เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4335 พระยาวจีสัตยารักษ์ (ดิศ นามะสนธิ)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 11 มิ.ย. 13, 14:47

พระยาวจีสัตยารักษ์ท่านนี้เป็นคนละคนกับพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ในอีกกระทู้หนึ่งนะคะ   บอกไว้ก่อน กันสับสน
เส้นทางชีวิตและเส้นทางราชการไม่เหมือนกัน  แต่มาถึงตำแหน่งราชการสุดท้ายเหมือนกัน คือเป็นผู้กำกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของขุนนาง

พระยาวจีฯท่านนี้มีชื่อตัวว่า ดิศ เป็นเด็กเมืองหลวง  คือเกิดในกรุงเทพฯเมื่อรัชกาลที่ 4   บิดาเป็นขุนนางชื่อขุนศิลปศาสตรา  รับราชการเป็นปลัดกรมกองแก้วจินดา  มารดาชื่อนวล
ชื่อกรมกองแก้วจินดา ฟังทีแรกอาจจะเข้ารกเข้าพงไปง่ายๆ นึกว่าเป็นกรมอะไรที่มีหน้าที่รักษาพระราชทรัพย์แก้วแหวนเงินทองของแผ่นดิน     ความจริงเป็นกรมขึ้นอยู่กับกรมพระกลาโหม   ทำหน้าที่พนักงานรักษาปืนใหญ่  มีบทบาทคือเป็นผู้ยิงปืนใหญ่ 4 กระบอกคือปืนมหาฤกษ์  มหาชัย มหาจักร และมหาปราบ  ในพระราชพิธีต่างๆที่ต้องยิงปืนใหญ่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 มิ.ย. 13, 16:36

  บิดาของขุนศิลปศาสตรา ชื่อหลวงสุรินทรเดชะ (สนธิ)   บิดาของคุณหลวงชื่อนาม   ดังนั้นเมื่อพระยาวจีฯ ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ 6    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจึงพระราชทานตามชื่อทวดและปู่ ว่า "นามะสนธิ"

    พระยาวจีฯ ได้รับการศึกษาตามแบบกุลบุตรไทยในสมัยนั้น กล่าวคือได้เล่าเรียนเขียนอ่านอย่างดี  พอจะเป็นเสมียนได้เมื่อโตขึ้น   อีกอย่างคือได้รับถ่ายทอดวิชาซึ่งคงจะตกทอดกันมาจากปูย่าตายาย  คือวิชาช่างไม้ จนชำนาญ   พี่ชายทั้งสองของท่านชื่อท่านเดช และท่านอ้นก็ได้รับการฝึกหัดตามแบบเดียวกัน     
      เป็นธรรมดาของลูกขุนนาง  พ่อแม่ก็หวังว่าโตขึ้นจะรับราชการตามรอยพ่อและปู่  พอเป็นหนุ่มอายุ  18 ปีในต้นรัชกาลที่ 5   ท่านก็เข้ารับราชการที่กรมกองแก้วจินดานั่นเอง

    ในต้นรัชกาลที่ 5  เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน   ท่านมักออกตรวจราชการหัวเมืองเป็นประจำ   โดยใช้เรือแหวดเป็นพาหนะ   ตอนนั้นท่านเดชพี่ชายของพระยาวจีฯได้เป็นเจ้ากรมกองแก้วจินดาแล้ว  มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาจินดาจักรรัตน์   ท่านเป็นผู้ชำนาญในการวิชาช่างต่อเรือ  ก็ออกแบบต่อเรือแหวดให้สมเด็จเจ้าพระยานั่ง  เป็นที่เลื่องลือว่าฝีมือดีไม่มีใครสู้
    เรือแหวดเป็นเรือแจวชนิดหนึ่ง ท้ายโตและสูง    มีเก๋งรูปยาวอยู่ตรงกลางเรือ   หารูปมาให้ดูข้างล่างนี้ค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 มิ.ย. 13, 21:16

   ตำแหน่งแรกของนายดิศหรือพระยาวจีฯในกรมกองแก้วจินดา คือเป็น "สารวัด"ชั้นประทวน   ชื่อว่าหมื่นยงแผลงอาวุธ   งานประจำคือเป็นช่าง  ตามที่ถูกฝึกฝนมาจากทางบ้าน  เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์  สมุหพระกลาโหมเห็นว่ามีแววดี  ก็เลยคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในช่างนายงานที่ไปทำการแต่งพระราชวังบนเขาสัตนาถที่เมืองราชบุรี

   ผลงานของหมื่นยงฯ เป็นที่เข้าตาสมุหพระกลาโหม   จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นหลวงศรสำแดงฤทธิ์  ปลัดกรมเขนทองขวา เมื่ออายุแค่ 22 ปี   เป็นคุณหลวงหนุ่มแน่นเอาการ      และได้ย้ายจากกรมกองแก้วจินดามาอยู่กรมอาสาหกเหล่า  รับผิดชอบงานก่อสร้างต่างๆในกระทรวงกลาโหม   เช่นตัดทางปักเสาพาดสายโทรเลขที่เริ่มมีขึ้นในสยามเมื่อรัชกาลที่ 5     คุณหลวงศรฯคงเป็นคนที่รับใช้ได้คล่องแคล่วถูกใจนาย    เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์จึงเอาติดหน้าตามหลังไปด้วยเวลาท่านออกไปราชการตามหัวเมือง จนตลอดอายุของท่าน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 มิ.ย. 13, 17:57

   ความก้าวหน้าในราชการมาถึงตัวคุณหลวงหนุ่มอีกครั้ง   เมื่อกรมกองแก้วจินดามีผู้บังคับการทหารคนใหม่คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ   ในที่นี้ขอเรียกว่าสมเด็จกรมดำรงฯ ดีกว่า ได้คุ้นหูท่านผู้อ่าน     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงยกกรมกองแก้วจินดามาไว้ให้สำหรับซ่อมแซมปืนใหญ่ไว้ใช้ในราชการทัพ       คุณหลวงก็เลยได้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา
   ในตอนนั้นราชการมีความจำเป็นต้องทำแผนที่ราชอาณาจักรสยาม  โดยจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งมาทำชื่อมิสเตอร์เจมส์ แมคคาที ต่อมาคือพระวิภาคภูวดลเจ้ากรมแผนที่คนแรกของไทย       ใช้ทหารมหาดเล็กเป็นพนักงานทำแผนที่    พอดีเกิดศึกฮ่อขึ้น ก็จำเป็นต้องเร่งรัดการทำแผนที่หัวเมืองฝ่ายเหนือให้เสร็จ      สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ทรงหาคนที่จะมาทำหน้าที่ข้าหลวงนำกองแผนที่     ในตอนนั้นเองพี่ชายของพระยาวจีฯคือท่านเดช หรือพระจินดาจักรรัตน์ ได้ถวายน้องชายให้ทรงใช้ทำหน้าที่นี้    โดยทูลว่าเป็นคนคล่องแคล่วอดทน คงจะทำงานลุล่วงได้       สมเด็จกรมพระยาดำรงฯจึงได้พระยาวจีฯหรือหลวงศรสำแดงฤทธิ์มาเป็นข้าหลวงนำแผนที่ ในพ.ศ. 2425
   พระยาวจีฯใช้ความชำนาญดั้งเดิมที่เคยติดตามเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ไปตามเมืองต่างๆ  มาใช้ประโยชน์ในคราวนี้   ได้เดินทางทำแผนที่ฝ่าความลำบากตรากตรำ ตามเสด็จสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไปจนเสร็จงาน    กลับมากรุงเทพนอกจากได้เครื่องราชฯช้างเผือกชั้นที่ 5   แล้วยังได้เหรียญปราบฮ่อมาเป็นรางวัลอีกด้วย    จากนั้นก็ได้โชคชั้นที่สามเพิ่มขึ้นคือได้เลื่อนเป็นหลวงกำจัดไพรินทร์  ปลัดกรมกองแก้วจินดา  รับราชการอยู่กับสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 มิ.ย. 13, 11:09

   ดูจากประวัติแล้ว เห็นได้ว่าหลวงจำกัดไพรินทร์คงเป็นคนทำงานเก่ง   แม้แต่งานยากๆลำบากตรากตรำก็ทำได้  จึงเป็นที่ถูกพระทัยเจ้านาย    เห็นได้จากเมื่อเกิดศึกฮ่อขึ้นที่หลวงพระบางในพ.ศ.  2430   เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้รับพระบรมราชโองการให้ยกกองทัพไปปราบ      ในงานนี้ โปรดเกล้าฯให้กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ไปจัดการส่งกองทัพ     กรมหลวงสรรพสิทธิ์ทูลขอสมเด็จกรมพระยาดำรงฯให้คัดเลือกข้าราชการตามเสด็จไปด้วย      หลวงกำจัดไพรินทร์ก็ถูกคัดเลือกไปราชการพิเศษครั้งนี้ด้วย
   ต่อมาในพ.ศ. 2432  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงย้ายไปเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ   พ้นจากทหาร มิได้บังคับบัญชากรมกองแก้วจินดาอีกต่อไป       หลวงกำจัดไพรินทร์ก็สมัครใจจะขอย้ายไปทำงานถวายต่อไปอีกด้วย    สมเด็จฯก็พอพระทัย ทรงรับและแต่งตั้งให้เป็น หลวงธนผลพิทักษ์    ผู้ตรวจการผลประโยชน์พระอาราม   ตำแหน่งนี้ต้องรับผิดชอบดูแลเงินๆทองๆของวัด    จึงต้องใช้คนที่เชื่อได้ว่าซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ไว้ใจได้
   คุณหลวงธนผลพิทักษ์  ได้ติดตามรับใช้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ต่อไปอีกเมื่อทรงย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย     คราวนี้ได้ออกหัวเมือง   เพราะกรมหลวงสรรพสิทธิ์ฯ ทรงเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา   แล้วย้ายไปมณฑลอีสาน    มีพระประสงค์จะได้ข้าราชการฝีมือดีที่สามารถทำงานในมณฑลห่างไกลอย่างอีสานได้  จึงทูลขอหลวงธนผลฯ ที่เคยเห็นฝีมือกันมาแล้วเมื่อไปศึกที่หลวงพระบาง   
   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ประทานให้    คุณหลวงก็เลยต้องออกหัวเมืองไกล   ไปรับราชการอยู่หัวเมืองตะวันออก   ได้เลื่อนขึ้นเป็น พระอนุชิตพิทักษ์ ในคราวนี้เอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 มิ.ย. 13, 11:36

   คุณพระอนุชิตฯอยู่หัวเมืองจนอายุ 39 ปี    ตำแหน่งผู้ว่าราชการสระบุรีเกิดว่างขึ้นมา     จึงได้ย้ายกลับมาภาคกลาง กินตำแหน่งเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเป็นครั้งแรก คือได้เป็นพระยาพิชัยรณรงค์สงคราม     อยู่ในตำแหน่งนี้ถึง 10 ปี    
    งานของพระยาพิชัยฯไม่ได้จำกัดอยู่แค่จังหวัดสระบุรี      ถ้ามีราชการพิเศษแม้ในจังหวัดอื่นๆหรือมณฑลอื่นๆ  เป็นต้องถูกเรียกตัวมาช่วยงาน  เช่นงานพระราชพิธีหรืองานรับแขกเมืองที่พระราชวังบางปะอิน     พระยาพิชัยฯก็ลงมาทุกครั้ง  เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงคุ้นเคยและทรงพระเมตตาใช้สอย    จนพระยาพิชัยฯได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ และเหรียญราชรุจิ เป็นบำเหน็จในส่วนพระองค์

   ผลงานอีกเรื่องหนึ่งของพระยาพิชัยฯ ในกรุงเทพ  ทั้งๆตัวเองอยู่ในหัวเมืองไกล ก็คือเมื่ออายุได้ 50 ปี  ในพ.ศ. 2451   ท่านย้ายจากสระบุรีไปเป็นเจ้าเมืองพิจิตรในราชทินนามเดิม      ทางกรุงเทพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงปฏิสังขรณ์วัดราชาธิวาส   มีพระราชประสงค์จะสร้างศาลาการเปรียญใหญ่ในวัด      โดยใช้ไม้เต็งรังขนาดใหญ่เป็นเสาศาลา    แต่ไม้เต็งดังที่ว่าหาใกล้ๆกรุงเทพไม่ได้  ต้องไปเอามาจากทางเหนือเท่านั้น     พระยาพิชัยฯทูลรับอาสาไปเสาะหาจากป่าไม้เมืองพิจิตร หาไม้เต็งขนาดใหญ่มาถวายได้สำเร็จ   สร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ได้ตามพระราชประสงค์  

    ศาลาการเปรียญที่ว่ายังอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้  เป็นศาลาไม้สักทองขนาดใหญ่ 2 ชั้น   หลังคาเป็นช่อฟ้าใบระกา มีมุขและมุขลดทั้งหน้าหลังสวยงามมาก หน้าบันทั้ง ๒ ด้าน มีตราพระราชลัญจกรเป็นเครื่องหมายสำคัญ คือด้านหน้า (ด้านแม่น้ำเจ้าพระยา) มีตราจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยวอันเป็นเครื่องหมายรัชกาลที่ ๕ ด้านหลัง (ด้านตะวันออก) มีตราวชิราวุธอันเป็นเครื่องหมายรัชกาลที่ ๖  เสาแต่ละต้นสูงใหญ่มาก  ยากที่จะหาไม้มาทำได้ในปัจจุบันนี้

    บื้องล่างของศาลาการเปรียญนี้มีอุโมงค์ใต้ดินทำเป็นรูปคันนา ก่อเป็นคอนกรีตรับหัวเสา ใช้บรรจุน้ำสำหรับใช้ล้างทำความสะอาดพื้นชั้นล่างของศาลาฯ ได้อย่างดี ในรัชกาลที่ ๗ ได้พระราชทาน พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนไว้เป็นพระประธานสักการะบูชา


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 มิ.ย. 13, 13:57 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 มิ.ย. 13, 14:30

   ในปลายรัชกาลที่ 5 นี่เอง  กระทรวงมหาดไทยได้ข่าวว่ามีช้างเผือกติดโขลง ท่องเที่ยวอยู่ในป่าระหว่างพิจิตรกับนครสวรรค์   ก็เลยมีคำสั่งให้เจ้าคุณพิชัยฯกับพระเฑียรฆราช(แม้น วสันตสิงห์) ปลัดมณฑลนครสวรรค์  คุมช้างกับหมอควาญขึ้นไปค้นหา    ค้นอยู่เป็นปีจนสิ้นรัชกาลก็ยังหาตัวไม่ได้   แต่พระยาพิชัยฯก็ยังสั่งให้ค้นหาไม่ละลด   ล่วงมาจนรัชกาลที่ 6  พวกกองเมืองนครสวรรค์จึงได้ตัวช้างเผือกมา   ต่อมาคือพระเศวตวชิรพาหะช้างเผือกคู่พระบารมีในรัชกาลที่  6    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯจึงพระราชทานบำเหน็จให้ทั้งพระยาพิชัยฯและพระเฑียรฯซึ่งเลื่อนขึ้นเป็นพระยาเพชรพิสัยศรีสวัสดิ์ในรัชกาลนี้
 
   พระยาพิชัยฯ  มีฝีมือในการปราบโจรผู้ร้าย เป็นคุณสมบัติเด่นของท่าน   คงด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้เป็นเจ้าเมืองอยู่ยาวนาน ไม่ได้กลับเข้ากรุงเทพฯสักที      เมื่ออายุ 54  ท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองอุตรดิตถ์   ตอนนี้เจ้าคุณเริ่มอายุมากแล้ว  โรคภัยไข้เจ็บเริ่มเบียดเบียนทำให้ตรากตรำทำงานอย่างเมื่อก่อนไม่ไหว    ฝีมือในการจับผู้ร้ายก็เริ่มห่างไป    หลายปีจับได้รายเดียว  แต่ก็ยังได้รับคำชมเชยเป็นโทรเลขจากองค์เสนาบดีมหาดไทยว่า
    "...เรื่องจับผู้ร้ายที่ปล้นบ้านขุนภูมิได้นั้นรับแล้ว    ที่จับผู้ร้ายรายนี้ได้ดีมาก   ถ้าอย่างนี้ก็นับว่าศักดิ์สิทธิ์  เป็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองได้"                                         
                                                                                    (ลงพระนาม) ดำรง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 มิ.ย. 13, 09:40

   หลังจากเป็นเจ้าเมืองอุตรดิตถ์ได้ 3 ปี   พระยาพิชัยฯอายุมากถึง 57 ปีแล้ว  ร่างกายเริ่มมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ไม่สามารถทำงานได้อย่างแข็งแรงเหมือนก่อน   จึงกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ พาครอบครัวกลับมาอยู่กรุงเทพ     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงพระเมตตาว่ารับราชการมานาน มีความดีความชอบมาก   จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนเป็นพระยาวจีสัตยารักษ์  มีหน้าที่กำกับการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของขุนนาง     และพระราชทานเบี้ยบำนาญให้ตามอัตราจนตลอดชีวิต

   พระยาวจีสัตยารักษ์ทำหน้าที่ผู้กำกับการถือน้ำมาถึง 10 ปี   ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์สูงสุดขั้นทุติยจุลจอมเกล้า    ได้รับพระราชทานพานทองเมื่ออายุ 67 ปีเป็นเกียรติยศ  นับว่ามียศสูงว่าพี่น้องเครือญาติคนใดในสกุลนามะสนธิ

   ในบั้นปลายพระยาวจีสัตยารักษ์(ดิศ) ป่วยเป็นโรคตับพิการ   ถึงแก่อนิจจกรรมเมื่อพ.ศ. 2468  ปีสุดท้ายในรัชกาลที่ 6  สิริรวมอายุ 68 ปี
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง