เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 29358 ตัดถนนราชดำเนิน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 06 ก.ค. 13, 20:41

รูปในค.ห. 8  ยังพอมองเห็นเค้าเดิม  ดูออกว่าอะไรเป็นอะไร  แต่พอมาถึงค.ห. 10  มองไม่เห็นของเดิมแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณหนุ่มสยาม  ขอไปได้มาทันใจ   นึกแล้วว่าต้องมีแผนที่ให้ดูอย่างละเอียด 
เส้นทางเก่าที่คุณหนุ่ม siamese เขียนมาให้ดู มันเป็นเส้นทางหัก  ไม่สวย   จึงทรงมีพระราชดำริตัดถนนเสียใหม่    คือตัดผ่านเข้าไปในสวนซึ่งมีคนอยู่น้อย และเป็นที่หลวง ไม่ลำบากต้องเวนคืน   เหตุผลอีกอย่างคือเป็นถนนที่ตรงแนวพระที่นั่งสวนดุสิตซึ่งกำลังสร้างอยู่     ทรงวางแปลนให้เป็นถนนสายกว้างใหญ่  ปลูกต้นไม้เป็นแนวให้เงาร่มรื่น และดูเป็นสง่า

ทรงกำหนดขนาดใหม่ อย่างละเอียดลออ ตามนี้

" กำหนดเขตที่ดิน กว้างเฉพาะถนนสายกลางกับท่อน้ำด้วย ๘ วา  ที่ปลูกต้นไม้กับทางคนเดิน ๒ ข้างถนนสายกลาง ข้างละ ๕ วา   ถนนรถสายนอก ๒ ข้าง กับท่อน้ำด้วย ข้างละ ๔ วา    ทางคนเดินสายนอกอีก ๒ ข้างๆ ละ ๑ วา ๒ ศอก    รวมเป็นที่เฉพาะ ๑ เส้น ๙ วา   กับที่ดินริมถนนอีกกว้างข้างละ ๑๗ วา ๒ ศอก   รวมทั้งสิ้นเป็นที่ว่าง ๓ เส้น ๔ วา"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 06 ก.ค. 13, 21:00

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงตัดถนนเจริญกรุง  ชาวบ้านก็รู้สึกว่ากว้างมากแทบจะเดินข้ามไม่ไหวอยู่แล้ว   แต่ถนนราชดำเนินในรัชกาลที่ 5  ยิ่งกว้างหนักเข้าไปอีก    เป็นถนนแบบใหม่ล้ำสมัย  ไม่เคยมีมาก่อนในสยาม     เพราะแบ่งเป็นถึง 5 ช่องทาง  ช่องกลางที่กว้างที่สุดใช้เป็นทางสำหรับรถม้าและรถยนต์    ทางเล็กๆขนาบสองข้างลาดซีเมนต์ใช้เป็นทางคนเดิน   ถัดไปเป็นทางเส้นนอกขนาดย่อมๆสำหรับรถลาก    ริมถนนปลูกต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม 
    กล่าวกันว่าทรงได้แบบอย่างมาจากถนนชองเซลีเซ่ของปารีส      กลายมาเป็นถนนสายใหญ่สุดและสวยงามที่สุดของกรุงเทพ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 09:48

เรื่องแนวคิดที่จะตัดถนนราชดำเนินและที่มาแห่งคำว่า "ราชดำเนิน" อ้างถึงพระราชหัตถเลขา ถึงกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งยังดำรงเสนาบดีกระทรวงนครบาล วันที่ ๒๒ กันยายน ร.ศ. ๑๑๘ ดังนี้

"...มาลเบอเรอ (Marlborough) ก็อยู่หน้าเบิคกิงฮัม (Buckingham Palace) ถนนก็เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันเหตุขัดขวางจากประชาชน และให้ประชาชนมีที่ดินถูกเวนคืน เพื่อตัดถนนได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน แต่จะทดลองตัดถนนโดยวิธีชดใช้ค่าที่ดินให้กับราษฎร....เพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินวังสวนดุสิตด้วย.....โดยทรงพระราชทานนามถนนราชดำเนิน ตามอย่าง Queen's Walk ใน Green Park"

ที่มา วิทยานิพนธ์เรื่องการสร้างถนนราชดำเนิน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 10:06

ขอขยายความจากคุณ siamese ค่ะ

อ้างถึง
โดยทรงพระราชทานนามถนนราชดำเนิน ตามอย่าง Queen's Walk ใน Green Park

ควีนส์วอล์ค เป็นทางเดินทางฝั่งใต้ของแม่น้ำเทมส์   รถเข้าไม่ได้ค่ะ  เดินเท้าอย่างเดียว     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มิได้เอาแบบของควีนส์วอล์คมาใช้เป็นแบบของถนนราชดำเนิน แต่เอา "ชื่อ" มาเป็นแนวทางตั้งชื่อถนนสายใหม่   ควีนส์วอล์คก็คือ "ราชินีดำเนิน"

ส่วนถนนราชดำเนินนอก ได้แบบอย่างการก่อสร้างจาก “ถนนชองป์เอลิเซ่” ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส

รูปข้างล่าง
ซ้ายคือ queen's walk  ขวาคือถนนชองป์เอลิเซ่


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 19:12

ภาพนี้เก่ามาก ๆ เนื่องจากยังคงเห็นประตูเมืองขวางถนนราชดำเนินอยู่


บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 19:33

ประตูนี้กลายเป็นผิวถนนราชดำเนินกลาง  ตรงไปสะพานผ่านฟ้าฯ
บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 20:37

ตอนถนนราชดำเนินกลางเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ตึกสามชั้น (?) ใหม่ๆ ข้างทางตลอดถนน เรียกเป็นตัวเลข เช่น อาคาร ๘ ฯลฯ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ มีอาคารหลังหนึ่ง อยู่ทางฝั่งใต้ของราชดำเนินกลาง ยุบทั้งหลัง ดูเหมือนจะเพิ่งสร้างเสร็จหรือระหว่างสร้าง ตรงนั้นเลยมีแต่ซากอาคารค้างอยู่หลายปี จำไม่ได้ว่าอาคารเบอร์เท่าไหร่  หลังสงครามโลกที่สองใหม่ๆพ่อแม่ยังอยู่โคราช แต่ส่งผมกลับมากรุงเทพฯก่อนตอนจะเปิดปีการศึกษา พอดีอาว์มีบ้านอยู่แถวถนนจักร์พงษ์ ไม่ไกลเซ็นต์คาเบรียล ผมเลยมาพักอยู่กับอาว์สองสามเดือน ช่วงนั้นทหารอังกฤษ ออสเตรเลีย ซิค กูระข่า ที่โดนญี่ปุ่นจับได้แล้วขังไว้ที่ ม.ธรรมศาสตร์ระว่างสงคราม ยังรอกลับบ้านเกิด พวกนี้ดูท่าทีจะมีเงินเหลือใช้ เพราะรัฐบาลคงจ่ายเบี้ยเลี้ยงที่ค้างระหว่างเป็นเชลยให้  สามีอาว์ผมเป็นพ่อค้าทันสมัยหัวไว เห็นโอกาสว่าพวกเชลยกับทหารฝรั่งที่อยู่เมืองไทยตอนนั้นไม่มีรองเท้าพลเรือนมีแต่รองเท้าราชการจ่าย ถึงเข้าตามร้านก็หารองเท้าที่ใหญ่พอเท้าฝรั่งไม่ได้ หาร้านขายเสื้อเชิตร์ขนาดใหญ่ๆไม่ได้ เลยเปิดร้าน ชูไทย ขายรองเท้า ขายเสื้อ ที่ถนนราชดำเนินกลาง คิดว่าเป็นอาคาร ๘  เสาร์อาทิตย์ผมไปช่วยที่ร้านเพราะพนักงานขายพูดอังกฤษไม่ค่อยได้ สำหรับเด็กอายุ ๑๑ ขวบก็สนุกดี ได้ซ้อมภาษา ได้พบคนหลายๆชาติ พวกที่เป็นเชลยมาดูท่าทีก็แข็งแรงดี ชวนให้คิดว่าคนไทยไม่ได้ทำทารุณกรรมกับเชลย

พ่อเล่าให้ฟังว่าระหว่างสงครามโลก เครื่องบินทะเล PBY ของอเมริกันที่มาโปรยทุ่นระเบิดในอ่าวไทย ถูกยิงตกที่เกาะช้าง เกาะกูด หรือเกาะกง จำไม่ได้ ทั้งฝ่ายไทยกับฝ่ายญี่ปุ่นตกลงกันไม่ได้ว่านักบินกับนักบินผู้ช่วยเป็นเชลยของใครแน่ เลยต้องตั้งกรรมการสอบสวน พ่อผมเป็นตัวแทนกรมช่างอากาศ ได้ความว่าที่เกาะนั้นมีเรือรบญี่ปุนกับเรือรบไทยจอดอยู่ ทั้งสองลำใช้ปืนยิงเครื่องบินทะเลที่กำลังจะหว่านทุ่นระเบิด เครื่องบินตก รอดมาเฉพาะนักบินกับนักบินผู้ช่วย นักบินให้การต่อคณะกรรมการว่า ระหว่างเตรียมจะหว่านทุ่นเครื่องโดนยิงจากเรือรบสองลำที่ทอดสมออยู่ใกล้เกาะ กระสุนชุดแรกมาจากเรือที่ดับไฟมืด โดนเครื่องบินแต่เครื่องไม่เสียการทรงตัว ชุดที่สองมาจากเรือที่ไม่ได้ดับไฟสนิท กับรุ้ว่าขนาดกระสุนเล็กกว่าชุดแรกทำให้เครื่องบินบังคับลำบาก เริ่มหัวทิ่ม นักบินให้ทหารในเครื่องไปท้ายเครื่องเพื่อพยายามเปลี่ยนดุลย์ แต่ไม่สำเร็จ รอดมาแค่นักบินกับนักบินผู้ช่วย สรุปว่าตกเพราะกระสุนชุดที่สองซึ่งขนาดลำกล้องเล็กกว่าจากเรือที่ไฟดับไม่สนิท  เรือไทยใช้ปืนขนาดลำกล้องเล็กกว่าญี่ปุ่น กับ ไม่ได้ดับไฟมืดสนิท ตกลงกรรมการลงความเห็นว่าเป็นเชลยของไทย  พ่อผมบอกว่านักบินฝรั่งกับผู้ช่วยนักบินดีใจจนออกหน้าออกตาที่จะไม่ต้องเป็นเชลยญี่ปุ่น

พูดถึงเชลย ที่บ้านเคยมีดาบทหารญี่ปุ่นอยู่สองเล่ม ผมถามพ่อว่าได้มาจากไหน พ่อบอกว่าตอนสงครามโลกเลิก นายทหารญี่ปุ่นจะต้องยอมสละดาบหรืออาวุธเพื่อแสดงความจำนน มีนายพันเอกญี่ปุ่นสองคนบอกพ่อว่า การยอมจำนนกับคนเอเซียนยศเท่าๆกันจะดีกว่ายอมจำนนกับฝรั่ง แล้วมอบดาบให้พ่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 20:55

สนุกดีครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 21:17

อ่านเพลินมากค่ะ   นึกอะไรได้เชิญร่วมวงอีกนะคะ

มีถนนสายเก่าอยู่สายหนึ่งชื่อถนนเบญจมาศ สมัยนั้นสะกดว่าเบญมาศ  มีความยาวตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ถึงถนนพระลาน  เมื่อมีการตัดถนนสายใหม่  ถนนเบญมาศก็ถูกกลืนหายไปกลายเป็นถนนราชดำเนินนอก  ซึ่งทอดยาวตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงถนนศรีอยุธยา

ถนนราชดำเนินที่ตัดใหม่มี 3 ช่วง   คือถนนราชดำเนินนอกที่เหมือนชองป์เอลิเซ่ดังที่กล่าวแล้ว   ต่อมาคือถนนราชดำเนินกลาง เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึงสะพานผ่านพิภพลีลา   ยาว 1,200 เมตร    เชื่อมระหว่างราชดำเนินนอกและราชดำเนินใน   ซึ่งเริ่มจากหน้าพระลานถึงสะพานผ่านพิภพลีลา  ยาว 525 เมตร

การสร้างถนนราชดำเนิน เริ่มตัดตั้งแต่ถนนสายเก่าอีกสายหนึ่งชื่อถนนพฤฒิบาศ    ขอแยกออกซอยไปหน่อยค่ะ ถึงคำว่าพฤฒิบาศ คำนี้หมายพราหมณ์พวกหนึ่ง มีหน้าที่ทําพิธีเกี่ยวกับช้างและ ปัดเสนียดจัญไร   เข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา เห็นได้จากประวัติสกุลบุณยรัตพันธุ์ที่บอกว่าต้นสกุลเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศมาจากอินเดียตั้งแต่อยุธยาตอนกลาง        แต่ถนนพฤฒิบาศที่ว่าทำไมถึงชื่อนี้  คุณส.พลายน้อยบอกว่าน่าจะมาจากชื่อประตูเมืองที่เคยอยู่ริมถนนสายนี้ ชื่อประตูพฤฒิบาศ  เป็นประตูให้ช้างเข้าออก   พราหมณ์พฤฒิบาศก็คงเข้าออกประตูนี้ไปทำพิธีกรรมเกี่ยวกับช้าง ประตูจึงตั้งชื่อตามนี้  ต่อมาก็เป็นชื่อถนนที่ผ่านประตู
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 22:01

ภาพนี้เก่ามาก ๆ เนื่องจากยังคงเห็นประตูเมืองขวางถนนราชดำเนินอยู่
ประตูพฤฒิบาศใช่ประตูนี้หรือเปล่าครับ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 22:29

คำถามแบบนี้ ขอมอบสัมปทานให้คุณหนุ่มสยามเจ้าของรูปค่ะ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 07:40

คำถามแบบนี้ ขอมอบสัมปทานให้คุณหนุ่มสยามเจ้าของรูปค่ะ

"ประตูพฤฒิบาศ"

ประกาศก่อสร้างถนนอุณากรรณ เมื่อ ๑ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๗ เรื่องตัดถนนอุณากรรณ ความยาว ๗๒๐ เมตร

" ให้ตัดถนนขึ้นใหม่ ตรงช่องถนนเข้าสารผ่านสวนตึกดิน ไปออกตรงช่องประตูพฤฒิบาศให้เปนทางใหญ่ ..."

แต่ยังหาแผนที่ถนนอุณากรรณไปออกประตูยังไม่พบ  ตกใจ




บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 16:09

บทความนี้ข้ามไปถึงตอนที่ สร้างตึกริมถนนเสร็จแล้วในสมัย จอมพล ป.

ถนนราชดำเนิน ในความทรงจำ ของ ครูใหญ่ นภายน
คัดลอกจาก วารสารเมืองโบราณ (ผมก๊อปมาจากไทยดีวีดี อีกที)

ปี พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๔๗๙ ตอนนั้นยังเป็นเด็ก ผมชอบหนีโรงเรียนไปเที่ยวแถบถนนราชดำเนินมาก
ทั้งๆ ที่บ้านอยู่ถึงถนนสี่พระยาตอนวัดแก้วแจ่มฟ้าล่าง เพราะไปติดใจมะขามที่ปลูกไว้ตามริมสอง
ฟากถนน แถมยังมีม้านั่งเหล็กลวดลายงามมาก ตั้งไว้เป็นระยะๆ ตามช่องของต้นมะขาม เวลาไปไหนๆ
มาเหนื่อยๆ ก็มานั่งพักที่นี่ อากาศดีเหลือหลาย อีกทั้งถนนด้านนอกก็ปลูกต้นมะฮอกกานีเรียงราย
ทำให้ร่มรื่นร่มเย็นเวลาเดินทาง

ท่านที่เคารพ...ท่านคงจะสงสัยว่าทำไมบ้านผมอยู่ถึงถนนสี่พระยา ดันผ่ามาเที่ยวไกลถึงเพียงนี้



โอ๊ย…สมัยนั้นไม่ต้องเป็นห่วงพวกเด็กๆ อย่างผมดอกฮะ เพราะว่าการไปมาสมัยนั้นมันสะดวกมาก
แหม…ก็ในกรุงเทพฯ ของเรามีรถรางแล่นไปแล่นมาตั้งหลายสาย ก็เลือกเอาซิฮะว่าสายไหนมัน
ใกล้กับที่เราจะไป

อย่างเช่นรถรางสายหัวลำโพง - บางลำพู ต้นทางอยู่ที่เชิงสะพานหัวลำโพงริมคลองมหานาค
ไปถึงสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) เลี้ยวซ้ายไปตามถนนบำรุงเมือง ผ่านโรงเลี้ยงเด็ก ผ่านสี่แยก
สะพานดำ (การประปา) ผ่านไปประตูผีหน้าโรงพักสำราญราษฎร์ เราลงตรงนี้เดินผ่านวัดเทพธิดา
วัดราชนัดดา ก็ถึงป้อมมหากาฬพอดี หรือว่าขี้เกียจเดินก็รอรถรางสายรอบเมืองที่ผ่านประตูผี
ไปป้อมมหากาฬ ข้ามถนนราชดำเนินเราก็ลง

หรืออีกสายหนึ่งซึ่งเป็นสายเอกคือถนนตก - หลักเมือง ที่เป็นรถรางสายแรกของเมืองไทยตั้ง
แต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นที่หัวถนนสี่พระยาตรงหน้าโรงน้ำแข็งนายเลิด ผ่านตลาดน้อย วัดสามจีน
(วัดไตรมิตร) สามแยก (ซากั๊กโล่) ผ่านโรงหนังพัฒนากร สมาคมกว๋องสิ่ว วัดเล่งเน่ยยี่ สี่แยก
ห้อยเทียนเหลา พอถึงสี่แยก เอส.เอ.บี. ก็ลงต่อรถรางสายบางลำพู - สี่เสาเทเวศร์ ผ่านสี่แยก
สะพานดำ ภูเขาทอง ดงกล้วย เลี้ยวขวาไปทางนางเลิ้ง ขึ้นสะพานเทวกรรมฯ เลี้ยวซ้ายหน้า
สนามม้านางเลิ้ง ผ่านตึกเจ้าพระยารามราฆพ (ทำเนียบรัฐบาล) ไปถึงสวนมิสสกวันก็ลง

เห็นมั้ยฮะ การเดินทางสะดวกสบายเป็นที่สุด

นี่แหละการท่องเที่ยวของเด็กๆ สมัยนั้น

อ้อ…เรื่องค่ารถหรือฮะ ไม่ต้องเป็นห่วง เรามีวิธีการขึ้นรถรางโดยไม่เสียสตางค์ วิธีการง่ายๆ เรา
จะขึ้นคันไหนก็ได้ แต่ต้องคอยมองดู นายตรวจเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะมาขอตรวจตั๋ว เมื่อนายตรวจ
มาเราก็รีบลงซะ แล้วรอขึ้นคันใหม่ต่อไป และก็ปฏิบัติการเหมือนอย่างเดิมนี้จนถึงจุดหมาย

สมัยก่อนเวลาจะไปเที่ยวงานภูเขาทอง เราก็รีบไปก่อนเพื่อจะได้ไปเก็บมะขามแถวๆ ถนนราชดำเนิน
กินให้ฉ่ำปากซะก่อน แล้วจึงย้อนไปเที่ยวงานภูเขาทอง เมื่อถึงงานก็รีบขึ้นไปบนภูเขาทองทันที
เล่นปาสายรุ้งบ้าง เก็บสายรุ้งบ้าง เหนื่อยก็ลงมาซื้อของกิน แต่ต้องคอยดูเวลาให้ดี เพราะถ้า
รถรางเลิกก็ต้องเดินกลับบ้าน

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๓ ชาวบ้านในเขตราชดำเนินที่เคยอยู่กันมาอย่างร่มเย็นทั้งสองฝั่ง
ก็ต้องรื้อถอน บ้านเรือนไปหาที่อยู่ใหม่กัน แม้แต่ถนนราชดำเนินดั้งเดิมก็ถูกทุบทิ้ง เพราะว่ารัฐบาลสมัย
ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต้องการใช้ที่เหล่านั้นตัดทำถนนใหม่ให้ใหญ่โต
เพื่อต้อนรับแขกชาวต่างประเทศ ทั้งสองฟากถนนที่รื้อบ้านเรือนไปก็ให้สร้างเป็นตึกแบบทันสมัย
โดยมีคุณหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก

ถนนใหม่สายนี้ เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีแต่คนนินทาว่ากล่าวต่างๆ นานา ว่าสร้างขึ้นมาเพื่อให้ช้างม้า
วัวควายที่ไหนมาเดินกัน ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรสักนิด เสียเงินเสียทองไปเปล่าๆ บ้างก็ว่าสร้างขึ้น
มาเพื่อสะสมบารมี ถือดีว่ามีอำนาจ

โถ...คุณปู่กะคุณย่า คุณตากะคุณยาย ขอรับ ถ้าท่านมีชีวิตยืนยาวมาถึงจนปัจจุบันนี้ ถนนที่ท่านว่า
มันใหญ่โตเหลือขนาดนั้น เดี๋ยวนี้รถมันยังติดกันเป็นแพสุดที่จะแก้ไข เห็นรถมันจอดเต็มถนนไปหมด
ไม่รู้ว่าจะกระดิกไปทางไหนแล้วล่ะจ้ะ

ปี พ.ศ.๒๔๘๓ เมื่อถนนราชดำเนินสร้างเสร็จ ตึกทั้งสองฟากถนนก็สร้างเสร็จ แม้แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ที่สร้างขึ้นตรงสี่แยกถนนดินสอก็เสร็จเรียบร้อย แล้ว จึงเปลี่ยนไปเรียกสี่แยกนั้นว่าสี่แยกอนุสาวรีย์
ประชาธิปไตย พอถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลก็จัดฉลองงานวันชาติขึ้น มีการเดินสวนสนาม
ทั้งทหารบก ทหารเรือ และยุวชนทหาร โดยมี ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรียืน
เป็นประธานรับความเคารพอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่าง สง่างามสมศักดิ์ศรี









คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 16:11

ต่อไป

ครั้นพอถึงวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ก็มีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
คืนมาจากฝรั่งเศส บรรดานิสิตและนักเรียนเตรียมอุดมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับบรรดา
นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมกับบรรดาพ่อค้าประชาชน
ก็พากันมาเดินที่ถนนราชดำเนินซึ่งเพิ่งจะสร้างขึ้นมาใหม่ๆ นี่แหละครับ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะกำลังเร่งมือก่อสร้างเพื่อให้เสร็จทันกำหนด พฤษภาคม ๒๔๘๓

ต่อจากนั้นก็เกิดสงครามกรณีพิพาทขึ้นระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยที่ฝรั่งเศส
เป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน ด้วยการนำเอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๒๘
พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นครั้งแรก

ทีนี้ขอย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องราวการสร้างตึกใหม่เรียงเป็นแถวทั้งสองฝั่ง ถนนราชดำเนินที่
ดูแล้วสวยงามสมศักดิ์ศรี เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยสมัยนั้น สิ่งนี้แหละที่ชักชวนให้
บริษัท ห้าง ร้านค้า รีบมาเช่าดำเนินกิจการกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ตรงหัวมุมตึกแถวล็อกแรกขวามือด้านผ่านฟ้า เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย
สมัยนั้น มีชื่อว่าห้างไทยนิยม แต่ละวันมีผู้มาอุดหนุนกันอย่างเนืองแน่น ห้างนี้ตั้งอยู่นานแล้วก็เลิก
กิจการไป ดูเหมือนสมัยหนึ่งที่ชั้นล่างสุดเคยเป็นโรฟิโนไนท์คลับ ซึ่งมีครูสมาน กาญจนผะลิน
เป็นหัวหน้าวงดนตรี

ถัดขึ้นไปหน่อยก็จะเป็นโรงแรมสุริยานนท์ เป็นโรงแรมแห่งที่สองของถนนสายนี้ ชื่อของโรงแรม
ฯพณฯ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้ตั้งให้เพื่อเป็นสิริมงคล ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อให้
เป็นฝรั่งว่า “โรงแรมมาเจสติก” เพื่อหวังต้อนรับแขกฝรั่ง ในระยะหนึ่งดูเหมือนจะเปิดเป็นไนท์
คลับที่ด้านข้าง ชื่อว่า “คิงส์เฮฟเว่น”

เดินขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณรอบนอกสมัยนั้นยังไม่มีอะไร ต่อมา
ภายหลัง เจ้าไชยณรงค์ ณ เชียงใหม่ ท่านก็มาสร้างห้องอาหารและบาร์ ติดอยู่กับกำแพงโรงเรียน
สตรีวิทยา ชื่อร้านอะไรก็ลืมเสียแล้ว สมัยนั้นบางคนสั่งเหล้าเบียร์พร้อมกับแกล้ม สั่งให้บ๋อยยก
ไปดื่มกินกันบนลานอนุสาวรีย์นั่นล่ะ (ถ้าเป็นสมัยนี้ถูกจับแน่นอน) ต่อมาอีกระยะหนึ่งตรงถนนดินสอ
หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ก็มีไนท์คลับเปิดขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งชื่อว่าอเล็กซานดร้าไนท์คลับ

เอาล่ะ...ทีนี้ก็เดินเรื่อยๆ ขึ้นไปจนถึงสี่แยกคอกวัว ตอนนั้นยังไม่มีสถานที่สำคัญที่นำมากล่าว ขอ
เดินผ่านไปจนสิ้นสุดตึกแถวแนวราชดำเนินที่บริเวณกองสลากฯ (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)
ตอนนั้นกองสลากฯ ยังไม่ได้สร้าง ที่ดินตรงนั้นจึงว่างเปล่า ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เลิกแล้ว
เซียวก๊ก (บัณฑูร องควิศิษฐ์) ได้มาสร้าง “บาร์คาเธ่ย์” ขึ้น โดยมีครูมงคล อมาตยกุล (เจ้าของเพลง
เย้ยฟ้าท้าดิน) เป็นผู้ควบคุมวง มีคุณเชาว์ แคล่วคล่อง ร่วมด้วย นักร้องก็มีคุณเฉลา ประสพศาสตร์

ต่อมาบาร์คาเธ่ย์ก็เลิกกิจการไป ที่ตรงนั้นกระทรวงการคลังจึงให้กองสลากฯ มาสร้างตึกทำการออกสลาก
ระยะแรกๆ ก่อนออกสลากจะมีวงดนตรีดุริยะโยธินมาบรรเลงให้ประชาชนฟังแล้วจึงออกสลาก ทำอยู่
อย่างนี้จนกระทั่ง ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประธานกองสลากฯ สั่งให้ตั้งวงดนตรีขึ้นมาเพื่อใช้
ในกิจการนี้ ชื่อว่าวงดนตรีวายุบุตร ควบคุมวงโดยเชาว์ แคล่วคล่อง พร้อมนักดนตรีที่มาจากกองดุริยางค์
ทหารบก นักร้องในระยะนั้นคือ จินตนา สุขสถิตย์ ชาลี อินทรวิจิตร วรพจน์ เอี่ยมบริสุทธิ์ ฯลฯ

ตึกกองสลากฯ เก่าถูกเผาไปเมื่อครั้งวันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖

อ้อ…ขอย้อนไปที่ตึกแถวห้องสุดท้าย ต่อมาก็เป็นร้านเทพรส มีชื่อเสียงมาก เวลาเย็นทำเก๋เอารั้วมากั้น
ปิดทางเดินตรงฟุตบาท เอาโต๊ะมาตั้งสำหรับผู้ที่จะมาดื่มน้ำชากาแฟชมวิว แบบอย่างโรงแรมรัตนโกสินทร์
(ขอโทษ…ถ้าเป็นสมัยนี้คงได้นั่งกินฝุ่นเคล้าควันรถยนต์กันมั่งล่ะฮะ) ต่อมาตรงแถวๆ นี้ก็มีห้องอาหาร
โลลิต้าและโลลิต้าไนท์คลับเกิดขึ้น
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 08 ก.ค. 13, 16:15

ต่อไป

เรื่อยๆ มาเรียงๆ จนสิ้นสุดที่กรมโฆษณาการ หรือห้างแบดแมนเก่า เป็นสถานีวิทยุที่ใหญ่ที่
สุดในสมัยนั้น อธิบดีท่านแรกของกรมนี้คือพันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ผู้ริเริ่มวงดนตรีแจ๊สของ
กรมโฆษณาการขึ้นมา ด้วยความร่วมมือของคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ท่านผู้นี้อีกแหละครับ
ที่นายควง อภัยวงศ์ ตั้งสโลแกนล้อท่านว่า “เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง” สมัยเมื่อครั้งลง
สมัครเลือกผู้แทนฯ กรุงเทพฯ

ท่านที่รัก...ผมขอแถมอีกนิดนะฮะ คือเรื่องผีแหม่มเมียนายห้างแบดแมน เขาลือกันว่าดุจน
ต้องให้คุณหลวงสุวิชาญแพทย์มานำเอาวิญญาณไปถ่วงน้ำ เรื่องจึงเงียบไป แต่แล้วเมื่อ
สร้างกรมใหม่ แหม่มแกก็มาปรากฏให้เห็นอีก แสดงว่าแกผูกพันกับกรมมากเหลือเกิน

สมัยก่อนกรมโฆษณาการด้านข้างฝั่งตรงข้ามกรมสรรพากร มีสะพานเหล็กโค้งสำหรับรถราง
สายวิทยุ - บางกระบือ วิ่งไปทางบางลำพู ที่ตรงนั้นเขาเรียกว่า “สะพานเสี้ยว” และตรง
เลี้ยวลงไปทางกรมสรรพากรนี่หละ สมัยก่อนนั้นเป็นห้องแถวสีเขียว เปิดร้านขายสุรา
ยาดองและอาหารกับแกล้มเหล้า พวกนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักวิทยุ มาอุดหนุน
กันอย่างคับคั่ง (แบบกินก่อนผ่อนทีหลัง) เจ้าของเป็นหญิงชื่อเจ๊แวว ใจดีมาก แกไม่
ค่อยจะทวงหนี้เท่าไรนัก จนคนกินเกรงใจ ถ้ามีเงินรีบให้ทันที ร้านนี้แหละที่ทำให้เกิด
ชื่อเพลง ยังจำได้ไหม ที่คุณรวงทอง ทองลั่นธม ขับร้องจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

ท่านที่รัก...ผมแนะนำถนนราชดำเนินฝั่งขวาไปแล้ว เพื่อไม่ให้เสียเวลาจนเกินไป ผมขอ
นำท่านข้ามฟากไปฝั่งซ้ายบ้าง ขอเริ่มต้นจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ก่อนเลยนะฮะ

อันว่าโรงแรมรัตนโกสินทร์นี้ไซร้ เป็นโรงแรมทันสมัยที่สุดแห่งกรุงสยามในสมัยนั้น มีชาว
ต่างประเทศมาพักแรมกันอย่างมากมาย บริเวณรอบๆ โรงแรมเป็นระเบียงโปร่งใสไม่มี
อะไรมาบัง ที่ระเบียงนั้นเขาตั้งโต๊ะไว้เป็นชุดๆ เพื่อให้ผู้ที่มาพักได้ใช้เป็นที่นั่งดื่มน้ำชา
กาแฟอาหารเช้า และตอนเย็นก็เพิ่มเครื่องดื่มชนิดเป็นเหล้าเบียร์มาบริการ พร้อมกับนั่ง
ชมวิวไปด้วย เนื่องด้วยอากาศเย็นสบายตามธรรมชาติ

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ชื่อไทยที่โก้หรูมองดูขัดตาก็เลยเปลี่ยนเป็นชื่อฝรั่งคือ “โรงแรมรอแยล”
ระเบียงเก่าที่เคยนั่งโปร่งใสก็เอากระจกหนามาใส่ไว้รอบด้านทั้งหมด แขกเลยหมด
โอกาสที่จะมานั่งชมวิวเหมือนอย่างสมัยโน้น แถมสถานที่ทางด้านข้างโรงแรมก็เปิดเป็น
ห้องอาหารชื่อว่าสีดา พอตกกลางคืนก็เป็นสีดาไนท์คลับ นักร้องที่นี่ดูเหมือนจะมี
คุณพิทยา บุณยรัตพันธุ์ เจ้าของเพลง จูบกับรอ และคุณรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เจ้าของเพลง
กังหันสวาท

เลยโรงแรมรัตนโกสินทร์ไปนิดเดียวก็เป็นธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นมา
เป็นธนาคารแห่งแรกคู่กับถนนสายนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ปัจจุบันนี้ก็ยัง
ตั้งอยู่เพื่อบริการลูกค้า ภายหลังต่อมาอีกหลายสิบปีก็เกิดมีเซซิบองไนท์คลับมาตั้งอยู่
ข้างๆธนาคาร

ย้อนลงไปอีกนิดก็ถึงสี่แยกคอกวัว ตอนนั้นยังไม่มีอนุสาวรีย์ ๑๔ ตุลา ตึกตรงนั้นปรากฏ
ว่าพอสร้างแล้วพัง และพอพังแล้วก็สร้าง นั่นแหละมีตึกใหญ่เป็นห้างสรรพสินค้าของทาง
ราชการ มีชื่อย่อว่า อ.จ.ส. ต่อมาชั้นบนของตึกนี้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุ ท.ท.ท. ดำเนิน
งานโดยคุณจำนง รังสิกุล และคุณสมจิตร สิทธิไชย สมัยนั้นภาคบ่ายมีทายปัญหาและ
การบรรเลงดนตรีของคณะสุนทราภรณ์ ทุกเสาร์ – อาทิตย์

ตึกนี้มาถูกเผาเมื่อคราว ๑๔ ตุลาคม ๑๖ ราบเรียบไปตามระเบียบอีกแห่งหนึ่ง

ทีนี้จากคอกวัวก็มาถึงสี่แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สมัยก่อนยังไม่มีอะไรที่จะกล่าวถึง
นอกจากมีบ้านหลังหนึ่งลือกันว่า “ผีดุ” วันดีคืนดีผีออกมาเดินเล่น ผู้คนเลยพากันเฮโลไป
นั่งคอยจับผี

หลังจากนั้นอีกนานแสนนาน ก็มีมูแลงรูจไนท์คลับกับห้องอาหาร ดำเนินงานโดยคุณดารารัตน์
เกียรติเกิดสุข เจ้าของเพลง จับปูดำขยำปูนา ดูเหมือนคุณปทุมวดี โสภาพรรณ ก็ร้องเพลงอยู่ที่นี่

ถัดไปริมถนนดินสอก็มีการสร้างโรงภาพยนตร์ เขาเล่ากันว่าตอนก่อสร้างตอกเสาเข็มนั้นมัน
กระเทือนคนป่วยที่อยู่ตึกใกล้ เคียงจนถึงแก่กรรม โรงหนังนี้ทีแรกชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว ดูเหมือน
ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมูนไลท์ ท้ายที่สุดใช้ชื่อว่าพาราไดส์ จนเลิกกิจการไป

ข้ามจากโรงหนังนี้ไปตรงหัวมุมก็จะเป็นร้านศรแดง เมื่อตอนเปิดใหม่ๆ คนเข้าใจกันว่าเป็นร้าน
ของนักมวยเอกในสมัยนั้นที่มีนามว่า อุสมาน ศรแดง แต่ไม่ใช่ - กลับเป็นของคุณอุทัย ชุณหจันทร์

ถอยร่นลงไปจนถึงหัวมุมตรงวัดเทพธิดาราม ตอนนั้นโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยยังไม่ได้สร้าง
ศาลาเฉลิมไทยมาสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ฤกษ์เปิดโรงแสดงละครเวทีเป็น
ปฐมฤกษ์ ด้วยละครเรื่องราชันย์ผู้พิชิต เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๖ ก่อนที่จะทุบและ
รื้อโรงทิ้งได้แสดงละครเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” เป็นเรื่องสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ –
๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ พอแสดงละครเสร็จก็ทุบทิ้งทันที

นี่แหละศาลาเฉลิมไทยที่รัก

ถนนราชดำเนินกลางและอาคารสองฝั่งถนน เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ จะเห็นว่าแทบไม่มีรถยนต์หรือผู้
คนให้เห็นเลย รถยนต์ที่แล่นตามกันเป็นแถวนี้ เข้าใจว่าเป็นกระบวนแห่ในงานพระศพพระบรมวงศานุวงศ์

ในราวปี พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการสั่งปิดถนนราชดำเนินทั้งสาย ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าไปจนถึง
สะพานผ่านพิภพ เพื่อจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่จำได้แม่นก็เพราะว่าในตอนกลางคืน ห้างไทยนิยม
ผ่านฟ้าจัดให้มีลีลาศ มีดนตรีสองวงร่วมบรรเลง คือวงดนตรีดุริยะโยธิน ควบคุมวงโดยครูจำปา เล้มสำราญ
ส่วนอีกวงหนึ่งนั้นคือวงดนตรีกรมโฆษณาการ วงที่สอง - ผมเล่นอยู่วงนี้แหละครับ ส่วนวงที่หนึ่งนั้น
บรรเลงอยู่ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ควบคุมวงโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ทั้งสองวง

พอตอนดึกนางสาวไทยก็มาปรากฏตัว คือคุณสว่างจิตต์ คฤหานนท์ ส่วนรองนางสาวไทยมีสี่คนคือ
คุณสมจิตต์ ลิ้มไพบูลย์ คุณอารีย์ ปิ่นแสง คุณสอาด ลิ่มสวัสดิ์ คุณประชัน ศิวเสน นางสาวไทยชุด
นี้เรียกกันว่า “นางสาวไทยในไฟสงครามอินโดจีน” เพราะเริ่มประกวดเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๓
ก็เริ่มมีการปะทะกันตามแนวพรมแดนด้านอินโดจีนฝรั่งเศส บวกกับเค้าลางสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เริ่มปรากฏ

ในการประกวดนางสาวไทยครั้งนี้ มีอดีตนักร้องนักแสดงละครวิทยุเข้าประกวดถึงสองคนคือ
คุณสุปานี พุกสมบุญ อดีตนักร้องของวงดนตรีกรมโฆษณาการรุ่นแรก ตอนนั้นทำหน้าที่เป็น
แคชเชียร์อยู่ที่ร้านผลิตผลไทย หน้าศาลาเฉลิมกรุง และคุณพรพรรณ วรรณมาศ อดีตนักร้อง
และนักแสดงละครวิทยุคณะจารุกนก และนางเอกภาพยนตร์ (เรื่อง รอยไถหรือ ชายสามโบสถ์
จำไม่ได้จริงๆ) แต่ที่แน่ๆ เธอเป็นคุณแม่ของดาราภาพยนตร์และละครทีวี คือไพโรจน์ สังวริบุตรนี่ล่ะ

ปี พ.ศ.๒๔๘๕ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ถนนราชดำเนินจึงกลาย
เป็นคลองไป สามารถพายเรือไปมาหาสู่กันได้สบายมาก พอน้ำลด ถนนราชดำเนินก็ซบเซาไป
ถนัดตา ห้างโรงร้านค้าก็เริ่มทยอยกันหนีไปหาแหล่งที่ทำมาหากินใหม่

จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๘ – ๒๔๙๕ เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว ถนนราชดำเนินก็กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา
มีทั้งบาร์ มีทั้งไนท์คลับ มีทั้งห้องอาหารหรูๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย

แหม…เกือบลืมสิ่งสำคัญในละแวกราชดำเนินไปเรื่องหนึ่ง สมควรที่จะนำมาบอกเล่าให้อนุชนรุ่นหลังๆ
ได้ทราบไว้บ้าง เช่นในสมัยหนึ่งการขายอ้อยควั่น ของขบเคี้ยวธรรมดาๆ แต่อุตส่าห์มีคนเอาไป
แต่งเพลงโฆษณาให้ด้วยใจปฏิพัทธ์

เรื่องก็มีอยู่ว่า สมัยหนึ่งตรงเชิงสะพานผ่านฟ้าทางที่จะไปนางเลิ้ง มีห้องแถวสองชั้นทาสีเขียวอยู่
ตรงหัวมุมถนน (ปัจจุบันที่ตั้งกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน) มีสาวสวยนางหนึ่งมาตั้งร้าน
ขายอ้อยควั่น อบควันเทียนและโรยกลีบกุหลาบอยู่ที่นั่น พอตกค่ำก็จะมีพวกหนุ่มๆ วัยรุ่นสมัยนั้น
ที่นุ่งกางเกงแพรมีผ้าเช็ดหน้าเหน็บไว้ที่เอว มองดูโก้พิลึก บ้างก็เดิน บ้างก็นั่งสามล้อ บ้างก็ขี่จักรยาน
บ้างก็ขับรถยนต์ มานั่งกินอ้อยควั่นจานละ ๕ บาท (จานขนาดเท่าจานรองถ้วยกาแฟ) อย่างอร่อย
สนุกสนาน

ท่านครับ…สมัยนั้นอ้อยถ้าซื้อกินธรรมดา เขาขายกันสองท่อน ๑ สตางค์ ถ้าซื้อ ๕ สตางค์ ต้องเอา
ไปนั่งควั่นใส่กะละมังกินทั้งบ้าน แต่นี่เขากินเพราะความสวยของแม่ค้า ซึ่งรูปร่างเอวเล็กเอวบาง
ผิวค่อนข้างขาว เธอมีชื่อว่าแม่กลอย อยู่ผ่านฟ้า คนเลยพากันเรียกว่า “แม่กลอยผ่านฟ้า” (ยังมีอีก
คนหนึ่งสวยไม่ใช่เล่น ขายสินค้าชนิดเดียวกัน ตั้งร้านขายอยู่ที่เก้าชั้น เธอชื่อว่าแม่โสภา คนก็เลย
พากันเรียกว่า “แม่โสภาเก้าชั้น” อีกคนหนึ่งสวยเหมือนกัน คนนี้ขายอยู่ท่าพระจันทร์ มีชื่อว่า
แม่ละม้าย คนก็เลยเรียกกันว่า “แม่ละม้ายท่าพระจันทร์”)

ที่จะเกิดเพลงโฆษณาอ้อยควั่นนั้นก็เพราะว่าสมัยนั้นมีการประกวดร้องเพลงตาม งานวัดกันมาก
คนที่ไม่มีเพลงจะร้องก็คิดแต่งขึ้นมาเอง คิดไปคิดมาก็นึกถึงแม่ค้าขายอ้อย ก็เลยเอาทำนอง
เพลงของ “พรานบูรพ์” นี่แหละไปใส่เนื้อร้องใหม่ แล้วเอาไปร้องประกวดตามงานวัด เนื้อเดิม
เพลงของ “พรานบูรพ์” มีดังนี้

แหงนมองฟ้าพบดาว...........ดาดอยู่ขาวสะพรั่ง
เหลียวมองหาความหลัง.......ตื่นหวังจะเห็น แต่ไม่เว้นคำนึง
คล้ายกับเมื่อวันวาน............รักยังหวานซาบซึ้ง
จำสนิทติดตรึง..................ประหนึ่งสลักรักไว้ ว่าหัวใจไม่จาง

คนที่นำมาเปลี่ยนเนื้อร้องใหม่โดยใช้ชื่อแม่ค้าอ้อย เนื้อร้องมีดังต่อไปนี้
แหงนมองฟ้าพบฝน............ร่วงหล่นลงมาปรอยๆ
เห็นแม่ค้าขายอ้อย.............นึกถึงแม่กลอยผ่านฟ้า แม่โสภาเก้าชั้น
เหลียวมองไปคล้ายๆ...........แม่ละม้ายท่าพระจันทร์

จำได้เท่านี้แหละครับ โถ…มันนานเหลือเกิน
เป็นอันว่าการท่องเที่ยวถนนราชดำเนินของผมก็เป็นอันจบลงเพียงแค่นี้ สวัสดีคร้าบ...



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง