เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 24433 นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 14:50

คำยืนกรานของเจ้าพระยามหินทรฯ ตั้งแต่ต้นนิราศจนตอนนี้  ย้ำหลายครั้งว่าท่านไม่ต้องการให้ไพร่พลต้องล้มตายเพราะไข้ป่า จึงไม่เดินทัพ    เวลาที่ปักหลักอยู่ตรงนั้นก็นานมิใช่น้อย  นับเวลาแล้วเกือบหนึ่งเดือน       ดิฉันอ่านแล้วก็ได้แต่สงสัยแต่ไม่สามารถจะเดินทางย้อนเวลาไปเรียนถามท่านได้  ว่า เส้นทางอื่นที่มันไม่ต้องผ่านดงพระยาไฟไม่มีอีกแล้วหรือ      ถ้าไปทางนี้ไม่ไหว อย่างน้อยถอยทัพกลับไปตั้งต้นใหม่ ทางบกเส้นอื่นก็น่าจะมีอยู่หลายทาง  ตามที่สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านก็มีสารมาว่าให้ไปทางบก      ยังไงเส้นทางอื่นต้องมีแน่  ไม่งั้นเจ้าพระยาภูธราภัยจะเดินทางไปตีฮ่อที่หลวงพระบางได้ยังไง

     อย่างที่สองที่น่าจะเรียนถามท่าน  คือการออกไปรบ  ใครๆก็รู้กันทั้งนั้นว่าเป็นการออกไปตาย   ถ้ารอดกลับมาถือว่าโชคดี    ไม่ว่าจะตายเพราะข้าศึกฆ่าตาย  เป็นไข้ป่าตาย  ตกเหวตาย  เรือล่มตาย    มันมีสิทธิ์ตายกันทุกย่างก้าวด้วยกันทุกคน      แต่เมื่อถึงเวลาทำศึกก็ต้องไปตามหน้าที่      แม่ทัพมีหน้าที่รบให้ชนะหรืออย่างน้อยยันข้าศึกเอาไว้ได้      ไม่ใช่ออกไปรบโดยตั้งหลักการไว้ว่าทำยังไงจะไม่ให้ไพร่พลตาย    ซ้ำมาห่วงตั้งแต่ยังไม่มีใครป่วยตายด้วยไข้ป่ากันกี่คนด้วยซ้ำ   
     เพราะฉะนั้นสมมุติฐานของเจ้าพระยามหินทรฯในเรื่องนี้ จึงออกจะประหลาด    ดิฉันทำความเข้าใจไม่ได้   นอกจากจะนึกว่า เหตุผลแท้จริงเบื้องหลังเหตุผลนี้น่าจะมีอยู่    แต่จะเป็นอะไรนั้น  คงจะต้องค่อยๆคลำทางกันไปเพื่อหาคำตอบ
     ข้างล่างนี้ ข้อความที่พิมพ์ด้วยตัวแดง  น่าจะชี้ให้เห็นคำตอบได้สักอย่าง...มั้ง?

     ใช่จะคร้านคลาดราชการ                      เพราะสงสารโยธาด้วยหน้าฝน
จะพากันไปตายทำลายชนม์                       แล้วเมืองบนก็ไม่มีไพรีรอน
แม้นข้าศึกนับแสนตีแดนร่วม                      ถึงน้ำท่วมให้ตลอดยอดสิงขร
จะสู้ยกพหลพลนิกร                              ถึงไฟร้อนต้านหน้าจะกล้าไป ฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 09:17

        กลอนบทที่พิมพ์ด้วยตัวแดง มีข้อความที่ประหลาดมาก      นายทิมระบุไว้ชัดเจนว่า "เมืองบน" หมายถึงทางอีสาน  ไม่มีข้าศึกมารบ    ก็ไม่รู้จะยกทัพไปทำไม    แล้วยังพูดต่อไปอีกว่า  ถ้ามีข้าศึกจริง ต่อให้ยกมาเป็นแสน  และต่อให้น้ำท่วมถึงยอดเขา  ทัพของเจ้าพระยามหินทรฯ ก็พร้อมจะยกทัพฟันฝ่าอุปสรรคไปปราบ
       ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง มันตรงกันข้าม
       ระหว่างทัพเจ้าพระยามหินทรฯหยุดอยู่ตรงนี้ โดยไม่ยอมฟังคำสั่งจากศูนย์บัญชาการในกรุงเทพ   ทางอีสาน พระยามหาอำมาตย์และเจ้าพระยาภูธราภัยก็กำลังรบกับฮ่ออยู่เป็นเรื่องใหญ่      จึงเป็นได้ว่า นายทิมเข้าใจผิดว่าไม่มีทัพข้าศึกยกมารุกรานจริง   หรือถ้ามีก็เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ  กะอีแค่มีฮ่อยกมาสามพันคน เข้ามากวาดต้อนผู้คนทางชายแดนหนองคาย เท่านั้นก็ต้องยกทัพจากกรุงเทพไปปราบให้เดือดร้อนแก่ไพร่พล      ถ้าหากว่าเป็นข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ทั้งเจ้าพระยามหินทรฯและนายทิม    เพราะเรื่องฮ่อบุกหนองคายนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่เอาการทีเดียว

ขอพักเรื่องเจ้าพระยามหินทรฯไว้ก่อน  เพื่อจะเล่าเรื่องศึกฮ่อว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดไหน

พวกฮ่อไม่ใช่กองโจรกระจอก  แต่เป็นถึงขั้นข้าศึกต่างแดนที่รวบรวมกำลังคนได้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา   ถึงขั้นยกกองทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ    ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่นั่นเพื่อตระเตรียมเสบียงอาหาร   จากนั้นก็วางแผนฮึกเหิมขยายอำนาจด้วยการรวมรวมพลเข้าโจมตีเมืองรายทางต่างๆ เรื่อยมาจนถึงเมืองหนองคาย
ประจวบเหมาะเป็นเคราะห์ร้ายของเมืองหนองคาย    พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายซึ่งไม่รู้เรื่องว่าเวียงจันทน์เกิดเหตุร้ายถึงเสียเมือง เกิดไม่อยู่ในหนองคาย เพราะเดินทางไปราชการที่เมืองอุบลราชธานี เพื่อต้อนรับพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ซึ่งไปตั้งกองสักเลกและเร่งรัดเงินส่วยที่หัวเมืองพอดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 09:18

เมื่อตัวเองไม่อยู่ ท้าวปทุมฯก็ได้มอบให้ท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาเมืองแทน  เมื่อไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับศึก  พอได้รับว่าพวกฮ่อยกมา  รับมือไม่ทัน  ไม่เห็นทางอื่นทั้งกรมการเมืองและราษฎรก็อพยพครอบครัวหนีออกจากเมืองกันหมด   ทำให้พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายอย่างง่ายดาย   ท้าวจันทน์ศรีสุราชได้พาครอบครัวหนีไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี และพระยา พิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัยพร้อมด้วยกรมการเมืองก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกัน

ส่วนพระยามหาอำมาตย์ พอรู้ข่าว นอกจากไม่หนี   ได้รับคำสั่งจากกรุงเทพให้ไปปราบฮ่อที่หนองคายก็รวบรวมพลจากเมืองต่างๆ   เดินทัพไปทันที   สั่งให้จับท้าวจันทน์ศรีสุราช กับพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่ ข้อหาหนีข้าศึกและรักษาเมืองไว้ไม่ได้  

ตามที่เล่ามานี้คงจะเห็นว่าเรื่องฮ่อเป็น "ไพรีเมืองบน" จริงๆ   ไม่ใช่ไม่มีอย่างที่นายทิมอ้างจากไหนก็ไม่รู้

เอาละ  อาจจะมีคนหัวใส แย้งว่า นายทิมเกิดได้ข่าวว่าพระยามหาอำมาตย์ตีทัพฮ่อที่หนองคายแตกไปแล้วระหว่างทัพเจ้าพระยามหินทรฯหยุดอยู่ที่ปากทางดงพระยาไฟ      จึงสรุปกับตัวเองว่า "ไม่มีข้าศึกแล้วนี่นา"     คำสรุปนี้ก็ฟังไม่ขึ้นอยู่ดี   เพราะการทำศึกเป็นเรื่องไว้ใจกันไม่ได้ว่าจะพลิกกลับหัวกลับหางกันอย่างไรบ้าง    ถึงได้ข่าวมาว่าเมืองหนองคายถูกยึดกลับมาได้แล้ว   ก็ไม่ได้แปลว่าศึกจะสงบปุบปั๊บได้ทันที   ฮ่ออาจจะย้อนกลับมาอีก    หรือว่าทัพไทยจะต้องตามตีไปถึงเมืองอื่นๆ  หรือรักษาสถานการณ์อยู่ที่อีสานอีกสักพัก กว่าจะจับเชลย กว่าจะป่าวร้องให้ราษฎรที่หนีเข้าป่าหายตกใจ กลับคืนสู่บ้านเมือง     กว่าจะกวาดต้อนผู้คนลงมากรุงเทพ ฯลฯ  ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง และรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาจากกรุงเทพทั้งสิ้น     จะมาด่วนสรุปเอาเองตามใจชอบไม่ได้

อ่านนิราศหนองคายมาถึงตอนนี้ ก็รู้สึกว่า พระราชโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านไม่ธรรมดาเลยจริงๆ      ทำให้นึกเห็นใจสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ขึ้นมาหน่อยๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 10:14

   ในเมื่อทัพของเจ้าพระยามหินทรฯยังปักหลักอยู่ที่เดิม  ประกอบด้วย " 3 ไม่"   คือ ไม่เคลื่อนทัพ    ไม่สร้างยุ้ง  และไม่เก็บส่วย  ซึ่งปกติธรรมดาแล้วไม่มีแม่ทัพนายกองหน้าไหนกล้าทำกัน       ไม่กี่วันต่อมา เรือกลไฟลำหนึ่งก็แล่นจากกรุงเทพขึ้นมาจอดเทียบท่า    พาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาถึงหาดพระยาทศ
   ตามธรรมเนียมไทยสมัยโบราณ  ผู้ใหญ่จะไม่เป็นฝ่ายไปหาผู้น้อย   ถ้าหากว่ามีเรื่องจะใช้งาน ก็ให้คนไปตามมาพบ      แต่ครั้งนี้สมเด็จเจ้าพระยาท่านยอมนั่งเรือกลไฟไปหาเจ้าพระยา    เพื่อจะไปสั่งราชการด้วยปากของท่านเอง เพราะสั่งผ่านหนังสือมาหลายหนแล้วไม่ได้ผล
   เจ้าพระยามหินทรฯท่านก็ไปรับถึงเรือกลไฟตามธรรมเนียม แล้วก็ยืนกรานถึงสาเหตุที่เดินทัพต่อไปไม่ไหว  
   แล้วเรียนเรื่องทางบกจะยกไป      ในดงใหญ่น้ำมากลำบากคน
   ขอรั้งรอพอให้แห้งแล้งสักหน่อย      จึงจะค่อยยกไปในไพรสณฑ์
   ถ้าขืนยกเวลานี้เห็นรี้พล              จะปี้ป่นตายลงในดงดาน
   รวมความว่าเหตุผลเดิมเหมือนอย่างที่บอกมาทุกครั้ง      ไม่ได้ใส่ใจเลยว่าทางหนองคาย  ศึกกำลังติดพันกันขนาดไหน  ฮ่อจะตีได้กี่เมืองแล้ว   เจ้าเมืองต่างๆรับมือไหวไหม   ทัพไทยอื่นๆที่ยกไปจะสู้ได้หรือเปล่า      สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญเท่าทัพนี้เดินป่าหน้าฝนไม่ไหวขอรับกระผม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 10:31

       สมเด็จเจ้าพระยาท่านฟังเหตุผลแล้ว ท่านก็ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย    แต่สั่งเพียงว่า "ให้รีบยกพลขึ้นบก"  คือ "ออกเดินทัพได้แล้ว"     อะไรมากกว่านี้ท่านไม่ได้พูด  เรียกว่าสั่งสั้นที่สุด เด็ดขาดที่สุด  แจ่มแจ้งที่สุด    แต่เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็เด็ดกว่า    เพราะท่านยังมีถ้อยคำที่ฝรั่งเรียกว่า The last word  คือยัง"มีคำตอบสุดท้าย" กลับมาให้สมเด็จเจ้าพระยาจนได้
      แปลอีกทีว่า ท่านเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย    ไม่ใช่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งแม้แต่เจ้านายก็ยังเกรงกลัวกันทั้งแผ่นดิน
      ท่านกราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาว่า
      " ขอให้รอสักเจ็ดวัน   ให้กระผมทำบุญให้เสร็จเสียก่อนนะขอรับ"
      ในนิราศไม่ได้บอกว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านตอบว่าอะไร   บอกแต่ว่าพอกราบเรียนเสร็จเจ้าพระยามหินทรฯก็กลับมาที่พัก    ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาท่านก็กลับไปกรุงเทพ    จากนั้นก็มีเรือกำปั่นไฟแล่นด่วนมาถึงอีกลำ   พาหลวงยุทธนาธิกรมาถึง ส่งสารให้พร้อมกับเงินห้าสิบชั่งสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมยกทัพ  แปลอีกทีว่าไม่ต้องไปเก็บส่วยรายทางแล้ว    และในหนังสือที่สมเด็จเจ้าพระยามีมาถึงนั้นบอกว่าให้ยกพลเดินทัพให้เสร็จในเดือนสิบเอ็ด (คือเดือนนั้นเอง)
     เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็มี the last, last word  จนได้    คือทำหนังสือกราบเรียนตอบไปว่า  
     " ยังมีติดขัดอยู่ข้อหนึ่งคือพาหนะเดินทัพไม่พร้อมขอรับ    ยังขาดวัวขาดช้างเพิ่มเติม   เป็นพาหนะที่จะขนแม่ทัพนายกองให้บุกป่าฝ่าหล่มโคลนและน้ำท่วมไปได้ตามทาง    ถ้าหากว่าหาสัตว์พาหนะมาเพิ่มได้ครบเมื่อไหร่  วันเดียวก็เคลื่อนทัพได้ขอรับท่าน"
     พอเขียนเสร็จท่านก็ปิดผนึกจดหมายส่งให้หลวงยุทธนาธิกรนำกลับไปส่งให้สมเด็จเจ้าพระยา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 10:41

  เจ้าพระยามหินทรฯ เป็นผู้ที่โชคดีมากที่ไม่ได้เกิดสมัยธนบุรี     ไม่ทราบว่ายังมีใครจำเรื่องไทยรบพม่าครั้งที่ 2 ที่บางแก้ว  ราชบุรีได้หรือเปล่าคะ
   ในพ.ศ. 2317  พระยามอญสี่คนมีพระยาเจ่ง และพระยากลางเมืองเป็นต้นพาชาวเมืองมอญลุกฮือขึ้นแข็งเมืองต่อพม่า  พระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาปราบปรามมอญ  พวกมอญก็ลี้ภัยเข้ามาในดินแดนไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงต้อนรับด้วยดี ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ดบ้าง  และสามโคกบ้าง    ทางพม่าไม่ยอมหยุดก็ยกทัพตามล่วงแดนเข้ามาทางด้านพระเจดีย์สามองค์
   เมื่ิสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกลับจากการรบที่เชียงใหม่ถึงพระนครก็ทราบข่าวศึกพม่าตามมอญเข้ามาทางนี้  จึงให้เกณฑ์กองทัพไปยันพม่าไว้    ทรงถือเป็นเรื่องด่วน  ห้ามแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จลงมา  มิให้ใครแวะบ้านไปเยี่ยมเยียนล่ำลาลูกเมียเป็นอันขาด    มีนายทหารคนหนึ่งชื่อพระเทพโยธา บังอาจขัดรับสั่งแวะขึ้นบ้าน  พอทรงทราบก็ให้จับตัวมามัดเข้ากับเสาตำหนักแพ  ทรงพระแสงดาบตัดศีรษะพระเทพโยธา แล้วเอาศีรษะไปเสียบไว้ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  ด้วยข้อหาขัดอาญาทัพ
    ส่วนพระองค์เองทั้งที่กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนีกำลังประชวรหนักอยู่  ก็หักพระทัยยกทัพออกจากเมืองหลวงไปทำศึกกับพม่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 23 พ.ค. 13, 09:57

   การเร่งรัดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่ได้ทำให้เจ้าพระยามหินทรฯเปลี่ยนความตั้งใจ     ท่านก็ยังปักหลักอยู่ที่หาดพระยาทศจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11   จึงจัดงานทำบุญใหญ่เนื่องในวันครบรอบสวรรคตในสมเด็จพระจอมเกล้าฯ    นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์มหาชาติครบ 13 กัณฑ์  จุดดอกไม้ไฟฉลองเป็นการครึกครื้น

 นิมนต์สงฆ์พร้อมเพรียงประเดียงฉัน      ในวันนั้นล้วนเป็นสุขสนุกสนาน
มีมหาชาติใหญ่แล้วให้ทาน              มโหฬารสรวลเสเสียงเฮฮา
ครั้นพลบค่ำย่ำแสงสุริย์ใส              จุดดอกไม้ส่องสว่างกลางเวหา
แสงดอกไม้กระจ่างสำอางตา              จับนวลหน้านางลาวขาวเป็นใย
ครั้นเทศน์ครบจบตามสิบสามกัณฑ์      ตั้งแต่นั้นน้ำลดค่อยงดหาย
ซึ่งกองทัพเป็นสุขสนุกสบาย              พอหาดทรายผุดพ้นชลธาร

   อ่านตามนายทิมบรรยาย    เห็นภาพชัดเจนว่างานทำบุญเทศน์มหาชาติครั้งนี้โอ่อ่าเอิกเกริกไม่ใช่เล่น   ขนาดมีดอกไม้ไฟมาจุดฉลองในงาน    สว่างจนจับหน้าสาวๆชาวบ้าน  ก็แสดงว่าจุดกันสว่างไสวพรึ่บพรั่บไปทั้งหาด       
   ดอกไม้ไฟไม่ใช่ของเล่นที่ใครๆก็พกพาติดตัวไปไหนมาไหน     ยิ่งถ้าเดินทัพ   แค่แบกขนเสบียงอาหารติดตัวไปก็เป็นงานหนัก    ใครจะแบกของที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างดอกไม้ไฟไปด้วยให้หลังแอ่น       ถ้างั้นท่านเจ้าคุณมหินทรฯท่านไปเนรมิตดอกไม้ไฟมาจากไหน   ชาวบ้านลาวแถวนั้นก็อยู่กันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีดอกไม้ไฟขายแน่นอน     ดิฉันคิดคำตอบได้ทางเดียวคือท่านออเดอร์จากกรุงเทพ  ให้คนของท่านย้อนกลับไปซื้อมาให้ทันงานทำบุญครั้งนี้

ครั้นพลบค่ำย่ำแสงสุริย์ใส              จุดดอกไม้ส่องสว่างกลางเวหา
แสงดอกไม้กระจ่างสำอางตา              จับนวลหน้านางลาวขาวเป็นใย
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 23 พ.ค. 13, 10:14

    นายทิมเล่าต่อไปว่าในช่วงนั้นน้ำหลากมาจนกระทั่งท่วมหาดพระยาทศ   เรือต้องขึ้นมาจอดบนบก   เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็รอจนน้ำลดเห็นหาด ก็ให้คนไปดูเส้นทางว่าพอจะยกทัพไปได้ไม่ลำบากหรือยัง   ได้คำตอบกลับมาว่าทางแห้งพอเดินทางไหวแล้ว   
   แต่..
   แต่....ถึงกระนั้นก็ยังเคลื่อนทัพไม่ได้อยู่ดี    เพราะว่ายังหาช้างและวัวมาเป็นพาหนะไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้     ก็เลยยังรั้งรอทัพอยู่ที่เดิม   จนกว่าจะได้ครบจำนวนเสียก่อน
   
    จนวันหนึ่งก็มีหนังสือราชการจากพระยาราชเสนามาแจ้งให้ทราบว่า ทัพฮ่อที่ยกไปรุกรานถูกทัพพระยามหาอำมาตย์ผนึกกำลังกับทัพโคราชตีแตกไปแล้ว      ไพร่พลในกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ รวมทั้งนายทิมด้วยก็ดีอกดีใจกันยกใหญ่     เพราะศึกจบไปแล้ว   ไม่ต้องเดินทางต่อแล้ว   ได้กลับบ้านกันเสียที    ตอนนี้ก็แค่รอคำสั่งจากเมืองหลวงให้ยกทัพกลับไปเท่านั้นเอง

   จากนั้นนายทิมและทหารคนอื่นๆก็นั่งนอนรอว่าเมื่อไรจะได้ยกทัพกลับ   แต่จนแล้วจนรอด  คำสั่งจากเมืองหลวงก็เงียบหายไม่เห็นมาถึง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 23 พ.ค. 13, 10:32

    ระหว่างรอยกทัพกลับ   ท่านเจ้าคุณแม่ทัพทำอะไรบ้าง  ท่านก็ทำบุญทำท่าน ซ่อมกุฏิวิหาร  แจกเงินคนแก่ชรา ทอดผ้าป่า  ส่วนช้างและวัวที่สั่งซื้อก็ทยอยกันมาเรื่อยๆจนได้ช้าง 170 กว่าๆ  และโค 500 ถ้วน  
    ถึงตรงนี้  นิราศหนองคายเริ่มสับสนนิดหน่อย ทำเอาคนแกะรอยนิราศสับสนไปด้วย   เพราะจู่ๆนายทิมก็ลืมวันเดือนปีขึ้นมาซะเฉยๆยังงั้น   บันทึกเหตุการณ์ได้  แต่ลืมว่าเกิดขึ้นในวันเดือนปีไหน    ทีนี้มันมี 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่รู้ก่อนหลัง    เหตุการณ์แรกคือจมื่นทิพเสนาคุมเชลยฮ่อสองคนมาถึงทัพทางนี้     และเหตุการณ์หลังคือ ในช่วงนี้เอง ก็มีสารตรามาจากกรุงเทพ (อีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็นับไม่ไหว) สั่งอีกครั้งว่าให้เคลื่อนทัพไป   เราคงจำได้ว่าเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาท่านนั่งเรือมาเร่งรัดถึงหาดพระยาทศให้เดินทัพต่อไปเสียทีนั้น ท่านกำหนดไว้เดือน 11  นี่มันก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือน 12   ก็ยังไม่ได้ไปสักที
    ที่ว่าสับสนก็คือ หลังเหตุการณ์เชลยจีนฮ่อถูกคุมตัวมา     นายทิมเล่าว่าเจ้าคุณท่านก็ใช้เวลาช่วงนั้นทำบุญซ่อมกุฏิ วิหาร ทำทาน ทอดผ้าป่า  หาช้างวัวพาหนะได้ครบเมื่อไหร่ก็เตรียมเดินทางไปแก่งคอย    จากนั้นก็ได้รับสารตราจากสมเด็จเจ้าพระยาเร่งรัดให้เดินทาง    คราวนี้เจ้าพระยามหินทรฯท่านก็เขียนตอบไปว่า หาซื้อพาหนะได้ครบแล้ว   ถึงกำหนดเดินทางได้   ว่าแล้วก็กำหนดเคลื่อนทัพในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12   ยกทัพไปที่แก่งคอย สระบุรี
   นายทิมบรรยายการจัดทัพไว้ในตอนนี้ได้ละเอียดมาก      พวกที่อ่านนิราศหนองคายเพื่อเอาความรู้ ต่างชมตรงนี้กันว่าเป็นข้อดีข้อหนึ่งของนิราศเรื่องนี้

    แต่ดิฉันสนใจเรื่องอื่นมากกว่า คือเบื้องหลังการเดินทาง      อ่านแล้วยังไม่มีตรงไหนบอกชัดๆว่าเหตุใดเจ้าคุณมหินทรฯ ท่านถึงปักหลักอยู่ที่ท่า(หรือหาด)พระยาทศเป็นเดือนๆ    โดยขัดคำสั่งนาย   กี่หนๆ ท่านก็ยอมขัด  ด้วยข้ออ้างอะไรหลายอย่างที่ดิฉันคิดว่าไม่ใช่เหตุผลจริง เช่นสงสารกลัวไพร่พลจะไปตายเพราะไข้ป่า และน้ำท่วมทางเดินทัพบุกไปไม่ไหว
    ถ้าสาวเชือกจากปลายไปต้น  เอาผลกลับไปหาเหตุ     ก็มองได้อย่างหนึ่งว่า เหตุผลเหล่านี้เกิดจากเจ้าพระยามหินทรฯท่านไม่อยากไปรบกับพวกฮ่อ     ถึงขั้นท่านเชื่อ - สะท้อนจากความเห็นของนายทิม - ว่าทัพฮ่อไม่มีจริง
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 13:06

   เท่าที่เฝ้าติดตามกระทู้นี้ในห้องเรียนนี้  คิดว่าแม่ทัพระดับเ้จ้าคุณมหินทรฯไม่น่าจะครั่นคร้ามพวกฮ่อ หรือว่ายังมีเงื่อนงำอื่นอีกที่เราๆยังไม่ทราบกัน ขอติดตามรอสรุปสุดท้ายของอาจารย์ต่อไปครับ ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 15:00

    (ต่อ)
     เส้นทางจากท่าพระยาทศไปแก่งคอย ต้องไปทางเรือ  กินเวลาครึ่งวัน คือออกเดินทางแต่เช้าตรู่พอบ่ายโมงก็ถึงที่พักแรม  พักอยู่ที่นั่นเพื่อจัดกระบวนทัพ  พอเสร็จเรียบร้อยก็เคลื่อนพลในวันแรมห้าค่ำ เดือนสิบสอง   พวกแม่ทัพนายกองทั้งหมดนั่งช้างไปเพราะจากนี้เป็นเดินทางทางบกล้วนๆ   จากนั้นก็เข้าสู่ดงพระยาเย็น
    ฝีมือกลอนพรรณนาธรรมชาติของนายทิมไม่เบาเลย  ทั้งเลือกคำและสัมผัส   เรียกได้ว่าเทียบชั้นกับขุนช้างขุนแผนได้ทีเดียว   นอกจากนี้เป็นคนรู้จักไม้ป่า ไม้บ้าน  ผลหมากรากไม้นานาชนิดดีเสียด้วย   ชื่อไม้มีหลายชื่อในที่นี้ไม่คุ้นหู  ไม่เห็นในวรรณคดีอื่น    น่าจะเชิญนักพฤกษศาสตร์มาดูว่าสมัยรัชกาลที่ ๕  ป่าของเราแค่สระบุรีใกล้ๆนี้เองเป็นป่าทึบ มีต้นไม้อะไรกันบ้าง

    วนป่าทึบดงชัฏสงัดแท้                  มองเห็นแต่ยางยูงสูงไสว
โศกสักกรักกร่างมะทรางไทร                  แสลงใจจิ่งจ้อคล้อตะคล้อง
มะตูมตาดเต็งแต้วแก้วมะกา                  คางมะค่าประคำร้อยและข่อยหยอง
กระท้อนกระทุ่มอุทุมพรและค้อนกลอง       มะพลับพลองพลวงกะเพราสะเดาดง
ต้นตะโกสะแกแสมสาร                  ต้นกำยานพระยายาและกาหลง
อัมพามะพูดชลูดโรกโลดทะนง          ทั้งเปรงปรงโปร่งฟ้าและขานาง
ต้นก้านเหลืองมะเฟืองมะฝ่อไฟ          สลัดไดนางรองและทองหลาง
มะกอกดอกประดู่ต้นหูกวาง                  มะสังทรางส้มเสี้ยวเล็บเหยี่ยวยล
เกดกุ่มพุมเรียงและเหียงหาด                  มะตูมตาดติดดอกบ้างออกผล
ตะเคียนเคียงเรียงระดะดูปะปน          มีทั้งคณฑาไทยลำไยดง
ตะแบกกระเบากรันเกราไกร                  ทั้งเนื้อไม้กฤษณามหาหงส์
ต้นกระทิงกระท่อมพะยอมประยงค์          ทั้งคนทรงแส้ม้าพระยารัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 15:12

   เส้นทางนั้นนายทิมพรรณนาว่าลำบากลำบนสาหัส  เพราะเป็นป่าทึบ  มีทางพอให้ช้างเดินเรียงเดี่ยวเท่านั้น    ถ้าหน้าฝนน้ำคงท่วมมิดหัว   จะถากถางทางเดินก็ไม่ไหว  จะทำเรือแพก็ไม่มีทางเรือให้แล่นไปได้เพราะมีแต่ภูเขา    ยิ่งถ้าเจอไข้ป่าก็คงเอาชีวิตมาทิ้งกันทั้งกองทัพที่นี่เอง
   เมื่อพรรณนามาถึงตรงนี้  นายทิมก็ย้อนคิดไปยกย่องสรรเสริญว่าไพร่พลทั้งหลายได้นายดี ห่วงใยลูกน้องถึงกับยอมฝ่าฝืนคำสั่งจากเมืองหลวง   ไม่ยอมเดินทางมาหน้าฝน       ถึงตรงนี้นายทิมก็เริ่มเหน็บแนมลอยๆโดยไม่ระบุเจาะจงถึงใครว่า  ถ้าหากว่าเป็นนายที่มัวเมาในยศศักดิ์  คือถือเอาความเป็นใหญ่ท่าเดียว   คงไม่ยอมเห็นแก่ลูกน้องอย่างท่านเจ้าคุณ   แต่คงพาไพร่พลบุกป่าฝ่าดง  พามาตายเสียทั้งหมดในดงพระยาเย็น
   จากนั้นนายทิมก็ให้ยาหอมต่อไปว่า ไม่ใช่ข้าพเจ้าคนเดียวที่ว่าอย่างนี้   ไพร่พลในกองทัพทั้งหมดก็พากันสรรเสริญเจ้าคุณมหินทรฯ เช่นกัน ด้วยคำเดียวกัน  บ้างก็อวยชัยให้พรท่านให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
   เราก็คงเดาได้ว่านิราศหนองคายไม่ได้แต่งเอาไว้อ่านคนเดียวแน่ๆ   แต่แต่งให้นายอ่าน   เจ้าคุณฟังนายทิมอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านคงจะชื่นใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 15:28

     เส้นทางนั้นผ่านทับมะค่า  มวกเหล็ก ทุ่งใช้ และสระคุด  ก่อนจะหลุดพ้นจากดงพระยาเย็น มาถึงแม่น้ำลำตะคลอง       ดิฉันพิมพ์หาชื่อตำบลเหล่านี้ในแผนที่กูเกิ้ล เพื่อจะเอาเส้นทางมาให้ดู   แต่ไม่ยักพบ   ไม่รู้ว่าเปลี่ยนชื่อไปหมดแล้วหรือว่าเราหาไม่เป็นเอง   ใน 4 ชื่อนี้รู้จักแต่มวกเหล็กเพราะเคยไปหลายหน   แต่ไม่มีเค้าความลำบากยากเย็นเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนอีกเลย   กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีแต่รีสอร์ททั้งนั้น
    กลับมาเรื่องนิราศ
    ความลำบากลำบนที่นายทิมบ่นมาตลอดทางนั้นฟังก็น่าเห็นใจ   เพราะถึงขั้นที่วัวซึ่งซื้อมาทนไม่ไหวล้มตายลงไปหลายตัว  ช้างก็ล้มลงไปบางตัวเช่นกัน     แต่ตัวคนคงจะค่อยยังชั่วหน่อยเพราะไม่มีใครป่วยหรือล้มตายกันสักคน    ตอนกลางคืนนายทิมเองก็ได้นอนสบายในเต๊นท์ ซึ่งกางสำหรับแม่ทัพนายกอง    นับว่าค่อยยังชั่วหน่อย
   มีเกร็ดอีกอย่างที่น่าบันทึกไว้คือนายทิมเป็นคนมีความรู้ทางเภสัชกรรมดีไม่ใช่เล่น    เห็นได้จากตอนข้ามแม่น้ำลำตะคลอง เข้าป่าละเมาะ  เจอว่านเต็มไปหมดทั้งป่า      นายทิมจึงบรรยายว่านเสียยาวเหยียด ระบุชื่อคล่องแคล่วไม่ติดขัด     ชื่อว่านพวกนี้ก็เหมือนกัน ไม่เคยได้ยินในวรรณคดีเรื่องอื่น    เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าสูญพันธุ์กันไปมากแล้ว หรือว่ายังพอมีอยู่

แล้วเดินตามวนาป่าละเมาะ              ชมว่านเปราะพอพ้นหายหม่นหมอง
ทั้งว่านแรดว่านช้างว่านยางทอง      ทั้งว่านปล้องว่านปลามหากาฬ
มีทั้งว่านเสน่ห์จันทน์ว่านฟันม้า      ว่านพระยาสามรากว่านสากสาร
ว่านนิลเพทเจ็ดศีรษะหนุมาน              มีทั้งว่านตะง้าวว่านสาวพึง
อีกว่านตูมว่านเต่าว่านเฒ่าหง่อม      และว่านหอมว่านเห็ดว่านเพ็ชหึง
ว่านกำแพงเพชรเจ็ดชั้นสามพันตึง      อีกว่านอึ่งว่าคางคกว่านนกยาง
ว่านเพ็ดน้อยเพ็ดม้าว่านสาโรช      ว่านกำโหมดว่านมัวว่านหัวสาง
ว่านแพทว่านรภิมอยู่ริมทาง              ว่านกระดางนางกวักว่านจักบัว
ว่านเพชสงฆาว่านอาสพ              ว่านบุตรลบมีเป็นจุกสิ้นทุกหัว
อีกว่านอุกว่านอาบว่านคราบวัว      อีกว่านพลั่ว ว่านพลวก ว่านหมวกคน
ว่านอีดำอีแดงแสงอาทิตย์              และว่านพิษขึ้นหมู่ฤดูฝน
อีกว่านเจ็ดช้างสารว่านกำพล              ทั้งว่านต้นหลายหลากมีมากนัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 15:52

     ในที่สุด ทัพเจ้าพระยามหินทรฯก็มาถึงโคราช อย่างปลอดภัย
 
     สังเกตว่าช่วงที่นายทิมบ่นอยู่หนักๆกว่าเพื่อน ก็คือช่วงข้ามเขาในป่าดงพระยาไฟ     ซึ่งต้องผ่านห้วยเหวหลายแห่ง เดินทางลำบาก   แต่พอพ้นป่ามาแล้วนายทิมก็ดูจะโล่งใจ  ถึงมีบทรำพันบ้างก็เป็นรำพันถึงนางตามขนบของนิราศ  ไม่ค่อยจะพิโอดพิโอยมากมายอย่างตอนแรก      เส้นทางในดงพระยาไฟน่าจะกินเวลาไม่กี่วันนัก เพราะคำพรรณนาค่อนข้างสั้น           ข้อสำคัญคือไม่มีตรงไหนบอกเลยว่าเจอไข้ป่า   ไม่มีการระบุถึงการล้มเจ็บป่วยไข้ของไพร่พล    และไม่มีบอกด้วยซ้ำว่ามีอุบัติเหตุเช่นตกเหวตกเขาตายกันไป    แสดงว่าไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น   ถ้าหากว่ามี  นายทิมคงบันทึกเอาไว้แล้ว       
     แต่พอถึงโคราช ตั้งทัพอยู่ที่นั่น  นายทิมจึงบันทึกว่าไพร่พลตายกันไปร้อยกว่า แต่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ   ไม่ใช่ด้วยการรบ

     
   เท่าที่เฝ้าติดตามกระทู้นี้ในห้องเรียนนี้  คิดว่าแม่ทัพระดับเ้จ้าคุณมหินทรฯไม่น่าจะครั่นคร้ามพวกฮ่อ หรือว่ายังมีเงื่อนงำอื่นอีกที่เราๆยังไม่ทราบกัน ขอติดตามรอสรุปสุดท้ายของอาจารย์ต่อไปครับ ฮืม

    เป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้ว่า เจ้าคุณมหินทรฯท่านคิดอย่างไรของท่านแน่     นิราศหนองคายที่อ่านกันอยู่ก็ไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ ถูกกรมศิลปากรเซนเซอร์ออกไปบางส่วน    ซึ่งส่วนตรงที่หายไปอาจจะมีคำเฉลยอยู่ก็ได้      แต่ที่เห็นได้อยู่อย่างคือนายทิมน่าจะเป็นกระจกสะท้อนความคิดของเจ้าคุณออกมาได้บางส่วน      มองเห็นได้ว่าการเดินทางครั้งนี้  ส่วนที่เจ้าคุณมหินทรฯท่านเห็นเป็นเรื่องใหญ่คือการฝ่าดงพระยาไฟซึ่งเป็นที่เลื่องลือถึงไข้ป่า ว่าใครผ่านไปแล้วเป็นต้องได้เชื้อไข้ตัวนี้ติดไปทุกคน  เป็นไข้ป่าร้ายแรงไม่มีทางรอด       แต่พอพ้นดงไปแล้ว น้ำเสียงนายทิมก็ดูโล่งอก  จากนั้นก็ชมดงชมไม้ต่อไปไม่มีน้ำเสียงหนักใจอีก   
    ดูจากประวัติของเจ้าพระยามหินทรฯ  ว่ากันว่าเมื่อครั้งเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ   ก็ทรงนำเจ้าคุณเมื่อครั้งยังเป็นแค่นายเพ็ง ตามเสด็จไปด้วย     เพราะฉะนั้นนายเพ็งก็ต้องคล่องตัวพอสมควรเรื่องกินนอนในป่า   รู้จักหัวเมืองหลายจังหวัดดี    ไม่ใช่ว่าเกิดมาไม่เคยออกจากเมือง      เพราะฉะนั้นจะว่าท่านกลัวป่าก็ไม่น่าจะใช่
    มาถึงคำถามว่า ถ้าไม่กลัวป่า แล้วกลัวฮ่อหรือเปล่า   ข้อนี้มีคำพูดของนายทิมอยู่ตอนหนึ่งว่า ไม่มีข้าศึกรออยู่ปลายทาง   เหมือนถูกสั่งให้เดินทัพกันมาเปล่าๆปลี้ๆ    คือไม่จำเป็นต้องมาก็ได้    เพราะเชื่ออย่างนี้หรือเปล่าเจ้าคุณท่านจึงไม่ยอมเสี่ยงตายเข้าดงพระยาไฟ
    อย่างน้อย  เราก็รู้อยู่ข้อหนึ่งว่า ในนิราศนี้มีพญาคชสารอยู่ 2 ช้างด้วยกัน คือสมเด็จเจ้าพระยาและเจ้าพระยา    ส่วนนายทิมเป็นหญ้าแพรกอยู่ตรงกลาง

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 17:05

ผมอ่านนิราศหนองคายฉบับที่ว่ากันว่าถูกเซ็นเซอร์ไปเยอะแล้ว เจอเนื้อหาเหน็บแนมสมเด็จเจ้าพระยาไม่ได้เล็กน้อยเลย ยังสงสัยว่าเนื้อหาแบบนี้ไม่โดนเซ็นเซอร์ ส่วนที่หายไปจะขนาดไหนหนอ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 20 คำสั่ง