เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 60715 จิตร ภูมิศักดิ์ : พฤษภาห้าร้อยเก้า แดดลบเงาจางหาย
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 07 พ.ค. 13, 08:48

จากโซ่ตรวนถึงความตาย วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์  ของ สุจริต  สัจจพิจารณ์ ที่เผยแพร่ครั้งนี้คัดมาจากนิตยสาร "ถนนหนังสือ" ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ (ราคา ๒๐ บาท ส่งแบ๊งค์สีเขียว ใบเดียวไม่ต้องถอน)

ผ่านไป ๒๗ ปี  "ถนนหนังสือ" เล่มนี้ มีราคาเพิ่มขึ้นถึงเกือบ ๓๐ เท่า   ยิงฟันยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
spyrogira
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 07 พ.ค. 13, 09:18

ขอบคุณครับ ..  ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 07 พ.ค. 13, 17:47

“คน คำนี้มีกังวานสร้านทระนง”

เขาแปลประโยคสั้น ๆ นี้มาจากถ้อยคำของนักเขียนอีกคนหนึ่งที่ถือเอางานเขียนเป็นเพียงอุปกรณ์เช่นเดียวกันกับเขา   นั่นคือแม็กซิม กอร์กี้  ถ้อยคำที่กอร์กี้ได้ให้ซาตินกล่าวออกมาอย่างคนที่หยิ่งในศักดิ์ศรีของความเป็นคนจับใจเขาอย่างไม่รู้วาย

จิตรเอ่ยประโยคนี้ไว้อีกแห่งหนึ่ง

ยานีลำนำ

นามคนนี้ทนทาน                   กังวานยิ่งและยืนยง
คุณค่านั้นทระนง                   องอาจกล้าเย้ยธาตรี

จงรักพิทักษ์เกียรติ                อันโรจน์แรงดุจแสงระวี
ล่าล้างพวกกาลี                   ให้โลกงามด้วยนามไท
อย่ายอมอยู่อย่างสยบ            และสั่นซบใต้ตีนใคร
หยัดอยู่สู้ด้วยใจ                   อันทรหดและอดทน
หนทางพิสูจน์ม้า                  และเวลาพิสูจน์คน
ใครถอยและใครทน               พิสูจน์ได้เมื่อภัยมา
พบภัยถ้าไม่สู้                      แต่ซ้ำลู่เป็นอ้อคา
มวลชนจะตีตรา                   ถึงหลานเหลนว่าเดนคน
จงเดินอย่าเดินเดียว              จงเดินร่วมกับมวลชน
แรงใจของคนจน                 ที่เอาจริงจะค้ำจุน
แล้วผีก็เถอะผี                     สักแสนผีที่ทารุณ
มือคนจะแทนคุณ                 ให้เลื่องลือ...นี่มือไท
ชาตินี้ชีวิตนี้                      อุทิศพลีเพื่อสู้ภัย
ฝากชื่อให้ลือชัย                ไกรเกริกหล้าท้าธรณิน


จาก อ้อยในปากช้าง : กวีนิพนธ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘ ในนามปากกา "กวี ศรีสยาม" พิมพ์ครั้งแรกที่ "WRITER MAGAZINE"  ปีที่  ๒ ฉบับที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๓๖

กวีนิพนธ์ชุดนี้เดิม กวี ศรีสยาม คงต้้งใจที่จะเขียนส่งลงหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น เพราะเนื้อหาทันยุคทันเหตุการณ์ วิพากษ์วิจารณ์การคอรัปชั่น และผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานของผู้รับสัมปทาน แต่เพราะเหตุใดจึงไม่ได้ส่งไม่ทราบได้



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 พ.ค. 13, 08:50 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 10 พ.ค. 13, 15:35

และอีกแห่งหนึ่งในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ 

บทที่ ๓ วิญญาณมนุษย์  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 11 พ.ค. 13, 14:50

"คน คำนี้มีกังวานสร้านทระนง"
คนต้องคงคุณค่านั้นนิรันดร์กาล!

และใน โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา

แต่คนย่อมเป็นคน                              บ่คือควายที่โง่งึม
ไผเหวยจะยอมพึม                             และพ่ายแพ้ลงพังภินท์ 
ฟ้าลวกด้วยเปลวเลือด                         ระอุเดือดทั้งแดนดิน
วอดวายทุกชีวิน                                 แต่คนยังจะหยัดยืน
ถึงยุคทมิฬมาร                                 จะครองเมืองด้วยควันปืน
ขื่อแปจะพังครืน                                และกลิ่นเลือดจะคลุ้งคาว 
แต่คนย่อมเป็นคน                             ในสายธารอันเหยียดยาว 
คงคู่กับเดือนดาว                               ผงาดเด่นในดินแดน
ถึงปืนก็เถอะปืน                                เจ้ายิงคนอย่างหมิ่นแคลน 
ใจสู้นี้เหลือแสน                                กว่าปืนสูจะตัดสิน 
คาวเลือดที่ไหลอาบ                          ซึมกำซาบในเนื้อดิน
ปลุกใจอยู่อาจิณ                              ให้กวาดล้างพวกกาลี
ฟ้ามืดเมื่อมีได้                                 ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี
แสงทองเหนือธรณี                           จะท้าทายอย่างทระนง 


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 15 พ.ค. 13, 08:37

เขาตายเพราะเขาเลือกที่จะมีความผิดเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งจากฐานะของประชาชนทั่วไป-เขาตายเพราะเขาไม่ยอมมีความผิดเพียงแค่การมีลมหายใจ....แต่ตายอย่างกบฏ

เพลง "เธอผู้เสียสละ" น่าจะเหมาะกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ถึงแม้ว่าผู้แต่งคือ คุณศักดิ์สิทธิ เชื้อกลาง หรือ เศก ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งในสมาชิกวงคุรุชน จะเขียนเพลงนี้ให้แก่นักศึกษาผู้อยู่ในวัย "แสวงหา" ในยุคหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖



เธอผู้เสียสละ

รุ่งเช้าวันหนึ่งแจ่มใส
เธอพาดวงใจของเธอก้าวมา
แผ่วเบาเหมือนดังลมพา
เธอเริ่มแสวงหาในสิ่งที่ควร

เธอยังใหม่ในศึกษา
ได้ปรารถนาศึกษาโซ่ตรวน
ผูกมัดรัดตรึงทุกส่วน
จนเธอผันผวนในสังคม

เธอได้พบสิ่งใหม่
ที่ชูใจให้ชื่นชม
สลัดทุกข์อันแสนเศร้าตรม
หลุดหายไปในชีวี

แสงเจิดจ้าผ่องใส
ชูผู้นำชัยเรืองรองทั่วไพร
เธอมีความสุขใจ
มวลชนพ้นภัยอยู่สุขชื่นบาน

เธอก็ถูกกล่าวหา
เป็นกบฏชั่วช้าคิดคดการณ์ไกล
กบฏหรือคือผู้นำชัย
เข่นฆ่าโพยภัยหมดสิ้นดินทอง



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 15 พ.ค. 13, 14:08

"เธอผู้เสียสละ" เวอร์ชั่นที่รู้จักกันดีเห็นจะเป็นของ "น้าปู" พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์



จะเรียกพี่ปูก็กลัวว่าจะไม่เข้ากับคำลำดับญาติของนักร้องเพลงเพื่อชีวิตคนอื่น - น้าหงา, น้าแอ๊ด, น้าหมู  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 17 พ.ค. 13, 10:49

และนั่นก็คือวาระสุดท้ายของเขาในฐานะของคน ๆ หนึ่งที่มีเลือดมีเนื้อและมีลมหายใจ แต่ไม่ใช่วาระสุดท้ายของผู้ขโมยไฟสวรรค์และกบฏที่หมายจะทลายบัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้า!

หลังจากละฐานะของคนที่มีเลือดเนื้อและลมหายใจ  จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แปรฐานะเป็น "ดาวศรัทธาที่ส่องแสงอยู่เบื้องบน เพื่อปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย"   เพื่อให้ "คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย"

นึกเอ๋ยนึกถึง
เพลงเพลงหนึ่งซึ่งกล่าวขานนานหนักหนา
ชื่อว่า เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา
มาเรามานั่งฟังอย่างตั้งใจ

พร่างพรายแสงดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทองผ่องเรืองรุ่งในหทัย
เหมือนธงชัยส่งนำจากห้วงทุกข์ทน

พายุฟ้าครืนข่มคุกคาม
เดือนลับยามแผ่นดินมืดมน
ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน
ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย

ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้ผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย
ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน (เอย)




ดาวยังพรายอยู่จนฟ้ารุ่งราง

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 19 พ.ค. 13, 10:06

"แสงดาวแห่งศรัทธา" เวอร์ชั่นที่ไพเราะและทรงพลังที่สุด เห็นจะเป็นของ "ป้าโจ๊ว" เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี



ป้าโจ๊วยังคงส่องแสงเคียงคู่กับ "ดาวศรัทธา" เพื่อปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย

บันทึกการเข้า
Dr.PPP
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 พ.ค. 13, 13:08

"แสงดาวแห่งศรัทธา" เวอร์ชั่นที่ไพเราะและทรงพลังที่สุด เห็นจะเป็นของ "ป้าโจ๊ว" เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี



ป้าโจ๊วยังคงส่องแสงเคียงคู่กับ "ดาวศรัทธา" เพื่อปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย


ไม่ค่อยได้ฟังเพลง....แต่ฟังแล้ว หวาน จริงๆ...
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 20 พ.ค. 13, 08:32

สงสัยเล่นๆว่า

ถ้าคุณจิตร ภูมิศักดิ์มีชีวิตถึงทุกวันนี้จะเป็นเช่นไร...

- เขาจะได้รับการยกย่องเช่นนี้หรือไม่ หรือถูกลืมไปแล้ว

- เขาจะเข้าร่วมเส้นทางการเมือง เช่นเดียวกับกับนักปฏิวัติหนีเข้าป่าที่บังเอิญรอดมาได้ แล้วกลายเป็น "ทุนนิยมสามานต์" ดั่งที่หลายคนชอบด่าว่าหรือเปล่า

- เขาจะมีแนวคิดต่อต้าน "ศักดินา" แล้วสวมเสื้อสีอะไรหรือเปล่า

- เขาจะเข้าร่วมวิจารณ์สถาบันต่างๆของไทย ดังนักวิชาการหลายคนได้ทำอยู่ขณะนี้หรือเปล่า

น่าสงสัย

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 20 พ.ค. 13, 09:28

คำถามว่า ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่ จะคิดอย่างไร จะทำอะไร เป็นคำถามซึ่งฮิตเสมอในหมู่ผู้สนใจประวัติของจิตร

เคยได้อ่านคุณ  AntiSpam สหายคนหนึ่งจากพันทิป เธอวิเคราะห์วิจารณ์โดยอ้างหนังสือ "ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่ - บทวิเคราะห์ปัญญาชนนักเขียน - นักคิดแห่งยุคสมัย" โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล ด้วยสำบัดสำนวนที่น่าติดตามยิ่ง



เธอว่าดังนี้

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้พบหนังสือเล่มหนึ่งคือ "ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่ - บทวิเคราะห์ปัญญาชนนักเขียน - นักคิดแห่งยุคสมัย" โดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล สำนักพิมพ์สามัญชน ดูจากชื่อ ข้าพเจ้าคาดหมายว่า จะได้อ่านเรื่องราวอันเป็นบทวิเคราะห์ของผู้เขียนถึงบทบาทของจิตรในวันนี้ ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่

จากชื่อเรื่อง
ข้าพเจ้าคิดเรื่อยเปื่อย (เอาเอง) ตามประสาว่า

จิตรจะอยู่ข้างไหนนะ ระหว่างชินจังกับแป๊ะลิ้ม
(จิตรอาจจะไม่อยู่ข้างไหนเลย และ "เม้งแตก" ทั้งสองข้าง)

จิตรจะวิพากษ์ "ทุนนิยมสามานย์" กับ "ศักดินาล้าหลัง" อย่างไร
(แอบคิดต่อ แล้วจะด่าใครมันส์กว่ากัน)

จิตรจะเล่นพันทิปไหมหนอ
(เพื่อความยุติธรรม จิตรห้ามตั้งชื่อตัวเองว่า จิตร ภูมิศักดิ์ จิตรต้องคิดชื่อที่กิ๊บเก๋อย่างยิ่งยวดไม่แพ้นามปากกาอื่นๆ ของจิตร เพื่อความวิวาทะบันเทิงของคนดู)

ถ้าจิตรมาเล่นห้องภาษาไทย....ห้องนี้คงครึกครื้นน่าดู
(จิตรคงมีประเด็นที่น่าขบมากมาย แต่กลัวจิตรสนุกอยู่คนเดียวน่ะสิ เฮ่อ...)

โน่นนี่นั่นนู่น

ที่สำคัญกว่า ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่ เราจะรู้จักเขาดังเช่นที่เราได้รู้จักในวันนี้หรือไม่ เขาอาจจะเป็นคนที่ไม่น่าสนใจเลยสำหรับข้าพเจ้า

วรศักดิ์อ้างถึงคำพูดของ สุชาติ สวัสดิ์ศรีว่า "โชคดีที่จิตรตายก่อน"

อ่าว ทำไมล่ะ
(เปิดหนังสืออ่านเพราะเครื่องหมายคำถาม ทำไมล่ะ ทำไมล่ะ ทำไมหนอ)

นิสัยจิตรนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นคนดื้อและเชื่อมั่นในความคิดของตนอย่างที่สุดคนหนึ่ง

ถ้าจิตรยังไม่ตาย ไปถึงภูพาน และไปถึงประเทศจีน การไปถึงของจิตรน่าจะเป็นช่วงก่อนเกิดปฏิวัติวัฒนธรรมไม่นานนัก หรืออาจจะไปถึงในช่วงนั้นพอดี

จิตรจะเป็นอย่างไร จิตรจะอยู่ดีกับศูนย์กลางของขบวนการคอมมิวนิสต์อย่างจีนหรือไม่ หรือ ความคิดในเชิงวิชาการของจิตรจะถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากจีน

วรศักดิ์ กล่าวว่า แนวคิดปัญญาชนไทยหลายต่อหลายประการทีเดียวที่ถูกมองว่าเป็นลัทธิแก้ ไม่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรค (แม้แต่เสกสรรและปัญญาชนไทยในยุคหลังก็เผชิญกับสภาพเช่นนี้) และถ้าจิตรไม่สามารถสมานฉันท์กับจีน และ พคท. ได้ จิตรจะเป็นอย่างไร จะถูก "วิพากษ์" จนเสียผู้เสียคนตามที่วรศักดิ์กล่าวไว้หรือไม่ ในทางกลับกัน ถ้าจิตรเกิดเออออไปกับแนวคิดการปฏิวัติวัฒนธรรมเข้าจริงๆ สวัสดิภาพของจิตรก็อาจจะไม่ดีนัก ดังเช่นซ้ายไทยที่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรมคนอื่น ๆ

ถ้าจิตรไม่ตาย....จิตรอาจถูกลดบทบาท และจากไปอย่างเงียบๆ โดยที่เราอาจจะไม่ได้รู้จักเขาดังเช่นวันนี้

วรศักดิ์ให้ความเห็นว่า จิตรอาจจะไม่แน่ใจบทบาทของ พคท. ทำให้จิตรเลือกที่จะฝากต้นฉบับ "ความเป็นมาของคำฯ" ไว้กับสุภา ศิริมานนท์ และนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะมันอาจจะเป็นไปได้วา พคท. ไม่เห็นค่างานชิ้นนี้ของจิตร และอาจจะไม่ใส่ใจอีกเลยหลังจากที่จิตรสิ้นชีวิตไปแล้ว 

คำถามนี้ชวนให้คิดต่อถึงว่า ถ้าจิตรยังไม่ตาย และเข้าสู่ขบวนการซ้ายไทยในประเทศไทย จิตรจะรุ่งหรือจิตรจะร่วง นั่นก็ยังให้ต้องคิด

"การออกจากป่า" กลายเป็นปริญญาสำหรับนักการเมืองยุคนี้ไปเสียแล้ว จิตรที่เคยผ่านทั้งคุกทั้งป่า ถือเป็นดุษฎีบัณฑิตในกระบวนการวีรบุรุษต้านอำนาจเถื่อนอย่างจิตรจะเป็นอย่างไรในวันนี้

จิตรจะกลายเป็นนักวิชาการด้านภาษาและนิรุกติศาสตร์ที่มีบทบาทสูงในมหาวิทยาลัย หรือเป็นที่ปรึกษาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างที่คนอื่น ๆ เขาเป็นกัน

หรือจิตรจะแปลงกายเป็นเสี่ยจิตร (อันนี้นึกไม่ออกอย่างแรง)

หรือจิตรจะเข้าสู่วงการเมือง และวุ่นวายกับการหาเสียงเข้าพรรคเหยง ๆ ดั่งเช่นคนที่เราเชื่อว่าดีและเสียคนไปแล้วเรียบร้อยเพราะการเมือง

ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่.......

จิตร ภูมิศักดิ์ : เขาตายเหมือนไร้ค่าแต่ต่อมาก้องนาม ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน ความคิดเห็นที่ ๘๙-๙๑
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/05/K5378590/K5378590.html#89

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 23 พ.ค. 13, 20:17

คำถามเดิม "ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่ เขาจะ...."  คุณเทาชมพูท่านให้คำตอบดังนี้   ยิงฟันยิ้ม

จิตร เป็นคนหนึ่งที่เหมาะสมกับคำว่า "เกิดก่อนยุคสมัย" หรือ "เกิดผิดยุคสมัย"    รุ้ง จิตเกษมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เหมาะกับสองคำนี้  ต่างกันว่าคนหนึ่งอยู่ในโลกจริง อีกคนอยู่ในจินตนาการ  แต่ก็จบชีวิตก่อนเวลาอันควรทั้งสองคน

ดิฉันขอแบ่งจิตรออกเป็น 2 ภาค   คือจิตรที่เป็นปัญญาชนนักวิชาการ   กับจิตรที่เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองเพื่ออุดมการณ์     สองบทบาทนี้ ถ้ามองดีๆจะแยกออกจากกันได้
ถ้าจิตรคงคุณสมบัติข้อแรก  รอดตายจากพ.ศ. 2509 มาได้    เขามุ่งไปทางพัฒนาฝีมือสติปัญญาในเรื่องวิชาการให้ต่อเนื่อง ด้านภาษาและประวัติศาสตร์ อย่างสุขุมลุ่มลึกตามวัย  เขาคงจะได้รับเชิญไปเขียนคอลัมน์ประจำ เป็นเกียรติแก่ค่ายมติชนมาหลายปีแล้ว  
อาจจะได้รับการประกาศชื่อเป็นนิสิตเก่าดีเด่นของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เช่นเดียวกับดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์    และเช่นเดียวกับดร.นิธิ   จิตรอาจปฏิเสธเกียรติเรื่องนี้   จิตรอาจได้รับเชิญไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเป็นประจำ นอกเหนือจากที่ธรรมศาสตร์  สถาบันพระปกเกล้า และที่อื่นๆ  

สวรรค์ส่งให้จิตรเกิดมาเพื่อเป็นนักวิชาการผู้มีคุณค่า     เขาจงเห็นอะไรหลายอย่างที่ปรมาจารย์หลายท่านยังมองไม่เห็น หรือไม่ได้ดูตามเส้นทางนั้น   ชายหนุ่มอย่างจิตรสร้างงานค้นคว้าหลายชิ้นที่น่าทึ่ง  เป็นนวัตกรรมของชาวอักษรศาสตร์  ซึ่งในฐานะที่ดิฉันจบมาจากที่นั่นก็บอกได้ว่า กาลเวลาในคณะอักษรศาสตร์ แน่วแน่ แต่แน่วนิ่ง   พูดภาษาง่ายกว่านี้คือเดินได้ช้ามาก   อาจจะเร็วในยุคนี้ แต่ไม่ใช่ยุคก่อน
จิตรเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ที่ไวกว่ายุคมาก   จึงน่าเสียดายว่า จิตรอาจจะไม่รู้ว่าคนอย่างเขาเกิดมาเพื่อควรทำงานอะไรให้เต็มร้อย    เขาจึงแบ่งชีวิตไปให้อีกภาคหนึ่ง คือภาคที่สอง

ภาคที่สองของจิตรในฐานะนักต่อสู้ทางการเมืองที่มีอุดมการณ์   มีชะตากรรมที่ไม่ได้ต่างจากนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์อื่นๆ ทั่วโลก   คือสร้างแบบอย่างไว้ให้เป็นอนุสาวรีย์แก่คนรุ่นหลัง    แต่ตัวเองไม่เคยทันเห็นการบรรลุผล   สิ่งตอบแทนคือความคับแค้นใจ ขมขื่น  เดือดร้อนแก่ตัวเองและครอบครัว     เหมือนแบกรับผลร้ายเอาไว้หมด เพื่อผลดีให้คนรุ่นหลังชื่นชมศรัทธา   แต่จนแล้วจนรอดอุดมการณ์นั้นก็ไม่มีวันเป็นจริง
เป็นชะตากรรมที่เดินเข้าไปแล้วร้อยทั้งร้อยเหมือนกันหมด   แต่พวกนี้ก็เต็มใจเดินเป็นเทียนที่เผาไหม้ตัวเองให้ความสว่างแก่คนอื่น    คนอื่นได้ดีจากผลงานของเขา แต่ตัวเขาไม่เคยได้อะไรเลยตลอดชีวิต    

ถ้าจิตรยังมีชีวิตอยู่จนปัจจุบัน และยังไม่แสวงหาเส้นทางเป็นหัวหน้าพรรคจิตราธิปไตย หรือเสี่ยจิตรเจ้าของสื่อ น.ส.พ. หรือสื่ออื่นๆอะไรก็ตาม    ดิฉันลงความเห็นว่าจิตรไม่สวมเสื้อสีไหนเลย   แถมอาจจะสวดยับอีกด้วย   เพราะมันไม่ใช่อุดมการณ์ของเขา  จิตรอาจมองเห็นว่ามันไม่ใช่อุดมการณ์อะไรเลยด้วยซ้ำ


จิตรไม่ได้โชคดีที่ตายก่อน หรือตายทีหลังเมื่ออายุ ๑๐๐ ปี   คนอย่างจิตรไม่เคยโชคดีเลยตั้งแต่เกิดมา  สังคมต่างหากที่โชคดี ได้มีคนอย่างจิตร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 23 พ.ค. 13, 20:20

จิตรคงเห็นว่าตัวเองเกิดมา เพื่อสิ่งนี้กระมัง?

เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน

^
^
^
บทกวีข้างบนถือเป็นสัญลักษณ์ของจิตรทีเดียว

จิตรถอดความมาจากบทกวีของ อาเวตีก อีสากยัน AVETIK ISAKYAN กวีประชาชนแห่งอาร์เมเนีย ในนามปากกา "ศรีนาคร"


TO BANISH THE TRACE OF A TEAR  FROM YOUR EYE,
A THOUSAND DEATHS WOULD I GLADLY DIE ;
IF ONE MORE LIFE WERE GRANTED ME,
I'D SPEND THAT LIFE IN SERVING THEE.


สิ่งที่่จิตรต้องการจริง ๆ อยู่ในคำปณิธานข้างล่าง



ป.ล.   ชื่นชมในความเห็นของคุณเทาชมพูต่อจิตร ภูมิศักดิ์

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 26 พ.ค. 13, 11:50

บทกวีภาษาจีนบทหนึ่งของนักเขียนเรืองนามของจีนนาม  鲁迅 หลู่ซวิ่น (หลู่ซิ่น) จิตร ภูมิศักดิ์ แปลไว้ในนามปากกา ศิลป์ พิทักษ์ชน  ตีพิมพิ์ครั้งแรกในนิตยสาร ปิตุภูมิ พ.ศ. ๒๕๐๐ในบทความที่ชื่อ "ภารกิจในปีใหม่ของศิลปิน"

ถือเป็นอุดมการณ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เช่นกัน

横眉冷对千夫指 俯首甘为孺子牛

แม้คนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย  
จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย        
ต่อผองเหล่านวชนเกิดกล่นราย        
จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน


คำอธิบายศัพท์



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.106 วินาที กับ 20 คำสั่ง