ชื่อสัตว์ตัวนี้คงผ่านตาคุณพีมาบ้าง เอามาให้คุณพี (หรือชาวเรือนไทยใจดีท่านอื่นก็ได้) ช่วยเฉลย

ด้วยความยินดีครับ

สัตว์้เขายาวหายากมากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ พบได้เพียงที่แถบชายแดนลาวเวียดนามเท่านั้น ชาวลาวเรียก "เสาลา" หรือ "ซาวลา" ตามลักษณะเขาของมันที่เหมือนแกนของหูกปั่นฝ้าย ส่วนชาวเวียตนามเรียกว่า "ซอนเดือง" (แปลว่าแพะภูเขา) และ ดร.จอห์นแมคคินนอน ฝรั่งผู้ค้นพบในคณะสำรวจสภาพพื้นที่ธรรมชาติสำหรับการอนุรักษ์ร่วมกับรัฐบาลประเทศเวียดนามเพื่อขยายพื้นที่ป่า เรียกว่า "วัววูกวาง" (เรียกตามลักษณะที่เหมือนวัวและพบที่ป่าวูกวาง) ได้ชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่เอี่ยมว่า
Pseudoryx nghetinhensis แถมยังชื่อนิคเนมเท่ๆ ว่า "ม้ายูนิคอร์นแห่งเอเชีย"
หารายละเอียดและเกล็ดความรู้มาเรียนเสนอดังข้างล่างครับ

(แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของซาวลาจาก
วิกิ)
ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย เสาลา (Saola) :
เมื่อ ดร.จอห์นแมคคินนอน ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตรวจดีเอ็นเอก็ได้ข้อสรุปว่า สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อน ทั้งยังเป็นสัตว์ที่ต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่เคยรู้จักกันมา นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มันว่า "ซูโดริกซ์เหง่ตินเนนซิส" ซึ่งแปลว่าโอริกซ์ปลอมแห่งเหง่ติน เนื่องจากวัวป่าชนิดนี้ดูคล้าย "โอริกซ์" แอนทีโลปเขาตรง ที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาและตะวันออกกลาง นอกจากนี้ พวกมันยังได้รับสมญาว่า "ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย" เนื่องมันมีเขายาวตรงเป็นแท่งบิดเป็นเกลียวแบบเดียวกับตัวยูนิคอร์นในตำนาน การค้นพบเสาลาทำให้ทั่วโลกสนใจป่าวูกวางเป็นอันมาก รัฐบาลเวียตนามจึงได้ประกาศให้ป่าวูกวางเป็นเขตสงวนและขยายพื้นที่จากเดิม 100,000 ไร่ เป็น 375,000 ไร่
(ภาพจากเว็บผู้จัดการออนไลน์)
เวียดนามชุบชีวิต "ซาวลา" ยืดเวลาสูญพันธุ์ :
ซาวลาถูกค้นพบครั้งแรกปี 2535 ในป่าเขตรอยต่อระหว่าง จ.เหงะอาน (Nghệ An) กับ จ.ห่าตี๋ง (Hà Tĩnh) ติดชายแดนแขวงบอลิคำไซ (ບໍລິຄໍາໄຊ) กับแขวงคำม่วน (ຄໍາມ່ວນ) ของลาวที่อยู่ถัด จ.เถื่อเทียนเหว กับ จ.กว๋างบี่ง (Quảng Bình) ขึ้นไป ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูคล้ายกวางป่าโอริก (Oryx) ในแอฟริกา จึงได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็น Pseudoryx nghetinhensis ซึ่งคำหลังเป็นชื่อย่อของ 2 จังหวัดในเวียดนามอันเป็นแหล่งที่พบครั้งแรก แต่องค์การอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์โต้แย้งว่า แท้จริงแล้วซาวลาพบครั้งแรกในเขตป่าชายแดนลาว-เวียดนาม ในปี 2535 เช่นเดียวกัน โดยมันปรากฏอยู่ในกล้องอินฟราเรดที่ถ่ายภาพโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามการพบซาวลาในปีนั้น นับเป็นการค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสายพันธุ์ใหม่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2479 เป็นต้นมา ทั้งนี้เป็นข้อมูลของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า หรือ World Wildlife Fund ความเป็นสัตว์หายาก บวกกับลักษณะเฉพาะของซาวลา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งฉายาให้เป็น "ม้ายูนิคอร์นแห่งเอเชีย" ซึ่งหมายถึงม้าเขาเดียวในนิยายปรัมปรา ที่หาไม่พบในที่อื่นๆ แต่แท้จริงแล้วซาวลามีเขา 2 เขา จึงทำให้มีผู้เรียกกวางชนิดนี้ว่า "เสา-หลา" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลาว ซึ่งออกเสียงคล้ายกับชื่อเดิม เนื่องจากลักษณะเขาคู่ที่ตั้งชั้น คล้ายกับ "เสา" ของ "หลา" อันเป็นอุปกรณ์ปั่นด้าย ที่ใช้กันมาแต่โบราณกาลในอนุภูมิภาค ไม่ปรากฏหลักฐานว่า เพราะเหตุใดจึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า “ซาว-ลา” และ ใครเป็นผู้ตั้งชื่อนี้ ซึ่งมีความหมายว่า “หายาก (สวยงาม) ประดุจเดือนและดาว” ในภาษาเวียดนาม
(ภาพจากวิกิ)
ข้อมูลจากวิกิ :
ซาวลา หรือ วัวหวูกว่าง (เวียดนาม: sao la; อังกฤษ: Vu Quang ox) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบในปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ.2535) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pseudoryx nghetinhensis มีรูปร่างคล้ายแพะผสมกับเลียงผา จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับวัว (Bovidae) จัดเป็นแอนทิโลปชนิดหนึ่ง ถูกพบครั้งแรกในเวียดนาม ขนตามลำตัวสั้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีลักษณะเด่นคือ มีลายสีขาวบริเวณใบหน้า เขาโค้งยาวและแหลมคม อาจมีเขายาวมากกว่า 50 เซนติเมตรได้ ต่อมใต้ตามีขนาดใหญ่ใช้หลั่งสารเคมีที่สื่อสารกับตัวเมีย ซาวลามีความยาวหาง 30 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 84 เซนติเมตร น้ำหนัก 80-100 กิโลกรัม พบเฉพาะป่าทึบชายแดนลาวกับเวียดนามเท่านั้น จัดเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Pseudoryx มีพฤติกรรมออกหากินตามลำพังในช่วงเช้าตรู่ถึงตอนบ่าย แต่บางครั้งอาจพบเห็นหากินในเวลากลางคืน มักอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น มีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ตั้งท้องนานประมาณ 8 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว เวียดนามนำมาตั้งชื่อเป็นพายุpI5oLGrwFRw
มีเกล็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับซาวลา นั่นคือ ประเทศเวียดนามได้เสนอชื่อพายุเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สัตว์ชนิดนี้ต่อชาวโลก ว่า
พายุซาวลา โดยได้เสนอชื่อต่อองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ซึ่ง
อธิบายว่าซาวลาเป็นสัตว์ที่ถูกค้นพบที่เวียดนาม (Saola : An animal recently found in Viet Nam) และ
จากข้อมูลผลกระทบที่เกิดจากพายุซาวลาสรุปว่า เกิดในระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 4 กันยายน พ.ศ. 2555 ประเทศที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่นและจีน สร้างความเสียหายมูลค่า 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผู้เสียชีวิต 82 คน
พายุซาวลานี้เกิดไล่เรี่ยกับพายุชื่อไทย
พายุโซนร้อนขนุน ที่ไปต้มยำกุ้งสร้างความเสียหายก่อนหน้าเพียงไม่กี่วันที่แถบประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตใกล้เคียงกัน คือ 89 คน