เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 80284 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 19:15

ก่อนหน้ากัปตันริชลิวจะมาถึงสยามสองปี ปรากฏบุคคลที่ต่อมากลายเป็นนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงอุโฆษ แต่ภาพปรากฏต่อสาธารณะน้อยมากจนประหนึ่งเป็นบุรุษลึกลับ ในกรุงเทพ Captain Hans Niels Andersen คนไทยรู้จักในชื่อว่านีลส์ แอนเดอเซน ต่อมาเขาคือผู้ซื้อกิจการโรงแรมโอเรียนเตล แล้วขยายอาณาจักรธุรกิจขึ้นเป็นบริษัทอีสเอเชียติก ซึ่งเป็นบริษัทระดับบลูชิพที่ซื้อขายหุ้นกันในตลาดยุโรปสัญชาติเดนมาร์กที่มีรากแก้วอยู่ในสยาม
ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะลับกล่าวว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่(ผ่านโนมีนี)ของบริษัทนี้ก็คือเจ้าชายวาลเดอมาร์ (Prince Waldemar) พระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙แห่งเดนมาร์ก พระสวามีของเจ้าหญิงมารีแห่งฝรั่งเศส โดยเฉพาะพระเจ้าคริสเตียนที่๙เอง ก็ทรงสนับสนุนธุรกิจของเดนมาร์กในสยามนี้อยู่เบื้องหลังอย่างเข้มแข็ง

แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบริษัทนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของนีลส์กับกัปตันริชลิว ผู้เป็นตัวเชื่อมโคเปนฮาเก้นกับราชสำนักสยาม อย่างแน่นอน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 19:19

นีลส์ถือกำเนิดในครอบครัวชาวเกาะเล็กๆของเดนมาร์กที่ยากจน มีวิชาช่างไม้ทำเรือเลยได้มีโอกาสออกทะเลเดินทางไปรอบโลกในตำแหน่งช่างไม้ประจำเรือ แล้วอย่างไรไม่รู้ได้ ในปีพ.ศ.๒๔๑๖เขาก้าวเท้าลงเรือที่กรุงเทพ แล้วได้งานทำเป็นลูกเรือของ“เรือหลวงทูลกระหม่อม” ซึ่งเป็นเรือสินค้าของในวังที่ให้บริษัทฝรั่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้

หลายปีต่อมา เขาได้รับมอบตำแหน่งนายเรือ“ทูลกระหม่อม” ขนไม้สักเต็มระวางบรรทุกไปขายที่ยุโรป ไม้สักเหล่านี้ บริษัทผู้ดูแลผลประโยชน์ของเรือเป็นเอเยนต์ธนาคารในฮ่องกงแห่งหนึ่งอยู่ด้วย จึงจัดการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ หลังจากนำไม้ลงขายที่ลิเวอร์พูลแล้ว ได้กำไรเกือบเท่าตัว กำไรนี้แบ่งกันสามส่วนตามข้อตกลง คือ เจ้าของได้๑ บริษัทได้๑ กัปตันได้๑

ขากลับ เขาเอากำไรส่วนของตนซื้อถ่านหินลงเรือมากรุงเทพ ซึ่งมีลูกค้าคนสำคัญรอซื้ออยู่แล้วคือนายนาวาโท หลวงชลยุทธโยธินแห่งกองเรือสยาม นีลส์รู้จักนายทหารผู้นี้ดีในชื่อของกัปตันริชลิว และนั่นเป็นการประเดิมธุรกิจที่คนเดนมาร์กคู่นี้ได้เริ่มต้นขึ้นในปี๒๕๒๖ ทั้งที่กระทำโดยเปิดเผยและโดยทางลับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 19:24

ในฐานะปลัดกรมแสง กัปตันริชลิวมีโอกาสได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และข้าวของสำหรับเรือพระที่นั่งเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก โดยกระทำผ่านนีลส์ แอนเดอเซนซึ่งตั้งบริษัท‘Oriental Provision Store’ ขึ้นมารับงาน แน่นอนทั้งคู่ได้ผลประโยชน์งดงามทั้งค่านายหน้าและส่วนกำไร เอกสารของเดนมาร์กฉบับหนึ่งเปิดเผยว่า เงินได้ส่วนหนึ่งของกัปตันริชลิวนี้ได้แบ่งให้กับพระองค์เจ้าสายเพื่อความสะดวกในการตรวจรับของด้วย นอกจากนั้นแล้ว การที่พระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงสร้างพระราชวังบางปะอิน ในฐานะกัปตันเรือพระที่นั่ง กัปตันริชลิวจึงมีโอกาสได้เฝ้าใกล้ชิดและพระองค์ก็ถือว่าเป็นพระสหายด้วย เขาจึงมีโอกาสชี้ช่องให้นีลส์ได้จัดหาเครื่องใช้เครื่องประดับต่างๆสำหรับตกแต่งพระตำหนักต่างๆมาขายให้แก่ราชสำนัก ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

แต่พระเจ้าอยู่หัวเองก็ดูเหมือนจะทรงไว้พระทัยชายคู่นี้มาก คงจะเป็นเพราะมีรสนิยมในการเลือกของมากราบบังคมทูลนำเสนอ ไม่ใช่แพงเว่อร์แต่คุณภาพไม่สมราคา คราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินทางไกลและกัปตันริชลิวมีหน้าที่ต้องตามเสด็จนานๆ นายห้างนีลส์ก็จะเข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อในกรมแสงแทน ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  คำถามของเขาคือ จริยธรรมตัวไหนที่ใช้เป็นตัวแยก Commissions  Corruption  และ Concessions

ในเรือนไทยนี้ ใครตีความหมายเก่งๆ ลองช่วยกันแยกแยะหน่อย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 19:27

รูปข้างบนนี้ ^ ถ่ายในเดนมาร์กเมื่อทั้งสองพบกัน หลังจากนายพลริชลิวกราบถวายบังคมลากลับไปใช้ชีวิตเศรษฐีที่บ้านเกิดแล้ว
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 19:58

ก่อนหน้ากัปตันริชลิวจะมาถึงสยามสองปี ปรากฏบุคคลที่ต่อมากลายเป็นนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงอุโฆษ แต่ภาพปรากฏต่อสาธารณะน้อยมากจนประหนึ่งเป็นบุรุษลึกลับ ในกรุงเทพ Captain Hans Niels Andersen คนไทยรู้จักในชื่อว่านีลส์ แอนเดอเซน ต่อมาเขาคือผู้ซื้อกิจการโรงแรมโอเรียนเตล แล้วขยายอาณาจักรธุรกิจขึ้นเป็นบริษัทอีสเอเชียติก ซึ่งเป็นบริษัทระดับบลูชิพที่ซื้อขายหุ้นกันในตลาดยุโรปสัญชาติเดนมาร์กที่มีรากแก้วอยู่ในสยาม
ข้อมูลที่ไม่ค่อยจะลับกล่าวว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่(ผ่านโนมีนี)ของบริษัทนี้ก็คือเจ้าชายวาลเดอมาร์ (Prince Waldemar) พระราชโอรสองค์เล็กของพระเจ้าคริสเตียนที่ ๙แห่งเดนมาร์ก พระสวามีของเจ้าหญิงมารีแห่งฝรั่งเศส โดยเฉพาะพระเจ้าคริสเตียนที่๙เอง ก็ทรงสนับสนุนธุรกิจของเดนมาร์กในสยามนี้อยู่เบื้องหลังอย่างเข้มแข็ง

แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของบริษัทนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากสายสัมพันธ์อันแนบแน่นของนีลส์กับกัปตันริชลิว ผู้เป็นตัวเชื่อมโคเปนฮาเก้นกับราชสำนักสยาม อย่างแน่นอน


เป็นอะไรที่ต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกัน และกัปตัน แอนเดอสัน ก็ถวายการรับใช้ราชสำนักอยู่เนือง ๆ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 20:44


คราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินทางไกลและกัปตันริชลิวมีหน้าที่ต้องตามเสด็จนานๆ นายห้างนีลส์ก็จะเข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อในกรมแสงแทน ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  คำถามของเขาคือ จริยธรรมตัวไหนที่ใช้เป็นตัวแยก Commissions  Corruption  และ Concessions

ในเรือนไทยนี้ ใครตีความหมายเก่งๆ ลองช่วยกันแยกแยะหน่อย
ยังตีความหมายไม่ค่อยจะออกค่ะ  แต่ว่ามาทำหน้าที่ไขกุญแจเปิดประตู เสร็จแล้วก็จะถอยไปให้ท่านที่เข้าใจดีกว่ามาเปิดประเด็น

     สองคำแรก คือCommission(s)   และ corruption(s) คนไทยเรียกทับศัพท์ไปว่าค่าคอมมิชชั่นและคอรัปชั่น  เป็นที่เข้าใจกันแพร่หลายโดยไม่ต้องแปล   แสดงว่าคุ้นเคยกับความหมายของสองคำนี้ดี   ส่วน concessions ไม่ค่อยคุ้นหู  แต่ถ้าเรียกว่าสัมปทานผูกขาด ก็เข้าใจกันดีว่าหมายถึงอะไร

     ขอเล่าหน้าม่านไปพลางๆก่อนว่า ในสมัยที่ไทยยังมีพระคลังสินค้า   มีระเบียบการทำงานของราชการอย่างหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการได้ค่าคอมมิชชั่นอย่างถูกต้องโดยราชการหลับตาเสียหนึ่งข้าง  เรียกว่า "เหยียบหัวตะเภา"  หรือ "เหยียบสำเภา" คือ เมื่อเรือสินค้าของต่างชาติเข้ามาค้าขายกับสยาม   พวกเขาจะต้องนำเรือสินค้ามาให้กรมพระคลังสินค้าเลือกซื้อสินค้าเสียก่อน  หลังจากนั้นถึงจะขายสินค้าที่เหลือให้ประชาชน
     ในการนี้  พระคลังสินค้าโดยพระเจ้าแผ่นดินจะใช้พระราชอำนาจ สั่งให้ขุนนางคนใดคนหนึ่งหรือชุดใดชุดหนึ่งลงไปตรวจดูสินค้าในเรือที่ว่า  งานนี้เรียกว่า "เหยียบหัวตะเภา" เพื่อคัดเลือกสินค้าที่จะซื้อหรือเก็บภาษีขาเข้าก่อน  ขุนนางที่ไปเหยียบหัวตะเภาหรือเหยียบสำเภา มีสิทธิ์จะพิจารณาเลือกสินค้าเข้าพระคลังได้  หรือสั่งห้ามสินค้าบางอย่างก็ได้  เช่นสินค้าที่เป็นพิษเป็นภัย อย่างพวก อาวุธปืน กระสุนปืน หรือฝิ่น    ดังนั้น กัปตันเรือทั้งหลายก็ต้องรู้วิธีเอาใจขุนนางเหยียบหัวตะเภาเพื่อให้การตรวจเลือกเป็นไปอย่างราบรื่น  ไม่งั้นสินค้าอาจถูกห้ามขายเอาง่ายๆ  หรือถูกเลือกแบบกดราคา ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย  นายเรือจะไปโวยวายกับใครก็ไม่ได้ 
    การเอาใจก็คือให้คอมมิชชั่น  จะเป็นในรูปข้าวของเงินทองอะไรก็ตามแต่  พระคลังก็รู้อยู่เต็มอกแต่ไม่รู้ไม่ชี้ เพราะถือว่าเงินค่าคอมมิชชั่นนั้นนายเรือเป็นฝ่ายจ่าย    ขุนนางจึงอยากจะเหยียบหัวตะเภากันนัก   โดยมากก็ต้องผลัดกันไป ไม่ผูกขาดอยู่กับคนใดคนหนึ่ง
    ทำให้คิดว่า คอมมิชชั่นอาจจะไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจนักในสังคมสยามโบราณ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 20:48

ต่อหน่อยครับ ต่อ ต่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 21:02

อ้าว   อินเทอร์มิชชั่นนานนัก  แฟนๆที่กำลังติดตามพระเอกริชลิวกับพระรองแอนเดอเซนจะถล่มคนขัดจังหวะเอาน่ะซี

เชิญออกญาศรีนวรัตนแถลงเรื่องต่อเถอะค่ะ  หยุดจิบน้ำส้มเมื่อไหร่ ดิฉันจะมาเล่านิทานต่อว่าด้วยเรื่องคอรัปชั่น  ไทยเรามีศัพท์ตรงกับคำนี้หลายคำ เช่น สินบน  ฉ้อราษฎร์บังหลวง    ส่วนการวิ่งเต้นติดสินบน เรียกว่า "เดินเหิน"

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 21:10

ผมตั้งใจจะหยุดให้อภิปรายกันตรงนี้ครับ เพราะเรื่องที่จะดำเนินต่อไปจะต้องเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่านี้ตลอด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 21:38

ถ้างั้นก็ขอต่อด้วย คอรัปชั่น

ตัวอย่างที่เห็นชัดตอนหนึ่งก็คือในขุนช้างขุนแผน   เมื่อขุนช้างติดคุกเพราะแพ้คดีกับพระไวย     พอรู้ถึงนางวันทอง ก็ต้องวิ่งเต้นไปช่วยเหลือสามี     อย่างแรกคือต้องผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำให้ขุนช้างอยู่ในคุกได้สบายพอสมควร    เคยเป็นเศรษฐีมีแต่สุขสบายจะมาทนตกระกำลำบากอย่างไรไหว

นางวันทองแม้ว่าเป็นแม่บ้านเคยแต่นั่งนับเงินกำปั่นอยู่บนเรือนสามี   ไม่เคยปรากฏว่าไปลงทะเบียนเรียนวิชาบริหารภาคค่ำจากสถาบันไหน  แต่พอถึงเวลาต้อง"เดินเหิน"  นางก็ทำได้ฉับไว ไม่เงอะงะ  ไม่ต้องปรึกษาใครให้เสียเวลา

ลุกขึ้นลนลานคลานเข้าห้อง              ประจงจ้องจับกุญแจไขกำปั่น
เปิดฝาคว้าทองสองสามอัน              แล้วหยิบขันปากสลักตักเงินตรา
ใส่ลงในกระทายเป็นหลายขัน            ปากนั้นกอบเบี้ยเกลี่ยปิดหน้า
แล้วส่งให้อีเขียดกระเดียดมา            ทั้งข้าวปลาหาไปใส่ปิ่นโต
แล้วจัดแจงสำรองของกำนัล             เนื้อฉมันน้ำผึ้งเป็นครึ่งโถ
ให้บ่าวเที่ยวซื้อหาปลาเทโพ            บรรทุกเรือแตงโมแล้วรีบมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 21:47

วิธีขนเงินของวันทองก็แนบเนียนดี คือทองแท่งกับเงินใส่ไว้ลึกในกระทาย เอาเบี้ยราคาถูกโรยไว้ข้างบน  ไม่ดูประเจิดประเจ้อ  คล้ายๆเอาเงินล้านใส่กล่องขนมปังผูกโบ  ก็เนียนๆดีกว่าจะให้กันเปิดเผย    ส่วนเนื้อสมัน ปลาเทโพและน้ำผึ้งเป็นของกินชั้นยอดจากหัวเมือง   หากินยากสำหรับชาวเมืองหลวง   ข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่างพัศดีไม่มีทางซื้อหามากินเองได้
ทั้งหมดนี้นางก็นอบน้อมเข้าไปวางของกำนัลให้พัศดี    บอกว่า

ของกำนัลให้ท่านพัศดี                    คุณพ่อได้ปรานีดิฉันบ้าง
จะขอไปส่งข้าวเจ้าขุนช้าง                 คุกตะรางเป็นอย่างไรฉันไม่เคย

พัศดีเห็นข้าวของก็เรียกพะทำมะรงมาบอกสั้นๆว่า " ช่วยพาพี่แกไปดูผัวหน่อยเหวย"  เป็นอันว่ารู้กันว่าสินบนที่เอามาประเคนให้นั้นรับหมดอย่างเปิดเผย    ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายห้ามรับของกินของใช้จากประชาชน      ส่วนพะทำมะรงตอนแรกไม่ยอมถอดขื่อคาให้ขุนช้าง  แต่นางวันทองอ้อนวอนด้วยเงินก็เลยถอดให้โดยดี

ขุนแผนติดคุกอยู่ 14 ปีตั้งแต่ลูกชายยังไม่คลอดจนลูกชายโตเป็นวัยรุ่น      เพราะพระพันวษาสั่งจำคุกไว้แล้วทรงลืมสนิท    เมื่อนึกขึ้นได้ก็ทรงบริภาษขุนนางที่พากันหุบปากมาตลอด ว่า

เหตุด้วยอ้ายนี่ไม่มีทรัพย์                   เนื้อความมันจึงลับไปเจียวหนอ
ถ้ามั่งมีไม่จนคนก็ปรอ                       มึงขอกูขอไม่เว้นวัน

แสดงว่าทรงรู้นิสัยขุนนางทั้งหลายดี ว่าถ้าไม่มีสินบนเป็นแรงขับเคลื่อน  ข้าราชการจะไม่ขยับเขยื้อนทำอะไรให้เปลืองตัวเปล่าๆ    ข้อนี้ก็น่าจะสะท้อนสภาพสังคมโบราณของไทยได้เหมือนกันว่า คอรัปชั่นแทรกซึมเข้าไปในระบบเสียจนไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องแปลกอีกแล้ว     แม้แต่พระพันวษาเองก็ไม่อาจจะทรงทำอะไรได้มากกว่าทรงบริภาษไปตามเรื่อง   แต่เสร็จแล้วก็ต้องหยวนๆกันไป    อาจเป็นได้ว่าถ้าทรงเอาผิดขุนนางอย่างเข้มงวด   อาจจะไม่มีขุนนางเหลือในท้องพระโรงเลยสักคนก็ได้ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 22:19

ส่วนคำสุดท้ายคือ concessions หรือสัมปทานผูกขาด   นอกจากไม่เป็นที่รังเกียจแล้ว     ราชการไทยถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงค้นคิดระบบเจ้าภาษี หรือสัมปทานการเก็บภาษีจากราษฎร โดยตัวแทนที่เรียกว่า " เจ้าภาษีอากร"

ก่อนหน้านี้ ในรัชกาลที่ 2   เงินไม่ค่อยเหลือติดท้องพระคลัง  เพราะเก็บภาษีไม่ค่อยได้  แม้แต่ขุนนางเองก็ถูกติดค้างเรื่องเบี้ยหวัดอยู่บ่อยๆ พระคลังต้องจ่ายเป็นผ้าลายบ้าง ทองคำบ้าง ขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน       พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงทำธุรกิจค้าขายกับจีนมาตั้งแต่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เมื่อขึ้นครองราชย์ จึงหาวิธีเพิ่มพูนทรัพย์สินในท้องพระคลังด้วยการหาคนมาช่วยเก็บภาษี  เรียกว่าระบบเจ้าภาษี     มีการเปิดประมูลให้ผู้ที่ยื่นประมูลได้สูงสุดเป็นเจ้าภาษีในสินค้าผลผลิตประเภทต่างๆ เช่นพืชสวน  พืชไร่  รังนก สุรา ฯลฯ เงินเหลือจากที่ต้องส่งให้ราชการเท่าไหร่ก็เข้ากระเป๋าเจ้าตัว    เถ้าแก่และขุนนางใหญ่น้อยจึงผันตัวเองมาเป็นเจ้าภาษี  รวยขึ้นก็มาก และที่เจ๊งไปเพราะเก็บไม่ได้ตามเป้าหมายก็มีไม่น้อย    ส่วนราชการไม่เจ็บตัวเพราะยังไงก็มีข้อกำหนดว่าเจ้าภาษีต้องจ่ายเข้าท้องพระคลังตามราคาประมูลอยู่แล้ว  ทำให้ท้องพระคลังเริ่มอู้ฟู่ขึ้นมากในรัชกาลที่สาม ด้วยระบบเจ้าภาษี ซึ่งก็คือสัมปทานแบบหนึ่งนั่นเอง

ในเมื่อชินกับระบบสัมปทาน และเป็นได้ว่าสยามไม่พร้อมจะดำเนินกิจการหลายๆอย่างเอง    ใน พ.ศ. ๒๔๒๖ รัฐบาลสยามจึงเริ่มอนุญาตให้ชาวยุโรปเข้ารับสัมปทานทำไม้สักในประเทศไทย   พอดีกับพม่าเกิดปิดป่าสักห้ามตัดไม้ เพราะพบว่าป่าสักแทบจะเหี้ยนเตียนจากการตัดไม้ของบริษัทต่างชาติ   พอพม่าปิดป่า ไม้ส่งนอกขาดแคลน  ความต้องการไม้สักในยุโรปก็พุ่งสูงขึ้น  ฝรั่งจึงกรูกันมาที่สยามซึ่งยังมีไม้สักงามๆเหลือเฟือ   บริษัทต่างชาติก็เข้ามายื่นคำร้องขอลงทุนโดยให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าเมืองต่างๆทางเหนืออย่างงาม  ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบริติชบอร์เนียวและบริษัทบอมเบย์เบอร์มาของอังกฤษ ซึ่งย้ายมาจากพม่า บริษัทสยามฟอเรสต์ บริษัทอีสต์เอเชียติคของเดนมาร์ก บริษัทหลุยส์ตีเลียวโนเวนส์ ของลูกชายแหม่มแอนนา   พวกนี้ได้สัมปทานตัดไม้กันเพลิดเพลิน     กว่าไทยจะตั้งตัวติด   ยกเลิกสัมปทานฝรั่งได้ ก็ล่วงเข้ายุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเมื่อชั่นที่สามคือ concessions มีประวัติว่า สังคมไทยยอมรับเป็นอันดี   เช่นเดียวกับอีกสองชั่นคือคอมมิชชั่นและคอรัปชั่น ซึ่งแม้จะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นของแปลกแยกจากสังคม      ทุกวันนี้ เราจึงต้องมีนโยบายปราบปรามคอรัปชั่นกันเป็นการใหญ่  เมื่อเห็นพิษภัยร้ายของทั้งสามอย่างนี้

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 22:28


คราวใดที่เสด็จพระราชดำเนินทางไกลและกัปตันริชลิวมีหน้าที่ต้องตามเสด็จนานๆ นายห้างนีลส์ก็จะเข้ามาทำหน้าที่จัดซื้อในกรมแสงแทน ฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า การที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเป็นบุคคลเดียวกัน แล้วมันจะโปร่งใสไปได้อย่างไร  คำถามของเขาคือ จริยธรรมตัวไหนที่ใช้เป็นตัวแยก Commissions  Corruption  และ Concessions

ในเรือนไทยนี้ ใครตีความหมายเก่งๆ ลองช่วยกันแยกแยะหน่อย

เล่านอกเรื่องไปไกล วกกลับมาที่คำถาม    เข้าใจว่านายห้างนีลส์แกย้อนถามแบบเล่นโวหารไปงั้นเอง  เพราะสามอย่างนี้ไปๆมาๆ มันก็แยกกันไม่ออก     คอมมิชชั่นถ้าเกิดที่ไหน  มันก็เป็นเหตุไปสู่คอรัปชั่น    คอรัปชั่นที่ออกดอกผลเหลือเฟือที่สุดก็ต้องลงเอยด้วยคอนเซสชั่น หรือสัมปทานผูกขาด  เพราะไร้คู่แข่ง  คู่สัญญาไม่สามารถจะหันไปหาทางเลือกอื่นได้   ทีนี้ จะโก่งราคาหรือเบี้ยวคุณภาพ หรือทำอะไรที่แย่ๆกว่านั้น ก็กอบโกยได้ตามสบายอยู่แล้ว
ถ้าจะเอาจริยธรรมเข้ามาแยก  ก็ต้องไม่นับหนึ่งเสียแต่แรก    ถ้าลองนับหนึ่งยังไงก็ต้องนับต่อถึงสามอยู่ดีค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 22:35

ขออภัยครับ ผมคงเขียนไม่แจ่มแจ้ง

คำว่าฝรั่งเดนมาร์กเองด้วยกันยังงงอยู่ว่า.. ฯลฯ...นั้น ผมหมายถึงผู้ที่เขียนเรื่องราวของบุคคลทั้งสองนี้มาเปิดเผยครับ ผมไปย่อความจากเขามา

นีลส์คงไม่ได้ตั้งคำถามตัวเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 22:41

 ฮืม
เชิญท่านออกญาศรีนวรัตนเฉลยเถอะค่ะ  ดิฉันแยกกันไม่ออกอยู่ดี
ป.ล. พากระทู้ดีๆเขาเข้ารกเข้าพงไปหรือเปล่าเนี่ย?


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง