เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 80341 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 300  เมื่อ 15 ส.ค. 13, 16:47

       พระยาวิสูตรสาครดิฐ (จอห์น บุช) ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบในการอับปางของเรือ เวสาตรีไว้ในรายงาน ซึ่งผู้เขียนขอคัดลอกมาเป็นภาษาอังกฤษตามต้นฉบับดังนี้

        "CONSCIENTIOUSLY I FEEL THAT I CANNOT ATTACH ANY BLAME TO MYSELF FOR THE LOSS OF THE 'VESATRI,'…etc."
     
       กัปตันบุชอาจเห็นว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หรือไม่ก็โทษคนนำร่อง   จึงไม่รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง ในการที่เรือพระที่นั่งอับปางลงไปทั้งลำ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 301  เมื่อ 18 ส.ค. 13, 08:45

ผมพลิกพจนานุกรมทั้งภาษาไทย บาลี สันสกฤตกี่เล่มๆก็ไม่มีคำแปลของ “เวสาตรี” ไม่พบแม้แต่ร่องรอยของความหมายที่อาจจะแผลงมาจากรากศัพท์อื่น คิดว่าจนปัญญาแล้ว ก็หันกลับมาใช้อินทรเนตรสอดส่องหาจากคำว่า “Vesatri” บ้าง อดทนเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ เหมือนคนงมของในน้ำขุ่น ควานหาไปๆสุดท้ายก็เจออะไรติดมือขึ้นมาจนได้

อยู่ใน e-book บันทึกส่วนพระองค์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต วิคเตอร์ และ เจ้าชายยอร์จ แห่งเวลส์ ในการเดินทางเยือนตะวันออกโดยเรือหลวง“แบคแชนต์”ของราชนาวีอังกฤษครับ

THE CRUISE OF H.M.S. "BACCHANTE.' 1879—1882.THE PRIVATE JOURNALS, LETTERS, AND NOTE-BOOKS OF PRINCE ALBERT VICTOR AND PRINCE GEORGE  OF WALES


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 302  เมื่อ 18 ส.ค. 13, 08:53

หนังสือเล่มเบ้อเริ่ม แต่มีกล่าวถึงสยามอยู่สองสามหน้า  ระหว่างเสด็จประทับอยู่ในสิงคโปร์ อาณานิคมของจักรภพอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศเสด็จจากกรุงเทพโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีมาเยี่ยมคำนับ เมื่อวันที่๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๕ (นับแบบปัจจุบัน นับแบบก่อนจะยังไม่เปลี่ยนศักราช)  
ความสำคัญทั้งย่อหน้ามีดังนี้

Then back to Government House by 2.15 P.M. Shifted into uniform and off to the Bacchante to receive Prince Devawongsa, who, with Captain Richelieu, a Danish naval officer in the Siamese service, came on board at 3.30 P.M. We showed him all over the ship : he examined the guns and torpedoes and went down into the hold, the flats, engine-room and stokehole, where he was much pleased with a drink of condensed water which the chief engineer administered.
Afterwards we visited him on board the king's steam yacht, the Vesatri (" Angel of the East"), a pretty little vessel built at Southampton. She was beautifully clean throughout. His own cabin was fitted up in English style, only with a peacock-feather punkah, and there were many well-used English books all about, Spence Hardy on Buddhism amongst the rest.


หลังจากนั้นก็กลับมาที่ทำเนียบรัฐบาลตอนบ่ายสองโมงสิบห้า เปลี่ยนเป็นแต่งเครื่องแบบทหารแล้วกลับไปยังเรือหลวงแบคแชนต์เพื่อรับเสด็จในกรมเทววงศ์ พร้อมกับกัปตันริชลิว นายทหารเรือเดนมาร์กที่รับราชการสยาม ทรงมาเยี่ยมชมเรือของเราในเวลาบ่ายสามโมงครึ่ง เราได้นำเสด็จทอดพระเนตรตลอดทั้งลำเรือ ท่านทรงสำรวจปืนใหญ่และตอร์ปิโดและเสด็จลงปล่องบันไดสู่ชั้นต่างๆ ยังห้องเครื่องจักรกลและเตาไอน้ำ ทรงโปรดมากเมื่อต้นกลนำน้ำดื่มจากไอน้ำกลั่นมาถวายให้เสวย

หลังจากนั้น เราได้ไปเยี่ยมท่านบ้างบนเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชื่อเวสาตรี("เทพธิดาแห่งตะวันออก") เรือเล็กๆที่สวยงามต่อจากอู่ในเซาท์แธมตัน สอาดเอี่ยมอ่องไปตลอดทั้งลำ ห้องบรรทมของพระองค์ตกแต่งแบบอังกฤษทั้งหมดนอกจากปันการ์(พัดโบกแบบแขวนห้อยจากเพดาน)ที่ทำด้วยขนนกยูงเท่านั้น และยังมีหนังสือตำราภาษาอังกฤษทุกเรื่องทุกราวมากมาย เล่มหนึ่งในนั้นคือพระพุทธศาสนาเขียนโดยนายเสปนซ์ ฮารดี้


ตกลงความหมายของ “เวสาตรี” ที่น่าจะทรงอธิบายโดยกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการเอง ถวายแด่เจ้าชายอังกฤษทั้งสองคือ บูรพาเทวี หรือเทพธิดาแห่งตะวันออก ครับ
ส่วนรากศัพท์ ขอเชิญท่านอาจารย์ทั้งหลายในห้องนี้โปรดให้ความรู้ต่อไป


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 303  เมื่อ 18 ส.ค. 13, 09:36


Afterwards we visited him on board the king's steam yacht, the Vesatri (" Angel of the East"),
หลังจากนั้น เราได้ไปเยี่ยมท่านบ้างบนเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชื่อเวสาตรี(เทพธิดาแห่งตะวันออก)

ตกลงความหมายของ “เวสาตรี” ที่น่าจะทรงอธิบายโดยกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการเอง ถวายแด่เจ้าชายอังกฤษทั้งสองคือ บูรพาเทวี หรือเทพธิดาแห่งตะวันออก ครับ
ส่วนรากศัพท์ ขอเชิญท่านอาจารย์ทั้งหลายในห้องนี้โปรดให้ความรู้ต่อไป

ยอดเยี่ยม   กูรูนวรัตนหาเจอจนได้   ยิ้มกว้างๆ
ส่วนรากศัพท์ ขอสารภาพว่ายังมึนงงนึกไม่ออกว่ามาจากคำว่าอะไร    ได้หลังไมค์ไปเรียนถามผู้เชี่ยวชาญทางบาลีแล้ว แต่ยังไม่ได้คำตอบ
ก็จะส่งคำตอบของท่านนวรัตนให้ท่านผู้นั้นอ่าน  เพื่อจะหารากศัพท์ อธิบายกลับมาค่ะ

คิดถึงสมาชิกเก่าเรือนไทย คุณ Hotacunus ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิรุกติศาสตร์     หายเงียบไปเลย    ป่านนี้ น่าจะกลับประเทศไทยแล้ว
ถ้ายังแวะมาอ่านกระทู้อยู่ก็ขอเชิญเข้าร่วมวงคำนี้ด้วยนะคะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 304  เมื่อ 23 ส.ค. 13, 22:49

ความหมายของชื่อเรือพระที่นั่ง "เวสาตรี"
ข้อความโดย: เทาชมพู
อ้างถึง
คำนี้เหลือความสามารถของดิฉันจะหาคำแปลออกมาได้     จึงได้ติดต่อทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (คือผ่านอาจารย์รุ่นพี่ที่เคารพนับถืออีกท่านหนึ่ง) ไปยังกวีผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลีและไทย   นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย  อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ เพราะท่านเคยเป็นเปรียญ ๙ มาก่อน

อาจารย์ทองย้อยกรุณาส่งคำตอบมาให้  เป็นการสันนิษฐานเชิงวิเคราะห์อย่างเอียดลออ  ให้ความรู้ทางภาษาบาลีอีกด้วย    สมควรที่จะแยกกระทู้มาพิเศษต่างหาก ไม่รวมในกระทู้ริชลิวของเดิม
จึงขอนำลงในกระทู้นี้   และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ในวิทยาทานที่ให้มา ณ ที่นี้ ด้วยค่ะ
นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งแก่เรือนไทย


http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5733.0
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 305  เมื่อ 01 ก.ย. 13, 17:55

เรื่องหลักใน ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยามคงจบอย่างบริบูรณ์ไปแล้ว เหลือเพียงเก็บตกเล็กๆน้อยๆที่ผมไปหาเจอภายหลังที่เขียนไปแล้วบ้าง หรือไม่มีจังหวะจะแทรกเข้าไปบ้าง แต่อยากรวบรวมไว้ให้หมดเผื่อผู้สนใจจริงๆจะนำไปใช้ต่ออะไรได้

ดังนั้น กระทู้เรื่อง ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม จะมีภาคผนวกเป็นเรื่องๆ หรือเป็นรูปๆ สุดแล้วแต่ผมจะหาอะไรมาได้ หรือท่านผู้ใดจะเข้ามาร่วมด้วยก็ยินดีครับ

เมื่อก่อนหน้าปีร.ศ.๑๑๒ สองปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯท่านทรงเริ่มดำเนินวิเทโศบาย เพราะฝรั่งเศสเริ่มคุกคามทางบกในบริเวณชายแดนลาวต่อกับญวนที่ฝรั่งเศสผนวกเป็นเมืองขึ้นไปแล้ว ทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพเสด็จไปยุโรปหลายประเทศ มีอังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก รัสเซีย เป็นต้น เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีและเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน เยี่ยมคำนับประธานาธิบดี เพื่อนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทานผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองที่ทรงรู้จัก โดยเน้นที่เดนมาร์กและรัสเซียเป็นพิเศษ ที่เดนมาร์กนั้น นำโอรสของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ไปเรียนวิชาทหารเรือด้วย

ภารกิจพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือให้นายพลริชลิวโดยเสด็จไปในเที่ยวนี้ด้วย เพื่อไปคุยกับอู่ต่อเรือในอังกฤษเรื่องที่จะแก้ไขแบบเรือพระที่นั่งเวสาตรีให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และให้ดูแลโอรสของพระองค์เจ้าสายที่จะไปเรียนที่เดนมาร์กให้เรียบร้อยในฐานะเจ้าถิ่น

เมื่อเริ่มเดินทางออกจากเกาะสีชัง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่นั่นเพื่อส่งเสด็จ เรือพระที่นั่งอุบลบูรพทิศเจอคลื่นระหว่างทาง และเพราะความชราของเรือด้วย ทำให้การเดินทางช้ากว่ากำหนดจนพลาดเรือเมล์ที่กะไว้ แต่ยังดี เพราะนายพลริชลิวเกิดป่วยอาการหนัก จึงทรงมิได้จ่ายเงินค่ามัดจำตั๋ว เพราะอาจต้องพักรักษาตัวที่สิงคโปร์ยาว

ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลถวายรายงานมาดังนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 306  เมื่อ 01 ก.ย. 13, 17:57

อยากให้ท่านดูน้ำพระทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่ทรงแสดงถึงนายพลริชลิว ส่วนเรื่องศาลเจ้าที่ศาลากลางซึ่งทรงกล่าวถึงนั้น หมายถึงในบริเวณพระราชวัง เมื่อก่อนนายพลริชลิวในฐานะทหารเรือ รับธุระเป็นผู้ถวายเครื่องเซ่นมาตลอด
น่ารักเน๊อะฝรั่งคนนี้ สมกับที่ทรงโปรด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 307  เมื่อ 02 ก.ย. 13, 07:48

เมื่อเสด็จธุระในเรื่องเรือพระที่นั่งแล้ว กรมหมื่นดำรงฯได้ทรงนำพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ที่กำลังศึกษาในประเทศอังกฤษไปราชสำนักเดนมาร์กพร้อมพระองค์ท่าน ตามที่พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระองค์ไปเรียนวิชาการทหารที่เดนมาร์กนั้น เมื่อทรงมาพบปะพูดคุยกับพระองค์เจ้าจิรประวัติแล้ว  ทุกพระองค์เห็นด้วยกับพระราชประสงค์นั้น เมื่อไปถึงเดนมาร์กพระเจ้าคริตสเตียนที่๙ มิได้ประทับอยู่ในเมืองหลวง เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงหลุยส์พระชายาผู้ซึ่งเป็นชาวสวีเดน (Crown Prince Frederick and Princess Louise of Sweden) ทรงทำหน้าที่รับรองพระราชอาคันตุกะแทน ครั้นได้ทราบพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงยินดีที่จะเป็นผู้อภิบาลพระราชโอรสของพระองค์ ในการนี้ นายพลริชลิวมีบทบาทอยู่มากในการประสานสายสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

คงจำกันได้นะครับ มงกุฏราชกุมารพระองค์นี้เมื่อขึ้นเป็นพระเจ้าเฟรเดอริกที่๘แล้ว ครั้งหนึ่งเคยจะทรงโปรดเกล้าฯให้นายพลริชลิวเมื่อกลับไปเดนมาร์กแล้ว เป็นนายกรัฐมนตรีพระราชทานขัดตาทัพอีกด้วย แสดงว่าทรงรู้จักและไว้พระทัยกันมานาน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 308  เมื่อ 02 ก.ย. 13, 08:03

พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช ทรงศึกษาวิชาทหารของเดนมาร์กระหว่างพ.ศ. ๒๔๓๔ - ๒๔๓๗ ภายใต้พระราชานุเคราะห์ เมื่อได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยตรีแห่งกองทัพบกประเทศเดนมาร์กแล้ว ทรงเข้าศึกษาต่อในวิชาทหารปืนใหญ่และฝึกงานภาคสนามอีกสามปี จึงได้เสด็จกลับประเทศไทยในปีพ.ศ. ๒๔๔๐ แล้วเข้ารับราชการในกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ปลัดกองทัพบก เสนาธิการทหารบก และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ตามลำดับ และได้ทรงเป็นจอมพลพระองค์แรกของกองทัพบกสยาม

จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช สิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุได้เพียง๓๗พรรษาเท่านั้น แต่กระนั้น ผลงานของพระองค์ที่ทรงกระทำไว้ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น "พระบิดาแห่งกองทัพบกไทย"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 309  เมื่อ 14 ก.ย. 13, 06:40

ผมไปเจอหนังสืออนุสรณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่พิมพ์แจกเนื่องในโอกาสเกิดอาคารสำนักงานใหญ่สมัยที่ย้ายมาอยู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เก็บอยู่ในบ้าน เอามาปัดฝุ่นเปิดดูสะดุดตาที่ภาพนายพลริชลิว ซึ่งปรากฏอยู่ในหน้าประวัติของธนาคารอันเก่าแก่นี้ด้วย เลยขอมาเติมเต็มให้ภาคผนวกของกระทู้
อ้างถึง
นักประวัติศาสตร์ชาวเดนมาร์กเชื่อว่า การที่กรมหมื่นมหิศรฯ หลังเสด็จกลับจากการศึกษางานแล้ว ทรงแอบตั้งบุคคลัภย์ขึ้นโดยจดทะเบียนเป็นห้องสมุด แต่ดำเนินกิจการคล้ายธนาคารโดยพระเจ้าอยู่หัวทรงรับรู้นั้น เป็นผลพวงมาจากการเริ่มต้นแผนการตั้งธนาคารสยาม-เดนมาร์กในคราวที่แล้ว อย่าว่าแต่คนเดนมาร์กเลย อังกฤษจอมโวยเจ้าเก่าก็เชื่ออย่างนั้น จึงมีหนังสือทักท้วงจากอัครราชทูตปาเจย์(R.S. Paget)ด้วยถ้อยคำแสบๆคันๆไปยังพระยากัลยาณไมตรี(J.I. Westengard) ที่ปรึกษาเชื้อชาติเดนมาร์ก สัญชาติอเมริกันในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวหากรมหมื่นมหิศรฯว่าทรงใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ถ่ายโอนเงินฝากของรัฐบาลสยามที่เปิดบัญชีไว้ในธนาคารของคนอังกฤษไปยังธนาคารสยามที่แอบแฝงอยู่ภายใต้ชื่อลวงว่าเป็นสโมสรนักอ่าน(Book Club) เพราะมีการเปิดบัญชีให้สมาชิกฝากเงินและยืมเงินได้ ซึ่งผิดสากลปฏิบัติและหมื่นเหม่ต่อการผิดกฏหมาย กรมหมื่นมหิศรฯทรงปฏิเสธ
 
บทความเขียนโดยคนเดนมาร์กกล่าวต่อว่า เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแนะนำให้พระองค์ลาออกเพื่อลดแรงกดดัน ซึ่งในที่สุดทรงจำใจทำหนังสือกราบบังคมทูลลาออกเมื่อวันที่๒๔พฤษภาคม๑๙๐๖ โดยอ้างว่าทรงประชวร

โดยข้อเท็จจริง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ทรงประชวรจริง มิอาจจะทรงรับราชการต่อไปได้ หลังการลาออกก็ต้องประทับรักษาพระองค์ที่วัง และสิ้นพระชนม์ในวันที่๑๕เมษายนพ.ศ.๒๔๕๐ หรือค.ศ.๑๙๐๗ ไม่ถึงปีหลังจากที่ทรงลาออก
เป็นที่ยอมรับว่าก่อนการลาออกของพระองค์ กรมหมื่นมหิศรฯได้ทรงปูทางไว้แล้วให้เกิดธนาคารสยามกัมมาจล(The Siam Commercial Bank Ltd)ขึ้นในปี๑๙๐๖  โดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติ และธนาคารนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราแผ่นดินเป็นเครื่องหมายของธนาคารด้วย

พระรูปของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เป็นสิ่งที่หายากในเวป จึงขอเชิญพระรูปที่ปรากฏในหนังสือมาเพิ่มไว้ให้ก่อนเป็นปฐม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 310  เมื่อ 14 ก.ย. 13, 06:46

ทรงถ่ายร่วมกับเจ้านายและข้าราชการ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง และกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีใครดูออกไหม องค์อาวุโสที่ประทับอยู่ตรงกลางนั้น ใช่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพหรือหาไม่

เอาอย่างนี้ดีกว่า ใครเป็นใครกันบ้างในรูปนี้ ช่วยกันเฉลยหน่อยเถิด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 311  เมื่อ 14 ก.ย. 13, 06:51

อ้างถึง
บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เปิดดำเนินการในอาคารที่ทำการของ บุคคลัภย์เดิม ที่ตำบลบ้านหม้อ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมีพระสรรพการหิรัญกิจ เป็นผู้จัดการฝ่ายในประเทศ และนายเอฟ คิเลียน ตัวแทนผู้ถือหุ้นชาวต่างประเทศ สัญชาติเยอรมัน เป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ ในการเปิดดำเนินกิจการธนาคารขึ้นนี้ คณะผู้จัดตั้งได้ขอพระราชทานตราอาร์มแผ่นดิน มาเป็นตราประจำธนาคารมาตั้งแต่ต้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 312  เมื่อ 14 ก.ย. 13, 06:56

อ้างถึง
การที่แบงก์สยามกัมมาจล มีปริมาณธุรกิจสูงขึ้น ทั้งมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงทำให้จำเป็นต้องแสวงหาที่ทำการใหม่ หลังจากซื้อที่ดินย่านตลาดน้อย ติดกับตำบลสำเพ็งย่านธุรกิจที่สำคัญ และสร้างสำนักงานชั่วคราวขึ้น เมื่อได้ย้ายเข้าไปทำงานในสำนักงานชั่วคราวแล้ว จึงลงมือก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่จนแล้วเสร็จ แบงก์สยามกัมมาจล จึงย้ายขึ้นไปทำการในตัวตึกสำนักงานตลาดน้อยในพ.ศ. ๒๔๕๓

ปรากฏรูปนายพลริชลิวในฐานะบุคคลสำคัญของธนาคารตรงนี้ครับ
เป็นภาพ(ตัวแทน)ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นธนาคารต่างประเทศ และกรรมการผู้จัดการแผนกต่างประเทศที่เป็นฝรั่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 313  เมื่อ 14 ก.ย. 13, 07:07

ภาพวันประกอบพิธีเปิดธนาคารสำนักงานตลาดน้อย ผมพยายามเบิ่งตามองว่าที่นั่งเก้าอี้ชั้นผู้ใหญ่น่ะ พระยาชลยุทธโยธินหรือท่านนายพลริชลิวใช่ไหม คงไม่ใช่ เพราะในพ.ศ.๒๔๕๓นี้ท่านอยู่ในโคเปนฮาเกน


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 314  เมื่อ 14 ก.ย. 13, 07:26

ตอบคำถามท่าน Navarat C. เท่าที่ทราบนะครับ
แถวนั่ง ที่ ๓ จากซ้าย สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แถวยืนจากซ้าย  ๑. พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง  วิรยศิริ)  ๒. พระยาสิงหเสนี (สอาด  สิงหเสนี)  ๓. เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิศฐศักดิ์ (เชย  กัลยาณมิตร) 


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22 23 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง