือ มหาวราภรณ์ช้างเผือก (ประถมาภรณ์ช้างเผือก)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 08:24

คุณ V_Mee กลับมาอีกที  ก็ไม่เสียเวลาพูดพล่ามทำเพลง   ยิงเข้าเป้าเลยทีเดียว   


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 12:14

หมดข้อสงสัยเรื่องเครื่องราชย์กันแล้ว ขอผมฉายหนังตัวอย่างตอนต่อไปสักหน่อย

ผมจะย้อนกลับไปที่ปี๑๙๐๙ อันปีทองฝังเพชรของนายพลริชลิวอีกครั้ง
ปีนั้น ท่านมหาเสวก นายพลเรือริชลิวเกือบจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ของเดนมาร์กแล้ว หากว่าท่านจะไม่ปฏิเสธในนาทีสุดท้าย

ผมจะบอกเสียก่อนว่า เรื่องราวต่อไปนี้จะหาไม่เจอในประวัติศาสตร์การเมืองของเดนมาร์กทั้งสิ้น ทั้งในเวปและในหนังสือ เพราะไม่มีใครจดหมายเหตุไว้ แต่ทั้งนายพลริชลิวและคุณหญิงดักมาร์ ศรีภรรยา ขยันจดอนุทินประจำวันส่วนตัวมาก แต่เก็บรักษาอย่างดีตีตราครั่งประทับไว้ไม่ให้ใครอ่าน จนกระทั่งไม่นานมานี้ ทายาทได้นำไปให้อาจารย์ใหญ่ทางประวัติศาสตร์คนหนึ่ง เราจึงได้ทราบข้อความที่นายพลริชลิวบันทึกไว้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 15:54

เมื่อ Count Holstein แห่ง Ledreborg เป็นนายกรัฐมนตรีไม่นาน คณะรัฐมนตรีก็เกิดขัดแย้งกับพระเจ้าเฟรเดอริกในเรื่องเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติกลาโหมว่าด้วยการป้องกันประเทศ ทรงไม่พอพระทัยที่นายกรัฐมนตรีไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว จึงทรงแต่งตั้งคณะมนตรีแก้ปัญหาวิกฤตขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อให้พิจารณา ทำความลำบากใจให้รัฐบาลจนนำไปสู่ทางตันทางการเมือง

นายพลริชลิวนี่สงสัยเวลาตกฟากจะอยู่ภายใต้ราชาฤกษ์ พระเจ้าแผ่นดินไม่ว่าที่บ้านเกิดหรือเมืองไกลจะทรงโปรด และมีพระเมตตาเป็นพิเศษ

วันที่๖สิงหาคม เจ้าชายคริตสเตียนมงกุฏราชกุมารทรงโปรดให้นายพลริชลิวให้เข้าเฝ้าแล้วทรงถามในนามของพระราชบิดาว่า ถ้าจะรับเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีรักษาการขึ้นมา แล้วผ่านกฏหมายฉบับดังกล่าวได้ไหม ท่านกราบบังคมทูลว่า ในฐานะข้าในพระองค์ผู้จงรักภักดีและเพื่อประเทศชาติ ข้าพระพุทธเจ้ายินดีที่จะสนองพระมหากรุณา
 
หลังจากนั้นท่านก็ไม่เป็นอันได้พักผ่อนหลายวันหลายคืนเพื่อคุยกับบุคคลสำคัญในบ้านเมือง ก่อนจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่ง ณ ที่นั้นมีบุคคลกลุ่มใหญ่ที่ท่านคิดว่าไม่น่าจำเป็นจะต้องมาร่วมเข้าเฝ้าอยู่ด้วย Greve Frijs นักการเมืองอาวุโสคนหนึ่งได้กราบบังคมทูลแบบไม่คำนึงถึงมารยาทว่า ไม่เห็นด้วยที่นายพลริชลิวจะสามารถนำกฏหมายผ่านสภาได้ ทรงหันมาที่ท่านแล้วตรัสว่า ถ้าข้าใช้เจ้าในสิ่งที่เหลือวิสัยจะทำแล้วละก็ ข้าอนุญาตให้เจ้าถอนคำพูดได้นะ แต่ท่านกราบบังคมทูลว่าท่านไม่ได้ใส่ใจในคำพูดของGreve Frijs


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 16:03

เมื่อ Greve Frijs ไปสภาก็ได้เที่ยวพูดเรื่องที่ได้กราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดิน วันรุ่งขึ้นก็มีพวกส.ส.ไปหาท่านที่คฤหาสน์ในSmidstrup เล่าเรื่องที่Greve Frijsพูด และแนะนำให้เชิญเขาเข้ารวมคณะรัฐมนตรีด้วย จะได้เงียบ นายพลริชลิวขอบคุณสำหรับข่าวที่มาบอก แล้วท่านได้เข้าเมืองไปพบพวกนักการเมืองมากมาย ทั้งในสภาและนอกสภา ผมขออนุญาตท่านประธานที่จะไม่เอ่ยนามให้สมาชิกผู้ทรงเกียรติสับสน  ขอพาดพิงแค่นายGreve Frijs ซึ่งนายพลริชลิวได้พบตัวที่นั่นด้วย  แล้วเขายังมีน้ำใจพาท่านไปยังเซฟเฮาส์เพื่อคุยกันอย่างเปิดใจ ริชลิวถามตรงๆว่าถ้าไม่ใช่ตัวท่านแล้ว ใครล่ะ ที่จะเขาเห็นว่าจะทำหน้าที่ให้บรรลุพระราชประสงค์ได้

หลังจากอิดๆออดๆพองาม Greve Frijsก็แย้มว่าเขาจะไม่บอกท่านละว่าใคร ให้ท่านไปถามคนที่ชื่อ Niels Neergaard เอาเอง ท่านขอบคุณเขาแล้วรีบไปกระทรวงการคลังเพื่อขอพบนาย Niels Neergaard  ซึ่งทนลูกตื้อของทหารเรือเก่าไม่ได้ก็เลยเผยออกมาว่า ก็ Count Holstein นายกรัฐมนตรีคนเดิมนั่นแหละดีที่สุดแล้วละทั่น ก็พูดกันให้รู้เรื่องสิว่า ถ้าเรื่องบานปลาย เดี๋ยวสถานการณ์อาจกระทบถึงประเทศแบบเลวร้ายกู่ไม่กลับก็ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 16:07

นายพลริชลิวได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลความดังกล่าว ซึ่งทรงเห็นชอบด้วยและโปรดให้ท่านไปดำเนินการเจรจากับCount Holsteinในนามของพระองค์ หลังจากที่คุยกันแล้ว ได้ปรึกษากันถึงชื่อคนที่ควรเชิญเป็นรัฐมนตรีแบบไม่มาป่วนเรื่องกลาโหมให้ขัดพระราชประสงค์

เมื่อนำรายชื่อถวายทอดพระเนตร ทรงพอพระทัยและทรงเห็นด้วย รับสั่งให้นายพลริชลิวนำ Count Holstein กับ JC Christensen คนสำคัญอีกผู้ที่จะร่วมคณะรัฐมนตรีมาเฝ้าที่พระราชวังAmalienborg ซึ่งทั้งคู่ก็พร้อมอยู่แล้ว พระองค์ทรงต้อนรับด้วยพระเมตตาเต็มเปี่ยม และทรงสนทนาในรายละเอียดของพระราชบัญญัตินี้อย่างยาวนาน หลังเข้าเฝ้าแล้วพวกเขาหันถามท่านว่า ต้องการเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งอะไร ท่านบอกว่าโนเซอร์ ตำแหน่งไม่เอาขอเป็นเงินแทน..เอ้ยๆๆๆขอโทษๆๆ ผมก็เกินไปหน่อย อันที่จริงท่านบอกว่า ท่านทำยินดีรับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณ ไม่ว่าจะมีพระราชประสงค์สิ่งใดก็ตาม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 16:20

เมื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่แล้ว พระราชบัญญัติกลาโหมว่าด้วยการป้องกันประเทศก็ผ่านออกมาในเวลาไม่นาน ก่อนหน้านั้น เพียงสองสามวันหลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มหาเสวกของเราเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่พระราชวัง Amalienborg
ทรงรับสั่งขอบใจและพระราชทานถ้วยเงินใบหนึ่งจากพระหัตถ์ของพระองค์เอง มีข้อความสลักจารึกไว้ว่า

สำหรับมหาเสวกผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดี
นายพลเรือเอก ดู ปรีซีซ์ เดอ ริชลิว
 
จากใจเรา
เฟรเดอริกแห่งเดนมาร์ก
๑๑ สิงหาคม๑๙๐๙



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 17:18

เรื่องข้างบนนี้ ผมเจอจากเวปของเดนมาร์กที่จั่วหัวว่า

Admiral Andreas du Plessis de Richelieu og regeringsdannelsen i 1909

ขอเรียนให้ทราบก่อนว่า ภาษาเดนมาร์กนั้นผมไม่กระดิกหูแม้น้อย อาศัย Google Translation ถอดความออกมาว่า
Admiral Andreas du Plessis de Richelieu and government formation in 1909

เขียนโดย Dr.Johannes Lehmann Ph.D. ผู้ที่ได้ไดอารี่ของนายพลริชลิวมาจากทายาท หนังสือที่Lehmannเขียนยาวกว่านี้ แต่บทความดังกล่าวย่อเรื่องมาทีหนึ่ง ใช้ชื่อว่า นายพลเรือเอกเดอ ริชลิว กับการจัดตั้งรัฐบาลในปี๑๙๐๙
 
ส่วนผมก็ย่อความจากย่อความดังกล่าวมาให้อ่านกันพอรู้เรื่อง ตัดที่ไม่จำเป็นออกไป เช่นชื่อคนเดนมาร์กทั้งหลาย เพราะรู้ไปก็เท่านั้นคงไม่มีใครเอามาออกข้อสอบ แต่ผมได้ต่อสายโยงไว้ให้แล้ว สำหรับผู้สนใจระดับที่จะเอาไปทำวิทยานิพนธ์ หรือเขียนหนังสือขาย ก็สามารถเข้าไปดูได้นะครับ
 
https://tidsskrift.dk/index.php/historiejyskesamling/article/view/15609/29905
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 17:35


หลังจากอิดๆออดๆพองาม Greve Frijsก็แย้มว่าเขาจะไม่บอกท่านละว่าใคร ให้ท่านไปถามคนที่ชื่อ Niels Neergaard เอาเอง ท่านขอบคุณเขาแล้วรีบไปกระทรวงการคลังเพื่อขอพบนาย Niels Neergaard  ซึ่งทนลูกตื้อของทหารเรือเก่าไม่ได้ก็เลยเผยออกมาว่า ก็ Count Holstein นายกรัฐมนตรีคนเดิมนั่นแหละดีที่สุดแล้วละทั่น ก็พูดกันให้รู้เรื่องสิว่า ถ้าเรื่องบานปลาย เดี๋ยวสถานการณ์อาจกระทบถึงประเทศแบบเลวร้ายกู่ไม่กลับก็ได้

ขอตีความว่า บารมีทางการเมืองของเจ้าคุณริชลิวยังไม่แก่กล้าพอ  จึงมีกระดูกชิ้นเดิมคือนายกคนเดิมขวางคออยู่     บรรดานักการเมืองสำคัญๆในตอนนั้นก็ยังถือหางท่านเคานต์ฮอลสไตน์ ซึ่งยังอยากนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี  ไม่ได้คิดสละตำแหน่ง
เพราะฉะนั้น  อาจมองได้อีกอย่างว่า พระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กเอาริชลิวขึ้นมาเดินหมาก   เป็นข้อต่อรองกับนายกฯเดิมให้ทำตามพระประสงค์    ถ้าไม่ทำก็มีคนใหม่มาแทน  จะเอาไง    ริชลิวก็คงรู้ข้อนี้กระมังจึงมิได้แสวงหาตำแหน่งรัฐมนตรี   ขืนได้นั่งก็คงไม่นาน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 19:12

