เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6330 ที่มาของซอยพระยาสุนทรพิมล ถนนพระราม 4
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 15 มิ.ย. 13, 15:10

ปัจจุบันนี้ แยกจากถนนพระราม 4 เข้าไปทางถนนจารุเมือง  มีซอยอยู่ซอยหนึ่งชื่อซอยพระยาสุนทรพิมล 
ในแผนที่ข้างล่างนี้อยู่ ระหว่างทางด่วนศรีรัช กับถนนบรรทัดทอง
เดิมซอยสุนทรพิมลคือถนนสุนทรพิมล เป็นถนนสาธารณะตัดโดยเอกชน ชื่อพระยาสุนทรพิมล   
นอกจากนี้ท่านยังเป็นขุนนาง 1 ใน 5 คน  อีก 4 คน คือ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (ม.ร.ว.ลพ. สุทัศน์ ต่อมาเป็นเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร) พระยาพิพัฒน์โกษา (เซเลสติโน ซาเวีย) พระยานรฤทธิ์ราชหัช (ทองดี โชติกเสถียร ต่อมาเป็นพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี) พระยานารถภักดี (สุด บุนนาค ต่อมาเป็น พระยาสมุทรานุรักษ์)    ร่วมกันตัดถนนสี่พระยาขนานกับถนนสุรวงศ์เมื่อประมาณ พ.ศ. 2448 ในรัชกาลที่ 5


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 มิ.ย. 13, 17:59

      พระยาสุนทรพิมล (เผล่) เกิดในรัชกาลที่ 4   เป็นบุตรหลวงสุนทรพิมล (จุ้ย) กับคุณนายพา ธิดาพระยาเทพราชา(ทัด)   มีพี่น้องผู้ชายอีก 3 คน ล้วนแต่โตขึ้นก็รับราชการทั้งสิ้น คือ ขุนพรสมบัติ(โม้)  หลวงศิริสมบัติ(เชย)  และพระยาสุนทรพิมล(เขียว)   เกิดในบ้านที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าวัดสัมพันธวงศ์

     หลวงสุนทรพิมลผู้บิดา เดิมเป็นหมื่นราชธนยานุรักษ์   มีตำแหน่งเป็นปลัดกรมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ   พระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย     เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกขึ้นครองราชย์  ก็โปรดเกล้าฯให้ทรงบัญชาการกรมพระคลังมหาสมบัติ
     กรมหมื่นมเหศวรฯทรงใช้สอยหมื่นราชธนยานุรักษ์เป็นที่ไว้วางพระทัย ในฐานะข้าหลวงเดิม     จึงทรงบรรจุให้มีตำแหน่งอยู่ในกรมพระคลังมหาสมบัติด้วย      คุณหลวงจึงรับราชการอยู่ที่นั่นเรื่อยมา แม้ว่ากรมหมื่นมเหศวรฯสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 แล้วก็ตาม    จนได้เลื่อนขึ้นเป็นขุนนางชั้นสัญญาบัตร ครั้งแรกเป็นขุนพรสมบัติ   แล้วเลื่อนขึ้นเป็นหลวงสุนทรพิมล   เจ้าจำนวนภาษีอากร   ในตอนนั้นล่วงเข้ารัชกาลที่ 5  แล้วคุณหลวงมีเจ้านายพระองค์ใหม่คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์   
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 มิ.ย. 13, 20:35

จัดแผนที่โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ให้อ. เทาชมพูดูประกอบเรื่อง จะได้เห็นสภาพบรรยากาศในสมัยก่อนครับ แผนที่ราว พ.ศ. ๒๔๕๓ จะเห็นถนนเส้นแดง (ขวาภาพ) ซึ่งเป็นแนวไว้ว่าจะทำการตัดถนนในอนาคตครับ

จะเห็นแนวถนนตัดแยกออกจากถนนตรง (ถนนพระราม ๔) และเข้าไปที่บ้านทำเป็นถนนวงกลมหน้าบ้านอีกด้วย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 มิ.ย. 13, 20:41

ขอบคุณค่ะคุณหนุ่มสยาม   เลื่อนรูปขึ้นลงเทียบกันดู    เมื่อก่อนที่ดินชานเมืองกรุงเทพยังว่างอยู่มาก   เนื้อที่บ้านคนใหญ่คนโตสมัยนั้นแค่ 1 หลัง มาสมัยนี้สร้างคอนโดใหญ่ๆได้สบาย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 มิ.ย. 13, 21:36

   ในยุคที่ไทยยังอยู่ในระบบภาษีอากร  ต่อเนื่องมาจากรัชกาลที่ 3     คือมีเจ้าภาษีอากรรับหน้าที่ผูกขาดเก็บภาษีจากราษฎรนำเข้าสู่หลวง     หน้าที่ข้าราชการอย่างหลวงสุนทรพิมล(จุ้ย)ที่เรียกว่า "เจ้าจำนวน"  ก็คือทำหน้าที่ดูแลเลือกหาว่าใครสมควรจะมาเป็นเจ้าภาษีได้บ้าง   เมื่อคัดเลือกว่าใครเป็นเจ้าภาษีแล้ว ก็ต้องตรวจตราการประมูลภาษีให้เป็นไปโดยถูกต้อง    หน้าที่นอกจากนี้คือเร่งรัดเงินหลวงจากเจ้าภาษี นำส่งพระคลัง      ดังนั้นขุนนางคนไหนได้เป็น "เจ้าจำนวน"  ก็ต้องมีคอนเนคชั่นดีกับพวกพ่อค้าต่างๆที่จะมายื่นขอเป็นเจ้าภาษี    ตลอดจนชำนาญการทำภาษีอากรต่างๆ  เพื่อให้ได้ยอดเงินที่ถูกต้อง   ไม่ถูกโกงและตัวเองก็ไม่โกงเสียเอง   
   ดังนั้นถึงแม้ว่ามีบรรดาศักดิ์แค่คุณหลวง    แต่หน้าที่การงานทำให้หลวงสุนทรพิมล(จุ้ย) เป็นคนกว้างขวางเป็นที่นับหน้าถือตา ทั้งข้าราชการและพ่อค้าทั้งหลายที่ประสงค์จะเป็นภาษี    หรือได้เป็นอยู่แล้ว

   เหตุผลอีกอย่างที่ทำให้หลวงสุนทรพิมล กว้างขวางเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็คือ สมัยกรมหมื่นมเหศวรฯยังมีพระชนม์อยู่     เวลามีงานโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  ทรงรับหน้าที่ดูแลเรื่องเลี้ยงน้ำชาและของว่างในงานแก่เจ้านายขุนนางสำคัญทั้งหลายที่มาร่วมในพระราชพิธี      ในงานนี้ทรงใช้ข้าราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติเป็นพนักงานเลี้ยง    มีหลวงสุนทรพิมลรับหน้าที่หัวหน้าพนักงาน 
   ต่อมาแม้ว่ากรมหมื่นมเหศวรฯสิ้นพระชนม์แล้ว  ล่วงมาถึงรัชกาลที่ 5    เมื่อมีพระราชพิธีก็ดี  มีงานตามวังเจ้านายและงานตามบ้านขุนนางผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้น้อยที่เป็นเพื่อนฝูงกันก็ดี   หลวงสุนทรพิมลก็อาศัยความชำนาญที่เคยฝึกงานด้านนี้มาก่อน  รับผิดชอบเรื่องเลี้ยงน้ำชาและของว่างในงานเหล่านี้สืบต่อมา    จึงเป็นที่โปรดปรานของเจ้านาย   และขุนนางใหญ่น้อยก็รู้จักดี เป็นที่คุ้นเคยชอบพอกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 มิ.ย. 13, 16:19

 อ่านประวัติของคุณหลวงสุนทรพิมลมาถึงตรงนี้  คิดในใจว่าท่านคงเป็นเศรษฐี      เพราะการเลี้ยงน้ำชาและของว่างแม้ว่าไม่ถึงกับเป็นอาหารคาวหวานอย่างดินเนอร์ครบเครื่อง    แต่งานเลี้ยงตามวังเจ้านาย แขกเป็นร้อย  ตามบ้านขุนนางใหญ่ๆก็เช่นกัน    คนที่ควักกระเป๋าจัดเลี้ยงได้ไม่รู้ว่ากี่งานต่อกี่งาน   ต้องมีฐานะไม่ธรรมดา  นอกจากเป็นเศรษฐีแล้วยังใจกว้างอีกด้วย    ดังนั้นถึงแม้ว่าเป็นขุนนางระดับคุณหลวง   เจ้านายจึงโปรดปรานและขุนนางใหญ่น้อยก็ให้ความเป็นมิตรด้วย

  นอกจากรู้จักสมาคมกว้างขวางแล้ว   คุณหลวงสุนทรพิมลยังรู้จักฝึกงานบุตรชายทั้ง 4 คน ให้ช่วยงาน  ไม่ว่าในเรื่องสมาคม หรือความรู้เรื่องภาษีอากรเช่นเดียวกับบิดา เพื่อแบ่งเบาภาระ  และเป็นการปูพื้นอย่างดีก่อนจะเข้ารับราชการ จะได้ต่อยอดได้ง่าย      ลูกชายทั้งสี่จึงเติบโตมาด้วยความเข้าใจงานของคุณหลวงอย่างดี     
  บุตรทั้งสี่ คือ ขุนพรสมบัติ(โม้)  หลวงศิริสมบัติ(เชย) พระยาสุนทรพิมล (เขียว) และพระยาสุนทรพิมล(เผล่)      การได้รับราชทินนามตามบิดา เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งของลูกชายขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 5  เมื่อเข้าทำงานเจริญรอยตามบิดา    น่าเสียดายว่าขุนพรสมบัติ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นลูกชายคนโต  ถึงแก่กรรมเสียแต่ยังหนุ่ม  ส่วนหลวงศิริสมบัติทำงานในกระทรวงพระคลังฯพักหนึ่ง ก็ย้ายไปรับราชการในกระทรวงมหาดไทย จนบั้นปลายได้เป็นเจ้าเมืองพังงา     บุตรคนที่สามคือพระยาสุนทรพิมลไปเติบโตที่กระทรวงนครบาลอยู่นานหลายปี กว่าจะกลับมากระทรวงพระคลัง    ก็เหลือพระยาสุนทรพิมล(เผล่) คนเดียวที่รับราชการในกระทรวงพระคลังตั้งแต่ต้นจนจบ   ได้รับตำแหน่งเจ้าจำนวนที่บิดาเคยเป็น และตำแหน่งอื่นๆด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 มิ.ย. 13, 18:39

   พระยาสุนทรพิมลเมื่อครั้งเป็นเพียงเด็กชายเผล่ ลูกชายหลวงสุนทรพิมล ได้เล่าเรียนเขียนอ่านที่วัดสัมพันธวงศ์ใกล้บ้าน  ต่อมาก็บรรพชาเป็นสามเณร  เมื่ออายุครบปีบวชก็ได้บวชที่วัดนั้น    ในเมื่อเป็นคนที่พระภิกษุในวัดเห็นมาแต่เล็กแต่น้อย  จนกระทั่งได้บวชเรียนและต่อมารับราชการเป็นหลักฐาน    ทางวัดจึงเลือกเป็นมรรคทายกมาตลอดอายุของท่าน       ท่านเองก็ได้สร้างถาวรวัตถุไว้หลายอย่างให้วัด  เช่นสร้างอาคารสำหรับพระสงฆ์ได้เรียนพระปริยัติธรรมไว้หลังหนึ่ง     สร้างอ่างเก็บน้ำซีเมนต์ขนาดใหญ่เพื่อเก็บน้ำให้พระสงฆ์ใช้กันทั้งวัด    ในยุคที่ยังไม่มีประปา  และเมื่อบ้านเมืองมีไฟฟ้าใช้   ท่านก็ติดไฟฟ้าให้พระทั้งวัดได้ใช้ด้วย

   พระยาสุนทรพิมลเข้ารับราชการกับบิดาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม  เริ่มตั้งแต่เป็นเสมียน  เลื่อนขึ้นเป็นหมื่นพิมลสมบัติ    เมื่อบิดาถึงแก่กรรม ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นขุนศรีสมบัติ   เจ้าจำนวนอากรค่าน้ำ     ในตอนนั้นยังไม่มีกรมราชพัสดุ   เมื่อต่อมากรมนี้ตั้งขึ้นท่านก็ได้ไปรับราชการในกรมเป็นนายเวรกรมราชพัสดุ    แล้วย้ายไปอยู่กรมจำนวน   เส้นทางของท่านยังคงสังกัดในกรมพระคลังมาโดยตลอด  เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นจนเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมอากรฝิ่น     จนถึงรัชกาลที่ 6 จึงได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาสุนทรพิมล  ผู้ช่วยอธิบดีกรมฝิ่น

   งานอีกอย่างนอกเหนือจากงานในหน้าที่ ที่พระยาสุนทรพิมลรับสืบทอดจากบิดามาโดยตลอด   คือเป็นหัวหน้าพนักงานเลี้ยงน้ำชาและเครื่องว่างในพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอมาตลอดรัชกาลที่ 5     จนถึงงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นงานสุดท้ายในรัชกาล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 มิ.ย. 13, 20:18

   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงกล่าวถึงพระยาสุนทรพิมล ในฐานะคนที่ทรงรู้จักคุ้นเคยมานานว่า
    "เป็นคนใจใหญ่และใจนักเลง"
   ที่ว่าเป็นคนใจใหญ่ ทรงหมายความว่าเมื่อลงมือทำอะไรแล้วก็พยายามทำให้ดีดังประสงค์   แม้จะต้องลงทุนรอนมากมายก็ไม่เสียดาย     ในสมัยรัชกาลที่ 5  เป็นยุคของการเล่นเครื่องลายครามที่เรียกกันว่าเครื่องโต๊ะตั้งบูชา   ถึงขั้นประกวดประขันกันเป็นเรื่องใหญ่ในหมู่เจ้านายและขุนนาง      วังหลวงตั้งโต๊ะเครื่องลายครามลายสี่ฤดู  ซึ่งเป็นของหายากและมีค่า   ไม่มีใครมีเทียบได้   ยกเว้นแต่พระยาสุนทรพิมลซึ่งเสาะหาเครื่องลายครามอย่างดีเยี่ยมมาสะสม สามารถหาลายสี่ฤดูมาตั้งในงานได้     ความสำเร็จและฝีมือของท่าน ถึงขั้นพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯตั้งเป็นกรรมการเลือกเครื่องตั้งโต๊ะด้วยท่านหนึ่ง
   ต่อมาเมื่อความนิยมเครื่องแก้วและถ้วยชามของเก่าเฟื่องฟูขึ้นมา      พระยาสุนทรพิมลก็ได้ชื่อว่ามีเครื่องเบญจรงค์น้ำทองและเครื่องแก้วชั้นเยี่ยมกว่าใครๆ     ท่านได้สะสมของเหล่านี้ไว้มาก  จนสามารถเปิดให้คนไทยและต่างประเทศเข้าชมได้แบบเดียวกับพิพิธภัณฑ์

   ส่วนเรื่องใจนักเลง ก็คือเป็นคนใจกว้าง   ชอบสมาคมอย่างกว้างขวาง   มีผู้คุ้นเคยชอบพอมากไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย เพราะท่านเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และไม่เคยเอาเปรียบใคร

   เมื่อพ.ศ. 2447  พระยาสุนทรพิมลย้ายบ้านจากแถววัดสัมพันธวงศ์ไปชานเมืองทางตะวันออกของกรุงเทพ  แถวหัวลำโพง  ท่านก็ตัดถนนสาธารณะไว้สายหนึ่งให้ประชาชนสัญจรไปมาได้     ปีต่อมาก็ร่วมกับขุนนางอีกหลายท่านตัดถนนสี่พระยาขนานกับถนนสุรวงศ์    ท่านได้อยู่บ้านใหม่นี้จนถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2464 ในรัชกาลที่ 6   อายุ 58 ปี

   ปัจจุบันถนนใหญ่ๆเกิดขึ้นหลายสาย  ถนนเดิมก็เล็กลงไปโดยปริยาย   ถนนสุนทรพิมลถึงกลายเป็นซอยสุนทรพิมล แต่ก็ยังรักษาชื่อเจ้าของผู้ตัดถนนสายนี้ไว้เป็นทางสาธารณะ  เพื่อเป็นที่ระลึกถึงท่าน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง