เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 79972 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 06:34

ผมเขียนเรื่องฝรั่งแท้ๆ ยังให้เป็นพม่าอยู่ไม่เลิกซะทีนะครับ

ความพยายามยกที่สอง
.
นายแอนเดอเซนเคยมีความปรารถนาที่จะได้เห็นเรือรบของราชนาวีเดนมาร์กภายใต้พระบัญชาของเจ้าชายวาลเดอมาร์ พระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าคริตสเตียนที่๙ ไปลอยลำอวดธงในสยามเพื่อสนับสนุนแผนการต่างๆของEACvอยู่ ความคิดนี้เมื่อก่อนหอการค้าของเดนมาร์กไม่เห็นด้วย แต่ต่อมายอมนำเสนอสู่การพิจารณาของรัฐบาล เพื่ออนุมัติงบประมาณการเดินทางครั้งนี้ให้ ซึ่งตกลงด้วยความยากลำบาก จัดให้เพียง๑๐๐,๐๐๐โครเนอร์ ขาดไป๕๐,๐๐๐โครนเนอร์ เอกชนต้องลงขันกันเอง

เมื่อเสร็จเรื่องเงินๆทองๆ แอนเดอเซนก็รีบเขียนมาถึงนายพลริชลิวในกรุงเทพว่า "เราจำเป็นต้องใช้เจ้าชายวาลเดอมาร์ในบทบาทที่ต่างออกไปจากปกติของพระองค์ ซึ่งทรงยอมที่จะทำและเจ้าหญิงมารีก็กำลังติวเข้มให้พระองค์อยู่ เจ้าหญิงจะร่วมโดยเสด็จมาสยามด้วย ซึ่งจะเป็นการดีอย่างมากเพราะเจ้าหญิงเป็นผู้ที่ทรงงานหนักเพื่อEACมาตลอด ส่วนเจ้าชายวาลเดอมาร์ได้ทรงสัญญาที่จะกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวจุฬาลงกรณ์ในทุกเรื่องที่แอนเดอเซนและริชลิวต้องการเมื่อทรงมาถึงสยามแล้ว"


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 06:51

เรือที่ประทับของเจ้าชายวาลเดอมาร์ ที่ราชนาวีเดนมาร์กจัดถวายชื่อ Valkyrien เป็นเรือรบที่ทันสมัยที่สุดของประเทศ ส่วนเอกชนมาโดยเคบินผู้โดยสารเรือสินค้าของEAC ชื่อ SS Annam มีบุคคลสำคัญในวงการธนาคารและธุรกิจของเดนมาร์กได้ร่วมคณะมาด้วยสองสามคนพร้อมกับผู้สื่อข่าวรับเชิญ เรือทั้งสองเข้าเทียบท่าเรือของสยามพร้อมกันในวันที่๓๐ธันวาคมของปี๑๘๙๙ โดยปราศจากเจ้าหญิงมารี อ้างว่าทรงเป็นห่วงพระเจ้าคริตสเตียนที่ทรงชราภาพมากแล้ว และทรงคิดถึงโอรสธิดาเล็กๆของพระนางเอง

ท่านผู้อ่านคงจำเจ้าหญิงมารี แนวที่๕ของฝรั่งเศสในราชสำนักเดนมาร์กได้นะครับ เหตุผลที่ไม่เสด็จ จริงแล้วอาจจะทรงเขินพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ ใครก็รู้ว่า คำสั่งลับๆที่มีมาถึงกรุงเทพในช่วงร.ศ.๑๑๒ ให้กงสุลสั่งทหารเดนมาร์กให้ถอนตัวจากกองทัพสยาม ไม่ให้เข้าสู้รบกับฝรั่งเศสนั้น มาจากใคร คนที่นี่เขาจึงไม่เชื่อฟังเพราะรู้เส้นเห็นไส้พระนาง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 06:57

นายพลริชลิวได้ออกแรงทุกหยาดหยดเพื่อให้การรับรองพระราชอาคันตุกะนี้ ยิ่งใหญ่ราวกับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาเอง ทุกวันมีงานเลี้ยง งานเต้นรำ เชิญแขกผู้มีเกียรติทั้งไทยและเทศมาร่วม จัดงานฉลองปีใหม่ฝรั่งร่วมกันในพระบรมมหาราชวัง ท่ามกลางความริษยาของคนอังกฤษที่เห็นการแสดงออกอย่างสนิทสนมของทั้งสองพระราชวงศ์ รื่นเริงบรรเทิงพระทัยจนกระทั่งเสด็จกลับในวันที่๑๒ มกราคม

ความสำเร็จของการเสด็จมาเยือนเมืองไทยของเจ้านายเดนมาร์กพระองค์นี้ในด้านนามธรรมก็เป็นคุณแก่ EAC มากโขอยู่ ส่วนในรูปธรรม ที่เห็นเนื้อๆก็มีการลงนามให้สัมปทานป่าไม้สักงามๆที่ป่าแม่กำปอง ในจังหวัดแพร่แก่EACอีกแปลงหนึ่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 07:31

แต่ทว่า หลังจากที่เสด็จกลับไปแล้วเพียงสามวัน นายริเวตต์–คาร์นัคก็สามารถยืนยันข้อมูลที่ตนเคยกระซิบราชทูตอังกฤษว่า ธนาคารภายใต้การบริหารของชาวเดนมาร์กจะได้รับการก่อตั้งขึ้นในสยามในเดือนตุลาคมที่จะมาถึงข้างหน้า โดยเงินลงทุน ๑,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ร่วมกันโดยฝ่ายเดนมาร์ก เยอรมัน รัสเซีย และฝรั่งเศส โดยไม่กล่าวถึงฝ่ายสยาม  ก่อนหน้านั้นรายงานให้ทราบแต่เพียงผลของการเจรจาระหว่างรัฐบาลสยามซึ่งมีนายริเวตต์–คาร์นัคเป็นผู้แทน กับฝ่ายเดนมาร์กโดยนายแอนเดอแซนและนายไฮเดะ(Heide)จากธนาคารเอกชนเดนมาร์ก สรุปผลออกมาในลักษณะดังกล่าว
ธนาคารที่ว่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ชื่อธนาคารแห่งสยาม โดยจะยอมให้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินได้เหมือนกับธนาคารสัญชาติอังกฤษทั้งสอง แต่จะได้รับธนบัตรของรัฐบาลสยามไปสำหรับการดำเนินธุรกรรมปกติ ไม่มีสิทธิพิเศษอย่างอื่นเหนือคู่แข่งขันที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว ท่านทูตอังกฤษรายงานไปลอนดอนว่า เป็นที่ชัดเจนว่าข้อเสนอทั้งหมดถูกกำหนดจากฝ่ายสยามเอง

มิน่าเล่า ไหนว่านายริเวตต์–คาร์นัคคนนี้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของกระทรวงการคลัง แต่ไม่ยักกะได้รับพระราชทานราชทินนามแสดงความชื่นชมแต่อย่างใด ก็เล่นทำตัวเป็นสมุนสายลับ๐๐๗อยู่นี่เอง เลยโดนคนไทยใช้เป็นเกลือไปจิ้มเกลือซะเลย

แอนเดอเซนและไฮเดะใช้เวลาที่เหลือแก้เซ็ง โดยไปดูที่ดินในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพที่เหมาะสำหรับตั้งธนาคารเผื่อเอาไว้ แล้วจ่ายเงินซื้อไป ๔๘,๐๐๐เหรียญสหรัฐ ผมขี้เกียจค้นว่าเท่ากับกี่บาท และที่ดินดังกล่าวอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เป็นอะไร
 
หลังจากนั้น ข่าวของธนาคารสยามก็เงียบหายไปอีกนาน
จบยกสอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 07:41

ผมจะเว้นวรรคให้ท่านผู้อ่านปรบมือให้บรรพบุรุษของพวกเราหน่อย พรุ่งนี้กลับจะมาต่อยกที่สาม ซึ่งเป็นยกสุดท้าย
บันทึกการเข้า
spyrogira
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 09:10

ลงชื่อร่วมติดตามครับ ... //Emo ปรบมือ ..

... ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 10:14

การได้เป็นกรรมการของธนาคารกสิกร ยักษ์ใหญ่แห่งโคเปนฮาเกน(ซึ่งท่านได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นประธานในปี๑๙๐๘)มิใช่เรื่องการตกรางวัลให้ทหารแก่ แต่เป็นเรื่องคาดหวังในอิทธิพลของชายผู้นี้ซึ่งหลายคนคิดว่ายังคงแรงอยู่ในกรุงเทพ จะสามารถช่วยให้เดนมาร์กเป็นเจ้าของธนาคารสยาม ซึ่งเสมือนธนาคารชาติได้

ก่อนกราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการปีเศษ นายพลริชลิวได้ลาราชการไปพักยาวที่เดนมาร์กครั้งหนึ่งตามสิทธิ์ ปีนั้นคือปี๑๘๙๙ ที่นั่นท่านและนีล แอนเดอเซนได้คบคิดกันอย่างคร่ำเคร่งที่จะขยายบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจในสยาม บางเรื่องก็เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเดนมาร์กครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่บัดนี้พร้อมแล้ว เช่น การที่จะสถาปนาธนาคารสยามขึ้น เมื่อกลับมากรุงเทพแล้ว นายพลริชลิวก็เริ่มลงมือดำเนินงาน โดยหาโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลกรมหมื่นมหิศร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ)
 
แผนการจัดตั้งธนาคารที่เดนมาร์กเสนอนี้จะมีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 750,000 ปอนด์สเตอริง(เทียบเท่า๑๓.๕ โครเนอร์เดนมาร์ก) สองในสามจะลงทุนโดยชาวเดนมาร์ก ซึ่งธนาคารในเยอรมันและรัสเซีย(หรือฝรั่งเศส)เป็นผู้ให้กู้อีกทีหนึ่ง ส่วนที่เหลือ หนึ่งในสามนั้น รัฐบาลสยามจะเป็นผู้ลงทุน ธนาคารสยามจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และมีสาขาที่ โคเปนฮาเกน ลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์

กรรมการบริหารของธนาคารสยามจะประกอบด้วยองค์คณะรวม๑๒คน โดย๖คนจะมีถิ่นพำนักในยุโรป หนึ่งในนั้นระบุว่าจะต้องมีนายพลริชลิว โดยกำหนดค่าตอบแทนไว้ปีละ๒๐๐๐ปอนด์

แผนการของ "ริชลิว" ลงเอย ด้วยการถือหุ้นของธนาคารกสิกรเดนมาร์กเพียง ๒๔ เปอร์เซ็นต์ โดยมีธนาคารเยอรมันถือหุ้นมากกว่า คือ ๓๓ เปอร์เซ็นต์  ยิ้มเท่ห์

กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้นดำเนินงานอย่างเปิดเผย โดยกำหนดเงินทุนไว้เป็นจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท แบ่งออกเป็นหุ้นจำนวน ๓,๐๐๐ หุ้น ราคา ๑,๐๐๐ บาทต่อหุ้น โดยที่ทรงตระหนักดีถึงความสำคัญของธุรกิจด้านการค้าต่างประเทศ ดังนั้นเพื่อให้ธนาคารที่จะทรงตั้งขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจด้านนี้ได้อย่างกว้างขวาง มีตัวแทนอยู่ในทวีปยุโรป รวมทั้งเพื่อให้พนักงานของธนาคารได้มีโอกาสเรียนรู้ วิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับการติดต่อด้านการค้าต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเชิญชวนให้ดอยซ์เอเชียติสแบงก์ (Deutsch Asiatische Bank) ของประเทศเยอรมนี และเดนดานส์เกลานด์มานด์ส แบงก์ (Den Danske Landmancls Bank) ธนาคารจากประเทศเดนมาร์ก เข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยจำนวน ๓๓๐ หุ้น และ ๒๔๐ หุ้น ตามลำดับ และเมื่อทรงจำหน่ายหุ้นได้ครบแล้ว จึงทรงยื่นขอเปลี่ยนกิจการบุคคลัภย์เป็นธนาคารพาณิชย์ต่อทางราชการ


บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เปิดดำเนินการในอาคารที่ทำการของ บุคคลัภย์เดิม ที่ตำบลบ้านหม้อ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการฝ่ายในประเทศ และนายเอฟ คิเลียน ตัวแทนผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศ สัญชาติเยอรมัน เป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ในการเปิดดำเนินกิจการธนาคารขึ้นนี้ คณะผู้จัดตั้งได้ขอพระราชทานตราอาร์มแผ่นดิน มาเป็นตราประจำธนาคารมาตั้งแต่ต้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 11:54

อ้าวซวยแล้วอัตโน !
อุตส่าห์ปูพื้นให้ผู้อ่านลุ้นตอนจบ คุณเพ็ญเล่นเอากึ๋นไปเผยหมดแล้ว ใครอ่านแล้วหมดความตื่นเต้นจะมาโทษผมไม่ได้นะเออ

ไม่เป็นไร แค่เสียเวลากับต้นฉบับที่เตรียมไว้รอจะลง แต่ต้องทิ้งไปแล้วเขียนแก้ไขใหม่
ท่านผู้อ่านก็อดทนรอหน่อยก็แล้วกัน

ระหว่างนี้ขอเชิญไปยังกระทู้ของผมที่คุณเพ็ญชมพูไปตัดตอนมาเฉลย เป็นการปูพื้นไปก่อน เดี๋ยวผมกลับมาแล้วจะได้ตามต่อโดยไม่เสียฟีลลิ่ง
 
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5555.15
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 12:09

ประวัติแบงก์สยามกัมมาจลเรื่องผู้ถือหุ้นเริ่มแรกเป็นที่เปิดเผยอยู่แล้ว

แต่เบื้องหลังนั้นเป็นเช่นใด เหตุไฉนเหตุการณ์จึงกลับแปรผันให้ทางฝ่ายเดนมาร์กเป็นรองเยอรมัน อยากทราบนัก เรื่องนี้สิน่าตื่นเต้น รออ่านคุณนวรัตนมาเฉลย  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 19:59

ขึ้นยกที่สาม ความพยายามครั้งสุดท้าย

ธนาคารสยามดังกล่าวไม่สามารถจะเกิดได้ เพราะผิดเงื่อนไขหลักที่ตกลงไว้กับธนาคารผู้จะให้กู้ ระบุโครงสร้างของธนาคารจะมีรัฐบาลสยามลงทุนด้วย แต่จะมีฐานะแค่หุ่นเชิด ไม่ใช่อย่างที่ทั้งสองหน่อไปเซ็นต์ข้อตกลงมา

ขอคืนกลับสู่ความในคคห.ที่๒๐๕ ย่อหน้าสุดท้าย ความว่า
อ้างถึง
ในปี๑๙๐๓ นายพลริชลิวเดินทางกลับมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรกหลังจากที่จากไป  ระหว่างการเดินทางท่านได้แวะปารีสเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการคลังของฝรั่งเศส นายTheophile Delcass ในเรื่องที่บริษัทอิสต์เอเชียติกเข้าไปเกี่ยวข้องกับสยาม เป็นการหาแนวร่วมผลประโยชน์กับศัตรูเก่า แล้วจึงมากรุงเทพ ระหว่างอยู่ที่นี่ร่วมสองเดือนนั้น นายพลริชลิวมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ถวายรายงานความเป็นไปต่างๆเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และกิจการงานที่ตนทำในขณะนั้น แม้จะไม่มีรายงานในรายละเอียดแต่ก็เชื่อว่า เรื่องของธนาคารสยามที่เนิ่นช้าอยู่จะได้รับการเพ็ดทูล แต่จะว่าอย่างไรนั้น ไม่มีใครทราบ

เมื่อนายพลริชลิวกลับจากมาเยี่ยมเยือนเมืองไทยเพื่อทำงานแนวที่ตนถนัดให้บรรดาสหายสายธุรกิจแล้ว นายแอนเดอเซนก็จัดทัวร์ตะวันออกไกลขึ้นใหม่ คราวนี้ไม่ต้องการเรือรบเพราะคนสยามไม่กลัว พวกเดนเองก็ไม่กล้า เจ้าชายวาลเดอมาร์ก็ยอมเปิดหน้าชก พาเจ้าชายยอร์ค หลานปู่เสด็จมาในเรือของEAC ชื่อว่า SS Birma พร้อมๆกับนักธุรกิจคนสำคัญที่EACได้สร้างสัมพันธภาพอันลึกซึ้งไว้ เช่น Isac Gliickstadt กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกร  Knut Wallenberg กรรมการผู้จัดการธนาคาร Swedish Enskilda Banken

ระหว่างการเยือนกรุงเทพ ได้แวะทำนิติกรรมที่นายพลริชลิวดำเนินการในฐานะนายหน้าไว้ให้ล่วงหน้าเรียบร้อย ด้วยการลงนามในสัญญากู้เงินระหว่างรัฐบาลสยามกับธนาคารของแสกนดิเนเวียทั้งสอง  เป็นเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ยที่สยามเห็นว่าสมเหตุสมผลมาก แต่ไม่เปิดเผย ก่อนหน้านั้น สยามจำเป็นต้องกู้เงิน๔,๐๐๐,๐๐๐ปอนด์ ในอัตราดอกเบี้ย๔%ต่อปีจากอังกฤษมาพัฒนาประเทศด้านคมนาคม ด้วยการสร้างทางรถไฟสายปักษ์ใต้ เชื่อมโยงกับรถไฟมลายู-สิงคโปร์ของอาณานิคมอังกฤษ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 20:13

ปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๒ เพื่อรักษาพระองค์ แต่จุดมุ่งหมายลับๆก็คืองานการเมืองที่ยังค้างคาพระทัยอยู่ ฝรั่งเศสจอมเบี้ยวหลังได้ดินแดนลาวและเขมรรวมทั้งค่าปรับไปแล้ว ยังทำหน้าตายไม่ยอมถอนตัวออกจากตราดที่อ้างว่าจะยึดไว้เป็นประกันจนกว่าสยามจะทำตามข้อตกลงครบถ้วน โดยยอมคืนให้แต่จันทบุรี ระหว่างนั้นก็ตะลุยขุดหาไพลิน หรือ Blue sapphire ราคาแสนแพงที่เศรษฐินีปารีเซียงเห่อหามาประดับกายไปด้วย สยามทำอะไรทุกอย่างที่ฝรั่งเศสต้องการก็แล้ว ฝรั่งจมูกยาวก็ยังดื้อด้านไม่ยอมคืน
 
ทรงมีกำหนดการไปเยือนมหามิตรทั้งหลายที่หวังว่าจะช่วยให้พระองค์ทรงเจรจากับฝรั่งเศสได้ราบรื่นขึ้น นอกจากพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่๒พระสหายเก่า และบิสมาร์กผู้พิชิตแห่งเยอรมันแล้ว ก็พระชายาจอมแสบของเจ้าชายวาลเดอมาร์ ราชินีกุลฝ่ายซ้ายชาวฝรั่งเศสที่มีเครือข่าย สามารถพูดคุยกับนักการเมืองในปารีสได้หลากระดับ ก็เป็นเป้าหมายที่ทรงต้องการจะเสด็จไปพบ

ผลลัพท์ก็เป็นอย่างที่รู้ๆ สุดท้ายฝรั่งเศสก็ยอมนั่งโต๊ะเจรจา หลังจากรีดไถดินแดนเขมรลาวจากไทยไปอีกสองชิ้น ก็คืนตราด ซึ่งเป็นเมืองไทยแท้ๆให้สยาม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 20:20

นายพลริชลิวมารอรับเสด็จถึงซานรีโมในอิตาลี่ และร่วมขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยตั้งแต่วันที่๑๒พฤษภาคม๑๙๐๗ ในงานพระราชทานเลี้ยงรับรองที่พระเจ้าเฟรเดอริกที่๘(King Frederik VIII) ซึ่งเสด็จขึ้นครองพระราชบัลลังก์เดนมาร์กหลังการสวรรคตของพระเจ้าคริสเตียน ทรงจัดขึ้นถวายพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์ไทยในวันที่๑กรกฏาคมนั้น ทรงมีพระราชโองการแต่งตั้งให้นายพลโทริชลิว เป็นขุนนางในพระราชสำนัก(Chamberlain)เช่นเดียวกับที่ท่านได้เป็นพระยาพานทองของสยาม ต่อไปนี้คนเดนมาร์กจะต้องเรียกท่านว่า Chamberlain Richelieu จะไปเอ่ยนามเฉยๆไม่ได้เชียวนะเออ ส่วนนายแอนเดอเซน งานนี้ได้เครื่องราชย์ชั้นสายสะพายไปประดับเสื้อนอกหนึ่งเส้น

คืนต่อมาแซมเบอลินริชลิวได้จัดงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำแด่พระเจ้าอยู่หัวที่คฤหาสน์ของตน และไม่ลืมจัดที่ประทับถวายกรมหมื่นมหิศรให้ร่วมโต๊ะเสวยด้วยความชำนาญเกม

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงอยู่ระหว่างเสด็จมาดูงานการธนาคารเป็นเวลา ๙ เดือน และมาร่วมตามเสด็จประพาสยุโรปด้วยในคราวนี้ เรื่องการที่จะจัดตั้งสถาบันการเงินของสยามคงจะเป็นหัวข้อในการสนทนาบ้าง ตามจังหวะควรมิควรที่นักเจรจาระดับเหนือเมฆจะเห็นว่าไม่ผิดกาละเทศะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 20:25

นายพลริชลิว(เรียกอย่างเดิมดีกว่า เรียกแซมเบอลินริชลิวยากไปหน่อย)มีภาพร่วมอยู่ในพระบรมฉายาลักษณ์ในคราวเสด็จไปทอดพระเนตรพระอาทิตย์เที่ยงคืนที่นอร์ดแคปป์(Nordkapp) ประเทศนอร์เวย์ ในวันที่๑๒ กรกฏาคม หน้าก้อนศิลาที่จารึกพระปรมาภิไธย ตามที่นายพลริชลิวเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือ และช่างสลักหินไว้ถวายงาน
 
ในรูป คนที่ยืนกลางเอาศอกเท้าหินนั่นแหละ ท่านแซมเบอลินละ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 20:33

พระยาชลยุทธได้ตระเตรียมเครื่องมือขึ้นมาตามเคยที่จะจาฤก จ.ป.ร. แต่อยู่ข้างกันดารมาก จะหาศิลาก้อนใหญ่บนนั้น ไม่มีเลยมีอยู่ก้อนเดียว ซึ่งเปนศิลาติดไม่ใช่กลิ้งได้ ลงมือปราบน่า พวกช่างไม้แลคนที่หามรวม ๕ คนด้วยกัน ช่วยกันสกัด พ่อไปเขียน จ.ป.ร. แลเลขฝรั่ง ๑๙๐๗ แล้วพวกนั้นสกัด  สกัดของเขาดีแลคนทำงานก็แขง ๕ คนเท่านั้นไม่ช้าเท่าใดก็แล้ว พวกเราไปพักถ่ายรูปแลกินของต่าง ๆ ซื้อโปสต์ก๊าดเขียนโปสต์ก๊าด จนการแล้วเสร็จ ไปถ่ายรูปในที่นั้น ออกคิดถึงพวกแตรของเรา เพราะธรรมเนียมสลัก จ.ป.ร. เวลาแล้วเคยเป่าแตรบอกสำเร็จ ถ้าเรือมหาจักรีมาเปนได้เป่ากัน

จาก พระราชนิพนธ์ "ไกลบ้าน"   ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 21 ก.ค. 13, 20:50

^


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง