เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 80342 ริชลิว-นักธุรกิจข้ามชาติในมาดนายพลเรือสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 18:36

ขอแก้ข้อมูลครับ
อ้างถึง
จาก Five Years in Siam (1898) เขียนโดย H. Warington Smyth นักเดินทางชาวอังกฤษที่ผ่านเข้ามาในเมืองไทยในช่วงนั้นเหมือนกัน และเรียกได้ว่าอยู่ในเหตุการณ์เพราะค้างแรมอยู่ในเมืองปากน้ำได้ยินเสียงปืนที่ยิงกันชัดเจน

เฮอร์เบิร์ท วาริงตัน สมิธ ไม่ใช่นักเดินทางธรรมดา เขาเป็นนักธรณีวิทยา และเคยรับราชการเป็นรองเจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา หนังสือ “ห้าปีในสยาม”ของเขาน่าสนใจ และมีผู้นำไปใช้อ้างอิงในเรื่องราวต่างๆทางสังคมและภูมิศาสตร์ของสยามในรัชสมัยนั้นมากมาย ขนาดกรมศิลปากรนำไปแปลและจัดพิมพ์จำหน่าย

ใครอยากอ่านสำนวนแปลโดยผู้ทรงคุณวุฒิ โปรดหาอ่านเอาเอง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 19:34

หรือถ้าต้องการอ่านฉบับภาษาอังกฤษ  ยิ้มเท่ห์

http://archive.org/stream/fiveyearsinsiam01smytgoog#page/n11/mode/1up


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 19:49

ผมไม่ได้ตั้งใจจะนำเรื่องราวทั้งหมดของการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยามานำเสนอนะครับ เพราะข้อมูลหาได้ไม่ยากในเวป หลายท่านคงผ่านสายตา แต่สำหรับผู้ที่ยังใหม่ในเรื่องนี้และสนใจใคร่จะรู้ ผมได้ลิงค์ไว้ให้แล้ว ไม่ทราบใครย่อความหนังสือฉบับครูของพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี เอามาลงไว้ได้ดีทีเดียว เสียอย่าง ไม่ยักบอกที่มาที่ไป

http://www.hotsia.com/thailandinfo/event112/index.shtml

ส่วนในกระทู้นี้ก็จะว่าไปถึงบทบาทของนายพลริชลิวตามหัวข้อ แต่ร.ศ.๑๑๒เป็นทางผ่านของท่านที่ผมจะต้องเอ่ยถึง และเป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตของชายผู้นี้ด้วย เหตุการณ์ที่ท่านนำทหารเดนมาร์กรบกับฝรั่งเศสในนามของประเทศไทย มีเกล็ดที่หนังสือหรือบทความทั่วไปไม่ค่อยจะกล่าวถึง แต่ผมสนใจ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 21:41

มาอ่านที่นายนอร์แมนเขียนต่อนะครับ ผมจะไม่เอาต้นฉบับภาษาภาษาอังกฤษลงไว้ละ ที่ลงแล้วไปคงพอที่จะให้ท่านเชื่อแล้วว่า ผมไม่ได้ลอกใครมาโดยไม่ได้กลั่นกรอง

ในหนังสืออ้างอิงเขียนว่า กองทัพเรือสยามประกอบด้วยเรือใบติดเครื่องจักรไอน้ำสองลำ ระวางขับน้ำพันตัน วางปืนใหญ่ลำละ๘กระบอก และยังมีเรือปืน กับเรือกลไฟเดินสมุทร ที่ดีที่สุดเห็นจะเป็นเรือมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนขนาดเล็ก และเรือพระที่นั่งมหาจักรี สั่งต่อที่อังกฤษใหม่เอี่ยมเพิ่งเดินทางมาถึง ระวางขับน้ำ ๒๔๐๐ตัน ยาว๒๙๘ฟุต ความเร็ว ๑๕น๊อต ติดอาวุธปืนใหญ่ อาร์มสตรองขนาด ๔.๗นิ้ว และปืนยิงเร็วขนาด๖ปอนด์ ๘กระบอก

ข้าพเจ้าเกรงว่า จะยากที่จะทำให้ใครเชื่อได้ว่าเรื่องจริงที่ข้าพเจ้าจะเปิดเผยนี้มิได้เป็นเรื่องที่เสกสรรขึ้น นั่นก็คือ กองทัพเรือสยามจริงๆแล้วไม่เคยมีปรากฏในประวัติของมนุษยชาติ  จริงอยู่ แม้จะเห็นเรือขนาดต่างๆกันจำนวนหนึ่งที่ผูกโยงไว้ในแม่น้ำตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง  แต่ลำที่ใหญ่หน่อยก็ใช้เป็นที่กินอยู่หลับนอนของทหารมารีนที่กล่าวแล้ว เรือบางลำก็ถูกถอดเครื่องยนต์หรือใบพัดออกไปด้วยซ้ำ

เรือลำเล็กลงมาก็คือเรือขนส่งของหลวงสำหรับใช้งานในลำน้ำ วิ่งขึ้นล่องนำคนและสิ่งของส่งไปยังพระราชวังต่างๆ มีลำหนึ่งหรือสองลำที่อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับที่จะบรรทุกคน แต่ก็ไร้คุณสมบัติหากจะนำใช้ในการรบไม่ว่าจะเชิงรุกหรือเชิงรับ เรือพระที่นั่งอุบลบูรพทิศลำเก่า ซึ่งนำเสด็จพระราชดำเนินประพาสรอบแหลมมลายูสำเร็จมาแล้วนั้น หากมีปืนติดตั้งอยู่บนเรือก็คงหมดสมัยใช้จริงจังไม่ได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 21:43

เรือมกุฏราชกุมารที่ต่อในฮ่องกงขึ้นตามใบสั่งของผู้สำเร็จราชการแห่งเกาะฟิลลิปปินส์ แต่ไม่มีเงินมาชำระ อู่เรือจึงขายต่อให้รัฐบาลสยามในปี๑๘๙๑(๒ปีก่อนหน้า)  เรือลำนี้ก็ติดตั้งปืนแบบโบราณบรรจุกระสุนทางปลายกระบอกที่เคยอยู่บนป้อมปืนในกรุงเทพมาก่อน อย่างไรก็ดี เรือหลวงมกุฏราชกุมารก็สร้างชื่อกระฉ่อนในการรบที่ปากน้ำ เพราะสามารถจมเรือสินค้าลำเล็กๆ ชื่อ ฌองบัปติสต์เซย์(เรือนำร่องที่พาเรือรบตามหลังมา)  เรื่องราวในการรบครั้งนี้ไม่เคยมีการเขียนเล่ากันมาก่อน และมันเป็นทั้งบทเรียนและบันเทิงคดี ข้าพเจ้าจึงขอเปลืองเวลาที่จะเขียนเกี่ยวกับมันสักพัก

เรือมกุฏราชกุมารซึ่งมีเรือเอกกูลด์แบร์ก นายเรือสินค้าชาวเดนมาร์กเป็นผู้บังคับการนั้น พลประจำปืนของเรือลำนี้ หลังจากที่ผ่านการฝึกบรรจุกระสุนและการยิงปืนใหญ่แล้ว กลับถูกย้ายไปประจำเรือพระที่นั่งมหาจักรีก่อนการรบนิดเดียว เหลือแต่เพียงลูกเรือระดับกุลีเท่านั้น พวกเขาถูกพร่ำสอนไม่ให้อัดดินปืนลงในช่องจุดปะทุของปืนใหญ่แบบโบราณนี้จนแน่นเกิน ให้ใส่หลวมๆไว้สักหน่อย  แต่พอเริ่มต้นรบกันเท่านั้น พวกนี้ก็เผ่นจากดาดฟ้าลงไปอยู่ใต้เรือหมด กัปตันกูลด์แบร์กต้องทิ้งพังงาชั่วคราวเพื่อลงไปลากลูกเรือขึ้นมาใหม่ พอจะยิงก็พบว่าดินปืนในช่องจุดถูกอัดไว้แข็งราวกับหิน ต้องใช้มีดพับแคะมันออก แล้วยิงออกไปทีละกระบอกด้วยมือของเขา แต่เนื่องจากกัปตันไม่ใช่ต้องเป็นแค่นายปืนของเรือตนเองเท่านั้น เขายังต้องเป็นต้นหนอีกด้วย เมื่อกลับไปที่สะพานเดินเรือเพื่อเบนหัวเรือให้ตรงทาง แล้วรีบเผ่นมาที่ดาดฟ้าเพื่อบรรจุกระสุนชุดต่อไป  จึงถือได้ว่าสุดยอดแล้วที่เรือลำนี้สามารถยิงเรือ ฌองบัปติสต์เซย์โดนได้ภายใต้สภาวะการณ์ดังกล่าว กัปตันคุยภายหลังว่าเขาใช้ปืนใหญ่เหมือนกับปืนลูกซองที่ใช้กระสุนลูกปราย ลูกเรือเชลยถูกคุมตัวอย่างเป็นทางการ ผูกผ้าปิดตาแล้วนำไปกักขังไว้ในป้อมที่มียามเฝ้าตลอดเวลา เมื่อขอน้ำดื่ม ก็จะตักน้ำสกปรกจากอ่างมาให้ แต่เมื่อนายพลริชลิวมาถึงในอีกสองสามชั่วโมงถัดมา พวกเขาก็ถูกปล่อยเป็นอิสระแล้วบอกว่าจะไปไหนก็ตามใจ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 21:46

เรืออื่นๆที่สยามนำมารบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายนี้ เป็นอะไรที่เรียกว่าเรือบรรทุกปืน(floating battery)มากกว่า คือได้นำเรือกลไฟบรรทุกสินค้ามาเอาปืนใหญ่ลงไปตั้งไว้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์ยก ข้าพเจ้าเชื่อว่า จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อนำเรือเข้าเทียบข้างกับท่าของป้อมปืนเท่านั้น เมื่อได้ข่าวศึก ก็เข็นปืนลงเรือที่ว่าแล้วนำไปจอดซุ่มอยู่นิ่งๆในจุดเหมาะที่คิดว่าสามารถเล็งยิงได้อย่างถนัดถนี่ แต่จะให้ยุติธรรมแล้วก็ต้องเพิ่มว่า ทั้งกัปตันคริสตมาสแห่งเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์  กัปตันกุลด์แบร์กแห่งมกุฏราชกุมาร และกัปตันสมิเกโลแห่งเรือหาญหักศัตรู ต่างก็อ้างความดีความชอบว่าได้จมเรือที่ไม่ได้ติดอาวุธลำเดียวดังกล่าวที่อยู่ในเหตุการณ์รบนั้น


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 21:50

เป็นธรรมดาหากจะมีคำถามว่า ระหว่างนั้นเรือหนึ่งเดียวของสยามที่มีสมรรถนะสามารถนำมาใช้รบได้อย่างจริงจัง คือเรือเดินสมุทรลำใหม่ต่อโดยอู่อาร์มสตรอง ด้วยระวางขับน้ำ๒๔๐๐ตัน ความเร็ว๑๕น๊อต ปืนใหญ่๔.๗ หอรบบนเสากระโดงทั้งสองและทวนหัวเรือ(ram)นั้น ไปอยู่เสียที่ไหน
 
คำตอบตรงๆง่ายๆก็คือมหาจักรีเป็นเรือพระที่นั่ง ต้องจอดอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง เตรียมพร้อมหากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเหนือ ตอนที่วุ่นวายกันเพื่อระดมเรือที่พอจะหาได้ไปโจมตีเรือรบศัตรูสามลำ ซึ่งปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางความมืดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส เรือมหาจักรีไม่ถูกนับรวมอยู่ในจำนวนนั้น ทั้งที่ว่ากันว่า โดยน้ำหนักแล้ว ลำเดียวก็มากกว่าเรือรบฝรั่งเศสทั้งสามลำรวมกันอยู่ถึง๖๐๐ตัน แต่ถึงแม้ว่าหากจะเกิดความตั้งใจที่จะใช้เรือลำนี้จริงๆ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าทำไม่ได้ ตั้งแต่มาถึงสยามแล้ว ปืนบนเรือยังไม่เคยยิง และไม่มีใครในพระราชอาณาจักรนี้ ยกเว้นนายทหารเดนมาร์กสองหรือสามคน ที่จะสามารถขับเคลื่อนมันได้ กระสุนปืนถูกลำเลียงขึ้นไปบนเรือเป็นครั้งแรกก็เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเหตุที่ปากน้ำจะอุบัติ  ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องจักรขนาดมหึมาและสลับซับซ้อนก็ไม่มีทางจะใช้งานได้ ถ้าขาดเหล่าช่างกลชาวอังกฤษ คนไทยไม่มีความรู้อันไกลตัวสุดกู่ที่จะจัดการกับเรื่องที่ว่าได้ แต่บรรดาคนเหล่านั้นก็อยู่ในบังคับของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อศัตรู


บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 23:08

ผมไม่ได้ตั้งใจจะนำเรื่องราวทั้งหมดของการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยามานำเสนอนะครับ เพราะข้อมูลหาได้ไม่ยากในเวป หลายท่านคงผ่านสายตา แต่สำหรับผู้ที่ยังใหม่ในเรื่องนี้และสนใจใคร่จะรู้ ผมได้ลิงค์ไว้ให้แล้ว ไม่ทราบใครย่อความหนังสือฉบับครูของพลเรือตรีแชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี เอามาลงไว้ได้ดีทีเดียว เสียอย่าง ไม่ยักบอกที่มาที่ไป

http://www.hotsia.com/thailandinfo/event112/index.shtml

ส่วนในกระทู้นี้ก็จะว่าไปถึงบทบาทของนายพลริชลิวตามหัวข้อ แต่ร.ศ.๑๑๒เป็นทางผ่านของท่านที่ผมจะต้องเอ่ยถึง และเป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตของชายผู้นี้ด้วย เหตุการณ์ที่ท่านนำทหารเดนมาร์กรบกับฝรั่งเศสในนามของประเทศไทย มีเกล็ดที่หนังสือหรือบทความทั่วไปไม่ค่อยจะกล่าวถึง แต่ผมสนใจ


Link HotAsia นั้น ไม่ได้ให้ Credit เว็บหอมรดกไทยเลยครับ เพราะต้นฉบับจริง ๆ คือเว็บนี้

http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/event112/event112_1.htm

แต่บางส่วนในเว็บหอมรดกไทย ก็พิมพ์ตกไปเยอะครับ อย่างที่เห็น ๆ คือ เรื่องของ วาริงตันสไมท์ ตกประโยคที่ว่า วาริงตันสไมท์ บอกว่าในการรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ส่งผลให้กระสุนไปโดนหญิงชราคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ประโยคนี้ในเว็บหอมรดกไทยหายไปครับ

บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 23:30


ปืนเรือที่ใช้ในการรบปากแม่น้ำเจ้าพระยาครับ ที่บอกกันว่ากระสุนฮอตสกีช คือกระบอกนี้ล่ะครับ ในรูปคือกระสุนขนาด ๓ ปอนด์ครับ



http://en.wikipedia.org/wiki/QF_3_pounder_Hotchkiss
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 11 ก.ค. 13, 23:38

เป็นธรรมดาหากจะมีคำถามว่า ระหว่างนั้นเรือหนึ่งเดียวของสยามที่มีสมรรถนะสามารถนำมาใช้รบได้อย่างจริงจัง คือเรือเดินสมุทรลำใหม่ต่อโดยอู่อาร์มสตรอง ด้วยระวางขับน้ำ๒๔๐๐ตัน ความเร็ว๑๕น๊อต ปืนใหญ่๔.๗ หอรบบนเสากระโดงทั้งสองและทวนหัวเรือ(ram)นั้น ไปอยู่เสียที่ไหน
 
คำตอบตรงๆง่ายๆก็คือมหาจักรีเป็นเรือพระที่นั่ง ต้องจอดอยู่หน้าพระบรมมหาราชวัง เตรียมพร้อมหากมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสด็จพระราชดำเนินขึ้นเหนือ ตอนที่วุ่นวายกันเพื่อระดมเรือที่พอจะหาได้ไปโจมตีเรือรบศัตรูสามลำ ซึ่งปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางความมืดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส เรือมหาจักรีไม่ถูกนับรวมอยู่ในจำนวนนั้น ทั้งที่ว่ากันว่า โดยน้ำหนักแล้ว ลำเดียวก็มากกว่าเรือรบฝรั่งเศสทั้งสามลำรวมกันอยู่ถึง๖๐๐ตัน แต่ถึงแม้ว่าหากจะเกิดความตั้งใจที่จะใช้เรือลำนี้จริงๆ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าทำไม่ได้ ตั้งแต่มาถึงสยามแล้ว ปืนบนเรือยังไม่เคยยิง และไม่มีใครในพระราชอาณาจักรนี้ ยกเว้นนายทหารเดนมาร์กสองหรือสามคน ที่จะสามารถขับเคลื่อนมันได้ กระสุนปืนถูกลำเลียงขึ้นไปบนเรือเป็นครั้งแรกก็เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเหตุที่ปากน้ำจะอุบัติ  ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องจักรขนาดมหึมาและสลับซับซ้อนก็ไม่มีทางจะใช้งานได้ ถ้าขาดเหล่าช่างกลชาวอังกฤษ คนไทยไม่มีความรู้อันไกลตัวสุดกู่ที่จะจัดการกับเรื่องที่ว่าได้ แต่บรรดาคนเหล่านั้นก็อยู่ในบังคับของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งแน่นอนว่าจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อศัตรู


จากข้อมูลรายละเอียดของเรือพระที่นั่งมหาจักรี มีรายละเอียดบันทึกของอาวุธแตกต่างกันครับ


อย่างของ พระยาสฤษดิ์พจนกรราชเลขานุการในพระองค์บันทึกไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาส ยุโรป ร.ศ. ๑๑๖ ว่า

"  มีปืนฮอสกิจบรรจุท้ายยิงได้ขนาด ๔.๗ อยู่ ๔ กระบอกมีปืนฮอสกิจขนาด ๖ เปาน ์อย่างบรรจุท้ายยิงได้เร็ว ๘กระบอก มีปืนแมลิเคอ ๑๑๐"


แต่ของ

เอกสาร " ประวัติเรือรบไทย " ของกรมยุทธการทหารเรือ ให้ข้อมูลแตกต่างเล็กน้อย จากที่พระยาสฤษดิ์พจนกร บันทึกไว้เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน โดยกล่าวว่า เรือพระที่นั่งมหาจักรี
( ลำดับที่ ๑ ) MAHACHAKKRI มีอาวุธ ปืนใหญ่ชนิดอาร์มสตรอง ขนาด ๔.๗ นิ้ว( ๑๒๐ ม.ม. )๔ กระบอก ติดที่ดาดฟ้า ชั้นกลาง ข้างละ ๒ กระบอก ปืนใหญ่ชนิดฮอทชกีส ขนาด ๖ ปอนด์ ( ๕๗ มม. ) ๘ กระบอก ติดที่ดาดฟ้าชั้นบน


ข้อมูลจาก หนังสือนาวิกศาสตร์ ปีที่ ๘๙ เล่มที่ ๑๑ พฤจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๐

เพราะฉะนั้น จากรูปที่คุณ Nawarat ตั้งคำถามว่าเป็นปืนเรือหรือเปล่า

ถ้าดูตามขนาดกระสุนแล้ว

จะได้เป็นตามนี้ครับ






http://en.wikipedia.org/wiki/QF_4.7_inch_Gun_Mk_I_-_IV


ซึ่งก็เป็นปืนประเภทเดียวกันนั่นเอง






http://www.navweaps.com/Weapons/WNUS_47-50_mk3.htm


แต่ในรูปนี้จะเป็นรุ่น MARK 3  ซึ่งอยู่หลัง MK1 มาพอสมควรครับ  เพราะฉะนั้นปืนบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี น่าจะเป็นรุ่น MK1
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 05:34

กระบอกเล็กนิดเดียว น่าจะเตรียมไว้สำหรับการยิงสลุตมากกว่าจะเอาไว้รบกับใครจริงๆจังๆนะครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 05:36

ตัวท่านผู้เขียนยังไม่เข้ามา แต่เรื่องที่มาต่อกระทู้ได้เนียนๆมีความดังนี้
เทาชมพู:
 
อ้างถึง
ข้อความต่อไปนี้นำมาจากกระทู้เก่า  เจ้าพระยามหิธร  เป็นเหตุการณ์ร.ศ. ๑๑๒ ตอนฝรั่งเศสปิดปากอ่าวไทยพอดี   ทางกรุงเทพชุลมุนวุนวายมากขนาดไหน ลองอ่านดู

ในวิฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อฝรั่งเศสเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย   นายลออ(หมายถึงเจ้าพระยามหิธร) เป็นเสมียนโท ได้มีโอกาสรู้เห็นบรรยากาศตึงเครียดติดต่อกันหลายวันหลายคืน   ในพระบรมมหาราชวัง

มีเกร็ดเล็กๆน่าขำที่นายลออจำได้ก็คือ ตอนเกิดเรื่องที่เรือรบฝรั่งเศสรุกล้ำอ่าวไทย  เข้ามาจอดลอยลำถึงหน้าสถานทูตฝรั่งเศส    
ผู้บัญชาการทหารเรือไทยในตอนนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์คที่ไทยจ้างมาฝึกทหารเรือ  ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธี  ได้รับรายงานเรื่องนี้ก็เดือดดาลมาก    ถือว่านอกจากฝรั่งเศสดูถูกคนไทยแล้วยังเป็นการสบประมาทถึงเดนมาร์คด้วย

พระยาชลยุทธฯก็ไม่รอช้า  ถือว่าถึงขั้นรบกันก็ต้องรบ   ออกคำสั่งให้ติดไฟเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งเป็นเรือรบที่มีอานุภาพมากที่สุดของไทยในตอนนั้น  เตรียมพร้อมรบเต็มกระบวนศึก
แล้วท่านก็แต่งเครื่องรบเต็มที่ รีบลงเรือกรรเชียงจากฝั่งไปขึ้นเรือกลางแม่น้ำ เพื่อจะบัญชาการรบ

พอถึงเรือมหาจักรี   พระยาชลยุทธฯใจร้อนเผ่นจากเรือกรรเชียงขึ้นบันไดเรือรบ    บังเอิญคืนนั้นมืดมากมองอะไรไม่เห็น   ท่านก็เลยพลาดบันไดเรือ หล่นตูมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งชุดเครื่องรบ  ทำให้ทหารเรือไทยต้องโดดน้ำตามลงไปช่วยผู้บัญชาการกันจ้าละหวั่น  ฉุดเอาตัวขึ้นมาได้  
การตกน้ำแทนที่จะทำให้พระยาชลยุทธฯใจเย็นลง กลับทำให้โกรธมากขึ้น  

เคราะห์ดีก่อนเรือมหาจักรีจะออกไปยิงกับฝรั่งเศส   เจ้าพระยาอภัยราชา(โรแลง ยัคมินส์) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวเบลเยี่ยม   ได้รับรายงานเข้าเสียก่อน  
เห็นว่าถ้าถึงยิงกันจะเกิดเรื่องลุกลามใหญ่โต  จึงรีบนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้มีพระบรมราชโองการห้าม  พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงห้ามเสียทัน  พระยาชลยุทธฯจึงไม่ได้รบกับฝรั่งเศส
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 06:10

มีคนสงสัยกันนักว่าที่นายพลริชลิวจะเอาเรือพระที่นั่งจักรีไปชนเรือรบฝรั่งเศสน่ะ ท่านคิดได้ยังไง แล้วมันจะได้ผลเรอะ

คืออย่างนี้ครับ เรือพระที่นั่งลำนี้มีอาวุธทีเด็ดอยู่อย่างหนึ่ง คนไทยไม่เคยเห็นเพราะมันอยู่ใต้น้ำ ตามศัพท์ฝรั่งเรียกกว่าram เช่นเดียวกับท่อนไม้ที่ปลายติดปลอกโลหะทำเป็นรูปหัวแกะ สำหรับเอาไปกระทุ้งประตูเมืองเวลาเข้าตี ภาษาไทยฉบับครูเรียกทวนหัวเรือ ผมก็ใช้ตามท่านทั้งๆที่จินตนาภาพเห็นเป็นท่อนแหลมๆยาวๆปลายหัวเรือ เลยใช้อินทรเนตรหาภาพมาให้ดู อ้อ..เป็นอย่างนี้เอง
นายพลริชลิวท่านเป็นคนวางสเปคเรือลำนี้ ท่านจึงรู้ว่าอาวุธเด็ดที่จะจมเรือรบลำเล็กๆของฝรั่งเศสที่ตัวเรือเป็นไม้ ไม่ได้หุ้มเกราะนั้น คือทวนที่อยู่ใต้น้ำนั่น อาศัยความมืดยามกลางคืนและความชำนาญเส้นทาง เรือพระที่นั่งจักรีน่าจะถึงตัวเรือรบศัตรูก่อนจะโดนยิงจม เรือฝรั่งเศสจอดเรียงกันยาวไปตามลำน้ำ ก็ชนมันดะไป
 
ความจริง ท่านสั่งการให้เรือรบสยามสองลำที่ยังวิ่งได้อยู่ ขึ้นมาจากปากน้ำกะจะมารุมชนเรือรบฝรั่งเศสด้วย แต่กว่าจะมาถึงต้องใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่ง ท่านสั่งแล้วนั่งรถไฟมากรุงเทพครึ่งชั่วโมงถึง มีเวลาเล่นน้ำก่อนขึ้นไปบนเรือพระที่นั่งได้สบายๆ แต่พอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตและทรงมีคำสั่งห้ามลงมา ท่านก็เปลี่ยนไปนั่งเรือยนต์ บึ่งไปห้ามกัปตันเรือทั้งสองลำที่กำลังมุ่งหน้าเข้ากรุง ทันกันที่บางคอแหลม บทบู๊ที่จะถึงใจพระเดชพระเดชพระคุณคนดูก็เลยไม่เกิด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 07:43

ในเวลาเดียวกันนั้น

เรือรบฝรั่งเศสเมื่อมาทอดสมอหน้าสถานทูตแล้ว ก่อนจะขึ้นไปรายงานตัวต่อ ม.ปาวี นาวาโทโบรีผู้บังคับการเรือแองกองสตังต์ซึ่งเป็นผู้บังคับหมู่ ได้เรียกประชุมผู้บังคับการเรือลูแตง และเรือโคแมต เพื่อขอความเห็นในการที่จะแก้แค้นสยาม นายทหารเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังความเข้าใจว่า สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีที่ทำกันไว้แต่เดิมระหว่างประเทศทั้งสอง เรือรบของฝรั่งเศสมีสิทธิ์ที่จะเข้ามายังกรุงเทพได้เพียงครั้งละ๑ลำ ถ้ามามากกว่านั้น ที่เหลือต้องจอดอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ ทั้งนี้ รัฐบาลไซ่ง่อนฝรั่งเศสได้มีคำสั่งให้เรือรบ๒ลำที่ตามมาสมทบกับเรือลูแตง ให้นำเรือเข้าไปจอดที่ท่าเรือปากน้ำตามสิทธิ์ แต่แล้วกลับถูกขัดขวาง โดยฝ่ายสยามเป็นผู้ละเมิดสนธิสัญญาเพราะเริ่มยิงก่อน พวกเขาจึงตอบโต้และสามารถหักด่านเข้ามาได้ เห็นว่าเมื่อยิงกันขนาดนี้แล้วคงจะจอดเรือที่ปากน้ำไม่ปลอดภัย จึงเลยเข้ามากรุงเทพเผื่อต้องรับคนฝรั่งเศสออกไปก่อนทำสงครามกัน พอประชุมกันไปเห็นคนเจ็บคนตายก็เลือดขึ้นหน้า ตกลงกันว่าพรุ่งนี้เวลาเช้าตรู่จะเอาเรือรบทั้งสามลำ ลุยเข้าไปกลางพระนครเพื่อจมเรือพระที่นั่งมหาจักรีเลย แล้วจะระดมยิงพระบรมมหาราชวังต่อสักสองสามตับ บังคับให้ไทยยอมจำนน
 
ตีสอง หลังขึ้นไปพบและทานอาหารค่ำที่ทูตฝรั่งเศสจัดเลี้ยง ผู้บังคับหมู่เรือลงมาประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าว  ม.ปาวี ผู้ร้ายตัวโกงที่คนไทยเกลียดนักหนาเข้ากระดูกดำ ได้ช่วยไม่ให้กรุงเทพเกิดมิคสัญญี โดยบอกนายทหารที่กำลังบ้าเลือดว่า ถ้ากระสุนนัดแรกของฝรั่งเศสระเบิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็จะเป็นสัญญาณให้พวกอั้งยี่จีนที่รอฟังอยู่ ลุกฮือขึ้นก่อการจลาจล บุกเข้าปล้นสดมภ์แก้แค้นฝรั่งอย่างไม่เลือกชาติเลือกภาษา ในฐานที่ทำระยำตำบอนไว้กับพวกคนจีนและประเทศจีนมาก และอาจจะเลยเถิดถึงเผาบ้านเผาเมืองจนกรุงเทพวอดวาย ซึ่งฝรั่งเศสจะรับผิดชอบต่อประชาคมโลกไม่ไหวแน่
นายทหารเรือเลือดร้อนได้ฟังก็หงอยไป ยอมรับโดยดีที่จะให้ฝ่ายกระทรวงต่างประเทศใช้วิถีทางการทูตสงบศึก โดยได้รับการบอกเล่าว่า ฝรั่งเศสจะได้รับชดเชยคุ้มค่าอย่างสุดๆ ชนิดที่นักเลงล่าเมืองขึ้นด้วยกันต้องอิจฉา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 12 ก.ค. 13, 08:43

เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ผมสงสัยว่าในเมื่อรู้อยู่ ในสนธิสัญญาที่ทำไว้กับนานาชาติ เรายอมให้เขานำเรือรบเข้ามาจอดเทียบท่าที่สมุทรปราการได้ แล้วทำไมเราจึงไปสร้างแนวตั้งรับที่ป้อมพระจุล ทั้งๆที่รู้ว่าจะผิดข้อตกลง

แล้วป้อมผีเสื้อสมุทรที่เหมาะกว่า ทำไมไม่เน้น


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 19 คำสั่ง