การวางแผนเส้นทางไปหนองคาย ต้องเตรียมล่วงหน้ากันตั้งแต่อยู่กรุงเทพแล้ว เหตุผลหลักของการเลือกเส้นทางคือเดินทางสั้นที่สุด เพราะฉะนั้น ทางไปโคราชผ่านดงพระยาไฟน่าจะเป็นเส้นทางลัดสุด ในเมื่อข้าศึกยึดเมืองได้แล้วทางโน้น ทัพทางนี้จะมัวเอ้อระเหยหาหนทางดีๆ แม้จะอ้อมมากไปหน่อยก็ทำไม่ได้อยู่ดี มันจะช้าเกินการ
ที่สำคัญคือไม่มีใครคิดว่าเจ้าพระยามหินทรฯท่านจะมาใส่เบรคมืออยู่กลางทาง ในเมื่อตอนอยู่ต้นทางในกรุงเทพ ก็ไม่เห็นพูดถึงปัญหาข้อนี้ ปัญหาที่นายทิมสะท้อนเอาไว้คือไม่อยากเดินทางในฤดูฝน ข้อนี้ถึงไม่อยากก็ต้องไป ไปๆมาๆปัญหามันก็เลยกลายเป็นงูกินหางไป ฮ่อยกทัพมาตีหนองคาย>ไม่ไปก็ต้องไป>ไปแล้วไม่อยากไปต่อ> ไม่อยากไปต่อก็ต้องไป> ถึงต้องไปก็ไม่อยากไป...

ที่จริงนอกจากความขัดแย้งของพญาคชสารทั้งสองแล้ว นิราศหนองคายก็ยังมีรสชาติแสบเผ็ดให้เอ่ยถึงได้อีก 2-3 เรื่อง อย่างหนึ่งคือสะท้อนเบื้องหลังค่อนข้างเละเทะในสมัยยกทัพ ซึ่งตอนที่พิมพ์ออกมาเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจนักอ่านแนวสังคมนิยมอยู่มาก เห็นว่าเป็นการแฉเบื้องหลังศักดินา
เกณฑ์เลขทาสทั้งที่มีค่าตัว ดูนุงนัวนายหมวดเร่งกวดขัน
ผู้ที่เป็นมุลนายวุ่นวายครัน บ้างใช้ปัญญาหลอกบอกอุบาย
ว่าตัวทาสหลบลี้หนีไม่อยู่ ข้างเจ้าหมู่เกาะตัวจำนำใจหาย
ที่ตัวทาสหนีจริงวิ่งตะกาย ทำวุ่นวายยับเยินเสียเงินทอง
เกณฑ์ขุนหมื่นขึ้นใหม่ในเบี้ยหวัด ขุนหมื่นตัดเกณฑ์ตามเอาสามสอง
ท่านนายเวรเกณฑ์กวดเต็มหมวดกอง เอาข้าวของเงินตราปัญญาดี
เหล่าพวกขุนหมื่นไพร่ต้องไปทัพ ที่มีทรัพย์พอจะจ่ายไม่หน่ายหนี
สู้จ้างคนแทนตัวกลัวไพรี ที่เงินมีเขาไม่อยากจะจากจร ฯ
ในต้นรัชกาลที่ 5 ช่วงนั้นยังมีระบบไพร่อยู่ การเกณฑ์คนไปรบที่มีระเบียบกฎเกณฑ์อย่างหลวมๆ เพราะยังไม่มีระบบทหารประจำการอย่างสมัยหลัง จึงค่อนข้างชุลมุนวุ่นวาย เจ้าขุนมูลนายที่มีแรงงานเลกในสังกัด เมื่อถูกเกณฑ์เลกไปร่วมรบ ก็อยากให้บ้างไม่อยากให้บ้าง จึงแจ้งว่าทาสหนีบ้างอะไรบ้าง ส่วนพวกขุนนางชั้นผู้น้อยที่ต้องไปทัพก็ไม่อยากจะไป เพราะมันอันตราย อาจจะตายง่ายๆ เมื่อถูกเกณฑ์ก็เลยหาอุบายจ้างคนไปแทนตัวก็มี
ปัญหาคอรัปชั่นมีมาทุกยุคทุกสมัย