เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 24385 นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 14:15


จดหมายเหตุราชกิจรายวัน ประจำวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ (หน้า ๓๑๐) จดบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

จมื่นทิพเสนาเฝ้าถวายหนังสือพระยามหามนตรีกับต้นฉบับนิราศหนองคาย ๔ เล่ม ในหนังสือจ่าให้จมื่นทิพเสนาเชิญพระราชหัตถ์ไปให้เจ้าพระยามหินทรฯ ดุ เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ส่งต้นฉบับมาให้ ๔ เล่ม แจ้งว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธนั้น เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ไปซื้อมาแล้วเป็นสมุดใบปกแข็ง ๕๗ เล่ม ใบปกลายศิลา ๑๒๗ เล่ม ใบปกเขียว ๑๗๘ เล่ม รวม ๓๖๒ เล่ม กับหนังสือที่ยังไม่ได้เย็บอีกจำนวน ๑๐ ยก ประมาณ ๑๐๐ เล่ม ได้ส่งไปที่พระยารองเมือง แต่วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ แกไปถามพระยารองเมืองว่าจริงแล้วจะทำบัญชีทูลเกล้าฯ ถวาย
๓๖๒ เล่ม + กับหนังสือที่ยังไม่ได้เย็บอีกจำนวน ๑๐ ยก ประมาณ ๑๐๐ เล่ม = 462 เล่ม   

นี่พิมพ์ครั้งแรก   ไม่รู้จะพิมพ์อีกกี่ครั้งถ้าไม่เกิดเรื่องเสียก่อน
เจ้าคุณมหินทรฯ ท่านกะจะแจกเจ้านายและขุนนาง  ให้อ่านกันทั้งเมืองเลยหรือ?
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 15:50

ถ้าอีหรอบนี้แปลว่าเจ้าพระยามหินทรฯท่านคงรู้เห็นเป็นใจอยู่ด้วยแหงแก๋เลยครับ  แต่คิดแล้วก็ไม่แปลกเพราะท่านเองก็ไม่ได้เล็กกว่าสมเด็จเจ้าพระยา ณ ตอนนั้นเท่าไหร่นัก


ถ้ามองไปถึงอดีต เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านเป็นข้าเก่ารับใช้มาตั้งแต่ ร. 4 มองการเมืองไทยสมัยนั้นท่านน่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตระกูลบุนนาคอยู่มาก บุนนาคทำอะไรก็ผิดไปหมด เหมือนคนไทยสีต่างๆ ตอนนี้ สีตรงข้ามทำอะไรก็เลวไปหมด ฉันใดก็ฉันนั้น  ยิ่งมาถึงช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขาลงแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ท่านจะได้เอาคืนพวกบุนนาค  สั่งอะไรมาก็ไม่ทำ ผลัดผ่อนไปเรื่อย   เวลาคนใหญ่ๆ เค้าเล่นการเมืองกัน บางทีชาติบ้านเมืองหรือความลำบากของราษฎรมาทีหลัง


ถ้าสงสัยต่อว่าแล้วงั้นทำไมท่านไม่ปฏิเสธตำแหน่งแม่ทัพ ก็ไม่น่าแปลก พอสมเด็จเจ้าพระยาโยนตำแหน่งนี้มาให้ ถ้าไม่รับก็อาจจะเสียหน้ากว่าท่านก็เลยต้องรับ แต่ไม่ทำตามซะอย่างใครจะทำไม สมเด็จเจ้าพระยาเองเป็นคนเสนอท่านเอง จะปลดไปก็ไม่ได้ มันอิหลักอิเหลือต่อท่านเองอีก เลยต้องเลยตามเลย ขนาดนั่งเรือไปสั่งยังไม่ทำตาม พระยามหินทรฯนี่ดื้อจริงๆ


เรียนท่านอาจารย์เภ็ณย์ฯ ตอนงานวิชาการนั้นผมปลอมตัวเป็นพนักงานทำความสะอาดครับ  ตอนนั้นเกือบได้รักแท้แล้วแต่นางเอกเบ่งเหลือเกินเลยไม่เอาต้องหาต่อไป  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 15:59

เรียนท่านอาจารย์เภ็ณย์ฯ ตอนงานวิชาการนั้นผมปลอมตัวเป็นพนักงานทำความสะอาดครับ  ตอนนั้นเกือบได้รักแท้แล้วแต่นางเอกเบ่งเหลือเกินเลยไม่เอาต้องหาต่อไป  ยิงฟันยิ้ม

คุณชายรุศฑ์ษมาศร์ต้องไปแก้ตัวกับท่านอาจารย์เฒาว์เอาเอง

อิ๊อิ๊   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 16:33

    เทียบกำลังคชสารกันแล้ว เจ้าพระยามหินทร์ฯแผ่วกว่าด้านสมเด็จเจ้าพระยาฯหลายช่วงตัว สกุลบุนนากมีบทบาทในแผ่นดินมาตั้งแต่รัชกาลที่2 เข้มมากขึ้นในรัชกาลที่ 3 สนับสนุนให็'วชิรญาณเถร' ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4  รับดูแลแผ่นดินให้ตอนต้นรัชกาลที่ 5
    การที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงกล้า 'เปิด' กับบิ๊กแผ่นดินเช่นท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ แปลว่าท่านมั่นใจว่าท่านก็มี 'ดี' พอตัว
    และเวลานั้นเป็นช่วงต้นรัชกาล ในหลวงมีพระชนมายุ 20 กว่าๆ แขนขาที่พระองค์เริ่มสร้างขึ้นมาเองก็ยังไม่แข็งแรงพอ จำเป็นต้องประนีประนอมน้ำใจขุนนางใหญ่ไว้
    หากนายทิมไม่มีมือที่เห็นรางๆอยู่เบื้องหลัง(แต่ก็จำได้ว่ามือใคร) ก็คงไม่มีโอกาสได้เป็นคุณหลวงในกาลต่อมา
    เรื่อง 'ดี' ของเจ้าคุณมหินทร์ขอรอฟังจากอาจารย์ครับ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 21:29

เรียนท่านอาจารย์เภ็ณย์ฯ ตอนงานวิชาการนั้นผมปลอมตัวเป็นพนักงานทำความสะอาดครับ  ตอนนั้นเกือบได้รักแท้แล้วแต่นางเอกเบ่งเหลือเกินเลยไม่เอาต้องหาต่อไป  ยิงฟันยิ้ม

คุณชายรุศฑ์ษมาศร์ต้องไปแก้ตัวกับท่านอาจารย์เฒาว์เอาเอง

อิ๊อิ๊   ยิงฟันยิ้ม

ว้ายยยยยยย แก้ตัวผิดคนจริงๆ ด้วย หน้าแตก  ขยิบตา  ขยิบตา  ขยิบตา
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 26 พ.ค. 13, 00:16

ตอนผมอ่านเรื่องนี้ ผมข้องใจอยู่สองประการครับ

ประการแรก หนังสือเรื่องนี้ว่ากันว่าฉบับเต็มถูกทำลายหมด ฉบับพิมพ์ใหม่ตัดเนื้อหาไปถึงสองในสาม พิจารณาจากเรื่องที่ถูกฟ้อง 6 ข้อ ผมก็ยังแปลกใจอยู่ เพราะผมว่าฉบับที่ว่าถูกเซ็นเซอร์แล้ว ก็ยังมีข้อความตามเรื่องฟ้องอยู่ครบทุกข้อเลย ทั้งเมื่อพิจารณาจากบทกลอน จำได้ว่ามีสัมผัสระหว่างบทขาดไปเพียงบทเดียว หมายความว่าผู้ที่เซ็นเซอร์ต้องแก้ไขให้มีสัมผ้สครบถ้วนถูกต้อง และยังต้องมีเนื้อหาที่กลมกลืนไม่กระโดดอีกด้วย หากไม่ใช่ว่าผู้ชำระท่านทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม ผมยังสงสัยว่ามีการเซ็นเซอร์ตัดทอนไปถึงหนึ่งในสามจริงๆ หรือครับ ฉบับเต็มในตำนานมีอยู่จริงหรือเปล่ากันแน่

ข้อกล่าวหาหรือข้อฟ้องของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  สรุปได้ 6 ข้อดังนี้

1.        เอาพระนามพระเจ้าแผ่นดินดัดแปลงลงประกอบในนิราศ
2.        ติเตียนผู้บังคับกองทัพว่าไม่รู้ฤดูกาลที่ควรหรือไม่ควร
3.        มีข้อความกระทบกระเทียบแรงนัก
4.        เปรียบเทียบยกย่องข้างหนึ่ง (ชมเจ้าพระยามหินทรฯ) ติข้างหนึ่ง (ติเตียน สมเด็จเจ้าพระยาฯ)
5.        ผู้ขึ้นไปตักเตือน(หมายถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ) ขาดเมตตาจิตไม่มีความกรุณาต่อไพร่พลทั้งปวง
6.        ใช้ถ้อยคำหยาบคายมากในตอนจบ

ประการที่สอง ผมสงสัยว่านายทิมโดนลงโทษ แต่ท่านเจ้าพระยามหินทร์ฯ ลอยตัวไม่มีความผิดใดๆ ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้พิมพ์ ถ้าเป็นสมัยนี้ต้องเป็นจำเลยร่วมแน่นอน โทษของนายทิมเองก็ถูกยกเมื่อรับโทษได้ไม่นาน น่าสงสัยว่านี่เป็นเรื่องขัดแย้งกันระหว่างท่านสมเด็จเจ้าพระยากับเจ้าพระยามหินทร์ฯ จริงๆ หรือครับ?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 26 พ.ค. 13, 14:36

คำถามของคุณม้า ข้อ ๑  ก็เป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ฉบับที่เราได้อ่านกันอยู่นี้เป็นฉบับที่ดึงเอาเนื้อความกลับมาเกือบจะครบหรือเปล่า   ถ้าหากว่าขาดหายไปก็ต้องเป็นตอนที่นายทิมสวดชยันโตไว้โดยเฉพาะ ไม่ปะปนกันเนื้อเรื่อง    ส่วนการตัดตอนให้สัมผัสระหว่างบทเชื่อมกันได้  น่าจะเป็นฝีมือผู้เชี่ยวชาญ  ถ้าไม่สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็อาจจะสมัยน.อ.สมภพ ภิรมย์ทำงานอยู่ในกรมศิลปากร
ทั้ง ๖ ข้อที่ว่า ดิฉันหาได้ ๕ ข้อ ข้อที่ ๑ ยังนึกไม่ออกว่าตอนไหนที่เป็นความเสียหายร้ายแรง

ข้อ ๒  ถ้าไม่ใช่ จะเป็นข้อขัดแย้งระหว่างใครล่ะคะ?  ไม่เข้าใจ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 26 พ.ค. 13, 14:38

    เทียบกำลังคชสารกันแล้ว เจ้าพระยามหินทร์ฯแผ่วกว่าด้านสมเด็จเจ้าพระยาฯหลายช่วงตัว สกุลบุนนากมีบทบาทในแผ่นดินมาตั้งแต่รัชกาลที่2 เข้มมากขึ้นในรัชกาลที่ 3 สนับสนุนให้'วชิรญาณเถร' ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4  รับดูแลแผ่นดินให้ตอนต้นรัชกาลที่ 5
    การที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงกล้า 'เปิด' กับบิ๊กแผ่นดินเช่นท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ แปลว่าท่านมั่นใจว่าท่านก็มี 'ดี' พอตัว

    เชิญคุณ Jalito มาอ่านพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5  พระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ   ถึงเคยอ่านแล้วก็ขอให้อ่านอีกครั้ง  จะมองเห็นความรู้สึกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ที่มีต่อขุนนางสำคัญในยุคนั้น

----------------------------------

ที่ ๒/๖๑๓๔                                                พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
                                       วันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒

ถึง  ลูกชายใหญ่  เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ
----------------------------------------------
     ในเวลานั้น  อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน  ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน       ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา  และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก  ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก  ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด
     ...............................................
     ๔.  ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่  ซึ่งรู้อยู่ว่ามีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิม    (พ่อ) ก็ได้แสดงความเชื่อถือรักใคร่ยิ่งกว่าแต่ก่อน  จนมีความหวังใจว่าถ้ากระไร   คงจะได้ดีสักมื้อหนึ่ง  หรือถ้ากระไร  ก็จะเป็นอันตรายสักมื้อหนึ่ง
     ๕.  ผู้ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูปองร้าย  ก็มิได้ตั้งเวรตอบ  คือเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง  ย่อมเคารพนับถือและระมัดระวังมิให้เป็นเหตุว่าคิดจะประทุษร้ายตอบ    หรือโอนอ่อนยอมไปทุกอย่าง  จนไม่รู้ว่าผิดว่าชอบ   เพราะเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นศัตรู

     เจ้าพระยามหินทรฯ อยู่ในข้อ ๔    เพราะท่านจงรักภักดีต่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯ    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงผูกมิตรไว้แน่นแฟ้น      ส่วนข้อ ๕  ใครอยู่ในฐานะเป็น"ไม้ซุง" ในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวเป็น "ไม้ซีก" คงไม่ต้องอธิบายเพิ่ม   
     หลังจากบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒   ความตึงเครียดอย่างในต้นรัชกาลคงจะคลายลง   เพราะอำนาจคืนกลับมาสู่พระเจ้าอยู่หัวแล้ว    เมื่อเกิดกรณีนิราศหนองคาย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ยังยึดนโยบายเดิมคือผ่อนปรนประนีประนอม  รักษาน้ำใจทุกฝ่ายไว้   แต่น่าสังเกตว่า แม้พระองค์ท่านสั่งลงโทษนายทิม และเอาหนังสือไปทำลายทั้งหมด  แสดงว่าทรงเห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดเต็มๆ    แต่เมื่อนายทิมยืนกรานว่าทำคนเดียว   ลูกขุนก็ทำท่าว่าเชื่อตามคำให้การเพราะไม่มีหลักฐานอื่น    พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุโลมตามนั้น    เจ้าพระยามหินทรฯเลยลอยนวล     แสดงได้อย่างหนึ่งว่าบัดนี้พระราชอำนาจนั้นแข็งกล้าพอที่จะคานความประสงค์ลึกๆ ของสมเด็จเจ้าพระยาฯได้แล้ว     
    ส่วนพวกเราคนรุ่นหลัง   ก็คงอ่านจากตามพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  รู้ว่า พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมฯดำรง ตลอดจนขุนนางทั้งบ้านทั้งเมืองเขาก็คิดกันทั้งนั้นว่านายทิมไม่ใช่ตัวการ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 26 พ.ค. 13, 20:24

    มาเล่าต่อถึงชีวิตนายทิม หลังออกจากคุก

    นายทิมซึ่งบัดนี้เป็นขุนจบพลรักษ์ ประจำกรมพระสุรัสวดีที่เจ้าพระยามหินทรฯว่าการอยู่   ไม่ได้แต่งนิราศอีกเลย  แต่ไปแต่งบทละครให้โรงละครเจ้าพระยามหินทรฯ ตามที่รวบรวมรายชื่อไว้ต้นกระทู้  สามารถย้อนไปอ่านได้ค่ะ

    สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเอ่ยถึงสำนวนการแต่งของนายทิมว่า
     " สังเกตดูจากสำนวนหนังสือที่หลวงพัฒนพงษ์แต่ง      ดูถือความกตัญญูเป็นธรรมวิถีสำคัญกว่าอย่างอื่น     เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามเรื่องราวในประวัติก็เห็นประพฤติธรรมะข้อนั้นมั่นคงต่อเจ้าพระยามหินทรฯ    ฝ่ายเจ้าพระยามหินทรฯก็ได้สนองคุณตอบแทน     แม้ที่สุดเมื่อป่วยอาการมาก    จวนจะถึงอสัญกรรม   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเยี่ยม   ก็ได้กราบบังคมทูล ฝากขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่งแก่หลวงพัฒนพงษ์ฯโดยเฉพาะ"
   
    ถ้อยคำบางคำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงใช้  มีนัยยะให้เห็นถึงความผูกพันห่วงใยที่เจ้าพระยามหินทรฯ มีต่อนายทิมเป็นพิเศษกว่านายกับบ่าวทั่วไป    ราวกับว่านายทิมกระทำความกตัญญูเป็นพิเศษจนเจ้าพระยามหินทรฯ ห่วงใย   ขนาดใกล้จะสิ้นลมแล้วก็ยังไม่วายเป็นห่วงนายทิม   ถึงกับฝากฝังไว้ใต้พระบารมี      ปกติคนที่จะทำเช่นนี้ได้ก็มักจะเป็นพ่อฝากฝังลูก    ไม่เห็นที่ไหนที่นายฝากฝังบ่าวกับเจ้าเหนือหัว 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 26 พ.ค. 13, 20:45

   เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านมีธิดาชื่อมรกฏซึ่งท่านได้ถวายเป็นฝ่ายใน   มีพระองค์เจ้าพระองค์แรกเมื่อพ.ศ. 2415 ทรงพระนามว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี   ตอนที่ยกทัพไปหนองคาย  พระองค์เจ้าจุฑารัตนฯเพิ่งมีพระชันษาได้ 3 ขวบ    ต่อมาเจ้าจอมมารดามรกฏมีพระองค์เจ้าอีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ประสูติเมื่อพ.ศ. 2325    ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงเป็นต้นราชสกุล "เพ็ญพัฒน์"   ถ้าคนรุ่นหลังจำพระนามไม่ได้   ก็อาจจะจำพระนิพนธ์ "ลาวดวงเดือน" ที่ทรงแต่งได้ว่าไพเราะขนาดไหน

   เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯถึงแก่อนิจกรรม   นายทิมก็ลาออกจากกรมสุรัสวดี   มาสมัครเป็นข้าในพระองค์ของเจ้านายทั้งสองพระองค์   ทำหน้าที่เก็บผลประโยชน์ถวายตลอดมา    จนพ.ศ. 2439  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความกตัญญู และทรงระลึกถึงเรื่องที่เจ้าพระยามหินทรฯเคยฝากฝังไว้  จึงพระราชทานเลื่อนขั้นขึ้นเป็น "หลวงพัฒนพงษ์ภักดี"  สังกัดกรมพระคลังข้างที่  เมื่อนายทิมอายุได้ 49 ปี

   หลังจากกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์  หลวงพัฒนพงษ์ฯก็เลิกแต่งหนังสือ  ทำหน้าที่เก็บผลประโยชน์ถวายเจ้านายอย่างเดียว   ระหว่างนั้นก็เอาใจใส่กวดขันบุตรชาย 2 คนให้เอาใจใส่เล่าเรียนหนังสือเพื่อจะรับราชการต่อไป     นับว่าความหวังของหลวงพัฒนพงษ์ฯก็สัมฤทธิ์ผล   บุตรชายทั้งสองได้ดีในราชการทั้งคู่ คนโตคือมหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ ) และคนเล็กคือพระสาโรชรัตนนิมมานก์( สาโรช  สุขยางค์)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 27 พ.ค. 13, 09:54

    หลวงพัฒนพงษ์ภักดีมีอายุยืนยาวมาจนถึงรัชกาลที่ 6   ถึงพ.ศ. 2458  ก็ป่วยเป็นโรคลม อันเกิดจากหัวใจพิการ   แก้ฟื้นขึ้นมาได้หนหนึ่ง   จากนั้นก็เป็นอีก คราวนี้แก้ไขไม่ทัน   บุตรชายคนโตขณะนั้นเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์จากอังกฤษและอเมริกาแล้ว กลับมารับราชการเป็นเจ้ากรมทางอยู่ในกระทรวงคมนาคม     ส่วนบุตรชายคนเล็กยังเรียนอยู่ต่างประเทศ
    หลวงพัฒนพงษ์ภักดีถึงแก่กรรมเมื่อ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2458  อายุ 68 ปีย่าง 69   

บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 29 พ.ค. 13, 20:11

     

      
   ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2400 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นราชทูต และเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี เป็นอุปทูต นำพระราชสานส์ และคุมเครื่องบรรณาการ ออกไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศอังกฤษ ภายหลังจากเสร็จกิจ ในฐานะอุปทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก

   ด้วยความเคารพครับ  น่าจะคลาดเคลื่อน

   ราชทูตที่เป็นหัวหน้าคณะทูตสยามไปราชสำนักอังกฤษ พ.ศ. 2400 คือคุณชุ่ม บุนนาค-พระยามนตรีสุริยวงศ์ น้องชายคุณช่วง  และมีนิราศลอนดอนเกิดขึ้นคราวนั้นโดยหม่อมราโชทัยล่ามประจำคณะ ขยิบตา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 30 พ.ค. 13, 16:37

ขอบคุณค่ะ    ที่จริงเรื่องพระยามนตรีสุริยวงศ์ไปเป็นราชทูต  ก็มีอยู่ในกระทู้เก่า   ไม่น่าเลย

กลับมาเรื่องข้อสงสัยที่พูดแต่แรก   ว่าสาเหตุเรื่องกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯไม่ยอมเคลื่อนพ้นหาดพระยาทศ   เกิดจากอะไร
ดิฉันสันนิษฐานตามคำบอกเล่าของนายทิม  ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องมาโกหก   ว่าเพราะดงพระยาไฟมีไข้ป่าชุกชม เป็นที่น่าหวั่นวิตกจริง     เพราะพอพ้นหน้าฝนเจ้าพระยามหินทรฯท่านก็พาทัพไปจริงๆอย่างที่กราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาไว้     
ถ้าถามว่าทำไมเจ้าพระยามหินทรฯกังวลเรื่องไข้ป่า    เราคงจำได้ว่าเมื่อครั้งเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ    ก็ไข้ป่านี่ไม่ใช่หรือที่เล่นงานผู้คนจากเมืองหลวงที่ไปตั้งค่ายอยู่ตรงนั้นเสียงอมพระรามไปตามๆกัน    ที่สำคัญที่สุดและเป็นเรื่องที่น่าจะสั่นสะเทือนใจเจ้าพระยามหินทรฯมากที่สุด คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคตด้วยไข้ป่านี้เช่นกัน   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ประชวรหนักแทบจะไม่รอด   ยังดีที่พระชนม์ยังน้อยและแข็งแรง จึงทรงฟื้นพระองค์ขึ้นมาได้ในที่สุด

ดังนั้น ถ้ายกทัพผ่านดงพระยาไฟในหน้าฝน ชะตากรรมเดียวกันก็คงเกิดแก่ทัพไทย    ไข้ป่ามันไม่เลือกหรอกว่านายหรือบ่าว    เจ้าพระยามหินทรฯจึงให้รั้งรออยู่นอกเขตอันตรายเสียก่อน    พอเห็นว่าฤดูกาลเปลี่ยน ไข้คงเบาบางลง ถึงยกทัพผ่านไป
เรื่องยกทัพหน้าฝนนี่   นายทิมถึงได้สาปแช่งพวกฮ่อเสียพอแรงที่ต้องเดินทัพหน้าฝน 
ฤดูฝนความไข้มิได้หยอก      ผู้ใหญ่บอกเศร้าจิตคิดสยอง
ที่ในดงลึกล้ำล้วนน้ำนอง      จะยกกองทัพไปกลัวไข้ดง
ซึ่งปู่ย่าตาลุงครั้งกรุงเก่า      ฟังเขาเล่าจำไว้ไม่ใหลหลง
ฤดูฝนเป็นไม่ไปณรงค์              ทำการสงครามแต่ก่อนบ่ห่อนเป็น
แต่เมื่อใดฝนแล้งแห้งสนิท      จึงจะคิดยกทัพไปดับเข็ญ
คิดขึ้นมาน้ำตาตกกระเด็น      ไม่วางเว้นกลัวตายเสียดายตน
โอ้กรรมเราเกิดมาเวลานี้      พอไพรีมาสู่ฤดูฝน
นึกแค้นอ้ายพวกฮ่อทรชน      จะฆ่าคนเสียด้วยไข้ใช้ปัญญา ฯ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 30 พ.ค. 13, 19:00

เรื่องไข้ป่า นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนใจพระยามหินทรฯ แล้ว ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่คนกรุงยุคนั้นสมควรเกรงกลัวจริงๆ ครับ

มีงานวิจัยระบุว่าคนไทยถึง 40% เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย เฉพาะที่เป็นโรคนี้ก็มีถึง 1% เรียกว่าในคนไทย 60 ล้านคนนี้เป็นโรคนี้ถึง 600,000 คน และเป็นพาหะมากถึง 24 ล้านคน ความที่โรคนี้มีสาเหตุจากพันธุกรรม ก็ต้องถือว่าแปลกที่โรคนี้แพร่หลายมากมายถึงขนาดนี้ สาเหตุก็คือว่า ผู้ที่มีพันธุกรรมธาลัสซีเมียนี้ทนต่อไข้ป่าได้ดีกว่าคนปกติครับ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าไข้ป่านั้นระบาดมากเพียงใดในประเทศไทย ผมยังสงสัยว่าในอดีตที่บ้านเมืองยังเป็นป่ามากกว่านี้ ยังน่าจะมีคนเป็นพาหะมากกว่า 40% ด้วยซ้ำไป

ที่ผมตั้งข้อสังเกตอย่างนี้เพราะคนเป็นพาหะธาลัสซีเมียในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมีสัดส่วนไม่เท่ากัน ในถาคเหนือภาคอีสานถือว่าชุกชุมมาก ภาคกลางเบาบาง ยิ่งในกรุงยิ่งมีน้อย ผมขอเดาอย่างมั่นใจว่าประชากรแถบดงพญาไฟที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นดงไข้ป่าในสมัย ร.5 ต้องมีคนเป็นพาหะธาลัสซีเมียเป็นเปอร์เซ็นต์สูงมากแน่ๆ เพราะพวกที่ไม่ใช่พาหะมีโอกาสตายจากไข้ป่าสูงมาก (เสียโอกาสในการสืบทอดพันธุกรรม) ในขณะที่คนกรุงในเวลานั้น ถึงแม้ว่าน่าจะมีพาหะฯ น้อยกว่ากว่าปัจจุบัน แต่คนพวกนี้ถ้าต้องเข้าไปในพื้นที่ดงพญาไฟ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากทีเดียวครับ เพราะทนโรคได้น้อยกว่าคนในพื้นที่ ยิ่งระยะทางในดงพญาเย็น จำเป็นต้องค้างแรมกลางป่า ท่านเจ้าพระยามหินทรฯ เกรงไข้ป่าก็ถือเป็นความกังวลที่ไม่ได้เกินเลยไปเลยครับ

แต่จะว่าเส้นทางปราบฮ่อไม่ได้มีทางเดียวน่าจะหลบเลี่ยงได้ ข้อนี้จริง แต่มีข้อจำกัดอยู่ครับ

ทัพฮ่อตั้งแยู่แถบเชียงขวาง สามารถไปทางหลวงพระบาง แล้วข้ามมายังภาคเหนือ และยังสามารถลงมาเวียงจันแล้วข้ามมาภาคอีสานได้ ทัพเจ้าพระยาภูธราภัยยกขึ้นไปทางอุตรดิตถ์ เข้าน่าน แล้วเข้าไปหลวงพระบาง นอกจากรุกแล้ว ยังป้องกันพวกฮ่อรุกเข้ามาทางเหนือได้ ในขณะที่ภารกิจของทัพเจ้าพระยามหินทรฯ คือมุ่งหน้าไปยังทัพฮ่อ โดยป้องกันเส้นทางอีสานไว้ด้วย มีความจำเป็นที่สมควรจะเดินทัพทั้งสองเส้นทางครับ และหลบเลี่ยงดงพญาไฟได้ยากครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 30 พ.ค. 13, 22:49

ได้ลองจินตนาการเป็นMV ท่านแม่ทัพมหินทรฯสั่งลุยฝ่าดงพระยาไฟเข้าไปเพื่อจะได้เผด็จศึกทัพฮ่อไวๆ  แล้วจู่ๆมีภาพแบบประตูน้ำบางโฉมศรีแตก แต่เป็นบางโฉมศรีที่ลาดชันเหนือไพร่พลของท่านเจ้าคุณมหินทรฯสัก 10 องศา  ทหารไทยคงกระจัดกระจายไปทั่วดงตามเก็บกันไม่ไหว  ผู้บัญชาการทัพที่ไหนก็ไม่ต้องการสูญเสียแบบตื้นๆนี้แน่ๆ  เป็นไข้ป่ายังพอมีเวลาพูดจาสั่งเสีย  แต่หายนะจากน้ำป่านั้นพริบตาเดียว เช่นที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นที่วังตะไคร้เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 19 คำสั่ง