เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 79979 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 10:14

การสงครามของไทยนั้น เราไม่ต้องรบกับชาติเอเซียด้วยอีกแล้ว ถ้าจะรบก็ต้องรบกับชาติมหาอำนาจชั้นหนึ่งของโลก ฝรั่งเศสขณะนั้นผยองมาก ในยุโรปด้วยกันเขายังคิดว่าเขาก็เป็นหนึ่งเหมือนกัน
คนในวงการทูตอังกฤษเองยังมองว่าไทยทำเกินตัวไปหน่อย และตำหนิริชลิวว่าเป็นคนเดนมาร์กแท้ๆ น่าจะรู้อยู่อะไรควรไม่ควร
 
ราชสำนักเดนมาร์กเองนั้นมีสายสัมพันธ์อันเลิศกับราชสำนักรัสเซีย เพราะพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่๒ ทรงเป็นลูกเขยพระเจ้าคริตสเตียนดังที่ผมเล่าไปแล้ว  ครั้งหนึ่งเสด็จพาพระราชินีลงเรือพระที่นั่งมาเยี่ยมพ่อตาเป็นการส่วนพระองค์ที่กรุงโคเปนเฮเกน ฝรั่งเศสรู้เข้าจากสายลับระดับฝังลึกในพระราชสำนัก ก็แจ้งความไปยังรัฐบาลเดนมาร์ก ขอเอาเรือรบระดับเรือธงของกองทัพเรือเข้ามาทอดสมอในอ่าวหน้าเมือง เดนมาร์กซึ่งประกาศตนเป็นกลางในเรื่องความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ จึงแจ้งขัดข้องโดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะเสียความเป็นกลาง แต่ฝรั่งเศสดึงดันที่จะไปให้ได้ เดนมาร์กแจ้งกลับว่าถ้าอย่างนั้น เข้ามาก็จะยิงทันที

เนื่องนี้มีความนัยอยู่ว่า ช่วงดังกล่าว บิสมาร์กกำลังเสริมสร้างประเทศเยอรมัน แผ่กำลังอำนาจทางทหารจนประเทศทั้งหลายหวาดหวั่น รัสเซียจึงยอมจับมือกับฝรั่งเศสทำสนธิสัญญาลับๆที่จะเป็นพันธมิตรกันเพื่อร่วมต่อต้าน โดยรัสเซียไม่อยากให้เยอรมันรู้ แต่ฝรั่งเศสอยาก เพราะคิดว่าจะเป็นการปรามให้เยอรมันเกรงใจฝรั่งเศส แต่เรื่องนี้จะทำฉันใดดี
ดังนั้น ถึงจะได้รับคำขาดจากเดนมาร์ก เรือรบฝรั่งเศสก็วัดใจฝ่าด่านเข้าไปตามนัด ทหารเดนมาร์กเข้าประจำปืนทุกกระบอกแต่ไม่ได้ยิง เรือรบฝรั่งเศสจึงเข้าไปทอดสมอเป็นสง่าอยู่หน้าเมือง เสร็จแล้วให้คนอัญเชิญพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าซาร์ว่า รัฐบาลฝรั่งเศสเพิ่งทราบข่าวที่พระองค์ประทับอยู่ จึงใคร่จะขอถวายพระเกียรติยศ เชิญเสด็จพระราชดำเนินเยือนเรือรบที่ทรงอานุภาพที่สุดของฝรั่งเศส เพื่อร่วมงานรับรองที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดถวาย
ความจริงเดนมาร์กเองรู้แกวฝรั่งเศสอยู่ ที่ห้ามเรือไม่ให้เข้ามาก็เพราะกลัวเยอรมัน เคยรบกันจนรู้หมู่รู้จ่ามาแล้วจนเข็ดเขี้ยว เดี๋ยวจะหาว่ารู้เห็นเป็นใจกัน แต่เมื่อดึงดันมาถึงแล้ว พระเจ้าคริตสเตียนจึงทูลแนะนำพระเจ้าซาร์ว่า ในเมื่ออย่างนี้ก็ควรรับคำเชิญ มันจะได้รีบไปๆเสียก่อนที่สปายเยอรมันจะรู้ พระเจ้าซาร์จึงตอบตกลง โดยมีข้อแม้ว่า ขอให้ลดระดับการรับรองอย่างเป็นทางการลงเหลือเพียงการเยือนส่วนพระองค์ เมื่อทอดพระเนตรเรือแล้วขอเสด็จกลับ ฝรั่งเศสก็โอเค

ครั้นได้เวลา พระเจ้าซาร์ก็เสด็จจากเรือพระที่นั่งส่วนพระองค์ลงเรือเล็กไปที่เรือรบฝรั่งเศส พอเสด็จขึ้นเท่านั้น ปืนเรือของฝรั่งเศสก็ยิงสลุตชุดใหญ่ ชาวบ้านชาวเมืองสะดุ้งเฮือกไปตามๆกัน ครั้นเห็นเรือรบฝรั่งเศสยิงสลุต เรือพระที่นั่งก็สลุตตอบเสียงสนั่น สายลับเยอรมันที่คอยข่าวอยู่ ก็แจ้งความไปยังเบอร์ลินทันที สมใจนึกบางลำพูสาขาปารีส
เรื่องนี้พระเจ้าซาร์กริ้วจนพระมัสสุกระดิกดิ๊กๆ แต่ต้องกัดพระทนต์กรอดๆ ทอดพระเนตรเรือพอเป็นพิธีเสร็จแล้วรีบเสด็จกลับ ถึงเรือพระที่นั่งก็ทรงสั่งถอนสมอบ่ายหน้ากลับรัสเซียทันที เมื่อรัฐบาลรัสเซียประท้วงไปยังรัฐบาลฝรั่งเศสเรื่องนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสก็ขอโทษพร้อมแก้ตัวว่ากัปตันเกรงว่าจะถวายพระเกียรติยศไม่ถึงขนาด

ประเด็นอยู่ว่า ขนาดเดนมาร์กเองยังไม่กล้าท้าทายมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส ยอมเสียหน้าทั้งๆที่แต่แรกขึงขังจะเอาจริงเอาจัง แล้วทำไมสยามช่างกล้าไปแหย่ยักษ์ใหญ่ใจอันธพาล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 10:56

ถ้าเราตระหนักว่า ก่อนประกาศสงคราม เราจะยิงใครไม่ได้ตราบที่อีกฝ่ายหนึ่งยังมิได้ละเมิดสนธิสัญญา เราก็ควรต้องทราบว่า เรือรบของเขา(ประเทศมหาอำนาจ)เหล่านั้นสามารถเข้ามาจอดถึงเมืองปากน้ำได้ตามสิทธิ์
หากเคลื่อนพ้นปากน้ำเข้ากรุงเทพเมื่อไหร่ เมื่อนั้น เราจึงมีสิทธิ์ที่จะยิงได้ตามข้อตกลงดังกล่าว ป้อมผีเสื้อสมุทรที่อยู่เหนือขึ้นไปจึงมีความสำคัญมาก หากเราจะเรียกเลือดจากศัตรูในยกแรก

ส่วนยกต่อไป หากเขาเอาเรือเข้ามาอีก ปืนที่ป้อมพระจุลก็ยิงได้เลยตั้งแต่อยู่นอกสันดอน ไม่จำเป็นต้องรอให้ผ่านทุ่นดำเข้ามา

เชื่อว่า หากปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุล๗กระบอก ที่ป้อมผีเสื้อสมุทรอีก๔กระบอก ยิงได้ครบ ยิงได้เร็ว และยิงตกในแนวร่องน้ำซึ่งเป็นแดนสังหาร ถึงจะเป็นเรือของชาติมหาอำนาจก็คงไม่อาจผ่านเข้ามาได้ง่ายๆ
ถ้าจะหักเอาสยามให้ได้ก็คงต้องเอาเรือที่มีปืนวิถีกระสุนไกลกว่าปืนในป้อม มายิงถล่มให้ราบก่อน หรือไม่ก็เลือกตีเมืองรอบๆให้แตก แล้วยกกำลังทางบกโอบเข้ามาอีกทีหนึ่ง เหมือนกับที่ทำในญวน ครั้งนั้นคนญวนตายเป็นเบือและประเทศตกเป็นเมืองขึ้นของเขาอยู่กว่าครึ่งศตวรรษ จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ค่ายคอมมิวนิสต์มาช่วยให้กู้ชาติได้ ฝรั่งเศสแพ้ย่อยยับอัปมานกลับบ้านเก่าไป

คนไทยที่คิดแค้นว่า ฝรั่งเศสมาแย่งดินแดนที่เคยเป็นเมืองขึ้นของเราไป โปรดมองในอีกภาพหนึ่ง ถ้าเรายังยึดครองเขาอยู่ วันหนึ่งคนในชาติของเขาก็ลุกขึ้นขับไล่เรา เหมือนที่เขากระทำกับมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสและอเมริกาอยู่ดี เหตุที่เกิดในสามจังหวัดภาคใต้นั่นยังถือเป็นกรณีย์เล็กนะครับ ถ้าเทียบกับการนองเลือดในญวนเขมรและลาว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 13:21

ถ้าสภาพพร้อมรบของป้อมพระจุลเป็นดังว่า ป้อมผีเสื้อสมุทรคงย่ำแย่ไปกว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรแล้วจึงทรงสิ้นหวัง ถึงกับทรงมีรับสั่งให้ถอน “ทหารเก่า”ไปอยู่ป้อมพระจุลและฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่นั่น แต่ทหารเก่าก็ไม่ทราบว่าเก่าแค่ไหน ถ้าปฏิบัติการได้แค่นั้น ทหารที่ป้อมผีเสื่อสมุทรคงจะทำได้แค่เช็ดปืนอย่างเดียว

นายสมิธได้นั่งเรือไปที่ป้อมนี้วันที่เกิดเหตุ ขณะนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำมาถึงปากอ่าวแล้วรอเวลาน้ำขึ้นเต็มที่อยู่ ผู้บังคับการชาวเดนมาร์กของป้อม เรือเอกเกิตส์เช ยังไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวที่เกิดขึ้นนอกป้อมของตนเลย เมื่อนายสมิธทักว่าทหารของยูดูดีนะ เขาก็ตอบว่าไม่เลวละ แต่ไม่เคยยิงปืนใหญ่ซักกะนัดเดียว ไอได้แต่หวังว่าคงไม่จำเป็นต้องจะยิงมันจนกว่าทหารของไอจะได้รับการฝึกมากกว่านี้
เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำแล่นผ่านป้อมไปในท่ามกลางความมืด  ผู้บังคับการป้อมมองเห็นไฟตะเกียงเดินเรือเคลื่อนที่มา แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นเรือของใคร อาจเป็นเรือสยามก็ได้จึงไม่กล้ายิง พอเรือแองกงสตังค์ผ่านไปแล้ว ผบ.เรือโคแมตเห็นเสาธงของป้อมก็จำได้เพราะเคยเข้ามาเมืองไทยก่อนหน้านี้ เลยระดมยิงมาที่ป้อมหลายตับ ทหารในป้อมบาดเจ็บเล็กน้อย๑๒คน ทหารไทยยิงปืนเล็กโต้ตอบไปบ้างซึ่งก็ไม่ทราบว่าได้ผลอย่างไร

หลังการปะทะสั้นๆที่ปากอ่าว พวกทหารเกณฑ์บนเรือรบของไทยก็ระส่ำระสาย บางคนเริ่มแสดงอาการกระด้างกระเดื่องเมื่อรู้ว่ากัปตันได้รับคำสั่งให้ติดตามเรือฝรั่งเศสไปอีก  ลูกเรือมงกุฏราชกุมารบอกว่าตนยินดีที่จะรบบนบกแต่ไม่ใช่ในเรืออย่างนี้ นายสมิทบอกในประโยคต่อไปว่าThe commander at the inner fort was fired at the same evening. แปลได้สองอย่าง อย่างแรกคืนนั้นเขาถูกยิง อย่างที่สองคืนนั้นเขาถูกไล่ออกตามที่ปรากฏในเอกสารฉบับครู ที่ครูคงไม่ได้แปลเอง ส่วนผมเชื่อว่าเป็นอย่างแรก เขาอาจคิดว่าตนถูกยิง ซึ่งคงไม่โดน เพราะโดนก็คงไม่มีปัญญามานั่งเขียนรายงานให้นายพลริชลิวสองวันให้หลัง โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องที่ถูกยิงเลย รายงานของนายพลริชลิวเองถึงผู้บัญชาการทหารเรือก็เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ป้อมผีเสื้อสมุทรด้วยความเข้าอกเข้าใจอันดี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 15:56

ผมจะขอกล่าวถึงตอร์ปิโด อาวุธร้ายแรงของสยามเป็นอันดับสุดท้าย

ตอร์ปิโดในสมัยรัชกาลที่๕ ไม่ใช่อาวุธที่ใช้ยิงจากเรือดำน้ำ แต่เป็นทุ่นระเบิดใต้น้ำที่จุดชนวนให้ระเบิดด้วยไฟฟ้า ต้องต่อสายไฟไปยังตู้ควบคุมที่ติตั้งอยู่บนบก หรือในแพในเรือสุดแล้วแต่ หน้าตาคล้ายๆกับในภาพ พระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จไปทอดพระเนตรที่ทหารเรือจัดการทดลองถวายแล้ว ทรงพอพระทัย สั่งการให้ติดให้ครบตามตำแหน่ง ประมาณสามสิบกว่าจุด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 17:13

ระเบิดเหล่านี้ประดิษฐ์ขึ้นเองจากถังน้ำมันเหล็กที่ใช้แล้ว ผู้อาสาเป็นวิศวกรเดนมาร์กชื่อเวสเตนโฮลช์ผู้ประสพความสำเร็จในการติดตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นจ่ายกระแสไฟให้กับกิจการเดินรถราง และต่อมาถึงกับขยายกำลังผลิตเพื่อให้บริการบ้านเรือนในกรุงเทพด้วย

แม้จะเป็นพระราชกระแสรับสั่ง แต่ดินปืน ชนวน และสายไฟฟ้าชนิดกันน้ำที่ต้องสั่งจากสิงคโปรกว่าจะเดินทางมาถึงและส่งมายังสถานที่ทำงาน ก็มีเวลาผลิตระเบิดถังแค่วันเดียวก่อนที่เรือรบฝรั่งเศสจะมาถึง ทั้งได้น้อยกว่าปริมาณที่ขอไปมาก ถึงกระนั้นเวสเตนโฮลช์และเรือเอกคริตสมาศก็ช่วยกันทำได้ในวันแรกถึง๑๖ลูก แล้วนำใส่เรือเล็กไปติดตั้งไว้ในแม่น้ำระหว่างพระสมุทรเจดีย์ถึงเมืองปากน้ำ ระเบิดถัง(ผมน่าจะเรียกอย่างนี้นะ)ทั้งหมดได้ถูกต่อสายไปยัง๔สถานี เวสเตนโฮลช์ประจำอยู่ที่สถานีหนึ่งซึ่งเป็นเรือนำร่องเก่าๆ และหงุดหงิดไม่หายที่ต้องลดปริมาณดินปืนไปครึ่งหนึ่งของที่ควรจะเป็น ร้อยเอกคริตสมาสเป็นผู้อธิบายวิธีทำงานให้กับคนเดนมาร์กด้วยกันที่มาจากกรมแผนที่ซึ่งน้องชายของนายพลริชลิวทำงานอยู่ และอาสาเป็นผู้ควบคุมสวิตช์ระเบิด เสร็จแล้วพวกนั้นขอตัวไปทานอาหารเย็น ในช่วงที่ยิงกันตูมตามนั้น ไม่มีใครเห็นคนเหล่านั้นกลับมาที่สถานีอีกเลย

เมื่อเรือแองกงสตังต์วิ่งมาถึงตำบลระเบิดที่เวสเตนโฮลช์คุมอยู่ เขาก็สับสวิตช์บังคับให้ระเบิดถังระเบิดขึ้นน้ำกระจายเป็นลำตาล เดนมาร์กว่าเฉียดไปนิดเดียว ฝรั่งเศสบอกระเบิดเร็วกว่าที่เรือจะไปถึงมากไปหน่อย ไทยไม่รู้จะเชื่อใคร

ร้อยเอกคริตสมาสเขียนในรายงานสรรเสริญความมานะพยายามของเวสเตนโฮลช์ และบอกว่าตนเองไม่ควรจะมีความผิดที่ระเบิดถังไม่ได้ผล เพราะได้รับของมาน้อยนิด และกระชั้นชิดเสียจนไม่มีเวลาจะหายใจหายคอ ถ้ามีระเบิดถังสัก๒๐๐ลูก รับรองว่าไม่มีใครจะสามารถฝ่าแม่น้ำเข้าไปโดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 18:18

ขออนุญาตแสดงความเห็น

ตั้งแต่ความคิดเห็นที่ ๙๓ หากแยกเป็นกระทู้  "๑๒๐ ปี รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒" ท่าจะเหมาะ



ทั้งนี้ขึ้นกับคุณนวรัตนจะพิจารณา

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 18:37

จะมีใครมาร่วมแสดงความเห็นหรือครับ ?

ผมไม่ได้ต้องการจะเสนอเรื่องราวทุกด้านในเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะคิดว่าก็รู้ๆกันอยู่ แหล่งข้อมูลก็ซ้ำซาก
ที่เขียนไปก็ล้วนแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับนายพลริชลิว ผมต้องการเขียนประวัติของท่านในทุกมุมมอง ในฐานะเป็นบุคคลสำคัญของกองทัพเรือ  เหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒ เป็นจุดพลิกผันอย่างหนึ่งในชีวิตของท่านผู้นี้ ความรุ่งโรจน์ทางการทหารท่านถึงจุดสูงสุดในตอนนั้น ก่อนที่จะผันตัวเองไปทำธุรกิจข้ามชาติ

เขียนเรื่องหนักๆทีเดียวพร้อมกันสองเรื่องผมเอาไม่อยู่ครับ ถึงอยู่ก็ไม่เอา
ถ้าให้เลือก ผมเลือกอยู่ตรงนี้ ร.ศ.๑๑๒ ของผมใกล้จะถึงบทสรุปแล้ว แต่ใครมีคำถามหรือความเห็น ผมยินดีจะรับฟังและพยายามจะหาคำตอบให้ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 18:44

งั้นฝากกระทู้จาก พันทิป เรื่องนี้ไว้

120 ปี รำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ความเกี่ยวข้องกับเดนมาร์ก



น่าจะพอเกี่ยวข้องกับกระทู้นี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 18:53

^


บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 22:35


หลังการปะทะสั้นๆที่ปากอ่าว พวกทหารเกณฑ์บนเรือรบของไทยก็ระส่ำระสาย บางคนเริ่มแสดงอาการกระด้างกระเดื่องเมื่อรู้ว่ากัปตันได้รับคำสั่งให้ติดตามเรือฝรั่งเศสไปอีก  ลูกเรือมงกุฏราชกุมารบอกว่าตนยินดีที่จะรบบนบกแต่ไม่ใช่ในเรืออย่างนี้ นายสมิทบอกในประโยคต่อไปว่าThe commander at the inner fort was fired at the same evening. แปลได้สองอย่าง อย่างแรกคืนนั้นเขาถูกยิง อย่างที่สองคืนนั้นเขาถูกไล่ออกตามที่ปรากฏในเอกสารฉบับครู ที่ครูคงไม่ได้แปลเอง ส่วนผมเชื่อว่าเป็นอย่างแรก เขาอาจคิดว่าตนถูกยิง ซึ่งคงไม่โดน เพราะโดนก็คงไม่มีปัญญามานั่งเขียนรายงานให้นายพลริชลิวสองวันให้หลัง โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องที่ถูกยิงเลย รายงานของนายพลริชลิวเองถึงผู้บัญชาการทหารเรือก็เอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ป้อมผีเสื้อสมุทรด้วยความเข้าอกเข้าใจอันดี


ท่านผู้การเกิตเชนั้น ได้รับความไว้วางใจจากทางสยามมากนะครับ ในหนังสือที่พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงเรียกผู้การเกิตเชว่า ครูกิจแช เลย

ที่สำคัญในหนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ ก็ลงประวัติท่านไว้ ตอนที่ท่านไปรักษาตัวที่สิงคโปร์หลังจากที่ได้ลาออกจากตำแหน่งในสยามแล้ว ท่านทำงานในสยามนานถึง ๕๐ ปี ก่อนจะไปเสียชีวิตที่มาเลเซียครับ ศพก็ฝังไว้ที่นั่น

ในกรณีป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น มีเรื่องน่าสนใจอยู่กรณีหนึ่งก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้น

เพราะในรายงานของ ผู้การเรือโคเมตบอกว่าหลุมปืนพัง หลังคาหล่นลงมาทับปืนเสือหมอบพังใช้งานไม่ได้

แต่ในรายงานของ เจ้าคุณชลยุทธ์บอกว่าโดนแค่เขื่อนกันดินพังแค่นั้นเอง ซึ่งก็ตรงกับรายงานของกัปตันคริตมาสที่ได้ไปเยี่ยมป้อมผีเสื้อสมุทร และก็ต้องกับของผู้การเกิตเช่ เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ก็คงเป็นอย่างที่ ท่านพลเรือตรีแชน บอกไว้ว่า รายงานของฝรั่งโดยเฉพาะฝรั่งเศสอย่าไปเชื่อให้มากนัก
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 22:44

ถ้าสภาพพร้อมรบของป้อมพระจุลเป็นดังว่า ป้อมผีเสื้อสมุทรคงย่ำแย่ไปกว่า พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรแล้วจึงทรงสิ้นหวัง ถึงกับทรงมีรับสั่งให้ถอน “ทหารเก่า”ไปอยู่ป้อมพระจุลและฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่นั่น แต่ทหารเก่าก็ไม่ทราบว่าเก่าแค่ไหน ถ้าปฏิบัติการได้แค่นั้น ทหารที่ป้อมผีเสื่อสมุทรคงจะทำได้แค่เช็ดปืนอย่างเดียว


ผมว่าทหารที่ป้อมผีเสื้อสมุทรก็ไม่ได้แย่หรอกครับ เพราะไม่งั้นก็คงไม่สามารถยิงปืนโต้ตอบกับเรือโคเมตได้  สถานการณ์ในตอนนั้นฝรั่งเศสเอง ก็ไม่กล้าบุกตอนกลางวันเหมือนกัน สังเกตได้จาก มาตอนใกล้ ๆ จะค่ำ กว่าจะมาถึงป้อมพระจุลก็เป็นเวลาฝนเริ่มตกพอดี พอหลุดป้อมพระจุลมาได้ มาถึงป้อมผีเสื้อสมุทรก็ ๑ ทุ่มกว่าแล้ว มืดจนมองเห็นลาง ๆ เรือแองกองสตองก็แล่นเลยไปเพราะไม่เคยมาถิ่นนี้มาก่อน แต่เรือโคเมต จำเสาป้อมผีเสื้อสมุทรได้ จึงลองยิงสุ่ม ๆ มาดู  ทางป้อมผีเสื้อสมุทรจึงยิงตอบกลับไปบ้าง แล้ว เรือทั้งสองลำ ก็เร่งฝีจักรเต็มพิกัดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องต่อสู้กับทางป้อมปืนสยามนาน

ถ้าประมวลจากรูปการณ์แล้ว ฝรั่งเศสก็หวั่น ๆ อยู่เหมือนกัน ไม่กล้าอัดกับป้อมปืนสยามตรง ๆ อย่างที่ผมได้เรียนไป นี่ยังไม่รวมถึงว่า ถ้าไม่มีคำสั่งให้ถอนทหารที่บางจาก ที่มีปืนกรุปอยู่กลับพระนคร ไม่งั้นก็คงได้รบกันอีกจุดแน่ ๆ  ถ้าจำไม่ผิด ผบ.เรือพาลลาสของอังกฤษ พอได้ไปดูสภาพป้อมปืนของสยามแล้ว ถึงกับเขียนรายงานมาแบบงง ๆ ว่า ทำไมฝรั่งเศสทำความเสียหายให้กับป้อมปืนของสยามได้น้อยกว่าที่กัปตันอังกฤษคาดไว้เสียอีก

แล้วก็ดู ๆ เหมือน ฝรั่งเศสเองก็กล้า ๆ กลัว ๆ  สยามเองก็กั๊ก ๆ ไม่อยากจะมีใครเป็นฝ่ายเริ่มทำสงครามก่อนด้วยเช่นกันครับ

จะว่าไปผมว่า ฝรั่งเศสได้เก๋าเกมทางการเมืองกว่าสยามครับ 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 23:18

เอ้า…ตอบ
 
ท่อนที่ผมเขียนนี้คุณไม่ยักอ้างถึง ไปอ้างถึงท่อนที่ไม่เกี่ยวกันโน่น

เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำแล่นผ่านป้อมไปในท่ามกลางความมืด  ผู้บังคับการป้อมมองเห็นไฟตะเกียงเดินเรือเคลื่อนที่มา แต่ระบุไม่ได้ว่าเป็นเรือของใคร อาจเป็นเรือสยามก็ได้จึงไม่กล้ายิง พอเรือแองกงสตังค์ผ่านไปแล้ว ผบ.เรือโคแมตเห็นเสาธงของป้อมก็จำได้เพราะเคยเข้ามาเมืองไทยก่อนหน้านี้ เลยระดมยิงมาที่ป้อมหลายตับ ทหารในป้อมบาดเจ็บเล็กน้อย๑๒คน ทหารไทยยิงปืนเล็กโต้ตอบไปบ้างซึ่งก็ไม่ทราบว่าได้ผลอย่างไร

ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
ในกรณีป้อมผีเสื้อสมุทรนั้น มีเรื่องน่าสนใจอยู่กรณีหนึ่งก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้น
เพราะในรายงานของ ผู้การเรือโคเมตบอกว่าหลุมปืนพัง หลังคาหล่นลงมาทับปืนเสือหมอบพังใช้งานไม่ได้

แต่ในรายงานของ เจ้าคุณชลยุทธ์บอกว่าโดนแค่เขื่อนกันดินพังแค่นั้นเอง ซึ่งก็ตรงกับรายงานของกัปตันคริตมาสที่ได้ไปเยี่ยมป้อมผีเสื้อสมุทร และก็ต้องกับของผู้การเกิตเช่ เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ก็คงเป็นอย่างที่ ท่านพลเรือตรีแชน บอกไว้ว่า รายงานของฝรั่งโดยเฉพาะฝรั่งเศสอย่าไปเชื่อให้มากนัก

ส่วนใหญ่ในความเห็นของผมข้างบน เอามาจากรายงานของฝรั่งก็จริง แต่เป็นฝรั่งที่ชื่อว่าผู้การเกิตเช หรือครูกิจแช ผู้บังคับการป้อมนั่นแหละครับ ส่วนข้อมูลนั้น ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิ์

สำหรับความคิดเห็นของคุณในล้อมกรอบ ผมไม่ได้นำเสนอ เพราะเห็นว่าดินพังหลังคายุบ มันไม่มีน้ำหนักควรค่าแก่ความสนใจ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 23:26

ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
ผมว่าทหารที่ป้อมผีเสื้อสมุทรก็ไม่ได้แย่หรอกครับ เพราะไม่งั้นก็คงไม่สามารถยิงปืนโต้ตอบกับเรือโคเมตได้
 
ยิงปืนเล็ก กับยิงปืนใหญ่มันผิดกัน ป้อมผีเสื้อสมุทรไม่ได้ยิงปืนใหญ่สักโป้ง แต่ยิงปืนเล็กไปเปาะๆแปะๆ จะยากอะไร จิ๊กโก๋ก็ยิงได้ นายป้อมเองยังบอกว่าคงไม่ได้ผล เพราะยิงเข้าไปในความมืด

ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
สถานการณ์ในตอนนั้นฝรั่งเศสเอง ก็ไม่กล้าบุกตอนกลางวันเหมือนกัน สังเกตได้จาก มาตอนใกล้ ๆ จะค่ำ กว่าจะมาถึงป้อมพระจุลก็เป็นเวลาฝนเริ่มตกพอดี พอหลุดป้อมพระจุลมาได้ มาถึงป้อมผีเสื้อสมุทรก็ ๑ ทุ่มกว่าแล้ว มืดจนมองเห็นลาง ๆ เรือแองกองสตองก็แล่นเลยไปเพราะไม่เคยมาถิ่นนี้มาก่อน แต่เรือโคเมต จำเสาป้อมผีเสื้อสมุทรได้ จึงลองยิงสุ่ม ๆ มาดู  ทางป้อมผีเสื้อสมุทรจึงยิงตอบกลับไปบ้าง แล้ว เรือทั้งสองลำ ก็เร่งฝีจักรเต็มพิกัดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องต่อสู้กับทางป้อมปืนสยามนาน
ฝรั่งเศสกะเวลาถูกต้องตรงเป๊ะที่จะมาถึงปากอ่าวตรงกับช่วงน้ำขึ้นสูงสุดพอดี เขาตั้งใจจะนำเรือมาจอดแค่ปากน้ำ แต่พอถูกยิง เขาก็ลุยลึกเลย ไปจอดอีกทีก็หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ ไม่เกี่ยวกับกล้าบุกตอนกลางวันหรือไม่กล้า

ข้อความโดย: samun007
อ้างถึง
ถ้าประมวลจากรูปการณ์แล้ว ฝรั่งเศสก็หวั่น ๆ อยู่เหมือนกัน ไม่กล้าอัดกับป้อมปืนสยามตรง ๆ อย่างที่ผมได้เรียนไป นี่ยังไม่รวมถึงว่า ถ้าไม่มีคำสั่งให้ถอนทหารที่บางจาก ที่มีปืนกรุปอยู่กลับพระนคร ไม่งั้นก็คงได้รบกันอีกจุดแน่ ๆ
ถึงอยู่ก็มองไม่เห็น มันมืด
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 13 ก.ค. 13, 00:14

ยิงปืนเล็ก กับยิงปืนใหญ่มันผิดกัน ป้อมผีเสื้อสมุทรไม่ได้ยิงปืนใหญ่สักโป้ง แต่ยิงปืนเล็กไปเปาะๆแปะๆ จะยากอะไร จิ๊กโก๋ก็ยิงได้ นายป้อมเองยังบอกว่าคงไม่ได้ผล เพราะยิงเข้าไปในความมืด

เอ ...ผมว่าป้อมผีเสื้อสมุทรก็ยิงปืนอาร์มสตรองตอบกลับไปนะครับ ในรายงานของผู้การเกิตเช่ก็เขียนไว้ว่าสั่งให้ยิงตอบกลับไป ไม่ได้บอกว่ายิงปืนอะไร

ในรายงานของผู้การเรืออังกฤษลำที่ชื่อพาลลาส ก็บอกว่าเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืน เวลาประมาณ ๑๙.๑๔ น. ยิงตอบโต้กัน ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับที่เรือโคเมตแล่นไปถึงป้อมผีเสื้อสมุทรพอดี ถ้าเป็นปืนเล็ก ไม่น่าจะเห็นได้ในระยะไกลขนาดนั้นกระมังครับ

ก็น่าแปลกใจอยู่เหมือนกันครับ ยิ่งมาแปลกใจขึ้นไปอีกในรายงานของ ผู้กองคริตมาส ที่บอกว่า ผู้การเกิตเช่ ได้รับคำสั่งช้าเลยไม่ได้ยิงปืนใหญ่

สรุป คนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวกันไปคนละทางเลย

ฝรั่งเศสกะเวลาถูกต้องตรงเป๊ะที่จะมาถึงปากอ่าวตรงกับช่วงน้ำขึ้นสูงสุดพอดี เขาตั้งใจจะนำเรือมาจอดแค่ปากน้ำ แต่พอถูกยิง เขาก็ลุยลึกเลย ไปจอดอีกทีก็หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพ ไม่เกี่ยวกับกล้าบุกตอนกลางวันหรือไม่กล้า

ผมว่าฝรั่งเศสไม่ได้แค่หยุดเรือกระมังครับ เพราะแล่นด้วยความเร็วมาเอื่อย ๆ แบบแทงกั๊ก ในบันทึกส่วนตัวของเจ้าคุณชลยุทธ์ ก็บอกว่า เรือแองกองสตองผ่านหน้าเรือพาลลาสที่ท่านเจ้าคุณอยู่ด้วยซ้ำไป และตอนแรกทำท่าจะหยุด เจ้าคุณดีใจนึกว่าไม่มีปัญหา แต่กลายเป็นว่าจากที่จะหยุดเลยลุยต่อซะงั้น

ส่วนเรื่องที่ฝรั่งเศสกะเวลาได้นั้น เพราะมีคนนำร่องที่เป็นคนอังกฤษมานำร่องให้ครับ ใน นสพ. บางกอกไทม์ บอกไว้ชัดเจน 

ที่ผมตั้งสมมติฐานว่าไม่กล้าบุกตอนกลางวัน เพราะว่า ถ้าบุกตอนเห็นตัวชัด ๆ ฝรั่งเศสก็คงจะเจ็บหนักกว่านี้ เพราะระยะกระสุนจากป้อมผีเสื้อสมุทร ก็คงระดมยิงช่วยป้อมพระจุลได้ครับ ซึ่งฝรั่งเศสก็คงจะรู้จุดนี้ดี จึงทำให้ ป้อมผีเสื้อสมุทรยิงตอบโต้ได้น้อยมาก ๆ เพราะกลัวว่าจะยิงโดนเรือพวกเดียวกันนั่นเอง

ถึงอยู่ก็มองไม่เห็น มันมืด

ก็มีสิทธิเป็นไปได้ครับ แต่ก็น่าจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์เรือบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าในวันนั้นเป็นวันแรมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่วันแรมแล้ว ก็น่าจะพอมองเห็นตะคุ่ม ๆ บ้างครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 13 ก.ค. 13, 07:21

พอละนะครับคุณสมุน007 เรื่องของคุณ ^ ถ้ามั่นใจว่ามีหลักฐานก็เปิดเป็นกระทู้ขึ้นมาใหม่เลย คุณเพ็ญรออยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 20 คำสั่ง