คือ ประมาณว่าท่านก็อยากจะเป็นแหละครับ แต่พอเดินสายคุยกับนักการเมืองแล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ไม่ควรที่จะลงมามีบทบาททางการเมืองใดๆ การปลดนายกรัฐมนตรีออกแล้วแต่งตั้งนายกพระราชทาน แม้จะชั่วคราวระหว่างการเลือกตั้งใหม่ แต่มีเป้าหมายที่จะมาออกกฏหมายสำคัญ ไม่มีนายกรักษาการที่ไหนเขากระทำกัน

ต้องไม่ลืมด้วยนะครับว่าบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศนั้น มหาอำนาจเริ่มแบ่งขั้วชัดเจน สงครามโลกครั้งที่๑กำลังใกล้ระเบิดในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า นักการเมืองเดนมาร์กเอง ก็มีทั้งฝักไฝ่เยอรมัน หรือไม่ก็ฝรั่งเศสและรัสเซีย แผนกลาโหมของพระเจ้าเฟรเดอริกน่าจะมุ่งต้านเยอรมันในพรมแดนที่ติดกัน ใช้งบมหาศาลที่เยอรมันอาจเขม่นเอา นักการเมืองส่วนหนึ่งคงไม่ชอบ

หลังสงคราม เยอรมันเป็นฝ่ายแพ้ พระเจ้าเฟรเดอริกทรงขัดแย้งกับรัฐบาลในขณะนั้นอีก โดยทรงเห็นว่าเดนมาร์กน่าจะถือโอกาสผนวกดินแดนของตนที่ถูกปรัสเซียยึดเอาไป อ่านตอนต้นมาแล้วน่าจะจำได้นะครับ ผลการงัดข้อครั้งใหม่ ซึ่งเรียกว่า Easter Crisis นั้น พระองค์เป็นฝ่ายแพ้ และทำให้ต้องทรงสัญญาว่าจะไม่มีบทบาททางการเมืองใดๆอีก

เดี๋ยวนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ของเดนมาร์กก็ดำเนินพระองค์ตามสัญญานั้นอย่างเคร่งครัด


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 19:25

การเป็นตัวเก็งขั้นนายกพระราชทาน แสดงถึงสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมระหว่างริชลิวกับวัง     แต่ว่าสายสัมพันธ์ทางรัฐสภาเห็นทีจะแน่นปึ้กสู้นายกเก่าไม่ได้   ไม่งั้น ประวัติศาสตร์สยามคงได้บันทึกว่าอดีตพระยาพานทองของสยามกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีเดนมาร์กเชียวนะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 19:49

อยู่ที่คนเดนมาร์ก ในเรื่องการเมืองของชาติแล้ว เขาพิจารณากันแค่ตัวบุคคล หรือหลักการ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 25 ก.ค. 13, 05:51

ปี ๑๙๑๐ เป็นปีมหาวิปโยคของปวงชนชาวสยาม เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร และเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๙ ตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๔
 
นายพลริชลิวในฐานะพลเรือโทพระยาชลยุทธยินทร์ได้เดินทางมาสยามอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่๓หลังจากกลับบ้านเกิด เพื่อถวายความเคารพพระบรมศพ แสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น และเข้าร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งโปรดเกล้าฯให้จัดขึ้นใน๕เดือนหลังวันสวรรคต คือวันที่๑๖มีนาคม ร.ศ.๑๒๙เดียวกัน แต่ฝรั่งเปลี่ยนศักราชแล้วเป็น ๑๙๑๑ คือปีที่ฝรั่งบันทึกว่านายพลริชลิวโดยสารเรือของอิสเอเซียติกจากโคเปนฮาเกนมากรุงเทพในครั้งนั้น


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง