เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4438 พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 27 พ.ค. 13, 10:28

เรียบเรียงจากพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือกาพย์ กุมารบรรพ  พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาวจีสัตยารักษ์

พระยาวจีสัตยารักษ์ เกิดเมื่อพ.ศ. 2387  ในรัชกาลที่ 3    เป็นบุตรพระศรีราชสงคราม(ปาน) ปลัดเมืองไชยา    ปู่เป็นผู้รักษาเมืองหลังสวน    มารดาชื่อพุ่มเป็นธิดาของพระยาชุมพร(ซุย)  ผู้ที่คุมกองทัพไทยออกไปเมืองมะริดและตะนาวศรี  เมื่อพม่ารบกับอังกฤษครั้งแรก ปลายรัชกาลที่ 2

มีเกร็ดประวัติที่ดราม่าเอาการ  แทรกไว้ในตอนนี้  ว่าเมื่อพระยาชุมพร(ซุย)ไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองมะริด    ได้หญิงสาวพม่าลูกสาวกรมการเมืองมะริดคนหนึ่งเป็นภรรยา    เมื่อทัพไทยยกกลับ  พระยาชุมพรก็พาภรรยากลับมาด้วย  พร้อมกับกวาดต้อนชาวเมืองพม่ากลับมาด้วยตามธรรมเนียมสงครามอย่างที่เคยทำกันมาในอดีต     ทำให้กำลังรักษาเมืองมะริดเหลือน้อย   
ถ้าหากว่าเป็นสมัยก่อนก็คงไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะทัพไทยไปรบเมืองไหน ก็กวาดต้อนผู้คนเอากลับมาด้วยเป็นประจำ  แต่สงครามคราวนี้  อังกฤษยกกำลังลงมาถึงมะริด   ก็เลยยึดเมืองไว้ได้โดยง่าย เพราะกำลังคนไทยที่อยู่รักษาเมืองมีน้อย สู้ไม่ได้
เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงขัดเคืองพระยาชุมพร(ซุย) จึงทรงให้เอาตัวมาสอบสวนในกรุงเทพ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 พ.ค. 13, 19:14

   ในช่วงเวลาที่พระยาชุมพรถูกกักตัวอยู่ในกรุงเทพ    ก็เป็นเวลาที่อังกฤษส่งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่เข้ามาเป็นทูตเพื่อทำสัญญาพระราชไมตรีกับสยามเป็นครั้งแรก     ข้อตกลงประการหนึ่งในนั้นก็คือให้ปล่อยชาวพม่าที่ถูกกวาดต้อนมาในเขตไทยกลับไปพม่า และอังกฤษก็จะปล่อยคนไทยในมะริดกลับมาเช่นกัน   เป็นอันว่าสยามกับอังกฤษตกลงกันได้ในข้อนี้      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็โปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงลงไปที่ชุมพร  จัดการส่งพวกพม่าที่พระยาชุมพรพามา กลับไปมะริดตามเดิม      ภรรยาชาวพม่าของพระยาชุมพรก็ถูกส่งตัวกลับไปพร้อมกันด้วย
   เมื่อถูกส่งตัวกลับ ภรรยาคนนั้นตั้งครรภ์อยู่  กลับไปคลอดลูกชายที่พม่า ชื่อ "ช่วยพอ"   ส่วนพระยาชุมพรอยู่ทางกรุงเทพ  ถึงแก่กรรมที่นี่ ไม่ทันได้กลับไปชุมพร       ลูกชายที่พม่าเติบโตขึ้นโดยไม่มีโอกาสพบพ่อ  แต่ก็รู้ว่าตัวเองเป็นลูกใคร    เมื่อเจริญวัยขึ้นได้เป็นกรมการเมืองตามตระกูลพม่าฝ่ายตา   แต่ยังถือว่าตัวเองเป็นคนไทย มีพ่อเป็นไทย  ก็ติดต่อกับญาติพี่น้องทางชุมพรมาตลอด  และสั่งเสียลูกหลานว่าถ้าอยู่ในพม่าไม่สบาย ก็ให้อพยพมาไทย เพราะมีเชื้อสายทางปู่เป็นคนไทย
  ต่อมานายช่วยพอถึงแก่กรรม   บุตรคนหนึ่งชื่อนาย"จันพง"  ไม่สมัครใจจะอยู่ในพม่า ก็เลยอพยพมาอยู่ในสยาม อาศัยอยู่กับพระยาวจีสัตยารักษ์     นายจันพงพูดภาษาอังกฤษและรู้จักวิชาทำแผนที่    พระยาวจีฯก็เลยฝากเข้าทำงานที่กระทรวงมหาดไทย    นายจันพงไปรับราชการอยู่ทางมณฑลพายัพ จนได้เป็นขุนสำนักนพนิคม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 พ.ค. 13, 16:26

    พระยาวจีฯ เริ่มต้นชีวิตราชการด้วยการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔   ไปฝึกหัดราชการอยู่ในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อครั้งเป็นสมุหกลาโหม   ต่อมาได้เป็นหลวงราชานุชิต  ผู้ช่วยราชการเมืองไชยา    เส้นทางของท่านก็เติบโตมาทางเส้นทางเมืองไชยานี้เอง    เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๒ ได้เลื่อนเป็นพระศรีราชสงคราม  ปลัดเมืองไชยา   อยู่ในตำแหน่งนี้ ๑๐ ปี
    พระยาวจีฯเมื่อเป็นปลัดเมืองไชยา  ได้ทำความดีความชอบครั้งสำคัญคือไปช่วยปราบพวกจีนที่ก่อจลาจลในภูเก็ต    จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทิพยากรณ์ ช้างเผือกชั้นที่ ๕    สองปีต่อมาก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิชิตภักดี   ผู้ว่าราชการเมืองไชยา   

    สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงเหตุที่เริ่มทรงรู้จักคุ้นเคยกับพระยาวจีสัตยารักษ์  เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๑   ขณะนั้นสมเด็จฯเป็นนายพลตรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก  อยู่ในกรมยุทธนาธิการ      อยู่มาทรงได้รับอนุญาตให้หยุดพักผ่อนบำรุงกำลังชั่วคราว   จึงเสด็จไปเที่ยวทะเลกับเพื่อนนายทหารด้วยกัน  คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัติวงศ์   ขณะนั้นทรงดำรงพระยศพลตรีเช่นกัน    เป็นผู้บัญชาการกรมใช้จ่ายในกรมยุทธนาธิการ     อีกองค์หนึ่งคือนายพันเอกกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์  ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๑  พลเรือจัตวา พระยาชลยุทธโยธินทร์(เดอริชลิว)    นายพันโทพระยาสโมสรสรรพการ(ทัด)  กับนายทหารอีก ๒-๓ คน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 พ.ค. 13, 09:57

   การไปเที่ยวหัวเมืองชายทะเลปักษ์ใต้ครั้งนี้เป็นครั้งแรก    ทั้งเจ้านายและนายทหารอื่นๆในกลุ่มนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนกันดีบ้าง   วันหนึ่งเสด็จไปถึงอ่าวชุมพร   ทอดสมอเรือที่ปากอ่าวแล้วก็ลงเรือเล็กไปเที่ยวที่ปากน้ำ   พอขึ้นที่หาดเห็นชายคนหนึ่งสวมเสื้อขาวนุ่งกางเกงแพรเดินอยู่บนชายหาด  ท่วงทีเป็นผู้ดี ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไป    จึงทรงให้คนไปไต่ถาม ก็ได้ความว่าเป็นพระยาไชยา   เมื่อได้ข่าวว่าเจ้านายเสด็จ ก็เลยมาคอยรับเสด็จอยู่      จึงได้ทรงคุ้นเคยกับพระยาวจีสัตยารักษ์นับแต่วันนั้น
   สาเหตุที่พระยาวจีฯ มาที่ชุมพร ก็เพราะโดยส่วนตัว  ท่านทำธุรกิจเป็นผู้จัดการเรื่องภาษีรังนก ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี(ฟัก)    มาจัดการเรื่องภาษีรังนกเสร็จแล้วก็มารับเสด็จเจ้านาย     พระยาวจีฯเป็นผู้ชำนาญเรื่องท้องที่ทางหัวเมืองปักษ์ใต้  เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงชวนให้ไปด้วยกัน ก็ตกลงตามเสด็จไป    นำเสด็จเจ้านายไปเที่ยวเกาะพงัน    เกาะสมัยเมืองนครศรีธรรมราช  สงขลา ปัตตานี   
  ขากลับ เรือจะแวะส่งพระยาวจีฯที่เมืองไชยา    ก็พอดีมีเรือจากเมืองหลวงมาแจ้งว่าพวกฮ่อคุมกำลังจะมาตีเมืองหลวงพระบาง    กรมยุทธนาธิการกำลังจัดเตรียมกองทัพ    สมเด็จฯก็เลยทรงพาพระยาวจีฯ ติดเรือมากรุงเทพด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 มิ.ย. 13, 09:43

  เมื่อถึงเมืองหลวง   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ก็เสด็จไปจัดกองทัพเพื่อปราบฮ่อ  ส่วนพระยาวจีฯ ก็เดินทางย้อนกลับไปทางใต้ตามเดิม     
   การพบกันครั้งนั้นทำให้พระยาวจีฯ เป็นที่คุ้นเคยของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  จนถึงปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้     โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯตามเสด็จด้วย  เพื่อทำหน้าที่มัคคุเทศก์  หรือโปรแกรมเมเกอร์   หมายความว่าเป็นผู้นำเสด็จไปตามเส้นทาง เพื่อเยือนสถานที่ต่างๆที่เห็นสมควรว่าควรเสด็จไป       สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงนึกถึงผู้ชำนาญด้านนี้ขึ้นมาได้ คือพระยาวจีสัตยารักษ์   ก็ทำหนังสือขอไปที่กระทรวงกลาโหมซึ่งในเวลานั้นมีหน้าที่ควบคุมหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก   ขอยืมตัวพระยาวจีสัตยารักษ์ให้มาตามเสด็จ  ไปเป็นผู้ช่วยสมเด็จกรมพระยาฯ ในการนำเสด็จพระเจ้าอยู่หัวประพาสตามที่ต่างๆ
   พระยาวจีฯ ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดีเป็นที่พอพระราชหฤทัย     ครั้งต่อๆมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก  ตลอดจนถึงสิงคโปร์และชวา    ก็โปรดเกล้าฯให้พระยาวจีฯตามเสด็จไปด้วยทุกครั้ง      จนเป็นที่คุ้นเคยใกล้ชิดในพระองค์    โปรดเกล้าฯใช้สอยในราชการเครื่องอื่นๆด้วย   รวมทั้งเป็นข้าหลวงพิเศษลงไปเมืองกลันตัน  และเมืองตรังกานู  เมื่อพ.ศ.  2433
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 มิ.ย. 13, 20:34

   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ น่าจะทรงพอพระทัยอัธยาศัยส่วนตัวของพระยาวจีสัตยารักษ์มาก      ถึงกับกล่าวชมเชยว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี   รู้จักสมาคมกับคนได้ทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้านายลงไปถึงราษฎร   จึงมีเจ้านายหลายพระองค์ทรงพระเมตตา และมิตรสหายที่ชอบพอกันก็มีจำนวนมากมายเช่นกัน
   ส่วนคุณสมบัติพิเศษข้ออื่นๆของพระยาวจีฯเป็นเรื่องน่าทึ่ง  หาได้ยากในหมู่ขุนนางไทย เพราะกว้างไกลหลายสาขาแบบไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยในแต่ละสาขา    คือนอกจากรับราชการได้ก้าวหน้าแล้ว  ยังชำนาญเรื่องค้าขาย  ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่ามีหัวทางธุรกิจ     นอกจากนี้ยังเก่งเรื่องคชกรรม คือว่าด้วยเรื่องช้าง ตั้งแต่จับช้าง ฝึกหัดช้างและขี่ช้างไปไหนมาไหนได้คล่อง     ข้อสุดท้ายที่น่าทึ่งคือท่านทำเรือมาดเก่ง   สมัยนั้นใช้ศัพท์ว่า "เหลา"  คือเหลาเรือมาด   
  ในสมัยที่ป่าไม้ยังมีอยู่มากมายในประเทศไทย    การทำเรือมาดใช้วิธี "ขุด" จากไม้ตะเคียนซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งทนทาน  มียางในเนื้อไม้ช่วยป้องกันเพรียง  และเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้ทำมาหากินดีขึ้น  วิธีการทำเรือขุดคือเลือกไม้ตะเคียนขนาดเส้นรอบวง 5-6 เมตร หรือ เส้นผ่าศูนย์กลาง 150 ซ.ม.  การขุดเรือต้องทำตอนที่ไม้สด ๆเพื่อทำง่าย  ต้องทำให้เสร็จภายใน 7-8 วัน  เพราะถ้าไม้แห้งจะทำยาก  ต้องนำมาลนไฟเพื่อให้เนื้อไม้นิ่ม  ใช้แรงงานน้อย ทำกัน 2-3 คนก็ได้

ภาพ เครดิตโอเคเนชั่น   http://www.oknation.net/blog/print.php?id=187424


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 มิ.ย. 13, 20:39

  เรือมาดที่พระยาวจีฯเหลา ชื่อว่า "เรือยอดไชยา"   ถวายเป็นเรือพระที่นั่ง   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์โคลงชมเชยไว้เมื่อพ.ศ. 2450 ว่า

                 รถเร็วเรือว่องน้ำ          เรือนสบาย
          เมียซื่ออีกสหาย                ร่วมไร้
          ไปไหนฤๅจะวาย                วางสุข
          เรือยอดไชยาใช้                ชอบต้องตามแผน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 มิ.ย. 13, 20:40

   ต่อมาในพ.ศ. 2438  มีการเปลี่ยนระบบราชการใหม่    หัวเมืองปักษ์ใต้ที่เคยขึ้นกับกลาโหม และกรมท่า  ย้ายมาขึ้นกับมหาดไทย    บรรดาเจ้าเมืองปักษ์ใต้ทั้งหลายก็เข้าใจว่าพระยาวจีฯคงจะได้เลื่อนตำแหน่งใหญ่ขึ้นกว่าเก่า เช่นเป็นเทศาภิบาลว่าการมณฑล   เพราะตามเสด็จใกล้ชิดเจ้านายและคุ้นเคยกับเสนาบดีมหาดไทยคือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   แต่พระยาวจีฯเป็นฝ่ายปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งใหญ่กว่านี้เอง     ด้วยเหตุผลว่า คุ้นเคยกับระบบราชการแบบเก่า   และยังมีภาระเรื่องค้าขายทำภาษีอาการ ทั้งอายุก็มากแล้วด้วย    จึงได้ว่าราชการเมืองไชยาต่อไป    แต่เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงฯเสด็จลงปักษ์ใต้เพื่อตรวจราชการครั้งใด  ก็ทรงชวนพระยาวจีฯให้ติดตามไปทุกครั้ง

   ต่อมาถึงพ.ศ. 2442  พระยาวจีฯอายุครบ 55 ปี    เห็นว่ามากเกินกว่าจะรับภาระเป็นเจ้าเมืองไชยาต่อไปอีก    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงเลื่อนเป็นพระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ   จางวางเมืองไชยา
   ต่อมาอีก 7 ปี เมื่อตำแหน่งพระยาวจีสัตยารักษ์ ผูู้กำกับถือน้ำว่างลง    จึงทรงพระราชทานสัญญาบัตร เลื่อนเป็นพระยาวจีสัตยารักษ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 มิ.ย. 13, 20:53

  เมื่อพ้นจากราชการในปักษ์ใต้  พระยาวจีฯก็ย้ายมาอยู่ในกรุงเทพ   มีหน้าที่กำกับถือน้ำปีละ 2 ครั้ง   แต่ก็ยังตามเสด็จอยู่เช่นเดิม   นอกจากนี้ท่านก็ยังเต็มใจรับงานอื่นๆ แล้วแต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯจะทรงใช้สอย     เช่นเมื่อจะตรวจทางรถไฟสายใต้   นายช่างใหญ่อยากจะเดินทางตรวจทางให้ตลอด  ก็ขอมาที่กระทรวงมหาดไทย ขอผู้ชำนาญเส้นทางปักษ์ใต้ไปเป็นผู้นำทาง    สมเด็จฯท่านไม่เห็นใครเหมาะสมเท่าพระยาวจีสัตยารักษ์ และเห็นว่าร่างกายยังแข็งแรงพอจะเดินทางได้  ก็ทรงขอให้ไปนำทาง  พระยาวจีฯก็ตกลง
  พระยาวจีฯเดินทางตั้งแต่ปัตตานีกลับขึ้นมาถึงเพชรบุรี     ลำบากตรากตรำกินเวลาร่วม 2 เดือน   แต่งานก็เสร็จเรียบร้อยไปด้วยดี

   พระยาวจีฯเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงมาจน พ.ศ. 2457  คือในรัชกาลที่ 6  เรียกได้ว่าเป็นคน 4 รัชกาล    ปีนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงฯประชวร เสด็จไปพักรักษาตัวที่เกาะหลัก   พระยาวจีฯก็เดินทางไปเยี่ยม      กลับมาถึงบ้านก็ยังไม่เป็นไร  แต่พอถึงคืนวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม  เกิดเป็นลมปัจจุบัน  แล้วถึงแก่อนิจกรรมในคืนนั้น    รวมอายุ 70 ปีบริบูรณ์  
   บุตรธิดาของพระยาวจีฯ มีศรัทธาสร้างตึกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์หลังหนึ่ง ในนามพระยาวจีสัตยารักษ์      ปัจจุบันมีสถูปซึ่งบรรจุอัฐิของท่านและบุตรหลานในตระกูลศรียาภัย ณ เมืองไชยา (เก่า) ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 19 คำสั่ง