เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
อ่าน: 39513 ป.อินทรปาลิต
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 05 ก.ค. 13, 13:30

เคยผ่านสายตาว่า คุณป. เคยเป็นเจ้าของค่ายมวย  แต่ยังหาไม่เจอว่าอ่านพบในเว็บไหน   อีกครั้งหนึ่งเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารด้วย   ก็น่าจะมีรายได้ดีเอาการ

ป.อินทรปาลิตโปรดปรานการกีฬามาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเรียนหนังสือ กีฬาที่ชื่นชอบได้แก่ ฟุตบอล แบดมินตัน และมวย ขณะที่ทำปิยะมิตร ป.อินทรปาลิตมักจะไปดูมวยที่เวทีราชดำเนินแทบทุกนัด เช่นดียวกับนักหนังสือพิมพ์กลุ่มอิศรา อมันตกุล อันได้แก่ ชั้น แสงเพ็ญ, ถนอม อัครเศรณี, สนิท วงศาโรจน์, เสนีย์ กฤษณเศรณี และรัตน์ ศรีเพ็ญ เป็นต้น ที่มักจะยกขบวนไปดูการต่อสู้บนเวทีผ้าใบโดยพร้อมเพรียงกัน รวมทั้งอิศรา อมันตกุลด้วยอีกคนหนึ่ง

มีนักมวยหลายคนที่ ป.อินทรปาลิตคบหาสนิทสนมด้วย เช่น ฉลวย นฤภัย, ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์, ประเสริฐ ส.ส., ทับ กล้าศึก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาน ดิลกวิลาศ ชื่อของ "สุภาพบุรุษสังเวียน"  ในราว ๆ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๔๘๔  สมาน ดิลกวิลาศได้ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ด้วยกันหลายบทหลายตอน เริ่มต้้งแต่ในเรื่องที่สองของสามเกลอคือ ตอนหนุ่มรักสนุก ป.อินทรปาลิตก็ให้นักมวยชื่อดังผู้นี้เข้ามามีบทบาทร่วมกับตัวละครเอกของตนแล้ว เพียงแต่เพี้ยนนามไปเป็น "สมาน เหล็กวิลาศ" เท่านั้น

ด้วยความรักชอบในกีฬามวยและความรู้จักมักคุ้นกับนักมวยหลาย ๆ คน ป.อินทรปาลิตจึงได้ตั้งค่ายมวยขึ้นที่บ้านอุรุพงษ์ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือปิยะมิตรอยู่ ค่ายอุรุพงษ์เป็นที่ชุมนุมของนักมวยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจำนวนหนึ่งอาทิ สมาาน ดิลกวิลาศ, ฉลวย นฤภัย, ประเสริฐ ส.ส., ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์, ชูชัย พระขรรค์ชัย และอุไร ชินกร เป็นต้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 05 ก.ค. 13, 13:50

ขณะนั้น เมืองไทยมีนักมวยที่หาคู่ต่อสู้ได้ยากอย่างยิ่งอยู่สองคนคือ สมาน ดิลกวิลาศ และ สุข ปราสาทหินพิมาย  ประยูร หอมวิไล เจ้าของโรงพิมพ์พานิชชอบ คบคิดกับ ป.อินทรปาลิตที่จะให้นักมวยชื่อดังแห่งยุคทั้งสองได้มาต่อสู้กันบนเวทีผ้าใบ

"ชกกับยักษ์สุขไหม สมาน?" ป.อินทรปาลิตถามสุภาพบุรษสังเวียน

"เอาซีพี่ชา" สมาน ดิลกวิลาศ ซึ่งเรื้อเวทีมานานตกลงรับปาก

ป.อินทรปาลิตและประยูร หอมวิไล จึงต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าฝึกซ้อม ค่าบำรุงตัวและค่าใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สมาน ดิลกวิลาศฟิตตัวเตรียมพร้อมที่จะพบกับสุข ปราสาทหินพิมายกันเป็นการวุ่นวายอยู่ราว ๆ สองถึงสามเดือน

เมื่อถึงวันอันสำคัญของจ้าวสังเวียนทั้งสอง สนามมวยเวทีราชดำเนินคึกคักต้้งแต่เช้าทั้ง ๆ ที่นักมวยจะชกกันในเวลาสี่โมงเย็น ไข่มุกด์และปรานีภรรยาทั้งสองของ ป.อินทรปาลิตต้องหอบกระติกน้ำกับสัมภาระต่าง ๆ เข้าไปรอในสนามมวยตั้งแต่สิบโมงเช้า ส่วน ป.อินทรปาลิตกับบุตรชายขลุกอยู่ในห้องพักนักมวย

สมัยนั้นเวทีราชดำเนินไม่มีหลังคา ผู้คนหลั่งไหลกันมาอย่างมืดฟ้ามัวดินจนไม่มีที่นั่งเพียงพอสำหรับผู้ชม ต้นมะขามใกล้ ๆ สนามมวยมีคนปืนขึ้นไปดูฟรีเต็มทุกต้น เจ้าหน้ามี่ตำรวจเรียกอย่างไรก็ไม่มีใครกลัวและไม่มีใครยอมลง ตำรวจไม่มีปัญญาจะจัดการต้องปล่อยเลยตามเลย นอกจากนี้ทางเวทีราชดำเนินกำลังดำเนินการก่อสร้างหลังคาคลุมสนามมวยอยู่พอดี เหล็กโครงสร้างถูกผูกขึ้นตั้งเป็นเสาสูงรอบ ๆ สนามมวย เตรียมเทปูนเป็นโครงสร้างส่วนหนึ่งของหลังคา ก็มีคนปีนขึ้นไปเกาะอยู่เต็มเสาโลหะทุกต้นเช่นเดียวกับตามต้นมะขาม เพื่อรอดูมวยคู่สำคัญอย่่างทรหดอดทน

เมื่อถึงเวลาชก คนดูตื่่นเต้นกันมาก สมาน ดิลกวิลาศเรื้อเวทีมานาน ฟิตตัวขึ้นมาก็ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงทำอะไรสุข ปราสาทหินพิมายไม่ได้เลย

ป.อินทรปาลิตยืนหน้าซีดเซียวอยู่ข้างเวที สมานถูกยักษ์สุขไล่ถลุงจนพ่ายน็อกไปในที่สุด * ป.อินทรปาลิตทำกล้องถ่ายรูปตกจากมือลงไปสู่พื้นสนามมวยโดยไม่รู้สึกตัว ฤทัย บุตรชายที่ยืนอยู่เคียงข้างจึงเก็บขึ้นมาถือเอาไว้

* ตามประวัติการชก รายงานโดย คุณวิกกี้ สมาน ดิลกวิลาศเคยขึ้นเวทีพบ สุข ปราสาทหินพิมาย ๒ ครั้ง คือ พ.ศ. ๒๔๙๑ เวทีราชดำเนิน สมานแพ้คะแนน และ พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่ลำปาง สมานแพ้น็อกในยกที่ ๔

(ยังมีต่อ)   ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 05 ก.ค. 13, 22:57

เย็นวันนั้น ป.อินทรปาลิตกินข้าวไม่ลง และโกรธสมานมาก เพราะได้ถามแล้วว่าไหวไหม ต้องซ้อมให้สมบูรณ์พอเพียง ซึ่งสมานก็บอกว่าพอแล้ว แต่เมื่อขึ้นชกจริง ๆ ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

ป.อินทรปาลิตเสียใจและโมโหสมาน ดิลกวิลาศอย่างหัวฟัดหัวเหวี่ยง ไม่ยอมให้สมานเข้าพบเลย เมื่อสมานมาหาที่โรงพิมพ์ไทยพานิช ก็สั่งเด็กให้บอกว่าไม่อยู่ ไม่อยากพบ ไม่อย่างเห็นหน้า

ประยูร หอมวิไลรู้สึกเห็นใจนักประพันธ์เอกของตนที่ต้องเสียอารมณ์กับเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงประโลมใจด้วยการพา ป.อินทรปาลิตไปหาซื้อรถ โดย "ป๋ายูร" ออกเงินดาวน์รถเฟี้ยตให้ก่อน ป.อินทรปาลิตค่อยผ่อนต่อเอาเอง คนเห็นผู้จัดการนักมวยขับ "ไอ้เขียว" คันใหม่เอี่ยมออกจากอู่ ก็หาว่าร่ำรวยจากการที่ให้สมานล้มมวย ป.อินทรปาลิตยิ่งหัวเสียหนักเข้าไปอีก ประยูร หอมวิไลต้องคอยปลอบใจอยู่หลายวัน

ไม่กี่ปีต่อมา ป.อินทรปาลิตก็ได้นักมวยชื่อดังสองคนเข้ามาอยู่ในสังกัดด้วยคือ สมเดช ยนตรกิจ (ซ้ายฟ้าผ่า) ซึ่งแยกตัวออกมาจากค่าย "ยนตรกิจ" ของ "ครูตังกี้" กับธนู นฤภัย ค่ายอุรุพงษ์จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เดชธนู" โดยนำเอาชื่อของนักมวยทั้งสองมาผสมกันเข้า ผู้ค้ากำปั้นคนอื่น ๆ นอกจากสมเดชกับธนูแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักมวย "โนเนม" ที่ชื่อเสียงยังไม่ติดอันดับในวงการหมัดมวย และก็มีเพียงไม่กี่คน

ค่ายเดชธนูไม่มีเวทีผ้าใบ นักมวยต้องใช้ลานบ้านเป็นพื้นที่ในการฝึกซ้อม แต่ก็มีกระสอบทรายและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างครบครัน "เย็นเติลแมนสมาน ดิลกวิลาศ สุภาพบุรุษแห่งสังเวียน" ทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ร่วมกับ ป.อินทรปาลิต
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 05 ก.ค. 13, 23:09

ป.อินทรปาลิตสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อการต่อสู้ในกีฬามวย โดยถ่ายทอดผ่านคำพูดของสมาน ดิลกวิลาศ ในหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ตอนหมัดเด็ด ว่า

"โธ่ กลัวอะไรคุณ สิบนิ้วเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ากินเหล็กกินไหลมาจากไหน เราเอาชนะมันไม่ได้ ก็ตายอยู่บนเวทีนั่นแหละ"

และอีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกัน

...กิมหงวนกับนิกรยืนตาปริบ ๆ อาเสี่ยเขยิบเข้ามายืนข้างสมานแล้วกล่าวถามเบา ๆ

"ครู อ้ายพลมันจะสู้ได้หรือครับ?"

สมานยิ้มเล็กน้อย "สู้ได้หรือไม่ได้ ไม่แปลกหรอกครับ สำคัญว่าจะสู้เขาหรือไม่เท่านั้น ธรรมดานักมวย การแพ้หรือชนะเป็นของธรรมดา ถ้าหัวใจแข็งแกร่ง สู้จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายก็ยังไว้ลายให้คนเห็น"


เป็นระยะเวลานานพอสมควรที่ ป.อินทรปาลิตให้การสนับสนุนนักมวยในค่าย "เดชธนู" เงินทุกบาททุกสตางค์ที่สมเดช ยนตรกิจ ธนู นฤภัย และนักมวยในความอุปการะของตนใช้กำปั้นและความเจ็บปวดไปแลกมา ป.อินทรปาลิตผู้อำนวยการค่าย "เดชธนู" ไม่เคยหักเอามาเป็นค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว นักมวยทุกคนได้รับค่าตอบแทนจากหยาดเหงื่อแรงกายของตัวเองกันอย่างครบถ้วน

ป.อินทรปาลิตหมดค่าใช้จ่ายกับกีฬาโปรดของตนไปเป็นเงินหลายหมื่นบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยสำหรับเมื่อสมัยสามสิบกว่าปีที่แล้ว ค่าตอบแทนทีได้รับจากการตั้งค่ายมวย "เดชธนู" ขึ้นในคราวน้้น บันทึกไว้ในความรู้สึกและความทรงจำของ ป.อินทรปาลิตแต่เพียงผู้เดียว

จาก หนังสือ ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน โดย เริงไชย พุทธาโร พิมพ์ครั้งที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 06 ก.ค. 13, 08:25

นึกอยู่เหมือนกันว่ารายได้ของป.อินทรปาลิต คงจะหมดไปกับการลงทุนที่ไม่ได้ผลกำไรขึ้นมา     มีศิลปินน้อยคนนักที่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจ    เพราะอารมณ์ของศิลปินกับวิธีคิดต้นทุนกำไรของพ่อค้า เป็นคนละทางกันเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 07 ก.ค. 13, 16:44

พูดถึงการลงทุนที่ไม่ได้ผลกำไรของ ป.อินทรปาลิต นึกขึ้นได้ถึงเรื่อง "การเลี้ยงไก่"

จากหนังสือของคุณ เริงไชย พุทธาโร เล่มเดิมที่อ้างไว้ข้างต้น  ยิ้มเท่ห์

แม้จะรู้ตัวว่าตนเองประกอบอาชีพอื่นใดก็ไม่ถนัดเท่ากับการเขียนหนังสือ แต่เมื่อครั้งที่เช่าบ้านอยู่ในซอยสีฟ้าราว ๆ ปี ๒๕๙๙-๒๕๐๐ ป.อินทรปาลิตเกิดเห็นดีเห็นงามไปกับการเลี้ยงไก่ขึ้นมา ซึ่งไม่ทราบว่าไปเห็นตัวอย่างมาจากใคร จึงคิดว่าไข่ที่เกิดจากไก่คงจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างดีอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกเหนือจากงานประพันธ์ ซึ่งต้องนั่งพิมพ์ดีดหลังขดหลังแข็งเป็นประจำทั้งวันทั้งคืนอยู่แล้ว

ป.อินทรปาลิตเป็นคนชนิดที่หากต้องการอะไรก็จะต้องเอาให้ได้ จะทำอะไรก็ต้องทำให้ได้ในทันทีทันใด ใครจะทักท้วงอย่างไรก็ไม่ฟัง เมื่อเกิดความคิดที่จะเลี้ยงไก่ขึ้นมา ก็จัดการไปเหมาไก่จากเจ้าของเล้าแถวซอยรางน้ำจำนวนหลายร้อยตัวด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไก่พันธุ์เล็กฮอร์น

ฟาร์มไก่ในซอยสีฟ้าอุบัติขึ้นทันทีโดยที่เจ้าของยังมีความรู้ไม่เพียงพอ ใครแนะนำอย่างไรหากฟังเข้าหูก็ทำตามไปทั้งหมด เมื่อมีคนบอกให้ใส่เปลือกหอยกับก้อนกรวด ก็หาเปลือกหอยและกรวดมาใส่ให้มันอย่างมากมาย ชนิดที่ว่าหากไก่เหล่านั้นกินเข้าไปจนหมด พวกมันก็คงจะต้องไข่ออกมาเป็น "หิน" กันทุกฟองเลยทีเดียว

ระยะแรกที่เลี้ยงใหม่ ๆ ก็เห่อไก่เป็นพิเศษ ป.อินทรปาลิตนั่งเขียนหนังสือจนตี ๑ ตี ๒ นึกอย่ากจะดูไก่ขึ้นมา ก็เปิดไฟลงไปดูสัตว์เลี้ยงในเล้าของตนกลางดึก ไก่ตกใจส่งเสียงร้องตีปีกซวนเซกันจ้าละหวั่น และไก่ที่ตื่นตระหนกนั้นมันก็ไม่ออกไข่ให้อย่างที่เจ้าของต้องการ

บางคืนไก่ในเล้าส่งเสียงร้องรบกวนสมาธิการทำงานของคนขายฝัน ป.อินทรปาลิตก็เปิดไฟ คว้าไม้ที่ใช้สำหรับตักอาหารไก่เดินดุ่มไปดวลกับพวกมันที่คอก "เสียงดีนัก ตีเสียนี่"

ในหนังสือ "ศาลาโกหก" นิตยสารรายเดือนขนาด ๘ หน้ายก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเป็นผู้จัดพิมพ์ เล่มแรกออกในราว ๆ พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๗ และออกเป็นประจำไปจนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๑๑ มีหัสนิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวนเป็นเรื่องยาวจบในฉบับ นอกจากนั้นก็เป็นบทร้อยกรอง คอลัมน์ และข้อเขียนต่าง ๆ ซึ่งป.อินทรปาลิตเป็นผู้บรรเลงคนเดียวตลอดทั้งเล่ม ยกเว้นแต่ภาพปกที่เป็นฝีมือของ "ศิลปินพันปก" อาภรณ์ อินทรปาลิต เท่านั้น

ป.อินทรปาลิตได้สรุปถึงเรื่องราวของการเลี้ยงไก่ครั้งนั้นไว้ใน "ศาลาโกหก" ฉบับหนึ่ง (ไม่ทราบ พ.ศ. ที่่พิมพ์) ดังนี้

ยังจำได้ไหม เมื่อคุณเคยเลี้ยงไก่..ไก่ คุณหวังจะขายไข่..ไข่ เหมาไก่เขามา แต่เลี้ยงไม่เป็น เลยเห็นผลทันตา ไก่ม้วยมรณาพาให้คุณหมดตัว ยังจำได้ไหม ไก่ไม่ออกไข่...ไข่ พอเช้าเห็นไก่...ไก่นอนหงายชี้ฟ้า...

บันทึกการเข้า
MANANYA
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 15:25

ผมขอขัดจังหวะสักนิดหนึ่งนะครับ คือในเรื่องที่ ท่าน ป.อินทรปาลิต ท่านเป็นเจ้าของค่ายมวยนั้น ... ผมมีความสงสัยอยู่นิดหน่อยว่า บังเอิญผมเคยไปอยู่บ้านใกล้ๆ กับท่าน .. ในตรอกโรงเรียนแมันศรี ไม่ไกลจากยศเส (เดี๋ยวนี้โรงเรียน และบ้านของผมถูกไฟไหม้วอดไปหมด เป็นอาคารพาณิชย์หมดแล้วครับ) .. หลังบ้านของผมติดกับหลังบ้านที่ท่านอยู่ .. หน้าบ้านเขียนป้ายว่า " ค่ายนาคราช " ผมย้ายไปใหม่ ๆ สมัยนั้นเรียนมัธยมต้นครับ .. เดินเกร่ ๆ ผ่านบ้านท่าน ไปมา .. สักสามสี่วันก็ได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน จากในบ้านนั้น มาทักทายผม และเชิญผมเข้าไปในบ้าน .. อันที่จริงก็คือเข้าไปชวนซ้อมมวย .. ข้างในมีเครื่องเพาะกาย มีกระสอบทรายแขวนอยู่ ... ผมและเด็กชายคนนั้นไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แค่ได้รู้ว่าผมย้ายมาใหม่ ๆ เลยถือเป็นเพื่อนบ้านกัน.. เข้าไปใส่นวมซ้อมกันเป็นที่สนุก เขาแปลกใจนิด ๆ ว่าทำไมผมชกมวยเป็น อันที่จริงคุณพ่อผมท่านชอบเรื่องหมัดมวยมาก่อน และเคยสอนเทคนิคการชกเล็ก ๆ น้อยให้กับผม (ในอดีตท่านเคยเป็นเพื่อนรักของ ท่านอาจารย์นิยม ทองชิต ปรมาจารย์มวย ผู้ฝึกปรือฝีมือมวยให้แก่โผน กิ่งเพชร ในอดีตครับ) .. หลังจากลงนวมสนุกสนานแล้ว ถึงได้สอบถามกันว่าทำไมถึงติดชื่อค่ายนาคราช .. เด็กชายคนนั้นตอบผมว่า พ่อเขาคือ ชูชัย พระขรรพ์ชัย ..นักมวยไทยชื่อก้อง ...ตอนนั้นผมก็ยังเด็ก เพียงแค่ได้ยินชื่ออยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร ... ซึ่งในเวลาหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ..และำภรรยาท่าน .. เป็นเรื่องภูมิใจนิดหน่อยที่ได้มีโอกาสพบกับนักมวยชื่อดังครับ ....
บันทึกการเข้า
MANANYA
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 15:35

ผมขอต่ออีกสักเล็กน้อยนะครับ ... ภายหลังจากที่ผมได้พบกับคุณพ่อเพื่อน ซึ่งเป็นนักมวยเอกชื่อดัง และคุณแม่เพื่อนซึ่งเป็นภรรยาแล้ว... ผมก็ได้พบกับบุคคลอีกท่านหนึ่ง ซึ่งผมก็เคยได้ยินชื่อท่านมาก่อนแล้ว เพราะเคยอ่านหนังสือที่ท่านแต่ง คือคุณลุง ป.อินทรปาลิต.. ภรรยาของท่านเป็นพี่สาวของภรรยาท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ... ผมก็เลยได้มีโอกาสได้รู้จักท่านลุง ป. อินทรปาลิต นักแต่งนิยายผู้มีชื่อเสียงไปด้วยอีกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายในบ้านเดียวกัน .. ผมเคยไปนั่งคุยกับท่านเล็กน้อย ท่านเ็ป็นคนอารมณ์ดี ชวนผมทานขนม .. ผมเห็นท่านแต่งนิยายกับเครื่องพิมพ์ดีดเลย ไม่มีการร่างในเศษกระดาษ ..ออกจากสมองของท่านในขณะนั้นจริงๆ  .. ผมได้รับการบอกเล่าว่า ท่านต้องการสมาธิในการแต่งนิยาย ถ้าเวลาท่านอยู่หน้าเครื่องพิมพ์ดีด ก็ไม่ควรไปชวนท่านคุย ... ผมสงสัยอยู่นิดเดียวว่า ท่านเสมือนญาติที่เป็นดองกับท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย  แต่ไม่เห็นมีเรื่องการสนับสนุน ท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ในการขึ้นชกมวยบนเวที ... หรือว่าตอนนั้นคงหมดยุคของท่านชูชัย ไปก่อนแล้ว ... ตอนนั้นผมเห็นว่า ท่านชูชัย มิได้ซ้อมมวย หรือสอนมวยแก่ใครครับ .. แต่ท่านมีอาชีพเจียรพระพุทธรูป ทั้งเล็กและใหญ่ ที่เ็ป็นเนื้อหิน .. ผมเคยนั่งดูท่านทำ ท่านทำได้เก่งครับ พระทุกองค์สวย สง่า น่าชื่นชมบูชามากครับ ....ขอบคุณเรื่องของท่าน ป. อินทลปาลิต ที่ทำให้ผมได้รื้อฟื้นความทรงจำได้เล็กน้อยครับ .. ท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ท่านนามสกุล ฤทธิ์ฤาชัย ครับ แต่ผมจำชื่อจริงท่านไม่ได้ ...
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 18:06

น่าจะชื่อชูชัยนะครับ สมัยผมเป็นเด็กสิบกว่าขวบไปบวชเณรภาคฤดูร้อนที่วัดเขาไกรลาศ หัวหิน ซึ่งเป็นสาขาของวัดราชบพิธ ได้ยินจากปากพระอุปัชฌาย์ท่านว่าชูชัยเคยอาสาจะสลักเขาไกรลาศทั้งลูกเป็นพระปางไสยาสน์ หากมีงบให้สักล้านบาทในยุคนั้น ผมยังถามว่าชูชัย พระขรรพ์ชัย นักมวยนี่น่ะหรือครับ(รู้จักเพราะอ่านจากพลนิกรกิมหงวนเหมือนกัน) ท่านบอกว่าใช่ เขาเป็นนักสลักหินฝีมือดีด้วย   แต่ทำไมจึงไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ทราบ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 18:58

เคยอ่านพบชื่อชูชัย พระขรรค์ชัยในนิยายสามเกลอ หลายตอนด้วยกันค่ะ

ในหลายต่อหลายตอนของสามเกลอ ป. อินทรปาลิตได้กล่าวถึงชื่อของ "ชูชัย พระขรรค์ชัย" ในฐานะของนักมวยชื่อดังควบคู่ไปกับ "สมาน ดิลกวิลาศ" หรือสุภาพบุรุษแห่งสังเวียน ชูชัย พระขรรค์ชัย นั้นมีตัวตนจริงๆ เป็นนักมวยจริงๆ และยิ่งไปกว่านั้นเขายังเป็นญาติคนหนึ่งของ ป. อินทรปาลิต อีกด้วย กล่าวคือชูชัยได้แต่งงานกับน้องสาวของภรรยาคนที่สองของ ป. อินทรปาลิตนั่นเอง

ในตอนหนึ่งของหนังสือ "ชูชัย พระขรรค์ชัยรังสรรค์ถึง ป. และ มรว. ฉบับพิศดาร" เขาได้กล่าวว่า ป. อินทรปาลิตเคยคิดจะสร้างหนังในชุดสามเกลอ พล-นิกร-กิมหงวน โดยได้วางตัวให้ชูชัย พระขรรค์ชัยเป็นพล นิกรนั้นยังหาไม่ได้ ส่วนกิมหงวน ป. อินทรปาลิตได้ค้นพบนักศึกษาบัญชีจุฬาฯ คนหนึ่ง ชื่อคุณพงษ์สุนทร์ ซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่าเกิดมาเพื่อที่จะเป็นกิมหงวนจริงๆ กล่าวคือ ผอม สูงหกฟุต ใส่แว่นสายตาสั้น กิริยาท่าทางเป็นอาเสี่ย แถมยังเป็นลูกครึ่งจีนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามนายทุนต้องการเอาพวกนักแสดงตลกมาเล่นเป็นสามเกลอ เลยตกลงกันไม่ได้ ป. อินทรปาลิตก็ไม่ได้สร้างสามเกลอจากนักแสดงที่ได้ฝันเอาไว้ ภาพยนตร์สามเกลอบางตอนที่ถูกคนอื่นสร้างออกมาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะบุคลิกลักษณะของตัวละคร ไม่ได้เป็นไปตามจินตนาการของคนอ่าน เพราะตัวเอกทุกตัวต้องเป็นลูกผู้ดีมีสกุล หรือเป็นลูกของมหาเศรษฐี แต่คนสร้างกลับเลือกเอานักแสดงที่เล่นตลกได้เก่งมาเล่นเป็นสามเกลอแทน
(จากหนังสือ "ชูชัย พระขรรค์ชัยรังสรรค์ถึง ป. และ มรว. ฉบับพิศดาร" โดยชูชัย พระขรรค์ชัย)


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 19:01

... ผมสงสัยอยู่นิดเดียวว่า ท่านเสมือนญาติที่เป็นดองกับท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย  แต่ไม่เห็นมีเรื่องการสนับสนุน ท่านชูชัย พระขรรพ์ชัย ในการขึ้นชกมวยบนเวที ... หรือว่าตอนนั้นคงหมดยุคของท่านชูชัย ไปก่อนแล้ว ...


ไปค้นประวัติคุณชูชัย  พบว่าท่านเกิดเมื่อพ.ศ. 2469  ในรัชกาลที่ 7   เมื่อคุณ MANANYA ไปเจอท่าน  ไม่ทราบว่าพ.ศ.ไหน  ลองบวกลบอายุดูเอง    ท่านอาจจะแขวนนวมแล้วก็ได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 19:54

นักมวย พออายุเกิน๒๕ เซียนบนล๊อกก็เรียกว่ามวยแก่

นักมวยไทย หัดมวยกันตั้งแต่เด็ก อายุ๑๔-๑๕ก็ถูกพาไปเปรียบมวยตามงานวัดกันแล้ว
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 04 ส.ค. 13, 23:07

นักมวย พออายุเกิน๒๕ เซียนบนล๊อกก็เรียกว่ามวยแก่

นักมวยไทย หัดมวยกันตั้งแต่เด็ก อายุ๑๔-๑๕ก็ถูกพาไปเปรียบมวยตามงานวัดกันแล้ว

เดี๋ยวนี้เขาหัดกันตั้งแต่ ๗ ขวบครับ ๑๔-๑๕ นี้ต่อยตามเวทีต่างจังหวัดหากินแล้วครับ ขึ้นเวทีมาตรฐานเลย ไม่ใช่แค่งานวัดแล้วครับ นี่ถ้าไม่มี พรบ. มวย คงจะได้เห็นมวยเด็กต่ำกว่าสิบขวบเป็นแน่แท้

นอกจากนี้ ก็ยังมีการจัดมวยย้อนยุค โดยนำเอานักมวยเก่า ๆ อายุเฉียด ๆ ห้าสิบมาต่อยกันมากขึ้นแล้วนะครับ ล่าสุดก็เห็นจัดให้ นำขบวน เจอกับ แรมโบ้ ซึ่งผมว่า เป็นการทรมานแรมโบ้มาก ๆ เพราะแรมโบ้ประสาทเสียไปแล้ว ยังจับมาต่อยอีก

แต่ถ้าเป็นรุ่นก่อนหน้าคุณชูชัย  มวยไทยเขาจะถึงว่าอายุ ๒๕ นี้เพิ่งเริ่มต้น และจะไปถึงจุดสูงสุดเมื่ออายุ ๓๕ ครับ อ้างอิงจากงานเขียนของ ครูเขตร์ ศรียาภัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 05 ส.ค. 13, 08:30

อ้างถึง
หน้าบ้านเขียนป้ายว่า " ค่ายนาคราช " ผมย้ายไปใหม่ ๆ สมัยนั้นเรียนมัธยมต้นครับ .. เดินเกร่ ๆ ผ่านบ้านท่าน ไปมา .. สักสามสี่วันก็ได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน จากในบ้านนั้น มาทักทายผม และเชิญผมเข้าไปในบ้าน .. อันที่จริงก็คือเข้าไปชวนซ้อมมวย ..

คุณ MANAYA อยู่ม.ต้น  และร่างกายเติบโตพอจะซ้อมมวยได้  ก็คงอายุราวๆ 12-13  ปี    ประมาณพ.ศ. 2504-05   คุณชูชัยน่าจะอายุประมาณ 35-36  ปี  คงจะพ้นวัยชกมวยแล้วมั้งคะ
บันทึกการเข้า
MANANYA
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 05 ส.ค. 13, 09:46

อ้างถึง
หน้าบ้านเขียนป้ายว่า " ค่ายนาคราช " ผมย้ายไปใหม่ ๆ สมัยนั้นเรียนมัธยมต้นครับ .. เดินเกร่ ๆ ผ่านบ้านท่าน ไปมา .. สักสามสี่วันก็ได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกัน จากในบ้านนั้น มาทักทายผม และเชิญผมเข้าไปในบ้าน .. อันที่จริงก็คือเข้าไปชวนซ้อมมวย ..

คุณ MANAYA อยู่ม.ต้น  และร่างกายเติบโตพอจะซ้อมมวยได้  ก็คงอายุราวๆ 12-13  ปี    ประมาณพ.ศ. 2504-05   คุณชูชัยน่าจะอายุประมาณ 35-36  ปี  คงจะพ้นวัยชกมวยแล้วมั้งคะ
... ถูกต้องครับ ตอนนั้นอายุผมประมาณ 12-13 จริงๆ ... และท่านชูชัย คงจะอยู่ในวัยที่ท่าน NAVARAT.C ว่าไว้นะครับ .. แต่ท่านชูชัียคงจะเป็นคนรักษาร่างกายดีครับ ตอนนั้นผมยังจำได้ว่า ท่านดูหนุ่มแน่น หุ่นเฟิืร์มมาก มีแต่มัดกล้าม ไม่มีอ้วนลงพุงเลยละครับ ... คงเป็นวัยเลิกชกมวยแล้วหันมาประกอบอาชีพส่วนตัวแทนแล้ว .. จึงไม่มีข่าวเรื่องท่าน ป. อินทรปาลิต เป็นผู้ส่งเสริมจัดท่านชูชัยขึ้นชกมวยแต่อย่างใด ... ช่วงวัยนั้นผมเรียนที่โรงเรียนแม้นศรีพิทยาลัย ใกล้บ้านได้ 2 ปี (เดี๋ยวนี้ไฟไหม้ไปหมดแล้ว) .. แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา หลานหลวง .. ยังจำได้ว่าเคยได้เห็นมิตร ชัยบัญชา ตัวจริง แต่ไม่ได้เข้าไปชื่นชมท่านใกล้ๆ เพราะตอนนั้นอยู่ในช่วงเวลาเรียน .. ได้ทราบว่า มิตร ชัยบัญชา ก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนไทยประสาทวิทยา ด้วยเช่นกัน คงมาเยี่ยมเยียนอาจารย์ .. เพราะตัวคุณมิตร ชัยบัญชา อาศัยอยู่ในระแวกวัดแคนางเลิ้ง ที่อยู่ใกล้ๆ กันครับ ...
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 20 คำสั่ง