เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 80278 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 16:17

ผมจะไปชี้ใคร มีแต่เขาชี้ผม

นี่ก็โดนอสุรผลัดชี้เข้าไปแล้ว
อ้างถึง
มีเรื่องราวเกี่ยวกับตึกหลวงพระราชทานให้พำนักในกรุงสยามไหมครับ

ขณะนี้ไม่มีคร้าบ ผมไม่ได้รู้เรื่องของนายพลริชลิวทุกเรื่อง บางเรื่องก็รอให้ผู้ชำนาญเฉพาะทางเช่นคุณนั่นแหละ มาต่อให้

อ้างถึง
ขอฝากคำถามอีกข้อหนึ่ง อาจจะตอบเมื่อข้อมูลในกระทู้ครบถ้วนแล้วก็ได้
เป็นคำถามของรองศาสตราจารย์มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งไว้ในชื่อวิทยานิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
“พระยาชลยุทธโยธินทร์ : ผลประโยชน์หรือความจงรักภักดี”

นี่ไง ผมจึงอยากให้ตีให้แตกเสียก่อน อะไรคือ Commission  Corruption และ Concession ใช้อะไรตัดสิน

ค่อยๆคิดอีกสักพักก็ได้ครับ



 
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 19:36

มีแค่นี้ว่า ตึกหลวงพระราชทานให้เป็นพำนักของท่าน อยู่บริเวณนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง แถวโรงโม่เหนือตลาดท่าเตียน บนเนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน ๖๘ ตารางวา

แผนที่ซ้ายมือ คือ บ้านเรือนตามแนวถนนมหาราช และขวามือ รายละเอียดของตึกหลวง (แผนที่ พ.ศ ๒๔๔๘)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 20:27

^
ขอบคุณครับ
แก๊งวานรน้อยใหญ่คงไปกินไอติมกัน น่าจะไม่มีใครเข้ามาอีกแล้ว  ผมคงต้องดำเนินเรื่องต่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 20:29

ก่อนอื่นต้องให้คำจำกัดความศัพท์เหล่านี้ ตามที่ผมเองเรียบเรียงขึ้นเสียก่อน

Commission
คนสมัยนี้รู้จักในนามว่า “ค่าคอม” เป็นค่าตอบแทนในการทำประโยชน์ให้คนที่จ่ายให้ ซึ่งอาจจะเป็นนายจ้างที่ต้องการจูงใจให้งานของตนเกิดความสำเร็จเกินเป้าหมาย หรือผู้ขายของ ที่จ่ายให้ตัวแทนผู้ซื้อเมื่อเลือกซื้อของๆตนก็ได้ คล้ายค่านายหน้า หรือสินน้ำใจ แบบแบ่งปันผลประโยชน์กัน
เงินนี้อาจเป็นเงินขาวบริสุทธิ์ก็ได้ หากนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเพื่อตอบแทนผลงานที่ลูกจ้างกระทำเป็นผลสำเร็จ แต่ถ้าผู้จ่ายไม่ใช่นายจ้าง แต่คือผู้ขายที่(จำต้อง)จัดเงินจำนวนหนึ่งไว้ให้แก่ผู้จัดซื้อ ซึ่งถ้าผู้ซื้อเป็นเจ้าของเงินตัวจริงลงมาต่อรองราคาเอง เปอร์เซนต์ที่ตั้งไว้นี้ก็จะลดให้ผู้ซื้อไป
ค่าคอมกรณีย์หลังจึงถือว่าออกสีเทาๆ

Corruption
เมื่อก่อนเรียกฉ้อราษฎร์บังหลวง เดี๋ยวนั้เรียกทับศัพท์ว่าคอร์รัปชั่น ก็ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เป็นเงินดำโสณทุจริตโดยแท้ เกิดจากผู้มีอำนาจหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างเอกชน ใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว เบียดบัง ฉ้อฉล โกงกิน เอาเงินของราชการหรือองค์กรที่ตนสังกัดมาเป็นของตน หรือเรียกร้อง ข่มขู่ เอากับคู่ค้า เพื่อที่ตนจะได้ซื้อสินค้านั้น การกระทำเยี่ยงนี้ถือว่าผิดกฏหมายอาญา ถ้าถูกจับได้มีโทษถึงจำคุก

Concession
แปลตามศัพท์ว่าสัมปทาน แปลอีกทีนึงว่า สิทธิที่รัฐให้ในการผูกขาดการทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยมีกฏหมายคุ้มครองไม่ให้ผู้อื่นมาทำแข่งขัน ดังนั้น ใครได้สัมปทานอะไรไปก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับผลกำไรตอบแทนอย่างสบายๆไปตลอดอายุของสัมปทาน หรือสบายไปชั่วอายุของตนและลูกหลาน
การที่จะได้มาซึ่งสัมปทานจากผู้ที่มีอำนาจหน้าที่  ส่วนใหญ่แล้วจึงยากที่ขาวสะอาดโปร่งใส แม้จะผ่านวิธีการประมูลก็ตาม  ดังนั้นเงินกำไรจากธุรกิจสัมปทานที่เอาเข้ากระเป๋าจึงออกสีเทาๆ จะเทาอ่อนหรือแก่ก็ขึ้นอยู่ว่า กำไรนั้นมาจากการขูดเลือดเนื้อประชาชนที่จำต้องซื้อสินค้าหรือบริการของเขาหรือไม่อย่างไร

โอกาสที่ผู้ที่กินค่าคอมอยู่เป็นปกติ จะไหลลึกลงไปสู่ระดับคอร์รัปชั่นได้ง่าย สมมติว่า รู้อยู่ค่าคอมที่บริษัทบวกไว้๕เปอร์เซนต์ แต่ไปเรียกเขามาบอกว่า ให้ไปตั้งราคาใหม่ บวกมาให้ข้า๒๕เปอร์เซนต์ เป็นต้น ส่วนในเรื่องของสัมปทานนั้น เขารวยกันเป็นกอบเป็นกำก็จากการขออนุญาตขึ้นราคาสูงกว่าที่ระบุในสัญญา หรือการขอลดส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ ที่ลงเอยด้วยการจ่ายใต้โต๊ะให้ผู้ใหญ่ด้วยเงินมหาศาล
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 20:32

Flemming Winther Nielsen เขียนเกี่ยวกับนายพลริชลิวว่า
 
How had it been possible for him to accumulate such wealth during his years in Siam? There are many and ambiguous answers.
ถามว่ามันเป็นไปได้อย่างไรกันที่เขาสร้างความมั่งคั่งขนาดนั้นขึ้นมาในช่วงที่อยู่ในสยาม  มีคำตอบที่คลุมเครืออยู่หลายประการ
On a general level they can be named: Commissions, ‘Corruption’ and Concessions.
โดยพื้นฐานใหญ่แล้วเรียกมันว่า คอมมิชชั่น คอร์รัปชั่น และธุรกิจผูกขาด


ในสมัยรัชกาลที่๕ สังคมเล็กๆที่ใครกระดิกตัวก็รู้ทั่วกันนั้น ปกครองด้วยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระเจ้าอยู่หัวถือว่าทรงเป็น“นายจ้าง”ของริชลิว ทรงยอมรับวิธีการค้าขายและค่านายหน้าที่ฝรั่งจ่ายกัน แต่ตัว“ฉ้อราษฎร์บังหลวง”เป็นคนละเรื่อง คนดังคนหนึ่งเพิ่งโดนประหารชีวิตไปก่อนหน้าด้วยข้อหานี้ ริชลิวก็คงรู้  ส่วนสัมปทาน(ซึ่งจะเล่าต่อไป)ก็พระราชทานด้วยพระองค์เอง อย่างไรก็ดี ริชลิวและนีลส์คงต้องมีจริยธรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้รับได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวด้วย
 
จริยธรรมนั้นน่าจะเป็นตัวที่อยู่ตรงข้ามกับความโลภ คือความไม่โลภหรืออโลภะ ทั้งสองคงไม่ได้มูมมามจนเกินพอดีที่จะทรงใช้งานต่อไป จนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีทั้งคู่

แต่..โลภหรือไม่โลภแค่ไหน ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ก็ช่วยไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามจากคนรุ่นหลัง เช่นอาจารย์มลิวัลย์ แตงแก้วฟ้า ที่คุณเพ็ญอ้างถึง ซึ่งผมจะพาไปดูกันต่อ ว่ามีมูลหรือไม่มีมูล
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 21:20

ในส่วนงานหลวงนั้น ทหารมะรีนได้ขยายกำลังขึ้นเป็นกรม โดยมีตัวกัปตันริชลิวเองเป็นผู้บังคับการกรมทหารแกตลิง มีกำลังพล ๔กองปืนกลแกตลิง ๑กองปืนใหญ่ และ ๔กองทหารราบ รับนายทหารเรือชาติเดนมาร์กเข้าประจำอยู่ในกรมนี้หลายคน เช่น ร้อยโท ราสมูเซน (LT. H.Rasmusen) ร้อยโท วาสคัม (LT. Vaskum) ร้อยโท วันสโตรม (LT. C. Wanstroem) นับว่ากรมทหารมะรีน “KROMSANG MARINE FORCE” หน่วยนี้คือรากเง่าของกรมทหารนาวิกโยธินในปัจจุบัน

แม้จะมีชื่อเสียงโดดเด่นมากและถูกเรียกไปปฏิบัติภารกิจพิเศษอยู่เนืองๆ แต่ที่ไปรบจริงๆเห็นจะมีแค่ในพ.ศ.๒๔๒๗ ที่ทางราชการมีคำสั่งให้ทหารมะรีน นายร้อยตรี ๑นาย พลทหาร ๒๔นาย พร้อมด้วยปืนกลแกตลิง ๒กระบอก ร่วมไปกับกองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)ที่ขึ้นไปปราบฮ่อทางภาคเหนือเท่านั้น  งานนี้ เรือเอกหลุยส์ ดู ปรีชีส์ เดอ ริชลิว น้องชายของกัปตันริชลิวได้ร่วมเดินทางไปด้วยในเรื่องเกี่ยวกับแผนที่

ส่วนการรบครั้งสำคัญเมื่อคราวฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารมะรีนไม่มีโอกาสได้ปะทะข้าศึกแต่อย่างใด เพราะประจำการอยู่ในเรือที่มิได้เข้าสมรภูมิ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 21:25

การเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญในปีพ.ศ.๒๔๒๘  ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทรงยกเลิกวังหน้าและรวมกิจการทหารของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน แล้วจัดกำลังทหารเรือใหม่แบ่งออกเป็น ๒ กรม คือ

กรมเรือพระที่นั่ง มีนายพลเรือโท พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นผู้บังคับการ และ พระองค์เจ้าขจร จรัสวงศ์ เป็นรองผู้บังคับการ ทหารที่มาประจำกรมนี้ ได้โอนมาจาก กองทหารแกตลิงกัน และกองทหารมะรีนในกรมแสงทหารเรือ รวมทั้งทหารเรือวังหน้าที่ชำนาญการทะเลอยู่แล้วด้วย เรือในสังกัดกรมนี้มีอยู่ด้วยกัน ๙ลำ คือ เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรืออรรคราชวรเดช เรือนฤเบนทร์บุตรี และเรือมณีเมขลา

กรมอรสุมพล มีพระยาประภากรวงศ์ (ชาย บุนนาค)เป็นผู้บังคับบัญชา ปกครองบังคับบัญชาบรรดาเรือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือรบ มีกรมอาสามอญ และกรมอาสาจามเป็นกำลังพล เรือในสังกัดกรมอรสุมพลมี ๘ ลำ ด้วยกัน คือ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือยงยศอโยชฌิยา เรือพิทยัมรณยุทธ เรือสยามมกุฎไชยสิทธิ์ เรือสยามมูปรัสดัมภ์ เรือหาญหักศัตรู เรือต่อสู้ไพรินทร์ และ เรืออะพอลโล

นอกจากเรือรบแล้ว กรมพระราชวังบวรยังทรงเคยกำกับดูแลป้อมปืนที่จัดสร้างไว้ป้องกันพระนครแต่เดิมในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย ครั้นยุบวังหน้าแล้ว โปรดเกล้าฯให้โอนป้อมเหล่านี้มาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมแสง ให้กัปตันริชลิวเป็นผู้ปรับปรุงให้ทันสมัย นำมาซึ่งอภิมหาโปรเจคสำหรับป้องกันการรุกล้ำของอริราชศัตรูผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา

เนื่องจากต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาล โครงการนี้จึงดำเนินการอย่างไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 21:34

นอกจากนีลส์แล้วกัปตันริชลิวยังสนิทสนมกับชาวอังกฤษที่เป็นนายทหารเรือที่มารับราชการในสยามด้วยกันชื่อกัปตันลอฟตัส นายทหารคนนี้เป็นคนเก่งคนหนึ่ง สามารถประดิษฐ์นาฬิกาแดดแบบใหม่ซึ่งสามารถอ่านเวลาท้องถิ่นได้แม่นยำ คลาดเคลื่อนไม่เกิน๔นาที   คงเห็นว่ากัปตันริชลิวเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ชวนลงขันทำนาฬิกาแดดที่ว่า แล้วถวายเป็นของขวัญแด่พระเจ้าอยู่หัวที่พระราชวังบางปะอิน ซึ่งยังตั้งอยู่หน้าโบสถ์วัดนิเวศน์ธรรมประวัติในทุกวันนี้ แล้วหาโอกาสเพ็ดทูล ขอสัมปทานทำรถไฟสายปากน้ำตามที่คบคิดกันไว้ ซึ่งก็มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้ เพราะทรงคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมเชื่อมโยงกรุงเทพกับท่าเรือใหญ่ที่ปากน้ำทางบก ซึ่งจะรวดเร็วกว่าเดินทางด้วยเรือมาก

สัญญาการสร้างรถไฟสายปากน้ำ กระทำเมื่อวันที่๑๓ กันยายน ๒๔๒๙ ผู้ลงพระนามฝ่ายสยามได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ กับ แอลเฟรด ยอนลอบเตอด เยฟอานีเอช สัปเยกอังกฤษ และ แอนดริยาดูเปลลิสเดริชลู ชาวเดนมาร์ก จากหัวลำโพงไปสมุทรปราการ เป็นระยะทาง ๒๑ กิโลเมตร อายุสัมปทาน๕๐ปี ระยะเวลาการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน๑๐ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 22:50

ครั้นได้สัมปทานรถไฟมาแล้ว สองปีแรกเป็นงานในขั้นเคลียร์พื้นที่และออกแบบก่อสร้าง

โครงการทำท่าจะเดินหน้าไปได้ดี และแล้วในอังกฤษก็เกิดมีรถรางขึ้นเป็นประเทศแรกของโลก กัปตันล็อปตัสกลับไปเยี่ยมบ้านเห็นเข้าจึงคิดว่าน่าจะนำมาทำในกรุงเทพบ้าง เพราะถนนนิวโรดที่คนไทยเรียกถนนเจริญกรุงนั้น มีผู้คนร้านค้าไปอยู่กันหนาแน่น แค่ที่นั่นที่เดียวก็คุ้มแล้ว  จึงชวนกัปตันริชลิวไปนั่งนับจำนวนคนสัญจรไปมาโดยนำเม็ดมะขามไปถุงใหญ่ หาทำเลเหมาะๆนั่งเฝ้าดู คนเดินมาก็ใส่เม็ดมะขามลงจานขวา เดินไปก็ใส่ลงจานซ้าย คนนึงเม็ดนึง พักเดียวก็เอามานับ คำนวณได้ว่าทั้งวันจะมีผู้สัญจรไปมากี่คน จะเก็บค่าโดยสารเท่าไหร่ยังไง  เสร็จสรรพก็ทำข้อเสนอขอพระราชทานสัมปทานการเดินรถทั้งหมด๗สาย สายแรกจากศาลหลักเมืองถึงถนนตก จะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน๕ปี อีก๖สายแล้วเสร็จพร้อมกันใน๗ปี อายุสัมปทาน๕๐ปี ก็ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้อีก ตกลงทำสัญญากับรัฐบาลในปีพ.ศ.๒๔๓๐ หลังจากนั้นปีเดียว รถรางสายแรกก็เปิดดำเนินการได้ ในวันที่๒๒กันยายน๒๔๓๑ คนไทยเรียกว่า “รถแตรม”

รถแตรมยุคแรกนี้เป็นรถวิ่งบนรางเหล็ก ขับเคลื่อนด้วยพลังสองแรงม้าตัวเป็นๆ เก็บค่าโดยสารสองช่วงๆละ๖อัฐ นั่งทั้งสายปาเข้าไป๖อัฐ ขณะที่ข้าวแกงข้างถนนจานละ๑อัฐเท่านั้น ส่วนชั้นหนึ่งมี๔ที่นั่งเท่านั้น เก็บแพงเป็นเท่าตัว นั่งยาวก็๑๒อัฐ ความแตกต่างอยู่ที่มีเบาะผ้าปูรองนั่งให้ และไม่ต้องเหงื่อโซกเบียดเสียดยัดเยียด ทรมานกับกลิ่นไร้สุนทรีย์ที่คนข้างเคียงกระจายออกมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 22:55

ข่าวว่ากิจการรถแตรมในปีแรกๆไปได้ดีพอสมควร บางช่วงคนแย่งกันขึ้นเหมือนเขาให้นั่งฟรีๆ

เมื่อมีของใหม่มาคนก็เห่อก็แย่งกันขึ้น ทั้งห้อยทั้งโหนกันจนม้าแบกน้ำหนักไม่ไหว รถแตรมก็วิ่งมั่งหยุดมั่ง พอจะขึ้นสะพานก็จอดสนิท เพราะม้าเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าน้ำลายฟูมปาก ทำท่าจะขาดใจตายให้รู้แล้วรู้รอดไป น่าเวทนายิ่งนัก
 
ก็อากาศบ้านเรา ยิ่งตอนเที่ยงๆมันร้อนตับจะแตกทั้งคนทั้งสัตว์ แม้จะมีสถานีสับเปลี่ยนม้าหลายจุด ก็ยิ่งเสียเวลา บางครั้งเดินไปจะถึงเร็วกว่า เป็นอย่างนี้ไม่นานผู้โดยสารก็เริ่มจะน้อยลงๆ สองกัปตันเห็นท่าจะไม่ดี ในปี๒๔๓๕ ก็รีบออกตัวขายกิจการให้คนอังกฤษได้ พวกนั้นเรียกหุ้นกันใหม่ตั้งเป็นบริษัทชื่อบางกอกแตรมเวย์ สั่งม้าลากรถจากยุโรปมาสู้ใหม่

สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ จนเปลี่ยนจากแรงม้ามาเป็นแรงไฟฟ้านั่นแหละ รถรางจึงไปรอด มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ


บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 23:15

ติดตามอยู่ตลอด   
อ่านอย่างเดียว  no comment   555
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 09 ก.ค. 13, 06:40

ในช่วงของทศวรรษนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือชื่อเจ้าชีวิตว่า

"ประเทศไทยและเดนมาร์กติดต่อกันมามากในการค้าขาย บริษัทของเดนมาร์กชื่ออิสต์เอเชียติก ได้รับสัมปทานให้ทำไม้ทางเมืองเหนือ ทั้งทำการค้าขายอย่างอื่นๆ อีกมาก แม้แต่ในสมัยนั้นเจ้านายเดนมาร์กก็เข้าทำการค้าขายมาก่อนแล้วคือเจ้าชายวาลเดอมาร์ พระโอรสองค์สุดท้ายของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙ ฉะนั้นจึงเป็นพระอนุชาของควีนอะเล็กซานดราแห่งอังกฤษ และเอมเปรสมาเรียแห่งรุสเซีย เคยเสด็จมาเมืองไทยบ่อยๆ เกี่ยวกับการค้าขาย จนได้ทรงเป็นพระสหายสนิทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

แม้จะไม่ได้ระบุ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าชายวาลเดอมาร์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอิสต์เอเชียติก

พระบรมฉายาลักษณ์นี้ ทรงฉายเมื่อทรงพบกันในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปอีกนับสิบปีให้หลัง เจ้าชายวาลเดอมาร์ทรงมีพระราชฐานันดรศักดิ์เป็นมงกุฏราชกุมารแห่งเดนมาร์กแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 09 ก.ค. 13, 06:56

ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้โดยอ้างอิง  Cavling, Henrik. Osten. Copenhagen, 1901.ว่า
 
เจ้าชายวัลเดอมาร์ไม่เหมือนกับนักธุรกิจเดนมาร์กทั่วๆ ไปที่เดินทางเข้าออกเมืองบางกอกเป็นว่าเล่นในยุคนั้น แต่พระองค์ทรงเป็นถึงผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งมีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อย่างกว้างขวางอยู่ในสยามประเทศ พงศาวดารเดนมาร์กเล่มหนึ่งให้รายละเอียดผลประโยชน์อันมหาศาลของอีสต์เอเชียติกว่า ได้เข้ามารับสัมปทานใหญ่ๆ หลายโครงการ เช่น การเดินเรือ การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การโยธาสร้างสะพาน ถนน ขุดคูคลอง การไฟฟ้า การธนาคาร รถรางประจำทางใช้ม้าลาก และกิจการรถรางไฟฟ้า และ ฯลฯ ชาวสยามหันมาคบค้ากับชาวเดนมาร์กจนสนิทใจ เพราะสามารถประสานผลประโยชน์ร่วมกันทั้งการเมืองและทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 09 ก.ค. 13, 07:21

ครั้นได้สัมปทานรถไฟมาแล้ว สองปีแรกเป็นงานในขั้นเคลียร์พื้นที่และออกแบบก่อสร้าง

โครงการทำท่าจะเดินหน้าไปได้ดี และแล้วในอังกฤษก็เกิดมีรถรางขึ้นเป็นประเทศแรกของโลก กัปตันล็อปตัสกลับไปเยี่ยมบ้านเห็นเข้าจึงคิดว่าน่าจะนำมาทำในกรุงเทพบ้าง เพราะถนนนิวโรดที่คนไทยเรียกถนนเจริญกรุงนั้น มีผู้คนร้านค้าไปอยู่กันหนาแน่น แค่ที่นั่นที่เดียวก็คุ้มแล้ว  จึงชวนกัปตันริชลิวไปนั่งนับจำนวนคนสัญจรไปมาโดยนำเม็ดมะขามไปถุงใหญ่ หาทำเลเหมาะๆนั่งเฝ้าดู คนเดินมาก็ใส่เม็ดมะขามลงจานขวา เดินไปก็ใส่ลงจานซ้าย คนนึงเม็ดนึง พักเดียวก็เอามานับ คำนวณได้ว่าทั้งวันจะมีผู้สัญจรไปมากี่คน จะเก็บค่าโดยสารเท่าไหร่ยังไง  เสร็จสรรพก็ทำข้อเสนอขอพระราชทานสัมปทานการเดินรถทั้งหมด๗สาย สายแรกจากศาลหลักเมืองถึงถนนตก จะสร้างให้แล้วเสร็จภายใน๕ปี อีก๖สายแล้วเสร็จพร้อมกันใน๗ปี อายุสัมปทาน๕๐ปี ก็ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้อีก ตกลงทำสัญญากับรัฐบาลในปีพ.ศ.๒๔๓๐ หลังจากนั้นปีเดียว รถรางสายแรกก็เปิดดำเนินการได้ ในวันที่๒๒กันยายน๒๔๓๑ คนไทยเรียกว่า “รถแตรม”

รถแตรมยุคแรกนี้เป็นรถวิ่งบนรางเหล็ก ขับเคลื่อนด้วยพลังสองแรงม้าตัวเป็นๆ เก็บค่าโดยสารสองช่วงๆละ๖อัฐ นั่งทั้งสายปาเข้าไป๖อัฐ ขณะที่ข้าวแกงข้างถนนจานละ๑อัฐเท่านั้น ส่วนชั้นหนึ่งมี๔ที่นั่งเท่านั้น เก็บแพงเป็นเท่าตัว นั่งยาวก็๑๒อัฐ ความแตกต่างอยู่ที่มีเบาะผ้าปูรองนั่งให้ และไม่ต้องเหงื่อโซกเบียดเสียดยัดเยียด ทรมานกับกลิ่นไร้สุนทรีย์ที่คนข้างเคียงกระจายออกมา

รถรางระบบใช้รถม้าในยุคเริ่มแรก ประสบปัญหาการขาดทุนอย่างหนัก กล่าวคือ ราคาแพงและไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเลย เนื่องจากชาวสยามเป็นชาวน้ำ ๑ ไปไหนก็สัญจรทางเรือได้ และค่าโดยสารทางบก คือ ทางรถเจ๊กลาก ถูกกว่าและสะดวกกว่า

ส่วนม้านั้นก็ใช้ม้าผอมแห้งมาลาก วิ่งไปต้องมีจุดเปลี่ยนม้าให้น้ำ ให้หญ้าตามระยะ คนเบื่อรอ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 09 ก.ค. 13, 07:26

ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้โดยอ้างอิง  Cavling, Henrik. Osten. Copenhagen, 1901.ว่า
 
เจ้าชายวัลเดอมาร์ไม่เหมือนกับนักธุรกิจเดนมาร์กทั่วๆ ไปที่เดินทางเข้าออกเมืองบางกอกเป็นว่าเล่นในยุคนั้น แต่พระองค์ทรงเป็นถึงผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งมีการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ อย่างกว้างขวางอยู่ในสยามประเทศ พงศาวดารเดนมาร์กเล่มหนึ่งให้รายละเอียดผลประโยชน์อันมหาศาลของอีสต์เอเชียติกว่า ได้เข้ามารับสัมปทานใหญ่ๆ หลายโครงการ เช่น การเดินเรือ การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ การโยธาสร้างสะพาน ถนน ขุดคูคลอง การไฟฟ้า การธนาคาร รถรางประจำทางใช้ม้าลาก และกิจการรถรางไฟฟ้า และ ฯลฯ ชาวสยามหันมาคบค้ากับชาวเดนมาร์กจนสนิทใจ เพราะสามารถประสานผลประโยชน์ร่วมกันทั้งการเมืองและทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี


ใช่ครับ บริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก จำกัด (มหาชน) ได้มีการทำสัมปทานกิจการค้าไม้สักอย่างมโหฬาร ส่งไม้สักออกไปโคเปนเฮเกน สร้างเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ด้วยไม้สัก อย่างอลังการ คราวก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หรือ เกิดสงครามพนมเปญแตก ราวคศ. 1970 บริษัทฯ ขายสัมปทนาน ทิ้งกิจการขายที่ดินไปเกือบหมด

ความสัมพันธ์ระหว่างระดับราชวงศ์มีมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อราว ๓๐ ปีก่อน ยังเคยไปร่วมโบกธงรับเสด็จควีนจากเดนมาร์ก มาตึกอีสต์เอเชียติ๊กด้วยความตื่นเต้น ได้ยินว่าอาคารปูนที่สร้างสำนักงานใหญ่ (เดิมเป็นเรือนไม้) ใช้ไม้สักเป็นท่อนขัดขวางเป็นแพหนุนรับน้ำหนักตึกไว้ไม่ทรุดจนทุกวันนี้ เป็นบุญของเสี่ยน้ำเมาแล้วที่ซึ้อตึกนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 19 คำสั่ง