เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 79974 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 07:28

อนึ่ง ผมมิได้ใช้หนังสือฝ่ายไทยฉบับเดียวในการเขียนกระทู้ของผม ผมอ่านเอกสารฝรั่งตาเปียกตาแฉะ ทั้งเอกสารชั้นต้นที่ฝรั่งเศสและเดนมาร์กเขียนรายงานไว้ รวมทั้งที่ฝรั่งชาติเป็นกลางเช่นอังกฤษวิจารณ์การรบ มาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดมุมมองครบทุกด้าน น่าจะเป็นที่เข้าใจได้นะครับว่าเรื่องบางเรื่อง เอกสารฝ่ายไทยมิได้จดบันทึกไว้  ผมพยายามเอาทุกเรื่องที่ผ่านสายตามาปะติดปะต่อ เพื่อให้กระชับสั้น มีสาระ และไม่ซ้ำซาก
 
ดังเช่นที่ผมเขียนสั้นๆว่า ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ คิดว่าพอ แต่เมื่อคุณสงสัย ผมก็เพิ่มอีกว่า ทหารมะรีนถูกจัดให้ประจำการในเรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือพระที่นั่งลำอื่นๆ(อุบลบุรพทิศ) เตรียมพร้อมรอคำสั่งอยู่ในแม่น้ำหน้าพระบรมมหาราชวังครับ ส่วนสมรภูมิอยู่ที่ปากน้ำโน่น
 
คุณก็ยังไม่เชื่อ

เพื่อให้ผู้อ่านมั่นใจว่า ผมมิได้มักง่ายในการเขียนเรื่องให้สาธารณะอ่าน ไม่ได้ป้ายๆมาจากเน็ทมาแปะไว้โดยไม่มีที่มาที่ไป ประเด็นดังกล่าวฝรั่งเขียนไว้ดังนี้

The only technically-trained foreigner in Siamese employ at the time was a Danish naval
officer, Captain Christmas. He had been placed in charge of the Coronation, the worst of the Siamese vessels, if one were worse than the others, and his share in the engagement was therefore necessarily small, consisting chiefly in escaping the
ram of the Inconstant.
The gunners of the Makut Rajakumar, into whose heads Captain Guldberg, of the Danish merchant service, had succeeded in hammering some knowledge of how to load and fire the guns above mentioned, had been taken off a short time before and placed in the royal yachts.


ชาวต่างชาติที่สยามจ้างไว้ในเวลานั้นมีเพียงคนเดียวที่จบศึกษามาโดยตรงด้านวิชาการทหารเรือ คือเรือเอกคริต์สมาสแห่งราชนาวีเดนมาร์ก เขาถูกบรรจุเป็นผู้บังคับการเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์  เรือซึ่ง หากจะมีลำใดลำหนึ่งที่ด้อยสมรรถภาพกว่ากันในบรรดาเรือรบของสยามแล้ว ก็เรือลำนี้แหละที่ห่วยที่สุด การมีส่วนร่วมของเขาในเหตุการณ์รบจึงจำเป็นต้องมีบทบาทน้อยไปนิด เพราะต้องหนักไปในทางเอาเรือหนีให้รอดจากการพุ่งเข้าชนของเรือแองกองสตัง
ส่วนพลปืนของเรือมกุฏราชกุมาร ซึ่งกัปตันกูลด์แบร์กจากกองเรือสินค้าเดนมาร์กสามารถฝึกหนักวิธีการบรรจุกระสุน แล้วทำการยิงปืนใหญ่ที่กล่าวมาแล้วออกไปได้จนสำเร็จ ก็ถูกย้ายไปประจำเรือพระที่นั่งก่อนหน้าการรบนิดเดียว

พอก่อนนะครับ
ถือว่าเป็นการฉายหนังตัวอย่างก็แล้วกัน เดี๋ยวฉากบู๊จะจืดหมด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 08:25

แต่คุณสมุน๐๐๗ก็มีส่วนถูกอยู่บ้างที่เขียนว่า
อ้างถึง
ถ้าจะพูดตรง ๆ ก็คือ ตลอด ๙ ปีเต็ม ทางสยาม แทบจะไม่มีใครใส่ใจในเรื่องป้อมพระจุลฯ เท่าไรครับ ยกเว้นในหลวง ร.๕ พระองค์เดียวเท่านั้น การก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ ก็ต้องใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ล้วน ๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ ทั้งปืนอาร์มสตรอง ทุ่นระเบิดเรือ กระสุนปืนใหญ่ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่นเครื่องกรองน้ำ ฯลฯ เป็นต้น

อันที่จริงเพราะการที่ฝรั่งเศสหาเรื่องกับสยามในลาวเรื่องแนวแบ่งเขตแดนญวนหนักข้อขึ้นทุกที ทำให้พระองค์ทรงร้อนพระทัยในความจำเป็นที่กรุงเทพจะต้องมีแนวต้านทานให้ทันการ หากศัตรูจะใช้เรือรบจู่โจมเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อเห็นว่างบประมาณแผ่นดินไม่เพียงพอ ก็ทรงใช้เงินจากพระคลังข้างที่และเงินส่วนพระองค์ ให้นายพลริชลิวเร่งรัดการก่อสร้างและเลือกซื้อปืนใหญ่ที่เหมาะสมจะนำมาติดตั้ง ซึ่งลงเอยที่ปืนอาร์มสตรองเสือหมอบอันโคตรล้ำยุคแต่แพงมหาศาล และโรงงานผลิตทุ่นระเบิดใต้น้ำขึ้นในประเทศ
แน่นอน๕%สำหรับค่าคอมจัดซื้อของแพงก็ย่อมเป็นเม็ดเงินที่สูงตามไปด้วย แต่สมัยนั้นใครจะไปกล้าวิจารณ์อาวุธที่ทรงอานุภาพของโลกว่าจะคุ้มค่าหรือไม่คุ้มสำหรับสยามกระไรได้

เอ้า เผลอฉายหนังตัวอย่างไปอีกตอนนึงแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 09:00

กลับมาเข้าเรื่องตามลำดับที่เกิดขึ้นก่อนครับ

เรื่องนี้ก็สำคัญในแผนป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำเจ้าพระยา

คงจำได้ว่าริชลิวกับกัปตันลอฟตัสได้รับสัมประทานก่อสร้างทางรถไฟสายปากน้ำมาตั้งแต่ปี ๒๔๒๙ แต่ปรากฏว่าเวลาล่วงเลยไปนานตามเงื่อนไขสัญญาว่าจะต้องสร้างให้เสร็จภายใน๑๐ปี หุ้นส่วนทั้งคู่ก็ยังไม่สามารถหาเงินหาทองเพียงพอเริ่มได้(?)   จึงบากหน้าไปขอพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเล็งเห็นว่าทางรถไฟสายนี้จะเป็นประโยชน์ทางการทหารในสถานการณ์ขณะนั้น มากกว่าจะมองเฉพาะประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เพราะสามารถใช้ลำเลียงทหารและยุทธภัณฑ์สนับสนุนป้อมปืนใหญ่ที่กำลังเร่งก่อสร้างขึ้น การเดินทางโดยรถไฟใช้เวลาเพียง๒๐นาทีจากเมืองหลวงก็ถึงปากน้ำ ในขณะที่เรือกลไฟต้องใช้เวลากว่า๒ชั่วโมง  จึงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อหุ้นกู้จำนวนครึ่งหนึ่งของหุ้นทั้งหมด งานก่อสร้างรถไฟสายนี้จึงเริ่มต้นขึ้นได้และเสร็จทันเวลาพอดิบพอดี
 
เสร็จแล้วพระราชดำเนินไปกระทำพิธีเปิดการเดินรถในวันที่๑๑เมษายน๒๔๓๖ สามเดือนก่อนที่จะเกิดนาทีประวัติศาสตร์ ร.ศ.๑๑๒


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 09:22

วันเสาร์ที่ ๑๓ กรกฎาคมนี้ ตรงกับวันที่เรือปืนของฝรั่งเศส๒ลำ แล่นตามเรือนำร่องฝ่าด่านเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อสมัยรัชกาลที่๕ แล้วเกิดการยิงปะทะกับทหารเรือสยาม เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. ๑๑๒”  ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๓๖ ครบ๑๒๐ปีในพ.ศ.นี้พอดี กองทัพเรือจะจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ณ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จุดเกิดเหตุ

รายละเอียดตามโปสเตอร์และลิงค์ที่ผมนำมาแสดงไว้ ผู้สนใจขอเชิญไปร่วมงานได้

ขอเรียนให้ทราบว่า ผมตั้งอกตั้งใจเขียนกระทู้นี้ขึ้น เพื่อมีส่วนร่วมเล็กๆในการรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย หวังว่าท่านจะได้รับรู้เรื่องราวใหม่ๆบางเรื่องที่แตกต่างไปจากเรื่องราวที่เคยได้อ่านได้ยินมา


http://pantip.com/topic/30699586


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 09:52

รวมทั้งที่ฝรั่งชาติเป็นกลางเช่นอังกฤษวิจารณ์การรบ มาเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดมุมมองครบทุกด้าน

The Peoples and Politics of the Far East โดย Henry Norman นักสำรวจชาวอังกฤษ

http://archive.org/stream/peoplesandpolit04normgoog#page/n1/mode/1up



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 10:02

นี่ก็เล่มนึงละครับที่อ่าน ^ และจะขอยืมบางตอนมา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 10:04

ก่อนจะถึงวันดังกล่าว สยามกับฝรั่งเศสเริ่มมีปัญหาเขตแดนแถวหัวพันทั้งห้าทั้งหกและแคว้นพวนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๓๐ ขณะที่ยังตกลงกันไม่ได้ก็เกิดกรณีย์พระยอดเมืองขวางขึ้น ทหารไทยและฝรั่งเศสยิงปะทะกันบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย ฝรั่งเศสกล่าวหาว่าสยามเป็นฝ่ายผิด ไม่รักษาคำมั่นตามข้อตกลงเรื่องการรักษาสถานะเดิม คือให้ต่างฝ่ายต่างตั้งกำลังทหารอยู่ในที่มั่นเดิมก่อนพิพาท จึงเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งสยามไม่ยอมรับ
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕ รัฐสภาฝรั่งเศสก็มีมติให้รัฐบาลใช้กำลังกับสยามเพื่อยุติปัญหา รัฐบาลฝรั่งเศสก็รับลูกไปดำเนินการ คือให้กองเรือฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่ในทะเลจีนทั้งหมดมารวมกำลังกันเตรียมพร้อมที่ไซ่ง่อน พร้อมกับส่งกำลังทหารต่างด้าว๑กองพันจากแอลจีเรียให้รีบเดินทางไปสมทบ รวมทั้งแต่งตั้งราชฑูตพิเศษมาเจรจากับรัฐบาลสยาม เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และพิจารณาตกลงในปัญหาการพิพาทที่ยังค้างอยู่

พร้อมกันนั้น ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และวันที่๒๑มีนาคม ได้ส่งเรือปืนลูแตง(Lutin)เข้ามาจอดถาวรหน้าสถานทูตที่สี่พระยา อ้างว่าเพื่อคุ้มครองคนในบังคับของตัว ถือเป็นการเริ่มต้นของกรณีพิพาทร.ศ.๑๑๒ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในพ.ศ.๒๔๓๖

ข่าวเรื่องกองเรือรบของฝรั่งเศสระดมพลที่ไซ่ง่อน และคำขู่ของฝรั่งเศสในระหว่างการเจรจาทางการทูต ทำให้ฝ่ายสยามต้องเพิ่มความระมัดระวัง วันที่๘ มิถุนายน ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้พระยาชลยุทธโยธินทร์(ริชลิว) ทำการปิดปากแม่น้ำโดยใช้เรือเก่าๆไปจมขวางร่องน้ำไว้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 10:06

กำลังทหารพื้นเมืองของฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองสตึงเตรงกับเมืองโขงฝั่งลาว โดยไร้การต่อสู้เพราะทหารไทยถอนตัวออกไปก่อน และในอ่าวไทยได้ส่งทหารเรือลงยึดเกาะเสม็ด(นอก)ไว้เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน สองวันต่อมานายพลริชลิวได้ส่งเรือรบสยามไปถึงและพยายามส่งทหารหมู่หนึ่งขึ้นเกาะ แต่ถูกฝรั่งเศสระดมยิงอย่างหนักจนต้องถอยกลับ  วันที่๑๗และ๑๘มิถุนายน ฝรั่งเศสเข้ายึดเกาะรงกับเกาะรงสามเหลี่ยมหน้าอ่าวกำปงโสมของไทยในเขมร ซึ่งเป็นเกาะสำคัญสำหรับเป็นที่จอดเรือดีที่สุดไว้ได้อีกตามลำดับ และทูตฝรั่งเศสขู่รัฐบาลสยามว่า หากจำเป็น รัฐบาลฝรั่งเศสจะส่งกองเรือรบจากไซ่ง่อนเข้ามากรุงเทพ
  
แต่รัฐบาลสยามยังเดินหน้าในความตั้งใจจะป้องกันตัวด้วยการปิดปากน้ำเจ้าพระยาและจะต่อสู้ที่ปากน้ำอย่างสุดกำลัง โดยมีนายพลริชลิวและนายทหารเดนมาร์กทั้งหลายเป็นกำลังสำคัญ ทั้งทหารบกและทหารเรือ ในช่วงนี้เองที่มีข่าวว่า โคเปนเฮเกนมีคำสั่งลับให้ทหารเดนมาร์กในกองทัพไทยวางตัวเป็นกลาง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครนำพา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 10:29

พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต ดังนี้

                ๑)  เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
                ๒)  กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ
                ๓)  เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงคลัง
                ๔)  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
                ๕)  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
                ๖)  เจ้าพระยาพลเทพ(พุ่ม  ศรีไชยยันต์) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
                ๗)  นายพลเรือโท พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
                ๘)  นายพลเอกพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสง-ชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ

ในหนังสือของนายนอร์แมนที่คุณเพ็ญเอามาลิงค์ให้ทุกท่านอ่านเป็นการบ้านนั้น บอกว่าทรงมีคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ซึ่งในนั้นกรมพระสวัสดิ์เป็นฝ่ายบู๊ และกรมหลวงเทวะวงศ์เป็นฝ่ายบุ๋น ซึ่งหลังจากโต้วาทีกันหลายเพลา พระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกที่จะเอาทางฝ่ายบุ๋น น่าจะเป็นเหตุให้ผู้มีรายพระนามเป็นกรรมการข้างต้นจึงไม่มีกรมพระสวัสดิ์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 11:00

๒๒มีนาคม กัปตันโยนส์(Captain Jone)ราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพ ได้ส่งโทรเลขไปรายงานการปรากฏตัวของเรือลูแตงต่อลอนดอน วันที่๒๐เมษายน อังกฤษจึงได้ส่งเรือรบหลวงสวิฟท์(Swift) เข้ามาจอดอยู่หน้าสถานทูตอังกฤษบ้าง คนกรุงเทพจึงชักจะตื่นเต้นกันมากขึ้น

ขณะนั้นสยามมีสนธิสัญญากับนานาประเทศว่า ทุกชาติมีสิทธิ์ที่จะนำเรือรบเข้ามาในกรุงเทพได้คราวละ๑ลำเมื่อมีเหตุที่จำเป็น หากมากกว่านั้นให้จอดเทียบท่าที่ปากน้ำ
แต่ ถึงแม้จะมีข้อตกลงดังกล่าวอยู่ การปรากฏตัวของเรือรบชาติมหาอำนาจครั้งนี้ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา และเป็นลางบอกเหตุร้ายที่จะมาถึง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 17:01

หลังจากเรือปืนลูแตงเข้ามาแล้ว ม.ปาวี ราชฑูตฝรั่งเศสในกรุงเทพได้ยื่นหนังสือถึงกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ให้รัฐบาลสยามยอมรับเส้นเขตแดนใหม่ที่ขีดขึ้น โดยผนวกดินแดนลาวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงทั้งหมดไปเป็นของฝรั่งเศสโดยอ้างว่าเคยเป็นเมืองขึ้นของญวน เมื่อฝรั่งเศสเข้าครอบครองญวนแล้ว ดินแดนลาวทั้งหมดก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วย แต่สยามไม่เห็นด้วยและแจ้งว่า ควรจะเชิญสหรัฐอเมริกาให้เป็นอนุญาโตตุลาการวินิจฉัย  แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมรับและยืนกรานตามนั้น การเจรจาจึงเริ่มยืดเยื้อ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 17:59

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเป็นกังวลเรื่องความพร้อมของป้อมปืนใหญ่และแนวป้องกันที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยามาก เห็นได้จากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปตรวจและทรงเร่งรัดการก่อสร้างด้วยพระองค์เองถึง๔ครั้งภายใน๓เดือน โดยครั้งแรกในวันที่๑๐เมษายน๒๔๓๕ แม้ขณะนั้นยังไม่มีอะไรแล้วเสร็จ กองทัพเรือก็ถือว่าป้อมพระจุลจอมเกล้าได้ทรงเปิดแล้ว ณ วันที่เสด็จเหยียบเป็นวันแรกนั้น
และในวันรุ่งขึ้น ก็ได้เสด็จไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายปากน้ำด้วย

ครั้งที่๒ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีในวันที่๑๐พฤษภาคม ตรงไปยังป้อมพระจุลจอมเกล้า ครั้งนี้มีการทดลองยิงปืนใหญ่ถวายให้ทอดพระเนตรนัดหนึ่ง เพราะปืนพร้อมที่จะทำได้แค่นั้น แต่เสียงกัมปนาทของปืนใหญ่กระบอกยักษ์ที่คนไทยไม่เคยได้เห็นได้ยินมาก่อน และภาพกระสุนกระทบทะเลน้ำพุ่งเป็นลำตาลอยู่ลิบๆนอกปากอ่าว ก็ทำให้คนทั้งปวงพากันไชโยโห่ร้องอย่างฮึกเหิมราวกับชนะศึกสงครามแล้ว ลืมความขัดสนไม่พรักพร้อมทั้งหลายทั้งปวงไปชั่วคราว
 
อย่างไรก็ดี จากสภาพการณ์ที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็น ครั้งที่๓ จึงเสด็จไปประทับแรมบนเรือพระที่นั่งมหาจักรีถึง๕วัน นอกจากทรงตรวจงานที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าแล้ว ทรงทอดพระเนตรการก่อสร้างแนวป้องกันที่สร้างขวางลำน้ำไว้ ทุกวันตั้งแต่๒๖พฤษภาคมจนถึง๑มิถุนายน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ

ครั้งสุดท้าย วันที่๔กรกฎาคม พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับโดยรถไฟขบวนพิเศษสายปากน้ำ แล้วเสด็จลงสถานีระหว่างทางเพื่อทอดพระเนตรป้อมเสือซ่อนเล็บ หลังจากนั้นเสด็จประทับเรือองครักษ์ไปยังป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งขณะนั้นปืนใหญ่ทุกกระบอกได้ทำการติดตั้งเสร็จแล้ว ทหารขึ้นประจำป้อมทดลองยิงถวายทอดพระเนตร ข่าวเป็นทางการว่าทหารทำได้พรักพร้อมทรงพอพระทัย แต่ข่าวหลังไมค์บอกว่าทรงผิดหวังมาก

เสร็จจากที่นั่นแล้วเสด็จไปทอดพระเนตรการทดลองระเบิดตอร์ปิโดขนาดเล็กลูกหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นผลดี คือระเบิดขึ้น แล้วไปทรงการบรรจุตอร์ปิโด ก่อนเสด็จขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 18:14

ในหนังสือ The Peoples and Politics of the Far East ตามลิงค์ของคุณเพ็ญชมพู ผู้เขียนเรื่องนี้คือ Henry Norman ซึ่งเป็นทั้งนักการเมืองและนักเขียนชาวอังกฤษที่บังเอิญมาเยือนเมืองไทยในช่วงเกิดเหตุการณ์ร.ศ.๑๑๒พอดี

นายนอร์แมนไม่ใช่นักเขียนกิ๊กก๊อก(ต่อมาได้เป็นท่านเซอร์) เขาจึงมีเส้นสายพอสมควรที่จะได้เข้าพบบุคคลสำคัญของฝ่ายไทย และคงได้คุยกับชาวต่างชาติที่เกี่ยวข้องหลายต่อหลายคนอยู่ ดังนั้น เรื่องที่เขียนขึ้นตามที่เขาได้ยินได้ฟังมากับหูตนเอง และไม่มีเหตุผลว่าเขาจะเกลียดสยามเป็นพิเศษ จึงถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่เราควรต้องรับฟัง แม้จะเป็นความจริงอันน่าขมขื่นสำหรับคนไทยก็ตาม
 
เรื่องที่เกิดขึ้นในวันนั้นเขาเขียนไว้ว่า
 
First, with regard to the famous forts. The principal one had, I think, six 6-inch guns on disappearing carriages. Only two men in Siam had even elementary notions of the working of these weapons Commodore de Richelieu, and Major Von Hoick, another Danish officer. The former was in command of the fort of which I have spoken. When the critical moment came he ran as quickly as possible from gun to gun and fired them one after the other. Needless to say nothing was hit. When one of these guns had been fired before the King a few days previous, out of six detonators five failed to ignite. This incident, however, had not shaken the confidence of the Siamese in the efficacy of their defences.

แรกทีเดียว เกี่ยวกับป้อมปืนสองป้อมอันโด่งดัง(ป้อมพระจุลจอมเกล้า และป้อมผีเสื้อสมุทร)  ป้อมหลักนั้น ติดตั้งปืนใหญ่ ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นขนาด๖นิ้ว บนแท่นปืนที่ปรับระดับลงเพื่อซ่อนตัวได้ มีแค่ชายสองคนเท่านั้นในสยามที่เข้าใจในพื้นฐานของปืนแบบนี้ หนึ่งคือนายพลเรือริชลิว อีกคนหนึ่งคือ ผู้พันฟอนโฮค์ย ชาวเดนมาร์กเหมือนกัน คนหลังนี่เป็นผู้บังคับการของป้อมดังกล่าว เมื่อนาทีวิกฤตมาถึง เขาได้วิ่งอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ จากปืนกระบอกหนึ่งไปยังอีกกระบอกหนึ่ง เพื่อจะยิงมันทีละกระบอก ไม่ต้องพูดก็ได้ว่ากระสุนไม่ได้เข้าเป้าเลย หลังจากนั้นเขาก็นั่งเรือข้ามฟากมาอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ แล้วมุ่งสู่กรุงเทพด้วยรถไฟขบวนพิเศษ
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรการยิงของปืนนี้เมื่อสองสามวันก่อนเกิดเหตุ จากจำนวนทั้งหมด๖กระบอก(ความจริงมี ๗) มีกระบอกเดียวที่ยิงถวายได้ แต่สิ่งที่เกินขึ้นก็ไม่เขย่าความรู้สึกมั่นใจของคนไทยต่อประสิทธิภาพในการต่อสู้ป้องกันของตน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 20:03

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปร่วมงาน รำลึกถึงเหตุการณ์“การรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา ร.ศ. ๑๑๒”  ที่กองทัพเรือจัดขึ้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ก่อนงานจะเริ่ม ผมได้เดินไปดูที่หลุมปืนคนเดียว และโชคดี ได้เจอนายทหารเรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตัวจริงในการบูรณะปืนที่เป็นวัตถุโบราณไปแล้วให้กลับมาคืนสภาพจนยิงได้อีกครั้งหนึ่ง  เขามีความรู้อัดที่แน่นและยินดีที่จะถ่ายทอดให้ฟัง เมื่อผมคุยกับเขารู้เรื่องจึงต่อความกันสนุก ผมถึงได้ทราบว่าปืนนี้ระบบมันสลับซับซ้อนมากมาย โดยเฉพาะการยกตัวขึ้นยิงที่ใช้ระบบไฮโดรลิก สมัยนั้นเป็นนวัตกรรมใหม่ น้ำมันไฮโดรลิกยังไม่ได้คิดค้นขึ้นแต่ใช้น้ำมันละหุ่งเป็นตัวขับดัน ตอนนั้นเราคิดว่าน้ำมันละหุ่งหีบได้ในเมืองไทย ก็ดี ไม่ต้องง้อของนอก ที่ไหนได้ น้ำมันละหุ่งถ้าไม่บริสุทธิ์จริง มีตะกอนแขวนลอยที่ตาแทบจะมองไม่เห็นนี๊ดเดียว ก็จะทำให้ตัวระบบอุดตัน ยกปืนไม่ขึ้นจนกว่าจะถอดออกล้าง ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ทุกวันนี้ทร.ยังไม่กล้าแสดงการยกปืนให้ประชาชนชมเพราะกลัวว่ามันจะฉีกหน้าเอา

ได้ฟังแล้วก็นึกถึงเรื่องที่นายนอร์แมนเขียนไว้
และเรื่องที่เคยอ่านพบว่า คุณสอ เสถบุตร ได้ใช้น้ำมันละหุ่งกับระบบโฮโครลิกรถซีตรองของตน ครั้งสงครามโลกเลิกใหม่ๆ หาซื้อน้ำมันไฮโดรลิกไม่ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 10 ก.ค. 13, 20:07

ครั้งหนึ่ง(๒๗มกราคม๒๕๔๕) สมเด็จพระเทพรัตน์ฯทรงมีรับสั่งให้ทหารเรือเตรียมปืนไว้ ท่านจะเสด็จมาทอดพระเนตรการยิง ระบุกระบอกไว้เลยว่าเอาเบอร์สาม(คือตัวที่ยิงได้ในวันนั้น) ทหารเรือต้องทำพิธีเซ่นสังเวยกันยกใหญ่ ซ้อมยกปืนก็โอเคดี แต่ซ้อมมากก็ไม่ได้กลัวระบบไฮโดรลิกจะเกิดตันขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว
วันนั้น เมื่อท่านเสด็จมาถึง พอได้ยินรับสั่งว่า“ไหนยิงให้ดูซิ” จ่าปืนถึงกับมือสั่น นายพลนายพันต่างกลั้นลมหายใจนิ่ง โชคดีที่วันนั้นผ่านไปด้วยดีไม่มีติดขัด สิ้นปีนายเลื่อนยศให้จ่าปืนสองขั้นเป็นครั้งแรกในชีวิต


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.118 วินาที กับ 20 คำสั่ง