เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
อ่าน: 24442 นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 05 มิ.ย. 13, 17:19

   อ่านมาถึงพฤติกรรมของสาวๆในนิราศหนองคาย ซึ่งนายทิมยืนยันว่าบันทึกเรื่องจริงตามประสบการณ์  ชักจะเชื่อแล้วว่าค่านิยมอย่างที่สอนในสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ ให้รักนวลสงวนตัวนั้น คงจะจำกัดเฉพาะแวดวงที่ท่านรู้จักในรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3   แต่แวดวงกว้างและไกลกว่านั้นคงไม่ยึดถือเท่าไหร่     
    เห็นได้จากผ่านมาถึงรัชกาลที่ 5   สาวๆโคราชจำนวนมากใจถึงเสียยิ่งกว่าสาวๆนักเที่ยวตามผับสมัยนี้เสียอีก   เพราะกล้าบุกเข้าไปถึงค่ายท่ามกลางผู้ชายมากมายก่ายกอง     ทั้งที่เห็นๆว่า ที่พักของฝ่ายชายก็มิได้มิดชิดลับตาคนแต่อย่างใดเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 09 มิ.ย. 13, 21:39

   ตัวละครสำคัญในนิราศหนองคาย นอกจากนายทิมแล้วก็คือเจ้าพระยามหินทรฯ นายของกวีผู้แต่ง     ภาพของเจ้าพระยามหินทรฯในนิราศเป็นการมองผ่านสายตาของนายทิม   ตัวจริงท่านเป็นอย่างไรเราไม่มีโอกาสรู้    แต่ก็คิดว่าคงไม่แตกต่างจากที่นายทิมมองเห็นมากนัก   เพราะนายทิมไม่ได้ทำแค่พรรณนาความดีงามของนาย เฉยๆแค่นั้น   แต่บันทึกการกระทำต่างๆของท่านตลอดการเดินทางด้วย   การกระทำของท่านตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนเรื่องเล็ก  ก็พอจะสะท้อนอุปนิสัยใจคอของท่านได้พอสมควร
   อย่างแรกที่พอมองเห็นได้คือ เจ้าพระยามหินทรฯเห็นจะเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองพอสมควร     ถ้าท่านปักใจว่า "ไม่" ก็คือ "ไม่"   เห็นได้คือถ้าท่านไม่ประสงค์จะเดินทัพฝ่าดงพระยาไฟในฤดูฝน  ก็ไม่มีใครทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ แม้แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯอุตส่าห์นั่งเรือกลไฟมาเร่งถึงหาดพระยาทศ   เจ้าพระยามหินทรฯท่านก็ยัง "ไม่" เป็น "ไม่" อย่างเดิม   เอากะท่านซี
  อย่างที่สอง คือเจ้าพระยามหินทรฯ เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี  และใจกว้าง  ไม่ว่าไปไหนท่านจะเผื่อแผ่เกื้อหนุนจุนเจือทั้งวัด ทั้งเมือง ทั้งหมู่บ้าน   เงินทองแจกจ่ายได้ท่านก็แจกจ่ายอย่างไม่เหนียวแน่น ทั้งขาไปขากลับ    อยู่ในเมืองโคราชนานนักก็ให้ไพร่พลเล่นละครให้ชาวเมืองดูกันครึกครื้นแก้เซ็งกันทั้งสองฝ่าย      เกิดเรื่องไม่งามขึ้นมาท่านก็ไกล่เกลี่ยให้ระงับไปเอง  ไม่ถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย    คือเป็นนักรัฐศาสตร์มากกว่านักการทหาร
  (ยังมีต่อ  วันนี้ขอแค่นี้ก่อนค่ะ)
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 10 มิ.ย. 13, 17:08

  ถ้าถามว่านักการทหารเป็นอย่างไรในสมัยนั้น ตัวอย่างใกล้ๆในเวลาเดียวกันที่เห็นได้คือพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เอ่ยไว้ในนิราศหนองคายสองสามแห่ง    ท่านเป็นแม่ทัพปราบฮ่อที่หนองคาย ตัวจริง
  ความจริงพระยามหาอำมาตย์มิได้มีหน้าที่ไปปราบฮ่อแต่แรก   แต่ว่าคุมคนไปสักเลกหัวเมืองและเร่งรัดเงินรายได้ส่วนกลางจากหัวเมืองแบบเดียวกับที่สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านบัญชาให้เจ้าพระยามหินทรฯ ทำ    เมื่อเกิดเรื่องฮ่อยึดเมืองหนองคายได้ เพราะเจ้าเมืองไม่อยู่  มัวมาอยู่ที่อุบลฯเพื่อต้อนรับพระยามหาอำมาตย์     ทางผู้รักษาเมืองคือท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาได้ข่าวฮ่อยกพลมาบุก  ก็ไม่คิดจะเกณฑ์ชาวเมืองสู้   ใช้วิธีพาครอบครัวลี้ภัยไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี  อีกคนหนึ่งคือพระยาพิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัย พอรู้ว่าฮ่อยกมายึดหนองคาย  ท้าวจันทร์ศรีสุราชฯลี้ภัยพร้อมด้วยกรมการเมือง  พระยาพิไสยฯก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกัน
    ส่วนทัพของเจ้าพระยามหินทรฯก็ติดฝนอยู่ปากทางเข้าดงพระยาไฟ อย่างที่บรรยายมาแล้ว   ทัพเจ้าพระยาภูธราภัยก็ไปอีกทางคือขึ้นอุตรดิตถ์ไปเวียงจันทน์    เหลือพระยามหาอำมาตย์สู้อยู่ทัพเดียว   อย่างแรกคือท่านก็ยกกองทัพจากเมืองต่างๆในอีสานเท่าที่จะระดมได้เข้าเมืองหนองคาย  รบกับฮ่อจนชนะ   และสั่งให้จับ ท้าวจันทน์ศรีสุราช กับพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่
   ดิฉันเชื่อว่าถ้าเป็นเจ้าพระยามหินทรฯไปถึงหนองคายได้ ท้าวจันทน์ฯและพระยาพิไสยฯอาจจะรอด   เพราะท่านคงไม่เอาผิดถึงประหาร    แต่พระยามหาอำมาตย์เป็นนักการทหาร   ถึงเวลานั้น หน้าสิ่วหน้าขวานเต็มทีจะมัวประนีประนอมอยู่ไม่ได้   ผิดอาญาทัพ หนีข้าศึกต้องประหารมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง     ความเฉียบขาดเท่านั้นที่จะทำให้คุมไพร่พลไว้อยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 10 มิ.ย. 13, 21:19

  กลับมาเรื่องเจ้าพระยามหินทรฯ   นิสัยข้อสุดท้ายที่เห็นจากนิราศเรื่องนี้ มีอะไรน่าเอ็นดูชวนให้อมยิ้มได้อยู่มาก     นายทิมเล่าไว้ตอนท้ายเรื่อง
   เมื่อถึงเวลาเดินทางกลับมาจนถึงใกล้ปลายทาง    เรือกลไฟก็ไปรับท่าน พากลับกรุงเทพ   เจ้าคุณมหินทรฯนั่งเรือมาตามสบายจนถึงปากเกร็ด  เรียกว่าอีกไม่กี่ก้าวจะถึงบ้านท่านอยู่แล้ว  ท่านก็ฉุกใจคิดอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมาได้   ก็เลยสั่งให้เรือหยุด แวะเข้าจอดพักข้างทาง   รออยู่ยังงั้นแหละ ให้เย็นย่ำค่ำสักหน่อยค่อยเดินเครื่องยนต์ต่อ ไปถึงบ้านท่าน
   สาเหตุสำคัญที่ท่านต้องสั่งกัปตันเรือเบรคกะทันหัน    เพราะนึกขึ้นมาได้ว่าท่านเดินทางไกลไปทั้งที     ไม่มีของมาฝากคนทางบ้าน

   เรือเลยพ้นออกจากคลองปากเกร็ด      เจ้าคุณเข็ดคนจะครหา
เพราะด้วยการท่านไปทางไกลมา              ไม่เห็นว่ามีสิ่งใดไปให้ปัน
บัญชาให้เรือฉุดรอหยุดจักร                      เข้าจอดพักด้วยอายไม่ผายผัน
จะรีบรัดขัดขวางเป็นกลางวัน                      ด้วยกระชั้นถึงบ้านรำคาญใจ
เข้าจอดรอให้ย่ำค่ำสักหน่อย                      จึงจะค่อยไปให้ถึงจึงจะได้
ครั้นจอดอยู่ช้านานรำคาญใจ                      แล้วเลยไปท่าอิฐคิดบรรเทา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 10 มิ.ย. 13, 21:28

    ท่านนึกขึ้นมาได้อีกอย่างขณะจอดเรือลอยลำเท้งเต้งอยู่เฉยๆว่า  แถวนี้ท่าอิฐ มีมะปรางหวานขึ้นชื่ออยู่ที่นี่    เพราะฉะนั้นถ้า "ทางบ้าน" ทวงของฝาก   ก็ซื้อมะปรางหวานไปฝากเห็นจะดี       ว่าแล้วท่านก็ให้บริวารลงไปหาซื้อมะปรางเป็นการใหญ่   แต่ปรากฏว่าหาเท่าไหร่ก็ไม่ได้ เพราะหน้านี้ผลไม้วายไปแล้ว
    อ่านแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าเจ้าคุณมหินทรฯ เห็นทีจะเป็นแฟมิลี่แมนอยู่ไม่น้อย     ไปทัพแท้ๆ ไม่ได้ไปปิคนิค    ยังอุตส่าห์คิดถึงของฝาก   จะฝากใครถ้าไม่ใช่ฝากท่านผู้หญิง และคงเผื่อแผ่ไปยังหม่อมๆในบ้านของท่านด้วย     เกรงว่ากลับจากต่างเมืองแล้ว ไม่มีของฝาก  ท่านผู้หญิงจะงอน      ถ้าหากว่าท่านมาเกิดสมัยนี้  ได้ไปดูงานไกลถึงยุโรป  ขากลับคงมีดิออร์ หรือหลุยส์ หรือแอร์เมส มาฝากหลังบ้านของท่านเป็นแน่        

ด้วยมะปรางท่าอิฐติดจะลือ              จะต้องซื้อไปให้มากได้ฝากเขา
แม้นใครทวงออกปากของฝากเรา      จะต้องเอามะปรางให้เห็นได้การ
เที่ยวถามซื้อมะปรางใหญ่ก็ไม่พบ      แจวจนจบทั่วสิ้นพ้นถิ่นบ้าน
ด้วยจวนวายคลายผลไม่ทนทาน      มะปรางหวานหน้านี้ไม่มีโต
ครั้นจวนเย็นแล้วก็กลับมาฉับพลัน      ด้วยตะวันจวนจักบ่ายอักโข
สั่งเรือไฟให้ลอยปล่อยบุโล              ออกแล่นโร่รีบมาเวลากาล ฯ
   ในเมื่อหามะปรางแทบพลิกท่าอิฐแล้วไม่ได้   เวลาก็ล่วงไปจนบ่าย  ท่านก็ให้ออกเรือแล่นมาถึงกรุงเทพ  ทันกลับถึงบ้านในเวลาเย็น     คิดว่าไม่ได้มะปรางมา ท่านก็คงได้ผลไม้อะไรติดมือมาฝากบ้างละน่า   คงไม่กลับมามือเปล่า

จบนิราศหนองคายเพียงแค่นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 10 มิ.ย. 13, 22:31

เรือมาทางลัดเกร็ดจะไม่ผ่านท่าอิฐน่าสิครับ ต้องจงใจเลี้ยวเข้าไปแม่น้ำอ้อมเพื่อไปที่ท่าอิฐ เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านชิลล์มากครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 11 มิ.ย. 13, 14:01

  คนใหญ่โตอย่างเจ้าพระยามหินทรฯ ทำอะไรก็ไม่เป็นความลับไปได้    เพราะผู้คนแห่ห้อมล้อมหน้าหลังเยอะแยะ      การที่ท่านนั่งเรือแบบชิลด์ชิลด์กลับจากโคราชมากรุงเทพ    อยากแวะก็แวะ อยากจอดก็จอด อยากอ้อมก็อ้อม   สมเด็จเจ้าพระยาฯสดับตรับฟังข่าวอยู่ทางกรุงเทพ  คงได้รับรายงานทุกกระดิก
   นอกจากนี้ คำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยาที่ให้เจ้าพระยามหินทรฯสร้างยุ้งฉางและเร่งรัดเงินหลวงกับเจ้าเมืองต่างๆ   ก็ไม่เห็นว่าเจ้าพระยาท่านจะทำตามนั้น   ไม่งั้นนายทิมคงบันทึกไว้แล้ว เพราะเป็นเรื่องใหญ่มองข้ามไปไม่ได้   เงินหลวงจำนวนไม่น้อยต้องขนมากับกองทัพ จัดระวังเวรยามกันเป็นเรื่องเข้มงวด   จะไม่เอ่ยได้ไง  นอกจากว่ามันไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว 

     ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ      บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา      ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน
   
    อ่านนิราศหนองคายมาจนจบแล้วก็พอวาดภาพได้ว่า  ถ้าชาวเมืองหลวงจะ "ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน" ละก็  มีกี่เรื่องได้บ้าง    แค่เรื่องอ้อมเรือไปหามะปรางหวานมาฝากทางบ้านขณะสมเด็จเจ้าพระยาฯผู้บัญชาการทัพรออยู่ปลายทาง   แค่นี้ก็มันปากไปได้หลายวันแล้ว     เรื่องใหญ่ๆกว่านี้ตามที่นายทิมพาซื่อบันทึกเอาไว้ตั้งแต่หาดพระยาทศไปจนโคราชและกลับกรุงเทพ  เพื่อยกย่องนายของตน   เอาเข้าจริงเจาะลงไประหว่างบรรทัด    คนกรุงเทพเห็นจะนินทากันได้ข้ามปี
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง