เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 39565 ป.อินทรปาลิต
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 02 ก.ค. 13, 00:58

ถ้าจำไม่ผิด คุณ ป ตัวจริงไม่ดื่มเหล้าครับ 
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 ก.ค. 13, 20:44

   ก็ยังสงสัยว่าคุณป. ตัวจริง กินเหล้าหรือไม่กินเหล้ากันแน่    หรือว่าตอนหนุ่มๆไม่กิน มากินตอนแก่   หรือว่าตรงกันข้ามคือกินเหล้าในวัยหนุ่มแล้วมาเลิกเมื่ออายุมากขึ้น
    ความที่ท่านชอบเขียนทีเล่นทีจริง   ก็เลยไม่รู้ว่าประวัติที่ท่านเขียนข้างล่างนี้ จริงหรือเล่นกันแน่ค่ะ

    ความจริงนักเขียนที่มีคนเขียนประวัติให้คนอ่านนั้นต้องเป็นนักเขียนชั้นเยี่ยมคือชั้น อะ หรือ ชั้น อา สำหรับผมเป็นนักเขียนชั้น อึ ไม่มีใครเขามาขอสัมภาษณ์เขียนประวัติผม ผมก็เลยเขียนเสียเอง ถ้ามีการยกย่องตัวเองบ้างก็ต้องอภัยนะครับ นิสัยของผมก็ออกจะเป็นคนคุยโวโอ้อวดเสียด้วย ยิ่งกินเหล้าเข้าไปแล้วผมพ่นขนาดบ้าน้ำลายทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 02 ก.ค. 13, 20:50

  คุณสันต์ เทวรักษ์ เขียนถึงป.อินทรปาลิต ไว้ว่า
 คุณสันต์ เทวรักษ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือ "อนุสรณ์ ป. อินทรปาลิต" ดังนี้...

...ผมมักหาโอกาสไปดูการพิมพ์ปกที่โรงพิมพ์ของคุณประยูร (หอมวิไล) เป็นอาจิณหลังจากเลิกงานที่สำนักงานของผมแล้ว และเมื่อไปถึงที่นั่น ยามแดดร่มลมตก ก็ได้เวลาเปิดขวดกันพอดี คุณประยูรเป็นคนใจใหญ่ ลงว่าได้เปิดขวดแล้ว ถ้าไม่ดื่มให้หมดขนาดบิดก้นขวดให้เหล้าหยดสุดท้ายสะเด็ดแล้ว ก็จะถือว่าเป็นการเสื่อมศักดิ์เสียศรีอย่างยิ่ง ไม่นับถือกันทีเดียว ผมก็จำต้องผสมโรงกับเขาไปด้วยพอเหม็นปากเหม็นคอ แล้วก็มักจะถูกเคี่ยวเข็ญให้อยู่จนดึก รอกินข้าวต้มด้วยกันเสียก่อนถึงจะปล่อยให้กลับไปบ้านได้ ไอ้ผมมันก็เป็นคนขี้เกรงใจเพื่อน เลยไม่ค่อยได้กลับไปกินเข้ามื้อเย็นเท่าไรนัก

ป.ไม่ยักลงมาดื่มร่วมกับเรา เขาลงมาจากชั้นบนในตอนค่ำ ทักทายคนโน้นนิดคนนี้หน่อย แล้วก็ขอตัวขึ้นรถกลับไปบ้าน...

ผมกระซิบถามคุณประยูรว่า "ทำไม ป. เขาไม่มาร่วมวงกับเราเล่า กลัวบ้านจะหายหรือยังไงกัน"

"เขาเป็นยังงั้นแหละ" คุณประยูรตอบ "นาย ป. เขาเป็นคนเจียมตัว ถือว่าตัวเป็นนักประพันธ์สำนวนตลาด เป็นชั้นต่ำต้อย จึงไม่อยากเข้ากลุ่มกับพวกนาย ที่เขียนกันชั้นคลาสสิคทั้งนั้น"

"คลาสสิคห่าเหวอะไรเล่า" ขอประทานโทษ ตอนนั้นผมถูกเคี่ยวเข็ญให้ดื่มเข้าไปหลายก๊งแล้วนี่ "มีแฟนอยู่หยิบมือเดียวเท่านั้นเอง ส่วนคุณ ป. เขามีแฟนเต็มบ้านเต็มเมือง เด็กอ่านได้ผู้ใหญ่อ่านดี มีนักประพันธ์คนไหนทำอย่างเขาได้บ้างเล่า ผมยังเป็นแฟนของเขาเลย"

ชะรอยคำพูดประโยคนี้จะสะท้อนเข้าหูคุณ ป. โดยคำบอกเล่าของคุณประยูรก็ได้ ฉะนั้นในวันรุ่งขึ้นพอเขาลงมาจากชั้นบนเห็นผมเดินเกะกะดูเขาพิมพ์อยู่ ก็กรากเข้ามาจับมือผมรวบเข้าไว้ทั้งสองข้างทันที

"ผมรักคุณสันต์จัง ให้ตายซิ...เอ้า"

ผมชักงงๆ รักกันยังไงจนจะเป็นจะตาย จึงย้อนถามว่า "เพราะอะไรครับ คุณ ป.?"

"ก็เพราะคุณสันต์ไม่ดูถูกผมน่ะซี"

เท่านั้นผมเองก็เข้าใจ และเย็นวันนั้นเขายอมมาดื่มเหล้ากับเราแก้วหนึ่ง แล้วก็รีบขอตัวกลับไป


เหตุการณ์นี้ แสดงว่าคุณป.น่าจะดื่มเหล้าไม่มากก็น้อย    เพียงแต่ว่าไม่ยอมร่วมวงกับนักเขียนใหญ่อื่นๆ เพราะเจียมตัว    ถ้าคุณป.ไม่แตะต้องเหล้าเสียเลย  คุณประยูร หอมวิไล เจ้าของโรงพิมพ์น่าจะตอบคุณสันต์ เทวรักษ์ว่า  คุณป. เป็นคนไม่ดื่มเหล้าจึงไม่มาร่วมวงกับคนอื่นๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 02 ก.ค. 13, 20:56

  มีเหตุการณ์เล็กๆ ที่สำคัญในชีวิตคุณป.  ตามที่คุณส.บุญเสนอบันทึกเอาไว้ เหตุการณ์หนึ่งว่า

    คุณปรีชาเคยได้รับความสะเทือนใจครั้งใหญ่จากนักเขียนผู้หนึ่ง ที่ผมทราบเพราะอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย เหตุเกิดนานมาแล้วประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นคุณปรีชาเขียนหนังสือประจำคณะเพลินจิตต์ นักเขียนที่กล่าวถึงผู้นี้ ก้าวเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือก่อนคุณปรีชาสองสามปี และประจำอยู่สำนักหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง ไม่เคยเกี่ยวข้องอะไรกับคุณปรีชา และไม่เคยรู้จักกันด้วยซ้ำ อยู่ดีๆ วันหนึ่งเขาส่งจดหมายไปรษณีย์มาถึงคุณปรีชา ประนามคุณปรีชา อย่างก้าวร้าวเจ็บปวดที่สุด แต่น่าชมเชยอย่างยิ่งที่เขาเซ็นนามจริงให้ทราบ ไม่ทำเป็นบัตรสนเท่ห์อำพรางให้เสียเวลาสืบหาตัว

ผมวิจารณ์หาสาเหตุไม่พบและไม่เข้าใจจนบัดนี้ คุณปรีชาไม่เคยสร้างความหมองใจให้เขาผู้นั้น ไม่มีผลประโยชน์อะไรที่ขัดกัน เลยคาดคะเนเอาเองว่า คงจะเนื่องมาจากเข้าข่ายคำพังเพยที่ว่า "เห็นใครดีไม่ได้ เห็นใครได้ไม่ดี" หรือจะเกิดเขม่นฉับพลันขึ้นมาจนลืมตัว หรืออยู่ในลักษณะที่หลวงวิจิตรวาทการท่านว่า... "ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้" เขาจากโลกนี้ไปแล้ว หลังคุณปรีชาถึงแก่กรรมไปไม่กี่ปี

คุณปรีชาจึงเจียมตัว และยอมรับว่าเป็นนักเขียนชั้นสวะด้วยความเต็มใจ และไม่ชอบคลุกคลีกับนักเขียนใหญ่ๆ ด้วยเกรงจะผิดฝาผิดตัว ได้รับสิ่งแสลงใจเป็นครั้งที่สอง

นักเขียนเดินอยู่บนถนนสายเดียวกัน แต่ช่องทางเดินมีอยู่หลายช่อง ใครมีอุดมการณ์จะเลี้ยวซ้ายเหลียวขวาหรือตรงไปก็ได้ตามใจสมัคร ใครเดินเร็ว เดินช้า หรือเลือกเดินช่องใดก็ได้ตามอัธยาศัย ไฉนจะล้ำเส้นมาเบียดกันด้วย


   ตอนอ่านพบบทความนี้ ดิฉันก็พยายามเสาะหาว่านักเขียนคนนั้นเป็นใคร ถึงทำร้ายจิตใจคุณป.ได้ขนาดนี้  ในที่สุดพบโดยบังเอิญว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันทั้งเพ    เจ้าของจดหมายฉบับนั้นไม่มีเจตนาแม้แต่น้อยที่จะว่ากล่าวคุณป. ตรงกันข้ามกลับเขียนมาถึงด้วยความห่วงใยฉันมิตรร่วมวงการ   แต่จะด้วยอะไรก็ไม่รู้  เขียนมาสั้นๆไม่ได้ขยายความให้ชัดเจน      คนรับก็เลยเข้าใจผิดไปใหญ่โต  เกิดน้อยอกน้อยใจ แต่ก็เก็บปากเก็บคำสนิท ไม่ไปไต่ถามให้สิ้นสงสัย    ก็เลยกลายเป็นบาดแผลสำหรับคุณป.มาอีกนาน 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 11:42

     มาอ่านข้อเขียนนี้ดูบ้างค่ะ  เขียนโดยยศ วัชรเสถียร
   
     " สมองของเขาในทางจินตนาเรื่องเพื่อผลิตออกมาสู่ผู้อ่านนั้น ทำงานได้รวดเร็วไม่มีเหน็ดเหนื่อย มือของเขาที่เขียนเป็นตัวอักษรตามสมองบัญชา ดูราวกับเครื่องจักรที่ไม่รู้จักล้า ทำให้เขามีเรื่องส่งให้เจ้าของคณะเพลินจิตต์ได้เกือบวันละเรื่อง เจ้าของคณะนั้นตะลุยพิมพ์เป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำ เหนือกว่านักประพันธ์ของชาวคณะคนอื่น ๆ นอกจาก " ไม้เมืองเดิม " ซึ่งเขียนได้ช้ากว่าอย่างเป็นม้าแข่งก็ทิ้งกันจนไม่เห็นหลัง แต่เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ที่เรื่องของเขาเป็นที่ต้องการของ ผู้พิมพ์ขายอย่างสูงสุด เพราะขายได้ดีที่สุดเมื่อพิมพ์ออกวางตลาด แต่เขากลับได้ค่าเรื่องต่ำกว่านักประพันธ์คนอื่น ๆ
       เรื่องนี้ข้าพเจ้ารู้จากน้องสาวของเขา ซึ่งเป็นเพื่อนภริยาข้าพเจ้า และตัวเขาเองก็เป็นเพื่อนเสมือนพี่ของภริยาข้าพเจ้าด้วย เพราะเหตุที่เรื่องของเขาถูกกดราคาอย่างน่าเศร้าใจ เขาจึงเอาจำนวนมากของเรื่องที่ผลิตออกมาเข้าช่วย เพื่อให้มีรายได้ มากขึ้น เป็นเหตุให้เขาหมางใจกับข้าพเจ้ามาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โดยข้าพเจ้าถือเอาความเป็นผู้มีอาวุโสสูงกว่า ถือวิสาสะเขียนจดหมายไปถึงเขา ค่าที่ข้าพเจ้ากับเขาไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ที่เขาถ่อมตัว เจียมใจ แล้วทึกทักเอาเองว่าเขาเป็น " นักประพันธ์ชั้นสวะ " จึงไม่ยอมคบหาสมาคมกับพวกนักประพันธ์ด้วยกันเอาเสียเลย ทั้งที่เรื่องของเขาขายดีเสมอด้วย เรื่องของ คุณโชติ แพร่พันธ์ ( ยาขอบ ) คุณเลียว ศรีเสวก ( นามปากกามาก จนข้าพเจ้าขี้เกียจเขียน ) และ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ( ไม้เมืองเดิม ) นักประพันธ์เรื่องขายดีที่สุดในสมัยนั้น มีเพียงสามคนเท่านี้เอง
      จดหมายของข้าพเจ้ามีข้อความเพียงสั้น ๆ ว่า " คุณปรีชา คุณอย่าทำเรื่องของคุณให้เป็นอย่างสินค้าญี่ปุ่นหน่อยเลย " อันทำให้เขาเข้าใจเจตนาของข้าพเจ้าผิดไป ว่าข้าพเจ้าดูหมิ่นเรื่องของเขา     ทั้งนี้ก็โดยที่ข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนจดหมายยาว ๆ ถึงใครนั่นเอง เขาเลยโกรธ   ไม่ย้อนถามมาว่า ที่ข้าพเจ้าว่าอย่างนั้น ข้าพเจ้าเจตนาอย่างไร เขาเลยไม่รู้เจตนาแท้จริงของข้าพเจ้าในตอนนั้น มารู้เอาก็ต่อเมื่อเขาอยู่ในสภาพตายทั้งเป็นแล้ว
       เพราะเจตนาที่แท้จริงของข้าพเจ้า ที่ไม่ต้องการให้เขาทำเรื่องให้เป็นอย่างสินค้าญี่ปุ่นนั้น ข้าพเจ้าต้องการให้เขาเรียกร้อง เจ้าของ คณะพิมพ์ให้ขึ้นค่าเรื่องของเขาให้สูงขึ้น อย่างที่เจ้าของคณะนายอุเทนได้ให้คุณเลียว ศรีเสวก มาก่อน แต่เขาไม่สนใจ ปล่อยให้ค่าเรื่องของเขาอยู่ใน "สุดแต่เจ้าของสำนักพิมพ์จะเมตตา" จนกระทั่งสิ้นชีวิต พระสงฆ์สวดอภิธรรมเจ็ดคืนที่วัดมกุฎ ตั้งแต่คืนวันที่ 25 กันยายน 2511 ในฐานะศพของนักประพันธ์ไส้แห้ง ไม่มีสมบัติพัสถานอะไรเหลือเป็นมรดกให้แก่ลูกเมียเลย นอกจากชื่อเสียงเกียรติคุณ

       เมื่อเขาก้าวเข้ามาสู่วงการประพันธ์ของไทยนั้น เขาเข้ามาในฐานะ " นักประพันธ์เรื่องรักโศก " ตามที่เรียก กันในสมัยนั้น ซึ่งก็ได้ครองตำแหน่งเป็นเอกแทน " ชาวเหนือ " ซึ่งเป็นรุ่นพี่ แล้วก็ทิ้ง "ชาวเหนือ " เสียลิบลับ เมื่อเทียบกันด้วยความนิยมของนักอ่าน ทำให้เจ้าของคณะพิมพ์ที่พิมพ์เรื่องของเขาร่ำรวยจนได้ชื่อว่า นายห้าง เมื่อเขาเปลี่ยนแนวมาเป็นเรื่องตลกที่มีชื่อว่า พล นิกร กิมหงวน ก็ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำแก่ผู้พิมพ์จำหน่ายอีกเช่นกัน และเมื่อเขาจับเขียนเรื่องโลดโผน หรือที่นิยมเรียกกันว่า " เรื่องบู๊ " คือชุด เสือดำ เสือใบ เรื่องชุดนี้ข้าพเจ้าได้รู้จากปากเจ้าของ สำนักพิมพ์ ที่พิมพ์ชุดนี้ของเขาขายว่า ได้กำไรสุทธิเป็นเงินรวมแล้วเกือบสามแสนบาท แต่เขาได้ค่าเรื่องซึ่งรวมทั้งสิทธิ์ด้วยเพียงสองหมื่นบาท เท่านั้นเอง ( จาก ถ้อยคำ ของ ป. อินทรปาลิต ที่ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ ) และเมื่อเขาหันมาเขียนเรื่องอีกแนวหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า ชุดศาลาโกหก ก็ทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้แก่ผู้พิมพ์จำหน่ายอีกเช่นกัน"

   
    สรุปได้ว่านักเขียนใหญ่ที่ทำให้ป.อินทรปาลิตน้อยเนื้อต่ำใจมาเป็นเวลานาน ด้วยความเข้าใจผิด  คือยศ วัชรเสถียร นั่นเอง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 13:29

    ค่าที่ข้าพเจ้ากับเขาไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ที่เขาถ่อมตัว เจียมใจ

เรื่องเป็นคนถ่อมตัวนี้ คุณสุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา "รพีพร"  ยืนยัน

พี่กับพี่ ป. ชอบกันมาก สมัยทำปิยะมิตร ราว ๆ ปี ๙๐-๙๐ เจอกันทุกวันทุกเช้า พี่ ป. เป็นคนถ่อมตัวที่สุด ทำตัวง่าย ๆ สมถะ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่่มาก มีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนรักการอ่านการเขียนหนังสือเป็นอย่างมาก มีจิตสำนึกที่ยืนอยู่ข้างคนจนโดยเฉพาะ งานเขียนของพี่ ป. เป็นตัวแทนของคนยากจน

๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๙


จาก หนังสือ ป.อินทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน โดย เริงไชย พุทธาโร พิมพ์ครั้งที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙



บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 14:39

สงสารคุณป.จังนะคะ แต่จริงๆถ้าเจ้าของสำนักพิมพ์มีใจเสียหน่อย น่าจะซื้อใจคนเขียนด้วยการขึ้นค่าเรื่องให้โดยที่คนเขียนไม่ต้องร้องขอ
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 15:48

เรื่องเป็นคนถ่อมตัวนี้ คุณสุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา "รพีพร"  ยืนยัน

พี่กับพี่ ป. ชอบกันมาก สมัยทำปิยะมิตร ราว ๆ ปี ๙๐-๙๐ เจอกันทุกวันทุกเช้า พี่ ป. เป็นคนถ่อมตัวที่สุด ทำตัวง่าย ๆ สมถะ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่่มาก มีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนรักการอ่านการเขียนหนังสือเป็นอย่างมาก มีจิตสำนึกที่ยืนอยู่ข้างคนจนโดยเฉพาะ งานเขียนของพี่ ป. เป็นตัวแทนของคนยากจน

คุณรพีพรคงไม่เคยอ่านสามเกลอ  โดยเฉพาะตอนอาเสี่ยกินหงวนควักแบ๊งค์ใบละร้อยออกมาจากกระเป๋าปึกใหญ่ แล้วบรรจงฉีกโปรยอวดประชาชน   จนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 18:56

คุณรพีพรน่าจะวิจารณ์จากการอ่านนิยายชุดเสือใบ-เสือดำ ของคุณ ป.

นิยายชุดเสือใบ-เสือดำนั้นเป็นงานประพันธ์ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครอบคลุมเวลาไม่กี่ปีนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นไป โดยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรรายวัน ซึ่งอยู่ในความอำนวยการของคุณปรีชาเอง  นิยายชุดนี้ประกอบด้วย "เสือใบ", "เสือดำ", และ "ดาวโจร" ซึ่งแต่ละเรื่องมีความยาวประมาณ ๑๕๐ ยก หรือประมาณ ๒,๔๐๐ หน้าของหนังสือ ๑๖ หน้ายก.  นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องที่สืบเนื่องในนิยายชุดเดียวกัน คือเรื่อง "เชิ้ตดำคืนชีพ" ความยาวประมาณ ๔๐ ยก หรือประมาณ ๖๔๐ หน้า.  รวมทั้งหมดแล้ว นิยายชุดเสือใบ-เสือดำมีความยาวประมาณ ๔๙๐ ยก หรือประมาณ ๗,๘๔๐ หน้า.

ท่านนักประพันธ์เอกได้ฝากฝีมือในการประพันธ์ในแทบทุกรสเอาไว้ในนิยายชุดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการต่อสู้ทุกรูปแบบของ "ชายชาติเสือ" ที่มีความละเอียดลออ, ให้ความตื่นเต้นสมจริงสมจัง ตลอดจนบรรยากาศที่สะท้อนความน่าจะเป็นจริงของแต่ละเหตุการณ์. ถึงแม้ว่าบทตลกขบขันเกือบจะไม่มีแทรกอยู่เลยตลอดเกือบ ๘,๐๐๐ หน้า เพราะ "เสือใบ-เสือดำ" เป็นนิยายชีวิตของขุนโจรที่ล่อแหลมต่อความตาย, แต่บทรักและบทโศกก็เคล้าอยู่กับบทต่อสู้แบบชายชาตรีโดยตลอดจากปลายปากกาของนักประพันธ์ผู้ซึ่งไม่เป็นรองใครในนิยายรักโศก. พูดไปทำไมมี แม้ผู้อ่านจะติดตามตัวอักษรนับล้านตัวด้วยอารมณ์ที่ตื่นเต้นสนุกสนานไปกับเหตุการณ์ในท้องเรื่อง แต่ก็ไม่อาจสลัดทิ้งอารมณ์เศร้าที่แทรกอยู่ระหว่างตัวอักษรได้ ทั้งนี้เพราะ "เสือใบ-เสือดำ" เป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนบางคนที่ไม่อาจแปรเปลี่ยนชะตากรรมของตนได้.

"เสือใบ" เป็นนิยายชีวิตของ "เรวัต วิชชุประภา" หนุ่มใหญ่ในวัยใกล้ ๔๐ ปี นักเรียนออกซฟอร์ด บุตรชายพระยาพานทองอดีตปลัดทูลฉลอง. เรวัตทิ้งตำแหน่งหัวหน้ากองในกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยสวมบทบาทของขุนโจรในชื่อ "เสือใบ" เมื่อเขาใช้ปืนพกดับชีวิตภรรยาของเขาและชายชู้ด้วยอารมณ์แค้น. "เสือใบ" ได้เปิดฉากการปล้นครั้งแรกประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นั่นเอง. เรวัตเป็นโจรที่เฉลียวฉลาด, สุขุมรอบคอบ, กล้าหาญ และเยือกเย็น อีกทั้งมีฝีมือไร้เทียมทานในการต่อสู้ทุกรูปแบบ.

เมื่อได้เริ่มต้นการปล้นที่ลพบุรีถิ่นกำเนิดจนกระทั่งเป็นที่เกรงขามแก่บรรดาเศรษฐีที่สร้างความร่ำรวยจาก "การทำนาบนหลังคน" แล้ว "เสือใบ" ก็พาสมัครพรรคพวก "เชิ้ตดำ" เข้ากรุงเทพฯ และปล้นคนร่ำรวยเพื่อนำเงินที่ปล้นได้ไปแบ่งสรรให้แก่คนจน ซึ่งทำให้เป็นที่รักใคร่แก่บรรดาคนยากจน และสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนร่ำรวยที่ไม่สุจริตและปราศจากเมตตาธรรม. ตำรวจได้พยายามตามจับกุม "เสือใบ" และได้ต่อสู้กันหลายคราว หากก็ไม่สามารถที่จะปราบปรามได้. เรวัตได้พบรักกับพิไลวรรณ ธิดาอดีตเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ และได้ร่วมกันปฏิบัติการนอกกฎหมายอย่างเสี่ยงชีวิตทั้งในกรุงเทพฯ และที่ลพบุรี โดยมีอดีตนายทหารม้ายศร้อยเอกที่ใช้ชื่อว่า "เสือเภา" เป็นฝ่ายเสนาธิการ.

ในระหว่างที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพฯ "เสือใบ" พลาดท่าถูกจับกุม แต่ขณะที่ถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำลหุโทษ ก็สามารถหลบหนีออกไปได้ และจากนั้นก็พาสมุนคู่ใจจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายลงไปปักษ์ใต้ โดยเข้าไปตั้งค่ายกองโจรเชิ้ตดำอยู่ในป่าทึบของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย. ขณะนั้นพิไลวรรณได้เสียชีวิตจากกระสุนปืนของตำรวจในกรุงเทพฯ ไปแล้ว แต่เรวัตก็ได้พบกับบุหรงที่ยะลา และต่อมาก็ได้เป็นคู่ชีวิตของ "เสือใบ" แทนที่พิไลวรรณ. ในที่สุดค่ายเชิ้ตดำที่ในป่าเบตงก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารบุกเข้าทำลายจนสิ้นซาก ทำให้ "เสือใบ" ต้องพาบุหรงและสมุนร่วมใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง และปล้นอย่างดุเดือดในช่วงเวลาหนึ่ง มีเจ้าทรัพย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกสังหารไปจำนวนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวของ "เสือใบ".

อีกครั้งหนึ่งที่ตำรวจสามารถจับกุม "เสือใบ" ได้ขณะที่กำลังนอนป่วยอยู่ในกรุงเทพฯ จากการดวลปืนกับนักเลงเก่าคนหนึ่ง. คราวนี้ทั้งเรวัตและบุหรงถูกศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิต แต่แล้วขณะที่กำลังถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมภายในเรือนจำบางขวาง ก็สามารถหลบหนีออกมาได้อีกด้วยความช่วยเหลือของบรรดาสมุนโจรเชิ้ตดำที่ปลอมตัวเข้าไปในเรือนจำ. "เสือใบ" ปล้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่เมื่อบุหรงได้เสียชีวิตจากการดวลปืนแทนตัวเขา, เรวัต วิชชุประภา ก็ตัดสินใจเลิกเป็นโจร. เขาพยายามขอร้องนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ขอให้ช่วยเหลือให้เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยจะรับอาสาปราบโจรผู้ร้ายที่กำเริบเสิบสานอยู่ในขณะนั้น แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะเขาถูกพิพากษาประหารชีวิตเสียแล้ว. เรวัตจึงตัดสินใจเดินทางขึ้นภาคเหนือโดยลำพัง และได้งานทำอยู่ที่ป่าไม้ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจกลับลงมากรุงเทพฯ อีกครั้งแล้วก็คืนสู่ลพบุรีถิ่นเดิม.

ขณะนั้นทางการตำรวจกำลังเร่งปราบปรามโจรผู้ร้ายตามนโยบายของรัฐบาล. "เสือใบ" ไม่อาจที่จะรักษาค่ายเชิ้ตดำในป่าลพบุรีเอาไว้ได้ ก็พาสมุนโจรอพยพเข้าดงพญาเย็น และก็ได้ไปพบกับนายทหารผู้ใหญ่นอกราชการผู้ซึ่งหลีกหนีสังคมเมืองไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติกลางป่าดงดิบกับธิดาสาว. เมื่อตำรวจได้เบาะแส ก็ยกกำลังติดตามจับกุม "เสือใบ" อย่างไม่ลดละ ซึ่งในที่สุดเรวัตก็พาวัลลภา ขวัญชีวิตคนใหม่บุกป่าฝ่าดงหลบหนีไปถึงโคราช แล้วก็มุ่งหน้าข้ามโขงทางนครพนมไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง โดยตั้งใจจะใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรอย่างสงบที่นั่น, ซึ่งเป็นตอนจบของนิยายเรื่อง "เสือใบ" โดยขณะนั้นกำลังอยู่ใน พ.ศ. ๒๔๙๑.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 18:57

นิยายเรื่อง "เสือดำ" ได้อุบัติขึ้นแทนที่ โดยเป็นที่เข้าใจว่า "เจ้าพ่อสุพรรณบุรี" ได้ติดตามอ่านและมีความประทับใจในบทบาทของ "เสือใบ" ที่ ป. อินทรปาลิต ได้ประพันธ์ขึ้นมา จึงได้เขียนเล่าประวัติย่อของตนเองส่งมาให้ท่านนักประพันธ์.

ระพินทร์ ระวีวงศ์ คือนามจริงของ "เสือดำ", เป็นบุตรของนักเลงเก่าแห่งสุพรรณบุรี. เมื่อเจริญวัย ระพินทร์ถูกส่งมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และเมื่อสำเร็จห้อง ๘ ซึ่งเป็นชั้นมัธยมบริบูรณ์ในสมัยนั้นแล้ว ก็เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดครู โดยช่วงเวลาหนึ่งเคยรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิตอยู่ที่กาญจนบุรี ก่อนที่จะกลับคืนสู่สุพรรณบุรีเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒.

ระพินทร์เป็นชายหนุ่มรูปหล่อ ผิวขาว และมีฝีมือในการยิงปืนพกเป็นเลิศ. เขามีอายุน้อยกว่าเรวัต วิชชุประภา ประมาณ ๕ ปี และดังนั้นเขาจึงมีอายุประมาณ ๓๕ ปี เมื่อนิยายเรื่อง "เสือดำ" ได้อุบัติขึ้นในบรรณพิภพ. ถึงแม้ว่า "เสือดำ" จะมีอุดมการณ์เช่นเดียวกับ "เสือใบ" คือยึดมั่นในความยุติธรรมและชิงชังการข่มเหงกดขี่, แต่ระพินทร์จะเลือดร้อนและมุทะลุ ไม่เยือกเย็นเหมือนเรวัต.

พรหมลิขิตและโชคชะตาได้กำหนดให้ระพินทร์ ระวีวงศ์ ต้องเลือกใช้ชีวิตเป็นโจรในระดับเสือร้ายจนกระทั่งได้รับสมญา "เจ้าพ่อ" ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี. ความเก่งกาจของเขาเป็นที่เกรงขามแก่บรรดาเสือร้ายอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน และมีชื่อเสียงกระจายไปทั่วประเทศเช่นเดียวกับ "เสือใบ". "เสือดำ" ได้ปล้นและสังหารเจ้าทรัพย์ที่ขัดขืนจำนวนนับไม่ถ้วน ตลอดจนได้ยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตหลายนายเพื่อป้องกันตนเอง. "เสือดำ" มีบทบาทมากระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑-๙๒.

นิยายเรื่อง "เสือดำ" เปิดฉากด้วยการเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รักเคารพ ซึ่งทำให้ขุนโจรสุพรรณบุรีออกแก้แค้นบรรดาเสือร้ายที่เป็นปรปักษ์ จนกระทั่งได้ปะทะกับตำรวจที่ส่งกำลังไปปราบ ทำให้ต้องหลบหนีข้ามเขตไปกาญจนบุรี แล้วได้ลอบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ กับวนิดาซึ่งเป็นคู่ชีวิตด้วยความมุ่งหมายที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดี. ความปรารถนาดังกล่าวไม่เป็นผล ตำรวจซึ่งได้เบาะแสว่า "เสือดำ" เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็วางสายจับกุมขุนโจร. ภายหลังที่ได้ต่อสู้กับนายตำรวจเพื่อนเก่าที่ได้รับคำสั่งให้มาจับกุมเขา และสามารถยิงนายตำรวจถึงแก่ชีวิต, ระพินทร์ก็ได้พาวนิดาหลบหนีออกจากกรุงเทพฯ กลับไปเมืองกาญจน์และสุพรรณบุรีตามลำดับ.

"เสือดำ" ได้ตัดสินใจเลิกเป็นโจรและกลับตัวเป็นพลเมืองดีอีกครั้งหนึ่ง โดยพาวนิดาไปเปิดร้านขายของชำที่จังหวัดอ่างทอง. แต่เมื่อตำรวจได้เบาะแสก็ยกกำลังไปตามจับเขาถึงอ่างทอง ซึ่งในระหว่างการหลบหนีตำรวจ วนิดาก็ถูกกระสุนปืนของตำรวจเสียชีวิต. เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ระพินทร์จำเป็นและจำใจจะต้องเป็นโจรต่อไป และได้ปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ที่สุพรรณบุรีรายแล้วรายเล่าที่เป็นคนมั่งมีจากการเอารัดเอาเปรียบคนจน. ในที่สุดตำรวจก็ระดมกำลังบุกไปจับกุม "เสือดำ" กับสมุนได้ในถ้ำแห่งหนึ่ง และดำเนินคดีฟ้องศาล. ในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่สุพรรณบุรี ระพินทร์ได้ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำกระทำทารุณกรรมอย่างป่าเถื่อน ซึ่งทำให้ต้องหลบหนีไปอยู่ที่กาญจนบุรี, ซึ่งที่นั่นเขาได้พบรักและสมรสกับแน่งน้อยซึ่งเคยเป็นสายลับของตำรวจจากกรุงเทพฯ มาสืบจับเขา.

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ "เสือดำ" ตัดสินใจเลิกเป็นโจร. เขาพาแน่งน้อยไปสมัครทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่ทองคำใกล้พรมแดนไทย-พม่า. ผู้จัดการเหมืองได้วางแผนเอาชีวิตเขาเพื่อแย่งแน่งน้อยจากระพินทร์. แต่ "เสือดำ" รอดพ้นมาได้ ซึ่งเมื่อได้แก้แค้นอย่างสาสมแล้ว "เสือดำ" ก็พาสมุนที่เผอิญมาพบกันกลางทางมุ่งเข้าป่าไปทางชายแดน. ในป่าลึกเขาได้ประสบเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของเขาอีกครั้งหนึ่ง. เขาได้พบพระยาโลหกิจฯ นักธรณีวิทยาและบุตรชายถูกโจรพม่าฆ่าตาย แต่เขาได้ช่วยทัศนีย์ ธิดาของเจ้าคุณซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์เช่นกันไว้ได้ และพาเธอไปส่งอย่างปลอดภัยที่ราชบุรี. จากนั้น "เสือดำ" ก็เดินทางไปยังหมู่บ้านกะเหรี่ยงและได้พบกับ "เสือขาว" น้องชายต่างมารดาของเขาก่อนที่จะกลับไปกาญจนบุรีตามเดิม, ซึ่งที่นั่นเขามีเพื่อนสนิทชื่อบุญมาก คอยให้ความช่วยเหลือ.

ทัศนีย์ผู้ซึ่งทราบว่าระพินทร์เป็นโจร, เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้มีจดหมายมาที่เมืองกาญจน์ ขอให้ระพินทร์กลับตัวเป็นพลเมืองดีและไปพบเธอที่กรุงเทพฯ โดยจะหางานสุจริตให้ทำ. ด้วยความรักที่มีต่อทัศนีย์ ระพินทร์เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และได้งานทำที่บ้านธีรพงศ์ โดยไม่มีผู้ใดทราบว่าเขาคืออดีตขุนโจร นอกจากทัศนีย์เพียงคนเดียว. ต่อมาเขาได้รับมอบหมายจากคุณหญิงโลหกิจฯ ให้ไปขุดกระดูกของเจ้าคุณและบุตรชายที่ฝังเอาไว้ในป่าเมืองกาญจน์มาขอพระราชทานเพลิงศพ. การเดินทางคราวนั้นได้ทำให้คนในบ้านธีรพงศ์ทราบว่าระพินทร์เป็นผู้ใด. เมื่อมีการพูดกันต่อ ๆ ไป ไม่ช้าตำรวจก็รู้เบาะแส และได้นำกำลังมาจับกุมระพินทร์ที่ขณะนั้นกำลังเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ของครอบครัวพระยาโลหกิจฯ และได้ผูกสมัครรักใคร่กับทัศนีย์อย่างเปิดเผย. ระพินทร์ได้หลบหนีตำรวจกลับคืนสู่กาญจนบุรีและดำเนินชีวิตเป็นโจรต่อไป.

เมื่อทัศนีย์ตั้งครรภ์ "เสือดำ" ก็ได้แอบมาเยี่ยมที่กรุงเทพฯ และขออนุญาตคุณหญิงพาทัศนีย์ไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขา โดยจะประกอบอาชีพสุจริต. ที่เพชรบุรี สองคนผัวเมียถูกผู้ร้ายปล้นเอาเงินทองที่เอาติดตัวมาใช้ในการตั้งตัวไปหมด และเมื่อเดินทางต่อไปถึงภูเก็ต โดยระพินทร์ไปสมัครทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่, ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีก. ผู้จัดการเหมืองสั่งให้ลูกน้องพาระพินทร์ไปฆ่า ขณะที่ตนเองกระทำการขืนใจทัศนีย์. "เสือดำ" ได้สังหารทุกๆ คนที่ทำร้ายเขา และเผาสำนักงานเหมืองแร่แห่งนั้นวอดวาย แล้วก็พาทัศนีย์หลบหนีกลับไปเมืองกาญจน์. ในป่าทึบกาญจนบุรี "เสือดำ" ได้สร้างนิคมเล็กๆ ขึ้นมาเป็นค่ายพำนักของเขาและพรรคพวก รอการคลอดบุตรของทัศนีย์. แต่ตำรวจได้นำกำลังมาบุกจับอีก ซึ่งทารกแรกเกิดได้ถูกกระสุนปืนของตำรวจดับชีวิต ขณะที่ระพินทร์และทัศนีย์หลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด โดยบุญมากสหายรักได้สละชีวิตแทนไป. ทัศนีย์ป่วยหนักด้วยไข้จับสั่น ซึ่งจำเป็นที่ระพินทร์ต้องจัดการส่งภรรยาของเขากลับกรุงเทพฯ เพื่อการดูแลรักษา. แต่เมื่อเขาจะไปรับทัศนีย์กลับมาอยู่ด้วยเมื่อหายจากการป่วย เขาก็ได้รับการขอร้องจากคุณหญิงผู้เป็นมารดาว่าขออย่าได้นำธิดาของท่านไปตกระกำลำบากและเสี่ยงชีวิตอีกเลย. ต่อมาเมื่อทัศนีย์มีจดหมายบอกมาว่าเธอมีครรภ์ได้ ๖ เดือนแล้ว ขอให้เขามารับเธอ, ระพินทร์ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่เขาได้รับการขอร้องจากคุณหญิงมารดาว่าอย่านำทัศนีย์และทารกในครรภ์ไปเสี่ยงอันตรายกับเขา, ซึ่งเป็นเหตุผลที่ระพินทร์ยอมจำนน.

"เสือดำ" กลับไปเมืองกาญจน์และตัดสินใจเข้ามอบตัวกับตำรวจและถูกยื่นฟ้องศาล ซึ่งเขาก็รับสารภาพทุกข้อหา. ในเรือนจำ ระพินทร์ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งทำให้เขาต้องแหกคุกและสังหารเจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะพาสมุนหลบหนีไปตั้งค่ายอยู่ในป่าสุพรรณบุรี. ตลอดเวลาที่หลบหนีตำรวจอยู่ในป่า "เสือดำ" ต้องต่อสู้กับพวกโจรหลายก๊กหลายเหล่า จนกระทั่งไม่มีโจรรายใดบังอาจมารบกวนเขา. ขณะนั้นน่าจะเข้าสู่ พ.ศ. ๒๔๙๒.

ระพินทร์ได้เป็นที่พึ่งของมนตรี มานวิสุทธิ์ เด็กหนุ่มที่เพิ่งสำเร็จชั้นเตรียมอุดม ชวนเพื่อนมาผจญภัยแล้วก็หลงทาง. ระพินทร์ตกลงใจรับมนตรีไว้เป็นบุตรบุญธรรมและนำไปฝากเพื่อนเก่าในกรุงเทพฯ ให้จัดการให้เด็กหนุ่มได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยเขาเป็นผู้ส่งเสียจนกระทั่งสำเร็จออกเป็นนายตำรวจในเวลาอีก ๓ ปีต่อมา. ในระหว่างนั้นระพินทร์ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงจนกระทั่งได้มีคณะข้าราชการไปตรวจราชการและได้ใช้อำนาจข่มเหงรังแกชาวบ้าน. ระพินทร์สุดที่จะทนทานได้ จึงจำเป็นต้องขัดขวาง ทำให้ข้าราชการหลายคนเสียชีวิต ซึ่งเป็นเหตุให้ตำรวจส่งกำลังมาจับกุม "เสือดำ" โดยมอบหมายให้ ร.ต.ต.มนตรี บุตรบุญธรรมของขุนโจรเป็นผู้นำกำลังมาทำการ. ระพินทร์ยอมมอบตัว และถูกส่งฟ้องศาลและได้รับความกรุณาจากศาลให้จำคุกตลอดชีวิตที่บางขวาง. นิยายเรื่อง "เสือดำ" ก็จบลงตรงนี้.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 19:03

อ่านนิยายชุดนี้ของ ป. อินทรปาลิต จะเห็นว่านิยายเรื่อง "เสือดำ" มีลักษณะเป็น "เรื่องรักโศก" มากกว่าเรื่อง "เสือใบ" ที่เน้นไปที่พฤติกรรมที่ไม่ชอบของข้าราชการและเบื้องหลังความร่ำรวยของเศรษฐีในยุคหลังสงคราม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของ "เสือใบ" ที่จะต้องกำจัด. อย่างไรก็ตามนิยายเรื่อง "เสือดำ" ก็จงใจเปิดโปงความชั่วร้ายของสังคมในยุคนั้น ตลอดจนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในบางหน่วย. ข้อที่น่าสังเกตอีกประเด็นหนึ่งก็คือ แม้ว่าในนิยายทั้ง ๒ เรื่อง ขุนโจรจะรับบท "พระเอก", แต่ ป. อินทรปาลิต ก็ได้ให้เกียรติแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในแง่ของความกล้าหาญ, รักเกียรติและศักดิ์ศรี ตลอดจนความมีมนุษยธรรมและคุณธรรม. สำหรับ "ผู้ร้าย" นั้น ป. อินทรปาลิต ได้มอบบทบาทนั้นแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งในช่วงหลังสงครามจะมีการกล่าวถึงเจ้าหน้าที่เหล่านี้ในด้านลบอยู่เนือง ๆ. ข้อสังเกตประการสุดท้ายก็คือ แม้ว่าทั้ง "เสือใบ" และ "เสือดำ" จะได้ประกอบอาชญากรรมเอาไว้มากมายในการปล้นและฆ่าทั้งเจ้าทรัพย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกทั้งพฤติกรรมที่เข้าข่ายกบฏภายในราชอาณาจักร, แต่ในตอนจบเรื่อง ขุนโจร "ผู้ร้ายผู้ดี" ทั้งคู่ก็รอดตาย โดย "เสือใบ" หลบหนีออกไปนอกประเทศ ขณะที่ "เสือดำ" ติดคุกตลอดชีวิต.

จะเป็นด้วยการเรียกร้องของผู้อ่านที่ติดตามอ่านนิยายทั้ง ๒ เรื่องมาอย่างสนุกสนาน ซึ่งไม่ประสงค์จะให้นิยายดังกล่าวต้องจบลงขณะนั้น, หรืออาจจะเนื่องจากจิตสำนึกของผู้ประพันธ์ที่รู้สึกว่า ไม่ว่าขุนโจรทั้งสองจะกอปรด้วยคุณงามความดีมากมายเท่าใดก็ตาม แต่นิยายก็ควรจะต้องจบลงด้วยการเสียชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น, ป. อินทรปาลิต จึงได้ประพันธ์ตอนจบของนิยายชุดนี้ คือ "ดาวโจร" ที่ให้ "เสือใบ" และ "เสือดำ" โคจรมาพบกัน ได้ร่วมกันเป็นประมุขของ "กองโจรเชิ้ตดำ" ปฏิบัติการท้าทายกฎหมายทั้งในกรุงและในป่าอย่างเกรียงไกร ซึ่งในที่สุดก็ต้องจบชีวิตที่เป็นตำนานขุนโจร โดย "เสือดำ" ถูกตำรวจยิงพรุนไปทั้งตัว ขณะที่ "เสือใบ" ยิงตัวตายเมื่อหมดหนทางที่จะต่อสู้หรือหลบหนี. ขุนโจรทั้งสองได้เสียชีวิตลงประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๖ ในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมาก. "เสือดำ" จบชีวิตลงก่อนในป่ากาญจนบุรี ขณะที่ "เสือใบ" ได้ตายตามไปในป่าสุพรรณบุรี.

ป. อินทรปาลิต ปิดท้ายนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" โดยให้บุตรชายของขุนโจรทั้งสองที่เกิดจากสตรีอันเป็นที่รักในวัยหนุ่ม ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มเมื่อผู้ให้กำเนิดเสียชีวิต ได้มาพบกัน และร่วมกันดำเนินตามรอยบิดาในช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่นานนัก ก่อนที่จะอำลาแผ่นดินไทยข้ามพรมแดนไปใช้ชีวิตในประเทศเพื่อนบ้าน. ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน อดีตสมุนของ "เสือใบ-เสือดำ" กลุ่มหนึ่งก็ได้พยายามรื้อฟื้น "กองโจรเชิ้ตดำ" ขึ้นมาอีกตามแนวทางที่อดีตขุนโจรได้วางไว้ ซึ่ง ป. อินทรปาลิต ให้ชื่อนิยายเรื่องนี้ว่า "เชิ้ตดำคืนชีพ" ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปิดท้ายนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ".

สำหรับนักอ่านที่ได้อ่านนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" จะทั้งหมด ๗,๘๔๐ หน้าพ็อคเก็ตบุ๊กหรือเพียงบางส่วนก็ตาม ก็มักจะตั้งคำถามที่น่าคิด ๒ ข้อ ซึ่งคำตอบก็คงจะมีต่างๆ กันไป. คำถามที่มักจะถามกันก็คือ ๑. นิยายชุดดังกล่าวนี้ได้ให้สิ่งใดแก่ผู้อ่านในแง่ของข้อคิดความเห็น นอกเหนือไปจากความสนุกสนานและความซาบซึ้งตรึงใจอันเป็นเสน่ห์ของบทประพันธ์ของ ป. อินทรปาลิต และ ๒. การที่นิยายชุดดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเป็นไปได้หรือไม่เพียงใดที่จะสะท้อนสังคมไทยในขณะนั้น ทั้งที่เป็นรูปธรรม คือเหตุการณ์ต่าง ๆ และที่เป็นนามธรรม อาทิ บรรยากาศ, ทัศนคติ, วิถีชีวิต และปรัชญาสังคม.

ท่ามกลางคำตอบที่คงจะต่าง ๆ กันไปสำหรับคำถามทั้ง ๒ ข้อข้างต้น หากจะมีบางคำตอบที่น่าจะเป็นความรู้สึกที่ตรง ๆ กันของผู้อ่านส่วนมาก.

ต่อคำถามข้อแรกว่าด้วยข้อคิดความเห็นที่แทรกอยู่ระหว่างตัวอักษรที่ยาวเหยียดในนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ", คำตอบที่น่าจะตรงกันของบรรดาผู้อ่านก็มีอาทิ

สังคมไทยขาดความเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นว่าโภคทรัพย์และรายได้มิได้กระจายอย่างเป็นธรรมทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ ทำให้มีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนมั่งมีและคนยากจน ขณะที่ความร่ำรวยของบุคคลบางคนบางกลุ่มสร้างมาจากการเอารัดเอาเปรียบคนยากคนจน. คนจนในสังคมไทยเป็นคนที่มีความอดทนอย่างไม่มีที่เปรียบในชีวิตความเป็นอยู่.

การกระทำความผิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด จะเป็นบาปติดตัวไปจนตายที่ไม่อาจไถ่ถอนได้ และยากที่จะได้รับการให้อภัย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่บังคับให้คนที่เคยกระทำความผิดจำต้องกระทำความผิดต่อๆ ไป ด้วยไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น แม้ว่าจะมีความปรารถนาที่จะกลับตัวกลับใจสักเพียงใดก็ตาม.

บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นโจรผู้ร้าย ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนเลวและคนชั่วเสมอไป เพราะอาจเป็นเพียงผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเท่านั้น. โจรผู้ร้ายอาจจะมีมนุษยธรรม, ศีลธรรมและคุณธรรมเหนือกว่าผู้ที่เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายก็ได้.

สำหรับคำถามข้อหลังที่ยกเป็นประเด็นว่านิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" อาจจะสะท้อนสังคมไทยในช่วงเวลาภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สงบลงใหม่ ๆ ในบางแง่บางมุม หรือในหลายแง่หลายมุม ทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นนามธรรมนั้น, คำตอบที่น่าจะไม่แตกต่างกันก็คือสังคมไทยในขณะนั้นมีส่วนในการทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่ปรากฏในนิยายชุดดังกล่าวโดยปราศจากข้อสงสัย โดยอาจแยกวิเคราะห์สังคมไทยในยุคนั้นออกได้เป็น ๓ ด้าน คือ

ด้านการเมือง ที่เป็นยุคที่มีการใช้อำนาจและความรุนแรงในการตัดสินความแตกต่างและในการระงับความขัดแย้ง. การที่มีกลุ่มบุคคลตั้งตัวเป็นโจร ปฏิบัติการฝ่าฝืนและท้าทายกฎหมายบ้านเมือง ก็เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมการแย่งอำนาจรัฐ หรือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในยุคนั้นนั่นเอง.

ด้านเศรษฐกิจ ที่ความล่มสลายของระบบการเงินของประเทศจากสงครามได้ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีรายได้เท่าเดิม หรือสูญเสียรายได้. ความเดือดร้อนมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับรายจ่าย ซึ่งทำให้ผู้มีทรัพย์สินต้องขายทรัพย์สินเพื่อได้เงินมาจุนเจือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะภาวะเงินเฟ้อ. ส่วนผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินที่จะขายกิน ก็จำเป็นต้องขายตัว หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือการปล้นทรัพย์ผู้อื่น. ข้าราชการที่มีโอกาส ก็กระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงเพราะเงินเดือนไม่พอกิน.

ด้านสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน คือการเปลี่ยนแปลงในฐานะเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะของ "ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน" ซึ่งหมายถึงว่าผู้ที่เคยมีเกียรติและยังคงรักษาเกียรติมีสถานภาพทางสังคมตกต่ำลง ขณะที่บรรดา "เศรษฐีสงคราม" คือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสภาพของเศรษฐกิจในระหว่างสงครามจนกระทั่งร่ำรวย ได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในสังคมด้วยธนวุฒิ. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อ "ค่านิยม" ซึ่งมีวิวัฒนาการโดยปกติอยู่แล้ว. "การบูชาเงินเป็นพระเจ้า" ก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ค่านิยม" ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนั้น ขณะที่การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการได้กลายเป็นเรื่องปกติ. จริยธรรม, คุณธรรม และศีลธรรม ทั้งในการครองชีวิตและในการใช้ชีวิตในสังคมมิใช่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกต่อไป.

การวิเคราะห์สภาวะของสังคมไทยในทั้ง ๓ ด้านดังกล่าวข้างต้น จะช่วยทำให้สามารถเข้าใจที่มาของบรรดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ติดตามอ่านในขณะนั้นก็เปรียบเสมือนการมองภาพในกระจกเงา ซึ่งทำให้ตื่นเต้นและ "สะใจ" ไปพร้อมกัน.

จากยุคนั้นถึงยุคนี้ กาลเวลาก็ได้ผ่านพ้นไปแล้วถึง ๖๐ ปี. สมาชิกของสังคมไทยส่วนใหญ่ในขณะนี้เกิดไม่ทันหรือโตไม่ทันที่จะได้เห็นสังคมไทยในยุคนั้น. ดังนั้นนิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ของ ป. อินทรปาลิต ก็จะมีประโยชน์เชิงประวัติศาสตร์สังคมด้วยอีกโสดหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็จะช่วยปลูกฝังจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นจิตสำนึกที่จะบอกให้รู้ว่าบ้านเมืองและสังคมของเราปรารถนาสิ่งใด. นอกจากนั้นเนื่องจากประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เนืองๆ, นิยายชุด "เสือใบ-เสือดำ" ก็คงจะทำให้คนไทยในยุคปัจจุบันได้สังเกตเห็น "รอย" เดิมในประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เมื่อ ๖๐ ปีที่แล้วบ้างไม่มากก็น้อย.

จากหนังสือ "นิยายชุดเสือใบ-เสือดำ ของ ป. อินทรปาลิต กับสังคมไทยยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒" โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 20:07

เคยอ่านเสือดำ เสือใบ  จำได้ว่าตอนจบ เรวัตหรือเสือใบถูกยิงตายไปก่อน วิญญาณมาปรากฏให้ระพินทร์เห็น ก่อนระพินทร์จะถูกตำรวจล้อมจับ จนสิ้นชีวิต    ก่อนหน้านั้น ระพินทร์ถูกภรรยาคนสุดท้ายชื่อแน่งน้อยหักหลัง รับสินบนนำจับจากตำรวจ พาตำรวจมาถึงที่ซ่อนของสามี

แล้วก็จำได้อีกอย่างว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแสดงความไม่เห็นด้วยที่ป.อินทรปาลิตเขียนให้โจรผู้ร้ายเป็นพระเอก     คงจะด้วยเหตุนี้    คุณป. จึงเขียนต่อตอนจบให้เสือใบเสือดำตายกันทั้งคู่
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 20:23

แล้วก็จำได้อีกอย่างว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแสดงความไม่เห็นด้วยที่ป.อินทรปาลิตเขียนให้โจรผู้ร้ายเป็นพระเอก     คงจะด้วยเหตุนี้    คุณป. จึงเขียนต่อตอนจบให้เสือใบเสือดำตายกันทั้งคู่

ป.อินทรปาลิตเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ใน ปิยะมิตรวันอาทิตย์ ฉบับที่ ๑๒ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ว่า

หลังจากสันติบาลใหญ่ได้ "ขอแสดงความนับถือ" กับ ป.อินทรปาลิตและบรรณาธิการของเราในเรื่องความเก่งฉกาจของเสือใบขุนโจรที่โปลิศแพ้ (เพราะผู้เขียนเขียนให้แพ้) ท่านผู้เป็นแฟนของเสือใบก็จดหมายไปที่สำนักงานมากมาย แสดงความเห็นใจบ้าง แสดงความเวทนาผู้เขียนบ้างที่ไร้เสรีภาพในการเขียน ซึ่งผู้เขียนและชาวคณะของเราขอขอบคุณท่านที่เห็นอกเห็นใจ

ไม่มีอะไรที่น่าวิตก ท่านผู้บังคับการเห็นว่า คนที่โง่เขลาเบาปัญญาอ่านแล้วอาจจะนิยมชมชอบพฤติการณ์ของ "เสือใบ" และทำตัวเป็นเสือใบบ้าง ท่านว่ายังงั้น ป.อินทรปาลิตก็ต้องว่ายังงั้น เพราะเรื่องมันต้องยังงั้น  ถ้าไม่ยังงั้นมันก็อาจจะยังงั้น ก็ต้องยังงั้นไปเท่านั้นเอง



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 20:32

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าจะกระทบความรู้สึกของ "ท่าน" น่าจะเป็นปณิธานอันเด็ดเดี่ยวของ เรวัต วิชชุประภา หรือ "เสือใบ"

โจรอย่างข้า ดีกว่าอ้ายพวกข้าราชการที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงเสียอีก หน้าฉากของมันเต็มไปด้วยเกียรติยศ แต่หลังฉากตั้งหน้าคดโกงกอบโกยเงินเข้ากระเป๋า เอ็งคอยดู อ้ายสัตว์นรกผู้ทำลายชาติเหล่านี้อยู่ในบัญชีของข้าทั้งนั้น ข้าจะต้องปล้นมันให้จงได้ เพื่อเอาเงินของมันมาแจกจ่ายพี่น้องที่ยากจนของข้า

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 03 ก.ค. 13, 20:54

แบบเดียวกับโรบินฮู้ดเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.105 วินาที กับ 20 คำสั่ง