เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
อ่าน: 29363 ตัดถนนราชดำเนิน
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 18 ก.ค. 13, 20:12

ภาพนี้ถ่ายปีไหนไม่ระบุ
อาจจะเป็นราชดำเนินกลางหรือนอกก็ได้
เห็นด้านริมถนนเหมือนรั้วพู่ระหง จะเหมือนราชดำเนินกลาง
ไม่มีม้านั่งที่อยู่ใต้ต้นไม้ อาจจะเป็นราชดำเนินนอกก็ได้เช่นกัน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 23 ก.ค. 13, 21:04

อาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลก กระจัดกระจายไม่อยู่เป็นแหล่งเดียว  ในตอนต้นรัตนโกสินทร์ อยู่ที่สำเพ็ง  ต่อมาคงแตกลูกแตกหลานไปหลายถนน    แม้แต่ถนนสายสำคัญอย่างราชดำเนินก็ไม่วายมีซ่องโสเภณีไปตั้งอยู่ระยะหนึ่ง
   
"กาญจนาคพันธุ์ เล่าไว้ในหนังสือ “กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้” ว่า ในช่วง พ.ศ.2473 ย่านแพร่งสรรพศาสตร์เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในหมู่นักเที่ยว เพราะจะมีตรอกมีชื่ออยู่ตรอกหนึ่ง เรียกว่า “ตรอกสาเก” เป็นที่อยู่ของพวกหญิงโสเภณี และซ่องโสเภณีใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งถูกไล่ที่มาจากถนนราชดำเนินย้ายมาอยู่ที่ปลายถนนแพร่งสรรพศาสตร์ จนบริเวณนั้นกลายเป็นที่อยู่ของเหล่าโสเภณีแทบทั้งหมด โดยโสเภณีชั้นดีหน่อยจะอยู่บ้านเช่าเป็นหลัง ขณะที่พวกชั้นรองลงมาก็จะอยู่ห้องแถว"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 23 ก.ค. 13, 21:13

ถนนราชดำเนินในช่วงกึ่งพุทธกาล หรือพ.ศ. 2500 ยังเป็นที่ตั้งของร้านตัดผมร้านดัง  ชื่อร้าน "พงศ์เทพ" เป็นแหล่งชุมนุมคนดังหลากหลายวงการ ทั้งในแวดวงสังคมชั้นสูง นักการเมือง ไปจนถึงผู้สร้าง ผู้กำกับ และดาราภาพยนตร์

http://www.kroobannok.com/blog/13988

สมพร โฉมงาม ช่างตัดผมประจำร้านพงศ์เทพ วัย 69 ปี ซึ่งยึดอาชีพช่างตัดผมมานานนับ 40 ปี บอกเล่าว่าดาราดังๆ ที่มาตัดผมในยุคนั้น ได้แก่ ลือชัย นฤนาท, ชนะ ศรีอุบล, ทักษิณ แจ่มผล, มานพ อัศวเทพ, ชุมพร เทพพิทักษ์ และมีดาราอีกหลายคนที่ได้แจ้งเกิดในวงการโดยมีจุดเริ่มต้นจากร้านนี้ เนื่องจากมีผู้สร้างภาพยนตร์มาชุมนุมกันที่ร้านนี้มากมาย หากจะเปรียบกับสมัยนี้ก็คงเป็นเหมือนสยามแสควร์ที่บรรดาวัยรุ่นไปชุมนุมกัน หวังให้มีแมวมองมาชักชวนเข้าสู่วงการบันเทิง
ช่างสมพรบอกว่า ยุคนั้นทรงผมยอดนิยมที่สุดก็คือ "ทรงลือชัย นฤนาท" พระเอกที่มาดัดผมเลียนแบบสไตล์เจมส์ ดีน ซูเปอร์สตาร์ของฮอลลีวู้ด ส่งผลให้แฟนหนังของลือชัยมาดัดผมทรงนี้ตามจนเข้าแถวยาวออกไปจนถึงถนนหน้าร้าน ช่างสมพรยังเล่าเกร็ดขำๆ ว่าช่วงที่ผมทรงนี้ฮิตระเบิดไปทั่วพระนครนั้น ถึงกับมีกรณีชกต่อยกันระหว่างช่างตัดผมกับลูกค้า เพราะไม่พอใจที่ช่างดัดผมออกมาให้ไม่เหมือนลือชัย
ช่วงแรกนั้น สนนราคาค่าตัดก็อยู่เพียงแค่ 5 บาท ก่อนจะขึ้นเป็น 7 บาทในเวลาต่อมา ถ้าตัดสระก็ 8 บาท ส่วนเด็กคิดค่าตัด 2 บาท ในตอนนั้นร้านพงศ์เทพมีอยู่ 2 ร้าน คือร้านเก่าที่ถนนตะนาว และร้านที่ถนนราชดำเนินซึ่งติดเครื่องปรับอากาศ ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่นี่ถาวรเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน
แม้ในวันนี้ ร้านพงศ์เทพจะเปลี่ยนเจ้าของมาหลายมือแล้ว แต่ชื่อเสียงเดิมของนายพงศ์เทพ บุญสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งก็ยังคงอยู่ ทำให้ลูกค้ายังให้ความไว้วางใจมาใช้บริการไม่ขาดสาย
บัญญัติ สังขารักษ์ ช่างตัดผมที่มีประสบการณ์หลายสิบปีกล่าวว่า ในยุคต่อมาลูกค้าที่เป็นนักแสดงเริ่มไม่มีแล้ว แต่เป็นกลุ่มนักธุรกิจและคนในสังคมชั้นสูงทั้งหลายมารวมตัวกัน ในรุ่นหลังลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นนักการเมือง ส่วนนักแสดงก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก เช่น พระเอกละคร ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ในยุคที่รุ่งเรืองสุดขีดก็เคยมาเป็นลูกค้าที่นี่
ลูกค้านักการเมืองที่มาใช้บริการร้านพงศ์เทพยุคนั้นก็มีหลายท่าน อาทิ สมัคร สุนทรเวช, สุธี สิงห์เสน่ห์, บัญญัติ บรรทัดฐาน, สุรินทร์ พิศสุวรรณ, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, สัมพันธ์ ทองสมัคร, ไสว พัฒโน, สวัสดิ์ คำประกอบ, วิษณุ เครืองาม เป็นต้น โดยเฉพาะในยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นจะมีนักการเมืองมาใช้บริการที่ร้านกันมาก
สมหมาย กองสุทธิผล เป็นช่างตัดผมมีฝีมืออีกคนที่มีนักการเมืองหลายคนไว้วางใจให้เป็นช่างประจำ กล่าวว่าปัจจุบันนี้ลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนมากมักจะเป็นลูกค้าประจำ นักการเมืองบางท่านก็ยังแวะเวียนมาใช้บริการบ้าง "ร้านพงศ์เทพมีนักการเมืองรู้จักกันมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ให้การยอมรับ เพราะร้านเรามีมาตรฐาน ไฮโซยุคก่อนเอ่ยชื่อร้านพงศ์เทพใครก็ต้องรู้จัก"
ด้วยความที่มีนักการเมืองมาใช้บริการมากนี่เอง ช่างตัดผมที่ร้านพงศ์เทพจึงรู้เบื้องหลังเบื้องลึกในแวดวงการเมืองไม่น้อยกว่าในรัฐสภาหรือทำเนียบ เนื่องจากต้องคอยรับฟังปัญหาที่ลูกค้าระบายให้ฟังอยู่เสมอ
ด้านลูกค้าขาจรต่างชาตินั้นก็มีมาบ้าง ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่ง ช่างบัญญัติเสริมว่า ที่ชาวต่างชาติเลือกมาใช้บริการไม่ใช่เพียงค่าตัดที่ถูกกว่า แต่หลายคนต่างยอมรับว่าช่างตัดผมไทยฝีมือประณีตดีกว่า โดยทางร้านจะคิดค่าบริการเท่ากันกับคนไทยคือ ราคาตัด 100 บาท ตัดสระ 200 บาท แต่สำหรับชาวต่างชาติจะคิดค่าโกนหนวดแยกต่างหาก ไม่คิดรวมอยู่ในค่าตัดผมเหมือนคนไทย เพราะเหตุที่ว่า ฝรั่งนั้นหนวดมักจะแข็งทำให้โกนยากกว่า
การโกนหนวดนั้นนับเป็นเอกลักษณ์ของร้านตัดผมยุคเก่า แต่ช่างสมหมายและบัญญัติบอกว่า ช่างตัดผมรุ่นใหม่ๆ นั้นใช้ใบมีดโกนกันไม่เป็นเสียแล้ว
"ถ้ารุ่นนี้ตายก็ไม่มีแล้ว ขึ้นห้างกันหมดแล้ว ต่อไปใครอยากไปตัดผมก็ต้องไปที่ห้าง" คือคำปรารภอย่างเศร้าสร้อยของช่างตัดผมที่มีฝีมือรุ่นเก่า

ภาพข้างล่างนี้คือลือชัย นฤนาท ค่ะ


บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 19:31

ปัจจุบันนี้ ร้านพงศ์เทพ จะเป็นร้านเดียวกับยุคก่อนหรือไม่ ไม่รู้

ห้องแต่งผมพงศ์เทพ อยู่ราชดำเนินครับ ติดถนนเลย
นั่งรถเมล์เลยป้ายกองฉลากมาป้ายนึงครับถึงเลย
เป็นร้านตัดผมธรรมดาแต่ว่าฝีมือสุดยอดครับ ตัดละเอียด สวยงาม
จะมีช่างประมาณ 3-4 คนครับ เวลาไปตัดช่างเค้าจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง
ในการตัดผมให้กับเรา คุยสนุกสนาน เฮฮาครับ ตัดอย่างเดียว 120.- ครับ
คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปแน่นอนครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 24 ก.ค. 13, 19:39

น่าจะใช่นะคะ คุณ Visitna   
น่าชมเชยที่เจ้าของยังรักษาร้านเอาไว้ได้อยู่     และรักษาฝีมือได้ดีด้วย 
ไปหารูปมาได้รูปหนึ่งจากอินทรเนตรค่ะ    น่าจะใช่นะคะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 26 ก.ค. 13, 10:12

ในหนังสือ กรุงเทพเมื่อวานนี้ ของขุนวิจิตรมาตรา (กาญจนาคพันธุ์) เล่าถึงถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอกเอาไว้ว่า ถนนสองสายนี้ทำเหมือนกัน  คือเป็นถนนใหญ่มาก ทำเป็น 5 ทาง   ทางริมสองข้างเป็นถนนเล็ก  ถัดเข้ามาเป็นบาทวิถี   ตรงกลางเป็นถนนใหญ่
ถนนราชดำเนินกลางตอนที่เป็นบาทวิถี ปลูกต้นมะฮอกกานีตลอด     ตั้งแต่สะพานผ่านพิภพฯทางขวามือไป  ริมถนนสุดเป็นรั้วพู่ระหง  มีซอยเล็กๆเป็นสะพานไม้เข้าไปสองหรือสามซอย    บ้านเรือนอยู่ในซอยนั้น  แต่มองข้างนอกไม่เห็น เพราะต้นไม้มักจะบังหมด
ซอยแรกชื่อตรอกสาเก    พวกหญิงโสเภณีอยู่ในซอยนี้มาก   แถวนี้มีวังของกรมหลวงประจักษ์ฯด้วย  แต่ขุนวิจิตรมาตราไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน   ซอยสาเกทะลุถึงคลองหลอด  ที่มีวัดบุรณศิริอยู่ต้นคลองหลอด 
ราชดำเนินตอนนี้เป็นรั้วพู่ระหงไปจนจดถนนตะนาวที่เป็นสี่แยกคอกวัว     ข้ามถนนตะนาวไปก็เป็นรั้วพู่ระหงไปจนจดถนนดินสอที่เป็นสี่แยก  (ตอนหลังคือที่ตั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย)
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 27 ก.ค. 13, 00:00

จากหนังสือ ทำเนียบนามภาค ๑ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗

รายชื่อป้อมชั้นนอกรอบคลองผดุงกรุงเกษมแลฝั่งตวันตก

๑. ป้อม "ป้องปัจจามิตร" อยู่ฝั่งตะวันตกริมปากคลองสาน
๒. ป้อม "ปิดปัจจนึก" อยู่ฝั่งตวันออก ริมปากคลองผดุงกรุงเกษมข้างใต้
๓. ป้อม "ผลาญศัตรูราบ" อยู่ใต้วัดเทพศิรินทราวาส หรือริมวัดพลับพลาไชย
๔. ป้อม "ปราบศัตรูพ่าย" อยู่ใต้ตลาดนางเลิ้ง ตรงหมู่บ้านญวนข้าม แต่บัดนี้ได้รื้อเสียแล้ว
๕. ป้อม "ทำลายแรงปรปักษ์" อยู่เหนือวัดโสมนัสวิหาร แต่บัดนี้ได้รื้อเสียแล้ว
๖. ป้อม "หักกำลังดัษกร" อยู่ปากคลองผดุงกรุงเกษม ข้างเหนือ รื้อแล้ว
๗. ป้อม "วิไชยประสิทธิ์" อยู่ฝั่งตวันตก ปากคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)

หน้าตาคงคล้ายๆแบบนี้  ?



ภาพขยายป้อมกำลังหักดัษกร มาให้เห็นลักษณะโครงสร้างของป้อม (แผนที่ พ.ศ. ๒๔๓๐ หรือ จศ. ๑๒๔๙)

ลักษณะป้อมนี้จะเป็นแบบชั้นเดียว คือ เชิงเทินใบบัง ไม่มีโครงสร้างของห้องล้อมแบบป้อมพระสุเมรุ ถนนพระอาทิตย์

ขออนุญาตนอกประเด็นครับ

ป้อมชุดนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดการสร้างป้อมของทหารฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง

โดยที่รูปแบบการสร้างป้อมแบบนี้ ได้มาจากแนวคิดของ



ปัจจุบันนี้ แนวคิดการสร้างป้อมของโวบองนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วครับ

ตัวอย่างป้อมของโวบอง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในฝรั่งเศส


ในสยามป้อมที่ได้รับอิทธิพลการสร้างแบบโวบองนี้ได้แก่ ป้อมเมืองบางกอก และ ป้อมวิไชยประสิทธิ์  และก็ต่อมาจนถึงชุดป้อมในรัชกาลที่สี่นั่นเอง

ป้อมเมืองบางกอก ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ปัจจุบันคือส่วนที่ตั้งของมิวเซียสยาม ท่าเตียน



สำหรับรูปปัจจุบันของ ป้อมป้องปัจจามิตร สามารถติดตามได้ที่กระทู้นี้ครับ

รูปบนเชิงเทิน



ท่อนซุง ที่ใช้เป็นฐานรากป้อมป้องปัจจามิตร


ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.konrakmeed.com/webboard/upload/index.php?showtopic=4028
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 27 ก.ค. 13, 08:24



ขออนุญาตนอกประเด็นครับ

ป้อมชุดนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดการสร้างป้อมของทหารฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง

โดยที่รูปแบบการสร้างป้อมแบบนี้ ได้มาจากแนวคิดของ

ปัจจุบันนี้ แนวคิดการสร้างป้อมของโวบองนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วครับ


เรื่องแนวคิดการสร้างป้อมกระจายอยู่รอบคลองผดุงกรุงเกษมนั้น ในหนังสือวังไม้ มีการตั้งคำถามว่า "ทำไมถึงมีการสร้างป้อมรอบคลองผดุงกรุงเกษม"

เพราะว่านโยบายการต่างประเทศนั้นเปลี่ยนไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ซึ่งทรงตรัสก่อนสวรรคตว่า การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ”


ดังนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ย่อมรู้และตระหนักถึงนโนยบายการต่างประเทศในการป้องกันข้าศึกจากต่างชาติที่จะมาทางเรือในวันข้างหน้า ไม่ต้องมาสร้างป้อมในทุ่งตะวันออกซึ่งไม่มีความสำคัญอีกต่อไป แต่อาจจะเป็นแนวคิดที่ไม่อาจขัดได้ของพระปิ่นเกล้าหรืออย่างไร"

และอีกกรณีหนึ่งที่เคยอ่านเจอบทความการสร้างป้อมรอบคลองผดุงกรุงเกษมไว้ทำนองว่า การออกแบบป้อมนั้นใช้รูปแบบอย่างเดียวกับป้อมบางกอก อย่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งจำลองแบบจากฝรั่งเศสมาสร้างรอบคลองขุดใหม่ แต่น่าจะออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 27 ก.ค. 13, 09:21

ไม่มีความรู้เรื่องป้อม  ขอหลีกทางให้ผู้รู้อภิปรายกันต่อไปเองค่ะ

     ขอกลับมาที่ถนนราชดำเนินกลางอีกครั้ง    เก็บความจากความทรงจำของขุนวิจิตรมาตรา   
     ในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖    ถนนราชดำเนินกลางยังคงรักษาลักษณะแบบเดิมที่ถูกสร้าง คือเป็นแบบเดียวกับถนนราชดำเนินนอก    มีสายใหญ่ตรงกลาง คั่นด้วยบาทวิถีปลูกต้นมะฮอกกานี และมีทางเล็กขนาบข้าง   เป็นถนนสายร่มรื่นที่ค่อนข้างว่างเปล่า นานๆจะมีผู้คนสัญจรผ่านไปมา     เนื่องจากสองข้างทางไม่มีร้านค้า   
แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. 2475   ถนนราชดำเนินก็พลิกโฉมใหม่อย่างมโหฬาร   นอกจากเกิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นมาตระหง่านอยู่บนสี่แยก    ก็ตามมาด้วยอาคารใหญ่โตสองข้างทาง   ตัวถนนก็ถูกรื้อของเดิมทิ้งกลายเป็นถนนสายใหญ่สายเดียว  ตัดต้นมะฮอกกานีทิ้งหมด   กลางถนนทำเกาะกลางปูด้วยกระเบื้องลายสี      อาคารใหญ่โตสองข้างทางมีไว้ให้เช่า

     พ่อค้าพากันไปเช่าร้านที่อาคารเหล่านี้เพื่อค้าขาย เพราะคิดว่าคงจะมีประชาชนสนใจมาซื้อสินค้าบ้าง  แต่กลับขาดทุน  มีคนเดินโหรงเหรง    เพราะถนนร้อนระอุทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา      นอกจากนี้ค่าเช่าก็แพง   จึงเลิกกิจการกันไปหลายราย    ในตอนหลัง เทศบาลปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นให้ร่มเงา ก็ค่อยดีขึ้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 27 ก.ค. 13, 09:41

จากกระทู้เก่า
กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5425.30

อ้างถึง
NAVARAT.C
และด้วยข้อมูลดังกล่าว ผมจึงทดลองกำหนดจุดที่ตั้งป้อมต่างๆที่อยู่ตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมได้ และขอเสนอไว้ให้วิจารณ์กันด้วยเป็นของแถม
อย่าลืมว่านอกแนวคลองออกไป สมัยนั้นยังเป็นท้องไร่ท้องนาอยู่ ป้อมต่างๆในแผนผังนี้เป็นป้อมโดดๆ เรียกว่า ป้อมปีกกาคือมีแต่ตัวป้อมไม่มีกำแพงเมืองต่อเนื่องกันไป เช่นอาณาบริเวณพระนครเดิมถัดจากคลองคูเมือง ยุทธวิธีโบราณที่จะใช้เมื่อเกิดศึกมาประชิดติดเมืองนั้น ก็จะปักระเนียดไม้ชักปีการะหว่างป้อมให้ถึงกันตลอดแนว แล้ววางกำลังทหารเป็นแนวต้านทานด่านหน้า

ตามที่ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ เรื่องสถานที่แลวัดถุซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ อันเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในชั้นหลังระบุว่า
 
๓๒ ขุดคลองแลทำถนนในจังหวัดพระนคร ๑ คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ โปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเปนแม่กอง ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ(วร) เปนนายงานขุด คลองแต่ลำแม่น้ำที่ใต้วัดเทวราชกุญชรผ่านคลองมหานาคไปออกแม่น้ำ ที่เหนือวัดแก้วแจ่มฟ้าคลอง๑ ๑ เปนคูพระนครชั้นนอกกว้าง ๑๐ วาลึก ๖ ศอก ยาว ๑๓๗ เส้น ๑๐ วาสิ้นค่าจ้างขุดเปนเงิน ๒๗,๕๐๐ บาท สำเร็จในปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ ได้เปิดคลองเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ค่ำ ๑ พระราชทานนามว่า คลองผดุงกรุงเกษม แลมีงานมโหรศพ ฉลอง ๓ วัน ต่อมาโปรดให้สร้างป้อมตามแนวคลองเปนระยะห่างกันประมาณ ๑๒ เส้น รวม ๘ ป้อม คือ ๑ ป้อมป้องปัจจามิตร อยู่ฝั่งตวันตกที่ปากคลองสาร ๒ ป้อมปิดปัจนึก อยู่ที่ปากคลองผดุง ฯ ข้างใต้ ๓ ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ๔ ป้อมผลาญไพรีราบ อยู่ตรงตลาดหัวลำโพง ๕ ป้อมปราบสัตรูพ่าย อยู่ที่ริมวัดพลับพลาไชย ๖ ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ อยู่ตรงมุมถนนหลานหลวง ๗ ป้อมหักกำลังดัษกร อยู่ตรงถนนราชดำเนิน ๘ ป้อมพระนครรักษา อยู่ริมวัดนรนารถ
 
ป้อมชื่อนั้นชื่อนี้อยู่ที่วัดหรือถนนโน่นนี่นั่น ความจริงแล้ว ช่วงเวลาที่ป้อมสร้างขึ้นสถานที่ดังกล่าวยังหามีไม่ แม้ตัวป้อมเองก็อาจมีแต่ชื่อ ยังไม่ได้สร้าง หรือยังสร้างยังไม่เสร็จก็ทิ้งฐานรากค้างไว้ด้วยหมดความจำเป็น เพราะยุทธวิธีในการรบชิงเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว
สมัยรัชกาลที่๕ ทางราชการจึงรื้อป้อมที่สร้างค้างไว้ลง เอาพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างอื่นแทน
ป้อมพวกนี้ไม่เกี่ยวกับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯนะครับ แผนของท่านที่จะรับมือศึกฝรั่ง คือถอยไปตั้งแนวปราการรับที่ริมแม่น้ำป่าสัก สระบุรี แถวบ้านสีทาอำเภอแก่งคอย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 31 ก.ค. 13, 20:03

ขอข้ามเวลามาจนถึงพ.ศ. 2516  เมื่อถนนราชดำเนินกลายเป็นเส้นทางรองรับประชาชนนับจำนวนแสน ชุมนุมกันโดยรัฐบาลมิได้คาดหมายมาก่อนว่าเหตุการณ์จะก้าวขึ้นมาถึงขั้นนี้

จุดเริ่มต้นเกิดจากข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวหนึ่ง ตอนแรกก็ไม่มีใครคิดว่าจะกลายเป็นเหตุลุกลามใหญ่โต  คือข่าวเฮลิคอปเตอร์ของทหารหมายเลข ทบ. 6102 ตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม   การที่ฮ. ประสบอุบัติเหตุตกเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่แปลกอะไร   แต่ที่แปลกประหลาดก็คือ ฮ.ไม่ได้ตกเปล่าๆ แต่มีซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมาหล่นเรี่ยราด 
ว่ากันว่าที่มันตกก็เพราะบรรทุกซากสัตว์หนักเกินไป      ความจึงเปิดเผยออกมาว่ามีการนำงบประมาณ ยานพาหนะ และอาวุธสงครามของราชการไปใช้ในภาระกิจเฮฮาล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี โดยผู้นำคณะเป็นคนใหญ่โตในคณะรัฐบาล ทั้งยังมีดาราสาวคนหนึ่งร่วมไปอีกด้วย
จากนั้น  เกิดคำถามและการต่อต้านจากองค์กรอนุรักษ์และประชาชนมากมาย แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่าง  มีการอ้างว่าไปสืบราชการลับเพื่ออารักขานายพลเนวินจากพม่า   จากเหตุการณ์นี้เอง นิสิตนักศึกษาได้ร่วมกันพิมพ์หนังสือบันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ออกจำหน่ายในช่วง ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 ขายได้กว่า 200,000 เล่มภายใน 2 สัปดาห์ แล้วนักศึกษารามคำแหง 9 คนที่ออกหนังสือชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ" ตามมามีข้อความกระทบผู้นำโดยตรง โดนคัดชื่อออกจากการเป็นนักศึกษา เป็นผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง แล้วนำไปสู่ การชุมนุมในวันที่ 21 และ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2516 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 31 ก.ค. 13, 20:10

   ในระยะแรกเพียง นศ.เพียงแค่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้ง 9 คนกลับเข้าเป็นนักศึกษาดังเดิม พร้อมกับเรียกร้องให้อธิการบดีรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ต่อมา เหตุการณ์ลุกลามจนถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และ เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือน    ผลจากการเรียกร้องคืออธิการบดียอมลาออกและมีการรับทั้ง 9 คนเข้าเรียน  แต่ก็เพียงเท่านั้น   รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ได้ตอบสนองเรื่องรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

   กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง “ กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” ขึ้น นำทีมโดย นายธีรยุทธ บุญมีและในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2516 กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้นัดสื่อมวลชน เพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การดำเนินงานของกลุ่ม ว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน

   พลังของนักศึกษาและประชาชนเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่รู้จักมาก่อน และไม่ได้รับมือให้ถูกต้อง  พลังของฝ่ายนี้จึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง   ผู้นำนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น คือ ธีรยุทธ บุญมี จากจุฬาฯ เสาวณีย์ ลิมมานนท์ จากธรรมศาสตร์ สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ จาก เกษตรศาสตร์ ราชันย์ วีระพันธ์ จากรามคำแหง เป็นต้น                 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 31 ก.ค. 13, 20:17

     เมื่อรัฐบาลตอบโต้ด้วยการจับกุมผู้นำนักศึกษาที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญไป 11 คน ต่อมาเพิ่มอีก 2 เป็น 13 คน  ตั้งข้อหา “ มั่วสุ่มชักชวนให้มีการชุมชนทางการเมือง” เพราะในขณะนั้นอยู่ระหว่างใช้กฎอัยการศึก ห้ามมีการชุมนุมทางการเมือง   ก่อกระแสความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างกว้างขวาง     ถนนราชดำเนินกลายเป็นที่ชุมนุมของประชาชนนับแสน  เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยผู้ต้องหาโดยไม่มีเงื่อนไข  
    


บันทึกการเข้า
Lonelybankz
มัจฉานุ
**
ตอบ: 62


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 03 ส.ค. 13, 04:54

อีกภาพที่ต่อจากด้านบน   นักบินถ่ายสองช๊อตติดต่อกัน

มีภาพชัดกว่านี้มั๊ยครับ อยากเห็นภาพวังตรอกสาเกที่อยุ่ด้านหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ จากภาพเห็นอาณาบริเวณวังชัดกว่าปัจจุบันมาก เพราะปัจจจุบันมีชุมชมชนแออัด ตึกแถว และป่ารกถ้าไม่เดืนเข้าในซอยสังเกตดีๆ แทบจะมองไม่เห็นแล้ว ต้นไม้เยอะมาก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง