ส่วนฤดูฝน มีผู้เรียกว่า วสันตฤดู (อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-รึ-ดู) ซึ่งไม่ถูกต้องตามรูปศัพท์. เพราะ วสันตฤดู แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งไม่มีในประเทศไทย แต่เป็นฤดูของประเทศอินเดียทางภาคเหนือซึ่งแบ่งออกเป็น ๖ ฤดู
ชื่อ ฤดูฝน ในภาษาบาลีใช้ว่า วัสสาน (อ่านว่า วัด-สา-นะ) ดังนั้นถ้าจะเรียกฤดูฝนให้ถูกตามรูปศัพท์ ต้องใช้ว่า วัสสานฤดู (อ่านว่า วัด-สา-นะ-รึ-ดู)
ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.
ภาษาเป็นเพียงข้อตกลงในสังคมว่าคำเรียกนั้น ๆ หมายถึงสิ่งนั้น ๆ มีหลายคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตซึ่งมีความหมายเดิมอย่างหนึ่ง แต่เมื่อไทยเรารับมาใช้ความหมายกลายเป็นอย่างอื่น ซึ่งอาจตรงข้ามกันทีเดียว ที่นึกออกตอนนี้คือคำว่า "อาวุโส"
อาวุโส “ผู้มีอายุ” เป็น
คำเรียก หรือทักทาย ที่ภิกษุผู้แก่พรรษาใช้ร้องเรียกภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่า (ภิกษุผู้ใหญ่ร้องเรียกภิกษุผู้น้อย) หรือภิกษุร้องเรียกคฤหัสถ์ คู่กับคำ ภนฺเต ซึ่งภิกษุผู้อ่อนกว่าใช้ร้องเรียกภิกษุผู้แก่กว่า หรือคฤหัสถ์ร้องเรียกภิกษุ;
ในภาษาไทย มักใช้เพี้ยนไปในทางตรงข้าม หมายถึง เก่ากว่า หรือแก่กว่าในวงงาน กิจการ หรือความเป็นสมาชิกจาก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)คำว่า "อาวุโส" นี้ ท่านรอยอินก็ยอมรับความหมายที่คนไทยใช้กันอยู่ โดยอธิบายความหมายเดิมอยู่ในวงเล็บ
อาวุโส ว. ที่มีอายุแก่กว่าหรือมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่าเป็นต้น เช่น ข้าราชการอาวุโส ครูอาวุโส ศิลปินอาวุโส. น. ความมีอายุมากกว่า หรือมีประสบการณ์ในอาชีพมากกว่าเป็นต้น เช่น เขามีอาวุโสในการทำงาน ผู้มีอาวุโสทางการเมือง. (ป. อาวุโส เป็นคํา อาลปนะ คือ คําที่พระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่าเรียกพระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่า หรือเป็นคำที่พระใช้เรียกคฤหัสถ์, คู่กับ ภันเต ซึ่งเป็นคําที่พระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่าเรียกพระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่า หรือเป็นคำที่คฤหัสถ์ใช้เรียกพระสงฆ์).
ส่วนคำว่า "วสันต, วสันต์" ท่านรอยอินอธิบายไว้ว่า
วสันต, วสันต์ [วะสันตะ, วะสัน] น. ฤดูใบไม้ผลิในคำว่า ฤดูวสันต์, วสันตฤดู ก็ว่า. (ป., ส.).
หากจะเพิ่มความหมายต่อท้ายว่า ในภาษาไทยหมายถึง "ฤดูฝน" ด้วย ก็น่าจะดีไม่น้อย
