เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 79986 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 28 ก.ค. 13, 08:56

^
มันส์ยิ่งกว่าอ่านลัดดาซุบซิบ  

ไปสอบถามลุงกู๊กเพิ่มเติม ได้ความว่าพ่อแมวหง่าวชาวอังกฤษรายนี้มีชื่อเต็มว่า {Sir} Maurice William Ernest DE BUNS  คือภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นบารอนเนท ใช้คำว่า "เซอร์" นำหน้า
ปีที่ริชลิวแต่งงานกับดักมาร์    พี่บรรอายุ 39   อ่อนกว่าท่านเจ้าคุณ 1 ปี    ตอนมาจีบคุณหญิง พานั่งรถเที่ยว ก็อายุประมาณ 40 เป็นหนุ่มใหญ่ไม่ใช่หนุ่มน้อย    แต่ว่ายังโสดไม่ได้แต่งงาน    เพิ่งจะมาแต่งเมื่อออกจากสยามไปแล้วหลายปี    อายุปาเข้าไป 47 ปี แต่งงานกับหญิงชาวอังกฤษด้วยกัน

อ้างถึง
เธอก็เป็นคู่สนทนาที่ดีขนาดที่นายบรรเส้นเอาเรื่องอะไรต่อมิอะไรในสยามที่ตนทำรายงานไปลอนดอนมาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ไม่แน่ เขาอาจกำลังหลอกล่อแม่สาวน้อยให้เปิดเผยความลับในวังที่สามีนำมาเล่าต่อให้ภรรยาฟังก็ได้

หรือไม่ เผลอๆ แม่สาวน้อยก็หลอกล่อให้หนุ่มโสดวัยดึกเล่าอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับรายงานไปลอนดอนให้เธอฟัง   (ซึ่งฟังจากบันทึกนี้เธอก็ทำได้สำเร็จ )   เพื่อจะไปเล่าให้สามีฟังอีกทีว่าอังกฤษกำลังดำเนินงานอะไรกับสยามบ้างโดยเฉพาะทางธุรกิจ     เพราะเจ้าคุณริชลิวเป็นนักธุรกิจควบคู่ไปกับทหาร    ย่อมอยากจะรู้ความคืบหน้าของฝรั่งคู่แข่งทุกชาติ  ว่าจะมาแบ่งเค้กในสยามด้วยวิธีไหนอะไรบ้าง    
กะอีแค่ปล่อยภรรยาสาวสวยให้นั่งรถเล่นไปอย่างเปิดเผย  นั่งกันไปคุยกันไป   ไม่ได้ไปทำอะไรลี้ลับนอกสายตาคน   เจ้าคุณถือว่าปลอดภัยพอสมควร




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 28 ก.ค. 13, 09:40

หมดจากพี่บรร รู้สึกว่าคู่แข่งจะค่อยๆหมดไป พอเป็นนายพลแล้วทหารเรือสยามชาวเดนมาร์กผู้นี้ก็ต้องเข้าสังคมระดับสูงที่ภรรยาจะต้องเคียงข้างไปด้วย  แทบทุกคืนทั้งคู่จะต้องแต่งตัวอย่างโก้ไปร่วมในงานเลี้ยงรับรองของบุคคลชั้นสูงชาวยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเชิญเสด็จเจ้านายฝ่ายไทยไปร่วมด้วยเสมอๆ

แต่เป็นในวังเองที่แบ่งเวลาของครอบครัวไป  ครั้งแล้วครั้งเล่าที่คุณหญิงดักมาร์เริ่มบันทึกในหน้ากระดาษว่า “อองเดรียสเข้าวัง” ทำให้เราได้ทราบว่าในช่วงอากาศร้อนไม่สามารถจะบรรทมได้นั้น ก็จะทรงใช้เวลาผ่อนคลายกับพระสหายหรือพระราชวงศ์ใกล้ชิด เป็นที่ทราบดีว่าวันหนึ่งๆ ทรงมีพระราชภาระที่จะต้องปฏิบัติในฐานะพระมหากษัตริย์นอกเหนือจากต้องเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีต่างๆนับไม่ถ้วน แล้วยังต้องประชุมกับเหล่าเสนาบดี หรือคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
“แต่..ทำไมนะ” คุณหญิงชลยุทธโยธินทร์บ่นกับไดอารี่ “อะไรๆก็มาลงที่ทหารเรือ เค้าควรจะจัดตั้งฝ่ายบันเทิงขึ้นมา เพื่อที่ทหารเรือจะได้ทำงานที่เหมาะสมกับหน้าที่ของตัวเอง”

คุณหญิงน่ะไม่รู้อะไร ทหารเรือไม่ได้ต้องอยู่แต่ในทะเลนะขอรับ กองดุริยางค์ทหารเรือเขาถือว่าเป็นอันดับหนึ่งในเรื่องของดนตรีตะวันตกเชียวนา ถึงได้ทรงโปรดไง ถ้าอยู่ถึงสมัยนี้ละก็ คุณหญิงคงจะต้องไปรับเสด็จและร่วมชมการแสดง “กาชาดคอนเสิร์ต” ในทุกๆปีด้วยอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากกราบบังคมทูลขอลาออกจากราชการ คืนนั้นคุณหญิงชลยุทธโยธินทร์บันทึกอย่างไร้อารมณ์ว่า
“คืนนี้ มีเพียงอองเดรียสกับฉันเท่านั้น ที่ทานอาหารด้วยกันตามลำพังเพียงสองคน”
คนไขความลับในบันทึกบอกไม่สามารถจะอ่านออกจริงๆว่า คุณหญิงระบายความยินดีออกมา หรือเพียงต้องการเล่าบรรยากาศหลังการลาออกเฉยๆ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 28 ก.ค. 13, 11:08

เมื่อกลับถึงเดนมาร์กแล้ว มาดามดักมาร์ เดอ ริชลิวคงจะได้ทราบฐานะอันแท้จริงของสามี ซึ่งฝรั่งเขียนไว้ว่า
From other sources we learn that his personal annual income was higher than the ten leading financiers in the country-combined, and they were definitely not poor people. He was one of the richest men in Denmark
รายได้ต่อปีของนักธุรกิจข้ามชาติ ในมาดของนายพลเรือสยามผู้นี้ มากกว่ารายได้ของนักการเงินชั้นแนวหน้าของประเทศ๑๐คน-รวมกัน สามีภรรยาคู่นี้มิได้จะกลับมาเป็นคนจนในบ้านเกิดแน่นอนอย่างที่ทรงเป็นห่วง  ที่แท้ริชลิวคือคนที่รวยที่สุดคนหนึ่งของเดนมาร์กในพ.ศ.นั้นทีเดียว

ไม่มีใครเขียนเล่าต่อว่า มาดามดักมาร์เธอบันทึกไดอารีต่อไปในช่วงชีวิตนี้อย่างไร เหงาหรืออบอุ่นขึ้นในคฤหาสน์คอคเคดาล และสุดท้าย อะไรเกิดขึ้นกับสามีและตนเอง ตลอดจนลูกๆหลานๆบ้าง ก่อนที่เธอจะถึงแก่กรรมด้วยความชรา และเขานำร่างของเธอไปบรรจุในโลงหินอ่อนเรียงต่อจากสามี

ผมคงจบท่อนอวสานของกระทู้นี้ลงได้แล้ว อยากจะสารภาพว่า แม้ชื่อริชลิวจะผ่านสายตามาบ้าง แต่ผมก็ไม่เคยสนใจชีวิตส่วนตัวของชายผู้นี้มาก่อน จนกระทั่งวันที่ผมได้คุยกับนายทหารเรือผู้คุ้นเคยกับปืนเสือหมอบของป้อมพระจุลที่สุด ดังที่เล่าไปแล้ว จึงเกิดความรู้สึกว่าทำไมนะริชลิว ท่านคิดอย่างไรหนอจึงเสนอให้สยามจัดซื้อปืนที่ดูดี แต่ไร้ประโยชน์พรรค์นี้มาประจำการ เลยใช้อินทรเนตรเสาะหาเบื้องหน้าเบื้องหลังดู โอ้โห น่าสนใจมากเลย
แต่หลังจากเขียนต้นฉบับไปได้สักครึ่งนึง ก็มีเหตุอันทำให้ต้องหยุดเขียนไปร่วมปี มาคิดปัดฝุ่นก็ตอนที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานรำลึก๑๒๐ปีร.ศ.๑๑๒นี้แหละ จึงอยากจะเสนออะไรในมุมมองที่ผมเห็นต่างกับคนอื่นบ้าง ข้อเท็จจริงหลายเรื่องมิใช่ดังที่มานำมาเล่ามาเขียนกันซ้ำๆซากๆไม่รู้กี่ทศวรรษมาแล้ว โลกยุคคอมพิวเตอร์เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงข้อมูลอื่นๆที่ไม่เคยได้รู้เห็นมาก่อนมากมาย เพียงแต่เราต้องทำตัวตนให้เป็นกลาง ปราศจากอคติ แล้วพิจารณาเรื่องอะไรควรเชื่อไม่ควรเชื่อ ยกตัวอย่างเหมือนเราอ่านประวัติศาสตร์ของชาติอื่นไกลๆตัว เราก็จะเลือกง่ายหน่อยว่าเปรียบเทียบกันแล้ว เราน่าจะเชื่อข้อมูลของฝ่ายใดตรงไหน อย่างไร
ผิดถูกไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าเราได้ใช่วิจารณญาณอย่างถ่องแท้แล้วหรือยังเท่านั้นก็พอ

ชีวิตของนายพลริชลิวทั้งในสยามและโดยเฉพาะหลังกลับไปเดนมาร์กแล้ว ผมอ่านไปเขียนไปด้วยความทึ่ง ชีวิตจริงของคนบางคนดราม่ายิ่งกว่านิยาย มีทั้งบู๊ทั้งรัก แย่งผลประโยชน์ หักเหลี่ยมชิงคมการเมืองธุรกิจ โดยมีราชสำนักไทยและเดนมาร์กเป็นฉากหลัง ชีวิตที่ขึ้นสูงสุดและตกต่ำลงของริชลิว สามารถให้แก้วเก้าเขียนบทให้ฮอลลิวูดทำหนังได้สบายๆ
ผมจะไม่สรุปละว่าในความรู้สึกของผม ท่านนายพลริชลิวเป็นคนอย่างไร นั่นขอฝากไว้เป็นการบ้านให้ท่านคิดต่อเอาเองก็แล้วกัน

ขอบคุณทุกท่านที่อดทนอ่านมาถึงบรรทัดนี้ครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 28 ก.ค. 13, 12:46

ขอขอบคุณอย่างยิ่ง   สำหรับกระทู้มหากาพย์ที่หาอ่านยากอีกกระทู้หนึ่งค่ะ   เป็นสีสันเบื้องหลังประวัติศาสตร์ที่อ่านแล้วเพลิน ไม่ง่วงอย่างเวลาท่องหนังสือ
ทำให้เห็นว่า กว่าสยามจะรอดปากเหยี่ยวปากกาจากอาณานิคมมาได้  เบื้องหลังมันซับซ้อนมากแค่ไหน     เสียดายว่าเราไม่ได้เรียนกันในหลักสูตรให้มากกว่าที่เป็นอยู่

ดิฉันพยายามหาจากกูเกิ้ลว่าลูกๆของเจ้าคุณริชลิว ไปทำอะไรอยู่ที่ไหนหลังจากพ่อแม่สิ้นบุญไปแล้ว     แต่ก็ไม่พบรายละเอียดมากไปกว่าลูกชายสองคน เป็น landowner  หรือเจ้าของที่ดิน   แปลแบบไทยเห็นจะตรงกับคหบดี(?)   คุณ Helge du Plesis de Richelieu ลูกชายคนรอง มีประวัติบอกนิดหน่อยว่าอยู่ในกองทัพ  อาจจะเป็นทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นได้  ลูกสาวสามคนแต่งงานแต่งการไป ก็จบแค่นั้น  ไม่เจอบทบาทหน้าที่การงานหรือความสำคัญใดๆในสังคมเดนมาร์ก

ชีวิตของนายพลริชลิวทั้งในสยามและโดยเฉพาะหลังกลับไปเดนมาร์กแล้ว ผมอ่านไปเขียนไปด้วยความทึ่ง ชีวิตจริงของคนบางคนดราม่ายิ่งกว่านิยาย มีทั้งบู๊ทั้งรัก แย่งผลประโยชน์ หักเหลี่ยมชิงคมการเมืองธุรกิจ โดยมีราชสำนักไทยและเดนมาร์กเป็นฉากหลัง ชีวิตที่ขึ้นสูงสุดและตกต่ำลงของริชลิว สามารถให้แก้วเก้าเขียนบทให้ฮอลลิวูดทำหนังได้สบายๆ

ฮัดเช้ย!


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 28 ก.ค. 13, 18:13

โต่ะจายโหม่ะเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 28 ก.ค. 13, 18:16

Helge du Plesis de Richelieu ลูกชายของนายพลริชลิว รับราชการแต่แรกเป็นทหารรักษาพระองค์ด้วยเส้นของพ่อ ก่อนย้ายไปประจำกองทหารม้าของเดนมาร์ก
ปีพ.ศ.๒๔๖๒ ระหว่างดำรงยศนายร้อยโท ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปรับราชการในสถานทูตที่กรุงปักกิ่ง ได้แวะมาประเทศไทยและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้นำตัวเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ขณะเสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกที่ทำการใหม่ของกรมรถไฟหลวงด้วย

ชีวิตในราชการไม่ได้รุ่งโรจน์เท่าบิดา หลังจากเมืองจีน ได้ย้ายไปประจำสถานทูตในกรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์อีกพักหนึ่ง ก่อนลาออกมาทำธุรกิจแล้วก็เงียบๆไปครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 14 ส.ค. 13, 08:23

ได้ภาพมาใหม่ครับ ท่านอาจจะไม่เคยเห็นเลยนำลงมารวบรวมไว้

เป็นภาพเรือพระที่นั่งเวสาตรี ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งต่อจากอังกฤษลำแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายพลริชลิว สมัยเป็นนายนาวาโทประจำกรมแสง เป็นกัปตันเรือลำนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง

เหตุการณ์ในภาพนี้อยู่ระหว่างพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสยามมงกุฏราชกุมารพระองค์แรกในรัชกาล


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 14 ส.ค. 13, 09:12

เคยได้ยินชื่อ "เวสาตรี" รู้สึกว่าชื่อนี้เพราะ แต่ยังหาความหมายไม่ได้ว่าแปลว่าอะไร  ทราบแต่ว่าเป็นชื่อเรือพระที่นั่งลำหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕  เพิ่งเห็นรูปที่ท่านนวรัตนนำมาโชว์ข้างบนนี้
ไม่มีความรู้ว่าเป็นเรือชนิดไหนค่ะ   ทราบแต่ว่าทรงเรียกว่า "เรือไฟมีใบ" หมายถึงเรือกลไฟ ที่ใช้ใบด้วย หรืออย่างไรก็ไม่แจ้ง   ฮืม

หลักฐานพระบรมราชโองการเกี่ยวกับ การจัดคนประจำเรือและการบังคับบัญชาเรือเวสาตรี มีตอนหนึ่งว่า
     ให้จัดทหารเป็นแกตลิงกัน ลงประจำเรือเวสาตรี ให้เปนเรือกรมแสงพระองค์สายเป็น ผู้บังคับบัญชา
     แต่ผู้ซึ่งจะเปนกัปตันนั้น เหนว่ากัปตันริชลิว เป็นคนของเจ้าแผ่นดินเดนมาร์คได้มีพระราชสาส์นฝากฝังมาถึงฉันเอง เขาได้รับการในเรือรบแลการทำแผนที่ ก็เหนว่าเรียบร้อย เปนคนที่ มีความรู้ควรต้องเลื่อนยศขึ้นบ้าง ฉันจึงจะขอกัปตันริชลิวให้เปนกัปตันเรือยอชต์หลวงให้เป็น เกียรติยศขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง แลจะได้ฝึกหัดคนพวกนี้ให้เข้าใจในทางปืนให้เรียบร้อยแล้ว เมื่อมี ราชการอย่างอื่นเปนครั้งเปนคราว ก็จะได้เรียกใช้ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 14 ส.ค. 13, 09:28

เวสาตรีเป็นเรือกลไฟที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำขับเคลื่อนเวลาอับลม หรือวิ่งในแม่น้ำ แต่เวลาเดินทางไกลในทะเลหลวงจะใช้ใบ

เวสาตรี มีความหมายว่ากระไร น่ารู้จริงๆครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 14 ส.ค. 13, 13:34

ส่งข้อความหลังไมค์ไปถามท่านผู้รู้ถึงความหมายชื่อเรือ เวสาตรี แล้วค่ะ  อยากรู้เหมือนกัน

รายละเอียดของเรือตามที่ พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัชเล่าไว้ในหนังสือนาวิกศาสตร์  ระบุว่า ปรากฏในเอกสารรัชกาลที่ ๕ สมุดพิเศษ เล่ม ๒ ดังนี้
"พระสยามธุรพาหะ มีหนังสือถึงพระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ ลงวันที่ ๑๗ เฟบรุอารี ความว่า ได้ลองเรือเวสาตรีที่ช่องโซเลนท์ แลก็รู้ว่าเปนเรือเดินดีแลเปนที่อยู่สบายด้วย มีพายุคลื่นใหญ่ใช้ใบ พอประมาณได้ ๑๒ นอต หรือ ๑๓ นอต...ฯลฯ"

 ทั้งนี้ได้ส่งหนังสือพิมพ์เซาท์แทมตันไทม์ ฉบับวันที่ ๒ มีนาคม ค.ศ.๑๘๗๙ ที่ลงข่าวเกี่ยวกับเรือเวสาตรี แปลไว้บางส่วน ดังนี้

เรือนี้ต่อที่อู่นอแตม ไอรอนเวิคเซาท์แทมตัน ยาว ๑๔๔ ฟุต กระดูกงูยาว ๑๒๐ ฟุต กว้าง ๒๒ ฟุต ๒ นิ้วครึ่ง ลึก ๑๓ ฟุต ๒ นิ้ว หัวเรือกินน้ำ ๘ ฟุต ท้ายเรือกินน้ำ ๑๑ ฟุต ศีศะเรือ มีรูปเทวธิดาปะปิดทองคำ มีลายกนกทั้งสองข้าง ศิศะเรือท้ายเปนรูปไข่ ใบจักรยกออกได้ มีเสาใบอย่างเรือสกูนเนอร์ ต่อด้วยเหล็กสแตฟอรต ฯลฯ"
และมีรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่ง เรือบางส่วน คือ "ในห้องแลที่เชิงรบ มีที่ไว้ปืนใหญ่ ปืนมาตินีเฮนรี (ปืนเล็กยาวที่ใช้ในสมัยนั้น-ผู้เขียน) และดาบกระบี่ ในห้องท่านผู้ดีมีที่ไว้ปืนไรเฟอ ดาบ ขวาน แลหอก ที่ศีศะเรือมีปืน วิศเวิศหกเปานด์เตอร์"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 15 ส.ค. 13, 15:33

   มาต่อเรื่องเรือเวสาตรี
   จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ ๕ กล่าวถึงการเสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรี  การใช้เรือเวสาตรีในราชการอื่น ๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๓ เป็นต้นมา  ขอกล่าวเฉพาะตอนที่สำคัญคือ
   - วันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ.๒๔๒๓ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีมีเรือนฤเบนทร์บุตรี เป็นเรือตามเสด็จ  ในจดหมายเหตุฯ กล่าวว่า
      "ออกกลางคืนนำร่องนำทางผิดเกือบติด เดือน มืดคลื่นใหญ่มาก ไปจดบังคับคลื่นที่อ่าวกระสือถึงเวลาตี ๓"
   - วันจันทร์ขึ้น ๙ ค่ำ ไปเกาะสีชัง จอดอยู่ ๔ วัน วันศุกร์ขึ้น ๑๓ ค่ำ ออกไปอ่างศิลาแล้วกลับกรุงเทพฯ ในวันเดียวกัน ถึงสมุทรปราการเวลาสามโมงเย็น"
        วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๓ เรือเวสาตรี รับพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ จากตำบลบางพูดมายังท่าราชวรดิฐ
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีอีกหลายครั้ง ในการพระราชทานผ้าพระกฐินที่สมุทรปราการ พระประแดง และประพาสฝั่งทะเลตะวันออกอีกหลายครั้ง ที่สมควรกล่าวถึง คือ
        วันอาทิตย์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ.๒๔๒๔ เสด็จประพาสฝั่งทะเลตะวันออกจนถึง เมืองประจันตคีรีเขต เกาะกง วันพุธขึ้น ๙ ค่ำ (๒๘ พฤศจิกายน) สมเด็จเจ้าพระยาบรม มหาศรีสุริยวงศ์ มาด้วยเรือสุริยมณฑล เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เสนาบดี กรมพระคลัง และกรมท่า มาด้วยเรืออุบลบุรทิศ จอดร่วมอ่าวที่ประจันตคีรีเขต และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 15 ส.ค. 13, 15:36

    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเวสาตรีต่อมาอีกหลายปีจนถึง พ.ศ.๒๔๓๐ จึงทรงใช้เรืออุบลบูรทิศ เป็นเรือพระที่นั่ง เพราะเป็นเรือที่ใหญ่กว่าเรือเวสาตรีเกือบเท่าตัว

    วาระสุดท้ายของเรือเวสาตรี

        เรือเวสาตรี ได้ไปเกยหินอัปางในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๓ ระหว่างเดินทางไปเข้าแม่น้ำกลัง
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เหตุการณ์นี้ไว้ในเรื่อง "ระยะทางเสด็จประพาสทางบก ทางเรือรอบแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๙" เล่ม ๒ ดังนี้
        "ออกเรือจากเกาะดินดิง เวลาเช้า ๒ โมง กินข้าวเช้าแล้วนอน กลางวัน พอบ่ายตื่นขึ้นเขียนหนังสือตลอดทาง เวลาที่กะแต่เดิมว่าจะมาถึงแต่เย็น แต่เป็นการ ไปอย่างบาลูน เข้าช่องกังซาไปจนถึงข้างใน ทอดสมอระหว่างทางเวลายามเศษ"
        "ในค่ำวันนี้ เรือเวสาตรีก็ตามมาถึงที่ไลต์เฮาส์ แล่นหนีไลต์เฮาส์ไปเกยหินที่ริมนั้น ทุ่นเขาก็มี เดินบุ่มบ่ามเอง แต่ซัดกันป่นไปว่า นำร่องบอกให้ไปทางโน้น    เห็นว่าอย่างไรก็เป็นความผิดของพระยาวิสูตรทั้งนั้น"


       พระยาวิสูตรสาครดิฐ ที่ว่านี้ ชาวเรือนไทยรู้จักในนามกัปตันจอห์น บุช  ที่มาของตรอกกัปตันบุชแถวโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ลในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 15 ส.ค. 13, 16:17

เอาลิงค์มาแปะไว้ครับ เผื่อจะมีใครที่ยังไม่เคยอ่าน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5389.0
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 15 ส.ค. 13, 16:43

        รายงานของพระยาวิสูตรสาครดิฐ เกี่ยวกับการอับปาง และการกู้เรือเวสาตรี
        ข้างล่างนี้คือรายงานของพระยาวิสูตรสาครดิฐ (จอห์น บุช) อธิบายเรื่องเรือเกยหินและความพยายามกู้เรือเวสาตรี โดยละเอียด   พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัชคัดลอกและแปลสรุปมาบางตอน ดังนี้ (รายงานเป็นภาษาอังกฤษทั้งฉบับ)

        "วันที่ ๒๖ พฤษภาคม เวลาเช้านำร่องชาวมาเลย์ชื่อ AHMET ซึ่งมาจากแม่น้ำกลัง พร้อมกับคนอื่น มาขึ้นเรือเพื่อนำเรือผ่านช่อง ถอนสมอจากเกาะดินดัง เดินเข็มต่าง ๆ ตามเรือ ที่แล่นไปข้างหน้า เวลา ๒๑๐๐ ไฟเกาะปูโลอังซา อยู่ตรงกราบเรือเรือเดินเข็ม ซอ. นำร่องสั่ง เปลี่ยนเข็มไปทางตะวันออกมากขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ถาม ถึงความรู้และความชำนาญ เกี่ยวกับร่องนำร่องยืนยันว่า รู้ร่องน้ำและที่เรือดี    น้ำทางด้านใต้ของร่องตื้นและมีโป๊ะมาก ระหว่างนี้ได้หยั่งน้ำด้วยดิ่งตลอดเวลา ความลึกของน้ำ ๖,๕,๗ ฟาธอม นำร่องจึงเปลี่ยนเข็มเป็น เซาท์บายเวสท์ พอเปลี่ยนเข็มเรือก็เกยหินด้วยความเร็ว ๖ นอตครึ่ง ก่อนเกยหินหยั่งน้ำได้ ๕ วา ๒ ศอก (เรือเวสาตรี กินน้ำลึกหัว ๘ ฟุต ท้าย ๑๑ ฟุต แสดงว่าได้แล่นขึ้นไปบนกองหิน เต็มลำ - ผู้เขียน) ได้ชักโคม ๓ ดวง ระหว่างเสา จุดไฟสีน้ำเงินยิงปืนใหญ่ทุก ๗ นาที หย่อนเรือโบตลงน้ำ  นำสมอกะไปยึดเรือและดึงสายสมอตึง"
        "กัปตันลิงการ์ด นำเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์เข้ามาใกล้ส่งเรือเล็กและเรือกลไฟผูกท้าย และจูงเรือหะเบสสมอกะช่วย แต่เรือเวสาตรีไม่เคลื่อนที่ น้ำยังไม่เข้าเรือ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 15 ส.ค. 13, 16:45

    "วันที่ ๒๗ พฤษภาคม เวลา ๐๑๑๕ เรือเวสาตรี เอียงลงทางกราบขวาอย่างกระทันหัน ๔๕ องศา โครมใหญ่ น้ำเข้าเรือจนถึงฝากระจกระบายอากาศเหนือดาดฟ้า  ท่วมห้องหมดต้องขนของ ไปลงเรือมูรธาฯ เรือเคพเคลียร์ เรือบางกอก พยายามโยงเชือกจากปลายเสาใหญ่ทั้งสองไปผูกกับหินเพื่อไม่ให้เรือเอียงมากขึ้น ฯลฯ"
        "วันที่ ๓๐ พฤษภาคม เรือ SUNDA (เข้าใจว่าเป็นเรือจูงจากสิงคโปร์มาถึงพร้อมกับ กัปตันมอสส์ (MOSS) และประดาน้ำ) ประดาน้ำลงดำตรวจท้องเรือพบหินตำเข้าในห้องหม้อน้ำ   ใต้หม้อน้ำหินอีกก้อนหนึ่งตำทะลุท้องเรือตรงห้องกัปตันจนถึงดาดฟ้า เป็นรูโตประมาณ ๓ ฟุต   หินก้อนนี้ทำให้เรือไม่คว่ำ และทำให้ดึงเรือออกไม่ได้ เวลาน้ำขึ้นมีคลื่นใต้น้ำจากทิศเวสท์ เซาท์เวสท์ ทำให้เรือกระแทกอย่างรุนแรง    เมื่อประดาน้ำดำตรวจเรืออีกครั้งหนึ่งปรากฎว่าหินก้อนท้ายตำทะลุมากขึ้น  จนถึงดาดฟ้าทำให้ดาดฟ้าแอ่นขึ้นประมาณ ๖ นิ้วเรือจมลึกยิ่งขึ้น"

        รายงานการกู้เรือมีต่อไปทุกวันคณะกู้เรือได้ทำการต่าง ๆ คือ ตัดเสาใหญ่ออกทั้ง ๒ เสา ขนตะกั่วอับเฉาออกจากเรือเพื่อให้เรือลอยขึ้น นำเรือ TONGKANG (ไม่ทราบว่าเป็นเรือ อะไร - ผู้เขียน) มาจากสิงคโปร์ ๖ ลำ ขนของออกจากเรือจนหมดรวมทั้งถอดใบจักรออก บางวันทะเลเรียบบางวันมีคลื่นลม แต่ไม่ได้ผลดีขึ้น
        "วันที่ ๒๙ มิถุนายน (กู้มาแล้ว ๑ เดือน - ผู้เขียน) เรือเวสาตรี ถูกคลื่นใต้น้ำซัดให้เอียงลง อีกจนหัวเรือจมน้ำลึก ๔ ฟาธอมเวลาน้ำขึ้น เรือจมมิดน้ำ วันที่ ๓๐ มิถุนายน คณะกู้เรือลง ความเห็นว่า ไม่มีทางกู้เรือเวสาตรีได้"
         เรือต่าง ๆ เดินทางกลับในวันที่ ๑ กรกฎาคม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง