เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 24441 นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 พ.ค. 13, 21:45

ในตู้หนังสือเรือนไทย  มี นิราศหนองคาย     เชิญคลิกเข้าไปอ่านได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 พ.ค. 13, 22:14

เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔  พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช  จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม คงมีเนื้อหาที่ถูกตัดทอนออกเสีย ๑ ใน ๓ เช่นเดียวกับฉบับของกรมศิลปากร

นิราศหนองคายฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ถูกตัดทอนแก้ไขบางส่วน

แต่เนื่องจากนิราศเรื่องนี้เกิดเป็นคดีขึ้น  เกี่ยวกับผู้แต่งได้แต่งเติมข้อความที่เป็นที่เสียหายแก่ผู้อื่น  กรมศิลปากรจึงได้ตัดข้อความเหล่านั้นออก....

พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น  ชี้แจง

นิราศหนองคายอยู่ในตู้หนังสือเรือนไทยนี่เอง

http://www.reurnthai.com/wiki/นิราศหนองคาย

ยังพอเห็นร่องรอยความไม่พอใจในคนสั่งการทัพ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 18 พ.ค. 13, 16:48

        ต่อไป  ขอเล่าถึงบุคคลสำคัญในเรื่องนี้ ในด้านความเป็นมาว่า ท่านเป็นใครมาจากไหน
        ท่านแรกคือเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง   แม่ทัพในการเดินทางไปปราบฮ่อครั้งนี้

      เจ้าพระยามหินทรฯมีนามเดิมว่า วันเพ็ง  หรือวันเพ็ญ เพราะเกิดในวันเพ็ญ  ต่อมาเรียกสั้นๆว่า "เพ็ง"  เป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   คำนี้หมายถึงเป็นผู้ใกล้ชิดถวายงานรับใช้มาก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์   แต่เจ้าพระยามหินทรฯเป็นยิ่งกว่าข้าหลวงเดิมทั่วไป  คือถือกันว่าเป็นพระโอรสบุญธรรมเลยทีเดียว ด้วยทรงพระเมตตาเรียกว่า "เป็นลูกบุญธรรม" ตั้งแต่สมัยยังทรงครองสมณเพศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏอยู่ในรัชกาลที่ 3

      ย้อนหลังเมื่อครั้งเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงพระเยาว์  สมเด็จพระราชบิดาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาในสำนักพระพุฒาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด    ในวัดมีสามเณรคนหนึ่งชื่อด้วง สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาพระคลัง (ฉิม) ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
สมเด็จพุฒาจารย์ (ขุน) จึงมอบให้สามเณรด้วงทำหน้าที่ถวายการปฏิบัติดูแลเจ้าฟ้ามงกุฎ  จนกระทั่งคุ้นเคยสนิทสนมกัน
      ต่อมานายด้วงลาอุปสมบทไปมีภรรยา  เข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่หลวงจินดาพิจิตร   เจ้าฟ้ามงกุฎผนวช ประทับอยู่วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาส   หลวงจินดาพิจิตรก็ไม่ลืมเจ้านายเก่า  ไปเฝ้าอยู่เป็นประจำ  คอยถวายอยู่งานนวดเพราะเป็นผู้ชำนาญทางนี้  จึงเป็นข้าหลวงเดิมที่ทรงโปรดปราน
      ความสำคัญของหลวงจินดาฯเห็นได้จากเมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จะยกทัพใหญ่ไปทำสงครามที่กัมพูชาและญวน    มีการเกณฑ์ผู้คนไปทัพ หลวงจินดาพิจิตร ก็อยู่ในข่ายต้องไปทัพด้วย  แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าหลวงจินดาฯ เป็นข้าหลวงเดิม มีหน้าที่ถวายอยู่งานนวดเสมอๆ จึงงดเว้น ยกถวายเสียคนหนึ่ง ไม่ต้องไปทัพ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 18 พ.ค. 13, 16:55

      หลวงจินดาพิจิตรมีบุตรธิดากับภรรยาผู้มีนามว่ามอญ  ๕ คน เด็กชายวันเพ็งเป็นคนสุดท้อง
      เวลาพ่อไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎที่วัด  เด็กชายเพ็งก็ติดตามไปด้วยแทบทุกครั้ง    ทอดพระเนตรเห็นเด็กชายเพ็งอยู่เนืองๆ ก็ทรงมีพระเมตาจึงทรงออกพระโอษฐ์ขอต่อบิดาว่า
      “ลูกชายคนเล็กที่ตามแกมานี่ ขอให้ข้าเถิด” แล้วรับสั่งแก่เด็กชายเพ็งว่า“ข้าจะรับเลี้ยงเจ้าไว้เป็นลูกบุญธรรมของข้า
       เด็กชายเพ็งจึงกลายเป็นพระโอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้า   ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ยังประทับ ณ วัดสมอราย จนเสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์

      นายเพ็งเติบโตเป็นหนุ่ม  อายุ ๒๑ ครบบวช เจ้าฟ้ามงกุฎก็โปรดให้อุปสมบท   ในการบวช โปรดให้จัดการแห่แหนช้างม้าผู้คนเป็นขบวนเอิกเกริก คล้ายๆกับขบวนแห่นาคเจ้านายชั้นสูง    ผู้คนถึงกับเล่าลือกัน จนถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำรัส ซึ่งเป็นพระวาจาที่เล่ากันต่อๆ มา เพราะแสดงถึงน้ำพระทัยอันทรงพระเมตตาต่อสมเด็จพระราชอนุชา ว่า
       “การแห่แหนบวชนาคไพร่ๆราษฎรเช่นครั้งนี้   แห่ช้างแห่ม้าพาหนะของหลวงอย่างมากมาย   เคยมีก็แต่นาคเจ้านายใหญ่ๆ โตๆ ถึงว่านาคขุนน้ำขุนนางก็ไม่เคยมีปรากฏเลย   พึ่งมามีครั้งนี้แหละที่นาคไพร่ๆ มีการแห่แหนเป็นที่ครึกครื้น    แต่ก็ช่างเถิด เพราะว่าเป็นนาคของชีต้นวัดบน    เธอจะทำเหลือๆ เกินๆ อย่างไรบ้างก็ช่างเธอเถิด”
       คำว่าชีต้นวัดบน  ทรงหมายถึงเจ้าฟ้ามงกุฎ
  
      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์   นายเพ็งก็ได้ถวายงานรับใช้ในพระบรมมหาราชวัง  โปรดเกล้าฯ ให้พ่อเพ็งเป็น "เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี" หัวหมื่นมหาดเล็ก

   ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2400 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นราชทูต และเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี เป็นอุปทูต นำพระราชสานส์ และคุมเครื่องบรรณาการ ออกไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศอังกฤษ ภายหลังจากเสร็จกิจ ในฐานะอุปทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 19 พ.ค. 13, 07:26

           เด็กชายเพ็งจึงกลายเป็นพระโอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้า   ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ยังประทับ ณ วัดสมอราย จนเสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์

และก็เป็นพระราชโอรสบุญธรรมของพระเจ้าแผ่นดินคือ รัชกาลที่ ๔ ในที่สุด  ยิ้มเท่ห์

เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเดินทางไปราชกรทัพในครั้งนี้ รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ถือพระราชหัถตเลขา และของต่าง ๆ ไปประทานรวมทั้งน้ำมันหอมพระจอมเกล้าฯ ของรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเสกเป่าไว้สำหรับประทานพระเจ้าลูกเธอเมื่อไปทัพ ในพระราชหัตถเลขากำกับว่าให้น้ำหอมนี้มาก็เพราะยกย่องเจ้าพระยามหินทรฯ เป้นบุตรบุญธรรมของรัชกาลที่ ๔ มาแต่เดิม

๏ ครั้นเดือนสิบเอ็ดเสร็จความขึ้นสามค่ำ       ได้จดจำจงหวังไม่กังขา
บ่ายสามโมงสังเกตเศษเวลา                    เรือไฟมาเปิดหลอดเสียงหวอดดัง
เห็นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์                  จำถนัดเรือห่างอยู่ข้างฝั่ง
ลงเรือแหวดแจวร่าเข้ามายัง                     ถึงกระทั่งท่าทำเนียบจอดเทียบพลัน
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพออกรับรอง                   ต่างยิ้มย่องปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
ขึ้นบนทำเนียบท่าพูดจากัน                      แต่โดยฉันราชการในสารตรา
ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์                  ก็หยิบลายราชหัตถเลขา
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็รับมา                        จิตปรีดาเบิกบานสำราญใจ
ท่านเจ้าคุณรับรองของประทาน                 ที่เจ้าคุณทหารนำมาให้
ดาบฝรั่งสองร้อยเล่มที่เต็มใน                   หีบใหญ่ใหญ่รับขนขึ้นบนเรือ
อีกกับน้ำมันหอมพระจอมเกล้า                  ทรงเสกเป่าไว้เลิศประเสริฐเหลือ
ดอกไม้ร้อยแปดอย่างไม่จางเจือ                กลั่นเอาเหงื่อทำน้ำมันด้วยบรรจง
ไว้บำเรอลูกเธอเสด็จทัพ                        เป็นที่นับถือความตามประสงค์
ได้ป้องกันสรรพภัยที่ในดง                      ออกณรงค์ไม่ต้องคิดมีจิตกลัว
ด้วยเจ้าคุณมีชื่อลือทุกเวียง                เป็นบุตรเลี้ยงพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงประทานน้ำมันมากันตัว                  ครั้นอ่านทั่วราชหัตถ์จัดจำเนียร ฯ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 20 พ.ค. 13, 08:52

ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5  เจ้าพระยามีหลายท่านด้วยกัน    แต่เจ้าพระยามหินทรฯ เป็นเจ้าพระยาพิเศษกว่าท่านอื่นๆ  เพราะไม่มีท่านใดแม้แต่สมเด็จเจ้าพระยา(ที่ยศสูงกว่าเจ้าพระยา) เป็น "ลูกบุญธรรม" ของพระมหากษัตริย์

ก่อนหน้าจะเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา   ท่านเคยเป็นพระยาราชสุภาวดี สมุหพระสุรัสวดี ในช่วงต้นๆรัชกาลที่ 5     ควบคุมเรื่องการสักเลกของราษฎร ซึ่งเรียกกันว่าไพร่   ต่อมาในพ.ศ.2417 จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีเป็น "เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง สกูลวงศ์อรเอกดิเรกยศ มธุรพจนสุนทรธรรมยุติยานุวัติ บุรุษรัตนทุวาธิราชนิกรวรยุคลบาท บรมนาถสวามิภักดิสนิท วิสิฐคุณศรีรัตนธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ" เท่าเทียมกับสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และกรมท่า เพื่อให้มีอำนาจในการจัดระเบียบ การควบคุมกำลังคน และการสักเลกมากกว่าเดิม รวมทั้งการเกณฑ์ไพร่มาทำราชการในกรณีพิเศษ เช่น การปราบปรามโจรผู้ร้าย การปราบกบฎ เป็นต้น
ขุนนางที่รับหน้าที่นี้จึงมีอำนาจมาก เพราะสามารถเกณฑ์ราษฎรจำนวนมากมาไว้ในมือได้  โดยไม่ต้องผ่านขุนนางสำคัญอื่นๆเช่นสมุหนายกและสมุหกลาโหม      ใครที่รับตำแหน่งนี้ก็ต้องเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย    เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในบ้านเมืองเช่นเกิดกบฏขึ้นมา   ก็สามารถระดมคนมาปราบปรามได้ทันที

เราก็คงพอจะมองเห็นว่า ความเป็นเจ้าพระยามหินทรฯ ในตอนนั้น "บิ๊ก" ขนาดไหน 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 10:01

ทีนี้ มาดูตัวเอกอีกคนหนึ่งบ้าง  คือนายทิม สุขยางค์ หรือหลวงพัฒนพงศ์ภักดี เจ้าของนิราศหนองคาย

นายทิมเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะแม นพศกจุลศักราช ๑๒๐๙ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีภรรยาชื่อเสงี่ยมมีบุตร ๒ คน ชื่อนายสรรเสริญและนายสาโรช ซึ่งทั้ง ๒ ได้มีโอกาสเรียนต่อที่ยุโรปทั้งสองคน และได้กลับมารับราชการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสารศาสตร์สิริลักษณ์ และพระสาโรชรัตนิมมานก์ ตามลำดับ
บิดานายทิมเป็นพ่อค้า  จอดแพอยู่หน้าวัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ  ตัวบิดานายทิมฝากตัวอยู่กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ขณะยังเป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายทิม บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบูรณะ ๓ พรรษา ได้ศึกษากระบวนหนังสือไทยในขณะบวช   เมื่อลาสิกขาบทในรัชกาลที่ ๕  นายทิมได้มาเป็นทนาย(คนรับใช้)อยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯ เมื่อครั้งท่านเป็นพระยาราชสุภาวดี   นายทิมรับใช้เป็นที่ถูกใจ   เจ้าพระยามหินทรฯจึงใช้เป็นคนใกล้ชิดติดตัวมาแต่ครั้งนั้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้เป็นแม่ทัพจากกรุงเทพฯ ไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคายและได้เอานายทิมเป็นทนายนั่งหน้าแคร่ และขึ้นท้ายช้าง ติดตัวไปด้วยทั้งขาไปและกลับ  แปลว่าเป็นคนรับใช้ใกล้ชิด ใช้สอยอยู่ตลอดเวลา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 10:01

ขุนนางผู้ใหญ่อย่างเจ้าพระยามหินทรฯ ย่อมไม่มีทนายรับใช้คนเดียว แต่เห็นจะมีหลายโหล     นายทิมได้เป็นทนายรับใช้ใกล้ชิด ใช้สอยเป็นที่ถูกใจมากกว่าคนอื่นๆ ก็แสดงว่ามีคุณสมบัติหลายอย่างเป็นที่ถูกใจนาย      ถึงไม่มีบรรยายไว้ก็พอเดาได้ว่าต้องใช้สอยได้คล่อง ถูกใจนาย   มีความสามารถบางอย่างที่ทนายอื่นๆไม่มี
ข้อหลังสุดนี้ เดาได้ไม่ยากว่าเป็นฝีมือแต่งบทกวีของนายทิมนั่นเอง     นายทิมแต่งกลอนเก่ง เขียนกลอนบทละครให้โรงละครเจ้าพระยามหินทรฯ ถึง ๑๗ เรื่อง และกลอนอ่าน ๕ เรื่อง
กลอนบทละคร
๑. พระอภัยมณี     ๒. ราชาธิราช     ๓. ลักษณวงศ์        ๔. ทินวงศ์        ๕. ยักษียักษา       ๖. สามก๊ก   ๗. จักรแก้ว
๘. ขุนช้างขุนแผน  ๙. อาบูหะซัน     ๑๐. บ้วยหั่งเหลา     ๑๐. สิงหไตรภพ    ๑๒. สามฤดู      ๑๓ มณีสุริยง ๑๔. พระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันกี (จากเรื่อง ห้องสิน)
๑๕. ทิ้งพวงมาลัยเจ๊ก ๑๖. สิริวงศ์พรหมเมศ    ๑๗. วงศ์เทวราช

กลอนอ่าน 
๑. มณีนพรัตน์      ๒. กายนคร         ๓. ฉัตรสามชั้น          ๔. พระศรสุริยัน           ๕. นิราศหนองคาย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 10:40

ขออนุญาตเสริมเกี่ยวกับนายทิม

รายชื่อของแฟนคลับที่เขียนมาถามนู่นถามนี่  น่าสนใจมากกว่าเรื่องที่ถามอีก

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม) ผู้เขียนนิราศหนองคายก็เป็นแฟนคลับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ คนหนึ่ง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 10:45

เมื่อนายทิมติดตามไปในทัพครั้งนี้ อายุได้ 28 ปี    เคยเขียนกลอนป้อนโรงละครเจ้าพระยามหินทรฯ มามากน้อยแค่ไหนแล้ว ยังหาหลักฐานไม่พบ   แต่ถ้าให้วิเคราะห์ลีลาการแต่ง บอกได้ว่าคนเขียนไม่ใช่มือใหม่หัดแต่ง   แต่ว่าคล่องตัวในการเขียนกลอนในแนวของกลอนตลาด จนถึงขั้นชำนาญ     สัมผัสนอกและในตามแบบของสุนทรภู่      ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าเป็นนายทิมแต่ง อาจจะนึกว่าเป็นศิษย์เอกคนใดคนหนึ่ง เพราะไม่พลาดเลยเรื่องหาคำสัมผัสใน  และหาคำมาสัมผัสได้ลื่นไหลทุกบท

ครั้นเช้าสองโมงครึ่งกึ่งนิมิต      สำเร็จกิจเสร็จสมอารมณ์หวัง
ฝีพายเตรียมนาวาประดาดัง      จอดคอยฟังลั่นฆ้องตามองเมียง
ครั้นเจ้าคุณลงเรือนั่งเหนือเบาะ   ฝีพายเกาะโห่ขานประสานเสียง
ตีฆ้องหุ่ยหึ่งพลันลั่นสำเนียง      เรือพร้อมเพรียงออกตามหลั่นหลามมา
คระโครมครึกกึกก้องท้องสมุทร   พายรีบรุดเร็วนักดั่งปักษา
คว้างคว้างมาในกลางชลธาร์      ดูนาวาเร็วรัดเทียมทัดลม
ครั้นจะร่ำระยะทางชมบางบ้าน   ก็ขี้คร้านหลีกจัดตัดประสม
ด้วยนิราศอื่นมีดีอุดม              ล้วนคารมวิเวกหวานเคยอ่านฟัง
ครั้นเรือมาฉิวฉิวแลลิ่วลับ      ฝีพายขับขบเขี้ยวไม่เหลียวหลัง
ชลกระฉอกละลอกเสียงเพียงจะพัง      กระทบฝั่งกระจายทำลายลง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 12:41

ครั้นจะร่ำระยะทางชมบางบ้าน   ก็ขี้คร้านหลีกจัดตัดประสม
ด้วยนิราศอื่นมีดีอุดม              ล้วนคารมวิเวกหวานเคยอ่านฟัง

นายทิมน่าจะเป็นนักเลงกลอนตัวยง   อ่านเขียนเป็นมาตั้งแต่บวช    พอมาเป็นทนายให้นายที่ชอบเรื่องกวีนิพนธ์เหมือนกัน ก็เลยไปด้วยกันได้ดี     นายทิมต้องอ่านนิราศสุนทรภู่ /นายมี/ และของกวีอื่นๆมามากพอที่จะรู้ขนบการแต่ง    เมื่อเขียนนิราศหนองคาย จึงลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดได้ชัด  อย่างมือเจนจัด

จากนี้มาดูกันว่านายทิมบันทึกอะไรเอาไว้ จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นภายหลัง

นายทิมบอกว่าทัพหยุดพักอยู่ที่ท่าพระยาทศ  ไม่เดินทางต่อไปเพราะเป็นฤดูฝนพอดี  ถ้าต้องเดินทัพต่อไปถึงดงพระยาไฟ ก็เกรงว่าจะเป็นไข้ป่าตายกันทั้งกองทัพ     ตอนนั้น ไพร่พลก็ป่วยเป็นไข้กันแล้วหลายคน   ต้องจัดหมอที่ประจำกองทัพไปรักษา ผลก็คือตายกันไปบ้าง  แต่ว่าที่หายไข้มีมาก

เจ้าพระยามหินทรฯสอบถามจากพระรัตนกาศ ได้ความว่า ทางที่ผ่านเข้าไปในดงพระยาไฟ  ฤดูฝนน้ำท่วม  ทางกลายเป็นหล่มโคลนตลอดทาง  บุกป่าฝ่าดงไปลำบาก ต้องเดินข้ามแม่น้ำลำธารหลายสาย ซึ่งล้วนน้ำลึกข้ามลำบาก  อาจจะไปไม่ไหว   เจ้าพระยามหินทรฯ ก็เวทนาไพร่พล ว่าจะพากันมาตายเสียในป่าดง  จึงทำใบบอกไปทางกรุงเทพ   กราบบังคมทูลว่าขอตั้งค่ายรอพักกองทัพไว้ก่อนที่นี่   จนพ้นฤดูฝน(หรืออย่างน้อยก็ฝนทิ้งช่วง) ทางแห้งดีแล้วจึงเดินทางต่อไป   ระหว่างนี้ก็ตั้งทัพ ฝึกไพร่พลซ้อมทหารไปพลางๆก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 12:51

     อ่านมาถึงตรงนี้ ก็พอเห็นเค้าความยุ่งยากขึ้นรางๆแล้ว    (แม้ว่านายทิมอาจจะมองไม่เห็น เพราะไม่เอ่ยข้อนี้เลย)    เพราะสาเหตุที่ทัพนี้ต้องยกไป เนื่องจากมีเรื่องร้อนเกิดขึ้นตรงปลายทาง คือพวกฮ่อเข้าโจมตีหนองคายเข้าให้แล้ว    นอกจากหนองคายก็ยังมีอีกหลายเมืองที่ฮ่อแผ่อำนาจอยู่     ทัพเจ้าพระยามหินทรฯถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อยกไปปราบปรามโดยด่วน      แปลอีกทีว่าจะมามัวเอ้อระเหยลอยชายอยู่กลางทางไม่ได้  เพราะปล่อยให้ฮ่อยึดเมืองหนึ่งได้    เดี๋ยวเมืองสองเมืองสามก็จะล้มตามกันมาเป็นเกมโดมิโน    ทำความยุ่งยากให้ศูนย์อำนาจที่กรุงเทพมากขึ้น
     เหตุการณ์ที่นายทิมบันทึกไว้ แสดงให้เห็นว่า ทัพยังหยุดอยู่นอกเขตดงพระยาไฟซึ่งเลื่องลือกันว่าไข้ป่าร้ายแรงมาก     ไพร่พลบางคนป่วยไข้ลงไปก็จริง  แต่หมอก็รักษาหาย  ตายเป็นส่วนน้อย     ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าทัพกรุงเทพยังไม่ได้เป็นอะไร    แต่เลือกที่จะไม่เสี่ยงมากกว่า      
    สรุปความว่าเจ้าพระยามหินทร์ท่านสั่งทัพไทยตั้งค่ายซ้อมรบกันไปพลางๆที่ชายเขต    รอจนฝนหาย ทางแห้ง ลำธารแห้ง ลุยน้ำผ่านไปได้สะดวก   หมดหน้าฝนไข้ป่าก็ค่อยจางหายไปเอง  ถึงตอนนั้นค่อยเดินทางกันต่อ

   อ้าว  แล้วพวกฮ่อล่ะ    จะให้พวกนั้นรออยู่เฉยๆ  จนกว่าทัพไทยไปถึงหนองคาย   ถึงเมื่อไรค่อยว่ากันเมื่อนั้นงั้นหรือ?

    แผนการรบแบบนี้  ใครเขาทำกันบ้าง?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 13:09

      สมเด็จเจ้าพระยาฯทางกรุงเทพ ท่านก็คงคิดยังงี้เหมือนกัน    ว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่จะให้ทัพใหญ่ทางกรุงเทพนั่งเล่นนอนเล่นอยู่กลางทางเฉยๆ    ทำราวกับยกพวกไปปิคนิกมากกว่าไปรบ       ตรงนี้พูดจริงๆไม่ได้พูดเล่น  เพราะนายทิมบรรยายไว้เองว่าเมื่อรั้งรอทัพอยู่ตรงนั้น   พวกไพร่พลสนุกสนานกันแค่ไหน  
      แถวนั้นไม่ใช่ป่าทึบ แต่เป็นหมู่บ้านชาวลาว มีสาวๆอยู่ในหมู่บ้านมากมาย ให้บรรดาทหารเกณฑ์ผลัดหนึ่งผลัดสองทั้งหลายได้ขอเดทกันเพลิดเพลินเจริญใจ   จนถึงขั้นสู่ขอกลายเป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันก็มี        ก็วาดภาพได้ออกว่าทัพไทยทั้งสนุกสนาน และทั้งมีเวลาว่างกันมากแค่ไหน     ลองเที่ยวเตร่จีบสาวกันได้ขนาดนี้   ระเบียบในกองทัพเห็นจะไม่ต้องพูดถึง  ว่ามีหรือเปล่า

      พวกหนุ่มหนุ่มกลุ้มเกรียวไปเที่ยวเล่น      ล้วนแต่เป็นเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง
บ้างโกรธขึ้งหึงหวงเที่ยวช่วงชิง              แล้วค้อนติงพูดกระแทกที่แดกดัน
ด้วยลูกสาวลาวชุมหนุ่มหนุ่มเกี้ยว              บ้างก็เที่ยวหาอวดประกวดประขัน
บ้างสู่ขอเป็นเมียได้เสียกัน                      แต่ตัวฉันไม่อยากเที่ยวไปเกี้ยวใคร
    
      หนังสือตอบจากผบ.ทบ.ในกรุงเทพ ที่ตอบกลับมา  จึงบอกชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านไม่สนุกไปด้วย  และคงโกรธเอาการ    จึงมีคำสั่งเด็ดขาด บังคับให้เลิกปิคนิกได้แล้ว  รีบยกพลเคลื่อนทัพไปโดยด่วน    แถมท่านยังเพิ่มการบ้านมาให้อีก 2 ข้อใหญ่ๆ  คือ..
      ถ้าให้ไปตรวจเสบียงให้เพียงพอ      กับอีกข้อหนึ่งให้ปรุงปลูกยุ้งฉาง
      ให้ถ้วนทุกจังหวะระยะทาง              กับเร่งส่วยด้วยที่ค้างอยู่นมนาน
  
ท่านยังบอกว่าถ้าไม่มีเงินสำรองค่าใช้จ่ายในกองทัพ  ที่จะซื้อเสบียงเลี้ยงทหาร  ก็ให้เร่งเอาเงินส่วยจากกรมการเมืองในเมืองต่างๆที่ยังคั่งค้างอยู่มาสำรองจ่ายไปก่อน

แม้นเงินไม่มีสำรองให้กองทัพ      ที่จะจับจ่ายเสบียงเลี้ยงทหาร
เร่งส่วยเสียที่ท้าวเพี้ยกรมการ      มาเจือจานสำหรับกองทัพชัย
      
สองข้อนี้  เห็นทีสมเด็จเจ้าพระยาท่านคงอยากดักคอไว้ล่วงหน้า เผื่อมีข้ออ้างว่าเดินทัพไม่ได้เพราะหยุดทัพมานาน เสบียงอาหารร่อยหรอ  ต้องขอเบิกเงินเพิ่มจากต้นสังกัดที่กรุงเทพ    และต้องจัดหาซื้อเสบียงข้าวปลาอาหาร เสียเวลาโอ้เอ้เดินทัพไม่ได้อยู่อีก  จนกว่าจะหมดหน้าฝน       ท่านเลยสั่งให้ปลูกยุ้งฉางเป็นเสบียงไปตลอดทางที่เดินทัพผ่านเมืองต่างๆ  และเอาสตางค์จากในเมืองต่างๆนั่นแหละมาใช้เป็นค่าใช้จ่าย   ได้ไม่มีข้อแก้ตัวอย่างใดอีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 13:21

    แต่เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็เป็นแม่ทัพที่ไม่ธรรมดา  หาได้ยากอยู่เหมือนกัน      เมื่อได้รับคำสั่งเฉียบขาด  อุดช่องโหว่ซ้ายขวามาหมดแบบนี้   ท่านก็ไม่จนปัญญา   นายทิมใช้คำว่า" โต้ตอบ(ด้วย)ปัญญาไว"  ว่า

     ท่านเจ้าคุณแม่ทัพสดับตรา      บังคับมามั่นคงไม่สงสัย
จึงโต้ตอบท้องตราปัญญาไว      ซึ่งจะไปเร่งส่วยเห็นป่วยการ
แล้วจะให้ปลูกปรุงซึ่งยุ้งไว้      กับจัดให้ซื้อเสบียงเลี้ยงทหาร
ด้วยจะยกนิกรไปรอนราญ      จะละลานหน้าหลังเป็นกังวล
   
     ท่านตอบไปว่า การไปเก็บเงินเอากับกรมการเมืองต่างๆนั้นไม่ควรทำ  ทำไปก็ป่วยการ   มิหนำซ้ำนี่เป็นการยกทัพมารบ    จะให้มัวไปปลูกยุ้งฉางมัวสาละวนเก็บข้าวปลาเสบียงอาหาร    ต้องหาซื้อโน่นซื้อนี่อีก   ก็จะเป็นการละล้าละลังห่วงหน้าพะวงหลังแก่กองทัพซึ่งมีหน้าที่ต้องเดินหน้าไปรบ    พูดง่ายๆว่ากองทัพของท่านรับจ๊อบเดียวคือไปรบ   ไม่รับสองจ๊อบสามจ๊อบพร้อมกันให้ยุ่งยาก

    แต่ท่านก็ยังยืนกรานจุดยืนว่า ถึงหน้าที่กองทัพคือไปรบ   แต่ตอนนี้  ก็ของมันยังไม่พร้อมจะรบ  ก็คือไม่พร้อมจะรบอยู่นั่นเอง

    ซึ่งจะให้ยกทัพไปสรรพเสร็จ      แต่ในเดือนสิบเอ็ดฤดูฝน
    เป็นที่ลำบากใจแก่ไพร่พล      น้ำยังล้นลงไม่ลด ขอ-งดที

    ที่ไม่พร้อมคือธรรมชาติไม่เป็นใจ จะให้ทำยังไง    น้ำยังท่วมเส้นทางอยู่ข้างหน้า   ยกทัพไปไพร่พลก็ลำบากลำบน เป็นอันตราย    เพราะงั้น...คำตอบคือยังไม่ไป ของดการเคลื่อนทัพจนกว่าน้ำลด ทางเริ่มแห้งพอเดินได้สะดวกเสียก่อน

    ลองวาดภาพว่าถ้าเราเป็นสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ทางกรุงเทพ  เจอคำตอบแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 21 พ.ค. 13, 14:49

  นายทิมเป็นทนายคนสนิทของเจ้าพระยามหินทรฯ  มีความกตัญญูและจงรักภักดีเป็นแรงหนุน จึงเห็นอกเห็นใจนาย    ได้ฟังความในใจของนายด้วยว่า ที่จำต้องหยุดทัพไว้แค่นี้ก็เพราะเมตตาไพร่พล ไม่อยากให้ล้มตายเพราะบุกป่าฝ่าดงพระยาไฟ  ก็ยิ่งเห็นใจนายมากขึ้น   จึงถ่ายทอดกลอนความในใจของเจ้าพระยามหินทรฯตรงนี้เอาไว้ถี่ถ้วน     ว่าท่านเองก็ปรับทุกข์ให้ฟังว่า แม้ทำลงไปรู้ว่าเป็นโทษหนักขั้นขัดอาญาทัพ    ท่านก็จะยอมรับผิดแต่ผู้เดียว    
ถึงตรงนี้ คำเปรียบของนายทิมทันสมัยมาก  ทำให้สงสัยว่านายทิมเข้ารีตเป็นคริสต์หรืออย่างไร   ถ้าไม่ใช่ ก็ต้องคบหาสมาคมกับพวกมิชชันนารีมาก พอจะรู้ว่าความเชื่อของคริสตศาสนาคือพระเยซูยอมรับบาปของมวลมนุษย์ไว้แต่ผู้เดียว     แม้คำพูดนี้เป็นคำพูดของเจ้าพระยามหินทรฯ  แต่นายทิมก็ฟังรู้เรื่อง ถ่ายทอดออกมาได้แจ้มแจ้ง  แสดงว่ารู้เรื่องหลักศาสนากันทั้งบ่าวและนาย

       ท่านเจ้าคุณแม่ทัพพูดปรับทุกข์      ซึ่งจะบุกไปในป่าน่าสงสาร
กลัวผู้คนทั้งหลายจะวายปราณ              จึงคิดอ่านหาช่องสู่ท้องตรา
ถึงจะมีโทษร้ายกฎหมายทัพ                      จะสู้รับเอาผู้เดียวจริงเจียวหนา
ที่ข้อขัดบังคับรับอาญา                      ถึงจะฆ่าถือมั่นกตัญญู
ขออย่าให้ไพร่พลไปป่นปี้                      เวลานี้ขืนจรต้องอ่อนหู
จะรับบาปคนทั้งเพเหมือนเยซู              มิให้หมู่ไข้ป่ามันฆ่าคน    
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง