เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7799 อยากทราบเรื่อง เสาหินอาถรรพ์ ตอนเริ่มสร้างกรุงเทพฯ ครับ
Thanate
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


 เมื่อ 05 มิ.ย. 13, 10:22

มีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นพระนิพนธ์ ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า อนุสรณ์มงคลการ  (หากอ้างพระนามผิด ขออภัยด้วย)

ในพระนิพนธ์นั้น กล่าวว่า เมื่อครั้ง สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนา กรุงเทพ ได้ ฝังเสาหินอาถรรพ์ไว้ รอบกรุง  เสาหินที่ว่านี้ได้ลงคาถา ผู้มีวิชาอาคม หากเดินผ่านเสาหินอาถรรพ์นี้ก็จะเสื่อมอาคม เป็นการป้องกันข้าศึก    อยากทราบรายละเอียดไว้ประดับความรู้ครับ  ผมลองค้นดูใน อินเตอร์เนท ไม่เห็นมีบันทึกใด กล่าวถึง เสาหินอาถรรพ์นี้เลย

ขอรบกวน ท่านอาจารย์และท่านผู้รู้ทั้งหลาย ในเวป เรือนไทย ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 มิ.ย. 13, 14:55

ในอดีต   กรุงเทพมีเสาหินปักอยู่ทั้ง 4 ทิศ จริงค่ะ    แสดงถึงอาณาเขตเมือง   มีเล่าไว้ในหนังสือ อย่าง "โครงกระดูกในตู้"ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ท่านเขียนไว้ว่า
"ในสมัยนั้น(หมายถึงรัชกาลที่ ๕)  กรุงเทพพระมหานครยังมีเสาหินปักอยู่เป็นอาณาเขตอยู่ทั้งสี่ทิศ    ผู้เขียนยังเคยเห็นเสาหินที่ปักอยู่ริมแม่น้ำทางทิศเหนือนั้นปักอยู่ใต้ตลาดขวัญลงมา    ส่วนทางทิศใต้นั้นปักอยู่ก่อนถึงพระประแดง    พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จจากพระนครเกินเสาหินนั้นออกไปโดยไม่ได้กราบถวายบังคมลา และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตไม่ได้    ถ้าขืนเสด็จออกไปโดยพลการถือว่าเป็นโทษกบฏ"
 
ส่วนเป็นเสาหินอาถรรพณ์ป้องกันผู้มีอาคมล่วงล้ำเข้ามาหรือเปล่า  ไม่ทราบเหมือนกัน  ไม่เคยอ่านพบในเอกสารไหนค่ะ
บันทึกการเข้า
Thanate
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 มิ.ย. 13, 09:18

ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลครับ  จะลองพยายามหาข้อมูลเพิ่มต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 06 มิ.ย. 13, 14:06

ยังงงอยู่ว่า รัชกาลที่ ๑ จะทรงฝังอารรถ์ไว้รอบกรุงตอนสร้างกรุงเทพนั้น จะกำหนดให้มีอาณาเขตถึงเพียงไหน ในเมื่อแรกสร้างพระนครยังไม่ได้กำหนดเขตของเมืองว่าเท่าไร จนเมื่อสร้างปราสาท สถาปนากรุงฯ จึงสร้างกำแพงเมือง ขุดคลองล้อมกรุง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 มิ.ย. 13, 16:02

เข้าใจว่าเสาหินในหนังสือที่จขกท.เอ่ยถึง คือเสาหินที่บอกอาณาเขตของกรุงเทพ อันเดียวกันค่ะ   แต่เวลาผ่านไปนับร้อยปี   เมืองขยายตัวเลยเสาหินเดิมไปมาก   ชุมชนและภูมิประเทศเปลี่ยนไป     ก็เลยไม่มีใครรู้ว่าเสาหินมีไว้ทำไม   จึงเกิดตำนานเสริมต่อกันขึ้นมาว่าเป็นเสาหินอาถรรพณ์

ถ้าหากว่าเสาหินมีไว้ป้องกันผู้มีวิชาคาถาอาคม  ให้เดินผ่านแล้วเสื่อมหมด    บรรดาเกจิอาจารย์ในกรุงเทพก็คงออกไปธุระปะปังเลยเขตเมืองหลวงไม่ได้      ผู้มีวิชาจากจังหวัดอื่นก็เดินทางมาธุระหรือเยี่ยมญาติในเมืองหลวงไม่ได้เหมือนกัน     
แม้แต่ กองทัพทหารยกทัพจากกรุงเทพไปทำศึก    ผ้ายันตร์ ผ้าประเจียด ตะกรุด ของขลังต่างๆ ที่ลงวิชาอาคมเอาไว้ก็จะเสื่อมหมดเช่นกัน    ถึงขาออกไปไม่เสื่อม    ขากลับผ่านเสาหินกลับเข้ามาในเมืองหลวง ก็ต้องเสื่อม    น่าจะได้ไม่คุ้มเสียนะคะ
บันทึกการเข้า
Gabriel
อสุรผัด
*
ตอบ: 31


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 มิ.ย. 13, 14:59

เคยได้ยินมาเหมือนกันครับสำหรับเรื่องเสาพระเวทย์4หลักปักธรณี(ชื่อได้ยินจากพระครูพราหมณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง)
เจตนารมณ์คือพระอาคมป้องกันสิ่งชั่วร้ายและเวทย์อาคมไม่ให้เข้ามาในกรุงหลวง และมีผลต่อทุกๆสรรพวิชาอาคมด้วย
แต่จะมีคาถาสะกดเพื่อหยุดได้1ชั่วยาม เพื่อที่จะเข้ารึว่าออกไปจากหลักเขตของเสาโดยอาคมวิชาจะไม่เสื่อม ส่วนคาถาที่นี้ไม่มีใครรู้นอกจากทางวังหลวง
แต่เดี๋ยวนี้เสาทั้ง4ได้ถูกสะกดอาถรรพ์มานานแล้ว โดยพระราชครูพราหมณ์ท่านหนึ่งเมื่อสักเกือบ100ปีก่อน เพราะทางพระราชวังหลวงเห็นว่าไม่มีหน้าทีจำเป็นจะต้องใช้
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 มิ.ย. 13, 15:31

ผมไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยสักนิดเดียว แต่พยายามนึกเปรียบเทียบว่า หากมีเสาหินที่มีความสามารถอย่างว่าอยู่จริงๆ น่าจะก่อให้เกิดความโกลาหลอย่างที่ท่านอาจารย์เทาชมพูว่า

นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาตามคำอธิบายข้างต้น เขตอาคมของเสาหินไม่ได้มีผลเป็นการทั่วไป ถ้ามีผลทั่วไปก็ต้องสามารถล้างอาคมได้ทุกตารางนิ้วภายในเขาของเสาหิน อาจจะสั่งหยุดผลได้ แต่ถ้าเปิดเมื่อไหร่ ผลล้างอาคมก็ต้องกลับมาเหมือนเดิมทั่วทั้งกรุง อุปมาเหมือนการเอาเยลลี่ทั้งก้อนวางทับครอบกรุงเทพไว้ แม้จะยกเยลลี่ขึ้น แล้วเอาคนเข้าไปอยู่ใต้ก้อนเยลลี่ พอวางเยลลี่ลง คนที่เข้าไปอยู่ด้านในกรุงเทพแล้วก็ยังต้องโดนเยลลี่ทับอยู่ดี

แต่จากคำอธิบายว่า เสาหินของเราสามารถเปิดให้คนเข้ามาด้านในแล้วปิดใหม่ได้ โดยที่คนที่เข้ามาข้างในแล้ว ไม่เป็นอะไร ก็ย่อมแสดงว่า ผลของเสาหินนี้ มีลักษณะเหมือนเหมือนเอาครอบแก้วครอบกรุงเทพไว้ หากเปิดครอบแก้วออก แล้วให้คนเดินเข้ามาอยู่ข้าง จากนั้นแม้จะปิดแก้วครอบลงใหม่อีกครั้ง คนที่อยู่ด้านในก็ไม่โดนครอบแก้วทับ

ถ้าเป็นอย่างนี้ เสาแค่ 4 ต้น จะต้องสร้างอาณาเขตเป็นเส้น เชื่อมต่อกัน อาณาเขตที่สร้างได้ จากเสาเพียง 4 ต้น จึงน่าจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้วย การจะดูว่า ตรงไหนออกได้หรือไม่ได้ ยิ่งลำบากแย่เลยครับ สมัยนั้น เราคงได้เห็นพระภิกษุ เดินบิณฑบาตร เลาะเส้นขอบ Spellband ที่ว่านี้กันอยู่เนืองๆ แน่ๆเชียวครับ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 มิ.ย. 13, 16:42

ทีแรกนึกว่าจะไม่มีใครเข้ามาต่อในกระทู้แล้ว ก็ว่าจะปล่อยให้ตกหน้าไป พอดีคุณ naris เข้ามา ช่วยให้ลากกระทู้ต่อมาได้อีกหน่อย

ส่วนตัวดิฉันไม่เชื่อเรื่องเสาหินอาถรรพณ์ว่ามีจริง  เพราะดูๆแล้วมันน่าจะก่อความโกลาหลแก่คนทั้งในเมืองหลวงและนอกเมืองอย่างที่ว่า    แถมยังยุ่งยากต้องมีเวลาปิดเปิด 1 ชั่วยามอีก   น่าจะยุ่งยากกับคนสัญจรเข้าออกไม่น้อย      ในบันทึกและจดหมายเหตุต่างๆก็ไม่เห็นมีในเรื่องนี้     ถ้าหากว่าเสาหินมีความสำคัญด้านคาถาอาคมอย่างที่ว่า น่าจะมีกล่าวถึงไว้บ้าง

แต่ถ้าถามว่า มีการเอ่ยถึง "เสาหิน" บ้างไหม   ก็มีอีกแห่งหนึ่งที่เพิ่งนึกได้คือในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่

“ถึงอารามนามวัดประโคนปัก                   ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน                    มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ฦาชา”

เสาหินที่ท่านเอ่ยถึง เป็นเสาที่ชี้บอกอาณาเขตแน่นอน  สุนทรภู่ให้คำอธิบายไว้ชัดเจน   แต่ท่านได้ยินแต่คำเล่าลือ  เมื่อท่านออกเดินทางโดยเรือมาตามลำน้ำเจ้าพระยา   ถึงวัดประโคนปักหรือปัจจุบันคือวัดดุสิดารามวรวิหาร   ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เหนือปากคลองบางกอกน้อย แขวงอรุณอัมรินทร์   ท่านก็ไม่เห็นเสาหินปักเขต   ไม่รู้ว่าเสาหินหายไป หรือว่าท่านมองไม่เห็นเองเพราะมีอะไรบังอยู่   แต่ที่แน่ๆคือมีเสาหินอยู่ตรงนั้น
ก็คงจะเป็นเสาหินที่ม.ร.ว. คึกฤทธิ์พูดถึง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 มิ.ย. 13, 16:53

ดิฉันพยายามนึกว่าถ้าเสาหินอาถรรพณ์มีจริง  หน้าตาเป็นยังไง  ปักกันแบบไหน   ปักกันสี่มุมเมืองเหมือนป้อมสี่มุมเมือง  หรือว่าปักกันเรียงรายห่างๆกันเหมือนเสารั้วลวดหนาม      แต่ถ้ามีตัวจริง เสานี้คงปักไม่ถี่นัก   เพราะมันคงไปเกะกะเนื้อที่บ้านช่องของประชาชน     ก็น่าจะปักแบบสี่มุมเมือง

วิธีป้องกันอาถรรพณ์เข้าเมืองทำได้อย่างไรถ้ามีเสาหินแค่ 4 หลัก    คุณ Naris อธิบายเห็นภาพดีมาก ว่าถ้ามีจริงมันก็คงยุ่งยากมิใช่น้อย  ในการรักษาอาถรรพณ์และถอนอาถรรพณ์เข้าออกในพระนคร      ดิฉันจึงคิดต่อไปว่าถ้ามีจริง เสาหินน่าจะมีระบบคล้ายๆระบบเซนเซอร์ติดแนวรั้วของสัญญาณกันขโมยในยุคนี้    เพียงแต่ไม่ต้องก่อรั้ว      
ตามคำบอกเล่าของคุณ Gabriel   ในวันหนึ่งๆ สมัยก่อนแบ่งเป็น 4 ยาม หรือ  12 ชั่วโมง   เสาหินก็จะทำงาน 3 ยาม เว้น 1 ยาม    ตอนเว้นนี่แหละผู้มีคาถาอาคมหรือพกของขลังติดตัว จะรีบเข้าออกเมืองหลวงก็รีบซะ   ไม่งั้นหมดเวลา  เกิดจะออกตอนนั้นอาคมจะเสื่อม    
ถ้าเป็นยังงั้นจริง  มันก็น่าจะเป็นเรื่องยุ่งยากพอสมควร    เพราะงานสำคัญบางอย่างอาจกำหนดให้ตรงเวลาเว้น 1 ยามไม่ได้ จะต้องเดินทางกันในอีก 3 ยามที่ต้องห้าม   เช่นเวลายกทัพซึ่งต้องคำนวณหาฤกษ์ชัย   หรือการเดินเรือที่ต้องกะเวลาไม่ให้เรือไปเกยตื้นบนปากน้ำ  จนหลุดออกสู่ปากอ่าวไม่ได้  แล้วจะหาทางออกกันอย่างไร

ถ้าหากว่าเสาหินมีจริงและกำหนดเวลาดังกล่าวจริง    ต้องมีบันทึกไว้ในหลักฐานเอกสารหลายๆแห่งเป็นแน่     ก็ไม่เห็นมี  สุนทรภู่ท่านเดินทางเข้าออกกรุงเทพในนิราศหลายเรื่องก็ไม่เห็นพูดถึงการกำหนดเวลามิให้ขัดกับเสาหิน      ถ้ามีและเชื่อกันแบบนั้นจริง การเดินทางเข้าและออกกรุงเทพที่ฝรั่งและไทยบันทึกไว้ต้องเอ่ยถึงบ้างแน่นอน    
สรุปคือไม่เชื่อค่ะ
บันทึกการเข้า
Thanate
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 มิ.ย. 13, 11:04

ขอบคุณทุกๆท่าน ครับ
สำหรับความคิดเห็นทุกๆความคิดเห็น

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง