เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 79966 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 18 ก.ค. 13, 20:02

ข้อความโดย: เพ็ญชมพู
อ้างถึง
Lim Fjord อยู่ทางเหนือของเดนมาร์กห่างจากปราสาท Kokkedal Castle ประมาณเกือบ ๒๐ กิโลเมตร (ดูจากแผนที่คุณกุ๊ก  ยิ้มเท่ห์)

ไม่ใช่แล้วมังครับ
Kokkedal Castle อยู่ติดชายฝั่งทะเลในมองออกนอกหน้าต่างก็เห็นวิว ทะเลในดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของLim Fjord ยิงฟันยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 18 ก.ค. 13, 20:24

เป็นจริงดั่งคุณนวรัตนว่า ดูแผนที่อีกที ส่วนขอบสีน้ำเงินก็เป็นส่วนหนึ่งของ Lim Fjord  

ระยะทางจากปราสาทถึงชายทะเลคงไม่เกิน ๒ กิโลเมตร   อายจัง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 19 ก.ค. 13, 07:46

นายพลเรือริชลิวมิได้ดุ่ยๆกลับบ้านโดยไม่มีแผนที่จะรองรับชีวิต อย่างที่บอก ท่านอำนวยประโยชน์ให้นักลงทุนชาวเดนมาร์กทำกำไรจากกิจการในสยามเป็นเอนกอนันต์ คนกลุ่มนี้ระดับบิ๊กๆของประเทศทั้งนั้น ก็คงจะติดต่อกันมาแล้ว ดังนั้น เก้าอี้แรกที่เขาจัดไว้รองรับน้ำหนักของคนอย่างท่านนายพลเรือเอกแห่งราชนาวีจึงไม่เบา เป็นตำแหน่งกรรมการบริหารธนาคารกสิกร Landmandsbanken ไม่ใช่ที่มีฉายาว่าแบงก์รวงข้าวในไทยนะครับ ชื่อเหมือนกันแต่มีอะไรคล้ายกันอย่างเดียวคือ กสิกรตัวจริงหาได้เป็นเจ้าของไม่

นายพลริชลิวนั่งเก้าอี้นี้นาน หกปีต่อมา คือในปี๑๙๐๘ท่านได้ขยับขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการ(president)และดำรงตำแหน่งอยู่ยาวนานจนถึง๑๙๒๒
ผมจะกลับมาต่อเรื่องนี้อีกทีเมื่อเรื่องดำเนินไปถึง

ขอโฆษณาหน่อยว่า ช่วงชีวิตสามสิบปีหลังของชายผู้ทรงพลังคนนี้ ไม่ได้จืดแบบทหารปลดเกษียณแล้วเค้ารางวัลต่างตอบแทนให้เป็นกรรมการบริษัทเพื่อให้มีเงินเดือนแพงๆกิน มีรถประจำตำแหน่งนั่งโก้ๆให้พอได้ชื่อว่ามีงานทำไปวันๆนะครับ ชีวิตท่านมีสีสันพอๆกับช่วงสามสิบปีแรกที่ท่านทำงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดินสยามเลยทีเดียว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 19 ก.ค. 13, 08:32

ระยะแรกคนจัดให้ก็นึกเช่นนั้นเหมือนกัน คงหาตำแหน่งที่สบายๆ มีเบี้ยประชุมให้มีพอเงินใช้สอยไม่ลำบากลำบน ดังนั้นใน๑๙๐๒ ปีเดียวกันนั้น ท่านจึงได้เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัทที่กำลังเติบโต มีรายได้เยอะพอที่จะมีรายจ่ายสำหรับกรรมการประเภทพระอันดับได้โดยไม่ฝืดเคือง จึงไม่ต้องงงหากผมจะเล่าว่า ท่านนายพลเรือได้เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท Royal Porcelain ที่ทำถ้วยชามเครื่องเคลือบ และเป็นกรรมการของ West Indian Colonial Lottery

Royal Porcelain หรือปัจจุบันคือ Royal Copenhagen porcelain ของเดนมาร์ก มีชื่อเสียงในการทำเครื่องเคลือบดินเผาด้วยกรรมวิธีที่จีนทำกังไส เรียกว่า bone china พื้นสีขาว ส่วนใหญ่ลายสีน้ำเงิน ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้บนโต๊ะอาหารและของประดับคฤหาสน์แบบฝรั่งไปทั่วประเทศต่างๆในยุโรป

สยามเมื่อก่อนนำเข้าเครื่องสายครามแบบนี้จากเมืองจีน แต่เดี๋ยวนี้คนไทยผลิตได้เหมือนกันโดยมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่ลำปาง ทำถ้วยโถโอชามลายครามตั้งแต่ระดับจตุจักรไปจนถึงระดับส่งออกพะยี่ห้อนอกที่เขาไม่ค่อยจะเอามาวางตลาดให้ชาวบ้านเห็น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 19 ก.ค. 13, 09:36

ส่วน West Indian Colonial Lottery เป็นกิจการทำเงินจากเมืองขึ้น ตอนนั้นเดนมาร์กมีอาณานิคมนะครับอย่าเข้าใจว่าไม่มี ตั้งอยู่ในอเมริกากลางที่รู้จักกันในชื่อเวสต์อินดีส ต่อมาถูกอเมริกาบังคับซื้อไป แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น U.S.Vergin Islands อยู่ติดกับส่วนของอังกฤษที่ชื่อว่า British Vergin Islands ทั้งสองแห่งนี้จิ้นแต่ชื่อ แต่จริงๆเละแล้วเพราะประกอบกิจการแบบโสเภณี คืออนุญาตให้ใครก็ได้ที่มีปัญญาจ่ายค่าธรรมเนียมให้ ไปตั้งธนาคารเพื่อรับฟอกเงินให้คนรวยที่โกงกินเขามา ด้วยการเปิดบัญชีลับใช้ทำธุรกรรมทางการเงินลวง สำหรับเลี่ยงภาษีในประเทศของตน มีผู้ใช้บริการของธนาคารพวกนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสันทั่วโลก ขนาดสำนักงานกฏหมายสาขาของฝรั่งในเมืองไทยก็ยังสามารถเปิดบัญชีธนาคารในเกาะเล็กๆที่ยกตนเองเป็นประเทศเหล่านี้ได้ทันที หากท่านต้องการ จนค่าธรรมเนียมดังกล่าวกลายเป็นรายได้หลักแทนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ใช้บังหน้าไป

ส่วนลอตตารี่ก็บ่อนการพนันชนิดหนึ่งนั่นแหละ ทว่ารัฐบาลเป็นเจ้ามือผูกขาดกินคนเดียว โดยมีพรรคพวกของตนเป็นผู้บริหารเงินแบบวัดคึ่งนึงกรรมการคึ่งนึง แล้วตั้งบุคคลภายนอกเข้าไปร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพอเป็นพิธี นายพลริชลิวก็เป็นกรรมการประเภทไปประชุมเพื่อรับซองเดือนละครั้ง อะไรที่เห็นแต่ไม่ควรพูดก็นิ่งๆไว้ วาระใดที่โจ่งแจ้งทนไม่ได้ก็ลุกเข้าห้องน้ำเสีย ปฏิบัติการให้มันนานๆหน่อย อู้จนวาระผ่านแล้วค่อยกลับไป


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 19 ก.ค. 13, 10:58

งานที่สมความรู้ความสามารถของนายทหารเรือเก่าหน่อยน่าจะเป็นตำแหน่งที่เขาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัท United steamer Company เป็นบริษัทเดินเรือซึ่งตอนนั้นกิจการไม่น่าจะดีเท่าไหร่ ทำไป๓ปี ก็คงมีความคิดความอ่านเข้าตาเจ้าของ(ซึ่งเป็นใครผมก็ไม่ทราบ) เลื่อนตำแหน่งให้ท่านเป็นประธานคณะผู้บริหาร หรือ CEO ซึ่งถือเป็นงานประจำแบบเต็มเวลาไม่ใช่แค่มาประชุม เพื่อปรับโครงสร้างบริษัทขึ้นใหม่ในปี๑๙๐๕ หลังจากนั้นอีกสองสามปี นายพลริชลิวก็ได้เป็นประธานกรรมการ(Chairman) ตำแหน่งนี้ส่วนมากเขาใช้กับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทผู้เป็นเจ้าของตัวจริง ไม่ทราบว่าท่านตกลงใจซื้อบริษัทนี้ไว้เสียเองหรือเปล่า เพราะท่านอยู่ในตำแหน่งยาวนานมากตั้งแต่ปี๑๙๐๘ถึงปี๑๙๒๒เลยทีเดียว

รายละเอียดของบริษัทนี้ว่าประกอบกิจการดีไม่ดีอย่างไร มีเรือวิ่งจากไหนไปไหน หรือไม่ใช่เรือ แต่กลายเป็นเครื่องจักรกลที่ใช้พลังไอน้ำขับเคลื่อนอื่นๆ เช่นหัวจักรรถไฟไปโน่นเลย ผมใช้อินทรเนตรสแกนแล้วหาไม่เจอ แต่คุณเพ็ญชมพูอาจจะเจอก็ได้ อยากทราบว่าบริษัทนี้เกิดขึ้นแล้วดับไปได้อย่างไร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 19 ก.ค. 13, 11:41

งานเด่นจริงๆที่ท่านริเริ่มด้วยตนเองโดยไม่มีพี่จัดให้ก็คือ การขอสัมประทานสร้างบริษัทรถไฟจาก Slangerup ชุมชนเมืองที่กำลังเติบโตของเขต Frederikssund  ห่างจากใจกลางกรุงโคเปนฮาเกนเมืองหลวงประมาณ๓๐กิโลเมตร งานนี้ท่านนำประสพการณ์จากการเป็นเจ้าของรถไฟสายหัวลำโพง-ปากน้ำมาทำเงินต่อในบ้านเกิดอย่างสบายๆ

นายพลริชลิวได้เป็นประธานกรรมการแบบ Chairman ของบริษัทนี้ตั้งแต่ปีแรกที่กลับมาถึง๒๗ปี คือจาก๑๙๐๒ ถึงปี๑๙๒๙
 
เดี๋ยวนี้ทางรัฐบาลเดนมาร์กใช้รถโดยสารประจำทางแทนระบบรางเหล็กหลังจากซื้อโอนสัมปทานรถไฟของเอกชนมาเป็นของรัฐแล้ว ร่องรอยของรางสมัยที่นายพลริชลิวดำเนินการก่อสร้างไว้ก็ถูกกลบหาย เหมือนทางรถไฟสายปากน้ำของท่านในกรุงเทพนั่นแล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 19 ก.ค. 13, 20:48

ค่ำนี้ อินทรเนตรนำผมไปพบย่อหน้าเล็กๆในหนังสือเรื่อง Scandinavia and the Scandinavians ที่ไขข้อความถึงธุรกิจของ United Steamship Company มีข้อความดังนั้

In 1902 RicheHeu returned to Denmark, where he was decorated with the Grand Cross of the Dannebrog, and made a director of the Danish East Asiatic Company, the United Steamship Company, the shipbuilding house of Burmeister and Wain, and the Landmandsbank.

ในปี๑๙๐๒ ริชลิวกลับไปเดนมาร์ก ซึ่งเขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Grand Cross of the Dannebrog และได้เป็นกรรมการบริษัทอิสเอเซียติกของเดนมาร์ก บริษัทยูไนเต็ดสตีมชิป ซึ่งเป็นบริษัทผู้ต่อเรือในเครือบริษัท Burmeister and Wain และธนาคารกสิกร the Landmandsbank

Burmeister & Wainมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโคเปนฮาเกน เป็นบริษัทที่มีอิสเอเซียติกเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกิจการหลักการด้านอู่เรือใหญ่โครตๆของเดนมาร์ก  และเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ถ้าบอกว่า เครื่องยนต์ดีเซลดังกล่าวยี่ห้อ MAN B&W วิศวกรเครื่องกลของไทยก็คงร้องอ๋อ ทุกวันนี้บริษัทนี้ยังยืนยงคงกระพันอยู่

ผมจะบอกก่อนล่วงหน้า ในปี๑๙๐๙ ประธานกรรมการของบริษัทนี้ชื่อพลเรือโทริชลิวครับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 20 ก.ค. 13, 07:19

^
เครื่องยนต์ดีเซลข้างบนเป็นเครื่องสำหรับเรือเดินสมุทรนะครับ ตอนนายพลริชลิวไปเป็นผู้บริหารบริษัทย่อยที่ทำงานด้านการสร้างเรือ เรือเดินสมุทรสมัยนั้นยังใช้เครื่องจักรไอน้ำอยู่ อีกเป็นสิบปีกว่าจะเริ่มมีแนวคิดที่จะใช้เครื่องยนต์ดีเซล แล้วนายพลริชลิวนี่แหละที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิด จนท่านเองต้องพบวิบากในบั้นปลายชีวิต

นี่..เอาตอนสำคัญมาฉายเป็นหนังตัวอย่างอีกแล้ว

กลับมาที่ปีแรกๆหลังจากเดินทางกลับบ้านก่อน
ถัดมา๑ปี ธุรกิจด้านสัมปทานรถไฟของท่านนายพลได้นำให้ต้องต่อไปเป็นกรรมการของการรถรางโคเปนฮาเกน(The Copenhagen Tramways)ระหว่างปี๑๙๐๓ถึง๑๙๑๑ และ Skovshoved electricity and Tramway Aktieselskab ระหว่างปี๑๙๑๑ถึง๑๙๒๖ 

คำว่า Aktieselskab เป็นศัพท์เฉพาะของเดนมาร์กสำหรับกิจการของเอกชนหรือของรัฐ ที่ระดมทุนจากประชาชนมาร่วมคล้ายกับบริษัทมหาชน มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 20 ก.ค. 13, 14:21

^
 จนท่านเองต้องพบวิบากในบั้นปลายชีวิต

นี่..เอาตอนสำคัญมาฉายเป็นหนังตัวอย่างอีกแล้ว


บ๊ะ ท่านอาจารย์เกริ่นเรียกแขกอีกแล้ว  ขยิบตา

 ริชลิวจะประสบวิบากกรรมเช่นไร วิบากนี้ใหญ่หลวงแค่ไหน ริชลิวจะเอาตัวรอดได้หรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป  ฮืม  ฮืม  ฮืม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 20 ก.ค. 13, 17:31

ตามมาเล้ย

บทบาทที่นายพลริชลิวสวมในฐานะนักเจรจาเหนือเมฆ(lobbyist)ในสยามให้แก่นักธุรกิจเพื่อนร่วมชาติ และผู้ถือหุ้นใหญ่แบบลับๆของบริษัทอิสต์เอเชียติกนั้น ท่านก็ฉลาดเป็นเลิศในการแสวงหาโอกาสที่จะให้ตนเองได้ประโยชน์จากจากข้อตกลงนั้นๆเสมอ

การได้เป็นกรรมการของธนาคารกสิกร ยักษ์ใหญ่แห่งโคเปนฮาเกน(ซึ่งท่านได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นประธานในปี๑๙๐๘)มิใช่เรื่องการตกรางวัลให้ทหารแก่ แต่เป็นเรื่องคาดหวังในอิทธิพลของชายผู้นี้ซึ่งหลายคนคิดว่ายังคงแรงอยู่ในกรุงเทพ จะสามารถช่วยให้เดนมาร์กเป็นเจ้าของธนาคารสยาม ซึ่งเสมือนธนาคารชาติได้

ในปี๑๙๐๓ นายพลริชลิวเดินทางกลับมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรกหลังจากที่จากไป  ระหว่างการเดินทางท่านได้แวะปารีสเพื่อเข้าพบรัฐมนตรีว่าการคลังของฝรั่งเศส นายTheophile Delcass ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสยาม และบริษัทอิสเอเชียติก เพื่อหาแนวร่วมผลประโยชน์จากศัตรูเก่า และระหว่างที่อยู่ในกรุงเทพร่วมสองเดือน นายพลริชลิวมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ถวายรายงานความเป็นไปต่างๆเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และกิจการงานที่ทำในขณะนั้น แม้จะไม่มีรายงานในรายละเอียดแต่ก็เชื่อว่า เรื่องของธนาคารสยามที่เนิ่นช้าอยู่จะได้รับการเพ็ดทูล แต่จะว่าอย่างไรนั้น ไม่มีใครทราบ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 20 ก.ค. 13, 17:43

ต้องขอย้อนอดีตถึงที่มาที่ไปในเรื่องนี้ก่อน สำหรับผมนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าร.ศ.๑๑๒ทีเดียว สำหรับเรื่องนั้น เรารักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้ แต่เรื่องนี้ สยามสามารถรักษาอธิปไตยทางด้านการเงินการคลังของประเทศไว้ได้ และอย่างสุขุมคัมภีรภาพด้วย

ความพยายามของคนเดนมาร์กที่คิดการใหญ่จะมาเปิดธนาคารในกรุงเทพโดยโดยใช้ชื่อธนาคารสยามนั้น ผมเก็บประเด็นมาจากบทความ THE DANES IN SIAM : Their Involvement in Establishing The Siam Commercial Bank Ltd. At the End of the Last Century นักศึกษาผู้สนใจสามารถหาอ่านจากเน็ทได้ไม่ยาก

ก่อนกราบถวายบังคมทูลลาออกจากราชการปีเศษ นายพลริชลิวได้ลาราชการไปพักยาวที่เดนมาร์กครั้งหนึ่งตามสิทธิ์ ปีนั้นคือปี๑๘๙๙ ที่นั่นท่านและนีล แอนเดอเซนได้คบคิดกันอย่างคร่ำเคร่งที่จะขยายบทบาทในการลงทุนทำธุรกิจในสยาม บางเรื่องก็เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่สมัยที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเดนมาร์กครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่บัดนี้พร้อมแล้ว เช่น การที่จะสถาปนาธนาคารสยามขึ้น เมื่อกลับมากรุงเทพแล้ว นายพลริชลิวก็เริ่มลงมือดำเนินงาน โดยหาโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลกรมหมื่นมหิศร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ)
 
แผนการจัดตั้งธนาคารที่เดนมาร์กเสนอนี้จะมีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 750,000 ปอนด์สเตอริง(เทียบเท่า๑๓.๕ โครเนอร์เดนมาร์ก) สองในสามจะลงทุนโดยชาวเดนมาร์ก ซึ่งธนาคารในเยอรมันและรัสเซีย(หรือฝรั่งเศส)เป็นผู้ให้กู้อีกทีหนึ่ง ส่วนที่เหลือ หนึ่งในสามนั้น รัฐบาลสยามจะเป็นผู้ลงทุน ธนาคารสยามจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และมีสาขาที่ โคเปนฮาเกน ลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์

กรรมการบริหารของธนาคารสยามจะประกอบด้วยองค์คณะรวม๑๒คน โดย๖คนจะมีถิ่นพำนักในยุโรป หนึ่งในนั้นระบุว่าจะต้องมีนายพลริชลิว โดยกำหนดค่าตอบแทนไว้ปีละ๒๐๐๐ปอนด์

การลงทุนของรัฐบาลสยามในอนาคต ปีหนึ่งๆนับล้านปอนด์ จะต้องเปลี่ยนจากการซื้อพันธบัตรของรัฐบาลในประเทศยุโรปผ่านธนาคารในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ มาใช้ช่องทางผ่านธนาคารใหม่นี้ อย่างไรก็ดี แผนการตั้งธนาคารสยามดังกล่าว ขอให้ทั้งสองฝ่ายถือเป็นความลับไว้ก่อน

ไม่ว่าจะลับอย่างไรก็ตาม ราชทูตอังกฤษประจำสยามได้เรียกผู้จัดการ Hongkong Bank กับ The Chartered Bank ของอังกฤษซึ่งมีสำนักงานสาขาในกรุงเทพมาให้ข่าวในเรื่องความพยายามของนายธนาคารเดนมาร์กเรื่องนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบในเรื่องธุรกิจของธนาคารอังกฤษทั้งสองอย่างรุนแรง แน่นอนว่าท่านราชทูตมิได้ระบุแหล่งข่าว แต่คนในวงการก็เข้าใจได้ว่าความลับไหลออกมาจากฝ่ายไทย โดยนายริเวตต์-คาร์นัค (Christopher Rivett-Carnac)ที่ปรึกษาชาวอังกฤษที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจ้างไว้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 20 ก.ค. 13, 18:18

นายริเวตต์-คาร์นัคเป็นบุคคลสำคัญในเรื่องของการเงินการคลังของสยาม สามารถเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวได้โดยตรง คนๆนี้ทราบทุกเรื่อง และไม่หวั่นเกรงว่าความลับต่างๆในระบบงานของตน จะไหลไปถึงสถานทูตอังกฤษในกรุงเทพ นายริเวตต์-คาร์นัคตั้งตนเป็นฝ่ายคัดค้านแผนการจัดตั้งธนาคารของเดนมาร์กนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในเปลือกไข่ และได้ขยายความหมั่นไส้ไปยัง “นายห้างเดนมาร์กในเครื่องแบบนายพลเรือสยาม ซึ่งใช้นามสกุลขุนนางฝรั่งเศสที่น่าสงสัยและกำพืดที่มีเลศนัย”(the enterprising Danish Admiral in the Siamese Navy with the suspiciously noble French name and doubtful ancestors)

ท่านทำบันทึกช่วยจำถึงกระทรวงโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า แผนการดังกล่าวหากรัฐบาลกระทำตาม ก็จะเจอกับความยุ่งยากทั้งการเมืองการทูตแน่นอน ธนาคารสยามควรจะก่อตั้งโดยเงินลงทุนของคนไทยเอง และกรรมการทุกคนของธนาคารควรจะมีแหล่งพำนักในกรุงเทพ และทิ้งท้ายว่าคนอย่างริชลิวนั้น ไม่มีกงการอะไรที่จะมายุ่งกับเรื่องของธนาคารโดยทั้งสิ้นทั้งปวง

นายกรีวิลล์ราชทูตอังกฤษได้ทำรายงานเรื่องนี้ไปยังลอนดอนด้วยอารมณ์เดียวกันว่า คนเดนเหล่านี้พยายามจะมีบทบาทในสยามไปเสียทุกเรื่อง และกล่าวถึงริชลิวในเชิงประชดประชันว่า ท่านนายพลเรือผู้กล้าหาญของเราได้ใช้เวลาว่างไปมากมายในเรื่องของทหารเรือสยาม
 
แผนการนี้แจ่มแจ๋วมากในสายตาของคนที่อยู่ในโคเปนฮาเกน หากสำเร็จ ธนาคารแห่งสยามที่มีธนาคารกสิกรเดนมาร์กเป็นแกนนำ และกลุ่มธนาคารอื่นๆทั้งในเดนมาร์ก เยอรมัน รัสเซีย แม้กระทั่งฝรั่งเศสจะร่วมลงขัน ให้กู้เงินมาลงเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างมาก ส่วนรัฐบาลสยามลงทุนด้วยเม็ดเงินของตนแท้ๆ จะเป็นผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อย ส่วนลูกค้าชั้นดีรอกู้อยู่แล้วก็คือ บริษัทอิสต์เอเชียติกและบริษัทของคนเดนมาร์กทั้งหลายในกรุงเทพ
แต่การครั้งนี้ไปบั่นทอนอิทธิพลของอังกฤษโดยรวมเข้า ก็แน่นอนที่จะได้รับการต่อต้านจากอังกฤษอย่างโจ่งแจ้งจนไม่สามารถแจ้งเกิดได้ง่ายๆอย่างที่คาดหวัง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 20 ก.ค. 13, 20:15

แต่การคัดค้านของอังกฤษก็ไม่ทำให้ทางโคเปนฮาเกนถอดใจ แผนการณ์ดังกล่าวเงียบไปร่วมสิบเดือนก่อนที่หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในกรุงเทพลงข้อความว่า ได้รับโทรเลขจากแหล่งข่าวในฮัมเบิร์ก รายงานว่าธนาคารกสิกรของเดนมาร์กได้รับสัมปทานในการดำเนินกิจการธนาคารแห่งชาติของสยาม โดยมีธนาคารในเยอรมัน ฝรั่งเศสและรัสเซียต่างแสดงความสนใจที่จะร่วมธุรกิจด้วยเงินลงทุนราวหนึ่งล้านปอนด์สเตอริง

ข่าวนี้ทำให้ท่านทูตเกรวิลล์เด้งผางไปหานายริเวตต์-คาร์นัค ซึ่งปฏิเสธว่าตนไม่ทราบเรื่องครั้งนี้เลย แต่ถ้าเป็นนโยบายอย่างแน่วแน่ที่สยามจะถ่วงดุลย์ชาติมหาอำนาจแล้ว ก็คงระวังไม่ให้ที่ปรึกษาชาวอังกฤษอย่างตนล่วงรู้ ทั้งสองเพ่งโทษไปที่ริชลิว ในฐานะคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว ผู้ที่ทรงเชื่อนายพลผู้นี้โดยตลอด เมื่อคิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นแน่ ราชทูตอังกฤษจึงได้ขอเข้าเฝ้ากรมหมื่นเทววงศ์ฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งคำตอบที่ทรงกล่าวว่าเป็นความเห็นส่วนพระองค์ก็คือ ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องโคมลอยที่ปล่อยออกมาโดยไม่เป็นความจริง แต่นายเกรวิลล์ไม่เชื่อ

ก็ไม่ต้องสงสัย ทั้งเอนเดอเซนและริชลิวต่างอยู่เบื้องหลัง โดยมีสมองอันเฉียบคมของชายคนแรกเป็นผู้วางแผน และตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญในสยามของชายคนที่สอง ทำให้การสอดโครงการระดับนี้เข้าสู่การพิจารณาของบุคคลสำคัญที่นี่ได้อย่างถูกวงจร แม้จะยังห่างจากจุดสำเร็จ


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 20 ก.ค. 13, 21:27

อืมห์  มหาอำนาจเค้าชิงไหวชิงพริบกัน อยากดูต่อว่าหญ้าแพรกแบบเราเอาตัวรอดแบบบัวไม่ให้ช้ำมาก น้ำพอขุ่นๆ ยังไง  ต้องเข้ามาลงชื่อติดตามต่อ เป็นการเร่งซายานวรัตนไปในตัว  ขยิบตา
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง