เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 24386 นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 17:42

พอจะมองเห็นได้รางๆว่าขนาดไหน  จากประกาศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่างด้วยพระองค์เอง และส่งไปพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ 5 นำเบอร์ 161 วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 12 ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก 1240 แผ่นที่ 21 ตอน
ที่ 1ดังนี้

ประกาศ***

*เรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศฯ***

ด้วยพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี คิดหนังสือนิราศว่าด้วยกองทัพ ซึ่งจะยกขึ้นไป ณ เมืองหนองคาย เพื่อจะป้องกันรักษาพระราชอาณาเขต ตามราชประเพณีมาแต่ก่อน อ้ายทิมบังอาจแต่งหนังสือ ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  ตัดทอนแทรกเปลี่ยนถ้อยคำเจือลงในกลอน แลกล่าวความกระทบกระเทือนถึงท่านผู้บัญชาราชการแผ่นดิน   แลผู้อื่นๆ โดยถ้อยคำหยาบคาย ยกย่องเหตุซึ่งได้ขัดขวางราชการแผ่นดินขึ้นเชิดชูไปต่าง ๆ จึงทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยท่านเสนาบดีว่า ราชประเพณีแต่ก่อนมีการทัพศึกมาเวลาใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีก็ปรึกษาพร้อมกันจัดกองทัพไปรับรองป้องกันพระราชอาณาเขต หามีผู้ใดขัดขวางแลติเตียนเหลือเกินดังนี้ได้ไม่ ถ้ามีผู้ใดพูดจาดังนี้ในเวลามีการทัพ ก็จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิตตามพระราชกำหนดกฏหมาย
บัดนี้ อ้ายทิมมาทำหนังสือว่ากล่าวเหลือเกิน เท็จบ้าง จริงบ้าง เป็นการหมิ่นประมาทต่อราชการแลท่านผู้บัญชาการจะเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า เมื่อมีราชการทัพศึก ก็จะบังคับบัญชาได้โดยยาก จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายทิม 50  ที ส่งตัวไปจำไว้ ณ คุก อย่างให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง และหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน เป็นที่หมิ่นประมาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีผู้ซึ่งมีกตัญญูต่อแผ่นดิน แลยำเกรงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลท่านเสนาบดีซึ่งช่วยรักษาแผ่นดินอยู่ ก็หาควรจะอ่าน จะเก็บหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเป็นที่ขัดขวางต่อราชการแผ่นดินแลเป็นที่หม่นหมองต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดี ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขาย
ไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ไปซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลาย
เสียอย่างให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป
ประกาศมา ณ วันอังคาร เดือน 9 แรม 7 ค่ำ ปีขาล
สัมฤทธิศก ศักราช 1240 เป็นวันที่  3570 ในรัชกาลปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 17:44

ข้อกล่าวหาหรือข้อฟ้องของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  สรุปได้ 6 ข้อดังนี้

1.        เอาพระนามพระเจ้าแผ่นดินดัดแปลงลงประกอบในนิราศ
2.        ติเตียนผู้บังคับกองทัพว่าไม่รู้ฤดูกาลที่ควรหรือไม่ควร
3.        มีข้อความกระทบกระเทียบแรงนัก
4.        เปรียบเทียบยกย่องข้างหนึ่ง (ชมเจ้าพระยามหินทรฯ) ติข้างหนึ่ง (ติเตียน สมเด็จเจ้าพระยาฯ)
5.        ผู้ขึ้นไปตักเตือน(หมายถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ) ขาดเมตตาจิตไม่มีความกรุณาต่อไพร่พลทั้งปวง
6.        ใช้ถ้อยคำหยาบคายมากในตอนจบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 18:50

2.        ติเตียนผู้บังคับกองทัพว่าไม่รู้ฤดูกาลที่ควรหรือไม่ควร

ดูฝนความไข้มิได้หยอก      ผู้ใหญ่บอกเศร้าจิตคิดสยอง
ที่ในดงลึกล้ำล้วนน้ำนอง      จะยกกองทัพไปกลัวไข้ดง
ซึ่งปู่ย่าตาลุงครั้งกรุงเก่า      ฟังเขาเล่าจำไว้ไม่ใหลหลง
ฤดูฝนเป็นไม่ไปณรงค์              ทำการสงครามแต่ก่อนบ่ห่อนเป็น
แต่เมื่อใดฝนแล้งแห้งสนิท      จึงจะคิดยกทัพไปดับเข็ญ
คิดขึ้นมาน้ำตาตกกระเด็น      ไม่วางเว้นกลัวตายเสียดายตน

ข้อความข้างบนนี้มาจาก ตอนต้นๆเรื่อง นายทิมซัดสมเด็จเจ้าพระยาเต็มๆ ว่าใช้คนไปทำสงครามในหน้าฝน  โดยอ้างว่าผู้เฒ่าผู้แก่เขาเตือนกันไว้ว่าอย่าทำ   จะยกทัพต้องยกไปทำศึกในหน้าแล้ง

อันที่จริงความคิดของนายทิมไม่ถูกต้อง  เพราะทัพไทยไม่ได้เป็นฝ่ายรุก  ซึ่งทำให้เลือกฤดูกาลได้   แต่เป็นฝ่ายรับ  เพราะฮ่อยกทัพมาก่อน   ถ้าไทยมัวแต่รอจนถึงฤดูแล้ง   ก็ย่อมไม่ทันการ      ไม่มีใครเขาทำกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 19:11

6.        ใช้ถ้อยคำหยาบคายมากในตอนจบ

ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ              บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา      ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน
ที่เหล่าพวกหูป่าตากะสือ              ฟังเขาลือเชื่อใจมิได้เขิน
พูดเสริมส่งเลยล้นไปจนเกิน              อย่าด่วนเพลินเผลอพร่ำพูดลำพัง
คอยผูกใจผูกจิตคอยอิจฉา              แอบนินทากองทัพอยู่ลับหลัง
ถ้าใครอยากรู้สิ่งที่จริงจัง              จงวานฟังข้อคำที่รำพัน

ทำอย่างนั้นผิดอย่างนี้ที่ตรงไหน      ตัดสินให้เที่ยงแท้อย่าแปรผัน
ช่วยตรึกตรองตั้งใจให้เป็นธรรม์      อย่าชวนกันนินทามุสาตาม
จงไล่เลียงสืบสวนให้ถ้วนถี่              ก็ย่อมมีผู้คนไปล้นหลาม
อย่ากล่าวโทษโฉดเขลาว่าเบาความ      พูดซุ่มซ่ามโดยเดาเปล่าเปล่าเอย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 19:36

คำกราบบังคมทูลฟ้องขุนพิพิธภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้แต่งนิราศหนองคาย เขียนโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕

ท่านเขียนไว้ดังนี้

แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จางวางเสือ ทำหนังสือทิ้งว่าหม่อมไกรสร ท่านก็เอาโทษ  หมื่นไวย์เพ็ง นอกราชการ นายเถื่อนคางแพะ พูดจาติเตียนแม่ทัพนายกอง ท่านก็เอาโทษถึงตายทั้งนั้น และผู้ทำนิราศแต่ก่อนมา พระยายมราชกุน หม่อมพิมเสน ครั้งกรุงเก่า หลวงสุนทรภู่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทำไว้หลายเรื่อง หาได้กระทบกระเทือนถึงการแผ่นดินไม่ ผู้ทำนิราศฉบับนี้ว่าความก้าวร้าวมาก ด้วยการจะบังคับบัญชารักษาแผ่นดินต่อไป จะเป็นที่ชอบช้ำด้วยถ้อยคำของคนที่กล่าวเหลือ ๆ เกิน ๆ

สมเด็จเจ้าพระยา ฯ มีจดหมายกราบบังคมทูล ความผิดในนิราศหนองคาย  แต่จดหมายฉบับนี้สูญ

ที่เขียน ๆ กันมา
ท่านลงรายการละเอียดค่ะ ว่าหน้าไหน บรรทัดอะไร
เท่าที่พยายามนับดูทีละหน้า  เห็นว่ามีแค่ ๖ หน้าที่ท่านไม่พอใจ

เมื่อชำระหนังสือเล่มนี้  ความถูกตัดออกถึงหนึ่งในสาม
ความที่หายไปนี้ น่าจะสำคัญมาก  ถึงสมเด็จเจ้าพระยาเขียนว่า หยาบคายเรี่ยวแรงนัก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 19:56

      ทัพเจ้าพระยามหินทรเดินทางไปถึงโคราช จากนั้นไปพิมาย  ก็ได้รับสารตราว่าให้กลับกรุงเทพได้  โดยแบ่งกำลังส่วนหนึ่งไปสมทบกับพระยามหาอำมาตย์ที่หนองคาย      นายทิมอยู่ในส่วนที่เดินทางกลับกรุงเทพพร้อมเจ้าพระยามหินทรฯ   ไปกลับรวมเวลาแล้ว 7 เดือนเต็ม     โดยไม่ได้ไปรบกับฮ่อ หรือข้าศึกที่ไหนเลยสักแปะเดียว

      จากข้อเท็จจริงที่บันทึกไว้ในนิราศหนองคาย  ไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง  จะเห็นได้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านพยายาม"แซะ" เจ้าพระยามหินทรฯ หลายต่อหลายครั้งให้ขยับเขยื้อนจากท่าพระยาทศ เพื่อเดินทางต่อไปให้ได้    แต่ก็ไม่ได้ผล   ลองเจ้าพระยามหินทรฯท่านปักใจว่าท่านจะไม่เดินทัพหน้าฝนเป็นอันขาด  ท่านก็ดื้อแพ่งของท่านจนสำเร็จ    
      ส่วนทัพเจ้าพระยาภูธราภัยและพระยามหาอำมาตย์ก็ทำสำเร็จเหมือนกัน  แต่คนละอย่างกับท่านเจ้าคุณมหินทรฯ  คือไปรบกับฮ่อจนสำเร็จกลับมา    
    
      เมื่อผลเป็นอย่างนี้  ก็ย่อมเกิดข้อเปรียบเทียบกันขึ้นมาให้เห็นในความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ทางกรุงเทพ       คนที่เป็นหลักอยู่ในขณะนั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และรองลงมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์       ถ้าหากว่าคนที่ดื้อรั้นต่อต้านอาญาทัพคือขุนนางอื่น ก็ไม่พ้นถูกประหาร     แต่ในเมื่อผู้ทำคือ "ลูกบุญธรรม" ของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  จึงไม่มีใครแตะ
     เจ้าพระยามหินทรฯ จึงได้กลับมาอยู่บ้านโดยสวัสดิภาพ   มิได้ถูกสอบสวนพิจารณาโทษแต่อย่างใด      แต่แน่ละว่าเรื่องพรรค์นี้ย่อมห้ามปากคนไม่ได้     เสียงซุบซิบนินทาก็คงกระฉ่อนอยู่ในหมู่ผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นธรรมดา     ถ้าไม่มีใครเอ่ยเสียเลยนี่ซิ  ถึงจะนับว่าแปลก  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 20:07

   การจะไปเสาะหาว่านายทิมด่ากระทบกระเทียบเปรียบเปรยสมเด็จเจ้าพระยาฯอย่างใด  ก็คงได้ความมันในอารมณ์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้อะไรมากกว่านั้น      เพราะถึงไม่รู้     เราก็พอจะสนุกกับการพิจารณาจากบริบทกันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง  นิราศหนองคายจึงกลายเป็นหนังสือต้องห้าม    
   ความจริงแล้ว เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯกลับมาถึงกรุงเทพ   ไม่ได้ความดีความชอบแต่ก็ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ   ย่อมถือว่าบารมีของท่านแน่นปึ้ก  เพราะในอดีต แม่ทัพนายกองที่ทำผิดน้อยกว่านี้ยังหัวขาดกันมาแล้ว     ลองคิดดูว่าทัพที่ไปหยุดกึกอยู่กลางทางด้วยเหตุผลอ่อนยวบยาบว่ากลัวไข้ป่ากับน้ำหลาก   ทำให้เปลืองหลายอย่าง  เปลืองเวลา  เปลืองกำลังรี้พลโดยเปล่าประโยชน์    เปลืองเงินทองค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์อีกนั่นแหละ     และที่สำคัญคือยุทธวิธีการรบที่เตรียมแผนเอาไว้จากกรุงเทพ เจ๊งหมด    เพราะทัพ 2 ทัพที่เตรียมไว้คือทัพเจ้าพระยาภูธราภัยและทัพเจ้าพระยามหินทรฯ หายไปเสียทัพหนึ่งเท่ากับกำลังพลหายไป 50%       ถ้าหากว่าพระยามหาอำมาตย์ไม่ได้คุมพลไปสักเลกแถวอีสานในตอนนั้น     ฮ่อซึ่งยึดหนองคายได้เรียบร้อยแล้วก็คงเดินทัพต่อมาถึงเมืองอื่นๆ  กลายเป็นทัพใหญ่ยากแก่การปราบปราม
   สิ่งทั้งหมดนี้สำคัญกว่าไข้ป่าไม่รู้ว่ากี่เท่า    นายทิมไม่เอ่ยเลยสักแอะเดียว

   เรื่องควรจะจบแบบเจ๊ากันไป เมื่อไม่มีใครเอาเรื่องเจ้าพระยามหินทรฯ      แต่ไม่จบเพราะท่านเองไม่ยอมจบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 20:34

  สิ่งที่เจ้าพระยามหินทรฯ ยังค้างคาใจอยู่ มองเห็นได้จากกลอนของนายทิมซึ่งเปรียบได้กับกระบอกเสียงจากใจของนาย
  ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ              บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา           ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน
ที่เหล่าพวกหูป่าตากะสือ                  ฟังเขาลือเชื่อใจมิได้เขิน
พูดเสริมส่งเลยล้นไปจนเกิน               อย่าด่วนเพลินเผลอพร่ำพูดลำพัง
คอยผูกใจผูกจิตคอยอิจฉา                แอบนินทากองทัพอยู่ลับหลัง
ถ้าใครอยากรู้สิ่งที่จริงจัง                   จงวานฟังข้อคำที่รำพัน
  
   เรื่องนี้แสดงว่าเมื่อกลับมา มีคนกล่าวติฉินนินทาเจ้าพระยามหินทรฯ  เราก็คงเดาได้ว่าคนที่กล้าทำเห็นจะมีผู้นำอยู่คนเดียวคือสมเด็จเจ้าพระยาฯ    แต่ท่านคงไม่ได้แถลงเป็นทางการ ไม่งั้นคงมีหลักฐานเป็นเอกสารให้เห็น   แต่ก็คงพูด     เจ้าพระยามหินทรฯฝ่าฝืนอาญาทัพไม่รู้กี่หนแบบนี้จะให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านเก็บปากคำไว้ทำไม    เรื่องอะไรท่านจะต้องเกรงใจ    แค่ท่านไม่ลงโทษก็ถือว่าให้อภิสิทธิ์มากพอแล้ว
   การกระทำของเจ้าพระยามหินทรฯ ย่อมเป็นหนามยอกอกสมเด็จเจ้าพระยาฯ   เพราะกล้าลูบคมอย่างเปิดเผย  ต่อไปสมเด็จเจ้าพระยาฯท่านสั่งการอะไรต่อไป  ขุนนางใหญ่น้อยที่ไหนจะเกรงใจ      ถ้าพลิกดูประวัติศาสตร์จะพบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416  คือ 2 ปีก่อนหน้านิราศหนองคาย   ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านก็มิได้มีอำนาจเต็มในฐานะผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป เพราะต้องพ้นจากตำแหน่งนี้ไปเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2       ก็เท่ากับว่ารัศมีของ" รีเยนต์" เริ่มหรี่แสงลงเมื่อ 2 ปีก่อน   แต่ก็ยังมีอำนาจเหลืออยู่

   เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านย่อมประจักษ์ข้อนี้ดี ว่าอำนาจในบัดนี้ของสมเด็จเจ้าพระยาทำอะไรท่านไม่ได้      ดังนั้นท่านก็ไม่ลดราวาศอกให้     เมื่อมีเสียงสะท้อนมาเข้าหูว่ามีผู้ติฉินนินทาท่านในเรื่องเดินทัพ     ท่านก็งัดเอานิราศหนองคายออกมา ส่งให้โรงพิมพ์หมอสมิทพิมพ์จำหน่ายเป็นหนังสือเล่มเสียเลย   ในพ.ศ. 2421 คืออีก 3 ปีต่อมา  
   ลูกระเบิดก็เลยลงกลางเมืองหลวงด้วยเหตุนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 11:13

   วิเคราะห์จากลักษณะการบันทึก  นิราศหนองคาย คงมีส่วนต้นๆแต่งขณะเดินทัพ  เพราะบันทึกรายละเอียดวันเดือนปีของเหตุการณ์ในช่วงต้นไว้ละเอียด    หลายตอนเช่นการเดินป่าและผ่านเมืองต่างๆ ก็บันทึกแบบประสบด้วยตาตัวเองใหม่ๆ    แต่ต่อมา  บางตอนก็แต่งขึ้นในภายหลัง  เพราะเหตุการณ์บางตอน นายทิมเริ่มจะจำวันเดือนปีไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด    ตอนท้าย แน่นอนว่าแต่งเมื่อกลับมากรุงเทพได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะกล่าวพาดพิงถึงมีผู้ติฉินนินทากล่าวโทษ  

   ส่วนที่ดิฉันคิดว่านิราศหนองคายมีการแต่งแทรกเนื้อความเข้าไป    ก็คือส่วนหนึ่งคือนายทิมได้บรรยายละเอียดอยู่หลายตอนถึงการใช้จ่ายเงินทองของเจ้าพระยามหินทรฯ ว่าจ่ายไปในเรื่องบุญกุศล  เช่นซ่อมกุฏิ ปฏิสังขรณ์วัด     ใช้ไปในการจัดงานบุญต่างๆที่โคราชก็หลายครั้ง  จัดละครเล่นให้บันเทิงกองทัพก็มี    นอกจากนี้ยังบรรยายว่าเจ้าพระยามหินทรฯผ่านไปเมืองไหนตำบลไหน  ท่านก็แจกเงินชาวบ้านไปทุกครั้งด้วยกัน  รวมยอดที่ท่านแจกโน่นจ่ายนี่ รวมทั้งค่าช้างวัวพาหนะจำนวนมาก ต้องเกินห้าสิบชั่งที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านจ่ายเพิ่มให้แน่นอน    อาจจะหลายร้อยชั่งหรือเป็นพันเสียด้วยซ้ำ
    เรื่องการใช้จ่ายเงินนี้ บันทึกไว้ถี่ถ้วน   อ่านแล้วก็แปลกใจว่าเจ้าพระยามหินทรฯใช้เงินไปมากมายทีเดียว โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องรบทัพจับศึก      ทำให้สงสัยว่าเงินที่ท่านจ่ายเป็นเงินส่วนตัวหรือว่าเป็นเงินหลวงที่เบิกไปจากท้องพระคลังกันแน่       นายทิมไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเรื่องที่ถูกติฉินนินทากล่าวโทษมีอะไรบ้าง      แต่ดูจากการพรรณนายกย่องคุณงามความดีของเจ้าพระยามหินทรฯ ในการใช้จ่ายเงิน   ก็เหมือนนายทิมชี้แจงให้รู้ว่าเงินที่จ่ายไปนั้น จ่ายไปเพื่อประโยชน์ของไพร่พลและราษฎรทั้งนั้น    ไม่ได้จ่ายเอาไปใช้เป็นส่วนตัว      
    ดิฉันจึงคิดว่าส่วนหนึ่งของการกล่าวโทษติฉินนินทา คือการเปลืองงบประมาณหลวงไปมากมายในการเดินทัพครั้งนี้ โดยไม่ได้อะไรขึ้นมา      นายทิมจึงตอบโต้ด้วยการสาธยายให้ฟังว่า เจ้าคุณมหินทรฯ ท่านจ่ายเพื่อส่วนรวมต่างหาก   ควรสรรเสริญคุณงามความดีของท่านด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 11:36

     ทำอย่างนั้นผิดอย่างนี้ที่ตรงไหน      ตัดสินให้เที่ยงแท้อย่าแปรผัน
ช่วยตรึกตรองตั้งใจให้เป็นธรรม์      อย่าชวนกันนินทามุสาตาม
จงไล่เลียงสืบสวนให้ถ้วนถี่              ก็ย่อมมีผู้คนไปล้นหลาม
อย่ากล่าวโทษโฉดเขลาว่าเบาความ      พูดซุ่มซ่ามโดยเดาเปล่าเปล่าเอย ฯ

      กลอนข้างบนนี้คือตอนจบของนิราศหนองคาย    นายทิมพูดต่อว่า "ใครบางคน" ที่ตัดสินไม่เที่ยงตรง   ไม่เป็นธรรม   ไม่สืบสวนให้ถี่ถ้วน และเป็นคนโฉดเขลาเบาความ     บาทสุดท้ายคือ "พูดซุ่มซ่ามโดยเดาเปล่าเปล่า"  
      ถ้าเรารู้ว่าผู้ที่นายทิมตั้งใจจะเอ่ยถึง ไม่ใช่ตาสีตาสาคนไหนก็ได้ในกรุงเทพ  แต่เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์     ก็นับว่าน้ำเสียงของนายทิมทระนงองอาจมากทีเดียว       มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยปลายแถวอายุแค่สามสิบ จะกล้าเอ่ยถึงขุนนางสูงสุดในแผ่นดินด้วยถ้อยคำเหมือนอยู่ในวัยและฐานะเสมอบ่าเสมอไหล่กัน     กล้าดุ กล้าเตือน  ใช้ถ้อยคำตำหนิติเตียนอย่างไม่เกรงใจ  แล้วยังเอาลงพิมพ์เป็นหนังสือให้คนอ่านกันทั้งเมืองอีกด้วย
      จริงอยู่   ผู้น้อยอาจเจ็บแค้นผู้ใหญ่ได้  ตัดพ้อต่อว่าผู้ใหญ่ได้   สุนทรภู่เองก็เคยบรรยายความน้อยใจเมื่อชะตาตก  ต้องออกจากวัดเพราะพระเถระผู้ใหญ่ท่านเข้าข้างอีกฝ่าย   ด้วยคำว่า
      จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง               ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง

      อีกตอนหนึ่งคือ

      มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง             คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
     จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
     แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก    อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
     เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร            จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

    แม้น้อยใจผู้ใหญ่  สุนทรภู่ก็ยังระมัดระวังใช้คำให้เห็นความเจียมตัวอย่างผู้น้อย  จะตำหนิก็อ้อมๆ ใช้คำเปรียบเปรยมิให้ฟังก้าวร้าวโจ่งแจ้ง     แต่นายทิมไม่มีสำนึกในข้อนี้เลย      ใช้คำโผงผางออกไปตรงๆ ไม่แคร์ว่าจะระคายหูใครขนาดไหน     ซึ่งฟังแล้ว ไม่น่าที่คนระดับนายทิมจะกล้าทำเช่นนั้น
               
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 12:00

   
    แม้น้อยใจผู้ใหญ่  สุนทรภู่ก็ยังระมัดระวังใช้คำให้เห็นความเจียมตัวอย่างผู้น้อย  จะตำหนิก็อ้อมๆ ใช้คำเปรียบเปรยมิให้ฟังก้าวร้าวโจ่งแจ้ง     แต่นายทิมไม่มีสำนึกในข้อนี้เลย      ใช้คำโผงผางออกไปตรงๆ ไม่แคร์ว่าจะระคายหูใครขนาดไหน     ซึ่งฟังแล้ว ไม่น่าที่คนระดับนายทิมจะกล้าทำเช่นนั้น
               

ฮิฮิ เรื่องนี้ตอบไม่ยากครับ ถ้าเราติดตามข่าวซุบซิบพวกนักการเมืองหรือคนใหญ่ๆ โตๆ ทั้งหลาย เช่นรัฐมนตรี นายทหารใหญ่ หรือแม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จะพบว่าหลายๆ ครั้งบุคคลสำคัญเหล่านั้นจะทำตัวธรรมดา เฉยๆ เรียบง่าย แต่บรรดาลิ่วล้อทั้งหลายมักจะเบ่งสุดๆ อาศัยบารมีเจ้านายทำกร่าง อวดอ้าง หรือคิดว่าตนเองใหญ่ตามไปด้วย เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะพวกแอร์มักจะเจอลิ่วล้อขากร่างบ่อยๆ ขนาดในแวดวงวิชาการผมยังเคยเจอ ในงานประชุมวิการการที่หน่วยงานผมเป็นเจ้าภาพ เจอขาเบ่งที่แค่เป็นนักเรียนของนักวิชาการชื่อดังที่ท่านเป็นระดับโลกยังเอาชื่อท่านมาเบ่งเรียกร้องนั่นนี่เลย เบ่งจนไม่รู้ตัวว่ากำลังเบ่งกับใคร ทั้งที่นักวิชาการท่านนั้นสุดแสนสมถะ


นายทิมเป็นคนสนิทท่านเจ้าพระยาฯ เลยพลอยคิดว่าตัวใหญ่ไปด้วย ลืมนึกไปว่าตัวแค่อาศัยวนเวียนเป็นดาวบริวารเล็กๆ สะท้อนแสงจากดาวใหญ่เฉยๆ แต่นึกว่าตัวเปล่งแสงเอง รวมทั้งคิดเอาเองว่าบารมีนายจะคุ้มหัวได้ เพราะวันๆ อยู่แต่กับนายที่ใครๆ ก็เคารพนพนอบเกรงใจ  ผู้ที่ใหญ่กว่าก็มีแต่เจ้าเหนือหัว  นายทิมเลยกร่างไม่กลัวใคร เจ็บแค้นแทนนายมาก เลยออกอาการ over action มากไป พวกอาศัยบารมีเบ่งมักจะเบ่งจนเว่อร์ หรือกร่างอย่างเหลือเชื่อทั้งนั้น


ส่วนเจ้าพระยาจะรู้ด้วยหรืออยู่เบื้องหลังนายทิมหรือไม่อันนี้ยังเป็นปริศนา  รอท่านอาจารย์เฒาว์ฯมาวิเคราะห์ต่อ  แต่ตัวเจ้าพระยาเองก็คงคิดว่าท่านก็แน่ ขนาดกับสมเด็จเจ้าพระยาใหญ่คับแผ่นดินท่านยังไม่กลัว  คงชั่งน้ำหนักแล้วรู้ว่าแม้แต่ ร. 5 ก็ยังต้องเกรงใจท่านด้วย
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 12:30

จุ๊จุ๊ อย่าเอ็ดไปครับ ผมกำลังตามหารักแท้ เลยต้องปลอมตัวเป็นคนขับ taxi บ้าง คนงานทำความสะอาดบ้าง เด็กแจกใบปลิวบ้าง หรือนักเรียนโค่งบ้าง ทั้งอาจารย์ใหญ่อาจารย์รองอย่าไปบอกใครนะครับ  ไว้ผมเจอรักแท้เมื่อไหร่ ค่อยเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง รูดซิบปาก  รูดซิบปาก  รูดซิบปาก

อ้างถึง
ในงานประชุมวิการการที่หน่วยงานผมเป็นเจ้าภาพ

อ้าว คุณชายคุณชายรุศฑ์ษมาศร์เปิดเผยตัวแล้ว 



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 12:48

มันก็น่าคิดเหมือนกันว่า นายทิมแกกร่างจริง  หรือว่าแกเป็น "ร่างทรง" ของใครสักคน ที่พูดออกมาด้วยตัวเองไม่ได้    คำถามนี้คงจะค้างคาใจใครหลายคนทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ และในสมัยต่อๆมา  
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้หนึ่งที่สงสัยเรื่องนี้   เมื่อทรงเรียบเรียงประวัติของนายทิม  จึงทรงเอ่ยไว้ตอนหนึ่งว่า

" ข้าพเจ้าได้เอาหนังสือนิราศหนองคาย  ซึ่งได้ขอต้นฉบับจากหลวงพัฒนพงษ์ภักดีมาคัดไว้ในหอพระสมุดฯ ไม่ช้ามานัก มาอ่านตรวจดูโดยละเอียด    เห็นว่าความที่กล่าวในหนังสือนิราศหนองคาย  มีที่ร้ายแรงเป็นฐานหมิ่นประมาทหลายแห่ง    แม้มีผู้ใดแต่งเช่นนั้นออกโฆษณาในเวลาปัจจุบันชั้นนี้     ก็เห็นจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา     แต่เมื่ออ่านแล้ว ก็คิดเห็นว่าใช่วิสัยคนอย่างนายทิมทนาย  แม้ชำนาญในการแต่งบทกลอน   จะสามารถหรือกล้ากล่าวความลงเช่นนั้นได้     ตามความที่ข้าพเจ้าทราบ   ถึงเมื่อชำระกันครั้งนั้น  ความเข้าใจก็เป็นอย่างที่ว่า     แต่นายทิมให้การยืนยันว่า  แต่งด้วยปัญญาความคิดของตนเอง    และปฏิเสธว่าไม่ได้มีผู้หนึ่งผู้ใดแนะนำสั่งสอนให้แต่ง    ยอมรับผิดแต่ผู้เดียว    
เมื่อพิจารณาได้ความเพียงเท่านั้น   ลูกขุนจึงตัดสินให้จำคุกนายทิมผู้แต่ง   และให้ทำลายหนังสือนิราศหนองคายที่พิมพ์โฆษณาเสีย    นายทิมต้องติดคุกอยู่ ๘ เดือน    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกโทษพระราชทาน จึงได้พ้นจากเวรจำ     เมื่อพ้นโทษแล้ว  ก็กลับไปอยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯตามเดิม     พอการสงบเงียบแล้ว  เจ้าพระยามหินทรฯตั้งให้เป็นขุนจบพลรักษ์ ขุนหมื่นประทวน  ในกรมพระสุรัสวดี    และให้ว่าการงานในบ้านต่างหูต่างตาทั่วไป "

   อ่านระหว่างบรรทัด จากข้อความพิมพ์ตัวแดง    แสดงว่าลูกขุนเองก็ไม่เชื่อว่าแค่ทนายรับใช้ตัวเล็กๆอย่างนายทิมจะกล้ากล่าวสบประมาทสมเด็จเจ้าพระยาอย่างองอาจเปิดเผยขนาดนี้    มันเกินฐานะของคนอย่างนายทิมไปมาก      ถ้าไม่ใช่มีบิ๊กคนไหนเขียนเองแล้วนายทิมยอมรับผิดแทน   ก็แปลได้อีกอย่างว่านายทิมเขียนตามคำสั่งของใครสักคน
  แต่นายทิมก็ทรหดอดทน  ลูกขุนสอบสวนเท่าใดก็ยืนกรานว่ากระผมเขียนคนเดียว ไม่มีใครสอนใครสั่ง    เมื่อมีจำเลยคนเดียว หาผู้สมรู้ร่วมคิดไม่ได้   นายทิมเลยโดนลงโทษคนเดียว

   นายทิมถูกจำคุกอยู่ ๘ เดือน ก็ถูกปล่อย เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอภัยโทษ    การพระราชทานอภัยโทษไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆก็ทรงนึกได้ว่าควรอภัย   แต่ต้องมีคนกราบบังคมทูลขอให้พระราชทานอภัย  ทรงเห็นสมควรถึงจะพระราชทานอภัยแก่นักโทษ      
   ผู้ที่กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว  สามารถเอาตัวนายทิมหลุดจากคุกทั้งๆหมิ่นประมาทสมเด็จเจ้าพระยา  โดนตะรางแค่ 8 เดือนเท่านั้น  กลับมาบ้าน ก็ได้ความดีความชอบเลื่อนขึ้นเป็นขุน  และยังได้เป็นบัตเลอร์ ดูแลบ้านช่องบริวารของเจ้าพระยามหินทรฯ เป็นพ่อบ้านใหญ่เสียด้วย     ขอเชิญคุณประกอบและท่านอื่นๆที่เข้ามาอ่านไปคิดเป็นการบ้านเอาเองว่าเป็นใคร  คนเล่ากระทู้นี้เดาไม่ถูก  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 13:35

  นายทิมถูกจำคุกอยู่ ๘ เดือน ก็ถูกปล่อย เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอภัยโทษ    การพระราชทานอภัยโทษไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆก็ทรงนึกได้ว่าควรอภัย   แต่ต้องมีคนกราบบังคมทูลขอให้พระราชทานอภัย  ทรงเห็นสมควรถึงจะพระราชทานอภัยแก่นักโทษ      
   ผู้ที่กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว  สามารถเอาตัวนายทิมหลุดจากคุกทั้งๆหมิ่นประมาทสมเด็จเจ้าพระยา  โดนตะรางแค่ 8 เดือนเท่านั้น  กลับมาบ้าน ก็ได้ความดีความชอบเลื่อนขึ้นเป็นขุน  และยังได้เป็นบัตเลอร์ ดูแลบ้านช่องบริวารของเจ้าพระยามหินทรฯ เป็นพ่อบ้านใหญ่เสียด้วย     ขอเชิญคุณประกอบและท่านอื่นๆที่เข้ามาอ่านไปคิดเป็นการบ้านเอาเองว่าเป็นใคร  คนเล่ากระทู้นี้เดาไม่ถูก  ยิ้มเท่ห์

คงเป็นคนเดียวกับผู้ที่ส่งเรื่องนิราศนี้ไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธนั่นแหละ

ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขายไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ไปซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลายเสีย อย่าให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป

ผู้ที่ส่งเรื่องไปลงพิมพ์ที่ต้องไปซื้อหนังสือนิราศหนองคายมาทำลาย คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงนั่นเอง

จดหมายเหตุราชกิจรายวัน ประจำวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ (หน้า ๓๑๐) จดบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

จมื่นทิพเสนาเฝ้าถวายหนังสือพระยามหามนตรีกับต้นฉบับนิราศหนองคาย ๔ เล่ม ในหนังสือจ่าให้จมื่นทิพเสนาเชิญพระราชหัตถ์ไปให้เจ้าพระยามหินทรฯ ดุ เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ส่งต้นฉบับมาให้ ๔ เล่ม แจ้งว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธนั้น เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ไปซื้อมาแล้วเป็นสมุดใบปกแข็ง ๕๗ เล่ม ใบปกลายศิลา ๑๒๗ เล่ม ใบปกเขียว ๑๗๘ เล่ม รวม ๓๖๒ เล่ม กับหนังสือที่ยังไม่ได้เย็บอีกจำนวน ๑๐ ยก ประมาณ ๑๐๐ เล่ม ได้ส่งไปที่พระยารองเมือง แต่วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ แกไปถามพระยารองเมืองว่าจริงแล้วจะทำบัญชีทูลเกล้าฯ ถวาย

นักเขียนถูกตัดสินจำคุก ส่วนผู้พิมพ์โฆษณารับผิดชอบเพียงซื้อหนังสือมาทำลาย




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 25 พ.ค. 13, 14:07

จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายทิม 50 ที ส่งตัวไปจำไว้ ณ คุก อย่างให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านเห็นว่าความผิดนายทิมถึงขั้นประหารชีวิต   แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ท่านหาทางออกมิให้พญาคชสารชนกันบาดเจ็บกว่านี้  ก็เลยทรงตัดสินโทษนายทิมแค่เฆี่ยนกับจำคุก   ไม่ได้บอกด้วยว่านานเท่าใด เรียกว่าไม่มีกำหนดแน่นอน  จะขังลืมไปจนตายก็ได้

การลงโทษเฆี่ยนกับจำคุกนักเขียนในคดีนี้  โบราณมีสำนวนว่า "ตีวัวกระทบคราด"      นายทิมคือวัว  ส่วนคราดคือเจ้าของวัว    ถ้านายทิมถูกประหาร คนกระเทือนก็เจ้าพระยามหินทรฯนั่นแหละ    เพราะนายทิมต้องภักดีต่อนายจนตัวตาย       แค่นายทิมถูกเฆี่ยนกับจำคุก  นายของนายทิมก็กระเทือนน้อยหน่อย   แต่จะว่าไม่กระเทือนเสียเลยก็ไม่ได้   เพราะทรงปรามให้เก็บหนังสือนิราศหนองคายมาทำลายให้หมด     แปลว่าหยุดได้แล้ว   อย่าไปหาเรื่องเขาอีก   
มิใช่ว่าหนังสือเล่มนี้มีอะไรแหลมคม จนไปเสียดแทงใจผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง    แต่เป็นหนังสือที่หมิ่นประมาทก่อความเสียหายให้ผู้อื่น  จึงต้องห้ามการเผยแพร่จำหน่าย   

    เรื่องนี้ ถ้าถามว่าเห็นใจใคร  โดยส่วนตัวเห็นใจสมเด็จเจ้าพระยา     เพราะตั้งแต่ต้นเรื่องจนปลายเรื่อง  ท่านเป็นฝ่ายเสียหายมาโดยตลอด   สิ่งที่ท่านทำก็คือทำตามหน้าที่  ไม่ได้ทำอะไรเป็นส่วนตัว     ถ้าหากว่าเจ้าพระยามหินทรฯไม่อยากจะไปรบกับฮ่อก็น่าจะขอตัวเสียแต่แรก    มีแม่ทัพอื่นยกข้ามดงพระยาไฟไปได้เร็วหน่อย   ศึกฮ่อจะได้จบเร็วกว่านี้ และเบาแรงพระยามหาอำมาตย์ด้วย
    นึกๆอีกที   เหตุการณ์ในเรื่อง สมมุติว่าเป็นยุคนี้  ผู้บัญชาการทัพสั่งให้แม่ทัพยกทัพไปชายแดน เพราะเกิดสงครามขึ้นที่นั่นกำลังปะทะกันอยู่    แม่ทัพกลับรายงานว่าไปไม่ได้ครับผม น้ำท่วมทางรถไฟกับถนนขาด เลยขอตั้งค่ายพักกลางทางจนกว่าน้ำจะแห้ง  จะลุยน้ำไปก็กลัวอาวุธยุทโธปกรณ์เสียหาย กับทหารจะเท้าเปื่อยหมด     ได้ยินอย่างนี้ ผบ.ทบ. คนไหนจะใจเย็นอย่างสมเด็จเจ้าพระยา คือไม่ลงโทษอะไรเลยไหมล่ะคะ

   เอาเป็นว่า  สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็อุตส่าห์อดกลั้นงดโทษมาหนหนึ่งแล้ว    จนยกทัพกลับกรุงเทพ มา 3 ปี  อีกฝ่ายก็ไม่ยอมจบ    มันก็น่าจะเอาเรื่องหรอก     นายทิมโดนแค่นี้ คงมีฝ่ายที่เห็นใจสมเด็จเจ้าพระยา  เห็นว่าได้รับโทษน้อยไปเสียอีก
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง